หากใครวางการอ่านไว้ในเป้าหมายใหม่เพื่อพัฒนาตัวเอง เรามีหนังสือ 7 เล่ม เพิ่มพลังความคิด ปรับมุมมอง เพื่อการเริ่มใหม่ของปี 2566 ด้วยความหวังจะเป็นคนใหม่ในเวอร์ชั่นที่ดีขึ้นอีก
โลกหมุนครบ 365 วันเมื่อไหร่ ก็เป็นช่วงเวลาให้หลายคนทบทวนชีวิต 1 ปีที่พ้นผ่าน ว่ามอบอะไรไว้ในความรู้สึกของเรา ไม่ว่าจะความทุกข์ ความสุข ความสำเร็จ ล้มเหลว แต่ท้ายที่สุดเราก็มักได้เรียนรู้หรือเติบโตไปอีกขั้น หรือบอกตัวเองให้เริ่มใหม่กับเป้าหมายใหม่เพื่อพัฒนาตัวเอง และหากใครวางการอ่านไว้ในเป้าหมาย เรามีหนังสือ 7 เล่ม เพิ่มพลังความคิด ปรับมุมมอง เพื่อการเริ่มใหม่ของปี 2566 ด้วยความหวังจะเป็นคนใหม่ในเวอร์ชั่นที่ดีขึ้นอีก อย่างที่หลักการทางคณิตศาสตร์คำนวณได้ว่า หากพัฒนาตัวเองวันละ 1 เปอร์เซ็นต์ เป็นระยะเวลา 1 ปี ผลคือตัวเราจะดีขึ้นกว่าเดิม 37 เท่า หรือเท่ากับการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ในทุกวัน อาจให้ผลลัพธ์ใหญ่กว่าที่คิด แต่การเปลี่ยนนิสัยต้องเริ่มต้นที่การเปลี่ยนความคิด
1. รุ่งอรุณของการเปลี่ยนแปลง: Defining Moment
แค่เพียงชื่อเล่มว่า ‘รุ่งอรุณของการเปลี่ยนแปลง’ คาดเดาได้ไม่ยากว่า เป็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงในชีวิตแน่นอน ที่เมื่อพลิกหน้าถัดไปเรื่อยๆ จะเห็นการชวนนิยามตัวตนใหม่ขึ้นมาแทนตัวตนเก่าในโลกก่อนมหาวิกฤติโควิด-19 เพราะช่วงเวลายากลำบากจากโรคภัยที่ผ่านมา เปิดบาดแผลซ้ำเติมปัญหาสังคมแห่งความเหลื่อมล้ำ ทางเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ เทคโนโลยี และความรู้ อย่างมากมาย แต่แง่ดีที่มากับเหตุการณ์ก็คือการได้ถามตัวเองว่า “เชื่อในโลก ในสังคม ในการงานไปทางไหน และจะเปลี่ยนความเชื่อเกี่ยวกับตัวเองไปอย่างไร เพื่อที่จะลงมือเปลี่ยนชีวิต” โดย รวิศ หาญอุตสาหะ เปิดบทสนทนาด้วยการเสนอถึง
“พลังของสิ่งเล็กๆ ที่เราเลือกทำทุกวัน ว่ามันอาจจะดูเหมือนไม่มีความหมายในวันนั้น แต่เมื่อมันรวมกันเป็นร้อยๆ วัน มันมีความหมายเสมอ”
สังคมธุรกิจคุ้นเคยกับ ‘รวิศ หาญอุตสาหะ’ มาจากความสำเร็จในการรีแบรนด์ดิ้ง เครื่องสำอางไทย ‘ศรีจันทร์’ ที่มีอายุสู่ปีที่ 75 เป็นของข้ามยุคข้ามสมัยมา แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้สร้างสื่อ Mission to the Moon มาจากตัวตน พร้อมกับนิยามภารกิจการส่งต่อแรงบันดาลใจว่า เป็นหน้าที่หนึ่งของมนุษย์ จน Mission to the Moon เป็นสื่อในลิสต์ของคนที่อยากเพิ่ม Productive ในชีวิต เสน่ห์การเล่าเรื่องของรวิศ อยู่ที่การลำดับความอย่างชวนคิด ความเท่าทันการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ทำให้หนังสือรวมบทความ 33 เรื่อง เป็นเสมือนแหล่งเชื้อเพลิงเติมไฟในการทำงาน มีน้ำเสียงเล่าเรื่องสไตล์รวิศ ที่เรียบเรียงอย่างสนุก เข้าใจง่าย แต่มีพลังมากทีเดียว ผ่านการจัดเนื้อหาออกเป็น 4 หมวด นั่นคือ
Defining Moment: เล่าถึงมุมมองที่มีต่องานแบบเปิดตา เปิดใจ ให้พลังกับคนทำงาน ที่อาจกำลังเผชิญงานหนัก ความเบื่อหน่าย ท้อแท้ต่อภาระหน้าที่
Tight-Loose-Tight: เล่าถึงหลักการเรื่องความยืดหยุ่นทางความคิด เช่น เปรียบให้เข้าใจปัญหาหลายๆ อย่างว่าเหมือนไฟหลายกอง ที่เราไม่อาจดับได้ทุกกองหรือแก้ปัญหาทุกอย่างได้ แต่อย่าจมอยู่กับความไม่สบายใจที่เป็นเรื่องชั่วคราว
The Amount of Joy: เล่าถึงความสุขที่มาจากมุมมองชีวิตและเรื่องระหว่างวัน แม้แต่คำว่า small win หรือชัยชนะเล็กๆ ที่เป็นหนึ่งเรื่องราวในหมวดนี้ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในระยะยาว เพราะนำไปสู่ big win ในอนาคต เนื่องจากเป็นความภาคภูมิใจที่ผลักดันเราไป
Wake-up Call: หมวดส่งท้ายที่เล่าถึง ความปรารถนาดีและการกระทำที่เป็นประโยชน์ให้กับเพื่อนมนุษย์
เรื่องเล่าของรวิศ เชื่อมโยงมาจากผู้คน สถานการณ์ ประสบการณ์ชีวิต ข้อคิดจากการอ่านบทความดีๆ จากแหล่งต่างๆ ทั้งคนในแวดวงการต่างๆ เว็บไซต์ต่างประเทศ การจับใจความจากการฟังนักพูดสร้างแรงบันดาลใจมาขยายต่อทางความคิด และเรียนรู้จากบุคคลที่ทรงอิทธิพลในโลก สะท้อนความสนใจที่มีต่อเรื่องต่างๆ เช่น บทความหนึ่งเขียนถึงความขี้เกียจ โดยแนบวิธีการเลิกผลัดวันประกันพรุ่งมาด้วย เป็นแนวทางที่ถอดความมาจาก Want to Stop Procrastinating in 2021? ได้พูดถึงงานวิจัยว่า คนชอบผลัดวันประกันพรุ่งบ่อยๆ มีแนวโน้มจะมีรายได้น้อย วิตกกังวลและเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ฟังดูผิวเผิน เหมือนไม่น่าเกี่ยวกันว่าโรคจะมาจากความขี้เกียจ แต่งานวิจัยให้เหตุผลว่า การเลื่อนกิจกรรมใดๆ ออกไป ทำให้งานเสร็จล่าช้า และหมายถึงการแบกความเครียดไว้นานขึ้นอีก ทางแก้ที่น่าสนใจก็คือการตั้งคำถาม 5 ข้อ แล้วตอบมันกับตัวเอง เช่น รู้สึกอย่างไรเมื่อไม่เหลือเวลาทำมันให้ดี หรือสวมแว่นตาของคนสำเร็จอย่างบิล เกตส์ หรือ อีลอน มัสก์ ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เป้าหมายสำเร็จ
คนทุ่มเทอย่างน่าทึ้งอีกคนในเรื่องเล่าของรวิศ ก็คือ ‘ไมเคิล เฟลป์ส’ นักกีฬาว่ายน้ำเจ้าของเหรียญโอลิมปิก 28 เหรียญ และเป็นเจ้าของสถิติโลกถึง 39 รายการ ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาอยู่ในสระปีละ 365 วัน รวมทุกวันอาทิตย์ด้วย จึงมีเวลาซ้อมมากกว่าคนอื่นปีละ 52 วัน แสดงให้เห็นว่า ความสำเร็จมาจากหลายปัจจัย โดยไม่มองข้ามคุณค่าของความพยายาม ตามด้วยวินัยจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในทุกวัน บทความสะท้อนภาพรวมการใช้ชีวิตของคนวัยทำงาน ให้ใส่ใจตัวเองในมิติต่างๆ ทั้งสุขภาพร่างกาย การเป็นผู้นำ การพัฒนาทีม และมุมมองยามวิกฤติ ที่อาจพาเราไปสู่การทำในสิ่งต่าง
ความหมายของประโยคหนึ่ง ที่ไม่รู้ว่าไอน์สไตน์พูดไว้หรือไม่ได้พูด แต่ให้แง่คิดมากๆ และถูกรวม ในเล่มด้วย ก็คือ Insanity is doing the same thing over and over again and expecting different results. หรือ “วิกลจริตหมายถึงการทำสิ่งเดิมๆ ซ้ำๆ โดยคาดหวังให้ผลลัพธ์ออกมาแตกต่างกัน” ประโยคนี้สร้างแรงสั่นสะเทือนในใจเรา ทำให้เรามีความคิดตามไปทันทีว่า “มันไม่มีทางเลยที่เราจะได้ผลลัพธ์แตกต่าง ในสิ่งที่เรายังทำด้วยวิธีการซ้ำเดิม” เพราะบางทีการเปลี่ยนแปลงดีๆ มันไม่ได้เกิดขึ้นได้ด้วยการรอคอย แต่มันจะเกิดก็ต่อเมื่อเราลงมือทำสิ่งใหม่ จนมีข้อสรุปสำคัญจากเล่มนี้ว่า อย่าจำกัดตัวเองไว้กับการรู้ในสิ่งที่รู้อยู่แล้ว เพราะความรอบรู้ มันจะทำให้เราส่งต่อความหมายจากความรู้ไปได้อีกหลายทอด
2. ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว: The life-changing magic of tidying up
มองรอบบ้านแล้วลองเช็คกันหน่อยว่า จัดบ้านครั้งหลังสุดเมื่อไหร่ แล้วเคยไหมที่ถามตัวเองว่า เพิ่งจัดไม่นานทำไมบ้านรกอีกแล้ว คนบางคนนึกไปถึงไม้วิเศษสักอันมาเสกความสะอาดความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้กับบ้าน คนส่วนใหญ่มักมีความคิดว่า การจัดบ้านเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย เพราะยิ่งเราพยายามจะจัดบ้าน มันทั้งเหนื่อย ใช้เวลานาน บางคนถึงขั้นต่อสู้กับความขี้เกียจในตัวในใจกันหลายยก แต่ความคิดเหล่านี้ ตรงข้ามกับความเป็น คนโด มาริเอะ ผู้เขียนที่ได้รับยกย่องว่าเชี่ยวชาญด้านการจัดบ้านระดับโลก แม้ว่าเราอาจไม่ได้คำตอบในข้อสงสัยว่า อะไรทำให้มาริเอะหลงใหลการจัดบ้านมาแต่เด็ก และสร้างนิยามใหม่ให้กับอาชีพจัดบ้าน แต่สิ่งที่เราได้แน่นอนเลย ก็คือความปลอดโปร่งที่มาหลังการอ่าน และตอบคำถามได้ว่า “ ทำไมการจัดการสิ่งของในบ้านจึงสัมพันธ์กับการจัดการชีวิต” หากการจัดบ้านเป็นการคุยกับตัวเองตามแง่มุมหนึ่งที่หนังสือได้เสนอไว้ เราก็คิดว่าการอ่านหนังสือบางเล่ม มันก็คือการให้เวลาคุย ในเรื่องที่เราอาจไม่เคยคุยกับตัวเองมาก่อนเลยก็ได้
สำนวนการเล่าเรื่องในหนังสือ มีความกระตือรือร้นอยู่ในตัวเอง เล่าวิธีการแบบ ‘คมมาริ’ ที่นิยามมาจากการเรียนรู้เรื่องการจัดบ้านตลอดชีวิตวัยเด็กจนโตของมาริเอะ และกลายมาเป็นวิธีคิดเรื่องการจัดบ้าน เพราะผู้เขียนเห็นว่าการจัดบ้าน เป็นเรื่องที่เปลี่ยนชีวิตเราได้ ทั้งที่วิธีของคนทั่วไปจะคุ้นเคยว่าการเปลี่ยนชีวิต เริ่มที่การเปลี่ยนมายด์เซ็ต เปลี่ยนนิสัยมากกว่า โดยแก่นของหนังสือเป็นเรื่องของการจัดการชีวิต ซึ่งโยงใยไปถึงการจัดการเวลา การจัดการความคิด อารมณ์ความรู้สึก เริ่มต้นมาจากการทิ้งจนไปถึงการจัดของ แต่เราจะเริ่มต้นจัดการอะไรได้ ก็ต้องมาจากการรู้ว่าจะทิ้งอะไรก่อน
‘การเริ่มต้นด้วยการทิ้ง’ เป็นทั้งเครื่องมือการจัดการและเครื่องหมายของการตัดสินใจ เปรียบเทียบได้ว่าจะทิ้งจะเก็บอะไร เราก็มักจะถามใจก่อน ซึ่งหนังสือแนะนำขั้นตอนนี้ว่าเป็นสิ่งที่ควรทำแบบรวดเดียวจบ เพราะหากค่อยๆ ทำ ค่อยๆ เก็บไปเรื่อยๆ จัดทีละเล็กทีละน้อย มันจะไม่มีวันสำเร็จจริงๆ และแทบเปลี่ยนความคิดที่มีอยู่ไม่ได้เลย ระหว่างจัดบ้าน เราจะได้ถามตัวเองตลอดเวลา เป็นการฝึกแก้นิสัยลังเล และช่วยให้เราตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาดและแม่นยำ มองไปผลลัพธ์ยิ่งขึ้น ซึ่งการทิ้งแบบรวดเดียวจบโดยใช้เวลาให้น้อยที่สุด ก็คือการออกจากสภาพแวดล้อมที่รกรุงรังอย่างรวดเร็ว เป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ ที่จะส่งผลดีต่อความคิดมากกว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป กุญแจสำคัญคือการเปลี่ยนอย่างฉับพลัน ทำทันที ซึ่งมันส่งผลกระทบลึกซึ้งต่อความคิด
องค์ประกอบสำคัญของการจัดบ้านมีแค่ 2 อย่าง คือ ‘จะทิ้งหรือไม่และจะเก็บไว้ที่ไหน’ ผ่านการฝึกควบคุมตนเองไม่ให้เก็บทุกอย่างไว้ แต่คิดให้ได้ว่าสิ่งใดที่ต้องการและจำเป็นจริงๆ เทียบได้ทั้งกับการทิ้งสิ่งของและปล่อยวางอารมณ์ การตัดสินใจทิ้งให้ตัดสินใจอย่างมีลำดับจากง่ายไปสู่ยาก ไม่ต่างจากการตัดสินใจเรื่องราวชีวิตจากเรื่องง่ายๆ ไปก่อน จนถึงเรื่องที่ยากขึ้น เวลาจะทิ้งก็ให้สัมผัสของสิ่งนั้นทีละชิ้น และถามใจว่า “มันปลุกเร้าความสุขได้ไหม” เพราะเกณฑ์ของมันก็คือความชื่นใจเมื่อเราได้รับหรือเก็บของชิ้นนั้นไว้ เห็นประโยชน์ของสิ่งนั้นในปัจจุบันและอนาคต หากยังตัดใจทิ้งสิ่งใดไม่ลง ให้ตรองจุดประสงค์ที่แท้จริงของสิ่งของนั้นที่มีต่อชีวิตเรา แล้วจะพบของที่ทำหน้าที่ของมันไปอย่างสมบูรณ์แล้ว สิ่งใดที่ปฏิบัติภารกิจเสร็จสิ้นแล้วให้ปล่อยมันไปด้วยความรู้สึกขอบคุณ ซึ่งจะช่วยให้เราจัดระเบียบสิ่งของที่มีอยู่ต่อได้ และท้ายที่สุดจะเหลือแต่สิ่งที่จำเป็นและสำคัญ เมื่อเราผ่านการตัดสินใจทิ้งของมาเป็นร้อยๆ พันๆ ครั้ง ก็จะส่งผลต่อการตัดสินใจที่แม่นยำในเรื่องอื่นๆ และคนที่เข้ามาในชีวิตเราด้วย
เมื่อตัดใจทิ้งได้แล้ว ก็มาสู่การจัดหมวดหมู่ ทั้งเสื้อผ้า ชุดอยู่บ้าน เสื้อผ้านอกฤดูกาล ซึ่งตัวอย่างจากหนังสือทำให้เป็นว่าสิ่งของในบ้าน มีจิตวิญญาณของมันอยู่ เช่น เสื้อผ้า ถุงเท้า ทำให้เห็นว่าการพับผ้าอย่างใส่ใจแทนการใช้ไม้แขวนไว้จนแน่นตู้ หรือการคลายม้วนถุงเท้า เป็นการให้เกียรติและให้สิทธิ์มันได้พักผ่อนในที่เก็บของมันจริงๆ ส่วนการเก็บหนังสือ ใช้วิธีการเดียวกันคือนำทุกอย่างมาวางกองบนพื้น เพื่อประเมินว่ามันยังสร้างความสุขได้อยู่ไหม โดยให้เหตุผลว่า การย้ายที่จะช่วยปลุกของที่เก็บไว้นานๆ เข้าสู่ภาวะหลับใหลให้รู้ตัว หากเป็นหนังสือให้สัมผัสโดยห้ามอ่าน เพื่อไม่ให้การอ่านเบี่ยงเบนความคิด สาเหตุที่คนเรามักไม่ทิ้งหนังสือ เพราะคิดว่าสักวันจะได้อ่าน แต่สำหรับมาริเอะมันก็คือหนังสือที่ไม่มีวันอ่าน เพราะประเมินว่ามีโอกาสเพียงไม่ถึง 15% ที่จะได้อ่านจริงๆ เธอจึงแนะนำให้ทิ้งเช่นกัน แล้วเลือกหนังสือที่ควรเก็บขึ้นหิ้งของตัวเอง เป็นหนังสือเล่มโปรด ต่อมาเธอพบว่า การมีหนังสือน้อยลงจะช่วยให้เปิดรับข้อมูลสำคัญๆ ได้ดีขึ้น
น่าสนใจว่าการจัดบ้านให้เป็นระเบียบ ทำให้ค้นพบสิ่งที่ต้องการทำอย่างแท้จริง และสิ่งที่เราชอบจริงๆ มักไม่เปลี่ยนไปตามเวลา สร้างความเชื่อมั่นให้ตัวเอง ไม่ยึดติดกับอดีตและความกังวลเกี่ยวกับอนาคต
หากเราไม่แน่ใจว่าชีวิตเราต้องการอะไรจริงๆ อยากไปในทิศทางไหน มันจะเหมือนกับความไม่แน่ใจจนเรามีข้าวของที่ไม่จำเป็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไม้สุดท้ายก็คือ เรียนรู้ว่า การขาดของบางอย่างไปนั้น ไม่ได้ทำให้ตายหรอก ยิ่งอยากรู้จักตนเองให้มากขึ้น ยิ่งไม่มีวิธีไหนจะดีเท่าลงมือจัดบ้าน เพราะว่าข้าวของที่เราครอบครองล้วนเป็นผลมาจากการตัดสินใจของเราเอง
3. NIKSEN: ศิลปะของการไม่ทำอะไรเลย
นอกม่านหน้าต่างที่มีลมพัดเบาๆ เห็นเรือใบลำเล็กลอยเอื่อยๆ เหมือนหยุดนิ่ง… นี่เป็นภาพแรกที่ปรากฎเมื่อเปิดหน้าหนังสือ ‘NIKSEN ศิลปะของการไม่ทำอะไรเลย’ ซึ่งเป็นชื่อเล่มที่ค่อนข้างสวนกระแสค่านิยมสังคมปัจจุบันที่หล่อหลอมความ Productive สร้างคนให้คิดว่า ควรทำได้ทุกอย่าง ยิ่งทำงานมากยิ่งดี แบกงานไปทำบ้าน สแตนด์บายรับโทรศัพท์ ทำให้คนรู้สึกผิดกับการพักผ่อนหรืออยู่เฉยๆ ด้วยคำกล่าวหาว่า เป็นพวกขี้เกียจและไม่ได้ความเพราะใช้เวลาว่างโดยเปล่าประโยชน์
ทีนี้หากใครกำลังคิดแบบนั้นอยู่ กลัวว่าการไม่ทำอะไรเลย จะถูกมัดรวมว่าพวกขี้เกียจ ให้ลองมองแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์แถวบนสุด จะมีคำว่า Pause/Break อยู่ แต่มีกี่คนที่พิมพ์คอมพิวเตอร์บ่อยๆ ทำงานผ่านจอทุกวันแล้วมีโอกาสได้กดใช้งานปุ่มนี้ คำตอบคือน้อยมากหรือแทบไม่ได้ใช้เลย ซึ่งความหมายการใช้งานของมันก็คือ การหยุดทำงานของโปรแกรมชั่วคราว จากความหมายนี้เป็นตัวอย่างใกล้มือที่ทำให้เห็นได้ว่า ‘การหยุดชั่วคราว’ สร้างมาเพื่อใช้งานแม้แต่กับเครื่องกล แต่ชีวิตจริงของบางคน การลาพักร้อนปีละครั้ง ยังเป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกผิด หรือกว่าจะลาได้แต่ละครั้ง ต้องเคลียร์งานมากมาย หนักกว่านั้นความรับผิดชอบที่มีคือต้องทำงานล่วงหน้าแบบสาหัสจนท้อแท้ แล้วถ้าชีวิตจริงเป็นเช่นนั้น การอ่านวิธีคิดของคนดัตช์จากศิลปะของการไม่ทำอะไรเลย น่าจะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดที่สะสมอยู่ไปได้มาก เพราะมันคือปรัชญาสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน
ชาวดัตช์ ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีดัชนีความสุขสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่ง แอนเนท ลาฟไรห์เซน เขียนถึง NIKSEN ว่า เธอใช้เวลาเกือบ 38 ปี กว่าจะรู้ตัวว่าการอยู่เฉยๆ โดยไม่ได้ทำอะไรเป็นพิเศษ เป็นเรื่องที่ไม่ต้องรู้สึกผิด และยังทำให้ค้นพบอิสระของการไม่ต้องทำอะไรเลยอีกด้วย หัวใจของมันก็คือ “การปล่อยจิตปล่อยใจนั้น ควบคู่กับการสับเปลี่ยนโหมดระหว่างพนักงานที่ขยัน การเอาใจใส่ครอบครัว และเพื่อนที่ดี”
หรือเท่ากับการไม่ทำอะไรเลย จะเป็นศิลปะก็ต่อเมื่อ รู้จักลำดับความสำคัญ ปรับมุมมองเกี่ยวกับเวลาจนอยู่ในจุดสมดุล ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติเชิงบวกในศาสตร์นิกเซน
นิกเซน ตามนิยามศัพท์ หมายถึง ‘ไม่ทำอะไรเลย’ น่าจะเป็นคำใหม่มาเป็นภาษาพูดช่วงทศวรรษ 1920 คำนี้แทนช่วงเวลาให้คนอยู่กับตัวเอง เพื่อเคลียร์ใจจากอารมณ์ลบๆ เคลียร์สมองให้แจ่มใส ทำให้นอนหลับสบาย ซึ่งสามสิ่งนี้จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน ความคิดสร้างสรรค์ ความสัมพันธ์กับครอบครัว ยิ่งกับคนที่มีแผนระยะยาวของชีวิตจะทำให้มีเวลากับการวางแผนนั้น แม้ว่านิกเซนจะไม่นำไปสู่เป้าหมายโดยตรง เช่น เงินในบัญชีเพิ่มขึ้นหรือมีเครือข่ายสังคม แต่งานวิจัยจำนวนมากชี้ว่า การอยู่เฉยๆ ยกระดับประสิทธิภาพ ความคิดสร้างสรรค์ สุขภาพ และความสุข ซึ่งคำว่า ‘นิกเซน’ เคยมีความหมายนัยเชิงลบมาก่อนในเนเธอแลนด์ เพราะผิดหลักลัทธิคัลวิน ที่เป็นรากฐานของสังคมดัตช์ มันมีใจความถึงการทำงานหนัก การสร้างทุน และความมัธยัสถ์ จนเป็นนิสัยของชาวดัตช์ ที่จะทำตัวให้มีประโยชน์แม้ในเวลาว่าง ก่อนจะมาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยนไป ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า มาตรฐานชีวิตระดับสูง บรรยากาศการเมืองที่มีเสถียรภาพ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้น้อย พลเมืองได้รับสิทธิ์ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ล้วนมีส่วนสร้างโลกอันสดใสให้กับคนในประเทศนี้ มีสมดุลการทำงานและใช้ชีวิตได้ดี
แบบฝึกหัดสำคัญของนิกเซนก็คือ ต้อง ‘กล้าที่จะเฉื่อย’ ซึ่งเหมือนกับการกดปุ่มหยุดพักชั่วคราว ทลายความเชื่อผิดๆ ที่มาขัดขวางไม่ให้เราอยู่เฉยๆ เช่น ฉันยุ่งเกินกว่าจะอยู่เฉยๆ การอยู่เฉยๆ แปลว่าขี้เกียจ การพักเป็นเรื่องไม่ดี เพราะคนอื่นต้องการฉัน ตัวอย่างที่หนังสือใช้เตือนสติในเรื่องนี้คือ การปฏิบัติตนบนสถานการณ์ฉุกเฉินบนเครื่องบิน เพราะคุณจะช่วยคนอื่นได้ก็ต่อเมื่อใส่หน้ากากออกซิเจนแล้วเท่านั้น หมายความว่า คุณจะช่วยคนอื่นไม่ได้เลย หากขาดพลังงาน แล้วพลังงานมาจากไหน แน่นอนว่า ทุกคนต้องการพักผ่อน ชาร์จแบต ดังนั้นการเสียพลังงานไปกับความต้องการที่จะเป็นที่ต้องการ เป็นการลงทุนเวลาให้กับคนอื่น ไม่ใช่ตัวคุณเอง การฟังเสียงร่างกายในเวลาที่มันบอกว่าเหนื่อย ไม่ใช่เรื่องที่ผิด
ลำดับต่อมาคือการจัดลำดับความสำคัญใหม่ เพราะหัวใจอีกห้องของนิกเซน คือก่อนเกิดความสมดุล ต้องจัดลำดับความสำคัญให้ชัดเจนก่อน ทำตัวปกติได้ในโลกที่เร่งรีบ ตอบคำถามว่าแคร์อะไรบ้าง และแบ่งแยกระหว่างการทำและไม่ทำ เพราะแม้ว่าสมองจะตั้งค่ามาให้รับมือกับความผันผวน และปรับตัวต่อความท้าทายในแต่ละวัน แต่ปัญหาจะเกิดได้ เมื่อเราไม่อนุญาตให้ตัวเองมีเวลาพักผ่อนและฟื้นตัว
หนังสือเล่มนี้คือแนวทางให้รู้จักคุณค่าเวลาพักและรู้จักปกป้องมันไว้สำหรับตัวเอง และไม่ได้จำกัดว่านิกเซนเป็นเรื่องที่ต้องทำเฉพาะวันหยุด เพราะแม้แต่ที่บ้านที่ทำงาน ทุกที่คือนิกเซนและนิกเซนได้ทุกเวลา มันก็ไม่แน่ว่าบางทีแม้ในคนที่เคยไม่ให้ความสำคัญกับเวลาพักมาก่อนเลย ถ้ารู้จักนิกเซนแล้วจริงๆ อาจจะลองลบกำหนดการในตารางงานรายเดือนออกไปให้มีช่องว่างดู ก็คงจะเป็นการเริ่มหาเวลาว่างเพื่อจัดสมดุลของชีวิตที่ดีไม่น้อยเลย
4. สู่จุดสูงสุดของชีวิตด้วยพีระมิดสามสุข: The Three Happiness
มีคนจำนวนมากที่ยังเข้าใจว่า ความสุขคือผลลัพธ์ แต่จิตแพทย์ยืนยันว่า ‘ความสุขคือกระบวนการ’ คงเพราะความสุขไม่ได้มากจากการสำเร็จตามเป้าหมายเท่านั้น แต่ความสุขมันเกิดตั้งแต่ตอนลงมือทำ มันอยู่ในชีวิตประจำวัน จากงานที่ทำ จากคนรอบตัว จากครอบครัว และจากคนรัก
หนังสือทำให้รู้จักความสุขจากสารสื่อประสาท 3 แบบ คือ โดพามีน ออกซิโทซิน และเซโรโทนิน ให้ความสำคัญกับความสุขที่ยั่งยืนที่สุด ได้แก่ เซโรโทนิน ตามด้วยออกซิโทซิน และท้ายสุดคือโดพามีน ซึ่งถือเป็นความสุขชั่วครู่และหายไปอย่างรวดเร็ว และในการวิจัยช่วงหลังๆ จะให้ความหมายของโดพามีนไปในทิศทางแบบอาการเสพติด หรือหมายถึง ขออีก ขออีก เพราะมักจะต้องการมากขึ้นๆ ยกตัวอย่างเช่น หากมีเงินมากถึง 10 ล้าน ที่เราคิดว่ามันจะให้ความสุขได้แน่นอน แต่เมื่อครบจำนวนแล้ว เรากลับมีความสุขกับมันไม่นาน และต้องการเพิ่มขึ้นอีกเป็น 50 ล้าน จึงมีข้อสรุปว่า เงินไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง เป็นสุขชั่วคราวแบบเดียวกับตอนเงินเดือนขึ้น ตำแหน่งขึ้น สอบได้ที่ 1 หรือชนะการแข่งขัน
มีการเทียบให้เห็นว่า ความสุขของคนถูกลอตเตอรี่จะมีอายุสั้นๆ เพียง 2-3 เดือน เพราะมันเป็นความสุขแบบโดพามีน แต่สิ่งที่จะทำให้ความสุขอย่างแท้จริง คือออกซิโทซินที่มาจากสัมผัสครอบครัว คนรัก เพื่อนสนิท เป็นเหตุผลว่าทำไมการมีครอบครัว มีคนรักใกล้ชิดผูกพัน มีสัมผัสอย่างอบอุ่นใจจึงสำคัญ ส่วนเซโรโทนินคือความสุขจากสุขภาพกาย เมื่อออกกำลังกายแล้วจะได้มันมา แนวคิดนี้สื่อว่า ‘ร่างกายมันคือที่อยู่ของจิตใจ’ หากกายสบาย ใจก็เป็นสุข
ข้อเสนอเรื่องสารสื่อประสาทลักษณะนี้มาจากการศึกษาของอเมริกา ซึ่งคุณหมอ ชิอน คาบาซาวะ จิตแพทย์ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ศึกษามาจากที่นั่น และเคยเขียนถึงสังคมของการกลับบ้าน 5 โมงเย็นของอเมริกันไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งก็คือ Work-life Balance ที่มีวิธีคิดอยู่ เช่น คุณภูมิใจในงานและทุ่มเทมันอย่างเต็มที่ในเวลางาน แต่องค์กรคาดหวังให้คุณทำนอกเวลางานอยู่เสมอโดยไม่รู้สึกผิด และตำหนิเป็นความผิดของคุณ หากคุณไม่รับสายหรืออ่านไลน์ในวันหยุด เราคิดว่าองค์กรประเภทนี้ทำให้พนักงาน Burn out สูญเสียพลังทางจิตใจไปโดยง่าย เพราะเกิดภาวะเครียดสะสมจากงานตลอดเวลา
หนังสือแนะนำว่า คนที่มีเวลาพักหรือไปเที่ยวเล่นแล้วกลับมาทำงานจะทำงานได้สร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพกว่า
ถามต่อว่า แล้วจะ ‘สร้างความสุข’ อย่างไร หากเราจุดมุ่งหมายการมีชีวิตของเราคือมีความสุข คำตอบอยู่ที่ วิธีคิดและวิธีปฏิบัติ ให้เกิดความสุขเชิงบวกด้วยการเขียน เช่น เขียนเรื่องที่รู้สึกบวก สิ่งที่ทำหรือเห็นแล้วดีกับจิตใจ เขียนถึงการมีน้ำใจ เขียนถึงความซาบซึ้งใจ จะทำให้ผู้ปฏิบัติ ฝึกค้นหาสิ่งที่ทำให้ตัวเองรู้สึกดีได้ บางคนเข้าใจไปเองว่า การพูดถึงคนอื่นในแง่ลบ เป็นการระบายออก แต่ความจริงนั่นคือการสร้างอารมณ์ที่เป็นพิษ คนแบบนั้นจะตายเร็วกว่าคนทั่วไปประมาณ 5 ปี (ฮา) และมีความคิดเห็นเกี่ยวกับคนโสดที่รู้สึกโดดเดี่ยว เทียบกับคนแต่งงานว่า จงแต่งงานและมีคู่จะดีกว่าไม่เรียนรู้ชีวิตรัก เพราะต่อให้ชีวิตแต่งงานล้มเหลว คุณก็ยังจะเติบโตทางอารมณ์และถ้ามีลูกก็จะโตไปอีกระดับ ที่ใดมีรัก..ที่นั่นไม่ใช่มีทุกข์เสมอไป
โดยสรุปหนังสือนี้ทำให้รู้จักความสุขแต่ละแบบว่าเกิดจากอะไร และทำอย่างไรจะมีความสุข และมีข้อคิดพื้นฐานว่า หากเราเครียด เราทุกข์ ให้เรากลับไปหาครอบครัว ไปหาคนซัพพอร์ตเรา ไปหาคำปลอบใจ มันอาจจะเป็นด้วยเรื่องง่ายๆ ว่าเราควรอยู่กับใครตอนที่เราทุกข์ หรือการออกไปเดินมองฟ้าวันฟ้างามๆ
มีเรื่องหนึ่งที่เรารู้สึกว่า น่าสนใจ คือเรื่อง ‘การให้’ หมอตั้งคำถามว่าจากคน 3 ประเภท คือ คนที่ให้ คนที่ไม่สนใคร และคนที่เอาแต่รับ คนแบบไหนที่จะสำเร็จหรือล้มเหลว คำตอบมันกลับทำเอาเราช็อกไปเหมือนกัน นั่นคือ ‘คนที่ให้’ จะเป็นคนที่สำเร็จ และคนให้อีกนั่นแหละที่จะล้มเหลวด้วย นั่นเป็นเพราะว่า การให้แบบเสียสละจะทำให้ไฟมอดไปเอง เพราะไม่เคยได้สิ่งใดคืนเลย มันคือความล้มเหลวทางจิตใจ แต่คนที่ให้แบบหวังผล จะเป็นคนให้ที่สำเร็จ เพียงแต่ผลของมันต้องรอคอยและไม่รู้ว่าจะคืนมาให้รูปแบบใด อันนี้น่าจะทำให้หลายคนกลับมาลองทบทวนการให้ของเราใหม่ ว่าจะให้อย่างไรให้เป็นสุข
5. ออกแบบชีวิตด้วยเทคนิคปฏิทิน 100 ปี: A 100-YEAR CALENDAR
“ตอนนี้คุณอายุเท่าไหร่ และถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิตคุณจะเสียใจไหม” เป็นคำถามเริ่มต้นสำหรับทบทวนชีวิตตามแนวทางของหนังสือ ‘ออกแบบชีวิตด้วยเทคนิคปฏิทิน 100 ปี’ ที่บอกได้เลยว่า เหมาะกับคนที่ต้องการตัวช่วยตั้งเป้าหมาย เพราะชีวิตยังหลงทางยังไม่รู้ว่าจะตั้งเป้าอย่างไรดี ในเล่มนี้จะมีวิธีการแต่ละขั้นอย่างละเอียด ผ่านการพาไปค้นความทรงจำเก่าที่หล่อหลอมเป็นตัวตนของเรา โดยเฉพาะจุดเปลี่ยนของชีวิต มองจากตัวเราตอนนี้และที่นี่ ที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการจริงๆ ด้วยแบบฝึกหัดสอนเรื่อง ‘เวลาของชีวิต’ ในแบบฉบับ โอสุมิ ริกิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาบุคคลอันดับ 1 ของญี่ปุ่น ใช้ออกแบบผ่านปฏิทิน 100 ปี แล้วเรียกมันว่าการเดินทางในปฏิทิน 100 ปี เดินทางเพื่อมองเห็นทั้งชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย นับว่าเป็นหนังสือที่ได้รับอิทธิพลมาจากประสบการณ์ทำงานกับวอลต์ ดิสนีย์ ข้อแนะนำสำคัญคือระหว่างอ่านหนังสือเล่มนี้ ขอให้เปิดเพลงที่ชอบหรือเพลงประกอบที่มีความหลังฝังใจ ซึ่งจะทำให้ความรู้สึกต่อชีวิตที่ผ่านมาชัดเจนขึ้นอีก
จุดประสงค์ของการมองย้อนไปในอดีต จะช่วยให้เข้าใจอดีตด้วยมุมมองของปัจจุบัน ซึ่งช่วยให้เข้าใจความหมายของเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะส่วนใหญ่อดีตทั้งสุขและทุกข์จะส่งผลต่อชีวิตของเรา
สิ่งสำคัญคือต้องไม่ปฏิเสธและตระหนักว่าเราอยู่ตรงไหน คิดอะไร มุ่งหน้าไปในทิศทางไหนและความสามารถที่แท้จริงของเราคืออะไร เพื่อให้เป็นแผนที่นำทาง
การออกเดินทางบนหน้าหนังสือ ต้องมีอุปกรณ์เครื่องเขียนเป็นของติดมือไปตอบคำถามต่างๆ ตามแบบฝึกหัดในเล่ม โดยหนังสือออกแบบมาให้ครึ่งแรกคือเนื้อหาข้อมูล วิธีการทำ ส่วนครึ่งหลังคือปฏิทิน 100 ปีจากวันแรกถึงวันสุดท้ายของชีวิตที่เราจะต้องลงมือออกแบบมัน ให้เป็นสมบัติส่วนตัวของเราเพียงคนเดียว หรือไม่มีใครมาตัดสินใดๆ ได้ หัวใจสำคัญของการเขียนปฏิทิน 100 ปีก็คือ “ทำคนเดียว ไม่โกหกตัวเอง ลองปรับมุมมอง มองแต่ละจุดอย่างเชื่อมโยง และวางแผนก่อนลงมือทำ”
การขุดลึกลงไปตั้งแต่ต้นกำเนิดความเป็นเรา เช่น เมืองที่เกิด ที่อยู่ โรงเรียนที่ศึกษา สิ่งที่ทำให้รู้สึกดีใจและเสียใจ จะช่วยให้การออกแบบชีวิตนั้นมาจากการเผชิญหน้ากับตัวเอง ทั้งในอดีต อนาคต รวมถึง ‘ตอนนี้และที่นี่’ ที่ในหนังสือย้ำอยู่บ่อยๆ เป็นการเน้นย้ำให้อยู่กับปัจจุบัน และการแบบฝึกหัดต้องทำบนกระดาษโน้ตและติดลงไปในหนังสือ เป็นตัวกลางให้เราคุยกับตัวเอง แล้วมองวันเกิดเป็นวันพิเศษ โดยทำสัญลักษณ์ว่า ‘เป็นวันแห่งจุดเริ่มต้นของโอกาส’ ทุกๆ ปี
ข้อสังเกตหนึ่งก็คือ วัยเด็กเรามักเฝ้ารอวันเกิดและมองเป็นวันสำคัญ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราเติบโตขึ้นและมองวันเกิดเป็นวันธรรมดาขึ้นเรื่อยๆ จนบางคนรู้สึกว่าไม่สำคัญอะไรเลย ซึ่งอาจเกิดจากความยากและปัญหาของชีวิตที่เราเผชิญ แต่แบบฝึกหัดจะช่วยเราเปิดสวิตช์ชีวิตจากวันเกิดนี่แหละ พร้อมกับการหัดกำหนดวันสุดท้ายของชีวิตด้วย เพื่อให้เห็น ‘เวลาที่เหลืออยู่’ หัดสร้างนาฬิกาชีวิต เพื่อที่จะหาเวลาให้ตัวเอง จากนั้นก็พาไปรู้จักและแบ่งองค์ประกอบของชีวิต 6 ประการ ซึ่งมีการงาน ครอบครัว ความสัมพันธ์กับผู้อื่น เงินทอง วัตถุ สุขภาพ การเรียนรู้ และงานอดิเรก เพื่อให้ลองแบ่งสัดส่วนที่เป็นจริงในชีวิตของเรา น่าสนใจว่า เราทำส่วนนี้ได้หลายครั้งแบบไม่จำกัด เพราะช่วงอายุที่ต่างกัน เราอาจให้ความสำคัญกับแต่ละองค์ประกอบไม่เท่าเดิม
คำถามสำคัญในเล่มนี้ก็คือ “สิ่งที่ต้องการจากนี้ไปคืออะไร” ตลอดชีวิตที่รายล้อมไปด้วยความสมหวังและผิดหวังในสิ่งที่ต้องการ และประสบการณ์ไหนที่ส่งผลต่อชีวิตเราบ้าง ซึ่งเป็นคำถามด้านความสัมพันธ์กับผู้คนไปสู่การค้นหาตัวตนที่เราอยากเป็น การตอบคำถามตามแบบฝึกและทำมันไปตามขั้นตอน เป็นสิ่งที่ทำให้ภาพ ‘ทั้งชีวิต’ จากปฏิทิน 100 ปีของเราปรากฏชัดเจนกว่าการกำหนดเป้าหมายอย่างทั่วไป เพราะอาศัยการตระหนักถึง ‘ชีวิตเดียว’ ว่าเราจะพาชีวิตเดียวนี้ไปสู่เป้าหมายทุกอย่างแบบไม่ตกหล่นได้อย่างไร ซึ่งหากเราใช้เวลากับหนังสือเล่มนี้ ทั้งการอ่านและลงมือเขียนมันลงไป เราจะได้คำตอบที่มาจากตัวเราเองว่า “ชีวิตแบบไหนกันแน่ที่เราต้องการ” ทำให้การตั้งเป้าต้นปีเป็นเรื่องที่มาจากตัวเราเองและความต้องการแท้จริง
6. สกิลขั้นเทพของนักบริหารเวลาที่รู้ใจสมอง
‘ชีวิตถูกลิขิตด้วยวิธีการบริหารเวลา’ ไม่ใช่คำที่เกินจริงแต่อย่างใดเลย เพราะมีตัวอย่างมุนษย์ที่มีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่กลับใช้ความสามารถสร้างผลงานได้แตกต่างกัน บทเริ่มของ ‘สกิลขั้นเทพของนักบริหารเวลาที่รู้ใจสมอง’ เกริ่นนำไว้เช่นนั้น เพื่อต้องการเสนอความสำคัญของวิธีจัดการเวลาของร่างกายว่า จะมีประสิทธิภาพสูงสุดก็ต่อเมื่อสัมพันธ์กับเวลาของสมอง
หากยังนึกไม่ออก ลองตอบคำถามในใจดูว่า เคยทำงานเต็มวันแล้วฝืนทำงานต่อจนดึกดื่นแล้ว ผลงานที่ได้ยังไม่ดีเท่าที่คิดไว้บ้างไหม ? คำตอบนี้และคำตอบอื่นๆ เกี่ยวกับการรู้ใจสมอง ล้วนรวมอยู่ในเล่ม โดย ชิอน คาบาซาวะ เขาคนนี้เป็นจิตแพทย์ชาวญี่ปุ่น ที่มีผู้ติดตามออนไลน์เกิน 4 แสนคน พร้อมผลงานตีพิมพ์ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาไทย จัดพิมพ์มาแล้วหลายปก และมักอยู่ในรีวิวหนังสือด้านจิตวิทยาพัฒนาตนเอง ที่น่าสนใจ เช่น The power of input ศิลปะของการเลือก+รับ+รู้ เป็นเล่มที่มาคู่กับ ศิลปะของการปล่อยของ The power of output ให้กลไกการทำงานของความจำ การพัฒนาศักยภาพตนเอง ถ่ายทอดความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตามความเชี่ยวชาญของชิอน คาบาซาวะ ส่วนที่โดดเด่นเรื่องการใช้สมองให้ตรงกับช่วงเวลาทองของมันอยู่ในเล่ม สกิลขั้นเทพฯ ที่ชวนรู้จักกับสมองและการทำงานของมัน เพราะถือเป็นอวัยวะที่พิเศษ จากน้ำหนักเพียง 2% ของร่างกาย แต่ใช้พลังงานมากถึง 20% นั่นเป็นเหตุผลให้สมองส่วนคิดคู่ควรกับการดูแลอย่างเข้าใจ เพื่อให้ใช้งานสมองได้เต็มประสิทธิภาพ
ความรู้ด้านประสาทวิทยาในเล่ม ได้มาจากการเรียนตามทฤษฎีทางฝั่งอเมริกา เช่น การวิเคราะห์กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเคมี ชั่วโมงการนอนหลับ และคุณภาพการหลับ ชีวิตประจำวันที่มองข้ามเรื่องสำคัญอย่างการนอน ว่าส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาท และส่งผลต่อตัวเลขผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น เป็นที่มาของคำแนะนำที่มุ่งเน้นการรักษาสุขภาพกายใจ ด้วยการเทียบให้เห็นสถิติของการพักผ่อนและฝืนร่างกาย เช่น ตารางคุณค่าของเวลาช่วงเช้า ที่แสดงให้เห็นว่าสมาธิหลังตื่นนอนพักผ่อนมาอย่างเต็มที่ มีระดับสูงกว่าใกล้หมดวันหลายเท่า เช่น งานเดียวกันทำตอนเช้าใช้เวลา 1 ชั่วโมง หากนำงานนั้นมาทำกลางตอนกลางคืนจะต้องใช้เวลาถึง 4 ชั่วโมง เท่ากับคุณค่าของเวลาช่วงเช้าสูงกว่าถึง 4 เท่า ส่วนยามพักหมอแนะนำให้หยุดพักก่อนอ่อนล้า
นิยาม ‘เวลาทองของสมอง’ ตามทฤษฎี คือ 2-3 ชั่วโมง หลังจากตื่นนอน จากนั้นก็จะลดต่ำลงเรื่อยๆ ขณะที่ ‘เวลาทองของความจำ’ อยู่ที่ 15 นาทีก่อนนอน เป็นข้อมูลน่าสนใจสำหรับคนวัยเรียนวัยทำงาน ขณะเดียวกัน การนอนไม่ดี เพราะโหมงาน หรือมีเรื่องให้คิดจนสมองไม่ได้พักแล้วส่งผลต่อสารสื่อประสาท หมอชิอน อ้างอิงสถิติเกี่ยวกับอัตราการฆ่าตัวตายในบางประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เพราะประเทศที่มีผลิตภาพแรงงานต่ำ จะมีอัตราการฆ่าตัวตายสูง เช่น เกาหลีใต้ ที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเป็นอัน 2 ของโลก หากเทียบกับญี่ปุ่นแล้วพบว่าเกาหลีมีผลิตภาพแรงงานต่ำกว่า นั่นเป็นที่มาของการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สมอง และประสบการณ์ส่วนตัวจากการศึกษา ทำงานมาแชร์ต่อผู้อ่าน เพราะมองเห็นว่า
ความสมดุลของเวลาพักผ่อน การนอน และงาน สามารถลดความเจ็บป่วย โรคภัย และการตายได้ โดยสิ่งสำคัญคือรู้ว่าเวลาไหนต้องทำอะไร และเทคนิคของการรีเซ็ตสมองที่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและยังมีเวลาเหลือให้ชีวิตได้ทำสิ่งที่ไม่ใช่งาน
มีบางสิ่งน่าสนใจดี อย่างการใช้เวลาอาบน้ำอุ่น 5 นาที เพื่อเปิดระบบซิมพาเทติก หรือการนอนกลางวันไม่เกิน 30 นาที เพื่อฟื้นพลังสมอง การทำงานยากๆ ตอนที่สมองมีสมาธิมากที่สุด และใช้เวลา 15 นาทีก่อนนอน จำสิ่งที่อยากจำ เราว่ามันเป็นหนังสือที่เหมาะกับคนวัยทำงานที่จะมีไกด์ไลน์การใช้สมองและการใช้เวลา เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางสุขภาพ
7. จดโน้ตขั้นเทพ เปลี่ยนกระดาษให้เป็นสมองที่สอง
ใครก็อยากเป็นคนจำเก่ง เพราะ ‘ความจำ’ เป็นเครื่องมือที่ช่วยเราได้มาก แล้วจะเป็นอย่างไร หากเรา ‘จดเก่ง’ ด้วย ซึ่งหนังสือ ‘จดโน้ตขั้นเทพ’ ยกให้กระดาษเป็นสมองที่สองด้วยเหตุผลว่า พลังความจำเพิ่มขึ้นได้ผ่านจดบันทึกลงในสมองและจดลงในกระดาษ สมัยก่อนเราจะเห็นข้อดีของการจดแค่เพียงว่า ‘จดกันลืม’ เพราะแต่ละวันมีข้อมูลที่ไหลเข้าสู่สมองจำนวนมาก แต่จริงๆ แล้วหนังสืออธิบายข้อดีของการจดว่ามันมหัศจรรย์และสร้างสรรค์กว่าแค่กันลืมมาก เพราะ ยูจิ มาเอดะ ผู้เขียน นิยามว่ามันเป็นเข็มทิศชีวิตให้ได้เลย
หนังสือแบ่งออกเป็น 5 บท ที่นำไปสู่การรู้จักข้อดีของการจด การคิดให้ลึกซึ้งด้วยการจด การรู้จักตัวเองผ่านการจด ความฝันที่เป็นจริงได้เพราะการจด และการจดบันทึกคือวิธีการดำเนินชีวิต เพราะการจดบันทึกไม่ใช่แค่วิธีการ แต่เป็นความพร้อมของจิตใจ ซึ่งเปลี่ยนมุมมองต่อการจดบันทึกที่ดูเหมือนเรื่องธรรมดาๆ ให้กลายเป็นสิ่งพิเศษและเวทมนตร์ที่มีค่า แม้กระทั่งในยุคที่ AI ทำงานได้ก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าอย่างน้อย 5 ทักษะที่มาจากการจดบันทึกช่วยฝึกเรา ทำให้สามารถออกไอเดียได้ เพราะนำสิ่งที่จดบันทึกมาใช้ประโยชน์ ช่วยพัฒนาการรับสาร หรือไม่ปล่อยผ่านข้อมูล เมื่อไหร่ที่การจดบันทึกเป็นนิสัย ก็จะเพิ่มจำนวนเสาอากาศจับสัญญาณข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ต่อมาคือการได้พัฒนาทักษะการฟังอย่างตั้งใจ ทำให้คู่สนทนาพูดเรื่องจริงจังออกมา โดยมีกระดาษจดบันทึกเป็นเครื่องมือสื่อสาร ในขั้นต่อไปก็คือพัฒนาทักษะการวางโครงสร้างหรือทำให้รู้โครงสร้างของบทสนทนา และสุดท้ายคือการถ่ายทอดความรู้สึกหรือความคิดที่ไม่ชัดเจนออกมาเป็นคำพูดได้ เป็นการพัฒนาทักษะการถ่ายทอดออกมาเป็นภาษา ส่วนวิธีการเปลี่ยนเรื่องทั่วไปให้กลายเป็นไอเดีย มีกระบวนการอยู่ที่ การจดข้อเท็จจริง สรุปแนวคิดใหม่ และประยุกต์ใช้ ซึ่งมีการอธิบายวิธีการอย่างละเอียด และทำให้เห็นว่า การสรุปเป็นแนวคิดใหม่หรือการประยุกต์ใช้ เป็นเรื่องเดียวกับการคิดให้ลึกซึ้ง
วิธีการเขียนก็คือ แบ่งสัดส่วน วันที่ สรุป และชื่อเรื่อง จะเขียนแยกตามสีสันของปากกาตามใจชอบก็ได้ มันจะช่วยให้เข้าใจเรื่องราว หรือข้อมูลที่รับเข้ามาได้ละเอียดขึ้น และแสดงระดับความสำคัญของเรื่องที่เขียนถึง โดยผู้เขียนใช้ปากกาสีเขียวแสดงความเห็น ส่วนสีน้ำเงินและสีแดงใช้กับทักษะการตัดสินใจ
สิ่งสำคัญของการจดบันทึกคือการกลับมาดูข้อเท็จจริงและแนวคิดใหม่ไปประยุกต์ใช้ ซึ่งทำให้การจดบันทึกมีความหมายขึ้นมา และเคล็ดลับของการจดสมุดบันทึกก็คือการสรุปเป็นแนวคิดใหม่ ลำดับแรกที่จะได้แนวคิดมาก็คือ ตอบคำถาม What How Why เพื่อค้นหาข้อเท็จจริง และนึกถึงใจความสำคัญของเรื่อง แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นภาษา ซึ่งเป็นเงื่อนไขสู่การใช้ความคิด ความจำ และประยุกต์ใช้กับสิ่งอื่น ขณะเดียวกันหากไม่มีการสรุปแนวคิดใหม่ ก็จะไม่ได้ฝึกคิดให้ลึกซึ้งหรือไม่ได้วิเคราะห์ตัวเองด้วย
หนังสือแนะนำให้ลงมือเขียนสมุดบันทึกวิเคราะห์ตัวเอง และให้แบบทดสอบวิเคราะห์ตัวเองท้ายเล่มเป็นจำนวน 1000 ข้อ ซึ่งมากพอจะทำให้เห็นข้อดี ข้อด้อย หรือวิเคราะห์ตัวเองอย่างละเอียดด้วยสมุดฝึกปฏิบัติแบบเปิดซ้ายขวาไว้สำหรับเขียนคำถามและคำตอบบนหน้าฝั่งซ้าย ถัดไปที่หน้าขวาจะเป็นการสรุปแนวคิดใหม่ เป็นเทคนิคแบบเดียวกับ การจดบันทึกรูปธรรม นามธรรม และประยุกต์ใช้ เพราะหากไม่เขียนสิ่งที่จะทำให้เป็นรูปธรรม ชีวิตก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เช่น ขั้นทดลองนั้นให้นึกว่า อีก 5 นาทีข้างหน้าจะทำอะไร ตั้งแต่พรุ่งนี้ไปจะทำอะไร
สิ่งสำคัญในการวิเคราะห์ตัวเองคือการเอาชนะปริมาณคำถาม 1000 ข้อ เป็นปริมาณที่มากพอให้ตัวเองรู้สึกมั่นใจ โดยเฉพาะคนที่หาเรื่องที่อยากทำไม่เจอ จะได้หาหลักการชีวิตจากความรู้จักตัวเองอย่างลึกซึ้ง
ท้ายสุดเป็นเรื่องการทำความฝันให้เป็นจริงด้วยการจดบันทึกและการดำเนินชีวิต ซึ่งหลายคนอาจเคยได้ยินเรื่อง ‘การเขียนความฝันลงในกระดาษ ฝันนั้นจะกลายเป็นจริง ’ นั่นเป็นเพราะ ‘กฎแห่งแรงดึงดูด’ ทางจิตใจ โดยมีทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์รองรับว่า การเขียนทำให้ตัวกรองของสมองที่ชื่อว่า RAS (Reticular Activating System) ทำงาน โดยหนังสือได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ว่า พฤติกรรมการเขียนมีผลต่อสมอง สมองจะจดจำช่วงวินาทีที่เราลงมือเขียน ทำให้ความฝันเหลืออยู่ในความทรงจำได้มากกว่าแค่นั่งคิดเพียงอย่างเดียว ซึ่งหมายถึงความฝันบนหน้ากระดาษช่วยให้ระดับความตั้งใจฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกเพิ่มสูงขึ้น ตัวอย่างเรื่องพลังเร้นลับแห่งคำพูด ว่าคำพูดสามารถเปลี่ยนความคิดของคนอื่นและทำให้เกิดเรื่องดีๆ ย้อนกลับมาหาตัวเรา ในระดับการถ่ายทอดสิ่งที่นึกคิดให้เป็นภาษา จะต้องทำให้เห็นภาพลอยมาในหัวชัดเจน เมื่อมีความนึกคิดแรงกล้าเป็นพื้นฐาน ก็จะสร้างพลังคำพูด และมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมาย นี่คือวิธีทำให้ฝันในกระดาษเป็นจริงได้ ที่สำคัญขั้นแรกคือ ลองเขียนความฝันทุกอย่างที่คิดได้ออกมา
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า การจดบันทึกไม่ใช่วิธีการ แต่เป็นทัศนคติ เ คล็ดไม่ลับที่จะทำให้การจดบันทึกกลายเป็นกิจวัตรให้ได้ก็คือเริ่มการจากซื้อสมุดโน้ต ใช้เครื่องเขียนที่ชอบ ไปจด ไปค้นหาเรื่องที่อยากทำ บางครั้งอาจทำให้เห็นปัญหาเป็นเรื่องง่ายหรืออย่างน้อยก็เป็นพลังดำเนินชีวิต รู้จักโลก มีความฝันที่ทำให้เกิดความมุ่งมั่นมาขับเคลื่อนตัวเอง