- ในบรรดากรอบคิดหรือชุดคำศัพท์ที่ใช้อธิบายปรากฎการณ์ทางสังคม เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น BANI World เป็นคำที่กำลังได้รับความสนใจในวงวิชาการ
- BANI เป็นผลงานของนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน Jamais Cascio เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของตัวอักษรหน้าคำศัพท์ 4 คำ ได้แก่ Brittle ความเปราะบาง, Anxious ความกังวล, Nonlinear การคาดเดายาก, Incomprehensible ความเข้าใจได้ยาก
- บทความนี้ชวนทำความเข้าใจกับ ‘ความกังวล’ หรือ ‘Anxiety’ ซึ่งคาสซิโอ กล่าวว่า ความวิตกกังวลเมื่อถูกสะสมเป็นเวลานานสามารถนำมาซึ่งความรู้สึกอับจนหนทางและสร้างความรู้สึกหวาดกลัวกับทุกๆ เรื่อง ขับเคลื่อนความเฉื่อยชา ความรู้สึกไม่อยากลงมือทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะกลัวความผิดพลาด
สำหรับซีรีส์ ‘โลกโกลาหล’ (BANI World) ตอนที่ 2 เราจะมาทำความเข้าใจกับ ‘ความกังวล’ หรือ ‘Anxiety’ อย่างลึกซึ้งมากขึ้น
ความวิตกกังวลเกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่รู้ตัวจากเรื่องราวที่พบเจอในชีวิตประจำวัน หากอธิบายตามวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการทำงานของร่างกายและสมอง ความกังวลส่งผลกระทบให้การหลั่งฮอร์โมนของสมองแปรปรวน ดังนั้นเมื่อฮอร์โมนผิดเพี้ยนย่อมส่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบการทำงานของสมองและร่างกายโดยรวม
จาไมส์ คาสซิโอ (Jamais Cascio) นักมานุษยวิทยาและผู้ให้คำนิยาม ‘BANI’ กล่าวว่า ความวิตกกังวลเมื่อถูกสะสมเป็นเวลานานสามารถนำมาซึ่งความรู้สึกอับจนหนทางและสร้างความรู้สึกหวาดกลัวกับทุกๆ เรื่อง
“ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ผิดเสมอ”
เป็นความคิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในห้วงคำนึงของความวิตกกังวล ร้ายกว่านั้นเมื่อพยายามหาทางออก ความคิดที่ตามมา คือ ความรู้สึกว่าทุกทางเลือกเหมือนจะเป็นทางไปสู่หายนะ ช่วงเวลาของการสั่งสมความรู้สึกเหล่านี้ทำให้ความคิดและอารมณ์ผูกติดกับภาวะซึมเศร้าและความกลัวอย่างแยกไม่ออก
นอกจากนี้ ความวิตกกังวลยังขับเคลื่อนความเฉื่อยชา ความรู้สึกไม่อยากลงมือทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะกลัวความผิดพลาด ความผิดหวังหรือความล้มเหลว ทั้งที่ในความเป็นจริง การจมดิ่งอยู่กับความกังวลต่างหากที่ส่งผลกระทบให้ประสิทธิภาพทำงานด้านการตัดสินใจของสมองลดลง หรือพูดง่ายๆ คือ ทำให้มีแนวโน้มตัดสินใจผิดพลาดมากขึ้น
โควิด-19 ยกระดับและเผยให้เห็นความวิตกกังวลที่สั่งสมในโลก
สุขภาพจิตมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อสุขภาพโดยรวมและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก ในที่นี้รวมถึงการพัฒนาการด้านการเรียนรู้ การเปิดรับการเรียนรู้ ความผาสุกทางจิตใจและอารมณ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความคิด ความรู้สึกและการแสดงออกทางพฤติกรรม นอกจากนี้สุขภาพจิตที่ดียังมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้เด็กรับมือกับความเครียด การจัดการความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับผู้อื่น และการตัดสินใจด้านต่างๆ
ในโลกแห่งความโกลาหลนี้ ความกังวลไม่ได้คุกคามแค่ผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ส่งผลกระทบอย่างมากในเด็กและวัยรุ่น
การศึกษาโดยกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ สหรัฐอเมริกา (U.S. Department of Health & Human Services) นำเสนอในวารสารกุมารเวชศาสตร์ ‘JAMA’ แสดงให้เห็นสถิติที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในเด็ก ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะสุขภาพจิตระหว่างปี 2016-2020 ผลการวิจัย พบว่า เด็กที่มีอายุระหว่าง 3-17 ปี ตกอยู่ในภาวะวิตกกังวลเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 และเผชิญกับภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 27 แน่นอนว่าผลกระทบส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ ระหว่างปี 2019 – 2020 นักวิจัยพบว่า เด็กมีปัญหาด้านพฤติกรรมหรือความประพฤติเพิ่มขึ้นร้อยละ 21
นอกจากนี้ จำนวนผู้ปกครองที่รายงานถึงความยากลำบากในการรับมือกับการเลี้ยงดูลูกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34 เนื่องจากผู้ปกครองได้รับผลกระทบจากการถูกให้ออกจากงาน ลาออก หรือเปลี่ยนงาน งานวิจัยยังระบุว่าระหว่างปี 2018 – 2019 ภาวะซึมเศร้า ปัญหาการใช้สารเสพติด และการฆ่าตัวตายเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในวัยรุ่น อายุ 12-17 ปี
คาสซิโอ กล่าวว่า การทำงานของสื่อ ทั้งรูปแบบเก่าและรูปแบบใหม่บนโลกออนไลน์เป็นส่วนสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดความตื่นตระหนกและความกังวลที่แพร่ขยายไปได้อย่างรวดเร็ว สื่อกระตุ้นให้ผู้คนอยากรู้อยากเห็นและตื่นเต้น สื่อจำนวนมากดึงดูดผู้รับสารด้วยข้อมูลข่าวสารที่สร้างความกลัว การนำเสนอเนื้อหาของสื่อเน้นความรวดเร็วมากกว่าความถูกต้อง
ผู้คนรวมถึงเด็กและเยาวชนถูกรายล้อมไปด้วยสิ่งที่อาจมองว่าเป็นข้อเท็จจริงและเชื่อถือได้ ทั้งที่ข้อมูลเหล่านั้นอาจเต็มไปด้วยการบิดเบือน การหลอกลวง การกล่าวเกินจริง หรืออาจไม่เป็นความจริงเลยก็ได้ การเสพข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ขาดการคัดกรองและรู้ไม่เท่าทัน เป็นสิ่งที่กระตุ้นและก่อให้เกิดความวิตกกังวล รวมไปถึงความกลัวว่าจะรู้หรือพลาดตามไม่ทันคนอื่น หรือ FOMO (Fear Of Missing Out) เช่น พฤติกรรมการใช้เวลาบนสื่อออนไลน์โดยไม่จำกัดเวลา การไถฟีดเฟซบุ๊กหรือโซเชียลมีเดียไปอย่างไม่มีเป้าหมายแบบเรียลไทม์ตลอดทั้งวัน การเฝ้าดูยอดกดไลก์ คอมเมนท์หรือยอดแชร์ด้วยความคาดหวัง เป็นต้น
ในโลกดิจิทัลที่มีการประมาณการณ์ผู้ใช้งานกว่า 4 พันล้านคนทั่วโลก ผลการวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตชี้ให้เห็นว่า คนที่จำกัดการใช้เวลาบนโลกออนไลน์มักมี ‘ความสุข’ มากกว่าคนที่เกาะติดอยู่บนหน้าจอและใช้ชีวิตอยู่บนโซเชียลมีเดียอย่างไร้ขีดจำกัด เนื่องจากการใช้เวลาในโลกออนไลน์มากเกินไป มีโอกาสทำให้ผู้ใช้งานเสพเนื้อหาที่เป็นสิ่งเร้าเชิงลบ เช่น ข่าวสารหรือข้อมูลที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม การเปรียบเทียบทางสังคมและการกลั่นแกล้งทางออนไลน์
นอกจากนี้การศึกษายังระบุด้วยว่าโซเชียลมีเดียสามารถกระตุ้นอารมณ์เชิงลบของผู้ใช้งาน ส่งผลกระทบให้ผู้เสพข้อมูลรู้สึกต้อยต่ำ ด้อยค่า และไม่พอใจในตนเอง ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดโรคซึมเศร้าหรือทำให้อาการของโรคซึมเศร้านั้นแย่ลง
Mindfulness – สติช่วยสร้างทักษะทางอารมณ์และสังคมได้
แมททิว เบรนซิลเวอร์ (Matthew Brensilver) นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญด้านจิตบำบัด (Psychotherapy) และการเจริญสติ (Mindfulness) กล่าวว่า การเจริญสติหรือการทำสมาธิเปรียบได้กับการฝึกฝนและการสร้างความเข้าใจตนเอง (Self-Empathy) ผลการศึกษาด้านสมอง พบว่า การทำสมาธิกระตุ้นให้สมองสร้างเส้นใยประสาทเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างสมองแต่ละส่วน รวมถึงส่วนที่ตอบสนองด้านความเข้าอกเข้าใจ การตระหนักรู้ (Self-Awareness) ที่เกิดขึ้นจากการเจริญสติจึงช่วยพัฒนาและสร้างความเข้าอกเข้าใจตนเองและผู้อื่น
ยิ่งเราเข้าอกเข้าใจตัวเองได้มากเท่าไหร่ เราจะยิ่งเข้าอกเข้าใจผู้อื่นได้มากเท่านั้น ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นช่วยให้เราเข้าใจความคิดของผู้อื่นได้อย่างลึกซึ้ง โดยไม่ใช้แค่ความคิดหรืออารมณ์ความรู้สึกของตัวเองตัดสิน เป็นรากฐานสำคัญของการสร้างความร่วมมือทางสังคมที่มีความสัมพันธ์เชิงบวกเป็นองค์ประกอบ
ความสัมพันธ์เชิงบวกทั้งกับตัวเองและผู้อื่นนี้เองที่มีส่วนช่วยสร้างความมั่นคงทางจิตใจ ทำให้เราคลายความวิตกกังวลหรือปล่อยวางจากความเครียดหรือปัญหาต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
สถาบันมายด์ไซท์ (Mindsight Institute) นำโดย แดเนียล เจ. ซีเกล (Daniel J. Siegel) ผู้อำนวยการสถาบัน และศาสตราจารย์คลินิกจิตเวชศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทชีววิทยาระหว่างบุคคล (Interpersonal Neurobiology) ได้นำเสนอแนวทางบริหารสมองเรียกว่า ‘มายด์ไซท์’ (Mindsight) ที่ช่วยเชื่อมโยงการทำงานของสมองส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน ไม่ปล่อยให้เหตุผลเข้ามาปิดกั้นอารมณ์ และไม่ให้โอกาสอารมณ์ได้อยู่เหนือเหตุผล
ซีเกล อธิบายว่า มายด์ไซท์ เป็นเรื่องของความสามารถในการเห็นและรู้จักจิตใจตัวเอง นำไปสู่การเห็นและเข้าใจผู้อื่น แล้วสร้างเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในสังคม ยกตัวอย่างเช่น ทำให้วัยรุ่นตัดสินใจไม่ทำในสิ่งที่จะสร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองและผู้อื่น เริ่มต้นจากการตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราเป็นใครในปัจจุบัน เราเป็นใครในอดีต และเราอยากเป็นใคร (เป็นแบบไหน) ในอนาคตอันใกล้ เพื่อเชื่อมโยงตัวตนในอดีต ปัจจุบันและอนาคตเข้าด้วยกัน
ซีเกล กล่าวถึงขั้นตอน ‘ไทม์-อิน’ (Time-In) ในหนังสือ Brainstorm: The Power and Purpose of the teenage brain ว่า ‘การทำสมาธิ’ ไม่จำเป็นต้องนั่งอย่างจริงจังเสมอไป แต่เป็นการฝึกกำหนดให้มีสติอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกและอยู่กับปัจจุบัน จะอยู่ในอิริยาบถใดก็ได้ ล้างจาน ทำสวน เดิน ยืน หรือนอน อาจจะวันละ 2 นาที 20 นาที หรือกี่นาทีก็ได้แล้วแต่สะดวก
อ่านเพิ่มเติม TEACHING EMPATHY: สอนเด็กให้ ‘เข้าอกเข้าใจ’ ลงมือทำ แบ่งปัน มองปัญหาผู้อื่นให้ทะลุปรุโปร่ง
Empathy ความเข้าอกเข้าใจกับการเรียนรู้
ในมุมมองด้านการเรียนรู้ ‘การเข้าอกเข้าใจตนเอง’ หมายถึง การรู้ความชอบและความถนัดของตัวเอง การมีแรงจูงใจและความหลงใหล (Passion) ในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง การรู้ตัวว่ามีความสุขกับการเรียนรู้เรื่องใด นำไปสู่การรู้เป้าหมายในการประกอบอาชีพที่จะสร้างคุณค่าและความภาคภูมิใจ (Self-Esteem) ให้กับตัวเองได้
หมอโอ๋- ผศ. พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกนอกบ้าน กล่าวว่า การตระหนักรู้ภายในตัวเองและการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ช่วยพัฒนาการศึกษาและส่งเสริมการเรียนรู้ของมนุษย์ เพราะเป็นตัวสะท้อนความมั่นคงทางจิตใจที่จะเป็นแรงขับดันไปสู่ความต้องการเรียนรู้
ทั้งนี้ ปัญหาใหญ่ของการศึกษาคือ การศึกษายังทำร้ายความเป็นมนุษย์ และลดทอนพลังหรือความมั่นคงจากภายในของผู้เรียน เช่น การทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่าตัวเองยังไม่ดีพอ และต้องแข่งขันอยู่เสมอ จนสร้างความวิตกกังวลและความเครียด
“การเรียนรู้ถูกโปรแกรม ถูกดาวน์โหลด ถูกขีดตารางและถูกกำหนดให้เรียน โดยที่ผู้เรียนไม่ได้ลองทำจนเกิดความเข้าใจ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่อยากเรียนรู้จริงๆ …หลายครั้งบั่นทอนความเป็นตัวตนของมนุษย์อย่างมาก ทำให้รู้สึกดีไม่พอ สู้เขาไม่ได้ บางที่มีการสอบเข้าตั้งแต่อนุบาลซึ่งทำให้เด็กจำนวนหนึ่งโตมากับความคิดว่าฉันไม่ได้เรื่องตั้งแต่วัยเด็ก”
ในแง่ของการออกแบบการเรียนการสอน การเข้าใจผู้อื่นช่วยสนับสนุนให้การออกแบบการเรียนรู้เป็นไปได้อย่างเหมาะสมตามความต้องการของผู้เรียนแต่ละคน
“ครูเป็นผู้นำพาการเรียนรู้ ครูต้องเข้าใจบริบทของผู้เรียนรู้ว่ามีความแตกต่างหลากหลาย มีความถนัดไม่เหมือนกัน มีความต้องการแตกต่างกัน Empathy คือการเข้าใจมนุษย์ว่าแต่ละคนมีความแตกต่างกัน มีข้อจำกัดไม่เหมือนกัน มีศักยภาพไม่เหมือนกัน มีความเป็นนักเรียนรู้ที่อาจจะถนัดกันคนละแบบ
เพราะฉะนั้นการมี Empathy คือการที่เราก็ไม่ได้ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ครูไม่ยึดติดว่าเราสอนแบบนี้ต้องเข้าใจแบบนี้ Empathy เลยเป็นปัจจัยสำคัญจริงๆ ที่จะทำให้ครูเอื้ออำนวยการเรียนรู้ไปได้ดี”
“Empathy เป็นสิ่งที่ซึมซับและถ่ายทอดผ่านการมองเห็น ถ้าครูเป็นคนที่มีความเข้าใจความเป็นมนุษย์ ครูแสดงสิ่งเหล่านั้นต่อนักเรียน ต่อบริบทของการเรียน เด็กจะซึมซับสิ่งเหล่านี้ไปโดยอัตโนมัติ เช่น ครูเข้าอกเข้าใจที่เด็กคนหนึ่งเรียนไม่ทันเพราะมีข้อจำกัดด้านการอ่านการเขียน ไม่ใช่แค่เด็กคนหนึ่งได้รับ แต่ทำให้เด็กคนอื่นๆ เห็นและเข้าอกเข้าใจไปด้วย
คุณลักษณะสำคัญที่ทำให้คนเราเติบโตไปแบบมีความสุข สามารถพัฒนาตัวเองไปได้เต็มศักยภาพ ไม่ใช่ความฉลาดหรือแค่ IQ ดี แต่คือ Empathy เพราะมันทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น คนที่เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้นก็จะมีความสุขมากขึ้น”
บทความที่เกี่ยวข้อง
https://thepotential.org/life/empathy-2/
https://thepotential.org/knowledge/social-media-and-empathy/
https://thepotential.org/life/i-am-good-enough/
อ้างอิง
https://medium.com/@cascio/facing-the-age-of-chaos-b00687b1f51d