Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย

Month: January 2024

‘PM Ranger’ เมื่อนักเรียนแปลงร่างเป็นผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม: ‘ห้องเรียนสู้ฝุ่น’ โรงเรียนบ้านแม่เทย ลำพูน
Creative learningSocial Issues
3 January 2024

‘PM Ranger’ เมื่อนักเรียนแปลงร่างเป็นผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม: ‘ห้องเรียนสู้ฝุ่น’ โรงเรียนบ้านแม่เทย ลำพูน

เรื่อง ชุติมา ซุ้นเจริญ

  • PM Ranger คือกลุ่มนักเรียนโรงเรียนบ้านแม่เทย จังหวัดลำพูน ที่อาสาเผยแพร่ความรู้เรื่อง PM 2.5 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น ที่มีครูท็อป ทศพร ทองสอน เป็นผู้ดูแล
  • ‘ห้องเรียนสู้ฝุ่น’ ออกแบบการเรียนรู้ โดยบูรณาการทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมตั้งแต่ต้นทางจนถึงการลงมือปฏิบัติ
  • ผลลัพธ์ที่ได้มากกว่าความรู้ คือความตระหนักรู้ จิตสำนึก ทักษะ และความภาคภูมิใจของนักเรียน ในนามขบวนการ PM Ranger ที่อาสาปกป้องโลกใบเล็กของตัวเอง

เด็กน้อยในหมวกสีต่างๆ อธิบายที่มาและวิธีป้องกันฝุ่น PM 2.5 อย่างคล่องแคล่ว พวกเขาตระหนักดีว่ามันเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และไม่ใช่หน้าที่ของผู้ใหญ่เท่านั้นที่ต้องแก้ไขปัญหานี้ 

เด็กๆ เหล่านี้คือ ‘PM Ranger’ แห่งโรงเรียนบ้านแม่เทย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ผลผลิตจากโครงการ ‘ห้องเรียนสู้ฝุ่น’ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับบริษัทเติมเต็มวิสาหกิจ โดยมี ‘ครูท็อป’ ทศพร  ทองสอน รับหน้าที่หัวขบวน ชวนเด็กๆ มาออกแบบกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องฝุ่นให้กับเพื่อนๆ ครอบครัวและชุมชน

“จุดประสงค์นอกจากให้เด็กๆ เป็นกระบอกเสียงในการบอกต่อให้กับผู้ปกครองและชุมชนแล้ว เมื่อเขาเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตเขาจะมีจิตสำนึกในการเป็นพลเมืองของโลก ในเรื่องของการป้องกันฝุ่น PM 2.5”

‘ครูท็อป’ ทศพร  ทองสอน

ครูท็อป เล่าว่าตนเองมีพื้นเพเป็นคนลำพูน แต่เพิ่งย้ายมาสอนที่โรงเรียนบ้านแม่เทยได้ 2 ปี เพราะเริ่มแรกได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูที่จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งที่นั่นสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ค่อนข้างหนัก มีการเผาที่ค่อนข้างรุนแรง จนเด็กๆ เรียกว่า ‘หิมะดำ’

“บางทีเราเปิดประตูจากบ้านพักครูลงมาสอนหนังสือจะมีเศษเหมือนหิมะดำ เป็นเศษการเผาอ้อยเผาอะไรร่วงลงมา แต่ตอนอยู่ที่อุทัยธานี อาจจะไม่มีใครพูดถึงมากนัก เมื่อย้ายกลับมาภาคเหนือก็ดีใจที่โรงเรียนในภาคเหนือตื่นตัวเกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 มีการจัดโครงการเกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 รองรับ 

แล้วจังหวัดลำพูนเองก็ประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 เหมือนกัน เด็กๆ เขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในมลภาวะอย่างนี้อยู่แล้ว การที่โรงเรียนของเราเข้าโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นไม่ใช่เรื่องบังเอิญนะครับ เกิดจากการที่ สสส. เขาส่องจุดฮอตสปอตผ่านดาวเทียม ซึ่งโรงเรียนของเราเป็น 1 ในจุดที่มีฝุ่น PM 2.5 กระจายอยู่หนาแน่นครับ จึงได้เข้าร่วมโครงการนี้ เพราะมันอยู่ในชีวิตประจำวันของเด็กอยู่แล้ว”

แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ครูท็อปที่เห็นความสำคัญของการเรียนรู้เกี่ยวกับ PM 2.5 แต่ความตั้งใจนี้ได้รับการสนับสนุนทั้งจากผู้บริหารและคณะครูโรงเรียนบ้านแม่เทย เพราะทุกคนเห็นตรงกันว่า ในระยะยาวหากต้องการสร้างสังคมแวดล้อมที่น่าอยู่ ต้องเริ่มจากการสร้างเจตคติที่ดีให้กับเด็กๆ

“เป็นความโชคดีที่ท่านผู้บริหารและคณะครู รวมถึงบุคลากรที่โรงเรียนค่อนข้างแอ็กทีฟ อย่างผมเป็นเจ้าของโครงการได้นำเรื่องนี้ไปบอกเล่าให้กับคุณครูในโรงเรียน เขาก็เห็นพ้องต้องกันว่า มันเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเด็กอยู่แล้วนะ และเป็นสิ่งที่ไม่ใช่แค่ตัวเด็ก ตัวครูเองและครอบครัวก็ประสบปัญหาเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจต่างๆ อยู่แล้ว จึงถือว่าเป็นแรงผลักดันอย่างหนึ่งที่ทำให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วง”

ทั้งนี้ โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับคู่มือการจัดการเรียนรู้เรื่องฝุ่น PM 2.5 เริ่มตั้งแต่การให้นิยามของฝุ่น PM 2.5 สาเหตุที่มา ผลกระทบต่อสุขภาพ วิธีการป้องกันตนเอง ระบบการแจ้งเตือนคุณภาพอากาศต่างๆ เช่น ระบบธงสีสุขภาพ  รวมไปถึงในเรื่องของการทำสื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ 

ซึ่งโรงเรียนบ้านแม่เทยถือเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่นำข้อมูลเหล่านี้ไปออกแบบการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการบูรณาการทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมตั้งแต่ต้นทางจนถึงการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้มากกว่าความรู้ คือความตระหนักรู้ จิตสำนึก ทักษะ และความภาคภูมิใจในตัวเองของนักเรียน-ขบวนการ PM Ranger ตัวน้อย ที่อาสาปกป้องโลกใบเล็กๆ ของตัวเอง

เมื่อได้แนวทางของ ‘ห้องเรียนสู้ฝุ่น’ มาแล้ว โรงเรียนบ้านแม่เทยวางแนวทางการจัดการเรียนรู้อย่างไร

เรามีการบูรณาการไปในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้และทุกช่วงชั้น อย่างที่โรงเรียนจะมีตั้งแต่ระดับชั้นปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งปฐมวัยจะเริ่มจากการทำความรู้จักกับฝุ่นก่อน นิยามของฝุ่น ผ่านการเล่านิทานเรื่องสั้นๆ บทร้องเพลงอะไรต่างๆ พอขึ้นมาเป็นระดับชั้นประถมศึกษาจะเรียนในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น จะบูรณาการไปในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ 

เช่น ผมสอนวิชาภาษาไทย ก็บูรณาการครบเลยทั้ง 4 ทักษะ ฟัง พูด อ่าน เขียน จะมีการให้เด็กๆ เรียงความเรื่องปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทำรายงาน จัดทำเป็นหนังสือเล่มเล็ก คำคม รวมถึงทำคลิปวิดีโอพูดนำเสนอ 

ภาษาอังกฤษจะเป็นการศึกษาคำศัพท์เกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ภาษาอังกฤษ ส่วนคณิตศาสตร์จะมีการเก็บสถิติฝุ่นต่างๆ ในแต่ละวัน นำมาพล็อตเป็นกราฟ จากเมื่อก่อนที่เรื่องของฝุ่น PM 2.5 จะอยู่เป็นหัวข้อเล็กๆ ในรายวิชาสุขศึกษา ซึ่งไม่ค่อยมีคนสนใจ ตอนนี้เราพยายามขยายเข้าไปในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ให้บูรณาการเป็นองค์รวมครับ 

และที่โรงเรียนจะมีการจัดกิจกรรมวันฝุ่น PM 2.5 หนึ่งวัน โดยมีการเชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งหน่วยงานในท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล หน่วยดับไฟป่า และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มาให้ความรู้กับนักเรียนครับ แล้วก็มีการจัดแสดงผลงานนิทรรศการที่เกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ รวมถึงโครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนตรงนี้

ในการจัดการเรียนรู้เรื่องฝุ่น เด็กๆ มีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง และคุณครูทำอย่างไรให้เด็กๆ เห็นความสำคัญในเรื่องนี้

เราใช้การเรียนรู้แบบ Active Learning อย่างแรกเลยเราพยายามหาอะไรที่เป็นจุดสนใจของเด็กๆ ก่อน อย่างเรื่องของฝุ่น PM 2.5 นั้นจริงๆ แล้วรัฐบาลได้พยายามประชาสัมพันธ์มาโดยตลอด แต่ว่าสิ่งที่ยังเป็นจุดอ่อนคือ การประชาสัมพันธ์ของภาครัฐยังไม่กระแทกใจยังไม่ทัชใจกับคนในชุมชนกับคนหมู่มากครับ จึงนำตรงนี้มาเป็นเป้าหมายก่อน 

เริ่มแรกเราชวนเด็กๆ มาทำเป็นขบวนการหมวกสีสุขภาพ ตั้งชื่อว่า PM Ranger จำลองมาจาก Power Ranger เพราะว่าค่าฝุ่น PM 2.5 มีอยู่ 5 สีพอดี แล้วก็เลือกนักเรียนแกนนำมาเป็นทีมเรนเจอร์ก่อน เหมือนกับเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ในการออกไปเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 เป็นการดึงความสนใจของนักเรียนให้มาร่วมตรงนี้ก่อน ซึ่งก็จะเห็นว่าเด็กๆ คนไหนที่ได้เป็น PM Ranger เขามีความภูมิใจ เหมือนเป็นแรงดึงดูดให้เด็กๆ มาสมัครเป็น PM Ranger มากมายเลย

เด็กๆ เหล่านี้ก็จะทำหน้าที่ออกไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ตั้งแต่ช่องทางปกติคือออกไปเดินรณรงค์ภายในชุมชน ประกาศหน้าเสาธง เผยแพร่ความรู้ในห้องเรียน รวมถึงรูปแบบออนไลน์ด้วย เรามีการให้เด็กๆ ทำคลิปวีดีโอ โดยที่เด็กเป็นผู้เล่าเรื่อง เป็นผู้แสดงเอง แล้วอัปโหลดเข้าไปในออนไลน์ซึ่งจะแพร่กระจายสู่คนหมู่มาก แต่เราไม่ได้มุ่งหวังว่าจะให้คนทั่วประเทศมาดู เรามุ่งแค่ชุมชนเล็กๆ ก่อน ดังนั้นเมื่อบุตรหลานของเขาเป็นผู้แสดงเองจึงเป็นการดึงความสนใจของของคนในชุมชนมากยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้เรายังพัฒนาต่อไปอีก คือทำเป็นสติ๊กเกอร์ไลน์ โดยใช้รูปภาพของเด็กๆ ของเรานั่นแหละครับ PM Ranger ของเรานั่นแหละ ทำเป็นสติ๊กเกอร์ไลน์ แล้วแต่ละวันเด็กๆ ก็จะเช็คฝุ่นจากแอปพลิเคชันแล้วส่งเข้าไปในไลน์กลุ่มผู้ปกครอง

หมวกสีสุขภาพ พัฒนามาจากระบบธงสีสุขภาพ?

ระบบธงสีสุขภาพ เป็นระบบที่ใช้แจ้งเตือนคุณภาพอากาศ โดยเด็กๆ จะไปดูระดับคุณภาพอากาศที่เครื่องวัดอากาศก่อน จากนั้นจะแปลผลออกมาเป็นค่าสี เช่น 26-37 เป็นสีเขียว เท่ากับอากาศยังดีอยู่ แล้วมีการไปเชิญธงสีตามจุดต่างๆ ในโรงเรียน เพื่อเป็นการแจ้งเตือนคุณภาพอากาศ แต่ว่าที่โรงเรียนบ้านแม่เทยของเรามีการพัฒนาตรงนี้ เพราะมองว่าแค่ระบบธงสีสุขภาพที่ทาง สสส.กำหนดมานั้นยังไม่เพียงพอ ธงเป็นสื่อที่อยู่กับที่ใช่ไหมครับ ถ้าเราไม่สังเกตเราจะไม่เห็น แล้วบางทีเราเชิญธงสีขึ้นไป ชาวบ้านในชุมชนผ่านไปผ่านมาเขาไม่เข้าใจความหมายของแต่ละสีครับ มันก็เหมือนกับเป็นสื่อที่แทบจะไม่มีประโยชน์เลย 

ดังนั้นเราจึงเปลี่ยนใหม่ ให้เด็กๆ ใส่เป็นหมวกสีสุขภาพแทนครับ เพราะว่าหมวกเป็นสื่อที่หาได้ง่ายแล้วมีสีสันสะดุดตา เวลาให้เด็กๆ สวมแล้วก็เดินไปเดินมาในโรงเรียนหรือในชุมชนก็เป็นจุดสังเกตนะครับ แล้วเด็กๆ ที่สวมหมวกส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนแกนนำที่มีความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 อยู่แล้ว จึงมีโอกาสใช้ตรงนี้เผยแพร่ความรู้ไปด้วย

หลังจากออกแบบการเรียนรู้เรื่องฝุ่นในลักษณะนี้ เห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กอย่างไรบ้าง

อย่างแรกเลย เมื่อก่อน ฝุ่น PM 2.5 แทบจะไม่มีใครพูดถึงเลย แต่ตอนนี้เราสังเกตเด็กๆ ในโรงเรียน พอมี PM Ranger มา และมีเครื่องวัดค่าฝุ่นเช้ามา เขาจะพากันไปมุงดูที่เครื่องวัดค่าฝุ่นแล้วเขาจะแปลความหมายเลย วันนี้สีอะไร เขาจะแย่งกันเชิญธงสี และจะมีเวรไปประกาศหน้าเสาธงครับ

สิ่งที่เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งคือ เมื่อก่อนเวลาเด็กๆ สวมหน้ากากอนามัยมาโรงเรียน มันจะเป็นหน้ากากอนามัยที่ป้องกันแต่โควิดเท่านั้นใช่ไหมครับ พอมีความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 เริ่มเปลี่ยนเป็นหน้ากากที่มีเส้นใยละเอียดมากขึ้น เป็นหน้ากาก N95 บ้าง เป็นหน้ากากอย่างอื่นบ้าง พอได้รับความรู้จากคุณหมอแล้วว่า  N95 มันอาจจะแพงเกินไป ถ้าเด็กๆ อยากจะป้องกันฝุ่นเพียงแค่เอากระดาษทิชชู่รองไปใต้แมสก์ เราก็จะเห็นเด็กบางคนมีกระดาษรองใต้แมสก์ หรือบางทีพอเขาเห็นตรงไหนเผา ในชุมชนหรือใกล้ๆ โรงเรียน เขาก็จะวิ่งมาฟ้องครูละว่า ครูครับมันมีการเผาเกิดขึ้น อันนี้ก็เป็นจุดเล็กๆ ที่เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในเด็ก คือเขาก็ตระหนักถึงฝุ่น PM 2.5 มากขึ้น

อย่างเมื่อสักครู่มีคนมาถามเด็กเรื่องค่าฝุ่นหรืออะไรสักอย่าง เขาก็ตอบฉะฉาน คือเหมือนการที่เขาได้ลงมือทำกิจกรรมต่างๆ เอง ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นฮีโร่ มันทำให้เขามีความกล้าคิดกล้าแสดงออก 

อีกอย่าง PM Ranger เราทำงานเป็นทีม เวลาไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ซึ่งแต่ละครั้งจะมีรูปแบบการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ที่แตกต่างกัน เราเคยไปทั้งเดินรณรงค์ ทั้งไปออกรายการโทรทัศน์ แล้วก็มีสัมภาษณ์สื่อออกสถานีวิทยุชุมชนบ้าง เราก็ให้บทบาทเด็กในการเป็นคนครีเอทว่าใครจะพูดตรงไหนอย่างไร จะลำดับเรื่องราวอย่างไร โดยเราให้คำชี้แนะเล็กๆ น้อยๆ ที่เหลือเขาจะแบบวางแผนของเขาเอง เช่น ฉันพูดก่อนนะแล้วก็ตามด้วยเธอ เธอทำอย่างนี้นะ แล้วก็ปิดท้ายด้วยเธอนะ เราจะเริ่มต้นด้วยการแปลงร่างก่อนนะรอบนี้ เราจะเริ่มต้นด้วยการร้องเพลงก่อนนะ อะไรอย่างนี้ครับ มันก็ทำได้เด็กได้ทักษะตรงนี้ไปด้วย

เหมือนครูเป็นแค่คนคอยซัพพอร์ท เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้คิดและลงมือทำด้วยตนเอง 

ใช่ครับ แรกๆ อาจจะไกด์ให้หน่อย แต่ว่าหลังๆ พอเขาเริ่มเป็นงานแล้วก็ปล่อยเลย ทำเต็มที่ ทุกวันนี้ใครถามตรงไหนตอบได้หมด เขารู้หมด เพราะว่าเขาได้ทำเองจริงๆ 

ครูท็อปมองว่าผลลัพธ์การเรียนรู้ในลักษณะนี้ ต่างจากการเรียนการสอนที่ครูเป็นคนให้ความรู้แบบเดิมๆ มากน้อยแค่ไหน

ผมว่าการที่ให้เด็กได้มีพื้นที่ในการแสดงออกแบบนี้ ได้ลงมือปฏิบัติจริงๆ มันเป็นการสร้างองค์ความรู้ที่คงทน ถ้าเรานั่งเรียนนั่งสอนเฉยๆ แล้วไม่ได้ลงมือปฏิบัติ คือเหมือนเราเรียนแต่ไม่ได้เอาไปใช้ นานๆ ไปก็ลืมก็เลือนหายไป แต่อย่างนี้ถ้าเขาได้มารับความรู้แล้วได้ออกไปเผยแพร่ความรู้กับชุมชนต่างๆ มันก็จะเป็นการสร้างองค์ความรู้ที่คงทนและเชื่อว่าอีกสัก 10 ปี 20 ปี เขาคงจะไม่ลืม เพราะว่าอย่างน้อยประสบการณ์ตรงนี้เขาได้แล้ว 

คือระหว่าง ‘เข้าใจ’ กับ ‘เข้าใจแล้วสามารถเอาไปสอนคนอื่นต่อได้ เอาไปถ่ายทอดให้ผู้อื่นต่อได้’ อันนี้เป็นความรู้ที่คงทนมากกว่าสำหรับผม

ผู้ปกครองรวมถึงชุมชนมีฟีดแบคอย่างไรกับการที่เด็กๆ กลุ่มนี้เป็น PM Ranger 

ชุมชนมีฟีดแบค อย่างเช่นเวลาโรงเรียนจะเข้าร่วมกิจกรรมอะไร เขาจะสนับสนุนงบประมาณให้โรงเรียนมาดำเนินกิจกรรมตรงนี้ต่อบางส่วนแม้จะไม่มาก แต่ก็สนับสนุนเพราะเห็นบุตรหลานของเขามีส่วนร่วมกับโรงเรียน และจะมีผู้ปกครองบางคนมาพูดให้ฟังว่า เด็กกลับบ้านไปเห็นตายายจะเผาใบไม้ ก็ห้ามก็บอก เป็นเหมือนกับมีส่วนร่วมตรงนี้

แสดงว่าในการเรียนรู้เรื่อง PM2.5 เด็กๆ เขาตระหนักถึงความรับผิดชอบของตัวเองที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนด้วย?

ใช่ครับ เราสอนสาเหตุหลายๆ อย่างเลย นอกจากการเผา บางครั้งการสูบบุหรี่ก็ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ได้ครับ ก็สอนเด็กในองค์รวม ควันพิษจากเครื่องยนต์ การดูแลเครื่องยนต์ไม่ให้ปล่อยมลพิษ จะสอนทุกอย่างซึ่งอยู่ในหลักสูตรของห้องเรียนสู้ฝุ่นด้วย แต่เรื่องการเผา ในชุมชนกึ่งชนบทก็ต้องยอมรับว่ายังใช้วิธีนี้อยู่

แล้วเด็กๆ เขาไม่ตั้งคำถามกับครูเหรอคะว่า “จะบอกกับพ่อแม่ยังไงดี จะแก้ได้ยังไง”

ตรงนี้เราสอนไปเชื่อมโยงกับนโยบายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เขาจะมีในสิ่งที่เรียกว่า กระจายการเผา เป็นการให้กระจายวันกันเผา เพื่อไม่ให้มลพิษทางอากาศมันหนาแน่นจนเกินไป มันจะมีการกำหนดช่วงเผาอะไรต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาตรงนี้ 

แต่ในระยะยาวเราก็หวังว่าวันหนึ่งเขาโตขึ้นมา เขาอาจจะเป็นผู้นำหรือเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตรงนี้ อาจจะมีการคิดนวัตกรรมที่จะช่วยลดการเผาได้ แต่ ณ ปัจจุบันนี้เราให้ความรู้เบื้องต้นก่อน ให้เด็กเขา ‘อิน’ ให้เขาซึมซับตรงนี้ก่อน

เคยเช็คความอินของเด็กๆ ที่โรงเรียนบ้างไหมคะ ตอนนี้ถึงขั้นไหนแล้ว มีดุครูบ้างรึยัง?

ก็มีบ้างนะครับ (หัวเราะ) เวลารถครูคนไหนพ่นควัน “คุณครูสร้างฝุ่น PM 2.5 นะ” จะเป็นอย่างนี้ครับ 

โดยส่วนตัวครูท็อปเองคาดหวังอะไรในการเข้าร่วมโครงการนี้คะ

ผมอยากให้เด็กๆ รู้ในเรื่องของผลกระทบที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเขาและคนรอบข้าง อยากให้เขามีความรู้ตรงนี้เอาไปป้องกันตนเอง แล้วก็มีจิตสำนึกในอนาคต เมื่อเขาเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่จะได้มีจิตสำนึกต่อส่วนรวมในฐานะพลเมืองของโลกที่จะไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ

ในฐานะครูรุ่นใหม่ คิดว่ามีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องออกแบบการเรียนรู้เพื่อให้เด็กได้ทั้งความรู้ ทักษะสมรรถนะ และความรับผิดชอบต่อสังคม

จำเป็นมากที่สุดเลยครับสำหรับผม คือมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ไม่ได้เกิดมาอยู่บนโลกนี้คนเดียว การเรียนรู้วิธีการอยู่ร่วมกับตนเองและผู้อื่น รวมถึงกับสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้เขาปรับตัวอยู่ในสังคมได้

ปัญหาทุกวันนี้เกิดจากการที่เราอาจจะเห็นแก่ตัว ไม่ได้คำนึงถึงผู้อื่นหรือว่าสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าเด็กมีจิตสำนึกในฐานะพลเมืองโลก ไม่ได้เอาแต่เพื่อนฝูงครอบครัวตัวเอง จะมีส่วนสำคัญที่จะทำให้โลกในอนาคตมีความสงบสุขไม่เกิดปัญหา ผมว่าสำคัญมากๆ 

ครูภูมิใจในวิชาชีพและในตัวเด็กมากน้อยแค่ไหนคะตอนนี้

ตอนนี้ภูมิใจค่อนข้างมาก คือเรามาเป็นครูเพราะว่าเราอยากเป็นครู เราไม่ได้ไม่รู้จะเป็นอะไรแล้วมาเป็นครู แล้วก็ได้มีโอกาสมาทำตรงนี้ก็อยากทำให้เต็มที่ แล้วก็ภูมิใจกับเด็กๆ ที่เป็นผลผลิตที่เราปั้นเขามา ภูมิใจ

หลังจากนี้มีโครงการอะไรที่อยากทำต่อไปอีก?

โครงการที่อยากทำเยอะแยะมากมายเลย ถ้าพูดถึงโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น อยากทำคอนเทนต์ต่างๆ เกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 ที่เราอาจจะยังไปไม่ถึงตรงนั้น เรายังคาดหวังว่าทุกๆ โรงเรียนจะมี ‘ห้องปลอดฝุ่น’ หรือพื้นที่ที่เป็นห้องปรับอากาศให้เด็กเข้าไปหลบฝุ่นเวลาที่ฝุ่นหนัก แต่ว่าอาจจะยังติดด้วยเรื่องงบประมาณหรือความเป็นโรงเรียนรัฐบาลที่งบอุดหนุนตรงนี้น้อย แต่ก็อยากให้มันไปให้ถึงตรงนั้นนะครับ

สิ่งที่อยากเห็นคือ หนึ่ง อยากเห็นให้ทุกโรงเรียนมีห้องปลอดฝุ่น สอง มีสิ่งที่เรียกว่า knowledge Center ให้เด็กๆ มีพื้นที่ได้ทดลองทำอะไรต่างๆ แล้วก็อยากให้เด็กมีพื้นที่ในการทดลองอาชีพมากยิ่งขึ้น เคยดูคลิปของต่างชาติ เขาจะมีเวิร์กช็อปเปิดให้เด็กได้ลองทำในสิ่งที่สนใจก่อนจะเลือกไปเรียนต่ออะไร เช่น อยากเรียนอิเล็กทรอนิกส์ใช่ไหม ลองเอาอุปกรณ์มาให้เด็กลองทำ อยากทำเบเกอรี่ก็มีห้องอบขนม อยากเป็นนักข่าวก็มีการฝึกตัดต่อ มีเวิร์กช็อปหลายๆ อย่าง

ตรงนี้มันทำให้เด็กได้รู้จักตัวเองรู้ความต้องการของตัวเอง เวลาไปเรียนจะได้ไม่เสียเวลาชีวิต หรือไม่ได้พัฒนาเต็มที่ ไม่อย่างนั้นสุดท้ายก็เปลี่ยนสายงาน ไม่มีความสุขในการทำงาน อยากให้เด็กๆ ทุกคนมีพื้นที่ในการค้นหาตัวเองให้เจอไวๆ รู้ว่าตัวเองชอบอะไร แล้วก็พัฒนาเต็มที่ นี่คือความคาดหวังครับ

Tags:

พลเมืองโลกPM Rangerฝุ่นพิษความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self-Esteem)การจัดการเรียนรู้ห้องเรียนสู้ฝุ่นโรงเรียนบ้านแม่เทยครูท็อป-ทศพร ทองสอน

Author:

illustrator

ชุติมา ซุ้นเจริญ

ลูกครึ่งมานุษยวิทยาและนิเทศศาสตร์ รักการเล่าเรื่องผ่านตัวอักษร พอๆ กับการเดินทางข้ามพรมแดนทุกรูปแบบ เชื่อเสมอว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่ไม่นิยมแบกโลกไว้บนบ่า

Related Posts

  • Social IssuesEducation trend
    โมเดลการศึกษาเดนมาร์ก ‘เตรียมเด็กให้ตอบโจทย์สังคมโลก’ โจทย์ท้าทายการศึกษาไทย

    เรื่อง ศากุน บางกระ ภาพ ปริสุทธิ์

  • Creative learning
    ถักทอการเรียนรู้บนฐานทุนชีวิต เชื่อมห้องเรียนกับชุมชนแบบไร้รอยต่อ: โรงเรียนบ้านขุนแปะ เชียงใหม่

    เรื่อง The Potential ภาพ ปริสุทธิ์

  • Education trendSocial Issues
    ข้อสังเกตในยุคที่ ‘อะไรอะไรก็ต้องเป็น Active Learning’ เมื่อ AL อาจทำให้มุมมองการสอนของเราแคบลง

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Social Issues
    สู้วิกฤตฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ด้วยการทำเครื่องฟอกอากาศ DIY

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา ภาพ ภาพพิมพ์ พิมมะรัตน์

  • Social Issues
    เพราะปอดไม่ใช่เครื่องฟอกอากาศ ถอดออกมาล้าง PM 2.5 ไม่ได้

    เรื่อง The Potential ภาพ SHHHH

ชวนอ่าน 7 เล่ม รับปี 2024: ปรับ Mindset เพื่อเข้าใกล้ความสำเร็จในแบบของตัวเอง
Book
1 January 2024

ชวนอ่าน 7 เล่ม รับปี 2024: ปรับ Mindset เพื่อเข้าใกล้ความสำเร็จในแบบของตัวเอง

เรื่อง พิรญาณ์ บุลสถาพร

  • หากปีที่ผ่านมา คุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังรู้สึกผิดหวัง สิ่งที่มุ่งหวังยังไม่เข้าใกล้ความสำเร็จแบบที่ตัวเองต้องการ แนวทางบางอย่างจาก หนังสือ 7 เล่มนี้ อาจเหมาะกับการชาร์จพลังชีวิต ปรับสภาพจิตใจ จัดการกับมายเซ็ตใหม่ เพื่อก้าวต่อไปในปี 2567 อย่างมั่นคง

ความหวังมักมาคู่กับการเริ่มต้นใหม่ แต่เราจะเริ่มใหม่ได้อย่างไร หากยังไม่ได้เยียวยาความผิดหวังเดิมๆ และเราจะเปลี่ยนแปลงพรุ่งนี้ได้อย่างไร หากไม่ได้เริ่มตั้งแต่วันนี้ ซึ่งหากปีที่ผ่านมา คุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังรู้สึกผิดหวัง เมื่อย้อนมองดูหน้าที่การงาน ธุรกิจ รายได้ เป้าหมายชีวิต หรือสิ่งที่มุ่งหวังยังไม่เข้าใกล้ความสำเร็จแบบที่ตัวเองต้องการ ยิ่งเปรียบเทียบกับคนอื่นก็อาจถูกความคิด ความผิดหวังโจมตีซ้ำๆ จนต้องกลับมาทำแผลให้หัวใจ แนวทางบางอย่างจากหนังสือ 7 เล่มนี้ อาจเหมาะกับการชาร์จพลังชีวิต ปรับสภาพจิตใจ จัดการกับมายเซ็ตใหม่ เพื่อพัฒนาความคิด การกระทำ คำพูด ที่จะพัฒนาตัวเองก้าวต่อไปในปี 2567 ให้เป็นปีแห่งการเริ่มต้นใหม่ 

1. จุดเปลี่ยนของชีวิตเกิดขึ้นเมื่อใจเราเคลื่อนไหว 

‘ความรู้สึกยิ่งแบกยิ่งหนัก’ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับสัมภาระ ไม่ได้เกิดขึ้นจากความรับผิดชอบครอบครัว ไม่ได้เกิดขึ้นจากการงานล้นมือ แต่เกิดขึ้นจาก ‘ความกลัว’ เปรียบเปรยมาจากสำนวน ‘ห่อผ้าแห่งความกลัว’ ที่อยู่ในบทความของหนังสือ ‘จุดเปลี่ยนของชีวิตเกิดขึ้นเมื่อใจเราเคลื่อนไหว’ เป็นสำนวนเปรียบที่พยายามชี้ให้เห็นภาพการเดินทางของชีวิตคนหนึ่งคน ว่าอาจมีทั้งความมั่นใจและความกลัวคู่กันไป หากยิ่งย่ำเท้าไปข้างหน้าตามวันเวลา ความกลัวก็อาจหลุดร่วงออกมาตามรูเล็กๆ ของห่อผ้าจนค่อยๆ เบาลงหรือว่างเปล่าไปในที่สุด 

อาจกล่าวได้ว่าข้อเขียนให้ข้อคิด ที่มีลักษณะความเรียงสั้นๆ ตลอดเล่ม มาจากการตกตะกอนความคิดของนักเขียนชาวเกาหลี ‘คิมมีกย็อง’ ก็คงไม่ผิด เพราะนักเขียนใส่ความรู้สึกต่อเหตุการณ์ เรื่องเล่าประจำวัน การจัดการปัญหา ความรู้สึก อารมณ์ สภาวะความคิด ด้วยกลิ่นอายที่ วนิดา คราวเหมาะ แปลออกมาแล้วค่อนข้างคมคาย บางบทคล้ายกวีไร้ฉันทลักษณ์ ทำหน้าที่เล่าชีวิตอย่างมีลูกเล่น และความน่าสนใจก็คือการไม่มองข้ามเรื่องประจำวัน แต่ทำให้มันมีความหมายขึ้นมาจากการเปลี่ยนมุมมองเพื่อปลอบโยนทางใจ ตัวอย่างความคิดง่ายๆ ที่ว่า 

“อย่าไปอิจฉาความสุขของคนอื่น” แต่ให้รู้จักขัดเงาตัวเองให้เปล่งประกาย

หนังสือเล่าถึงแง่มุมหลากหลายสลับกับภาพประกอบสีพาสเทลโทนหวานและอบอุ่นสบายตา บวกกับกรอบท้ายบทต่างๆ ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ติดตามของคิมมีกย็อง ร่วมแชร์เรื่องราวของตัวเอง โดยตัดตอนมาเป็นคอลัมน์ ‘คำพูดเดียวที่ช่วยชีวิตฉัน’ เพราะคิมมีกย็องมี MKTV หรือช่องยูทูบของตัวเอง แนวคิดที่แชร์กันก็มีทั้งเรื่องเล่าทั่วไป ครอบครัว และการพัฒนาตัวเองด้วยความรู้ สะท้อนแง่มุมทางสังคมของเกาหลีใต้ที่ให้ความสำคัญกับความรู้ แบบที่โลกยอมรับความสำเร็จจาก Soft Power ของเกาหลีใต้ ที่มีหลักมาจาก ‘สังคมฐานความรู้’ (Knowledge base society) ตรงกับแง่มุมที่เห็นได้จากความเรียงหลายๆ เรื่อง เช่น ความสามารถในการอ่านหนังสือ ในความเรียงนี้ ให้ความหมายกับการอ่านว่า เป็นคำใบ้นำทางไปเจอตัวตน แม้ในคนที่ตอบไม่ได้ในทันทีว่าความฝันหรือสิ่งที่อยากทำคืออะไร ก็ให้เริ่มต้นที่การอ่าน เพราะระหว่างที่อ่านจะเกิดความคิดกับกระบวนการหลอมรวมข้อมูล มีคนจำนวนมากใช้หนังสือแก้ปัญหา โดยสิ่งที่ต้องมาคู่กันคือการเชื่อมโยงความรู้ จนเกิดเป็นตัวตนครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งมาจากการเจอสถานที่และผู้คนจริง 

การแบ่งบทในหนังสือเป็นเรื่องของการใช้คำพูด 4 ด้าน ได้แก่ คำพูดที่ช่วยหัวใจฉัน คำพูดที่ช่วยชีวิตประจำวันของฉัน คำพูดที่ช่วยประคองความสัมพันธ์ล้ำค่า คำพูดที่ช่วยหล่อเลี้ยงความฝันของฉัน บรรจุความเรียงหัวข้อต่างๆ เช่น วิธีคำนวณความรู้สึก ป้ายราคาของความฝัน การสะสมความไม่รู้ ปรัชญาแห่งการช่วยกันทำกับข้าว อย่าสร้างความสนิทสนมในที่ทำงาน และปิดท้ายที่วิธีสร้างความฝันให้เป็นความจริง ด้วยการเน้นย้ำว่าความฝันไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างในเวลาที่เหลืออยู่ แต่มาจากการสร้างเวลาเพื่อความฝัน ในเล่มอาจไม่ใช่วิธีการที่ใช้ได้กับทุกคน แต่ข้อคิดก็เป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะวันหนึ่งหากเจอสถานการณ์ทดสอบใจ อย่างน้อยก็อาจมีคำตอบว่าจะเลือกคำแบบไหนมาพูดกับตัวเอง

2. เมื่อแมวที่บ้านคุณผันตัวมาเป็นไลฟ์โค้ช : How to Live Like Your Cat 

ในบ้านที่มีแมว อาจมองความน่ารักน่าเอ็นดูของแมวต่างๆ กันไป แต่สิ่งที่มาอันดับต้นๆ เมื่อนึกถึงแมวก็คือ ‘ความขี้อ้อน’ ชวนหลงใหล กลายเป็นเจ้าของตำแหน่งเพื่อนใจประจำบ้าน ยิ่งใกล้กันกับมนุษย์มากๆ ก็มักสังเกตนิสัยของแมวแล้วแบ่งแยกจากสีของมัน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าแมวสามสีที่แสนจะรักอิสระและคุยเก่ง เจ้าแมวส้มสุดเฟรนลี่ เจ้าแมวสลิดจอมเหวี่ยง ไหนจะท่านอนต่างๆ ที่บ่งบอกอารมณ์ของแมว ทำให้มีบทความเกี่ยวกับแมวออกมามากมาย สื่อความสนใจใคร่รู้เรื่องของแมวๆ อย่างที่บางครั้ง บางคนนึกสงสัยในแววตาใสๆ ของแมว ว่าพวกมันกำลังคิดอะไรอยู่ ซึ่งในหนังสือ ‘เมื่อแมวที่บ้านคุณผันตัวมาเป็นไลฟ์โค้ช’ มองเห็นธรรมชาติของแมวว่ามีนิสัยใจคอเหมาะที่มนุษย์จะเลียนแบบ ทั้งท่าทีรักสบายที่เห็นจากการนอนยาวๆ ในแต่ละวัน และความเชื่อมั่นในตัวเองอย่างที่พูดง่ายๆ ว่า “อยากทำอะไรก็ทำ” 

รายละเอียดของการมีแมวเป็นไลฟ์โค้ช อ่านเพลินกว่าที่คิด เพราะมันสื่ออารมณ์ต่างกับฮาวทูจากบุคคล มุ่งเน้นที่การปรับจิตใจ การจัดการกับปัญหาและเรื่องราวที่มากระทบ และยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากการเปรียบเทียบแมวของบรรดานักเขียน กวี สุภาษิต และข้อเขียนที่คนสำคัญๆ ให้ความหมายเกี่ยวกับแมวไว้ เช่น สุภาษิตจีนที่ว่า “คุณจะโยนแมวสักตัวอย่างไรก็ได้ แต่มันจะตกถึงพื้นด้วยอุ้งเท้าของมันเสมอ” หรืออย่างสำนวนเขียนจาก ‘เตโอฟิล เกาเธียร์’ ที่ว่า “แมวจะเป็นเพื่อนของคุณ หากคุณคู่ควรกับความรักของมัน แต่มันจะไม่ยอมเป็นทาสของคุณเด็ดขาด” เป็นส่วนเสริมจากคำแนะนำ 40 เรื่องที่มีเจ้าขนฟูเป็นไลฟ์โค้ช ทั้งหมดนี้เขียนโดย Stephane Garnier จากประสบการณ์เลี้ยงแมวชื่อ ‘ซิกกี้’ เขาเห็นว่าแมวมาดมั่นและทะนงในตัวเอง แมวไม่ใส่ใจเมื่อถูกคนอื่นตัดสิน แมวรู้จักพักผ่อน มันรักการนอนหลับ แมวนิ่งเงียบและช่างสังเกต แมวถ่อมตัวและใจดีกับตัวเอง แมวรู้ว่าเมื่อไหร่ที่ควรปฏิเสธ ซึ่งในข้อนี้นักเขียนเปรียบกับชีวิตคนไว้ว่า 

มันคือการเลิกทนทำตามความต้องการของคนอื่นที่ไม่เหมาะสมกับเรา และคือการเรียนรู้ที่จะปฏิเสธเพื่อปกป้องเวลาของตัวเอง นั่นหมายถึงการจัดสมดุลระหว่างการทำตามคำสั่งกับความมีน้ำใจ 

ชีวิตอย่างแมวๆ ที่อ่านเจอในหนังสือ คือการปรับความคิดและการกระทำของเราให้ผ่อนคลายขึ้น ไม่ตึงเกินและไม่หย่อนไป มีความเคารพตัวเอง มองเห็นความสุขและความปรารถนาของตัวเอง และสิ่งสำคัญคือสงบนิ่งอย่างเป็นธรรมชาติ ใจความของหนังสือหยิบยกเรื่องราวของนิสัยแมวมาสนับสนุนความคิดสำคัญที่ว่า สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘แมว’ กับ ‘มนุษย์’ มีกรอบการกระทำต่างกัน แต่ทั้งสองเผ่าพันธุ์ต่างก็มี ‘สัญชาตญาณ’ นำทาง และต่างต้องให้เวลาตัวเองได้ใช้ชีวิต เมื่อถึงเวลาทำก็ทำ ยามหยุดก็พักผ่อน โดยข้อดีของการเลียนแบบแมวคือ ทำแต่ละวันให้มันง่ายๆ สบายๆ อย่างที่แมวทำ พวกแมวไม่มองอะไรสำคัญไปกว่าการกินกับอยู่ นอนกับเล่น ซึ่งหากวันใดโลกในมุมเรามันเหนื่อยมันท้อเกินกำลัง การมีโลกในมุมแมว ก็น่าจะเป็นการปรับความคิดที่ดีและน่าสนใจอยู่ไม่น้อย 

3. ทำไงได้ ก็งานต้องเสร็จวันนี้นี่นา 

‘โรคเกลียดวันจันทร์’ อาจจะเป็นเพียงมุกตลกร้าย แต่หากมันกลายเป็นโรคได้จริง เชื่อว่าคงมีคนเป็นโรคนี้อยู่ไม่น้อย พ่วงมากับสถานะมนุษย์เงินเดือน ซึ่งในแง่มุมหนึ่งจากหนังสือ ‘ทำไงได้ก็งานต้องเสร็จวันนี้นี่นา’ มอบให้หลังการอ่านก็คือ การเกลียดวันจันทร์ ไม่ใช่ความขี้เกียจ แต่มาจากงานที่ก่ายกองอยู่บนโต๊ะต่างหาก คำถามคือ แล้วจะปรับความคิดตัวเองอย่างไรหล่ะ ให้หายจากอาการเกลียดวันจันทร์ คำตอบอาจไม่ได้สื่อสารตรงๆ ออกมาจากความเรียงในเล่ม แต่อย่างน้อยมันก็มีเนื้อหาปลอบโยนมนุษย์งาน ที่ถูก ‘งาน’ ฉุดรั้ง ซึ่งเขียนและวาดภาพประกอบโดย ‘ซอลเลดา’ ชาวเกาหลี แปลโดย ตรองสิริ ทองคำใส 

ความโดดเด่นของหนังสือ คือการเดินเรื่องด้วยภาพประกอบตลอดเล่ม มี ‘เจ้ากระต่ายสีฟ้า’ เป็นตัวละครนำของเรื่องราว มันถูกวาดขึ้นมาเป็นตัวแทนของมนุษย์ออฟฟิศ ที่มักตกอยู่ในสถานการณ์น่าเห็นใจต่างๆ ทั้งเรื่องถูกควบคุมการทำงานด้วยสวิตซ์ติดไว้กลางหลัง ไม่มีทางแม้แต่จะเปิดหรือปิดตัวเอง บางครั้งก็เหงื่อท่วมตัวอยู่บนลู่วิ่งที่ไม่มีปุ่มพัก และบางครั้งก็ถูกกองงานขวางหน้า ทั้งที่ถึงเวลาเลิกงานแล้ว และท้ายสุดคือการร่วมขบวนไปกับเหล่าลูกน้องด้วยกัน แบกอุ้งเท้าขนาดใหญ่ของหัวหน้างานให้เคลื่อนไปข้างหน้า เป็นภาพที่มองแล้วแสบคันปนขำขันอยู่ในตัว นี่เป็นเพียงบทที่ 1 ของเล่ม จากหนังสือที่แบ่งออกเป็น 5 บท ตามตารางทำงาน จันทร์-ศุกร์ พร้อมกับภาพประกอบที่พาตัวละครอย่างเจ้ากระต่ายสีฟ้าออกเดินทางตามวันทำงาน ไปเจอเรื่องราวรอบด้านจากสังคมออฟฟิศ ที่เสียดแทงใจด้วยภาพบัญชีรับฝากความเครียด และแม้จะถึงวันพุธกลางสัปดาห์ งานก็ยังไม่ปล่อยให้เจ้ากระต่ายสีฟ้าดีใจได้ว่าเดินมาถึงครึ่งทาง บางวันก็รับแอปเปิ้ลโอทีจากแม่มดร้ายเอามาใส่มือ บางทีก็ต้องถือระเบิดงานลูกโต ที่ไม่รู้ว่าใครเอามาให้แถมยังจุดชนวนทิ้งไว้พร้อมระเบิด จนเจ้ากระต่ายสีฟ้าผ่านวันต่างๆ มาถึงวันศุกร์ก็กลับไม่ได้ส่งท้ายงานไปเจอวันหยุดอย่างแท้จริง 

เพราะฝันร้ายของวันศุกร์ก็คือ งานของวันจันทร์ วนลูปเดิมๆ เป็นความรู้สึกคุ้นเคยหลอกหลอนของมนุษย์เงินเดือน  

การขายไอเดียอย่าง ‘งานทำเราหรือเราทำงาน’ เป็นเรื่องที่เจอจากหนังสือหลายเล่มหรือบทความเปรียบเปรยความต่างของเวิร์กไลฟ์บาลานซ์กับเวิร์กไร้บาลานซ์ ที่พยายามชี้จุดพร่องของชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป หรือปลอบใจบางคนจากความรู้สึกผิดเมื่อหยุดทำงาน เพราะมันไม่จำเป็นเลยที่คนๆ หนึ่งต้อง Productive ตลอดเวลา ในเมื่อบางวันเราก็แค่อยากหยุดพัก นอนเล่น เลื่อนฟีดโซเชียล ดูซีรีส์ หรือเอนจอยกับงานอดิเรกที่เราชอบ อีกทั้งไม่จำเป็นเลยที่จะต้องเทียบความสำเร็จในชีวิตตัวเองกับคนอื่น หากมันจะทำให้เราเครียดและกดดันมากเกินไป

จำได้ว่า Peter Bregman นักเขียนเจ้าของแนวคิดพัฒนาตนเอง ได้กล่าวไว้ว่า ไอเดียในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ มักจะเกิดขึ้น เมื่อเราไม่ได้ทำงาน หรือนั่นหมายถึงช่วงที่สมองได้พักจากงานต่างหากที่ความคิดดีๆ จะโลดแล่น และยังหมายถึง การไม่ถูกงานขโมยเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตไปจนในที่สุดก็กลายเป็นคนที่หมดไฟ ต้องรู้จักชาร์จพลังให้ตัวเอง จัดเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพราะสัดส่วนของการพักจำเป็นและสำคัญไม่น้อยไปกว่าเวลาของการงาน

4. The Power Of Output : ศิลปะของการปล่อยของ

ความสนใจเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ เกิดขึ้นหลังจากที่เราย้อนกลับมาลงทะเบียนเรียนวิชาการในรอบ 15 ปี เพราะเรามีคำถามว่า คนที่พ้นวัยเรียนไปแล้ว ประสิทธิภาพของสมองจะด้อยกว่าหรือไม่อย่างไร ผลคือหนังสือเกี่ยวกับสมองอธิบายว่ามันไม่เป็นเช่นนั้น แต่ในกระบวนการเรียนรู้นั้น ต้องรู้จักช่วงเวลาการจำของสมอง รู้จักการทำงานของความจำระยะสั้น-ความจำระยะยาว หรือเข้าใจว่าการอ่านทฤษฎี โดยข้ามวิธีปฏิบัติ จะไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้มากเท่ากับทำทั้งสองอย่าง โดยรูปแบบการทำงานของสมองในส่วนความจำจาก The Power Of Output หรือ ศิลปะของการปล่อยของ 

แนะนำให้คนที่อยากจำเก่ง จำทน จำนาน หรือเก็บมาเป็นทักษะติดตัว จะต้องรู้จักขั้นตอนของการนำออกเมื่อรับความรู้เข้ามาแล้ว 

ผู้เขียนเป็นจิตแพทย์ชาวญี่ปุ่น ชื่อว่า ‘ชิออน คาบาซาวะ’ มีผลงานตีพิมพ์แปลไทยหลายเล่ม ก็เพราะกระบวนการเรียนรู้แบบเอาต์พุต หรือหมายถึง รู้แล้วเขียนมันออกมา โดยในเล่มเสนอความเห็นจากการอ้างอิงงานวิจัยว่า การนำออก หรือ Output สำคัญและมันช่วยพัฒนาได้มากกว่าการ Input เพียงอย่างเดียวได้อย่างไรบ้าง หากเทียบกับห้องเรียนทั่วไปก็คือ การเรียนแล้วทบทวนผ่านการสอนผู้อื่น หรือเมื่อเรารู้แล้วแบ่งปันเล่าให้คนอื่นฟัง จะสามารถเก็บความรู้ไว้ในหน่วยความจำได้มากกว่า อีกเนื้อหาที่น่าสนใจ คือการพูดถึงการเรียนรู้และจดจำว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และทำอย่างไรจะเก็บความรู้เป็นความจำระยะยาวได้ นอกจากนี้ยังแนะนำเรื่องศิลปะการสื่อสาร การตั้งคำถาม การนำเสนอ คำขอโทษ ความโกรธกับดุ ว่าให้ผลลัพธ์ต่างกันยังไง แนะนำเรื่องการเขียนเพื่อพัฒนาศักยภาพตัวเอง การรู้จักว่าไอเดียมาจากไหน การจดโน้ตที่ดีทำอย่างไร และสอนวิธีการทำ To-do List เป็นการจัดตารางชีวิตให้ตัวเองหรือให้มีเป้าหมายเล็กๆ ในทุกๆ วัน

นอกจากการทำตามเป้าหมาย สิ่งที่หนังสือให้ความสำคัญคือการรักษาสุขภาพกาย สุขภาพใจ ซึ่งล้วนมีผลกับพลังสมอง คล้ายกับการทำฐานไว้เป็นหน่วยรับข้อมูลสำคัญ แล้วนำออกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความจำ โดยตัวเลขด้านหนึ่งจากงานวิจัยยืนยันว่า หากเทียบตัวเลขสถิติหลังการอ่านพบว่า เพียงข้ามคืน ความจำจากเรื่องที่อ่านจะหลงเหลือเพียง 24% แต่หากทำตามวิธีการแบบ The Power Of Output ก็จะเปลี่ยนความสามารถใช้งานความจำได้ในระยะยาว หนังสือจึงเป็นคู่มือของการเรียนรู้อย่างเข้าใจกลไกของสมองที่นำมาปรับใช้ได้จริง

5. วิชาโรคใจ 101 : WHERE TO START 

นับถอยหลังอีกเพียง 5 ปี ตามคำพยากรณ์ขององค์การอนามัยโลก หรือในปี 2572 ‘โรคซึมเศร้า’ จะขยับขึ้นมาเป็นสาเหตุของภาระโรคในระดับโลก และเป็นสาเหตุอันดับ 2 ของการฆ่าตัวตาย ตัวเลขที่น่ากังวลนี้ถูกคาดการณ์ไว้ตั้งแต่ปี 2554 เป็นระยะเวลาการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อโรคซึมเศร้า พร้อมๆ กับใช้ชุดคำถามสำหรับทดสอบประเมินภาวะซึมเศร้า ในส่วนของ ‘วิชาโรคใจ 101’ นิยามว่าเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นมา เพื่อคนที่รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไม่ได้รับความรัก ไม่มีใครชอบหรือกำลังรู้สึกไม่ปลอดภัย จากการแปลงานเขียนของ Mental Health America เพื่อนำความรู้เกี่ยวกับโรคทางจิตเวชมาอยู่ใกล้มือคนอ่านมากขึ้น พร้อมกับแบบทดสอบภาวะจิตใจ ให้สามารถเปิดหนังสือเช็คสัญญาณด้วยตัวเองว่า “นี่ฉันโอเคอยู่ไหม” โดยหนังสือจะเป็นไกด์เช็คข้อบ่งชี้หรือสัญญาณโรค และยังช่วยเตรียมความพร้อมสู่บทสนทนาแรกกับนักบำบัด เนื่องจากยังมีคนจำนวนไม่น้อยยังไม่พร้อมเดินเข้าสู่กระบวนการทางการแพทย์หรือไม่รู้ตัวว่าถึงเวลาต้องรักษาแล้วหรือยัง? การมีคู่มือที่บรรจุแบบทดสอบเดียวกับสถานพยาบาลก็จะมั่นใจได้มากกว่าการหาข้อมูลออนไลน์ หรือคุยกับคนรู้จักที่มีอาการคล้ายกัน ที่อาจพาหลงทางได้

โรคแรกที่หนังสือพูดถึงในแง่ความผิดปกติทางอารมณ์ ก็คือ โรคซึมเศร้า (Depression) ที่มีอาการแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่ความรู้สึกหลักๆ จะทำให้รู้สึกเหมือนกำลังจมดิ่งลงไปอย่างน่ากลัวที่สุด สิ่งที่น่าห่วงคือบางคนลองใช้ยาหรือแอลกอฮอล์เพื่อรักษาโรคซึมเศร้าที่ซ่อนในตัวเอง ซึ่งไม่ใช่ผลดี ต่อมาคือ ไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) ที่มีทั้งความวิตกกังวลทั่วไปและวิตกกังวลเมื่อต้องเข้าสังคม โรคแพนิค โฟเบีย โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคสมาธิสั้น ซึ่งทั้งอาการของโรค ข้อบ่งชี้ คำแนะนำหนทางเข้าสู่กระบวนการรักษา จะเป็นแนวทางให้ผู้ป่วยเข้าถึงการช่วยเหลือ 

การเปิดใจของผู้ป่วยกับครอบครัวและคนใกล้ชิด จะทำให้เกิดบทสนทนาสำคัญ และสิ่งสำคัญไม่แพ้กันก็คือรู้ว่าควรคุยกับใคร 

ตามคำแนะนำจากหนังสือบอกว่า ควรเป็นคนใจดีและเป็นผู้ฟังที่ดี ก่อนจะส่งต่อไปถึงความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญและการบำบัดออนไลน์ ในเล่มรวบรวมสายด่วนสุขภาพจิต แอปพลิเคชันต่างๆ วิธีการนำไปสู่การบำบัด และให้ความรู้เกี่ยวกับระบบประสาท การต่อสู้กับความโดดเดี่ยว และการหลีกเลี่ยงกับดักความคิดอย่างการด่วนสรุปหรือคิดว่ามีแค่ขาวกับดำ 

ส่วนหนึ่งที่หนังสือทำงานกับผู้อ่านก็คือการให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาและอ่านง่าย ไม่ได้เป็นวิชาการเกินไป และยังมีเส้นบรรทัดว่างๆ ในแต่ละหัวข้อไว้สำหรับเขียนโต้ตอบคำถามตามหนังสือ ซึ่งไม่ต่างจากการตอบกลับตัวเอง ด้วยเหตุผลว่าการเขียนนั้น คือการอนุญาตให้ตัวเองรู้สึกถึงความสุข ความทุกข์ ความเศร้า ความผิดหวัง ได้อยู่ในห้วงเวลาใช้สติรับรู้ถึงความจริงของสุขภาพจิตที่กำลังเผชิญอยู่และเข้าถึงการเยียวยาก่อนสายเกินไป 

6. วิชาจิ๋ว : Micromastery

“เหตุผลหลักที่เราทำอะไรไม่สำเร็จคือการล้มเลิก หมดความสนใจ หรือไร้แรงผลักดัน” เพราะเราล้วนต้องการผลลัพธ์ทันทีเมื่อเริ่มเรียนรู้ แต่สำหรับวิชาจิ๋ว เราต้องเริ่มจากทักษะที่เป็นเหมือนบททดสอบ นี่คือส่วนหนึ่งจากหนังสือปกขาวที่ดูไม่สะดุดตานัก แต่มีชื่อชวนสงสัยอย่าง ‘วิชาจิ๋ว’ หรือ Micromastery ของ Robert Twigger ชวนให้เปิดพลิกหน้าต่อไปเพื่อหาคำตอบว่า วิชาจิ๋วคืออะไรและสอนอะไรในโลกปัจจุบัน ที่คนมองหาทักษะเพื่อก้าวสู่ความสำเร็จ 

ในที่นี้อาจบอกได้ว่า ‘วิชาจิ๋ว’ ไม่ใช่การทำสิ่งที่ยาก แต่เป็นความง่ายที่คู่มากับความเปลี่ยนแปลงและยืดหยุ่น การลงสนามฝึกวิชาจิ๋วจะต้องสนุก ท้าทาย จากการทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ซ้ำๆ แต่เป็นบันไดสู่ความมั่นใจ 

เพราะคนที่ห่างจากการฝึกทักษะใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ ยิ่งนานวันก็มักลังเลสงสัยในความสามารถของตัวเองว่า จะทำได้ไหมหรือเราคงไม่เก่งพอ แต่วิชาจิ๋วจะช่วยให้หลุดออกจากความไม่เชื่อมั่น และเมื่อเพิ่มวิชาจิ๋วลงไปในตัวเอง กราฟการเรียนรู้จะสูงขึ้น เรื่องราวของวิชาจิ๋วนั้น นักเขียนขยายให้เห็นว่าการฝึกวิชาจิ๋วทุกอย่าง มีโครงสร้างเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากกลเม็ดเริ่มแรก ทักษะขัดกัน ตัวช่วย รางวัล การทำซ้ำ และโอกาสในการทดลอง อยู่ในกระบวนการของวิชาจิ๋ว 

แล้ววิชาจิ๋วคืออะไรบ้าง เราจะพบคำตอบที่หลากหลายเป็นทักษะที่คนไม่ทันนึกถึง เช่น การทอดไข่เจียวด้วยเทคนิคเฉพาะ การกลับรถด้วยเบรกมือ การพลิกเรือแบบเอสกิโม วิชาจิ๋วที่ว่าจึงไม่ใช่การทำอาหาร ไม่ใช่การขับรถ ไม่ใช่การพายเรือ มันมีระดับที่เล็กกว่าแต่พิเศษ ซึ่งก่อนจะเดินทางไปสู่วิชาจิ๋วในหนังสือ นักเขียนเสนอแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนมุมมอง การจัดระบบความคิด และพลังสร้างสรรค์ออกมาก่อนลองฝึกวิชา โดยเฉพาะเรื่องการมองผลลัพธ์เล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดจากการก้าวขยับเพื่อเปลี่ยนแปลงว่า มันอาจไม่ใช่เรื่องยิ่งใหญ่ แต่ความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ที่มาบ่อยๆ จะเป็นผลบวกกับใจมากกว่าการทำสิ่งยากครั้งแล้วครั้งเล่า สุดท้ายกลับท้อจนถอดใจไปก่อน 

หนังสืออ้างอิงถึงความสำเร็จของผู้คนที่เชี่ยวชาญศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งว่ามีเพียง 3.6 เปอร์เซ็นต์ นั่นเป็นที่มาให้เรื่องของวิชาจิ๋ว สำคัญในมุมมองการพัฒนาคนด้วยกระบวนการฝึก ที่มีประสาทสัมผัสหลากหลายเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะมันสัมพันธ์กับเซลล์สมองอย่างยิ่ง ผู้ที่อายุเพิ่มขึ้น ยิ่งต้องเรียนรู้เพื่อกระตุ้นสมอง ลองนึกภาพตามง่ายๆ ว่าความสามารถของเราเปลี่ยนแปลงไปตามกายภาพสมอง เช่น ท่าเต้นใหม่ จะทำให้สายเชื่อมหรือวิถีประสาทออกคำสั่งไปยังร่างกายว่าจะต้องขยับอย่างไร เป็นลักษณะของสมองกับทักษะใหม่ ซึ่งในทางตรงข้ามกัน หากทักษะเดิมเสื่อมลง จะมาจากการเปลี่ยนแปลงของสมองเช่นกัน ตัวอย่างใกล้ตัวเราที่สุดก็คือการลืมชื่อคน ซึ่งวิชาจิ๋วจะเปิดโอกาสทดลองกลยุทธ์รูปแบบใหม่ ไปเพิ่มพูนความสามารถในการเชื่อมโยงแนวคิดได้อย่างว่องไว หรือความสามารถเข้าใจชุดความคิดที่ตรงข้ามหรือขัดแย้งกัน 

เมื่อเปิดมาถึงศูนย์รวมวิชาจิ๋ว หนังสือก็จะบอกขั้นตอนการฝึก 39 วิชา ตัวอย่างเช่นการวาดเส้น การหาความลึกของบ่อน้ำและหลุม การผ่าซุง การปีนเชือก การพูดหัวข้อใดก็ได้สัก 15 นาที การก่อกำแพงอิฐ การอบขนมโบราณ การร้องเพลงเดี่ยว การตัดเสื้อเชิ้ตใส่เอง การฝึกเป็นช่างภาพสตรีท แบบอธิบายให้เห็นภาพสำหรับฝึกตามได้จริง พร้อมกับให้ความรู้เกี่ยวข้องกับวิชาจิ๋วที่ฝึก ซึ่งเราอาจเลือกฝึกตามความสนใจและตรงตามบริบทของสังคมไทยเราเองก็ได้

เมื่อลองคิดดูระหว่างการวิชาจิ๋วจะต้องอาศัยสองมือ ทักษะ และเวลา โดยมีสิ่งที่เรียกว่า สภาวะไหลลื่น หรือสมาธิอยู่ในการลงมือ ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นการวิชาใหม่ที่พาตัวเองออกไปจากหน้าที่การงานประจำ ไม่ว่าจะเป็นกีฬา ศิลปะ งานฝีมือที่สนใจ ล้วนเป็นแง่มุมแบบวิชาจิ๋วที่จะสร้างตัวตนใหม่และให้โอกาสชีวิตทำหลายๆ ด้าน

7. ศิลปะการพูดให้เหมือนนั่งในใจคน

สำนวนเก่าๆ สอนความสำคัญของคำพูดไว้หลากหลาย อย่างที่เราอาจเคยได้ยินกันว่า ‘คำพูดเป็นนายเรา’ หรือ ‘คนฉลาดนั้นคิดทุกคำที่พูด แต่จะไม่พูดทุกคำที่คิด’ แม้ทุกวันนี้คำพูดที่ใช้สื่อสารกันก็ยังสำคัญไม่น้อย เพราะคำพูดที่ประกอบสร้างขึ้นในแต่ละวัน สะท้อนตัวตนของคนพูด ซึ่งคำว่า ‘ชามคำพูด’ ก็ดูเป็นนิยามความหมายของศิลปะการพูดที่น่าสนใจของหนังสือ ‘ศิลปะการพูดให้เหมือนนั่งในใจคน’ ของ คิมยุนนา (Yun-na-Kim) นักจิตวิทยาชาวเกาหลี ด้วยแนวคิดว่า ‘ชามคำพูด’ ขึ้นอยู่กับจิตใจของผู้พูด ที่ขนาดของชามแต่ละใบของคนแต่ละคนไม่เท่ากัน 

หากเปรียบเทียบคนที่มี ‘ชามคำพูดเล็ก’ ตามหนังสือ จะหมายถึงมีคลังคำน้อย ใช้คำพูดทำร้ายจิตใจคนได้ และเต็มไปด้วยความหวั่นไหวกับคำพูดของคนอื่นง่าย ส่วนคนที่มี ‘ชามคำพูดใหญ่’ จะเลือกใช้คำได้เหมาะสมเพราะรู้ศัพท์มาก สามารถโน้มน้าวให้คนคล้อยตามได้ และรู้จักวิเคราะห์จิตใจของอีกฝ่ายด้วยสติ ไม่สร้างบาดแผลจากคำพูด ทำให้เห็นว่าความสัมพันธ์ของมนุษย์จะบั่นทอนลงหรือยาวนาน ก็ย่อมขึ้นอยู่กับคำพูด เราจึงต้องรู้จักจัดการกับคำพูดของตัวเอง หรือบรรจุคำดีๆ ลงในชามคำพูด รู้จักอย่างเข้าใจว่า ‘ใจ คือ ต้นกำเนิดของคำพูด’ 

เนื้อหาสำคัญของหนังสือ มี 7 บท รวมบทนำและส่งท้าย เป็นการให้แนวทางรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วยการขัดเกลาคำพูดหรือแม้แต่การเป็นผู้รับฟัง การรู้จักชุดคำพูดที่มาจากทั้งความรู้สึกในใจ คำพูดที่มาจากสมอง รวมถึงคำพูดที่ออกมาทันทีโดยอัตโนมัติ ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่แยกแยะความรู้สึกได้ ก็ย่อมหมายถึงสามารถเลือกคำพูดอย่างเหมาะสม คุณสมบัติสำคัญของผู้พูดก็คือ คนที่เคารพตนเอง เคารพผู้อื่น ใจกว้างและเชื่อมั่นต่อวิธีการพูด ในแง่ของการจัดการความรู้สึก ล้วนเกี่ยวข้องกับ “การยกย่องและเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของตนเอง ที่นับเป็นรากฐานทางจิตวิทยา รวมถึงการปรับความรู้สึกด้านการรับรู้และวิธีปรับอารมณ์ด้วยการเปลี่ยนวิธีคิด

ความขัดแย้งระหว่าง ‘คำพูดอีกฝ่าย’ กับ ‘คำพูดเรา’ มักเกิดขึ้นเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายมีชุดความคิดต่างกันมาก 

ซึ่งหนังสืออธิบายผ่านชุดความคิดที่สร้างขึ้นในสมอง ที่เรียกว่า A-B-C  Accident -Belief- Consequence หรือเหตุการณ์-ความเชื่อ-การตอบสนอง การดึงดันเสนอชุดความคิดของตัวเองเพียงฝ่ายเดียว อาจเป็นการสร้างศัตรู ในทางตรงข้ามกัน ชุดความคิดในชามคำพูดใหญ่กลับเป็นพลังขับเคลื่อนการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นด้วยความเข้าใจ พร้อมกับให้ความสำคัญกับ ‘การตั้งใจฟัง’ ซึ่งอยู่ในกระบวนการสนทนา เช่น การสบตา ปรับสายตา การเปล่งเสียง ในหนังสือจะแสดงให้เห็นความสำคัญของกระบวนการขัดเกลาความรู้สึกในใจ เกิดเป็นชุดความคิดในสมอง และกลายเป็นนิสัยที่แสดงออก หากขัดเกลาได้ทั้ง 3 อย่าง จะทำให้ตัวตนภายในแข็งแกร่งขึ้น 

อย่างไรก็ตามกระบวนการยอมรับจะทำให้ไม่ยึดติดกับชุดความคิดใดความคิดหนึ่ง ในหนังสือยังให้เทคนิคการฟังและการถาม เฉพาะคำถามก็มีทั้งคำถามเปิด คำถามสมมุติ คำถามมุ่งเป้าหมาย คำถามความรู้สึกและคำถามที่เป็นกลาง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะการพูดอย่างสร้างสรรค์จับใจผู้ฟัง

Tags:

หนังสือGrowth mindsetการตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ตลอดชีวิตpositivity mindsetความสุขการพัฒนาตนเองWork-Life Balance

Author:

illustrator

พิรญาณ์ บุลสถาพร

นักเขียนอิสระ สนใจเรื่องสังคมและมานุษยวิทยา ชอบฟังเรื่องเล่าเกลาชีวิตไม่น้อยไปกว่าเพลงฮิตตามกระแส ชอบฟังมากกว่าพูด ใช้การเขียนกับอ้อมกอดเยียวยาจิตใจ ให้เกียรติผู้คนและรักษาทุกความสัมพันธ์ มองเวลาทุกวันที่เหลืออยู่ว่าเป็นสิ่งมีค่าที่สุด

Related Posts

  • Dr.Tong The Filter
    Life classroomHow to enjoy life
    ‘เราต่างเป็น Expert ของชีวิตตัวเอง’ ค้นพบศักยภาพที่จะมีความสุข กับ ดร.พงษ์รพี บูรณสมภพ

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ปริสุทธิ์

  • BookHow to enjoy life
    7 หลักจิตวิทยาเชิงบวก เปิดประตูความสำเร็จด้วย ‘ความสุข’

    เรื่อง พิรญาณ์ บุลสถาพร

  • Book
    ปิราเนซิ: โลกแสนงดงามเมื่อถูกสะกดด้วยตัวพิมพ์ใหญ่

    เรื่อง ฌานันท์ อุรุวาทิน

  • Life classroom
    ‘อนุญาตให้ตัวเองผิดหวังได้แต่อย่านาน’ ไดอารี่ชีวิตสาวน้อยคิดบวก ธันย์- ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • Book
    New Year’s Resolutions: อ่าน 7 เล่ม เพื่อเป็นตัวเราที่ดีกว่าเดิม

    เรื่อง พิรญาณ์ บุลสถาพร

Posts navigation

Newer posts

Recent Posts

  • ‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล
  • ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 
  • เปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนเป็นสนามพลังบวก ยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่เด็กได้โอกาส: ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง
  • F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง
  • Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Uncategorized
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel