- แต่ละคนมีประสบการณ์เรื่องความรักที่แตกต่างกัน คำว่า “รัก” ของแต่ละคนจึงมีความหมายต่างกัน ถึงอย่างนั้นมันก็ยังมีสิ่งที่เป็น “จุดร่วมของความรักที่ดี” ที่เอามาชวนคุยกันได้
- การรักใครสักคนหนึ่ง มันคือการยอมรับเขาแม้เขาจะไม่ได้ดีไปทุกอย่าง ยอมรับไม่ใช่การมองผ่านข้อเสียโดยไม่สนใจ แต่คือเราจะไม่เอาข้อเสียของเขาไป ‘ตัดสิน’ หรือทำร้ายให้เขารู้สึกแย่กับตัวเอง
- พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูหลักมีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยสร้างให้คนๆ หนึ่งเป็นคนที่ ‘มีความรักในหัวใจ’ เด็กที่ถูกทอดทิ้งและเพิกเฉยทั้งทางร่างกายและอารมณ์ มักจะไม่ค่อยมีความรัก หรือสานสัมพันธ์กับใครได้อย่างลึกซึ้ง
ความรักเป็นหัวข้อที่ถูกศึกษามาอย่างยาวนาน และปรากฏอยู่ในแทบจะทุกแง่มุมของชีวิตเราทั้งหนัง เพลง ละคร งานเขียน บทกวี งานศิลปะ ถึงอย่างนั้น ความรักก็ยังเป็นความซับซ้อนที่สุดสิ่งหนึ่งของมนุษย์ ความรักเป็นเหมือนดาบสองคม ด้านหนึ่งมันช่วยเปลี่ยนโลกทั้งใบของคนหนึ่งให้สดใส มีความหมาย มีพลังได้ แต่อีกด้านก็สามารถทำลายชีวิตคนหนึ่งให้พังทลายได้เช่นเดียวกัน ความรักเป็นสิ่งสำคัญตั้งแต่คนเรายังไม่ออกจากท้องแม่ และสำคัญในทุกแง่มุมของชีวิต
ความรักถูกสร้างภาพให้สวยงามหอมหวานผ่านนิยาย หนัง ละคร แต่ความจริงแล้ว ความรักเองก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือหรือข้ออ้างในการทำร้าย ควบคุม บงการคนอื่นเช่นเดียว ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ที่บอกให้ลูกต้องทำตามความต้องตัวเองเพราะบอกลูกว่านั่นคือความรัก สามีที่บังคับให้ภรรยาทำสิ่งที่เขาไม่ต้องการโดยใช้ความรักเป็นข้ออ้าง เราอยู่ในสังคมที่พยายามบอกเราว่าความรักคืออะไรอยู่เสมอ โฆษณาอาจบอกว่าแหวนเพชรคือความรักที่นิรันดร์ เทศกาลวาเลนไทน์อาจบอกว่าดอกไม้สีแดงช่อโตคือความรัก เราถูกกรอกหูอยู่แทบตลอดเวลา การมีนิยามความรักของตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะมันจะไม่ทำให้เราหลงไปกับอะไรที่ไม่ใช่ตัวเอง และนำมาซึ่งความว่างเปล่าในที่สุด
ความรักเป็นสิ่งที่มีนิยามที่หลากหลาย บางคนบอกว่ามันคือความผูกพัน บางคนบางบอกมันคือการอยากอยู่ใกล้ บางคนบอกว่ามันคือการคิดถึงเขาทุกวินาที แต่ละคนล้วนมีนิยามความรักในแบบของตัวเอง
เราบอกได้ยากว่าอะไรคือความรักเพราะมันคือกลุ่มความรู้สึกที่มีความซับซ้อนที่สุดสิ่งหนึ่งในมนุษย์ แต่เราสามารถบอกได้ว่าอะไรที่ไม่ใช่ความรัก
สิ่งที่ถูกเข้าใจผิดบ่อยๆ ว่าเป็นความรัก
- ความคิดถึง บางครั้งเราคิดถึงคนบางคนก็เพียงเพราะความเคยชินที่เขาตอบสนองความรู้สึกได้ จึงต้องระวังเพราะถ้าไม่รู้ทันความรู้สึกอาจหลงคิดว่านั่นคือความรัก
- เซ็กส์ การมีเซ็กส์กับคนหนึ่งแล้วรู้สึกดีไม่ได้แปลว่ารักเสมอไป บางครั้งอาจหมายความว่าเขารู้ใจว่าคุณชอบอะไร
- ความตื่นเต้น ความตื่นเต้นดีใจเวลาที่ได้อยู่ใกล้เขา เขาทำดีด้วย ไม่ได้แปลว่านั่นคือความรักเสมอไป เรื่องแบบนี้หลายครั้งก็เหมือนการเล่นการพนันตรงที่เรารู้สึกดีรู้สึกลุ้นที่จะได้บางสิ่งจากการพนันแต่ก็ไม่ได้แปลว่าการพนันนั้นทำให้เรารู้สึกดีจริงๆ มันเป็นเพียงแค่ความตื่นเต้นเพียงชั่วคราว
- รักเพราะเขาทำบางสิ่งให้ เรื่องนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อน ผมพึ่งเข้าใจผ่านการทำจิตบำบัด (self-analysis) ได้ไม่นาน เพราะต้องแยกให้ดีว่านั่นคือเรารักเขาเพราะเขาทำบางสิ่งให้ หรือรักที่เขาเป็นเขา แน่นอนว่าเราต่างก็ต้องการให้เขาทำดีด้วย แต่ต้องระวังว่ามันจะเป็นเงื่อนไขที่ผูกมัดแค่ว่า ถ้าคุณไม่ตอบสนองในสิ่งที่เราต้องการ เราก็จะไม่รักคุณ และใช้ความกลัวไม่ถูกรักของเขาเป็นการควบคุมให้เขาทำสิ่งต่างๆ ตามที่เราต้องการ เพราะนั่นไม่ใช่ความรัก แต่คือการต้องการได้รับการตอบสนอง
นิยามความรักของแต่ละคนแตกต่างตามประสบการณ์ที่ผ่านมา เด็กมักจะเรียนรู้นิยามความรัก หรือความหมายของความรักจากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูหลัก พ่อแม่ที่ให้ความรักอย่างสม่ำเสมอ คอยอยู่ข้างๆ ไม่ตัดสิน พยายามทำความเข้าใจ ให้พื้นที่แต่ก็ไม่ห่างเหิน ก็จะทำให้เด็กเห็นภาพความรักแบบที่เขาถูกเลี้ยงดูมา ส่วนเด็กที่เติบโตมากับพ่อแม่ที่ไม่ค่อยมีเวลาให้ โมโหร้าย ใจร้อน ทำร้ายจิตใจ ก็มักจะนิยามความรักตามรูปแบบความรักที่คุ้นเคยในอดีต แต่เมื่อโตขึ้นเราไม่ได้เรียนรู้ความรักจากพ่อแม่เท่านั้น บางคนอาจเรียนรู้จากคุณครูที่สนิท บางคนเรียนรู้จากเพื่อน บางคนก็เห็นภาพจากคู่รักตัวเอง
นิยามความรักที่แต่ละคนมีอาจเป็นสิ่งที่เรียนรู้โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้ คนเรามักมีแนวโน้มมองหารูปแบบความสัมพันธ์ที่คุ้นเคย ดังนั้นการสังเกตรูปแบบความสัมพันธ์ที่ผ่านมากับพ่อแม่หรือคนรักจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการมีความรักที่ดี
ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกับคำนี้ที่บอกว่า ‘จงรักตัวเองก่อน ก่อนที่จะรักคนอื่น’ ประโยคนี้มีสองมุม หนึ่งคือ การที่เรารักตัวเองจะทำให้เรามีความรักเพียงพอที่จะรักคนอื่นได้ เหมือนการที่เรารักและดูแลตัวเองได้ดี เราก็น่าจะให้ความรักและดูแลคนอื่นได้ดีเช่นเดียวกัน อีกมุมหนึ่งคือ การที่เราจะรักตัวเองได้ก็ต้องเกิดจากการที่คนสำคัญในชีวิตเห็นคุณค่าในตัวเราด้วยเช่นเดียวกัน แล้วเราก็จะเรียนรู้ว่าตัวเองก็มีคุณค่าพอที่จะถูกรักเหมือนกัน และพัฒนาความรู้สึกนั้นเป็นการรักตัวเอง เพราะฉะนั้นก็ไม่จำเป็นที่จะต้องรักตัวเองก่อนค่อยรักคนอื่นเสมอไป เพราะถ้าเรารักคนอื่น แล้วคนอื่นมารักเรา เราเห็นคุณค่าตัวเองจนรู้สึกรักตัวเอง เราก็จะเรียนรู้ที่จะรักคนอื่นได้ด้วยเช่นกัน
ความรักที่ดี
แต่ละคนมีประสบการณ์เรื่องความรักที่แตกต่างกัน คำว่า “รัก” ของแต่ละคนจึงมีความหมายต่างกัน ถึงอย่างนั้นมันก็ยังมีสิ่งที่เป็น “จุดร่วมของความรักที่ดี” ที่เอามาชวนคุยกันได้
เวลาพูดถึงการรักตัวเอง เรามักจะเห็นบทความที่พูดถึงการกลับมามองข้อดีของตัวเอง กลับมาขอบคุณสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมา เพื่อให้เราได้ดื่มด่ำและรู้สึกดีกับข้อดีของตัวเอง นั่นไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่มันอาจไม่ใช่การรักตัวเองอย่างแท้จริง เพราะมันยังคงไม่ได้มีการโอบกอด ยอมรับและทำความเข้าใจด้านมืดในตัวเองด้วย ซึ่งหมายถึง ด้านที่เราปกปิดไม่อยากนึกถึง ไม่อยากให้คนอื่นรับรู้ว่าเราเป็นแบบนี้ ด้านที่เรารู้สึกเกลียดตัวเองอยู่ลึกๆ และบางทีเราเองก็ไม่อยากรับรู้ด้วย หากเราสามารถโอบกอด ยอมรับ และไม่ผลักไสด้านเหล่านี้ในตัวเอง แต่ทำความเข้าใจอย่างแท้จริงว่าตัวตนที่ปลอม (false self) เหล่านั้นล้วนหล่อหลอมให้เรากกลายเป็นเราในวันนี้ และการที่เราเคยมีตัวตนที่ปลอมมันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้เข้าใจความเจ็บปวด ความน่าเกลียดของมนุษย์ นั่นอาจเรียกว่า ‘การรักตัวเอง’
การรักคนอื่นก็เช่นกัน มันไม่ใช่เพียงแค่การมองเห็นข้อดีของเขาแล้วก็สนใจหรือชอบ การเห็นข้อดีของอีกฝ่ายเป็นสิ่งสำคัญในหลายงานวิจัยทางจิตวิทยาของคู่รักที่ประสบความสำเร็จ แต่การโอบกอดและยอมรับข้อเสียของอีกฝ่ายก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน ความรักจะทำให้เรารู้สึกว่า เราเห็นข้อเสียของคุณนะ แต่เราก็เห็นว่าคุณมีข้อดีเช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่าเราไม่หงุดหงิดกับข้อเสียของคุณ เพียงแค่เรารู้ว่ามันไม่ใช่ทั้งหมดของคุณและความรักก็ทำให้เราอยากยอมรับคุณแบบไร้เงื่อนไข แล้วเราก็พร้อมที่จะปรับปรุง พัฒนา อยู่ข้างๆ คุณ – ที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียนั้น
เวลาพูดถึงความรักที่ไร้เงื่อนไข (unconditional love) ผมจะนึกถึงแม่เสมอ แม่เป็นคนที่เห็นข้อดีของผม แต่ก็เห็นข้อเสียอันมากมายด้วย แต่แม่ก็ยังยอมรับแม้ผมจะไม่สมบูรณ์แบบ การรักใครสักคนหนึ่งก็เป็นเช่นนั้น มันคือการยอมรับเขาแม้เขาจะไม่ได้ดีไปทุกอย่าง ยอมรับไม่ใช่การมองผ่านข้อเสียโดยไม่สนใจ แต่คือเราจะไม่เอาข้อเสียของเขาไป ‘ตัดสิน’ หรือทำร้ายให้เขารู้สึกแย่กับตัวเอง เพราะเรารู้ว่าความรักที่ไร้เงื่อนไขจะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เรามีความสัมพันธ์ที่ดี ความรักที่ไร้เงื่อนไขอีกอย่างที่ผมค้นพบในการทำจิตบำบัดคือ การที่เรารักใครสักคนโดยที่ไม่หวังผลตอบแทน ไม่คิดว่าเขาจะให้สิ่งนี้ฉันไหม สิ่งที่ฉันให้มันจะคุ้มค่าไหม
อันที่จริงเรื่องการยอมรับอย่างไร้เงื่อนไขเป็นเคล็ดลับสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์เลย คุณลองนึกถึงคนที่คุณรู้สึกปลอดภัย อบอุ่น เข้าอกเข้าใจดูสิ เขาน่าจะมีคุณสมบัตินี้อยู่ในตัว นักจิตวิทยาหรือนักบำบัดหลายคนที่ต้องทำงานกับผู้ใช้บริการที่มีบาดแผลทางจิตใจก็ใช้แนวคิดนี้เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ใช้บริการเช่นเดียวกัน
อันที่จริงความลับของการมีความรักอย่างไร้เงื่อนไขอาจเป็นการที่เราพยายามสำรวจความสัมพันธ์ดูว่า ‘อะไรคือเงื่อนไขในการรักของเรา’ อะไรคือสิ่งที่ถ้าเขาไม่ทำให้แล้วเราจะไม่รัก
ถึงอย่างนั้น ความรักอย่างไร้เงื่อนไขก็ไม่ใช่การยอมเสียสละตัวเองทุกอย่างเพื่อให้ได้อยู่ในความสัมพันธ์ มันควรจะเป็นการเสียสละที่สมเหตุสมผล ถ้าสิ่งที่คุณต้องเสียสละคือ ความรัก คุณค่า ความหมายชีวิต นั่นอาจไม่คุ้มที่จะแลกโดยเฉพาะในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (toxic relationship)
ความรักที่ดีจะทำให้คุณรู้สึกปลอดภัย อบอุ่น ไว้ใจ ไม่กังวลจนเกินไป และการรักใครสักคนก็คือการทำให้เขารู้สึกเช่นนั้น จากที่ได้อ่านงานทางจิตวิทยาหลายชิ้น ผมพบว่า จุดร่วมหนึ่งของความรักที่มักถูกพูดถึงคือ การดูแลความรู้สึก ความต้องการ ความสุข ความทุกข์ของเขาเหมือนที่เราอยากให้เขาทำให้เรา ความรักจะทำให้เราใส่ใจในความเป็นเขา ความใส่ใจคือ ‘ความรู้สึก’ และ ‘การกระทำ’ ที่แสดงถึงความใส่ใจ บางคนอาจพูดว่าฉันแคร์เธอนะ ฉันรักเธอนะ ฉันก็ไปรับไปส่ง แต่ข้างในความรู้สึกกลับไม่ได้รู้สึกสนใจจริงเขาก็จะรับรู้ได้ ดร.แนท ฐิตาภา นักจิตบำบัด บอกผมระหว่างทำจิตบำบัดว่า (self-analysis) ความรักคือ ‘ความรู้สึกซาบซึ้ง’ ในความเป็นเขา จนเราอยากดูแลและใส่ใจให้เขามีความสุข ผมก็คิดเช่นนั้น
สมัยก่อนการมีความรักอาจหมายถึงการมีฐานะที่ดี มีความปลอดภัยทางร่างกาย ไม่ยากจนหิวโหย แต่รูปแบบความรักเปลี่ยนไป ค่านิยมของความรักสมัยนี้ คือการที่คู่รักช่วยให้มีการเติมเต็มทางจิตใจ การได้พัฒนาตัวเอง การมีความภาคภูมิใจในตัวเองของกันและกัน
ด้านมืดของความรัก
- สิ่งที่ต้องระวังของความรักคือ ความรักทำให้คนตาบอด เพราะเวลาที่เราเริ่มตกหลุมรักใครสักคนช่วงเริ่มต้นสมองส่วนหน้า (prefrontal cortex) ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการตัดสินใจ ประเมินสถานการณ์และบุคคลจะทำงานได้น้อยลง ช่วงนั้นเราจะเห็นแต่ข้อดีของเขาเต็มไปหมด สัญญาอันตรายหรือ redflag ก็มักจะถูกมองข้ามไป ช่วงนี้ความรักจะมีทั้งความสุขแบบล้นเอ่อและความเครียดวิตกกังวล เพราะสารแห่งความสุข (dopamine) และสารแห่งความเครียด (cortisol) ในสมองหลั่งเยอะ
- นอกจากความรักจะทำให้คนหลงหัวปักหัวปำแล้ว ความรักก็ยังเป็นความเจ็บปวดอีกแบบหนึ่งด้วย ความรักจะเกิดขึ้นได้เมื่อคนหนึ่งกล้าเปิดเผยความเป็นตัวเอง ไม่ปกปิดหรือเก็บซ่อนความรู้สึก เพราะความลึกซึ้งในความผูกพันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากคนหนึ่งมีกำแพงในความสัมพันธ์ กำแพงที่ถูกทำลายนั้นทำให้เราเห็นถึงความเปราะบาง (vulnerability) ของกันและกัน
เบรนเน่ บราวน์ (Brene Brown) นักวิจัยเรื่องความเปราะบาง เคยกล่าวว่า ความเปราะบางเป็นแก่นของอารมณ์เชิงลบที่เราไม่ชอบกัน พูดง่ายๆ คือ เราไม่ชอบอารมณ์เชิงลบเพราะมันทำให้เรารู้สึกเปราะบาง ถึงอย่างนั้นความเปราะบางก็เป็นจุดกำเนิดของอารมณ์เชิงบวกต่างๆ ด้วย ถ้าเราไม่อนุญาตให้ตัวเองเปราะบางกับใครสักคน เราก็จะไม่เจอความผูกพันที่ลึกซึ้ง ด้านหนึ่งของการรักใครสักคนคือการตื่นเช้าขึ้นมาในทุกวันอย่างมีความหมาย แต่ในอีกด้านหนึ่งก็คือความเสี่ยงที่อาจถูกหักหลัง และเจ็บปวดในความสัมพันธ์ ทุกสิ่งมีข้อดีและข้อเสียหมด และถึงแม้จะเลือกที่จะไม่มีความสัมพันธ์เพราะไม่อยากเจ็บปวด แต่ความชินชา (numbness) และการวิ่งหนีความสัมพันธ์ก็คือความเจ็บปวดรูปแบบหนึ่งเช่นกัน ในเมื่อทางไหนก็เจ็บปวด ดังนั้นการตัดสินใจเลือกความเจ็บปวดที่คุ้มค่าและมีความหมายที่จะทำก็น่าจะดี
- เวลาผ่านไปความลุ่มหลง (passion) ก็อาจจางหายไปตามเวลา สารแห่งความสุข (dopamine) ที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้นเวลาเจอเขาก็จะน้อยลง บางคนที่เสพติดความรู้สึกตื่นเต้นใจฟูก็อาจเผลอเข้าใจว่าเราหมดรักแล้วจึงตัดสินใจจบความสัมพันธ์ หากเข้าใจกลไกสมองจะรู้ว่าความรักอาจไม่ได้หมดเสมอไป เพียงแต่ความรักเปลี่ยนรูปแบบจากความตื่นเต้น เป็นความเข้าใจ ความอบอุ่นและความมั่นคงแทน
- ความรักเป็นสิ่งที่ท้าทายบาดแผลทางใจในความสัมพันธ์อย่างมาก บาดแผลทางใจต่างๆ มักแสดงออกมาหลังจากที่ความลุ่มหลงน้อยลง และเมื่อต่างคนต่างเริ่มแสดงความเป็นตัวเองมากขึ้น หากคุณเคยถูกหักหลังจากคนสำคัญ คุณก็อาจแสดงความงี่เง่าและหวาดระแวง ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมักจะเป็นสิ่งที่ท้าทายบาดแผลทางใจ แต่ความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่ดีก็เป็นสิ่งที่เยียวยาบาดแผลทางใจได้เช่นกัน
บาดแผลทางใจที่ขัดขวางความรัก
สำหรับหลายคนความรักเป็นสิ่งที่ได้พบเห็นและสัมผัสจากครอบครัว แต่สำหรับหลายคนก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น บาดแผลทางจิตใจ (trauma) ทำให้เขามีประสบการณ์ที่โหดร้ายกับโลกภายนอก จึงทำให้เขารู้สึกว่าโลกใบนี้ไม่ปลอดภัย ทำให้ต้องระวังตัว ตีความเชิงลบไว้ก่อน สัมผัสความรักไม่ได้ ไม่รู้ทำไมตัวเองต้องรัก หรืออาจบอกว่ารักแต่จริงๆ ไม่ได้รู้สึก การเชื่อใจใครสักคนว่าจะคนรักเขาหรือเชื่อว่าตัวเองจะเป็นที่รัก (lovable) จึงเป็นเรื่องยาก แม้จะได้อ่านหรือเห็นว่าความรักเป็นอย่างไร เขาก็อาจเข้าใจได้ด้วยหัว (intellectual) แต่ไม่อาจสัมผัสมันได้ด้วยหัวใจ มันจึงยากที่เขาจะรับรู้ถึงความรัก หรือส่งต่อความรักให้คนรอบข้าง ภาพตลกที่ผมนึกในหัวตอนนี้คือ ถ้าคุณกำลังอยู่ในสนามรบคุณคงไม่มีอารมณ์มาสัมผัสความรักอะไรใช่ไหม มันก็เหมือนคนที่รู้สึกตัวเองไม่ปลอดภัยแหละ สมองเขากำลังอยู่ในโหมดปกป้องตัวเอง (fight-flight-freeze system) จะมาส่งต่อความรักก็คงเป็นเรื่องแปลก
จะเห็นได้ว่า พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูหลักมีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยสร้างให้คนๆ หนึ่งเป็นคนที่ ‘มีความรักในหัวใจ’ เด็กที่ถูกทอดทิ้งและเพิกเฉยทั้งทางร่างกายและอารมณ์ มักจะไม่ค่อยตกหลุมรัก มีความรัก หรือสานสัมพันธ์กับใครได้อย่างลึกซึ้ง
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนจะมีต้นทุนทางครอบครัวที่ดี ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ข่าวดีคือ เราทุกคนสามารถเรียนรู้ความรักรูปแบบใหม่ได้เสมอ ไม่ว่าจะผ่านการอ่าน การเจอนักจิตบำบัด หรือการเจอคนที่มีความรักที่ดี แล้วค่อยๆ เรียนรู้ผ่านการซึมซาบความรู้สึกรัก ผมไม่ได้เขียนบทความนี้ในฐานะผู้รู้ที่เข้าใจความรักอย่างแจ่มแจ้ง ผมศึกษาเรื่องนี้ร่วมกับนักจิตบำบัดอย่างจริงจังได้ประมาณปีกว่า เอาเข้าจริงผมกลัวที่จะเขียนด้วยซ้ำเพราะรู้สึกว่าตัวเองก็ล้มเหลวในเรื่องความรัก แต่ก็ได้คำตอบว่า ไม่มีใครเก่งเรื่องความรักหรอก เราต่างล้มเหลวกันมาทั้งนั้น ความรักล้มเหลวก็ไม่ได้แปลว่าชีวิตล้มเหลว คนเราสามารถเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงได้เสมอ อดีตไม่ได้ใช่สิ่งที่กำหนดชีวิตเราแม้มันจะมีผลต่อตัวเราก็ตาม
วิธีแสดงความรัก
- หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ พระนิกายเซน พูดอยู่เสมอว่า ‘คุณจะรักใครสักคนได้อย่างไร หากคุณไม่อยู่ตรงนั้น ณ ปัจจุบันกับเขา’ ความรักอาศัยการหล่อเลี้ยง การอยู่กับปัจจุบันไม่ใช่เพียงแค่ร่างกายแต่คือจิตใจที่เรารับฟังเขาด้วยตัวตน ณ ปัจจุบัน เด็กจะ ‘รู้สึก’ ว่าพ่อแม่รักเขาก็ต่อเมื่อพ่อแม่ใช้เวลาอยู่กับเขา เนื่องจากสมองของเด็กยังไม่ได้พัฒนาพอที่จะเข้าใจความคิดที่ซับซ้อน เด็กจะไม่สามารถทำความเข้าใจได้ว่าพ่อแม่ไม่ใช้เวลากับเขาเพราะต้องทำงานหาเงินให้เขา
- เปิดเผยเรื่องราวของตัวเองทั้งในด้านดี ด้านเปราะบาง ด้านมืด คนเราเชื่อมโยงกันด้วยเรื่องราว เรื่องราวต่างๆ จะทำให้เราเข้าใจกันและสนิทใจกันมากขึ้น บนพื้นฐานของการไม่ตัดสินและตีตรากันและกัน
- คำชื่นชมและบริการเล็กๆ น้อยมีความสำคัญมากในความสัมพันธ์ คนเรามักมองข้ามเรื่องเล็กน้อย เพราะคิดว่ามันเล็กน้อย แล้วรอให้อะไรที่มันพิเศษไปเลย แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าสุดท้ายเราไม่รู้ว่าเราจะอยู่ถึงวันที่พิเศษไหม
- ตั้งใจรับฟังเขา พยายามทำความเข้าใจความคิดและความรู้สึกโดยเอาไม่ตัวเองไปตัดสิน
- นึกถึงความสุขของกันและกันให้เยอะๆ แล้วคอยใส่ใจเรื่องเล็กน้อยของเขาและตัวเอง
- ตั้งใจดูแลตัวเองให้ดี การดูแลตัวเองคือการกระทำสำคัญที่บอกว่าเรารักเขา เราอยากมีเวลาอยู่กับเขามากขึ้น เหมือนที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เคยให้สัมภาษณ์ว่าที่เขาดูแลร่างกายตัวเองออกไปวิ่งทุกวันก็เพราะเขารักลูก
ความรักอาจเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ บางทีพ่อแม่ก็มีความรักให้ลูกได้เลยแม้จะยังไม่เคยเห็นหน้าค่าตา บางคนอาจเริ่มจากความไม่ชอบหน้ากันแล้วค่อยๆ เปิดใจเรียนรู้จนเป็นความรักในแบบเพื่อนที่มีความสนิทสนมและการให้ใจกัน คู่รักบางคู่อาจเริ่มจากความหลงใหล บางคู่เริ่มจากความสนิทสนม บางคู่เริ่มจากการตัดสินใจอยู่ด้วยกันแล้วค่อยพัฒนาเป็นความรัก จะเห็นเลยว่าความรู้สึกรักสามารถพัฒนาจากความรู้สึกอื่นที่ไม่ใช่ความรักก็ได้ จากนั้นเวลาและการหล่อเลี้ยงความสัมพันธ์ก็ค่อยๆ ก่อตัวเป็น ‘ความรู้สึกรัก’
ความรักในที่นี้ ผมไม่ได้หมายถึงแค่หนุ่มสาวเพียงเท่านั้น มันสามารถเอาไปใช้ได้ทั้งในครอบครัว คู่รัก เพื่อน พี่น้อง เพื่อนร่วมงาน ผมคิดว่าความรักในทุกความสัมพันธ์อาจมีรายละเอียดต่างกันบ้างหน่อย แต่แก่นความรักในทุกความสัมพันธ์มีความคล้ายคลึงกัน หากเรารู้จักความรักจากครอบครัว เราก็นำความรู้สึกรักนั้นไปส่งต่อให้คู่รักก็ได้ บางคนอาจรู้จักความรักจากการอยู่กับเพื่อนสนิทเขาก็อาจเอาความรู้สึกนั้นไปส่งต่อให้เพื่อนร่วมงานก็ได้
ความหมายของชีวิตอาจเป็นการที่เราสามารถรักและโอบกอดใครสักคนหนึ่งได้อย่างหมดหัวใจ จนเราได้เรียนรู้คำว่า ‘รัก’ ผ่านการออกไปรักใครสักคนจริงๆ
นักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำตอบว่า สัตว์มีความรักไหม เราไม่รู้หรอก เรารู้เพียงแค่ว่าสัตว์มีความผูกพัน เป็นห่วง ต้องการใกล้ชิด แต่เรารู้ว่ามนุษย์มีความรักอย่างแน่นอน ความรักของมนุษย์เป็นหนึ่งในสิ่งที่วิเศษและพิศวง เพราะความรักมันทำให้มีทั้งความเครียด การเสพติด การหมกหมุ่น แต่ในขณะเดียวกันความรักก็ทำให้เรามีความปลอดภัย อบอุ่น ใกล้ชิด เมตตา ทุ่มเท เสียสละ และรู้สึกมีความหมาย
‘ความรัก’ เป็นของขวัญพิเศษสำหรับมนุษย์มันทำให้เรากล้าทำในสิ่งที่เราไม่แม้กระทั่งจะทำให้ตัวเองด้วยซ้ำ กล้าเปลี่ยนแปลง กล้าต่อสู้
ทำไมจะไม่ลองรักใครสักคนดูล่ะ ?
คนนั้นอาจเป็นตัวคุณ หรือคนรอบข้างที่มีความหมายสำหรับคุณก็ได้
ขอให้มีความรักในหัวใจครับ
อ้างอิง
Finkel, E. J., Hui, C. M., Carswell, K. L., & Larson, G. M. (2014). The suffocation of marriage: Climbing Mount Maslow without enough oxygen. Psychological Inquiry, 25(1), 1-41.
Gabb, J., Klett-Davies, M., Fink, J., & Thomae, M. (2013). Enduring love? Couple relationships in the 21st century. Survey Findings Report. Milton Keynes: The Open University. Retrieved January, 1, 2014.
Majdic, G. (2021). Brain in Love. In Soul Mate Biology (pp. 193-198). Springer, Cham.
Majdic, G. (2021). Emphatic Rats. In Soul Mate Biology (pp. 167-172). Springer, Cham.
Majdic, G. (2021). Man and Woman Madly in Love. In Soul Mate Biology (pp. 183-191). Springer, Cham.
Majdic, G. (2021). What Is Love?. In Soul Mate Biology (pp. 193-198). Springer, Cham.