- Precious (พรีเชียส) เป็นภาพยนตร์แนวดราม่า ปี 2009 นำเสนอเรื่องราวของสาวน้อยวัย 16 ปีที่ถูกไล่ออกจากโรงเรียนมัธยม หลังตั้งครรภ์ลูกคนที่สองกับพ่อบังเกิดเกล้าของตัวเอง
- นอกจากพ่อที่ข่มขืนเธอเป็นประจำ แม่เองก็มักด่าว่าและตบตีเธอราวกับปีศาจร้าย จนพรีเชียสมองไม่เห็นถึงคุณค่าของการมีชีวิตและไร้ซึ่งความภาคภูมิใจในตัวเอง
- หลังถูกไล่ออกจากโรงเรียนมัธยม พรีเชียสได้ไปสมัครเข้าเรียนที่โรงเรียนทางเลือกและได้พบกับครูเรน ผู้สอนให้พรีเชียสตระหนักถึงคุณค่าและศักยภาพที่แท้จริงของตัวเอง
ขึ้นชื่อว่าบาดแผลทางร่างกายเจ็บแค่ไหนก็พอจะรักษาได้ แต่บาดแผลทางใจกลับตรงกันข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากบาดแผลนั้นเกิดขึ้นจากพ่อแม่
เหมือนกับเรื่องราวในภาพยนตร์เรื่อง Precious (2009) ซึ่งคว้าสองรางวัลใหญ่ในงานออสการ์ครั้งที่ 82 ทั้งบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม และนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม
นางเอกของเรื่องมีชื่อว่า ‘พรีเชียส’ เธอเป็นเด็กอายุ 16 ปี ที่มีผิวสีและเจ้าเนื้อ ครอบครัวของเธอยากจนและอาศัยอยู่ในชุมชนเสื่อมโทรมแห่งหนึ่งในมหานครนิวยอร์ก
ครอบครัวไม่ดีทำชีวิตติดลบ
ในวัยเด็กพรีเชียสมักถูกพ่อแม่ทารุณกรรมร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงเสมอ ทั้งแม่ที่ด่าทอต่อว่า ซ้ำยังขว้างปาสิ่งของ ใช้กำลังทำร้ายร่างกายราวกับเธอเป็นเพียงทาสรับใช้ ส่วนพ่อก็ใจร้ายไม่แพ้กัน เพราะเขาทำเรื่องผิดมนุษย์ด้วยการข่มขืนพรีเชียสซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งในความวิปริตนั้น แม่ผู้เห็นเหตุการณ์กลับไม่เคยห้ามปรามสามีตัวเองสักครั้ง
ผลลัพธ์จากการถูกพ่อบังเกิดเกล้าข่มขืน ในที่สุดพรีเชียสในวัย 12 ปี ก็ตั้งครรภ์และคลอดลูกคนแรกที่เป็น ‘ดาวน์ซินโดรม’ แต่ด้วยความไม่พร้อมหลายๆ อย่าง ทำให้ยายของพรีเชียสรับเหลนไปเลี้ยงแทน
“หนูไม่รู้ว่าหนูคลอดลูกคนแรกบนพื้นห้องครัวได้ยังไง ในตอนที่แม่เตะเข้าที่หัวของหนู”
สี่ปีถัดมา พรีเชียสตั้งครรภ์กับพ่ออีกครั้ง คราวนี้โรงเรียนมัธยมทราบข่าวและไล่เธอออกทันที ส่วนแม่ที่น่าจะเข้าใจหัวอกผู้หญิงด้วยกันมากที่สุด กลับเหยียบย่ำซ้ำเติม และแสดงพฤติกรรมที่รุนแรงกับเธอมากขึ้น เพียงเพราะแม่มองว่า ‘พรีเชียสคือคนที่มาแย่งความรักไปจากสามี’ หนำซ้ำในเวลาที่แม่มีความต้องการทางเพศ แม่มักจะใช้พรีเชียสเป็นเครื่องตอบสนองความต้องการนั้น
ในประโยคด่าทอทั้งหมดทั้งมวลที่แม่พ่นใส่หน้าพรีเชียสตลอดทั้งเรื่อง ผมเจ็บปวดมากกับคำพูดของแม่ที่เปรียบเปรยหลานสาวดาวน์ซินโดรมว่าเป็น ‘สัตว์โง่’ และด่าพรีเชียสว่า “แกมันก็แค่นังโง่ที่ไม่ต่างอะไรกับสัตว์โง่ๆ ของแก”
นอกจากนี้ หลายครั้งที่ถูกแม่ด่าทอหรือทำร้ายร่างกาย ผมสังเกตว่าพรีเชียสมักจินตนาการถึงภาพที่ตัวเองเป็นคนดังที่ผู้คนให้การยอมรับชื่นชม หรือไม่ก็วาดฝันถึงแม่ที่เข้าอกเข้าใจและปฏิบัติต่อเธออย่างนุ่มนวล ซึ่งบางคนอาจมองว่าพรีเชียสมีอาการเพี้ยนหรือผิดปกติทางจิต หากผมมองว่าสิ่งนี้เป็น ‘กลไกปกป้องตัวเอง’ เพื่อซ่อนความรู้สึกอันแสนเจ็บปวดจากการกระทำของแม่
ท่ามกลางบาดแผลในใจที่พ่อแม่สร้างไว้ ดูเหมือนว่ามีเพียงสิ่งเดียวที่ทำให้พรีเชียสลืมความทุกข์ได้ชั่วขณะ นั่นคือการอุ้มท้องไปเรียนในโรงเรียนทางเลือก(คล้ายกับกศน.) แม้ว่าแม่จะพยายามบังคับให้เธอลาออกเพียงเพื่อจะได้รับเงินสวัสดิการจากภาครัฐ
“ฉันยังจำวันที่หมออุ้มแกลงบนมือฉันได้เลย แกมันไม่มีอะไรดีสักอย่าง…อยากเรียนสูงๆ น่ะเหรอ? แกมันก็แค่นังโง่…”
ก้าวแห่งการเรียนรู้เพื่อรักตัวเอง
ณ โรงเรียนทางเลือก สิ่งแรกหลังจากก้าวเข้ามาเป็นนักเรียนคือการทำแบบทดสอบวัดระดับ ผมตกใจพอสมควรที่พรีเชียสในวัย 16 ปี อ่านหนังสือไม่ออกจนต้องวงกลมสุ่มเลือกคำตอบ
ผมไม่มั่นใจนักว่าทำไมเธอถึงอ่านหนังสือไม่ออก แต่สิ่งนี้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้พรีเชียสขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง และทุกครั้งที่ต้องสอบ พรีเชียสจะมองว่า ข้อสอบคือสิ่งการันตีว่าเธอนั้นน่าเกลียด อ้วน ดำ และโง่ จนเธอแทบไม่อยากมีชีวิตต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในห้องเรียนเล็กๆ ที่มีนักเรียนทั้งห้องแค่ 6 คน พรีเชียสได้พบกับครูประจำชั้นใจดีที่ชื่อ ‘ครูเรน’ ผู้เปรียบเสมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ครูเรนสอนให้นักเรียนฝึกอ่านฝึกเขียนหนังสืออย่างใจเย็น แม้ว่าพรีเชียสดูจะมีพัฒนาการที่เชื่องช้า แต่ครูเรนก็มักให้กำลังใจพรีเชียสว่า “ทุกการเดินทางอันแสนยาวไกล ล้วนเริ่มต้นด้วยก้าวแรกเสมอ”
แม้ชีวิตในห้องเรียนจะเริ่มต้นอย่างสวยงาม แต่ชีวิตหลังเลิกเรียนของพรีเชียสยังคงหดหู่เพราะนอกจากคำพูดและการลงไม้ลงมือ แม่มักหาเรื่องมากวนใจเธอเสมอ เช่น เวลาหิว แม่จะใช้เธอไปทำกับข้าว แต่พอยกมาเสิรฟ์ แม่กลับบอกว่าไม่อยากกินและบังคับให้พรีเชียสกินอาหารจานนั้นให้หมด โดยไม่แคร์ว่าพรีเชียสยังคงอิ่มจากอาหารมื้อก่อน
“หนูแค่อยากมีทีวีของตัวเอง จะได้เปิดดูในห้องของหนู ถ้าหนูมีทีวีของตัวเอง หนูก็จะได้ไม่ต้องนั่งดูทีวีกับแม่ แม่หนูเหมือนปลาวาฬบนโซฟา แม่บอกว่าหนูกินตลอดเวลาแต่ก็ชอบบังคับให้หนูกินตลอด แล้วแม่ก็ชอบเรียกหนูว่ายัยอ้วน แม่บอกว่าอพาร์ตเม้นต์มันเล็กเพราะหนู”
พรีเชียสยังคงใช้ชีวิตวนลูประหว่างบ้านกับโรงเรียนทางเลือก ทว่าสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปคือพัฒนาการด้านการอ่านการเขียน พรีเชียสเริ่มจดบันทึกเรื่องราวในแต่ละวันได้ดีขึ้น…ถึงขั้นเริ่มแต่งนิทานเด็กได้ด้วยตัวเอง ส่วนในคาบเรียน เธอก็มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนและกล้ายกมือแสดงความเห็นเวลาครูเรนตั้งคำถาม…ต่างกับสมัยเรียนโรงเรียนมัธยมที่พรีเชียสเป็นเพียงเด็กจ๋อยๆ หลังห้องที่ไม่มีใครสนใจ
“ฉันพยายามอย่างหนักเพื่อจะจำเสียงตัวอักษร เขียนลงสมุด และอ่านตัวหนังสือเล็กๆ ในหนังสือเล่มใหญ่ แล้วก็พบว่าทางอำเภอมอบรางวัลการรู้หนังสือให้ฉันพร้อมกับแนบเช็คมาด้วย”
มูฟออนจากอดีตอันมืดมิด
ไม่นาน พรีเชียสก็คลอดลูกคนที่สอง ปรากฏว่าครั้งนี้เธอได้ลูกชายที่แข็งแรงน่ารัก ทั้งครูเรนและเพื่อนๆ เอ็นดูลูกชายของเธออย่างมาก และคอยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาหาพรีเชียสที่โรงพยาบาล สวนทางกับแม่…แม่ที่ต้องทนเห็นหลานที่เกิดจากสามีและลูกสาวเป็นครั้งที่สอง
“แกทำลายชีวิตของฉัน แย่งผัวฉัน แล้วยังมีหน้าคลอดเด็กพวกนี้ออกมา แกทำให้ฉันโดนตัดเงินสวัสดิการ (เพราะพรีเชียสหลุดปากพูดเรื่องความโหดร้ายของแม่กับเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์) เพราะปากอ้วนๆ ของแกที่พูดไม่คิด”
ดังนั้นเมื่อพรีเชียสออกจาโรงพยาบาล แม่จึงอาละวาดโยนหลานลงพื้นและพุ่งเข้ามาตะลุมบอนกับพรีเชียส ทำให้พรีเชียสรีบอุ้มลูกชายวิ่งลงจากอพาร์ตเมนท์ ทว่าแม่ก็คือแม่ เธอพุ่งไปยกโทรทัศน์เครื่องโตจากห้องนั่งเล่น และทุ่มมันลงมาเฉียดหัวพรีเชียสและหลานชายไปอย่างหวุดหวิด ทำให้ผมรู้เลยว่าแท้จริงแล้วแม่คือคนที่ขาดความยับยั้งช่างใจใช้แต่อารมณ์ไม่ต่างจาก ‘สัตว์โง่ๆ’ ที่แม่มักพร่ำด่าพรีเชียสเวลาโมโห
เมื่อหนีออกจากบ้าน ครูเรนจึงเป็นที่พึ่งเดียวของพรีเชียส และช่วยเป็นธุระนำเธอไปฝากไว้กับบ้านของเพื่อนสนิท แต่ก็เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะหลังจากนั้นไม่นานพรีเชียสก็ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ HIV (พ่อเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์)
“พยาบาลบอกว่าหนูมีผลเลือด HIV เป็นบวก หนูต้องหยุดให้นมลูกแล้ว ไม่มีใครรู้หรอกว่าหนูเจออะไรมาบ้าง หนูไม่เคยมีแฟน พ่อบอกว่าจะแต่งงานกับหนู เขาจะทำได้ยังไง มันผิดกฎหมาย หนูท้อเหลือเกิน ไม่มีใครรักหนู ความรักไม่ได้ช่วยอะไรหนูเลย ความรักปราบหนูข่ม ขืนหนู และเรียกหนูว่าเป็นสัตว์ ทำให้หนูรู้สึกไร้ค่า”
สิ่งที่น่าสนใจคือครูเรนรับฟังเธออย่างตั้งใจ ไม่พูดแทรก ทั้งยังหลั่งน้ำตาร่วมกับพรีเชียส ก่อนที่ครูเรนจะปลอบใจพรีเชียสว่าสิ่งเหล่านั้นที่พ่อแม่ทำกับเธอไม่ใช่ความรัก อย่างน้อยเธอยังมีลูกๆ และมีครูเรนที่รักและเป็นห่วงเธอเสมอ
ผมประทับใจฉากนี้มากและมองว่าในเวลาที่เรารู้สึกทุกข์ใจหรืออ่อนแอ สิ่งที่เราต้องการไม่ใช่คำปลอบประโลม แต่เป็นใครสักคนที่นั่งข้างๆ พูดกับเราเพราะๆ และฟังเราระบายความอัดอั้นด้วยความเข้าอกเข้าใจ
หลังจากเหตุการณ์เรื่องแม่และการตรวจเจอ HIV พรีเชียสยังคงตั้งใจใช้ชีวิตและเขียนบันทึกตามที่ครูเรนสั่งต่อไป แต่ครั้งนี้ผมรู้สึกได้ว่าพรีเชียสไม่ได้ท้อแท้สิ้นหวังเหมือนที่ผ่านมา กลับกันเธอกลับมีความฝัน และฝันนั้นก็ทำให้พรีเชียสตั้งใจมีชีวิตอยู่ต่อไป
“หนูทำแบบทดสอบอีกครั้ง หนูได้ 7.8 คะแนน จากที่เคยได้ 2.8 ผลการทดสอบระบุว่าหนูมีทักษะการอ่านในระดับม.2 ม.3 ปีหน้าหนูจะเรียนมัธยม ต่อด้วยมหาวิทยาลัย”
นอกจากผลคะแนนที่บ่งบอกถึงพัฒนาการของพรีเชียสแล้ว ผมมองว่าในที่สุด พรีเชียสก็ได้พบกับภาวะ ‘ความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ’ (Posttraumatic growth) ซึ่งแสดงออกผ่านการที่เธอรู้ซึ้งถึงคุณค่าตัวเองมากขึ้น และเมื่อเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น เธอก็ตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างมีความสุข โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาแม่อีกต่อไป
“สัปดาห์ที่แล้วครูเรนบอกให้ฉันเขียนสิ่งที่อยากเป็นลงไป ฉันเขียนว่าอยากผอม ผิวขาว และผมยาวสวย ครูเรนอ่านแล้วบอกว่าฉันสวยในแบบที่ฉันเป็น แต่บางทีฉันไม่รู้ว่าทำไม ตอนนี้ฉันคิดว่าเธอพูดถูก”
จากเด็กสาวที่ชีวิตพังทลายด้วยเงื้อมมือของพ่อแม่ สู่เด็กสาวที่มีความฝันและความหวังในชีวิต แม้จะเป็นเพียงภาพยนตร์ แต่ในใจผมยังคงรู้สึกขอบคุณครูเรนที่เป็นตัวอย่างที่ดีของการเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าอกเข้าใจ เห็นถึงคุณค่าของเพื่อนมนุษย์ และฉุดมือพรีเชียสขึ้นมาจากขุมนรกอย่างแท้จริง