Skip to content
public spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gap
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long Learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    GritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed Mindset
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
public spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gap
How to enjoy life
15 July 2022

ลดการตัดสิน ทิ่มแทงจิตใจ แล้วเพิ่มความเข้าอกเข้าใจต่อกันมากขึ้น (Empathy)

เรื่อง ชัค ชัชพงศ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • เราอาจไม่สามารถเข้าใจมุมมองหรือความรู้สึกได้เสมอไป แต่แค่เราพยายามที่จะทำนั้นก็เพียงพอแล้วต่อการทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) แล้วความสัมพันธ์ที่ดีก็จะค่อยๆ ก่อตัวขึ้น เพราะบนโลกนี้ไม่มีของขวัญไหนดีไปกว่าความเข้าอกเข้าใจอีกแล้ว  
  • ความเข้าอกเข้าใจ หรือ Empathy เปรียบเสมือนยาวิเศษที่ช่วยทำให้คนๆ หนึ่งรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย มีคุณค่า ถูกมองเห็น และยังช่วยลดความเครียด ความไม่ปลอดภัย ความวิตกกังวลอีกด้วย
  • สิ่งที่ต้องรู้คือ ไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้สึกดีกับการได้รับความเห็นอกเห็นใจ (Sympathy) เพราะเขาอาจรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าได้ มีคนจำนวนมากที่ไม่ชอบการถูกสงสาร

การตัดสิน การด่าทอ การพูดแทงใจ การประชดประชัน ล้วนเป็นสิ่งที่ขัดขวางความเข้าอกเข้าใจ แล้วนั่นก็มักจะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง แน่นอนไม่มีใครอยากอยู่ใกล้คนที่แบบเป็นนั้น แต่หลายครั้งเราก็เผลอเป็นแบบนั้นแม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม

แล้วอะไรจะช่วยทำให้เราเป็นคนที่น่ารักขึ้น ?                                                            

อยากชวนให้รู้จักคำว่า ความเข้าอกเข้าใจ หรือ Empathy ที่เปรียบเสมือนยาวิเศษที่ช่วยทำให้คนๆ หนึ่งรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย มีคุณค่า ถูกมองเห็น และยังช่วยลดความเครียด ความไม่ปลอดภัย ความวิตกกังวลอีกด้วย

ความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) คือการพยายามทำความเข้าใจมุมมองและความรู้สึกของคนที่อยู่ตรงหน้า ด้วยคำถามว่า “ถ้าเขาเจอเหตุการณ์นี้ตัวเขาจะรู้สึกและมีมุมมองอย่างไร” โดยไม่ยัดเยียดมุมมอง ความรู้สึก ค่านิยม ความเชื่อของตัวเองไปให้เขา แต่คือพยายามมองจากมุมมองของเขาให้มากที่สุด

เทเรซา ไวซ์แมน นักวิชาการสาธารณสุขได้แบ่ง ความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ออกเป็น 4 องค์ประกอบ ได้แก่

1. การไม่ตัดสิน เมื่อไหร่ที่เกิดการตัดสินว่าสิ่งนี้ถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดีย่อมปิดโอกาสในการทำความเข้าใจอีกฝ่ายแก่นสำคัญคือ การพยายามทำความเข้าใจไม่ใช่การปรับเปลี่ยนความคิดเขา

2. การเอาตัวเข้าไปอยู่ในโลกของเขา คือ การถอดความเป็นตัวเองออกแล้วพยายาม “สวมบทบาทเป็นเขา” เพื่อทำความเข้าใจมุมมองหรือความรู้สึกที่เขามองโลก

3. การทำความเข้าใจความคิดหรือความรู้สึกของผู้อีกฝ่าย หมายถึงการพยายามหลีกเลี่ยงการเอามุมมองความคิดของตัวเองไปใส่

4. การสื่อสารความเข้าใจออกไป เมื่อทำตาม 3 องค์ประกอบแรกแล้ว เราก็ควรสื่อสารให้เขารับรู้ โดยสามารถสื่อสารได้หลากหลายทาง เช่น การสะท้อนความคิดหรือความรู้สึกเขา “ช่วงนี้ฉันเบื่อไม่รู้จะทำอะไรเลยเครียดๆเหนื่อยๆ” อาจสะท้อนว่า “เหมือนชีวิตช่วงนี้มันหน่วงๆ เหรอ”

หรืออาจสื่อสารความเข้าใจเป็นการทำน้ำเสียง “อื้อออ…แบบนั้นเหรอ” แต่บางคนก็อาจถนัดเป็นการพยักหน้าหรือแสดงสีหน้าตามความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างฟัง

เมื่อไหร่ก็ตามที่เราสะท้อนสิ่งที่เขารู้สึกหรือนึกคิด เขาจะรู้สึกว่ามีคนเข้าใจหรืออย่างน้อยก็พยายามทำความเข้าใจเขา

จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมได้ทำการวิเคราะห์ตัวเองร่วมกับนักจิตบำบัด (Self-Analysis) ผมได้เข้าใจว่าความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) แบ่งออกเป็น 2 แบบ

แบบแรก การเข้าอกเข้าใจในระดับความคิดหรือมุมมอง (Cognitive Empathy)

แบบที่สอง การเข้าอกเข้าใจในระดับความรู้สึก (Emotional Empathy)

การเข้าใจความรู้สึกด้วยความรู้สึกมีความลึกซึ้งมากกว่าการเข้าใจความรู้สึกด้วยความคิดอย่างมาก มันคือการที่เราอยู่ตรงนั้น เพื่อรับรู้และสัมผัสถึงอารมณ์เขาอย่างแท้จริงว่า “ตัวเขา” จะรู้สึกอย่างไร แต่จากงานวิจัยพบว่าก็มีจุดที่ต้องระวังตรงที่ยิ่งมีความเข้าใจความรู้สึกหรือ Emotional Empathy มากอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้า 

อย่างไรก็ตาม เราอาจไม่สามารถเข้าใจมุมมองหรือความรู้สึกได้เสมอไป แต่แค่เราพยายามที่จะทำนั้นก็เพียงพอแล้วต่อการทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจแล้ว (Empathy) แล้วความสัมพันธ์ที่ดีก็จะค่อยๆ ก่อตัวขึ้น เพราะบนโลกนี้ไม่มีของขวัญไหนดีไปกว่าความเข้าอกเข้าใจแล้ว

เวลาที่หัวใจของเรากำลังร้องไห้ สิ่งที่เราต้องการ ไม่ใช่คำแนะนำ แต่คือคนที่นั่งอยู่ข้างๆ ด้วยความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) และรับฟังอย่างไม่ตัดสิน-ตีตรา ใจร้ายใส่กันให้น้อยลง เพิ่มความเข้าอกเข้าใจกันให้มากขึ้น ตัดสินกันให้น้อยลง ก้าวเข้าไปอยู่ในโลกของอีกฝ่ายให้มากขึ้น

งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า กลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จ มีความสัมพันธ์ที่ดี มีชีวิตที่มีความหมาย เป็นผู้นำที่ได้รับการยอมรับ ล้วนมีแนวโน้มที่จะมีความเข้าอกเข้าใจที่สูง (Empathy) มันจะดีแค่ไหนหากสังคมเราเต็มไปด้วยคนที่มีความเข้าอกเข้าใจ สื่อสารและใช้ชีวิตกันด้วยความรู้สึกว่าเราเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน ไม่ดูถูก เหยียดหยาม ตัดสิน เพราะเราเข้าใจดีว่าแค่ใช้ชีวิตทุกวันนี้ก็มีความทุกข์มากพอแล้ว

5 หลุมพรางของความเข้าอกเข้าใจ (Empathy Trap)

1. สิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจน ความเห็นอกเห็นใจ (Sympathy) ต่างจากความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) อย่างชัดเจนคือ การเอาความรู้สึกตัวเองเป็นที่ตั้งในการมองเหตุการณ์ว่ารู้สึกอย่างไร โดยไม่ได้ทำเข้าใจความรู้สึกหรือความคิดของคนที่ตรงหน้า และอาจรู้สึกเหนือกว่าโดยไม่รู้ตัวด้วย เช่น เพื่อนสอบตก Empathy จะบอกว่าฉันสัมผัสได้ว่าเธอกำลังรู้สึกเศร้า Sympathy จะบอกว่า สงสารเธอจังเลย ไม่เป็นไรนะ (ไม่ได้เข้าใจคนตรงหน้า แต่เอาความรู้สึกตัวเองเป็นที่ตั้ง) สิ่งที่ต้องรู้คือ ไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้สึกดีกับการได้รับความเห็นอกเห็นใจ (Sympathy) เพราะเขาอาจรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าได้ มีคนจำนวนมากที่ไม่ชอบการถูกสงสาร

Sympathy จะทำให้คนถอยห่างออกจากกัน เพราะไม่ได้เกิดความเข้าใจ แต่ Empathy จะทำให้เราเชื่อมเข้าใกล้กันมากขึ้น

2. ประสบการณ์ที่ใกล้กัน อาจทำให้อินแล้วเผลอเอาตัวเองเข้าไปตัดสินแทนที่จะทำความเข้าใจจากมุมของเขา ซึ่งเป็นปกติของมนุษย์ที่จะเชื่อมโยงสิ่งที่เจอกับประสบการณ์ตัวเอง ต้องคอยเตือนตัวเองว่านี่คือเรื่องราวของเขา

3. ประสบการณ์ที่ห่างไกลกัน จะทำให้เราเชื่อมโยงประสบการณ์ได้ยากขึ้น เหมือนเวลาที่เพื่อนพูดถึงวงเกาหลีถ้าเราชอบอยู่แล้วเราก็จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าไม่ได้สนใจเป็นทุนเดิมก็ทำให้ต้องใช้พลังงานมากขึ้น ประสบการณ์ที่แตกต่างกันอาจทำให้เหนื่อยที่ต้องใช้พลังงานแล้วปล่อยเบลอไม่สนใจ

4. ให้ความเข้าอกเข้าใจคนอื่นเกินไปจนเหนื่อยล้า หรือที่เรียกว่าการหมดไฟ (Burnout) นี่คือสัญญาณสำคัญให้เราหาโอกาสกลับมาดูแลหัวใจตัวเอง หรือที่เรียกว่า Self-Empathy นั่นเอง

5. อคติที่เกิดจากความใกล้ชิด (Closness-Communication Bias) ยิ่งเราใกล้ชิดใครมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสที่เราจะละเลยการเข้าใจเขามากยิ่งขึ้น เพราะเราจะคิดว่าเรารู้จักเขาดีอยู่แล้ว รู้อยู่แล้วว่าเขาจะพูดอะไรก็เลยไม่ได้ให้ความสำคัญ แต่นั่นกลับยิ่งทำให้เราห่างเหินและไม่เข้าใจกันมากเท่านั้น ดังนั้น อย่าลืมมอบความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ให้คนใกล้ชิดนะครับ

แล้วจะฝึกความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) อย่างไร ?

เป็นที่ถกเถียงกันว่าความเข้าอกเข้าใจเป็นสิ่งที่สอนได้หรือไม่ ฝั่งหนึ่งบอกว่าความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ไม่สามารถสอนได้ อีกฝั่งบอกว่าความเข้าอกเข้าใจสามารถสอนได้  ผมขอยกตัวอย่างการเปรียบเทียบของเอดิท ชไตน์ (Edith Stein) นักปรากฎการณ์วิทยา เขาบอกว่าความเข้าอกเข้าใจเหมือนกับการตกหลุมรักตรงที่เราไม่สามารถบังคับให้มันเกิดได้ เราอาจอยากตกหลุมรักคนหนึ่ง แต่เราก็บังคับตัวเองไม่ได้ รู้ตัวอีกทีเราก็ตกหลุมรักไปซะแล้ว มันเหมือนความเข้าอกเข้าใจตรงที่เราไม่สามารถบอกให้ใคร ‘รู้สึก’ ได้ เราไม่สามารถบอกให้ตัวเองรักได้ แต่เราสามารถบอกองค์ประกอบ (Facilitate) ของการเกิดความรู้สึกเหล่านั้นได้ แล้วถ้าทำตามองค์ประกอบนั้นแล้วความเข้าอกเข้าใจก็อาจจะเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ

คำแนะนำในการฝึกความเข้าอกเข้าใจ (Empathy)

1. เอาตัวเองไปอยู่ใกล้คนที่มีความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) เช่น ผู้ใหญ่ที่มีความโอบอ้อมอารี นักจิตวิทยา คนที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องจิตใจ แล้วค่อยๆ ซึมซับสังเกตความรู้สึกของการมีคนเข้าอกเข้าใจ แล้วค่อยๆ เลียนแบบวิธีการส่งต่อความรู้สึกดีๆ เหล่านั้น

2. ฝึกการตั้งใจฟังอย่างลึกซึ้ง เริ่มต้นด้วยการฟังโดยไม่ตัดสินว่าอะไรถูก-ผิด ตั้งใจฟังเพื่อให้เกิดความเข้าใจไม่ใช่ฟังเพื่อรอตอบกลับ

3. พยายามอยู่กับปัจจุบัน ละวางความกังวลของตัวเองลงแล้วอยู่กับที่อยู่ตรงหน้าจริงๆ เพราะความวิตกกังวลเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราไม่สามารถเข้าใจคนที่อยู่ตรงหน้าได้

4. เรียนรู้จุดบอด อคติ หรือสิ่งที่กระตุ้นให้มีอารมณ์ได้ง่ายเพื่อให้เท่าทันตัวเองไม่ให้จมไปอารมณ์เหล่านั้น

5. ฝึกมองเห็นคุณค่าในตัวเอง (Self-Esteem) เชื่อมั่นในสิ่งที่เป็นข้อดีเพื่อให้เห็นคุณค่าในตัวเอง การที่เรารู้สึกดีกับตัวเองจะทำให้เราทำความเข้าใจคนอื่นได้ง่ายขึ้น ดร.แนท ฐิตาภา นักจิตบำบัด กล่าวว่า “หากเรามีวุฒิภาวะ (Maturity) ความสามารถในการจินตนาการถึงมุมมองของผู้อื่นก็จะมากขึ้น วุฒิภาวะ (maturity) เกิดจากการที่เราเห็นคุณค่าในตัวเอง เชื่อมั่นและมั่นใจในความสามารถรวมถึงสิ่งที่ตนเองมี ในขณะที่วุฒิภาวะ (maturity) จะลดทอนลงเมื่อเราเกิดความรู้สึกวิตกกังวล ความสงสัยในตนเอง รู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ”

สำหรับผม การมีความเข้าอกเข้าใจเป็นของขวัญของมนุษย์ที่ดีที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะมอบให้กันได้ นอกจากผู้รับ Empathy จะมีความสุขแล้ว ตัวผู้ให้เองก็จะได้ฝึกบ่มเพาะความเข้าอกเข้าใจในหัวใจตัวเองก่อนด้วย เพราะมันเป็นไปไม่ได้เลยหากเราจะให้ Empathy ผู้อื่น โดยที่ยังไม่มีเมล็ดพันธุ์นั้นในหัวใจ

การมีความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) เป็นเรื่องที่ดี และจะดียิ่งหากเราสามารถหาสมดุลระหว่างการมีความเข้าอกเข้าใจต่อผู้อื่น และความเข้าอกเข้าใจต่อตัวเอง (Self-Empathy) เพราะถ้ามีให้คนอื่นเยอะเกินไปจนลืมให้ความสำคัญตัวเองก็จะส่งผลเสีย แต่หากให้ความสำคัญตัวเองจนหมกหมุ่นเกินไปก็เป็นผลเสียเช่นกัน ชีวิตที่ดีจึงเป็นการหาสมดุลของหัวใจ

มาเริ่มปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความเข้าอกเข้าใจด้วยกันนะครับ

อ้างอิง

Davis, C. M. (1990). What is empathy, and can empathy be taught?. Physical therapy, 70(11), 707-711.

Wiseman, T. (1996). A concept analysis of empathy. Journal of advanced nursing, 23(6), 1162-1167.

 Yan, Z., Zeng, X., Su, J., & Zhang, X. (2021). The dark side of empathy: Meta‐analysis evidence of the relationship between empathy and depression. PsyCh Journal, 10(5), 794-804.

แนท ฐิตาภา. (2563). Empathy สิ่งที่ไม่สามารถสอนกันได้. สืบค้น 28 มิถุนายน 2565, จาก https://web.facebook.com/told.psychologist/photos/a.125878814749186/540803336590063/

Tags:

ความเข้าอกเข้าใจ(empathy)ความรู้สึกการตัดสิน

Author:

illustrator

ชัค ชัชพงศ์

สนใจจิตวิทยาเพราะเชื่อว่าการเข้าใจตนเองและผู้อื่นจะทำให้ความเมตตาในหัวใจพองโต FB: Chuck Chatpong

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Myth/Life/Crisis
    เยียวยาโดยไม่ยึดติดกับบทบาท

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Adolescent BrainCharacter building
    สมองไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เข้าใจผู้อื่นผ่านออนไลน์ สร้างภูมิคุ้มกันเด็กด้วยการจัดการเวลาหน้าจอ

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • How to enjoy life
    I am good enough : เห็นคุณค่าตัวเองในวันที่ถูกรายล้อมไปด้วยสังคมที่ขาด empathy

    เรื่อง ภณิชชา ไชยกวิน ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • ห้องน้ำ All Gender : การออกแบบพื้นที่ ‘ปลดทุกข์’ เพื่อเรียนรู้และเข้าใจความต่างระหว่างเรา โดย เปเปอร์-ศุทธา มั่นคง

    เรื่อง วายุ เอี่ยมรัมย์

  • Relationship
    HURTING YOURSELF = HURTING YOUR KID แม่เจ็บ ลูกยิ่งเจ็บ

    เรื่อง The Potential ภาพ SHHHH

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel