จากห้องเรียนที่เด็กบอกว่า “หนูโง่ภาษาอังกฤษ” และกลัวการเรียนภาษาอังกฤษ สู่ห้องเรียนภาษาอังกฤษที่เด็กๆ กล้าพูด กล้าแสดงออก เปิดห้องเรียนภาษาอังกฤษของ ครูดาว – ปราณวรินทร์ ตันศิริเลิศ โรงเรียนบ้านโพธิ์เอน ที่ออกแบบการเรียนรู้ให้เด็กๆ ได้สนุกกับภาษาอังกฤษ ได้พื้นฐานภาษาอย่างที่ควรจะได้ เด็กไม่กลัวและไม่เบื่อที่จะเรียนรู้ โดยใช้เพลงสากล ภาพยนตร์ บทความ เรื่องสั้น เป็นสื่อการสอน และกิจกรรมสนุกๆ ที่เปิดประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็กอีกมากมาย สำหรับครูดาวการที่คุณครูเห็นคุณค่าความเป็นนักเรียนมากขึ้น ลดการตัดสิน และเพิ่มการชื่นชมในเชิงบวก จะทำให้เด็กคุ้นชินและกล้าที่จะใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น
“คุณครูครับหนูโง่ภาษาอังกฤษครับ”
“หนูรู้เลยค่ะว่าหนูไม่ฉลาดภาษาอังกฤษ”
นี่คือประโยคแรกที่เด็กๆ ชั้นประถมศึกษา โรงเรียนบ้านโพธิ์เอน จังหวัดกำแพงเพชร พูดกับ ครูดาว – ปราณวรินทร์ ตันศิริเลิศ หรือที่เด็กๆ เรียกกันว่า ‘teacher ดาว’ ครูผู้สอนรายวิชาภาษาอังกฤษในระดับชั้นป.1 – ป.3 และบูรณาการ PBL และยังเป็นครูประจำชั้นป.2 เป็นครูรุ่นใหม่ไฟแรงวัย 26 ปีที่เพิ่งรับราชการได้เพียง 1 ปี 7 เดือน
จากการเจอกันครั้งแรกของครูสอนภาษาอังกฤษกับนักเรียน เด็กๆ ต่างก็เผยความในใจถึงวิชาภาษาอังกฤษเสียแล้ว โดยที่ความในใจนั้นพวกเขาตัดสินความสามารถของตัวเองไปด้วย สร้างความสงสัยให้กับครูสอนภาษาอังกฤษอย่างครูดาว ว่าทำไมเด็กๆ ถึงคิดเช่นนั้น แล้วพวกเขาไปเอาคลังคำศัพท์ที่ตัดสินว่าตัวเอง ‘โง่’ หรือ ‘ฉลาด’ มาจากไหนกัน?
The Potential พาทุกคนไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิคการจัดการเรียนการสอนในวิชาภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษา จากเวที PLC Online Coaching ครั้งที่ 4 โรงเรียนบ้านปางเป๋ย จังหวัดน่าน มูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต ในหัวข้อ การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning): นอกกรอบ อิงลิช with teacher ดาว
มาทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กันว่า ปัญหาของนักเรียนที่พบในห้องเรียนมีอะไรบ้าง แล้วมีวิธีจัดการอย่างไร เพื่อสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ให้เด็กๆ ได้สนุกกับภาษาอังกฤษ และได้พื้นฐานภาษาอย่างที่ควรจะได้รับ เด็กไม่กลัวและไม่เบื่อที่จะเรียนรู้ ที่สำคัญคือการสร้างบรรยากาศในห้องเรียนที่เข้าอกเข้าใจ ไม่ตัดสิน และชื่นชมเด็กในเชิงบวก
ครูดาว – ปราณวรินทร์ ตันศิริเลิศ
‘ภาวะเขียนช้า ไม่จดจ่อ หลุดโฟกัสง่าย และเด็กกลัวภาษาอังกฤษ’ ปัญหาที่พบในห้องเรียน
ก่อนจะไปถึงเทคนิคการจัดการเรียนการสอนในวิชาภาษาอังกฤษที่ใช้การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ครูดาว เล่าถึงปัญหาของนักเรียนที่พบในห้องเรียนว่า
“นักเรียนไม่กล้าเปล่งเสียงคำภาษาอังกฤษ ไม่รู้จักเสียงของตัวอักษร เนื่องจากก่อนหน้าที่เราจะเข้ามารับหน้าที่สอนภาษาอังกฤษที่นี่ไม่มีครูประจำรายวิชาภาษาอังกฤษ เลยไม่ได้เน้นวิชานี้เท่าที่ควร ทำให้เด็กๆ ไม่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษเลย และเด็กๆ ก็จะมีภาวะเขียนช้า ไม่จดจ่อ หลุดโฟกัสง่าย”
หลังจากนั้นครูดาวก็ใช้การสอนที่เน้นให้นักเรียนท่องจำ ทำตามคำบอกซ้ำๆ เพราะเชื่อว่าจะทำให้นักเรียนจดจำ และทำข้อสอบภาษาอังกฤษได้
“เราก็สอนนักเรียนพูดแบบนกแก้วนกขุนทอง คือเราเข้าใจว่าการให้เด็กพูดอะไรซ้ำๆ เขาจะจำได้ ก็เลยให้เด็กๆ พูดตาม แล้วก็ให้คะแนนเด็กจากที่ใครเขียนหนังสือมาสะอาด เขียนหนังสือมาเต็ม เวลาสอนแล้วได้ยินเสียงเด็กคนไหนดังขึ้นมาแสดงว่าเขาจดจ่อกับเราแน่เลย คือเราตัดสินเขาแบบผิวเผิน มันเลยทำให้เรารู้จักเด็กแค่ที่เขาให้เราเห็น ไม่ได้รู้จักเขาจากข้างในลึกๆ แล้วมันก็ไปส่งผลกับเด็กตอนที่เขาไปทำแบบทดสอบ เลยได้รู้ทันทีว่าที่เราส่งไปให้เขามันไม่ถึงเลย เพราะเด็กเขียนไม่ได้ ทำแบบทดสอบไม่ได้ ทั้งๆ ที่ตอนเรียนเขาก็จดครบตามที่เราบอกหมดเลย หนังสือเรียนเขาดูมีคุณภาพมาก แต่ผลลัพธ์คือเขาทำไม่ได้”
ณ ตอนนั้น ครูดาวเองก็เกิดคำถามขึ้นในใจมากมายอย่างที่คุณครูหลายๆ คนมักจะชอบปรามาสนักเรียนที่ทำข้อสอบไม่ได้ หรือเรียนไม่เข้าใจว่า “ไม่ตั้งใจเหรอ ตอนที่ครูสอนไม่ได้ฟังอะไรเลยใช่ไหม” จึงเกิดการคาดคั้นขึ้นเล็กน้อย
“สิ่งนั้นเองทำให้นักเรียนกลัวเรา ไม่กล้ามาพูดกับเรา เพราะว่าเขาจะรู้สึกว่าเขาพูดไปจะผิดหรือเปล่า หรือไม่อีกนัยนึงเสียงของเราอาจจะเป็นสิ่งที่อันตรายกับเด็กไปเลยก็ได้
อันตรายในที่นี้หมายถึง สมองของเขาเหมือนจะหยุดไปเลยเมื่อได้ยินเสียงที่ทำให้เขารู้สึกกลัว เรารู้สึกว่าไปทำให้เกิดสิ่งเหล่านั้นกับนักเรียน มันก็เลยเกิดช่องว่างระว่างคุณครูกับนักเรียน”
นวัตกรรมจิตศึกษา และวง PLC หรือชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC: Professional Learning Community) ที่โรงเรียนบ้านโพธิ์เอนนำมาใช้ ช่วยนำทางให้ครูดาว ค่อยๆ หาทางออกจนเจอ
“เราก็เอาปัญหาทุกอย่างมาคุยในวง ผอ.เขาก็พยายามสอนให้เรารู้จักการเป็นผู้ฟัง เหมือนพอเรารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่พูดคล่อง ก็พูดๆ ไป แต่จริงๆ แล้วเราแทบจะไม่อยู่ในบริบทของการเป็นผู้ฟังเลย ผอ.เขาแนะนำว่า ให้ลองฟังเสียงจากนักเรียนดู ลองถอยออกมาสักก้าวนึงแล้วฟังว่าเขาคิดเห็นยังไงบ้าง ทำให้รู้สึกว่าวง PLC ที่เรานั่งกันในระดับพื้นราบทุกคนเท่ากัน แล้วเราคุยกันภาษาเดียวกัน คือโฟกัสไปที่นักเรียน เราสามารถแก้ปัญหาตรงนั้นได้”
สิ่งที่ครูดาวได้จากวง PLC และนำมาปรับใช้ในห้องเรียนของตัวเองก็คือ ‘การสร้างข้อตกลงในการเรียนร่วมกัน ’ โดยฝึกให้มีความรับผิดชอบและทำให้ภาษาอังกฤษอยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น
“ข้อตกลงแรกคือมาแต่ตัวกับหัวใจก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องเอาอะไรมาเลย เพราะว่าเราเจอปัญหาคือ คุณครูคะ/ครับ หนูลืมดินสอ หนูลืมยางลบ หนูลืมทุกอย่าง แล้วปกติที่เด็กเคยชินก็คือจะถูกครูตัดสินว่า เอาไว้ให้พ่อแม่เรียนเหรอ แล้วเราก็ไม่อยากเป็นคุณครูที่บอกกับเด็กๆ แบบนั้นค่ะ ก็เลยซื้อกล่องใส่เครื่องเขียนเล็กๆ เอามาติดไว้กับทุกโต๊ะเลย ใส่สีลงไป 12 สี กบเหลา 1 อัน ยางลบ แล้วก็ดินสอสองแท่ง แต่ว่าที่กล่องจะมีเลขที่เขาอยู่ เพราะฉะนั้นเด็กๆ ที่อยู่เลขที่เดียวกันในแต่ละชั้นเขาจะรักษาของสิ่งนั้น เพราะว่าสร้างข้อตกลงกับเขาไว้ว่า ถ้ามีของหายไปครูจะขอให้เลขที่นั้นๆ ในแต่ละชั้นมารวมเงินกันแล้วก็ซื้อมาใส่ไว้ที่เดิม จนถึงปัจจุบันนี้ของก็ยังคงอยู่ครบ”
และอีกข้อตกลงคือ การจะเข้าห้องเรียนต้องขออนุญาตเข้า – ออก เป็นภาษาอังกฤษด้วย สร้างความเคยชินกับการใช้ภาษาอังกฤษในทุกวัน
“เราก็ติดป้ายไปเลยค่ะประโยคขออนุญาตเข้าห้องเป็นภาษาอังกฤษ May I come in please. แต่เด็กพูดไม่ได้เลย เงียบกริบ จะพูดได้ก็คือมองคุณครูแล้วก็พูดตาม ก็เลยใช้วิธีเขียนคำอ่านเป็นภาษาไทย ติดไปเลย เม ไอ คัม อิน พลีส / เม ไอ คัม เอ้าท พลีส แล้วก็บอกเขาว่าถ้าพี่ๆ จะเข้าห้อง ทุกครั้งจะต้องขออนุญาต และออกก็จะต้องขออนุญาต ให้เขาเคยชินกับการใช้ภาษาอังกฤษในทุกๆ วัน ตอนนี้พี่ๆ ป.1 – ป.3 ของเราก็คือพูดคล่องแล้ว เขาเข้า 10 ครั้ง เขาก็ขอ 10 ครั้ง ก็เป็นอะไรที่สนุกสนาน บังเทิงหูคุณครูดี ได้ฟังภาษาอังกฤษตลอด”
Step by Step ค่อยๆ เรียนรู้ภาษาอังกฤษผ่านเสียงเพลงและภาพยนตร์
สำหรับการเรียนวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นป.1 – ป.3 ครูดาวเล่าว่าพาเด็กๆ ออกนอกกรอบการเรียนภาษาอังกฤษแบบเดิมๆ ใช้การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) โดยกิจกรรมแรกในห้องเรียนของ teacher ดาว คือ ‘เช้ามาต้อง…ร้องรำทำเพลง’ ใช้ดนตรีและเสียงเพลงกระตุ้นความอยากเรียนรู้ โดยเป็นเพลงสากลที่ทุกคนฟังกันทั่วไป ซึ่งนักเรียนบางคนร้องได้ บางคนฮัมเพลงคลอตาม แต่ทุกคนต่างเอนจอยไปด้วยกัน
“จะมีเด็กอยู่คนนึง ตอนที่มาแรกๆ เขาจะกลัวเรามาก เขาจะไม่เข้าใกล้เลย เพราะเราอาจจะมีคาแรกเตอร์ที่ดุสำหรับเขา เขารู้สึกว่าถ้าเขาพูดอะไรแล้วมันจะผิด ด้วยความที่เขาเป็นเด็กขี้ลืมด้วย แต่ว่าตอนนี้ไม่ว่าเราจะทำอะไร เด็กคนนี้เขาจะพยายามกระเถิบขึ้นมา แล้วก็จะเป็นคนที่กล้าแสดงออกขึ้น ไม่ว่าจะถามอะไรเขาจะยกมือตอบ แสดงความคิดเห็นแบบเสียงดังมากๆ อารมณ์เหมือนเน้นเข้าร่วมไม่เน้นเข้ารอบ แล้วอีกอย่างก็คือเราเลือกใช้เพลงที่ฟังกันในชีวิตประจำวันมาให้พี่ๆ เขาได้ร้อง แทนที่จะเป็น A B C การทำแบบนี้ทำให้เรารู้ว่า จริงๆ แล้วศักยภาพเขาถึงแม้จะอยู่ป.1 2 3 แต่เขาก็สามารถทำได้ เราแค่ไปจำกัดว่าเขาควรรู้เท่านี้ ตอนนี้พี่ๆ เขาก็สามารถร้องเพลงสากลที่เราฟังทั่วไปได้จนจบเพลง”
หลังจากนั้นก็จะมาเริ่ม ‘ท่อง Alphabet ทุกเช้า’ โดย Alphabet ของครูดาวนั้น จะไม่ใช่แค่การท่องตัวอักษรภาษาอังกฤษแบบ A – Z เท่านั้น
“Alphabet ของเราจะเป็น Aa (แอะ) apple, Bb (เบอะ) bird, Cc (เคอะ) cat, Dd (เดอะ) dog การให้เด็กท่องแบบนี้มันทำให้เวลาที่เขาไปเจอคำที่เราต้องผสมเขาจะนึกถึงเสียงของตัวนั้นได้ ซึ่งปัญหาทีแรกคือเขาไม่รู้เลย เขาท่องได้แค่ A B C D และแน่นอนว่ายังมีเด็กที่หลุดโฟกัสอยู่ เราก็ไม่ได้มาการันตีว่า teacher ดาวทำแล้วประสบความสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ มีค่ะเด็กที่หลุดโฟกัส แต่จะใช้วิธีชมคนข้างๆ เช่น อู้หู…พี่โทมัสตั้งใจมากเลยครับ หนึ่งเลยก็คือเราไม่ทำให้คนที่เขาหลุดโฟกัสรู้สึกว่าเขาเป็นคนที่ผิด หรือเขาเป็นหลุมดำ เขาทำอะไรครูก็เรียกชื่อแล้วก็ดุๆๆ
ครูส่วนมากจะชอบเรียกชื่อนักเรียนที่มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ แต่โรงเรียนเราจะใช้วิธีการชื่นชมคนที่มีพฤติกรรมพึงประสงค์
เด็กยังไงก็ตามเขาต้องการคำชื่นชมจากครูอยู่แล้ว เขาก็จะหันมาว่าคนนั้นทำอะไรทำไมคุณครูถึงชม แล้วเขาก็กลับมาโฟกัสกับสิ่งที่เราต้องเรียนจนได้ อันนี้ก็เป็นการสร้างพลังบวกให้เด็กเขาเกิดความรู้สึกว่าคุณครูปลอดภัยกับความรู้สึกของเขา ”
ครูดาวยกตัวอย่างโปรเจกต์ของตัวเองที่เพิ่งเริ่มมาได้ราวๆ หนึ่งเดือนกับกิจกรรม ‘Movie together’ ในทุกๆ วันพฤหัสบดี
“พาเด็กๆ ดูภาพยนตร์ที่เป็นภาษาอังกฤษล้วนๆ เลยค่ะ ไม่มีคำแปล คือให้เขาดูไปเลยที่เป็นเสียงของต้นฉบับจริงๆ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือ เขาหยิบบ้างคำมาพูด มาถามกับเรา เช่น teacher ครับ ทำไมมัน fly ได้ ซึ่งเรายังไม่เคยสอนคำพวกนี้ มันเลยทำให้เรารู้สึกว่า เขาไม่ใช่ฟังไม่ออกนะ เขาได้คำมาด้วย แล้วก็การที่เขาได้ลองฟังเสียงต้นฉบับเราว่ามันก็พัฒนาเขาไปอีกสเต็ปนึง”
‘ระบายสีแบบ อิ้ง อิ้ง’ คลาสภาษาอังกฤษของน้องป.1
สำหรับกิจกรรมของนักเรียนชั้นป.1 ครูดาวใช้กิจกรรมระบายสีให้เด็กๆ ได้ลงมือทำ และฝึกคำศัพท์ภาษาอังกฤษง่ายๆ ใช้ชื่อกิจกรรมว่า ‘ระบายสีแบบ อิ้ง อิ้ง’
“ก่อนอื่นจะเลือกรูปภาพที่มีขนาดของรายละเอียดภาพที่มันเท่าๆ กัน เพราะต้องการฝึกเขาเรื่องการลงสีค่ะ จากนั้นจะให้อาวุธกับพี่ๆ บอกว่า อันนี้ teacher ดาว เรียกว่า ชาร์ตสี (chart – ตารางสี) ถ้าพี่ๆ อยากได้ต้องมาขอชาร์ตสีกับ teacher ดาว ซึ่งในชาร์ตนั้นจะมีคำศัพท์สีต่างๆ ควบคู่ไปด้วย จากนั้นจะทำความเข้าใจกับพี่ๆ และให้เวลาเขาได้ลองทำตามสิ่งที่เขาเข้าใจ ก็คืออธิบายกติกาว่า ถ้าพี่ๆ ต้องการที่จะระบายภาพภาพนี้ ต้องวางแผนมาส่ง teacher ดาวก่อน เช่นจะระบายก้อนเมฆเป็นสี blue ให้เขียน บี-แอล-ยู-อี (b-l-u-e) ใส่มาในก้อนเมฆค่ะ แล้วก็มาส่ง ถ้า teacher ดาวอนุมัติว่าผ่านก็สามารถไปลงสีได้”
กิจกรรมนี้ teacher ดาว บอกว่า จากห้องเรียนไม่เคยเงียบตามแบบฉบับเด็กประถมฯ ณ ขณะที่กิจกรรมนี้เริ่มต้นขึ้น กลายเป็นว่าเด็กๆ ต่างจดจ่ออยู่กับงานของตัวเอง ซึ่งช่วยเติมเต็มทักษะอย่างการคิด วางแผน และการเป็นคนช่างสังเกต
“หนึ่งเลยคือเขาต้องสังเกต เพราะว่าถ้าเขาอยากจะระบายสีนั้นจริงๆ คือเขาต้องเขียนคำนั้นลงไปให้ได้ สองเขาจดจ่อและก็อดทน ถ้าเขาเข้าใจ เขาจะจดจ่อและอดทนกับสิ่งนั้นได้นานมากๆ เลย แล้วเขาก็ได้รู้จักการวางแผนค่ะ เขาต้องวางแผนทุกอันเลยไม่ว่าจะอะไรก็ตาม เขาจะเขียนๆ ไว้ก่อน แล้วก็ต้องส่งคุณครูว่าแผนการนั้นสำเร็จไหม ถ้าสำเร็จเขาถึงจะไปทำตามสิ่งที่เขาตั้งใจได้ค่ะ”
และจากปัญหาที่ครูดาวรู้สึกมาตลอดว่า “สอนแล้วเด็กเขาไม่เข้าใจ เราสอนแล้วเด็กเขาไม่รับ” วันนี้นักเรียนได้รับและแสดงออกผ่านชิ้นงานท้ายคาบ ที่ทำด้วยความเข้าใจและตั้งใจ
“แล้วก็มากไปกว่านั้นค่ะ สิ่งที่พี่ๆ ให้มากกว่าการเข้าใจคือ เขาคิดนอกกรอบ มีเด็กคนนึงเขาเขียนคำว่า green ที่แปลว่าสีเขียว แต่เขาใช้สีเขียวเขียน ซี่งเราก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องใช้ดินสอเขียน หรือว่าอะไรเขียน มันเหมือนความลึกซึ้งของเด็กที่ตัวเราเองตั้งไว้ว่าเด็กเขาควรจะได้เท่านี้ แต่เขาทำให้เห็นว่าลึกๆ แล้วเขาเข้าใจได้มากกว่านั้นอีก”
นอกจากนี้ teacher ดาว ยังได้เห็นภาพน่ารักๆ ที่เด็กๆ เกิดการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน
“มีเด็กที่เขาทำเสร็จแล้วเขาก็ไปช่วยเพื่อน พอเขาช่วยเพื่อนปุ๊บ เราถึงได้เห็นว่าเด็กป.1 อายุ 7 ขวบคนนี้ เขาเป็นคนมีน้ำใจ เพราะฉะนั้นเรามีหน้าที่ส่งเสริมน้ำใจเขาค่ะ ก็ empower เขาเลยว่า “ชื่นชมพี่นะครับ ที่เมื่อพี่ว่างจากภาระงานของตัวเองแล้วเนี่ย พี่ก็ยังที่จะไปมีน้ำใจช่วยเหลือเพื่อน ให้เพื่อนทำงานเสร็จไปพร้อมกับเรา” แค่นั้นแหละค่ะคนอื่นๆ ที่กำลังจะเสร็จ หรือคนที่เสร็จแล้วลุกแล้วก็ไปช่วยเพื่อนคนอื่นต่อ นี่ไงค่ะที่เราคาดหวังกันว่าจะให้เขาเรียนแบบเพื่อนช่วยเพื่อน หรือว่าการเรียนแบบเป็นกลุ่มก้อน เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันเล็ก แต่มันตอบโจทย์ไปหมดเลยค่ะ”
หยิบนิทาน เรื่องสั้น ฝึกน้องป.2 พี่ป.3 อ่านและแปล
มาถึงห้องเรียนภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นป.2 ซึ่งต้องเน้นไปที่การอ่านและเขียน ครูดาวใช้กิจกรรมที่ชื่อว่า ‘Learning sound from short stories’ หยิบนิทาน เรื่องสั้น มาฝึกให้เด็กๆ อ่านออกเสียง และแปลความหมายขอคำๆ นั้นไปพร้อมกัน
“เราเอานิทาน เรื่องสั้นต่างๆ ที่เป็นแบบสั้นๆ ไม่กี่บรรทัดมาสอน แต่วิธีการของเราคือจะสอน Learning sound ค่ะ เราเรียนรู้เสียงของคำเหล่านั้น ก็เขียนคำอ่านไปเลยค่ะว่า ว๊อ-เท่อร (Waters) พิคซฺ (picks) เขียนไปเลยให้เขารู้ว่าอันนี้คือเสียงของตัวอักษรตัวนี้นะ ถ้าเจอตัวนี้หนูต้องอ่านแบบนี้นะ แล้วก็มีการยิง empower เหมือนยอเขานิดนึง ประมาณว่าคนเราเนี่ยเขาจะมีความฉลาด แต่ว่าจะมีอีกคนหนึ่งที่เก่งกว่าคนฉลาด เรียกว่าคนเฉลียวลูก คนเฉลียวเขาจะรู้ว่าถ้าเขาเจอตัวนี้ตรงอื่นก็ต้องเขียนคำเดียวกัน แค่นี้แหละค่ะเด็กเขาก็จะมองหาแล้วสมมติว่า เขาเขียนคำว่า He (ฮี) ไปใช่ไหมคะ เราจะแกล้งทิ้งระยะว่า เอ่อ…เดี๋ยว teacher ทำอะไรแป๊บนึงนะลูก เขาก็จะหันไปเติมคำว่า He (ฮี) ที่เขามีในกระดาษทั้งหมดด้วยตัวของเขาเอง แล้วทุกคนก็เหมือนแข่งกัน เพราะเขาต้องการเป็นคนที่ฉลาดแล้วก็เฉลียวด้วย มันก็เลยทำให้ห้องเรียนของเราค่อนข้างจะครึกครื้น”
“และสิ่งหนึ่งเลยก็คือเราจะไม่แปลเป็นภาษาไทย อาจจะพูดไปขณะที่แปลไปกับเขาแต่จะไม่ให้เขาเขียนลงไปเหมือนซับไตเติลข้างใต้ว่ามันแปลว่าอะไร เราก็ทำแบบนี้ไปในทุกๆ บทความที่เราหยิบออกมา เพราะว่าเราต้องการฝึกให้เขารู้ว่าตัวนี้มันคือเสียงอะไร ช่วงแรกๆ มีการใส่ซับรอเลยค่ะ เดี๋ยวเข้าไปปุ๊บนักเรียนจะได้สามารถจดได้เลย ก็เกิดปัญหา เหมือนนักเรียนรู้สึกว่าเขาต้องตามหลังคุณครู เขาไม่รู้สึกว่าเรากำลังเรียนไปด้วยกัน เหมือนเขาไม่มีแรงใจที่จะจด ก็เลยจะเปลี่ยนหน่อย เราจะจดไปพร้อมกัน แล้วเราก็ต้องแกล้งเป็นผู้แพ้นิดนึง เอ่อ…อันนี้อะไรนะ แล้วพอไปถึงจุดหนึ่งที่เขาสังเกตว่ามีคำว่า He (ฮี) เยอะๆ เขาจะพูดขึ้นมาทันทีเลยค่ะ หนูเขียนแล้วๆ คำนี้หนูเขียนก่อน teacher การที่เขาได้ชนะคุณครูเหมือนเขารู้สึกว่าเขามีแรงที่จะทำเพิ่ม ไม่เป็นไรครูแกล้งแพ้ให้ก็ได้เพื่อที่นักเรียนเราจะได้ไปถึง goal ไวๆ”
“นอกจากนี้ก็จะมีพี่ป.4 ซึ่งเราเคยสอนเขาสอนป.3 ชวนเขามาลองอ่านภาษาอังกฤษกัน เขาก็มา ซึ่งเขาสามารถอ่านได้จนจบเลย และที่มากไปกว่านั้นคือ เราก็แกล้งถามเขาไป เช่น คำว่า coffin ภาษาไทยแปลว่าอะไรหรอคะ ซึ่งเขาก็สามารถบอกได้ เขาก็บอกว่า มันแปลว่าโลงศพค่ะ แล้ว blood ก็แปลว่าเลือดค่ะ และสามารถแปลเป็นประโยคได้ด้วย เช่น He fears crosses. เขาก็บอกว่า เขากลัวไม้กางเขนค่ะ”
“แต่ปัญหาคือเมื่อเราสอนเป็นซับภาษาไทย เป็นตัวคาราโอเกะด้านบน นักเรียนจะติดการอ่านแบบท่องอาขยาน อ่านแบบยืดๆ ก็เลยใช้วิธีการแก้ปัญหาคือ โรงเรียนเราใช้นวัตกรรมจิตศึกษา ค่ะ
เราพยายามลดช่องว่างการแข่งขันของนักเรียนให้มากที่สุด เพราะมันมีผลแพ้ชนะก็จริง แต่ไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ที่เด็กทุกคนจะอัพตัวเองจากความพ่ายแพ้ บางคนอาจจะรู้สึกด้อยค่าตัวเองไปเลยก็ได้ว่า เขาไม่ดี เขาไม่เก่ง
ก็เลยได้ไอเดียขึ้นมาว่า งั้นก็แข่งกับ teacher ดาวไปเลย แข่งกันอ่านเรื่องสั้นแบบจับเวลา เลยทำให้เขาสามารถอ่านภาษาอังกฤษได้โดยไม่ท่องอาขยานแล้ว”
และสุดท้ายห้องเรียนของชั้นป.3 ซึ่ง teacher ดาว มีโอกาสเป็นครูประจำชั้นด้วย แม้จะเน้นการอ่านและเขียนตามเดิม แต่เปลี่ยนเป็น ‘Learning word meaning from shot stories’ โดยเพิ่มความหมายของคำเข้าไป
“เราไม่มานั่งอ่านแล้วว่า He (ฮอ-อี-ฮี) ไม่แล้วค่ะ เราหยิบยกเรื่องที่มากกว่าเดิมมา เพื่อเป็นการท้าทายเขา แล้วก็มีบางอันหยิบเอาข้อสอบที่เราเจอตามอินเทอร์เน็ต เราอยากรู้ว่าโรงเรียนอื่นเขาเรียนยังไงบ้าง ก็ลองเอามาสอนดูว่า ถ้าเราเอามาสอนนักเรียนเรานักเรียนเราจะเข้าใจไหม ว่าเด็กข้างนอกเขาสอบเขาใช้บทความที่ยากๆ แบบนี้เลย ห้องเรียนก็จะตึงๆ นิดนึงนะคะ เพราะว่าเริ่มโตเป็นพี่ใหญ่ละ ปลุกปั้นมาตั้งแต่เด็กน้อยนะคะ พอเริ่มโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะเริ่มมีความแบบคุยน้อยนิดนึง แต่ถามว่าถ้าเสร็จภารกิจแล้วนี่คุยไม่หยุดเลยค่ะ”
“แล้ววิธีการเรียนไม่ใช่เปิดมาถามเขาว่า นี่แปลว่าอะไรลูก ไม่ใช่ค่ะ เราเขียนทีละคำเลยค่ะ เช่น goes แปลว่าไป แล้วเขาก็จะรีบไปสังเกตเลยจากพื้นฐานที่เขาเรียน sound มาแล้ว เขาก็จะรู้ว่าแสดงว่าคำที่เหมือนกันแบบนี้ความหมายเดียวกัน เขาก็จะไปไล่เขียนเต็มเลย เขียนนำ teacher ดาวไปอีก แล้วเขาก็จะมีความภูมิใจมากที่ชนะเรา เลยทำให้เขาได้รู้ว่าแต่ละคำความหมายว่าอะไร จากนั้นเราก็มาแกล้งแย็บเขาว่า ภาษาไทยเขาไม่พูดกันแบบนี้นะคะ จะมาพูด แดน ไป ถึง หนึ่ง ร้านหนังสือ (Dan goes to the bookshop…) แบบนี้ไม่ได้นะคะ เขาก็มาขยับ
แล้วสิ่งที่เขาทำให้เราเซอร์ไพสซ์ก็คือ เขาเรียงเป็นประโยคที่สวยงามได้ มีไหมที่ผิด มีค่ะ เราก็บอกเขาว่าขออีกสักหนึ่งแนวทางได้ไหม ถ้าไม่เรียงเป็นแพทเทิร์นนี้จะเป็นแบบไหนได้อีก เขาก็จะพยายามคิดพัฒนา แก้ไขไปเรื่อยๆ จนถูก
ถ้าเราไปเร็วแล้วเขาไม่ทัน เขาก็จะบอกเลยว่า หนูไม่ทันค่ะ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นมากไปกว่านั้นคือพอเริ่มโตแล้วก็เริ่มรู้มากขึ้น เริ่มมีแบบว่า เอ…เราไม่เขียนคำนี้ได้ไหมคะ เราลดหน่อยได้ไหม มันต้องเขียนซ้ำอ่ะ หนูรู้แล้วหนูไม่เขียนได้ไหมคะ อะไรอย่างนี้ค่ะ”
ในส่วนของการวัดและประเมินผลนั้น ครูดาวมีวิธีการในการประเมินพัฒนาการของเด็กๆ ที่นอกจากจะคอยสังเกตการณ์ทักษะต่างๆ ที่เด็กๆ ทำได้ เช่น การคิด การอ่าน การเขียน ตามกิจกรรมที่ทำแล้ว ครูดาวยังทำให้การสอบของนักเรียนเป็นเรื่องที่สนุกอีกด้วย
“ถ้าเอาจริงๆ เลยก็คือ ดูว่าเขาทำได้ไหม แล้วเราก็มีการออกแบบการสอบแบบใหม่ ไม่ได้สอบแบบเอากระดาษไป มีเวลา 30 นาที แต่เราเอาสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ ทำใส่กระดาษ แล้วก็เอาไปใส่ในกล่องปริศนาไว้ เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงกล่องสุ่มด้วย ก็ให้เด็กเอามือล้วงลงไปในกล่องนั้น ถ้าเขาหยิบออกมาแล้วเขาได้คำว่าอะไร ก็ให้เขาช่วยอ่านให้ฟังหน่อยว่าสิ่งที่หยิบมามันคืออะไร ภาษาอังกฤษพูดว่าอะไร แล้วก็มีทั้งเทสบทความภาษาอังกฤษที่เขาได้แปล ให้เขาหยิบออกมาแล้วก็ช่วยแปลให้หน่อยว่ามันแปลว่าอะไร ซึ่งถ้าเขาทำได้นั่นก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเขาเข้าใจค่ะ แล้วเป็นอะไรที่เอนจอยมาก เพราะเด็กๆ เขาบอกว่า นี่เราสอบแล้วหรอครับ เหมือนหนูมาเล่นเลย”
ครูลดการตัดสิน เพิ่มการชื่นชมเชิงบวก ช่วยเพิ่มความกล้าในการใช้ภาษาอังกฤษให้กับเด็ก
ถ้าถามว่าอะไรที่ทำให้เด็กคุ้นชินและกล้าที่จะใช้ภาษาอังกฤษ? สำหรับ ครูดาวคือ การที่คุณครูเห็นคุณค่าความเป็นนักเรียนมากขึ้น ลดการตัดสิน และเพิ่มการชื่นชมในเชิงบวก
“เราแทบไม่ตัดสินในสิ่งที่เขาพูด (ภาษาอังกฤษ) เลย ผิดไม่เป็นไรเราก็เริ่มใหม่ จะไม่มานั่งตัดสินว่าเนี่ยทำไมผิด ทำไมถึงเป็นแบบนี้ มันเลยทำให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยระหว่างครูกับนักเรียน เห็นได้ชัดว่าวันนี้เขากล้าที่จะคุยกับเรา กล้าที่จะบอกเมื่อเห็นว่าเราผิด สามารถแย้งขึ้นมาได้”
ซึ่งครูดาวได้ปั้นให้เด็กๆ เป็น ‘นักเรียนรู้’ อย่างแท้จริง เด็กๆ เริ่มค้นหาความรู้ด้วยตัวเอง เข้าหาหนังสือเรียนด้วยตัวของเขาเอง
“หนังสือเรียนที่เขาได้เรียนทุกๆ ปี ปกติเด็กๆ เขาจะเปิดก็ต่อเมื่อคุณครูบอกให้เขาเปิดแล้วเราเรียนไปพร้อมๆ กัน แต่ตอนนี้เหมือนเขามีสะสมใบงานที่เราเรียน shot stories มาเรื่อยๆ เขาเอาสิ่งนี้เหมือนเป็นดิกชั่นนารีส่วนตัวเขาเลยค่ะ เขาเอาหนังสือเรียนมานั่งแปล แล้วเขาก็ภูมิใจว่า เขาแปลเสร็จเขาก็จะเอามาใช้ดู teacher หนูแปลอันนี้มาด้วยนะ เสร็จแล้ว หนูทำได้ด้วย แต่ว่าอันนี้หนูก็ไม่รู้ว่าถูกไหม เพราะว่ามันไม่มี ไม่มีในที่นี้คือไม่มีในสิ่งที่เขาเคยเรียนมาก่อน บางทีเขาก็จะเว้นเอาไว้ค่ะ เรารู้สึกว่านี่คือการพาให้เด็กก้าวเข้าหาหนังสือ โดยที่เขาก้าวเข้าไปเอง มันเป็นการที่เราไม่ต้องมานั่งแปลทุกอย่างในหนังสือให้นักเรียนฟัง แต่เขาไปแปลมาด้วยตัวเขาเอง แล้วเขาก็เกิดความภาคภูมิใจที่จะทำมันมากขึ้น”
“ตอนนี้เด็กมาขอการบ้านกับ teacher ดาวกันเต็มเลย แล้วเราเป็นครูคนนึงในโรงเรียนบ้านโพธิ์เอนที่แทบจะไม่ให้การบ้านกลับบ้านเลย พยายามสอนทุกอย่างให้จบในคาบ ถ้าไม่จบจริงๆ เรามาต่อกันในช่วงเวลาว่างอีกคาบนึงที่ยังเหลือเวลาก็ได้ แต่จะพยายามไม่ให้เป็นการบ้าน เพราะไม่อยากให้เป็นภาระเขา”
นอกจากนี้ ในช่วงท้ายของคาบเรียน ครูดาวจะมีกิจกรรมคล้ายๆ กับการแจกรางวัลกับเด็กๆ ด้วย
“ถ้ามีเวลาใช่ไหมคะ จะเสริม ‘กิจกรรมเสริมเติมใจ’ เช่น ตักไข่ ฮีลใจ ในนั้นจะใส่คำว่าช็อกโกแลต แคนดี้ เป็นภาษาอังกฤษนะคะ ถ้าเขาทำอะไรสำเร็จเขาสามารถมาตักไข่ได้ ซึ่งถ้าเขาตักได้แคนดี้ teacher ดาวก็จะให้แคนดี้กับพี่ๆ แต่ถ้าเขาไม่อยากตักไข่แล้วก็สามารถที่จะเลือกไปเที่ยวต่างประเทศได้ด้วย
พาเขาเข้า google earth เด็กที่นี่ค่อนข้างจะขาดประมาณนึงเลยกับเทคโนโลยี ว่าด้วยสภาพภาพความเป็นอยู่หลายๆ อย่างทำให้เขาเข้าไม่ค่อยถึงเทคโนโลยี เวลา teacher ดาว เอาอะไรที่แปลกใหม่มาเขาก็จะตื่นเต้นมาก อย่างอันนี้ก็คือเราเห็นโลกทั้งใบเลย เราจะไปแคนนาดา เราจะไปญี่ปุ่น แล้วก็มีการฟังเพลงรอบโลกด้วยผ่าน app radio garden แล้วก็จะมีต่างๆ ให้เขาได้เลือกอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นระบายสีฉบับ teacher ดาว เล่นของเล่น ฟังเพลงสากล เล่นเกม Word wall แปลเพลง ให้เขาได้เลือกในสิ่งที่เขารู้สึกว่าเขากำลังสนใจ”
ครูดาวทิ้งท้ายว่า ทุกวันนี้นักเรียนโรงเรียนบ้านโพธิ์เอนเห็นชาวต่างชาติเมื่อไร มักจะพุ่งเข้าหามากกว่าเขินอาย แม้จะยังสื่อสารไม่เข้าใจบ้าง แต่เด็กๆ เปิดใจเต็มร้อย
“มีครั้งนึงตอนไปทัศนศึกษาเมื่อปีที่แล้ว เราไปสุโขทัยไปเจอชาวต่างชาติ เด็กเราเจอชาวต่างชาติ เขาทักเลยค่ะ Hello แล้วก็ยิ้ม แล้วก็กลับมาบอกเราว่า teacher เขาทักกลับหนูด้วย เราก็ถามว่า แล้วเขาพูดกับหนูว่ายังไงคะ เด็กบอกว่า ไม่รู้หนูฟังไม่ออก หนูจะถามเขาว่าเขามาจากที่ไหนหนูจะถามเขายังไงคะ พอเราบอกไปเสร็จเขาก็ไปถาม คือเด็กเราเห็นชาวต่างชาติแล้ววิ่งเข้าหาเลย แล้วเราก็รับบทเป็นไกด์ เป็นทูตไปเลย ที่แบบต้องคอยคุยกับชาวต่างชาติให้เขา”
เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ PLC Online Coaching ครั้งที่ 4 โรงเรียนบ้านปางเป๋ย จังหวัดน่าน มูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต ภายใต้โครงการขับเคลื่อนชุมชนแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาชีพครูสู่การพัฒนาโรงเรียนแกนนำ (Online PLC Coaching) สนับสนุนโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ในหัวข้อ การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning): นอกกรอบ อิงลิช with teacher ดาว โดยครูต้นเรื่อง ครูปราณวรินทร์ ตันศิริเลิศ โรงเรียนบ้านโพธิ์เอน จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อวันเสาร์ ที่ 17 มิถุนายน 2566 เวลา 09.00 น. – 12.00 น. รับชมถ่ายทอดสดย้อนได้ที่ https://www.facebook.com/PangpoeiSchool/videos/212999221662033