Skip to content
พัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถาม
  • Creative Learning
    Creative learningLife Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique Teacher
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Character building21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learning
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
พัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถาม

Month: November 2020

ประชาธิปไทป์ กับ วิชา  ‘การเมืองในศิลปะของตัวอักษร’
Everyone can be an Educator
9 November 2020

ประชาธิปไทป์ กับ วิชา ‘การเมืองในศิลปะของตัวอักษร’

เรื่อง ภาพพิมพ์ พิมมะรัตน์ ภาพ ปรารถนา สำราญสุข

  • เมื่อนักออกแบบผู้เชี่ยวชาญศิลปะการใช้ตัวอักษร (Typography) จับมือกับศิลปินกราฟฟิตี้ ที่ถนัดด้านงานลายฉลุ (Stencil) สร้างอาวุธทางศิลปะเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นใหม่เล่าเรื่อง ที่ใครบางคนไม่อยากให้เล่า ในแบบที่สนุกและสร้างสรรค์
  • ชวนฟัง มุมมองของอาจารย์ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์กราฟฟิคดีไซน์ การถือกำเนิดของศาสตร์การออกแบบตัวอักษร ไม่ใช่เพียงแค่ความงาม หรือประโยชน์ทางการใช้สอย แต่ยังสอดแทรกอำนาจ ความเหลื่อมล้ำ และประชาธิปไตย และมุมมองของศิลปินสตรีทอาร์ต ที่เชื่อมั่นว่าศิลปะคือเครื่องมือในการแสดงออกทางความคิดอย่างเสรี และการทำงานในประเทศที่สามารแสดงออกทางการเมืองได้ ในวงเล็บ เมื่อคุณอยู่ถูกข้าง
  • ไม่ใช่แค่ใช้ศิลปะพูดเรื่องประชาธิปไตย แต่ตั้งใจทำ Democratization of tools เพื่อสร้างประชาธิปไตยในการออกแบบสื่อสารด้วย
    ที่ทั้งสองชวนตั้งคำถามกับการเมืองในปัจจุบัน และสร้างฟอนต์เพื่อเป็นอาวุธส่งต่อให้กับคนรุ่นใหม่ ไปสร้างประวัติศาสตร์

หากพูดถึงคำว่า แอร์ แล้วเห็นภาพอ.อ่างที่มีน้ำแข็งเกาะ หากนึกถึงชื่อหนังสยองขวัญแล้วเห็นภาพตัวอักษรที่ยืดย้วยเหมือนเลือดและน้ำหนองไหล หรือพูดถึงความเป็นไทยแล้วเห็นภาพตัวอักษรชดช้อยสีทอง เราคือเพื่อนกัน 

และทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เราใจตรงกัน แต่เป็นศาสตร์การออกแบบตัวอักษร หรือ Typography ที่มีที่มาที่ไปยาวนาน และอำนาจมหาศาลในการสร้างภาพจำและการรับรู้ของคนผ่านการสื่อสารด้วยภาพ (visual communication) 

ในวันที่เยาวชน คนรุ่นใหม่ ลุกขึ้นมาส่งเสียงและสื่อสารถึงอนาคตที่พวกเขาอยากเห็น ตั้งคำถามต่อความบิดเบี้ยวในสังคม และความเชื่อที่ถูกส่งต่อกันมา สองนักออกแบบ คนหนึ่งคือผู้เชี่ยวชาญศิลปะการใช้ตัวอักษร คนที่สอง คือศิลปินกราฟฟิตี้ที่จับเรื่องการเมืองมาชวนคนขบคิดผ่านงานศิลปะแบบสตรีทอาร์ตในนาม Headache Stencil จับมือกันทำเพจ ประชาธิปไทป์ ที่อยากส่งต่อความรู้เรื่องการออกแบบตัวอักษร และการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนสังคม เพื่อส่งต่อเครื่องมือให้ทุกคนได้ส่งเสียงของตัวเอง อย่างเท่าเทียมกัน  

จากที่ชื่นชอบและตามงานของ Headache Stencil อยู่แล้ว แรงดึงดูดและความสนใจเรื่องการบ้านการเมืองก็ทำให้สองศิลปินโคจรมาเจอกันในนิทรรศการหนึ่ง พร้อมจังหวะเวลาที่บ้านเมืองเรียกร้องความเท่าเทียม เป็นฤกษ์ดีให้ทั้งสองตกลงปลงใจลงเรือลำเดียวกัน เพื่อแล่นสู่ดินแดนที่ฟ้าสีทองผ่องอำไพ คราวนี้เมื่อ Typography มาเจอกับศิลปะแบบ Stencil หรือ การออกแบบพ่นสีบนลายฉลุ เพื่อสร้างฟอนต์ที่ส่งเสียงเรียกร้องทางการเมืองและประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่การเมืองในสภาหรือบนถนน แต่ชวนคิดไปถึงประวัติศาสตร์การออกแบบฟอนต์ การเมืองในการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือสื่อสารในโลกสากล  และอำนาจ ความเหลื่อมล้ำ และเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด หากการเมืองคือเกม การต่อสู้ในเกมนี้จะมีศักดิ์ศรีที่สุดเมื่อทุกคนเล่นอยู่บนกติกาเดียวกัน อย่างเท่าเทียม – กติกาที่ชื่อว่าประชาธิปไตย 

*บทสัมภาษณ์ต่อจากนี้ ขอแทนตัวผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งสอง ว่า Type lover และ Headache Stencil 

จุดเริ่มต้นของประชาธิปไทป์

ประชาธิปไทป์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

Type lover: เราพบว่า คนรอบๆ ตัวสนใจการเมืองมากขึ้น เช่น เราไปสอนเด็กมหา’ลัย เราสอนมาหลายปี ให้เด็กดูสารคดีเรื่องเดียวกัน แต่คำถามที่เด็กจับประเด็นมาคุยกันมันกลายเป็นเรื่องที่ใหญ่ขึ้น เป็นเรื่องสังคมมากขึ้น เราก็เลยคิดว่า เอ๊ะ… หรือว่าความเคลื่อนไหวตรงนี้มันจะมา ก็เลยชวน Headache มาทำงานร่วมกัน

เราสนใจกาารเมืองอยู่แล้วแหละ แต่สมาชิกในครอบครัวบางคนมีความเห็นไม่ตรงกัน แล้วเราก็กลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับงานหลักของเราและครอบครัวของเรา ก็เลยคิดว่าถ้าจะทำงานที่พูดเรื่องการเมืองมากขึ้นเราก็ควรจะสร้างตัวตนอะไรใหม่ขึ้นมาสักอัน เลยสร้าง ประชาธิปไทป์ ขึ้นมาไว้ทำงานร่วมกัน และคิดว่านอกจากทำงาน เราทำอะไรอย่างอื่นได้อีก เราเป็นอาจารย์พิเศษ ก็ว่า เอ๊ะ… แล้วพวกความรู้อะไรต่างๆ ที่เรามี ถ้าเรามาเผยแพร่ผ่านทางเพจนี้ด้วย มันก็เป็นที่ส่งต่อความรู้ได้เหมือนกัน เพราะว่าบางเรื่องที่เรารู้สึกว่า เราไม่ได้ตื่นเต้นอะไรแล้ว แต่พอไปคุยกับคนที่ไม่ใช่นักเรียนดีไซน์แล้วเขาตื่นเต้นกัน ก็เลยคิดทำเพจ  หรืออย่างเราไม่สะดวกไปม็อบ เราก็เอาความรู้ความถนัดที่เรามี มาทำเป็นฟอนต์ให้เด็กๆ เขาเอาไปใช้สื่อสาร เราอยากเห็นการสื่อสารที่มันสร้างสรรค์และสวยงาม เพื่อให้เกิดการคุยกัน

Headache Stencil: ช่องโหว่หนึ่งในงานของผมคือเรื่องตัวอักษร ยอมรับเลยว่าไม่ถนัด หากย้อนไปดูผลงานที่ผ่านๆ มา เราจะเน้นไปที่ภาพหรือการเอาสัญลักษณ์ (symbol) มาเรียงต่อกัน พอได้มาทำงานร่วมกับอาจารย์ จึงช่วยปลดล็อค และสร้างสรรค์งานได้มากขึ้น

ปัญหาที่ตลอดมาผมเสี่ยงคุกเสี่ยงตาราง มันไม่ใช่จากตัวงานศิลปะ แต่มันมาจากแคปชัน ถ้าถามว่าทำไมต้องมีแคปชัน? จากที่ทำงานมาผมพบว่าคนไทยยังไม่ถนัดเรื่องการตีความงานศิลปะ ผมถือว่าผมประสบความสำเร็จมากนะในการทำให้คนหาเช้ากินค่ำอย่างคนขับแท็กซี่ คนขับวินมอเตอร์ไซค์มาตามงานของผม เขาได้ฝึกการตีความงานศิลปะ แต่หลายครั้ง จะเห็นว่าผมทำหน้าบุคคลบ่อยมาก คือมันยังต้องมีการผลิต Space Art ตรงๆ ที่คนเห็นแล้วเข้าใจเลย แต่ว่าผมก็จะคอยแทรกตัวศิลปะ เหมือนซ่อนความหมายโดยที่เราไม่ต้องโจมตีหน้าใครตรงๆ ไว้เรื่อยๆ และเรายังมีความต้องการให้คนที่เห็นงานเราเข้าใจสิ่งที่เราต้องการสื่อออกไป แคปชันเลยเป็นเรื่องสำคัญ แต่กลายเป็นพอเราอธิบาย มันดันทำให้เราติดคุก เพราะมันจะผิดกฎหมายจากตัวแคปชัน

การที่เรามี wording ในงานได้เลย อย่างตัวงานอันนี้ที่ทำเดจาวู มันเป็นคำก็จริง แต่ว่ายังเป็นคำที่คุณต้องตีความหมาย ถ้าเป็นภาพเฉยๆ ไม่มีตัวอักษรคนก็อาจจะ ‘อ๋อ มันรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ’ แต่พอมันมีคำว่าเดจาวูเข้ามาปุ๊บ มันต้องตีความหมายต่อว่า  ทำไมเดจาวู เดจาวูคืออะไร แล้วพอรวมกับภาพนี้คืออะไร มีปืนเลเซอร์มันคืออะไร แต่ละคนอาจจะตีความหมายไม่เหมือนกัน แต่มันทำให้เข้าใจ เสพงานพวกนี้ได้มากขึ้น เพราะอย่างผมบางครั้งการตีความออกมาเป็นภาพเฉยๆ ผมเองดูแล้วยังแบบ จะตีความออกหรอ แต่พอมันมีคำหรืออะไรมาเพิ่มทำให้มันสนุกขึ้น เป็นการร่วมงานกันที่ลงตัว และไม่ติดคุกคนเดียวละ (เขาทิ้งท้ายที่เรียกเสียงหัวเราะจากคนทั้งห้อง)

เสียงของตัวอักษร

‘ฟอนต์’ สำคัญอย่างไร

Type lover: ตัวหนังสือ พอเปลี่ยนฟอนต์มันก็เหมือนเปลี่ยนน้ำเสียงที่พูด เช่น เราพูดว่า ‘ผมรักคุณ’ โดยใช้ตัวหนังสือที่หนาๆ ใหญ่ๆ ตันๆ มันก็เหมือนว่าคนพูดที่อาจจะตัวใหญ่หน่อย เสียงดังขึงขังหน่อย ‘ผมรักคุณ’ (เลียนเสียงขึงขัง) ถ้าเกิดว่าผมรักคุณเป็นแบบย้วยๆ ลูกทุ่ง เราก็อาจจะรู้สึกว่าเขาอาจจะเป็นร้อยตำรวจเอกปลอมตัวมา แล้วก็ ‘ผมรักคุณ’ (พูดช้าๆ เสียงเอื้อนๆ) อะไรแบบนี้ พอใช้ฟอนต์เดิมซ้ำไปเรื่อยๆ มันก็เหมือนกับคนจำน้ำเสียงเราได้ พอคนจำได้ สิ่งที่ตามมาคือ การผลิตซ้ำ แล้วบางทีคนจำแบรนด์นั้นได้โดยที่ไม่ต้องเห็นโลโก้ด้วยซ้ำ

แต่มันไม่ใช่แค่แบรนด์ไง เพราะบางทีมันลามไปถึงความเป็นชาติด้วย 

Type lover

อย่างเช่น ตัวอักษร blackletter ที่เป็นเส้น stroke ปากกาหัวตัดหนักๆ ที่มันกำเนิดจากเมื่อก่อนเขาใช้คัดไบเบิล ไปๆ มาๆ กลายเป็นอัตลักษณ์ของเยอรมัน พอนาซีเอาไปใช้ มันก็เลยกลายเป็นภาพจำของความเป็นชาตินิยมสุดโต่งของเยอรมัน และรัฐเผด็จการในสมัยนั้น แต่อีกมุมหนึ่งก็ถูกมาใช้บนฉลากเบียร์ด้วย และด้วยความที่มันดูเยอรมั้นน…เยอรมัน (เล่นเสียง) จนเบียร์ที่ผลิตในประเทศอื่นใช้ตัวอักษรแบบนี้บนฉลากแล้วดูเยอรมันเฉยเลย หรือตัวหนังสือตัวอาลักษณ์ย้วยๆ เอิงเอย คนไทยจะรู้สึกว่า มันสอดคล้องกับภาพของความงามตามขนบราชสำนัก เป็นต้น

ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะตระหนักหรือมีทฤษฎีรองรับหรือไม่ คนมีความเข้าใจร่วมกัน (collective knowledge) ประมาณหนึ่งอยู่แล้ว เช่น ทำไมหนังผีตัวหนังสือต้องย้วยๆ เหลวๆ เหมือนมีหนองไหล หรือพอเป็นแบรนด์เทคโนโลยี เส้นมันต้องเรียบง่ายขึ้น ไม่เอาหัวกลมนะ ไม่งั้นจะดูไม่เร็ว มันคือเรื่องที่คนทำซ้ำๆ ต่อกันมาจนเกิดเป็นขนบก็ได้ ส่วนอะไรที่เป็นของสามัญชน ของชาวบ้าน ถามว่าที่มันดูหยาบ ไม่ประณีตบรรจง ไม่ใช่เพราะว่าชาวบ้านไม่อยากประณีต แต่ชาวบ้านต้องเอาเวลาไปทำมาหากินไง งานวัดๆ วังๆ เจ้าๆ เลยเป็นศูนย์รวมของความประณีตบรรจง ของความงาม ดังนั้น ผมว่ามันก็มาจากโครงสร้างสังคมนั่นแหละ ที่ทำให้ความประณีตบรรจงทั้งหลาย กลายเป็นของไม่ศาสนาก็วัง

ฟังดูมีความเหลื่อมล้ำอยู่ในทุกเรื่องเลย

Type lover: แต่ว่าคุณจะไม่รู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำ ถ้าคุณอยู่ในที่ที่ไม่ลำบาก หรือไม่ก็อยู่ด้วยความศรัทธาโดยที่ไม่ตั้งคำถาม แล้ว empathy มันจะเกิดขึ้นได้ยากมากถ้าไม่ลงมามีประสบการณ์หรือลงมาคลุกคลี

เรามีศิลปะบางรูปแบบที่ได้รับการชื่นชม ยกย่อง มีกลุ่มศิลปินฝั่งขวาที่เขาไปแสดงงานในการชุมนุมเมื่อหลายปีก่อนได้ ผมว่ามันก็กลับไปเรื่องโครงสร้างอำนาจทางสังคมที่ถูกวางแผนและจัดตั้งขึ้นมาหลายสิบปี ถ้าติดตามข่าวในแวดวงศิลปะร่วมสมัยประเทศไทย จะมีดราม่าเกิดขึ้นตลอดเมื่อมีใครสักคนไปแตะประเด็นความเชื่อสาธารณะ เช่น พระอุลตร้าแมน ภาพภิกษุสันดานกา ดังนั้น มันไม่ใช่แค่วิจารณ์รัฐ แม้แต่เรื่องศาสนา ถ้าไปแตะก็จะโดนสังคมต่อต้านทันที ดังนั้น ผมว่าเราอยู่ในประเทศที่งานศิลปะเหมือนจะอนุญาตให้แสดงออกไปได้ทิศทางเดียว แล้วก็มีเพดานที่ค่อนข้างต่ำ” 

มันไม่ใช่แค่เรื่องประชาธิปไตยหรือการเมือง แต่เป็นการไปสู้กับความเชื่อ? 

Type lover: ใช่ สู้กับระบบความเชื่อของสังคม สู้กับความเป็นอำนาจนิยมที่มันคลุมไปหมด

ฟังดูเหมือนเราจะมีอิสระในการคิด แต่จริงๆ มันมีความจำกัดบางอย่างแบบ informal อยู่

Type lover: มันก็ถูกจำกัดมาโดยตลอดแหละ มันเหมือนกับว่าเป็นที่รู้ๆ กันว่าคุณทำงานแบบไหนแล้วคุณจะโชว์ง่าย คุณทำงานแบบไหนคุณถึงจะมีโอกาสได้เป็นศิลปินแห่งชาติ คุณทำงานแบบไหนคนถึงจะแห่กันมาซื้อ

เส้นทางประชาธิปไตยของตัวอักษร

ซึ่งสิ่งที่เพจกำลังทำอยู่ คือสร้างการเรียนรู้เพื่อให้คนเข้าใจว่าการเมืองอยู่ในทุกเรื่อง แม้แต่ตัวอักษร

Type lover: ในประวัติศาสตร์กราฟฟิคดีไซน์ มันจะมีคำว่า Democratization of tools การทำให้เครื่องมือเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หรือการทำให้เครื่องมือเป็นของประชาชนมากขึ้น

เรื่องตัวอักษรก่อนที่จะมีเทคโนโลยีการพิมพ์ก็ต้องคัดลายมือ ลองนึกภาพบาทหลวงคัดไบเบิล นั่งหลังขดหลังแข็งกว่าจะคัดไบเบิลเสร็จเล่มหนึ่ง แต่พอเริ่มมีเทคโนโลยีการพิมพ์ขึ้นมา คนที่สามารถถ่ายทอด (reproduce) ความเชื่อและความรู้ได้ก็ยังไม่ใช่ประชาชนทุกคนอยู่ดี เพราะว่าเมื่อก่อนแท่นพิมพ์ก็ใหญ่โต อยากได้ฟอนต์หนึ่งก็ต้องไปหล่อตะกั่วขึ้นมาเพื่อทำตัวอักษรเอามาเรียงเป็นแม่พิมพ์ อยากมีฟอนต์ไซส์ 12 กับไซส์ 14 คุณก็ต้องซื้อตัวหนังสือแยกชุดกัน ดังนั้น มันเลยยังเป็นเรื่องที่ต้องมีทุน ต้องมีสถานที่ มันไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วไปสามารถทำได้ ผู้ที่สามารถผลิตหนังสือและถ่ายทอดอุดมการณ์ความคิดไปได้กว้างไกล ก็คือศาสนากับรัฐ

ต่อมาเริ่มมีเทคโนโลยีที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงการควบคุมตัวอักษรได้มากขึ้นที่เป็นเทคโนโลยีขั้นเปลี่ยนผ่าน เช่น ตัวขูด ที่สมัยก่อนซื้อมาเป็นแผ่นๆ แล้วก็ถูๆ จากนั้นเป็นยุคคอมพิวเตอร์ เกิด desktop publishing ขึ้นในยุค 80s พร้อมกับที่มีคอมพิวเตอร์ Macintosh แล้วมันแผ่ขยายไป ทำให้คนสามารถเข้าถึงเครื่องมือ เข้าถึงตัวอักษรและผลิตสิ่งพิมพ์หรือเผยแพร่ความรู้ ความคิด เผยแพร่อำนาจรัฐได้กว้างขึ้นเรื่อยๆ Democratization of tools มันเลยมาสุดตรงยุคที่คนสามารถซื้อคอมพิวเตอร์ได้ มีพรินเตอร์เป็นของตัวเอง ตัวหนังสือมาเป็นไฟล์ฟอนต์ ทีนี้ช่วงที่คนทั่วไปยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีการพิมพ์ มันก็กลายเป็นว่า ใครที่มีทรัพยากรและมีอำนาจก็จะเสียงดังกว่า หรือมีโอกาสที่จะผลิตสื่อ ผลิตสิ่งพิมพ์มากกว่า ก็คือศาสนากับรัฐอีกเช่นกัน 

ยกตัวอย่างเช่นเรื่องที่เราต้องจำ กอเอ๋ยกอไก่ ขอไข่ ญอหญิง เคยมีอาจารย์ปิยลักษณ์ เบญจดล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.กรุงเทพ  เขาตั้งคำถามเรื่องภาพที่เราใช้เล่าเรื่องญอผู้หญิง แล้วเขาไปไล่ดูตำราในยุคต่างๆ ภาพผู้หญิงที่อยู่ข้างตัวญอหญิงมันสะท้อนว่า ณ ช่วงนั้น รัฐอยากให้ผู้หญิงในอุดมคติเป็นยังไง

เช่น ภาพผู้หญิงใส่ชุดไทยร้อยมาลัย พอบางยุคบทบาทครอบครัวถูกรัฐปลูกฝังว่าผู้ชายต้องออกไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ผู้หญิงก็จะเป็นภาพส่งสามีออกไปทำงาน หรือพอเริ่มมีตำราที่ใช้ในภาคใต้ ญอหญิงโสภาในตำราภาคใต้ก็อาจแต่งตัวแบบชุดมุสลิม

สิทธิ เสรีภาพ ของนักสร้างภาพศิลปะ

เสรีภาพในการแสดงออกด้วยศิลปะในไทยเป็นอย่างไร ความเสี่ยงในการติดคุกหรือการโดนจับเพราะแสดงความคิดเห็น มันขนาดไหน 

Headache Stencil: เราถูกกดดันด้วยวิถีทางกฎหมายก่อน เขาหาให้ผิดได้อะ สุดท้ายมันอาจจะไปโดนในแง่หมิ่นประมาท ซึ่งหมิ่นหรือเปล่าไม่รู้ เขาฟ้องไปก่อน แล้วการฟ้องหมิ่นประมาท คนระดับนั้นค่าศาลมันไม่ได้เดือดร้อนเขา แต่การที่เราไปขึ้นศาลมันมีค่าใช้จ่าย

Type lover เพื่อนร่วมทีมเสริม: เป็นการฟ้องเพื่อก่อกวน

Headache Stencil: ใช่ กวนเพื่อให้หมดกำลังใจ แต่อย่างเราทำงานทุกครั้ง อย่างน้อยพอเรารู้ว่ามันจะเสี่ยงมาก เราจะโทรคุยกับทนายก่อนละ ว่ายังไงเราถึงจะรอด  หรือถ้าโดนให้โดนน้อยที่สุด 

วิธีกดดันมันมาหลายรูปแบบ พอใช้กฎหมายสร้างความกลัวไม่ได้ ก็ใช้วิธีนอกกฎหมาย เช่น คุณอยู่บ้านแล้วเดินเข้าออกบ้านตอนดึกๆ บ่อยๆ แล้วอยู่ดีๆ วันหนึ่งคุณมาเจอคนแปลกหน้าเดินผ่านแล้วมองคุณทุกวันๆ ต่อให้เขาไม่ทำอะไรเลย คุณก็หลอนแล้ว คุณก็ไม่มีความสุขในการจะอยู่แล้ว ผมเจอสภาวะนั้นบ่อยมาก บ่อยจนชินแล้ว คราวนี้พอพ้นระดับนั้นมาแล้ว ล่าสุดที่ผมเจอคือผมกำลังจะทำงาน Exhibition ที่จะเป็นทัวร์หลายๆ จังหวัด แล้วผมปล่อยโปสเตอร์ตัวแรกซึ่งมีรายชื่อของศิลปินทั้งหมดอยู่ หนึ่งในศิลปินที่มีรายชื่ออยู่ในโปสเตอร์นั้น เหมือนเขาได้รับงานของหน่วยงานรัฐ เขาถูกแคนเซิลงานกับหน่วยงานรัฐ ด้วยเหตุผลที่ว่า ร่วมงานกับ Headache Stencil ต่อไปเวลาเราจะชวนใคร หรือไปร่วมงานกับใคร มันก็ยากขึ้น

ในต่างประเทศ ทั่วโลก ศิลปะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่คนใช้เพื่อเรียกร้อง หรือเพื่อขับเคลื่อนประเด็นในสังคม แต่ทำไมในไทยมันกลายเป็นเรื่องที่ต้องเอาชีวิตไปเสี่ยงขนาดนี้

Headache Stencil: ผมว่ามันเป็นภาพลวงตาที่ถูกสร้างขึ้นในยุคนี้มากกว่า ไม่ใช่แค่ตัวงานศิลปะ มันรวมถึงหนัง ศิลปะทุกแขนงที่พยายามจะสื่อสารเรื่องการเมือง มันเหมือนมีภาพลวงตาที่มาครอบ แล้วบอกเราว่า คุณทำแบบนี้ไม่ได้ ทั้งๆ ที่ในขั้นตอนการเริ่มต้นที่คุณศึกษาศิลปะ ศิลปะคือความอิสระ

ภาพลวงตาได้ถูกสร้างขึ้นหลังการปฏิวัติเป็นต้นมา มันเพิ่มกลุ่มคนที่เราไม่สามารถแตะต้องได้ในแง่ใดๆ ทั้งสิ้นเลย ไม่ว่าจะทางสังคมหรือว่าทางกฎหมาย เพราะอย่างที่เห็นว่าหลายเรื่องที่เรารู้สึกว่า เฮ้ย.. มันไม่ใช่ป้ะวะ แล้วก็มีคนพยายามไปฟ้องร้องหรือทำอะไรสักอย่าง สุดท้ายก็ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ ทั้งสิ้นพอยิ่งเห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น มันยิ่งบีบให้คนเหลืออยู่แค่กล้ากับไม่กล้า ซึ่งฟังดูมันเหมือน 50-50% แต่จริงๆ ไม่ใช่ คนที่กล้าจริงๆ มีอยู่แค่ 20% ที่พร้อมจะอยู่ในจุดที่นายจ้างเลิกจ้าง เพราะเรามีความคิดเห็นทางการเมือง แล้วจะไม่รู้สึกอะไร ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องเป็นคนรวยหรืออะไรเลย มันอยู่แค่ใจว่า เรายังยืนยันในสิ่งที่เราคิดหรือสิ่งที่เราทำว่ามันถูกต้องหรือเปล่า หรือมันอาจจะไม่ถูกก็ได้นะ แต่เราควรจะมีอิสระในการคิดและพูดหรือเปล่า เพราะถ้าเกิดเรากลัวในการที่จะพูดหรือแสดงออก มันเท่ากับเราเป็นคนยืนยันด้วยตัวเราเองนะว่า เราไม่ได้มีสิทธิในการคิดหรือแสดงออกอย่างอิสระ เรายืนยันกับระบบสังคมเองว่า ประเทศนี้ไม่ได้มีอิสระในการคิดและการแสดงออก 

แล้วคนที่สร้างภาพลวงตานี้ก็คือสื่อสารมวลชนนะ ที่ทำให้การแสดงออกของศิลปินกลายเป็นสิ่งต้องห้ามมากขึ้นเรื่อยๆ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของโลกที่ศิลปะถูกการเมืองปิดกั้น มันมีมาตั้งแต่ฝั่งยุโรปสมัยโบราณ ที่ไล่ล่าศิลปินหาว่าเป็นแม่มด มันเกิดขึ้นและผ่านไปนานมากแล้ว แต่สิ่งนี้กลับกำลังวนกลับมาเกิดในประเทศของเรา

Type lover: สิ่งที่ทางผู้ถืออำนาจประสบความสำเร็จที่สุดคือ การทำให้เกิดการเซนเซอร์ตัวเองโดยอัตโนมัติของคนที่เป็นประชาชนทั่วๆ ไป ทีนี้ระดับความกล้า ระดับความเสี่ยงที่แต่ละคนจะรับได้มันก็แตกต่างกันไป แต่ว่าท้ายที่สุดแล้ว การเซนเซอร์ตัวเองโดยอัตโนมัติมันกำลังเกิดขึ้น

เราเคยมีงานแสดงเมื่อ 2 ปีก่อน มีการออกข่าว แล้วในกลุ่มไลน์เพื่อนสมัยเรียน มีคนทักมา “เฮ้ย.. มีทหารไปเยี่ยมบ้านยัง” มันทำให้เรารู้สึกว่าทางผู้ถืออำนาจรัฐเขาประสบความสำเร็จมากในการที่ทำให้คนรอบๆ ตัวเรามีวิธีคิดแบบนี้ คือต่อให้เรารู้สึกว่า เราโอเค งานจบไปละ มันทำให้สังคมรู้สึกว่า ทุกคนควรเซนเซอร์ตัวเอง และถ้าคนใกล้ตัวคุณเขาทำอะไรก็ช่วยไปเซนเซอร์เพื่อนคุณด้วย ซึ่งไม่ว่าจะด้วยความกลัวหรือความเป็นห่วง ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเขาถามทีเล่นทีจริง แต่อะไรแบบนี้มันไม่ควรเกิดขึ้นไง

การสื่อสารคืออาวุธของทุกคน

นอกจากเรื่องการออกแบบตัวอักษรและศิลปะ อีกเรื่องที่เพจอยากสื่อสารคือพลังของการใช้สื่อ และการออกแบบสารในสื่อสาธารณะ ช่วยขยายความให้ฟังหน่อย

Type lover: ‘Weapons of Mass Communication’ เป็นคำที่ชอบมาก เพราะเป็นชื่อของหนังสือเล่มหนึ่งที่รวมคอลเลกชันพวกโปสเตอร์สงคราม เวลาเราศึกษาประวัติศาสตร์กราฟิก เราเจอว่า Visual Communication ของรัฐที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จมันเข้มแข็งมาก คุณลองไปดูโปสเตอร์สังคมนิยมจีน รัสเซีย อิตาลี หรือแม้แต่ดีไซน์ของนาซี ทุกอย่างมันเข้มแข็ง ทรงพลัง เห็นแล้วภูมิใจ เห็นแล้วรู้สึกว่าถ้าเราเป็นกลุ่มเป้าหมาย เราก็คงเห็นดีเห็นงามไปกับเขา แล้วทีนี้ปรากฏว่า ในประเทศไทย ‘Weapons of Mass Communication’ ของไทยที่ประสบความสำเร็จที่สุดคือ อะไรที่ทำขึ้นมาเพื่อสถาบัน เราก็จะรู้สึกว่า ทองๆ เรืองๆ ประณีตๆ แข็งแกร่ง น่าภูมิใจ น่าศรัทธา 

คำว่า ‘Weapons of Mass Communication’ มันคือสิ่งที่ตรงไปตรงมามากเลย เพราะว่าสุดท้ายการปลูกฝังความเชื่อเหล่านี้ทำให้ประชาชนหันมาฆ่ากันเองได้จริง มันทำให้คนไทยเกลียดกลัวคนที่เป็นคอมมิวนิสต์ได้โดยที่อาจจะไม่ค่อยเข้าใจว่าคอมมิวนิสต์คืออะไรด้วยซ้ำ มันทำให้คนเยอรมันที่เห็นด้วยกับนาซีพร้อมใจจะฆ่าชาวยิวได้ มันทำให้ประชาชนในประเทศจีนฆ่ากันเองได้ เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องอันตรายมาก แต่ขณะเดียวกันก็สวยงามเหลือเกิน เวลาเห็นโปสเตอร์สงครามสวยๆ เท่ๆ เรามองแล้วเรารู้สึกว่ามันสวย มันเท่ ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า เราออกจากบริบททางสังคมตรงนั้นมาแล้ว ดังนั้น ถ้าเราจะช่วยในการต่อสู้ของเยาวชนหรือใครก็ตามในช่วงนี้ เราไม่สะดวกที่จะไปม็อบ เราช่วยอะไรเขาได้บ้าง ซึ่งตอนนี้เราเห็นว่า คนรุ่นใหม่ ฉลาดในการใช้ Visual Communication และสัญลักษณ์ต่างๆ ทำมีมกันเร็วมาก ทำหมุดคณะราษฎรกันทั้งเร็ว ทั้งเยอะ ทั้งตั้งใจและทุ่มเท เราเลย เอ๊ะ.. ถ้าเราเพิ่ม design element เราค่อยๆ ทำฟอนต์ออกมาเรื่อยๆ แล้วมีคนเอาไปทำงานสวยๆ งานดีๆ ที่มันอิมแพ็คต่อใครๆ ต่อไป ขยายภาพจำการส่งต่อเจตนาต่างๆ ไปใน form ของฟอนต์ที่เราทำ มันก็น่าจะเป็นการส่งต่ออาวุธที่ดีเหมือนกัน 

ผลงานจากเพจประชาธิปไทป์ ฟอนท์ทางม้าลาย

Headache Stencil: ผมว่ามันไม่ใช่แค่งาน Graffiti อย่างเดียว อาจเป็นงานของ Fine Art หรือว่ากราฟิกก็ได้ คือศิลปะมันมีข้อได้เปรียบในการเอาผิดทางกฎหมายอยู่ อย่างภาพ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ผมทำแล้วเอามงกุฎไปครอบไว้ตรงกลาง มันขึ้นกับการตีความจริงๆ ถ้าผมไม่เขียนแคปชันอธิบายนะ คราวนี้ต่อให้ภาพมันแรงแค่ไหน หรือจะถูกตีความไปให้แรงได้แค่ไหน เราแก้ต่างให้มันเป็นอีกอย่างหนึ่งได้ มันไม่ได้เหมือนกับการพูดหรือการเขียนหนังสือ ผมคิดว่านี่ยังเป็นข้อได้เปรียบของการใช้ศิลปะอยู่ แต่บริบทจากสังคม ณ ตอนนี้ Street Art หรือ Graffiti น่าจะเป็นอุปกรณ์ในการสืบสานและส่งออกเมสเสจทางการเมืองด้วยศิลปะได้ง่ายที่สุด เพราะว่ามันใช้พื้นที่อิสระมาก เราอยากไปพ่นตรงไหน โอเคมันจะมีพื้นที่ที่ผิดกฎหมายและไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งมันแล้วแต่ศิลปินคนไหนจะเลือกใช้พื้นที่แบบไหน แต่ว่าสำหรับผมมันค่อนข้างเป็นพื้นที่ที่อิสระมากที่สุด ณ ตอนนี้ อิสระมากกว่าการ์ตูนในหนังสือพิมพ์อีก

สำหรับผมแล้ว ศิลปะตอนนี้น่าจะเป็นวิธีแสดงออกทางการเมืองที่ไม่ได้เรียกว่าสวยงามที่สุด แต่เป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดในการสื่อสารออกมาว่าเราคิดเห็นทางการเมืองยังไง

ฟอนต์ ที่เป็นของประชาชน

ฟอนต์ ‘ทางม้าลาย’ กับ ‘หัวหาย’ ที่ปล่อยให้โหลดตอนนี้ มีที่มาอย่างไร

Type lover: เราอยากสร้างเครื่องมือที่ใครๆ อยากเอามาใช้ก็ใช้ได้ ส่วนหนึ่งก็คือ เราไม่เห็นด้วยกับดีไซเนอร์บางคนที่ห้ามผู้มีความเห็นทางการเมืองตรงข้ามกับเขานำฟอนท์ของเขาไปใช้ เราว่ามันเป็นเรื่องไม่เป็นเรื่อง เมื่อไรก็ตามที่คุณผลิตฟอนต์ออกมา เหมือนกับคุณผลิตก้อนอิฐออกมา แล้วคนเขาจะเอาไปก่อสร้างเป็นบ้านแบบไหนมันก็เรื่องของเขา เขาจะเอาไปสร้างโรงเรียน หรือสร้างฐานทัพ หรือสร้างแหล่งซ่องสุม มันก็เรื่องของเขา

สองฟอนต์แรกที่กำลังทำออกมา ฟอนต์ทางม้าลายมันต่อยอดจากงานที่พ่นบนพื้น เราก็ออกแบบมาให้มันพ่นง่ายส่วนฟอนต์หัวหายมันก็เกิดจากมีคนเคยทำภาพ”ประชาชน”ที่ไม่มีหัวอยู่แล้ว แล้วเรารู้สึกว่ามันกระทบใจ ตอนที่ สว. เขาไม่เอาการแก้รัฐธรรมนูญ คำว่าไม่เห็นหัวประชาชน เราก็เลยทำให้เป็นฟอนต์ คุณจะพิมพ์ว่า นักเรียน นักศึกษา เยาวชน ผู้เสียภาษี ผู้มีรายได้น้อย คนจน คนพิการ อะไรทั้งหลายที่ถูกรัฐไม่เห็นหัวก็ใช้ฟอนต์นี้ได้หมด เราอยากสร้างเครื่องมือทางการสื่อสารที่มันเข้าถึงได้ 

ตัวอักษรพูดเรื่องการเมืองได้อย่างไรบ้าง 

Type lover: ผมศึกษาว่า โปรเจกต์เกี่ยวกับ Typography ที่พูดเรื่องการเมืองในต่างประเทศมันมีอะไรน่าสนใจบ้าง ก็มีดีไซเนอร์ที่ทำฟอนต์สำหรับการประท้วง ฟอนต์ที่พ่นง่าย หรือฟอนต์ที่ใส่คำสั่งไว้ว่าพอเราพิมพ์เรียงเป็นคำที่ต้องห้ามโดยรัฐปุ๊บ มันจะกลายเป็นแถบก้อนๆ มาบัง มันมีคนต่างชาติที่เขาใส่เทคโนโลยีล้ำๆ เข้าไปในฟอนต์เยอะมาก หรือว่ามีภาษาของชนกลุ่มน้อยที่กำลังจะสูญหายไป ก็มีคนทำฟอนต์ของมันขึ้นมา เพื่อที่หากคนในชนเผ่านี้หายไปแล้ว อย่างน้อยมีซอฟต์แวร์นี้เพื่อสามารถจะพิมพ์ภาษานี้ต่อไปได้ คือเรารู้สึกว่า มัน fascinating มากที่เห็นเจตนาแบบนี้ หรือว่าฟอนต์ที่ครึ่งบนเป็นอังกฤษ ครึ่งล่างเป็นอีกภาษา พอพิมพ์ไปพร้อมกันปุ๊บ คนที่ถนัดอ่านภาษาหนึ่งก็มองข้างบนแล้วยังรับรู้ได้ คนอีกกลุ่มก็มองข้างล่างแล้วรับรู้ได้ เฮ้ย.. มันมีอะไรให้ทำเยอะแยะเลย นอกจากตัวอักษรที่ เฮ้ย.. สวยดี เอาไปใช้เหอะ แต่ว่าตอนนี้เรายังไม่รู้ว่าปลายทางเราจะได้ทำอะไรแบบนั้นหรือเปล่า เราก็เลยลองเริ่มจากอะไรอย่างนี้ก่อน

ตัวอักษรเดินทางจากของที่มีต้นทุนสูง มาสู่สิ่งที่ใครๆ ก็ใช้ได้  เช่นเดียวกับสตรีทอาร์ทตอนนี้ที่เดินทางจาก High Art Fine arts ลงมาถึงมือใครก็ทำได้ นี่จึงเป็นเหมือนส่วนผสมสองอย่างที่มาเจอกันถูกที่ถูกเวลา เป็นอาวุธในการสื่อสารแห่งปัจจุบัน เราถือวิสาสะสรุปบทสนทนาในวันนี้

Headache stencil: จะสรุปแบบนี้ก็ได้นะ ถ้าเป็นในบริบทต่างประเทศที่เขาสามารถสื่อสารผ่านสตรีทอาร์ตได้ แต่ถ้าในไทย มันยังมีข้อจำกัดทางความคิด ไม่มีศิลปินกล้าออกมาใช้สื่อสาร เพราะทุกคนยังต้องทำงานหาเงิน สภาวะตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องของความอยุติธรรมที่ชัดเจน การเมืองมันเป็นเรื่องที่มีฝั่งซ้ายฝั่งขวาชัดเจน เราไปบังคับให้คนซ้ายมาชอบขวา คนขวามาชอบซ้ายไม่ได้ เเล้วแบรนด์เขาก็มีลูกกค้าทั้งสองฝั่ง เพราะฉะนั้น เขาก็จะเลือกไม่แสดงออกทางการเมือง ซึ่งก็คลุมไปถึงการเลือกศิลปินมาร่วมงานด้วย ซึ่งก็ยิ่งเป็นโจทย์ให้ศิลปินไม่สามารถแสดงออกทางการเมืองได้ เพราะมันคืออาชีพของเขา การแสดงออกของคุณครั้งเดียวมันอาจจะตัดสินอนาคตของคุณต่อจากนี้ไปเลย

Type lover: เราอยากเห็นภาพที่ทั้งสองฝ่ายสู้กันบนโลกโซเชียลด้วย visual ที่มันสร้างสรรค์ น่ารักๆ แต่ก่อนมันมีการ์ตูนการเมือง หรือภาพวาดที่มันรุนแรง หรือการเชียร์ตัวเองที่มันสร้างความเป็นฮีโร่มากๆ แต่เรามองว่าเดี๋ยวนี้มันสื่อสารแบบน่ารักๆ ซอฟท์ขึ้นได้ approachable  ให้ข้อความมันไม่ใช่การโจมตี แต่เป็นการชวนคิด กระตุกให้ได้คิด

สุดท้าย ไม่ว่าเราจะเห็นต่างกันแค่ไหน เรายังต้องอยู่ในสังคมเดียวกันต่อไป ถ้าเราไม่เห็นด้วย เราอยากโต้แย้ง เราต้องต่อต้านโดยไม่มีเจตนาที่ไปเหยียบอีกฝั่งหนึ่งให้ตาย หรือขับไล่ออกนอกประเทศ แต่เปลี่ยนเป็นการจะพูดอย่างไรให้ฉุกคิด และเกิดการสนทนากันเกิดขึ้น

ติดตามผลงานและโหลดฟอนต์ฟรี ได้ที่ Facebook Page Prachathipatype

Tags:

ประชาธิปไตยศิลปะประวัติศาสตร์การถ่ายภาพHeadache Stencilประชาธิปไทป์Typography

Author:

illustrator

ภาพพิมพ์ พิมมะรัตน์

เพิ่งค้นพบว่าเป็นคนชอบแมวแบบที่ชอบคนที่ชอบแมวมากกว่าชอบแมว (เอ๊ะ) มีความฝันว่าอยากเป็นแมวที่ได้อยู่ใกล้ๆคนที่ชอบ (จริงๆ ก็แค่อยากมีมนุดเป็นทาสและนอนทั้งวันได้แบบไม่รู้สึกผิดน่ะแหละ)

Photographer:

illustrator

ปรารถนา สำราญสุข

อดีตเจ้าหน้าที่โครงการพัฒนา สนใจเรื่อง ผู้คน วัฒนธรรม ชนพื้นเมือง การพัฒนาชนบทและพื้นที่ชายแดน ปัจจุบันเรียนมานุษยวิทยา เพื่อกลับไปเป็นนักพัฒนาที่เข้าใจผู้คนมากกว่าเดิม

Related Posts

  • Life classroom
    เดินตามฝันในวันที่ครอบครัวอาจไม่เข้าใจ ทางยูเทิร์นของเด็กวิทย์สู่อาร์ตทอยดีไซเนอร์ : ศิรินญา ปึงสุวรรณ (Poriin)

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • Unique Teacher
    การศึกษาคือการปลดปล่อย ไม่ใช่การกดขี่ : ‘ครูทิว’ ครูคูลที่ออกไปเคียงข้างนักเรียนเพื่อสุดท้ายกลับมาเคียงข้างครู

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Voice of New Gen
    SOTUS Object มีวันนี้เพราะพี่ให้ นิทรรศการแสดง ‘หลักฐาน’ รับน้อง ที่ต้องการยืนยันว่าการละเมิดมีจริงและไม่ควรถูกทำให้หายไป

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา ภาพ ศรุตยา ทองขะโชค

  • Learning Theory
    The 5th space: พื้นที่ที่ 5 ที่คนรุ่นใหม่สร้างการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทำให้รู้ว่า “ฉันเป็นใคร มีศักยภาพอะไร”

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ มานิตา บุญยงค์

  • Learning Theory
    วิจารณ์ พานิช: ใช้ศิลปะและการเล่นกีฬากระตุ้นการเจริญงอกงามของสมองเด็ก

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ บัว คำดี

สัญญารัก สัญญาณลืม
Relationship
9 November 2020

สัญญารัก สัญญาณลืม

เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • เวลาที่เรามีความสุขกับความสัมพันธ์ เราก็อยากทำอะไรให้อีกฝ่ายพอใจ เพื่อให้ชีวิตรักดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก แต่ถ้าสิ่งที่เราอยากจะทำให้ ณ ตอนนี้ยังไม่สามารถทำได้ การ ‘สัญญา’ ถือเป็นทางเลือกหนึ่ง เพื่อให้เขามั่นใจว่าเราจะทำให้แน่นอน
  • แม้การสัญญาจะเกิดเพราะอยากให้ชีวิตรักมั่นคง แต่ถ้าเราผิดสัญญาก็อาจกลายเป็นตัวทำลายความสัมพันธ์ได้เช่นกัน ซึ่งหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เราผิดสัญญา เพราะคนเรามักจะให้สัญญากับคู่รักไปง่ายๆ โดยไม่ได้คิดอะไรมาก
  • แล้วการที่คนๆ หนึ่งจะรักษาสัญญาหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพลังรักเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพ ‘conscientiousness’ หรือ การมีจิตสำนึกในหน้าที่ ถ้าใครมีบุคลิกภาพในด้านนี้สูงก็จะเป็นคนมีระเบียบวินัย ควบคุมตนเองได้ดี ถ้ามีต่ำก็จะเป็นคนไม่มีระเบียบ ไม่ทำตามแผน ควบคุมตนเองได้แย่

ไม่ว่าใครก็อยากจะให้สิ่งดีๆ แก่คู่รักจริงไหมครับ ทั้งของขวัญที่เป็นรูปธรรมอย่างดอกไม้สักดอก หรือการกระทำอย่างการพูดชมข้อดีของอีกฝ่าย การแสดงความใกล้ชิดอบอุ่น เรื่องพวกนี้ส่วนใหญ่แล้วถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็ทำไปเถอะครับ คนรักนั้นบางครั้งก็ต้องเติมความหวานให้กันบ้าง

อย่างไรก็ตามของที่อยากให้ บางครั้งก็ไม่ได้แปลว่าจะให้ได้ในตอนนี้ เพราะมันยังไม่มี มันยังไม่พร้อม หลายคนก็เลยใช้วิธีให้สิ่งดีๆ ในอนาคตด้วยการ ‘สัญญา’ ว่าจะให้แทน หากคนรักอยากได้ของแพงๆ ใจเราก็อยากให้แต่เงินมันยังไม่มี เราก็สัญญาว่าเดี๋ยวโบนัสออกจะซื้อให้ หรืออาจจะสัญญาเป็นการกระทำให้คนรักรู้สึกดี เช่น ถ้าเรามีลูกด้วยกันเมื่อไร ฉันจะเลิกบุหรี่ สัญญาเลยเหมือนของขวัญที่รอรับอีกทีในอนาคต แต่ถึงจะยังไม่ได้รับ แต่มันก็สร้างความชื่นใจว่าคนรักก็คิดจะให้อะไรดีๆ กับเรา และมนุษย์เราชอบฝันหวานถึงอนาคตอยู่แล้ว

ฟังดูแล้วสัญญาก็เป็นของขวัญที่ดีใช่ไหมครับ แต่บทความนี้ผมอยากให้ท่านมาลองพิจารณากันก่อนทุกครั้งที่ให้สัญญากับคนรัก เพราะการวิจัยกลับพบว่าการสัญญามักจะส่งผลเสียกับความสัมพันธ์ เพราะธรรมชาติของคนเราเมื่อสัญญาว่าจะทำสิ่งดีๆ กับคู่รักแล้ว มักจะมีโอกาสผิดสัญญาสูงกว่าทำตามสัญญา เอ้า… ทำไมถึงกลายเป็นแบบนั้นไปล่ะ ทุกคนอาจจะเคยได้ยินว่า “อย่ากลับคืนคำ เมื่อเธอย้ำสัญญา” (ถ้าอ่านแล้วเป็นเพลงแสดงว่าเราวัยเดียวกัน) ทุกคนรู้ดีว่าการผิดสัญญาเป็นเรื่องที่ผิดจริยธรรม แต่ในความเป็นจริงการผิดสัญญาในคู่รักนั้นกลับเป็นสิ่งที่ยังเกิดขึ้นเป็นปกติ แล้วเป็นเพราะอะไรกัน…

ต้นเหตุของการที่สัญญาแล้วทำไม่ได้นั้นมาจากหลายอย่าง แต่แรกสุดที่ทำให้เกิดปัญหาคือ คนเรามักจะให้สัญญากับคู่รักไปง่ายๆ โดยไม่ได้คิดอะไรมาก จากงานวิจัยพบว่า พอคนเรามีความสุขและพอใจกับความสัมพันธ์ในปัจจุบัน ก็มักจะพยายามทำอะไรให้อีกฝ่ายพอใจ เพื่อให้รู้ว่าตนมีส่วนร่วมในการทำให้ชีวิตรักนั้นดีขึ้น และแน่นอนว่าถ้าเรามีสิ่งที่เราอยากให้อยู่แล้ว หรือเราสามารถทำสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการได้ ณ ตอนนั้น เราคงให้หรือทำไปแล้ว 

หลายๆ ท่านคงเคยเจอกับตัวเองว่าช่วงที่ยังรักกันดีๆ นั้น เราอยากจะทำหรืออยากจะให้อะไรกับคู่รักอยู่เรื่อย กลายเป็นพ่อ/แม่บุญทุ่ม จะแพงแค่ไหนหรือจะยากอย่างไร หากทำให้ยาหยียิ้มได้ พี่/น้องก็จะหามาให้ แต่ในหลายๆ ครั้งเรายังไม่มีสิ่งที่จะให้ แต่เราอยากทำอะไรดีๆ ให้นี่นา เราเลยให้คำสัญญาเอาไว้แทนของขวัญก่อน

แต่ปัญหามันเกิดขึ้นหลังจากนั้น ลองคิดดูนะครับว่า หากเราไม่มีในตอนนี้ แล้วเราจะมีสิ่งนั้นในอนาคตแน่นอนหรือ? หรือเรื่องที่เราทำไม่ได้ตอนนี้ เราจะทำมันได้ในอนาคตจริงๆ หรือ? ตอนเราให้สัญญานั้นด้วยแรงผลักดันของความรักเลยให้ไปง่ายๆ แต่คนเรามักจะไม่ได้คิดถึงว่าคราวที่ต้องทำตามสัญญา เราจะทำได้จริงๆ หรือไม่ แถมงานวิจัยพบว่าคนเราตอนที่ให้สัญญา เรามักจะมองถึงความสามารถของตนเองสูงกว่าความเป็นจริง ตอนที่พูดตัวเองคิดว่าทำได้ แต่พอเอาเข้าใจจริงแล้วกลับทำไม่ได้ เลยต้องจนใจผิดสัญญาไปทั้งแบบนั้น

นอกจากนี้ การจะทำตามสัญญากับคู่รักหรือไม่นั้น เจตนารวมถึงแรงจูงใจที่อยากจะทำสิ่งดีๆ ให้กับอีกฝ่ายมีอิทธิพลน้อยกว่า หากเทียบกับผลของ “บุคลิกภาพ” ของแต่ละคนที่มีอิทธิพลต่อการทำตามสัญญา บุคลิกภาพที่ว่านั้นหมายถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลในการมีพฤติกรรมตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ และเปลี่ยนแปลงได้ยาก บุคลิกภาพมีหลายด้าน เช่น ท่านอาจจะเคยได้ยินคำว่า ‘เป็นคน introvert (อินโทรเวิร์ท)’ ที่ไม่ชอบเจอสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ชอบทำกิจกรรมเงียบๆ ในการเติมพลังให้ตนเอง ไม่ชอบเสียงดัง ไม่ชอบคนเยอะ การเป็นอินโทรเวิร์ทหรือไม่ก็คือบุคลิกภาพด้านหนึ่งครับ

ส่วนบุคลิกภาพที่มีผลกับเรื่องการทำตามสัญญาหรือไม่นั้น มีชื่อว่า ‘conscientiousness’ ชื่อไทยก็ยาวไม่แพ้ชื่ออังกฤษคือ ‘การมีจิตสำนึกในหน้าที่’ ถ้ามีบุคลิกภาพในด้านนี้สูงก็จะเป็นคนมีระเบียบวินัย ควบคุมตนเองได้ดี ถ้ามีต่ำก็จะเป็นคนไม่มีระเบียบ ไม่ทำตามแผน ควบคุมตนเองได้แย่ สิ่งนี้ส่งผลต่อการจะทำตามสัญญามากกว่า ‘พลังใจ’ เรียกได้ว่าต่อให้สัญญานั้นมาจากแรงใจ หรือด้วยความปรารถนาหรือเจตนาดีขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้าเป็นคนที่ควบคุมตนเองให้ทำตามแผนเพื่อทำหรือหาสิ่งที่ไม่มีตอนนี้ให้มีในอนาคตไม่ได้ ก็ผิดสัญญาอยู่ดี พูดง่ายๆ คือ ‘พลังจากรักแท้ แพ้นิสัยตนเอง’

ทฤษฎีของบุคลิกภาพในปัจจุบันมองว่าได้รับผลจากทั้งพันธุกรรม (ปัจจัยภายใน) และ การเลี้ยงดูกับการเรียนรู้ (ปัจจัยภายนอก) และปฏิสัมพันธ์หรือผลที่เกิดร่วมกันจากทั้งสองอย่าง (ภายใน x ภายนอก) ปัจจัยด้านพันธุกรรมนั้นเราเปลี่ยนไม่ได้อยู่แล้ว ส่วนปัจจัยภายนอก เราก็ค่อยๆ สั่งสมมาทั้งชีวิตและใช้เวลาหล่อหลอมบุคลิกภาพของเราขึ้นมา ดังนั้นการเปลี่ยนบุคลิกภาพจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ การที่จะเป็นคนมีบุคลิกภาพด้าน conscientiousness ต่ำอยู่ๆ จะให้เปลี่ยนไปสูงในทันทีทันใดคงไม่ได้ ดังนั้นคนที่มีบุคลิกแบบนี้พอสัญญาอะไรไปโดยตั้งใจ แต่สุดท้ายความตั้งใจแพ้บุคลิก ทำไม่ได้แม้จะอยากทำ ตัวอย่างที่ท่านอาจจะเคยเห็นจากคนรอบๆ ตัว เช่น สัญญากับคนรักว่าจะเลิกบุหรี่ สัญญาว่าจะไม่มาสาย สัญญาว่าจะช่วยงานบ้าน สัญญาว่าจะประหยัดอดออม ตอนสัญญาก็คิดว่าทำได้ แต่พอเอาเข้าจริงๆ แล้วมันต้องใช้การควบคุมตนเองอย่างมากถึงจะทำให้สำเร็จ แต่เพราะบุคลิกไม่เอื้อ สุดท้ายก็เลยผิดสัญญา

บุคลิกภาพยังไม่ได้มีผลแค่เรื่อง ‘วินัย’ ที่ทำตามสัญญาไม่ได้ แต่หลายๆ คนสัญญาว่าจะ ‘เปลี่ยนแปลงตนเอง’ ซึ่งหลายครั้ง การเปลี่ยนแปลงตนเองในบางเรื่องมันไม่ได้เกิดง่ายๆ เช่น สัญญาว่าต่อไปจะไม่เจ้าชู้ ต่อไปจะไม่ขี้หึง ต่อไปจะเอาใจใส่ให้มากขึ้น พวกนี้ต่างเป็นหนึ่งในผลของบุคลิกภาพที่หล่อหลอมมาแต่เด็กเป็นเวลาสิบๆ ปี และการจะเปลี่ยนบุคลิกภาพเลยเปลี่ยนได้ยาก สัญญาที่ให้ว่าจะเปลี่ยนตัวเอง หลายครั้งเลยเป็นสัญญาเกินตัว บอกจะให้ในสิ่งที่ยากแสนยากโดยที่เจ้าตัวก็มักจะไม่รู้หรอกว่ามันยาก

แล้วการผิดสัญญามันจะส่งผลเสียต่อชีวิตรักเสียเท่าไรกันเชียว? การผิดสัญญานั้นก็เหมือนกับการโกหก ด้วยบรรทัดฐานของสังคม คนรักมักจะคาดหวังอยู่แล้วว่าคู่รักไม่ควรโกหกกัน และยิ่งหากเราใช้คำว่า ‘สัญญา’ เมื่อไร ยิ่งเป็นการแสดงความหนักแน่นว่าจะไม่โกหก การผิดสัญญาเลยยิ่งทำให้คู่รักรู้สึกแย่ ไม่ใช่แค่เรื่องความรู้สึกแย่ที่ถูกโกหก แต่เรื่องความเชื่อใจก็เป็นประเด็นสำคัญ

เมื่อคนรักให้สัญญากันไว้ อีกฝ่ายมักจะเทียบอัตราส่วนระหว่างการทำตามสัญญากับการทำผิดสัญญาในใจ เพื่อประเมินความเชื่อใจ ยิ่งอัตราส่วนของการผิดสัญญาหากเทียบแล้วมันน้อยกว่าการทำตามสัญญาจนน่าใจหาย ก็ยากที่เขาจะเชื่อใจ และความเชื่อใจกับความรักนั้นมันเป็นของคู่กันครับ คู่รักที่ไม่เชื่อใจกัน ก็ยากที่จะมีความสุข ระแวงกันไปทุกเรื่อง 

มนุษย์เรานั้นวิวัฒนาการมาให้ระแวดระวังการถูกหลอกเป็นพิเศษ เพราะเราเป็นสัตว์สังคม การอยู่รอดในสมัยก่อนนั้นจำเป็นมากที่จะรู้ว่าใครคือคนที่ชอบโกหก ไม่ทำตามสัญญา ลองจินตนาการว่าคนที่มาขอแบ่งอาหารกับเราและสัญญาว่าถึงคราวเราหาอาหารไม่ได้จะแบ่งให้ แต่พอเราหาอาหารไม่ได้จริงๆ เขากลับไม่แบ่งให้เราตามสัญญา แบบนี้เราก็เสียเปรียบและอาจจะอดตายได้

สัญญาของคู่รักนั้นยิ่งสำคัญ เพราะสำหรับผู้หญิงการไม่ทำตามสัญญาคือเรื่องใหญ่ เพราะการผิดสัญญาที่เลวร้ายสุดคือ สัญญาว่าจะช่วยกันเลี้ยงลูก แต่พอมีลูกแล้วกลับชิ่งหนีไป การเลี้ยงลูกคนเดียวนั้นสาหัสมากครับในสมัยโบราณที่แค่หาอาหารก็หมดวันแล้ว ส่วนผู้ชายย่อมกลัวผู้หญิงที่ไม่รักษาสัญญาว่าจะมีความสัมพันธ์กับคนอื่น เพราะถ้าผิดสัญญา ฝ่ายชายอาจจะต้องเลี้ยงลูกของคนอื่นโดยไม่รู้ตัว การระวังไม่ให้ผิดสัญญา หรือโดนหลอกเลยเป็นเรื่องของความเป็นความตายที่ฝังมาในยีน ดังนั้นอย่าแปลกใจที่คู่รักของท่านมองท่านไม่ดีเพียงเพราะท่านผิดสัญญาไม่กี่ครั้ง เพราะมนุษย์เราวิวัฒนาการมาให้จำเรื่องที่อีกฝ่ายผิดสัญญาแม่นมาก และแม่นยิ่งกว่าเรื่องที่ท่านทำตามสัญญาด้วยซ้ำ 

ถ้าไม่สัญญาก็ไม่ต้องกลัวผิดสัญญา แต่จะไม่ให้สัญญาเลยในชีวิตรักมันก็คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือระมัดระวังการจะให้สัญญากับคนรักไว้ให้มากๆ จะดีกว่า ยิ่งหากมันไม่ใช่เรื่องที่อีกฝ่ายเอ่ยปากขอ ถึงเราจะเจตนาดีที่จะสัญญาทำสิ่งดีๆ หรือให้สิ่งดีๆ ด้วยความรัก แต่ถ้าไม่มั่นใจมากพอว่าจะทำได้ อย่าสัญญาจะดีกว่า หรือถ้าอยากสัญญาจริงๆ ยังไงก็อยากจะให้ ก็ขอให้ยั้งไว้ก่อน อย่าให้อารมณ์พาไป กลับมาคิดให้ดีๆ ว่าทำได้จริงหรือไม่ ถ้าไม่ชัวร์ อย่าใช้คำว่าสัญญาครับ เพราะมันทำให้อีกฝ่ายคาดหวัง และพอมันเกิดขึ้นไม่ตรงกับความคาดหวัง มันก็สร้างความเสียใจแทน สัญญาไปห้าหกเรื่อง แต่ทำได้แค่เรื่องสองเรื่อง สู้สัญญาเรื่องที่ทำได้แน่ๆ เรื่องหรือสองเรื่องแล้วทำได้ตามสัญญาได้ครบแบบนี้กลับดูน่าเชื่อใจมากกว่า

หลายๆ คนนั้นชอบทำผิดสัญญากับคู่รักบ่อยๆ และมองข้ามว่านั่นคือความผิด ทำให้เกิดปัญหาเรื้อรังในความสัมพันธ์โดยที่ผู้สัญญาไม่รู้ตัวว่าตนทำผิด มีงานวิจัยที่พบว่าคู่รักนั้น เมื่อทำผิดต่ออีกฝ่าย ก็มักจะหาเหตุผลมาเข้าข้างให้ตนเองถูกต้อง ให้ตนเองมีความชอบธรรมกว่าความเป็นจริง มีเหตุผลสารพัดมาเข้าข้างตนเองว่าทำไมถึงทำผิดไป หากคู่รักทวงถามว่า ไหนสัญญาว่าจะเลิกกินเหล้า ก็อาจจะมีเหตุผลเข้าข้างตนเองว่า ก็ช่วงนี้งานมันเครียด กินให้ทนทำงานต่อไปไหว และจริงๆ ก็กินน้อยลงแล้ว ยังจะมาบ่นอะไรอีก หรือบางคนยอมสัญญาเพื่อให้เรื่องมันจบๆ ไป เช่น พอทะเลาะกับคนรักเรื่องประหยัดเงิน ก็ยอมสัญญาไปว่าจะทำตามโดยไม่รู้หรอกว่าทำได้ไหม แต่คิดว่าทำแบบนี้มันมีผลดีกว่าทะเลาะกันไม่หยุด ซึ่งเหตุผลเข้าข้างตนเองนั้นไม่ได้ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกดีขึ้นหรอกครับ ตอนเราผิดสัญญา แต่มันทำให้ผู้สัญญารู้สึกผิดน้อยลงหากผิดสัญญา

แล้วถ้าเรามารู้ทีหลังว่าจะทำตามสัญญาไม่ได้ เราควรแก้สถานการณ์อย่างไรดี คนรักกันนั้นไม่พอใจกันได้ โกรธกันได้ แต่ก็ให้อภัยกันได้เช่นกัน หากท่านสัญญาด้วยเจตนาดี ไม่ได้ตั้งใจจะโกหก ตอนนั้นอยากให้อะไรกับอีกฝ่ายจริงๆ แต่ต่อมาอาจจะทำไม่ได้เพราะมีสิ่งอื่นมาขัดขวาง หรือแม้แต่ท่านเองก็เพิ่งรู้ตัวว่าตัวท่านไม่มีความสามารถพอจะทำได้ทั้งๆ ที่ท่านพยายามทำตามสัญญาแล้ว หากคู่รักเขารับรู้ถึงเจตนาและความพยายามเหล่านี้ เห็นถึงความสำนึกผิดของผู้ผิดสัญญา เขาก็มีแนวโน้มที่จะให้อภัยมากกว่า ดังนั้นหากรู้ตัวว่าทำไม่ได้ อย่างน้อยควรจะลงมือให้เห็นว่าไม่ได้คิดจะพูดไปส่งๆ แต่ตั้งใจจะทำจริงๆ ให้อีกฝ่ายได้เห็น

สรุปแล้ว ระมัดระวังก่อนจะให้สัญญาแก่คนรักให้มาก และท่านจะปวดหัวกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากความคาดหวังของคนรักในคำมั่นสัญญาน้อยกว่า คำสัญญาที่เป็นเหมือนรางวัลอันแสนชื่นใจตอนให้ จะกลายเป็นระเบิดทำลายชีวิตรักตอนผิดสัญญา เหมือนคำที่คนเขามักบอกว่า คำพูดคน ตอนพูดเราเป็นนายมัน แต่หลังพูดมันเป็นนายเรา แค่นั้นไม่พอนะครับ แทนที่คนรักจะเข้าข้างท่าน เขากลับไปเข้าข้างคำพูดในอดีตของท่านแทนว่า แล้วทำไมเธอถึงไม่ทำตามที่พูด… แค่คิดก็เหนื่อยแล้วครับ

อ้างอิง
Baumeister, R. F., Bratslavsky, E., Finkenauer, C., & Vohs, K. D. (2001). Bad is stronger than good. Review of general psychology, 5(4), 323-370.
Cameron, J. J., Ross, M., & Holmes, J. G. (2002). Loving the one you hurt: Positive effects of recounting a transgression against an intimate partner. Journal of Experimental Social Psychology, 38(3), 307-314.
DePaulo, B. M., & Kashy, D. A. (1998). Everyday lies in close and casual relationships. Journal of personality and social psychology, 74(1), 63.
Larsen, R. J., & Buss, D. M. (2008). Personality psychology: Domains of knowledge about human nature. New York: McGraw-Hill. 
Loewenstein, G., & Schkade, D. (1999). Wouldn’t it be nice? Predicting future feelings. Well-being: The foundations of hedonic psychology, 85-105.
McCullough, M. E., Worthington Jr, E. L., & Rachal, K. C. (1997). Interpersonal forgiving in close relationships. Journal of personality and social psychology, 73(2), 321.
ดิแลน อีวานส์. (2559). จิตวิทยาวิวัฒนาการ (พงศ์มนัส บุศยประทีป, แปล). กรุงเทพฯ , มูลนิธิเด็ก.

Tags:

ความสัมพันธ์ความรัก

Author:

illustrator

พงศ์มนัส บุศยประทีป

ตั้งแต่เรียนจบจิตวิทยา ก็ตั้งใจว่าอยากเป็นนักเขียน เพราะเราคิดความรู้หลายๆ อย่างที่เราได้จากอาจารย์ หนังสือเรียน หรืองานวิจัย มันมีประโยชน์กับคนทั่วไปจริงๆ และต้องมีคนที่เป็นสื่อที่ถ่ายทอดความรู้แบบหนักๆ ให้ดูง่ายขึ้น ให้คนทั่วไปสนใจ เข้าใจ และนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ไม่อยากให้มันอยู่แต่ในวงการการศึกษา เราเลยอยากทำหน้าที่นั้น แต่เพราะงานหลักก็เลยเว้นว่างจากงานเขียนไปพักใหญ่ๆ จนกระทั่ง The Potential ให้โอกาสมาทำงานเขียนในแบบที่เราอยากทำอีกครั้ง

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Creative learningEarly childhood
    ‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล

    เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

  • platonic
    Relationship
    เพื่อนสนิทในที่ทำงานมีจริงไหม? ทำความเข้าใจมิตรภาพในที่ทำงานผ่านแนวคิด Platonic Love

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Relationship
    Platonic Love: ความรักที่ไม่จำเป็นต้องตกหลุมรัก ไม่ครอบครองและไม่มีวันเลิกรา

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Movie
    Indian Matchmaking เมื่อการเลือกคู่ไม่ใช่เรื่องของคนสองคน แต่เป็นเรื่องของสองครอบครัว

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • How to get along with teenagerAdolescent Brain
    สมองวัยรุ่น เมื่อต้องรับมือกับความผิดหวัง อกหัก!

    เรื่อง The Potential ภาพ KHAE

The Element: การค้นพบ ‘ธาตุ’ ที่บอกว่า ‘ฉันเกิดมาเพื่อสิ่งนี้’
Book
9 November 2020

The Element: การค้นพบ ‘ธาตุ’ ที่บอกว่า ‘ฉันเกิดมาเพื่อสิ่งนี้’

เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ พิมพ์พาพ์

  • The Element หนังสือที่ว่าด้วยการตามหา ค้นเจอ และบ่มเพาะ ‘ธาตุภาวะ’ ของแต่ละคน เป็นองค์ประกอบของความหลงใหล ความชอบ การได้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนตกเข้าไปอยู่ในห้วงแห่ง ‘ความลื่นไหล’ จมดิ่งกับมันจนลืมวันเวลา ซึ่งแน่นอนว่า ‘ธาตุ’ มีได้หลากหลายเกินกว่าที่คนจะทำเกณฑ์ประเมินกัน
  • ไม่อึดอัด เพราะผู้เขียนไม่ได้ยัดเยียดว่าหากยังค้นไม่พบ ‘ธาตุภาวะ’ จะเท่ากับโศกนาฏกรรม หนังสือเล่มนี้ย้ำตลอดว่า ‘ธาตุ’ ของเรานั้นหลากหลาย บางคนค้นเจอธาตุของตัวเองตอนอายุน้อยแล้วบ่มเพาะขัดเกลากันไปเรื่อยๆ, บางคนไม่ได้ใช้ ‘ธาตุ’ ตัวเองทำมาหากินและเลือกจับวางเป็นงานอดิเรก, มีหลายคนด้วยซ้ำที่ค้นพบ ‘ธาตุ’ ใหม่ของตัวเองในวัย 60-70 ปี และเคี่ยวกรำตัวเองในวัยที่คนอื่นคิดว่าถึงเวลาอยู่เฉยๆ 
  • สุดท้ายมันคือการกลับไปมองตัวเองในสายตาที่พยายามเพ่งเล็งและจับสังเกตว่าเราจัดวางตัวเองถูกที่ถูกทางรึยัง ทั้งหมดไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากทางเลือกที่รู้ว่าเลือกได้… และมันอาจโล่งโปร่งสบายขึ้น

คุณฉลาดแค่ไหน? จงให้คะแนนตัวเองจาก 1-10

ตอนหนึ่งของหนังสือ The Element : How Your Passion Changes Everything (ฉันเกิดมาเพื่อสิ่งนี้) เขียนถามเอาไว้

เซอร์ เคน โรบินสัน (Ken Robinson) และ ลู อโรนิกา (Lou Aronica) สองผู้เขียนเล่าว่า เค้ามักใช้คำถามนี้เวลาออกบรรยายเกี่ยวกับ ‘การค้นเจอศักยภาพ’ ของมนุษย์ ผู้เขียนเล่าว่า มีบ้างประปรายที่ให้คะแนนตัวเองเต็ม 10 บ้างให้ 8-9 บ้าง แต่ส่วนใหญ่ให้คะแนนตัวเองกลางๆ ที่ 6-7 คะแนน

สิ่งที่ทั้งสองไฮไลต์ก็คือ ทำไมทุกคนจึงยอมให้คะแนนตัวเอง?

ไม่ใช่ว่าเราควรถามกลับหรือว่า… เราจะให้คะแนนความฉลาดของตัวเองในเรื่องอะไร ด้านไหน คะแนนที่เราให้วันนี้ พรุ่งนี้มันจะเพิ่มขึ้นได้มั้ย และเราประเมินความฉลาดของตัวเองเป็นมาตรวัด 1-10 ได้จริงละหรือ?

สิ่งที่ทั้งคู่คาดหวังว่าผู้คนจะถามกลับนั่นคือ… จะบ้าหรือ ความฉลาดของคนมีตั้งหลากหลาย และเราจะกะเกณฑ์ตั้งประเมินให้มีมาตรวัดชัดเจนได้อย่างไร – ซึ่งนี่เอง คือหัวใจของหนังสือเล่มนี้

The Element ว่าด้วยการตามหา ค้นเจอ และบ่มเพาะ ‘ธาตุภาวะ’ ของแต่ละคน เป็นองค์ประกอบของความหลงใหล ความชอบ การได้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนตกเข้าไปอยู่ในห้วงแห่ง ‘ความลื่นไหล’ จมดิ่งกับมันจนลืมวันเวลา ซึ่งแน่นอนว่า ‘ธาตุ’ มีได้หลากหลายเกินกว่าที่คนจะทำเกณฑ์ประเมินกัน

“แต่ละคนต่างมี ‘ธาตุ’ เฉพาะตัว ‘ธาตุ’ คือจุดที่พรสวรรค์ตามธรรมชาติมาบรรจบกับความปรารถนาจากส่วนลึก ความชำนาญผสานเข้ากับความหลงใหล ความถนัดมาพบกับความรัก เมื่อเราเข้าถึง ‘ธาตุ’ เราจะรู้สึกเป็นตัวเองและมีพลังสร้างสรรค์อย่างที่สุด มันยังเป็นบ่อเกิดของแรงบันดาลใจ พลังชีวิต และความสำเร็จอีกด้วย”

โปรยปกหลัง

แล้วเกี่ยวกับนิยามความฉลาดของคนอย่างไร? – เกี่ยวอย่างจังเลยละ ผู้เขียนมองว่าประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการศึกษาของมนุษย์พุ่งเป้าไปที่การวัดความฉลาดของคน เช่นแบบทดสอบสติปัญญา IQ, การสอบ SAT (ข้อสอบเข้าระดับอุดมศึกษาของสหรัฐอเมริกา ทดสอบความถนัดในวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ) ซึ่งเป็นอย่างที่ทุกคนรู้กันดีว่า สังคมกำหนดระบบระเบียบมาให้เราเดินตามทางที่ทุกคนมองว่า คนที่ประสบความสำเร็จ คนที่ฉลาด มักจะเดินตามกัน

The Element ชวนเรามองหา ‘ธาตุ’ ของตัวเองผ่านการเดินทาง การค้นหา การบ่มเพาะ ‘ธาตุ’ ของผู้คนผ่านการสัมภาษณ์และเรียบเรียบเรื่องเล่าในอดีตและปัจจุบันของพวกเค้า เราจะได้พบเห็นตัวละครตั้งแต่ผู้ที่หลงใหลคลั่งไคล้ตัวเลข นักบิลเลียดหญิง ชายตาบอดเพราะอุบัติเหตุที่ใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตทำให้คนที่มีโอกาสตาบอดกลับมามองเห็นอีกครั้ง เรื่อยไปกระทั่งนักดนตรี นักเต้น และคนจากหลากอาชีพ เช่น

  • อเล็กซิส เลอแมร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปัญญาประดิษฐ์ เจ้าของสถิติโลกปี 2007 ว่าสามารถตัวเลขสุ่ม 200 หลัก ด้วยการถอดรูท 13 หลักในใจได้ในเวลา 72.4 วินาที
  • เอวา ลอแรนซ์ นักบิลเลียดหญิงที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ผู้ที่รู้สึกว่าการแข่งขันต่อเนื่อง 9 ชั่วโมงดำเนินไปแค่ราว 20 นาที
  • จอห์น วิลสัน ชายตาบอดจากอุบัติเหตุในห้องเคมีตอนเขา 12 ปี ผู้ผลักดันสมาคมคนตาบอดของจักรวรรดิอังกฤษ (Sightsavers Internationa) ในช่วงที่วิลสันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกว่า 30 ปี องค์กรนี้ผ่าตัดต้อกระจกให้คนราว 3 ล้านคน รักษาผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะตาบอดอีก 12 ล้านคน และจัดหาวิตามินเออีกกว่า 100 ล้านโดสเพื่อป้องกันอาการตาพิการในเด็ก และโครงการอื่นๆ ที่ทำให้คนกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง
  • เด็บบี แอลเลน นักเต้น นักแสดง นักร้อง ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ คนเขียนบท สำคัญคือเธอเป็นนักเต้นสมัยที่ยังมีการแบ่งแยกสีผิวกันอยู่ แต่ก็ใช้ความสามารถและความหลงใหลในอาชีพหาที่ยืนให้กับตัวเองได้

ทั้งหมดนี้เป็นแค่ตัวอย่าง ‘ความหลากหลาย’ ของผู้คนที่จะพบเจอในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งว่าด้วย ‘ธาตุ’ ที่ฝังในเนื้อตัวของคนแต่ละคน ถ้าพวกเค้าเชื่อว่าความฉลาดของคนมีแบบเดียว คงปรากฎตัวพร้อมเรื่องเล่าในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้

แม้จะเล่าผ่านชีวประวัติบุคคล แต่ในเรื่องเล่านั้น โรบินสัน และ อโรนิกา อธิบายโครง ปัจจัย หรือ องค์ประกอบร่วมที่ทำให้แต่ละคนค้นพบ ‘ธาตุ’ และบ่มเพาะมันจนไปสู่ผลสำเร็จ (ในความหมายที่แตกต่างตามแต่นิยามของบุคคล) เช่น…

มุมมองเรื่องความคิดสร้างสรรค์, การพบ ‘สื่อ’ ที่ช่วยกระตุ้นจินตนาการและปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็น งานเขียน ดนตรี ตัวเลข การใช้ร่างกาย และอื่นๆ, การค้นพบสภาวะลื่นไหล, ตัวช่วยหรือที่ปรึกษา, การแวดล้อมด้วยคนแบบเดียวกัน, การออกจากสิ่งแวดล้อมที่กักขังไม่ให้พบ ‘ธาตุ’ ของตัวเอง เช่น ข้อจำกัด 3 อย่าง คือ ตัวเอง สังคม และวัฒนธรรม, ทัศนคติของคนที่มักมองว่าตัวเองโชคร้าย กับ คนที่มักมองว่าตัวเองโชคดี และปัจจัยอื่นๆ

สิ่งที่ผู้เขียนชอบและอยากยกมาแบ่งปันในที่นี้ มีอยู่ 2 เรื่องคือ การหาคนพันธุ์เดียวกัน และ ตัวช่วย

การหาคนพันธุ์เดียวกัน กับความแตกต่างของ ‘วงการ’ และ ‘แวดวง’

คิดว่าหลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า สิ่งที่ทำให้เราพัฒนาตัวเองในสิ่งที่ตัวเองชอบและหลงใหล ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการได้อยู่ในสภาพแวดล้อม ได้อยู่กับคนที่ชอบเหมือนๆ กัน ไม่ใช่แค่เรารู้สึกอุ่นใจจนมั่นใจพอจะพัฒนาตัวเองไปต่อ แต่เราจะซึมซับองค์ความรู้ เคล็ดวิชาจาก ‘ไอดอล’ จากคนที่ชอบและทำในสิ่งที่คล้ายกันด้วย

“ฉันพบว่าโลกของดารานักแสดงนั้นมีเสน่ห์น่าหลงใหล ฉันได้อยู่กับคนที่สนุกเฮฮาตลอด เหมือนได้อยู่กับครอบครัวขยายที่มีแต่คนบ้าๆ บวมๆ สนุกมาก ฉันทำงานวันละ 16 ชั่วโมง แต่ยิ่งนานก็ยิ่งรู้สึกสนุกกับทุกๆ วัน ฉันชอบที่เราคุยกันเรื่อยว่าทำไมคนโน้นคนนี้ถึงทำแบบนั้นแบบนี้และศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ด้วยกัน ความคิดเห็นที่ได้จากการคุยกันนี้มีผลต่อการสร้างบุคลิกตัวละครของฉันว่าควรหรือไม่ควรทำอะไร ไม่รู้หรอกนะว่าฉันได้ความคิดเหล่านี้มาจากใครบ้าง แต่ได้เยอะ เยอะมาก ฉันมักพูดในทำนอง ‘โอเค นั่นคือความหมายแฝง แล้วทำไมฉันต้องพูดความหมายแฝงออกมาตรงๆ ด้วยล่ะ’ ฉันมักปรับแก้บทพูดใหม่ และอินกับบทบาทตัวละครและโลกของตัวละครพวกนั้น เรามีบทหนังใหม่ๆ ทุกวันละฉันก็ต้องจำบทพูดพวกนี้ทั้งหมด เป็นงานที่น่าพิศมัยสุดยอดเลยล่ะ เราจมอยู่กับมันจนไม่มีเวลาคิดเรื่องอื่นเลย”

คือคำสัมภาษณ์ของเม็ก ไรอัน นักแสดงยอดนิยม (เป็นที่รู้จักจากภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น When Harry Met Sally และ Sleepless in Society) กับผู้เขียนทั้งสอง นี่คือตัวอย่างของการได้อยู่กับ ‘คนพันธุ์เดียวกัน’ ว่าผลักดันการทำงาน และช่วยให้เราอยู่ใน ‘ธาตุภาวะ’ ได้อย่างไร

มีอีกอย่างที่ผู้เขียนกล่าวไว้ในเรื่องนี้คือ คำว่า วงการ (Domain) กับ แวดวง (field) ซึ่งสองอย่างนี้สำคัญสำหรับคนที่กำลังค้นหา ‘ธาตุ’ ของตัวเอง

  • วงการ : ประเภทกิจกรรม หรือ สาขาความรู้ที่คนเข้าไปกระทำ เช่น การแสดง ดนตรีร็อก บัลเลต์ กวี จิตวิทยา การสอน
  • แวดวง :  ผู้คนที่กระทำกิจกรรมในวงการนั้น เช่น วงการที่เม็ก ไรอัน อยู่คือการแสดง ละครโทรทัศน์ แวดวง ก็คือนักแสดงคนอื่นๆ ที่เธอทำงานด้วย

สิ่งที่ผู้เขียนพยายามจะบอกก็คือ 

การพบธาตุของตัวเองไม่ได้เกิดเฉพาะตอนที่อยู่กับตัวเองคนเดียวเท่านั้น หลายคนค้นพบได้เมื่อเจอ ‘คนพันธุ์เดียวกัน’ และการพัฒนาตัวเองจนค้นพบธาตุ ไม่มีใครอยู่แค่แวดวงเดียว การประสบความสำเร็จในวงการใดวงการหนึ่ง จำเป็นต้องพาตัวเองออกไปพบเจอคนหลายๆ แวดวง ไปซึมซับ ไปตักตวง และเรียนรู้ประสบการณ์ ที่หลายคนเรียกมันว่า ‘การขยายขอบ’ ของตัวเอง หรือกระทั่ง ต้องรีบออกจากแวดวงที่รู้สึกว่า ‘ถ้าอยู่ต่อไป แวดวงนี้จะกักขังไม่ให้เราพบ ‘ธาตุ’ ของตัวเองได้แน่ๆ 

ตัวช่วย ความสัมพันธ์เปลี่ยนชีวิต

“ที่ปรึกษามีค่ายิ่งในการช่วยให้คนเราเข้าถึง ‘ธาตุ’ ของตัวเอง ถ้าจะบอกว่าหนทางเดียวที่จะเข้าถึง ‘ธาตุ’ ได้ก็โดยอาศัยความช่วยเหลือจากที่ปรึกษา มันก็อาจพูดเกินจริงไปบ้าง แต่คงไม่มากนัก เราทุกคนต่างเคยเจออุปสรรค กว่าจะเจอสิ่งที่เรารู้สึกว่าเกิดมาเพื่อทำมันจริงๆ ถ้าขาดผู้ชี้แนะที่มีความรู้ดีพอจะช่วยให้เราค้นพบความชอบของตัวเอง สนับสนุนความสนใจของเรา ช่วยให้เราเดินทางราบรื่นขึ้น และผลักดันให้เราทำจนเต็มกำลังความสามารถแล้วล่ะก็ การเดินทางก็คงยากกว่านี้เยอะ

“แน่นอน ระบบการเป็นพี่เลี้ยงหรือให้คำปรึกษานั้นเป็นเรื่องสองทาง คือการให้และรับ ที่สำคัญมากพอๆ กับการมีที่ปรึกษาก็คือ คุณต้องทำหน้าที่นี้เพื่อคนอื่นๆด้วย เป็นไปได้มากว่าคุณอาจพบว่า ธาตุของคุณก็คือการเป็นที่ปรึกษาให้กับคนอื่นๆ” – หน้า 141

เชื่อว่า ณ จุดที่เรายืนอยู่ ถ้ามองย้อนกลับไป คงมองเห็นคนช่วยกันดุนหลังผลักไหล่ ชี้แนะแนวทาง หรือเป็นแรงบันดาลใจให้เรายืนได้ ณ ที่ตรงนี้ …นี่คือความหมายเดียวกับ ตัวช่วย หรือ ที่ปรึกษา นอกจากผู้เขียนทั้งสองจะชวนเรามองย้อนกลับไปดูว่าที่ปรึกษาของเราคือใครกันบ้าง และพวกเขามีส่วนช่วยผลักดันเราอย่างไร พวกเขายังย้ำว่าเราต่างเป็นที่ปรึกษา หรือ ตัวช่วย ให้กับใครอื่นเพื่อช่วยให้เค้าหาธาตุของตัวเอง และในระหว่างนั้น เราจะได้พบธาตุของตัวเองด้วยเช่นกัน

โรบินสัน และ ลู อโรนิกา เสนอว่าบทบาทของที่ปรึกษา ทำได้ดังนี้

  • การมองเห็นความสามารถ (recognition) : พรสวรรค์และทักษะของคนเรามีหลากหลาย ที่ปรึกษาที่ดีจะช่วยชี้ให้เห็นทักษะของเราอย่างที่คนอื่นๆ มองไม่เห็น
  • การเสริมสร้างกำลังใจ (encouragement) : ที่ปรึกษาจะจูงใจให้เราเชื่อว่าเราสามารถบรรลุความสำเร็จในสิ่งที่ก่อนหน้านั้นดูไม่น่าเป็นไปได้
  • อำนวยความสะดวก (facilitating) : ที่ปรึกษาจะช่วยนำทางเราสู่ธาตุของเราได้ด้วยการให้คำแนะนำและบอกเล่าเทคนิคต่างๆ แผ้วถางทางให้เรา และแม้แต่ปล่อยให้เราสะดุดบ้างโดยจะคอยอยู่ข้างๆ เพื่อช่วยให้เราตั้งหลักใหม่ได้พร้อมๆ กับเรียนรู้ข้อผิดพลาดของเราเอง
  • ผลักดันให้เราใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ (stretching) : ที่ปรึกษาเก่งๆ จะผลักดันให้เราใช้ทักษะความสามารถอย่างเต็มที่

“คนเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้เรา ทำให้เรารู้สึกทึ่งในศักยภาพของมนุษย์ พวกเขาช่วยให้เรามองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ และจุดประกายไฟให้เรา” – หน้า 243 

หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือที่ ‘ต้องอ่าน’ แต่เมื่อได้ไล่ทำความรู้จัก ไล่อ่านความคิดที่ถูกเรียบเรียงไว้ทีละหน้า สำหรับฉัน – ผู้ที่ไม่ได้คิดว่าต้องค้นหาตัวตนหรือเสาะหา ‘ธาตุ’ ของตัวเอง – แม้จะอ่านชีวประวัติของผู้อื่น แต่ได้ย้อนกลับไปยังชีวประวัติของตัวเอง ได้ค่อยๆ ไล่เรียงพิจารณาว่าสิ่งที่เห็น ทำ และเป็นอยู่ เข้าข่ายค้นเจอ ‘ธาตุ’ ของตัวเองแล้วหรือยัง

ไม่อึดอัดด้วยเพราะผู้เขียนไม่ได้ยัดเยียดว่าหากยังค้นไม่พบ ‘ธาตุภาวะ’ จะเท่ากับโศกนาฏกรรม หนังสือเล่มนี้ย้ำตลอดว่า ‘ธาตุ’ ของเรานั้นหลากหลาย บางคนค้นเจอธาตุของตัวเองตอนอายุน้อยแล้วบ่มเพาะขัดเกลากันไปเรื่อยๆ, บางคนไม่ได้ใช้ ‘ธาตุ’ ตัวเองทำมาหากินและเลือกจับวางเป็นงานอดิเรก, มีหลายคนด้วยซ้ำที่ค้นพบ ‘ธาตุ’ ใหม่ของตัวเองในวัย 60-70 ปี และเคี่ยวกรำตัวเองในวัยที่คนอื่นคิดว่าถึงเวลาอยู่เฉยๆ 

สุดท้ายมันคือการกลับไปมองตัวเองในสายตาที่พยายามเพ่งเล็งและจับสังเกตว่าเราจัดวางตัวเองถูกที่ถูกทางรึยัง ทั้งหมดไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากทางเลือกที่รู้ว่าเลือกได้… และมันอาจโล่งโปร่งสบายขึ้น

Tags:

Gritคาแรกเตอร์(character building)หนังสือ

Author:

illustrator

ณิชากร ศรีเพชรดี

แอดมิชชันเข้าคณะการเขียนและสิ่งพิมพ์เพราะคิดว่าเขาจะสอนให้เขียนนิยาย แทนที่จะได้เขียนจากจินตนาการ อาจารย์และทุกอย่างที่นั่นเคี่ยวกรำให้ทำ-คิด-เขียน-รู้สึกกับประเด็นสังคม ยังคงสนุก(มาก)กับงานสื่อสาร ฝันสูงสุดคือยังเข้มแข็งเขียนงานได้อย่างมีคุณภาพและฐานะดี

Photographer:

illustrator

พิมพ์พาพ์

เป็นลูกคนเดียวจากแม่เลี้ยงเดี่ยว เรียกตัวเองว่านักวาดภาพประกอบที่ชอบวาดคนหน้าแมว เผลอเสียน้ำตาให้กับหนังครอบครัวอยู่บ่อยๆ

Related Posts

  • Grit
    S.M.A.R.T GOAL ตั้งเป้าหมายให้ชัด ใกล้ ใช่ และจริง – ไม่ล้มเหลวแน่นอน

    เรื่อง The Potential ภาพ บัว คำดี

  • Life Long Learning
    คุณจะนอนเล่นมือถือบนโซฟา หรือลุกขึ้นมาแล้ววิ่งไปหาเป้าหมายของตัวเอง

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ บัว คำดี

  • How to get along with teenager
    โตขึ้นอยากเป็นอะไร คำถามง่ายแต่ตอบไม่ได้จริงๆ

    เรื่อง กนกอร แซ่เบ๊

  • BookCharacter building
    ความโง่ไม่ใช่สิ่งถาวร ถ้าเขามี ‘ครู’ ให้พิงหลัง

    เรื่องและภาพ ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Grit
    จะอยู่กับ ‘สิ่งที่ต้องทำ’ ด้วยความ ‘หลงใหล’ ไปพร้อมกันได้อย่างไร?

    เรื่อง The Potential

HOPE อย่าหมดหวังในตัวเองนะวัยรุ่น
Character building
6 November 2020

HOPE อย่าหมดหวังในตัวเองนะวัยรุ่น

เรื่อง เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • ความหวัง (Hope) คือ การที่เราพยายามจะเชื่อและพยายามที่จะมองตัวเองว่ายังคงมีวิธีหรือมีหนทางที่จะเกิดสิ่งที่ดีๆ ในชีวิตได้นะ และเรายังพอรู้สึกว่า ฉันน่าจะไปถึงทางที่แสงสาดส่องได้ แม้ว่าตอนนี้ฉันจะอยู่ในจุดที่มืดมิดก็ตาม
  • ในวัยรุ่น แม้จะเป็นวัยแห่งการเติมเชื้อไฟความหวังความฝัน แต่ถ้าพวกเขาเจอสถานการณ์ เช่น แม้พยายามเท่าไรๆ ก็ไม่เคยเรียนได้ดีเสียที พยายามเท่าไรพ่อแม่ก็ไม่เคยชมเสียที พยายามเท่าไรๆ ก็ไม่เคยเจอความรักดีๆ สักที หรือพยายามเท่าไร ผู้ใหญ่ก็ไม่ยอมเข้าใจอยู่ดี สุดท้ายความหวัง อาจแปรเปลี่ยนเป็นความสิ้นหวังได้
  • บทความนี้จะช่วยให้เราเข้าใจ ความหวัง มากขึ้น พร้อมๆ กับวิธีหล่อเลี้ยงเติมเชื้อแห่งความหวังให้ยังอยู่ในตัวเรา

“อย่าไปกลัวเวลาที่ฟ้าไม่เป็นใจ อย่าไปคิดว่ามันเป็นวันสุดท้าย น้ำตาที่ไหลย่อมมีวันจางหาย หากไม่รู้จักเจ็บปวด ก็คงไม่ซึ้งถึงความสุขใจ”

ท่อนนี้เป็นท่อนโปรดของนีทเลยในเวลาที่นีทกลับไปฟังเพลงฤดูที่แตกต่าง ของพี่บอย โกสิยพงษ์

ต้องบอกกว่าเวลาที่นีทย้อนไปฟังเพลงนี้ แปลว่ามันคือช่วงเวลาที่ตัวนีทกำลังรู้สึกหมดหวัง มองไม่เห็นทางข้างหน้า แต่พอได้ฟังเพลงนี้ และโดยเฉพาะท่อนนี้ มันทำให้นีทรู้สึก ‘ฮึด’ ขึ้นมา มันเหมือน… “เอาล่ะ เรามาลองอีกสักตั้งดู เชื่อมั่นในความหวังดู”

เกริ่นมาตั้งนาน วันนี้เรื่องที่นีทอยากพูดถึงก็คือ ‘ความหวัง’ ค่ะ

นีทไม่แน่ใจว่าทุกคนรู้หรือไม่ว่าวัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่ต้องการพลังของความหวัง เพราะบางทีน้องๆ จะต้องเจอกับความเจ็บปวดและความผิดหวัง เรื่องที่มักมาคุยกับนีทบ่อยๆ ก็เช่น 

“พวกหนูไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ให้ผู้ใหญ่เข้าใจในตัวพวกหนู”

“พี่คะ/ครับ พวกเรายังสามารถหวังกับอนาคตที่ดีๆ ได้อยู่ไหม”

“พี่คะ หนูไม่หวังแล้วว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำได้ เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสามารถ ตอน ม.ต้น ก็สอบเข้าโรงเรียนดังๆ ไม่ได้ พอ ม.ปลาย พยายามอีกที ก็เข้าโรงเรียนดังที่พ่อแม่คาดหวังไม่ได้ แล้วเวลาสอบเข้าไม่ได้พ่อแม่ก็มักจะต่อว่าหนู”

“ผมสิ้นหวังกับความรักแล้ว เท่าที่ผ่านมาผมยังไม่เคยเจอความรักที่ดีๆ เลยสักครั้ง ผมมักโดนเขาทิ้งตลอดเวลา ผมเหนื่อย และเจ็บต่อไปไม่ไหวอีกแล้ว”

คำถามเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น แต่มันเป็นคำถามจากการไปเจอกับประสบการณ์ที่ทำให้เขารู้สึกว่ามันน่าสิ้นหวัง จนเขาไม่อยากหวังกับมันแล้ว แต่ในฐานะของพี่สาวและนักจิตวิทยาก็ยังอยากจะให้น้องๆ หวังกันต่อไปมากกว่าสิ้นหวังกับมัน

ความสิ้นหวังกับความหวังมันเป็นแค่เส้นบางๆ กั้นเอาไว้ แล้วบางทีเราก้าวเดินจากจุดแห่งการมีความหวังไปสู่ความสิ้นหวังโดยไม่รู้ตัว

สมัยที่พี่นีทเรียนวิชาจิตวิทยา เคยได้อ่านการทดลองของมาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) และ สตีฟ (Steve Maier) ผู้บุกเบิกทฤษฎีและทำการทดลองเกี่ยวกับความสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้ในสุนัข โดยทั้งคู่ได้ทดลองปรากฎการณ์ที่เรียกว่า ‘ความสิ้นหวัง’ ผ่านการเอาน้องหมาใส่ในกล่องที่มีกระแสไฟฟ้า ถ้าเขาไม่กระโดดออกมาก็จะโดนช็อตไฟฟ้านะ 

ตอนแรกที่ก็คิดนะว่า แล้วการทดลองนี้มันจะเข้าสู่เรื่องสิ้นหวังได้อย่างไรนะ ในเมื่อกล่องที่ใส่น้องหมาก็เปิดอยู่ แค่กระโดดออกมาเอง เท่านี้ก็ไม่โดนช็อตไฟฟ้าแล้ว แต่มันมีน้องหมากลุ่มหนึ่งค่ะ ที่ก่อนจะเอามาใส่ในกล่อง น้องหมาเหล่านั้นถูกช็อตไฟฟ้าทุกครั้งที่น้องกระโดด วิ่ง หรือไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามก็จะถูกโดนช็อตไฟฟ้าหมด 

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับน้องหมากลุ่มนี้คือ ต่อให้อยู่ในกล่องที่มีไฟฟ้าอยู่ น้องหมาก็ไม่รู้สึกอยากจะสู้หรือพยายามต่อไปแล้ว เพราะน้องอาจรู้สึกว่าต่อให้พยายามอย่างไร ก็จะจบที่การโดนช็อตอยู่ดี เซลิกแมนกับไมเออร์เลยสรุปสิ่งนี้ว่าคือความสิ้นหวัง จากความเชื่อว่า เราไม่สามารถหนีออกมาจากสถานการณ์ตรงนี้ได้ หรือทำให้ดีขึ้นได้ (เรายอมแพ้แล้วแม้ยังไม่เริ่ม เพราะไม่รู้ว่าฉันจะหวังกับอะไรดี)

แม้วัยรุ่นไม่ถูกช็อตด้วยไฟฟ้าแบบนี้ แต่เขาก็เจอลูปวงจรที่ทำให้เขารู้สึกเหมือนน้องหมาได้อยู่ค่ะ 

เช่น แม้พยายามเท่าไรๆ ก็ไม่เคยเรียนได้ดีเสียที พยายามเท่าไรพ่อแม่ก็ไม่เคยชมเสียที พยายามเท่าไรๆ ก็ไม่เคยเจอความรักดีๆ สักที หรือพยายามเท่าไร ผู้ใหญ่ก็ไม่ยอมเข้าใจอยู่ดี

คำว่า “พยายามเท่าไรๆ ก็ไม่ได้เสียที” ก็เหมือนกับการที่พวกเราถูกช็อตไฟฟ้าอยู่ตลอดเวลา เราจึงสิ้นหวังกันไปในท้ายที่สุด

แต่นีทยังเชื่อว่าความสิ้นหวังก่อเกิดความหวังได้นะ เพราะแม้ช่วงต้นๆ คุณนักจิตวิทยาทั้งคู่จะทำเรื่องดาร์คๆ อย่างความสิ้นหวัง แต่คุณเขาก็ยังพูดถึงวิธีการสร้างความหวังไว้เช่นกันค่ะ

ดังนั้น เราลองมาดูกันไหมคะว่า เราจะสร้างความหวังกันได้อย่างไร

ความหวัง คือการที่เราพยายามจะเชื่อและพยายามที่จะมองตัวเองว่ายังคงมีวิธีหรือมีหนทางที่จะเกิดสิ่งที่ดีๆ ในชีวิตได้นะ และเรายังพอรู้สึกว่าฉันน่าจะไปถึงทางที่แสงสาดส่องได้ แม้ว่าตอนนี้ฉันจะอยู่ในจุดที่มืดมิดก็ตาม เช่น

แม้ว่าฉันจะนกมาแล้ว 20 ครั้ง แต่ฉันก็ยังพยายามอยากจะเชื่อว่าครั้งที่ 21 มันน่าจะดี

แม้ว่าฉันจะตอบได้คะแนนไม่ดี สอบตก แต่ครั้งนี้ฉันน่าจะสอบผ่านนะ

แม้ว่ารอบนี้ผู้ใหญ่จำนวนมากจะไม่เข้าใจฉัน แต่มันอาจจะมีสักคน สองคน ที่เปลี่ยนใจ หันมาเข้าใจฉัน

นีทเชื่อว่าการสร้างความหวังในความสิ้นหวัง เราต้องค่อยๆ เพิ่มความหวังให้กับตัวเองที่ละนิด เชื่อว่าสถานการณ์นั้นมันจะค่อยๆ ดีขึ้นทีละนิด ถ้าหากเราไปคิดว่ามันต้องดีขึ้นทันตา มันคงไม่ใช่ ไม่ได้

การสร้างความหวัง เหมือนกับการที่เราค่อยๆ เก็บเงินทีละนิด ถ้าเราค่อยๆ เก็บเงินวันละ 10 บาท ผ่านไป 10 วัน เท่ากับ 100 บาท ผ่านไป 1 เดือน เท่ากับ 300 บาท ผ่านไป 1 ปีเท่ากับ 3,650 บาท แม้ว่ามันจะดูเล็กน้อยแต่มันก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นนะ โดยนีทมีวิธีการเพิ่มความหวังให้กับวัยุร่นดังนี้ค่ะ

Just RELAX: หลังผ่านมรสุมชีวิตมานั้น สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือการสร้างสมดุลให้กับตัวเอง ปล่อยให้ตัวเองได้ระบายหรือได้พักผ่อนค่ะ ส่วนใหญ่สิ่งที่นีทจะแนะนำน้องๆ คือ ถ้าเครียดมาก อึดอัด ให้หาทางระบายมันออกมา ไม่ว่าจะผ่านการร้องไห้ก็ดี ผ่านการพูดคุยกับใครสักคนก็ดี หรือระบายผ่านการเขียน (ย้ำนะคะว่าสิ่งนี้สำคัญมาก) การร้องไห้หรือการระบายไม่ใช่ความอ่อนแอ แต่ถือว่าเป็นการสำรวจตัวเองอย่างหนึ่งว่าตอนนี้ฉันรู้สึกอย่างไร คิดอย่างไรกันนะ

ถ้าเหนื่อยมาก ท้อไปทั้งร่างกาย นีทแนะนำว่าเราต้องให้ร่างกายได้พักค่ะ ไม่ว่าจะนอนเยอะก็ดี หรือบางที…นีทชอบอาบน้ำนานๆ ค่ะ เหมือนการให้ร่างกายเราได้ชำระความแย่ออกไป หรืออีกสิ่งหนึ่งที่เติมพลังได้ดีคือ กินของอร่อยค่ะ แม้ว่ามันจะแย่มากๆ นะ แต่วันนี้ก็ได้กินของอร่อยอยู่นะ (ถือว่าเป็นรางวัลในวันที่ฟ้าไม่เป็นใจแล้วกันค่ะ) หรือบางทีอาจไปเที่ยวค่ะเพื่อเอาตัวเองออกจากสถานที่หรือเหตุการณ์ที่รับไม่ได้ เอาเป็นว่าทำอะไรก็ได้ให้ร่างกายเราได้พัก เหมือนนักรบในสนามรบก็ยังมีการนอนพักรบเลย แล้วพอเช้าวันใหม่ ซามูไรก็ค่อยขี่ม้าไปสู้กัน ตามฉากพระอาทิตย์ขึ้น (อันนี้ก็อินการ์ตูนซามูไรญี่ปุ่นไปนิดนึงค่ะ ฮ่าๆ)

Watch HOPE: นีทอยากให้น้องๆ ทุกคนหาวิธีการเพิ่มความหวัง สร้างกำลังใจให้ตนเองใหม่อีกครั้ง เพราะ ตอนที่เราต้องเผชิญกับสิ่งที่โหดร้าย เราคงหมดแรงเหมือนรถที่ไม่มีน้ำมันใช้วิ่ง เหมือนโทรศัพท์ที่ไม่มีแบต ดังนั้น เราจึงต้องหันมาเติมใจ เติมความหวังให้ตนเองค่ะ 

เช่น เราอาจจะไปดูหนังดูการ์ตูนที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเรา ให้กลับมาลุกขึ้นสู้อีกครั้งหนึ่ง ตัวนีทเองเวลาท้อแท้ มักจะกลับไปดูการ์ตูนค่ะ ซึ่งมีฉากในดวงใจนะคะว่าต้องเป็นตอนนี้เท่านั้น เช่น เรื่อง MY HERO ACADEMIA ค่ะ โดยเฉพาะตอนแรก ที่ตัวเอกถามฮีโร่ว่า “อย่างผมจะเป็นฮีโร่กับเขาได้ไหม” ฉากนี้ เป็นฉากที่สร้างพลังให้นีทอย่างมากค่ะ (ปล. น้องๆ ไม่จำเป็นต้องอินตามพี่นีทนะคะ แต่อยากให้น้องมีหนัง หรืออะไรสักอย่าง ที่เพิ่มพลังหรือสร้างความหวังให้น้องๆ ค่ะ)

หรือบางที นีทก็ชอบฟังเพลงค่ะ เน้นย้ำอีกสักนิดว่า เป็นเพลงที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเรานะคะ เช่นเพลง ฤดูที่แตกต่างค่ะ (เก่าไปสำหรับน้องๆ หรือเปล่านะ) ถ้าจะ Go inter หน่อย ก็เพลงของ ROCKET GIRL ค่ะ นีทชอบเพลง LIGHT มาก โดยเฉพาะตอนที่เราร้องว่า “และแล้ว เราก็เป็นดั่งดวงดาวที่เจิดจรัสทั่วฟ้า ในที่สุดก็สามารถส่องประกายให้กับความฝันของตนเองได้” (มีคนแปลให้แบบนี้นะคะ ในคลิปเพลง อิอิ)

นีทเชื่อว่า เมื่อเราได้เติมพลังใจ มันทำให้เราหวังกันต่อไปได้ค่ะ

FACE IT: การกลับมาเผชิญหน้า โดยเริ่มต้นตั้งแต่

  • BELIEVE Yourself อยากให้เรา Self-Talk หรือบอกกับตัวเองกันค่ะ เช่น ฉันยังไม่ยอมแพ้ ฉันน่าจะทำได้ มันยังมีหวังอยู่นะ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าเราทำมันได้นะ
  • THINK พอเราเริ่มพอ หรือรู้สึกลงตัวมากขึ้นแล้ว อยากให้เราค่อยๆ มาค้นหากับตนเองว่า แล้วเราจะสร้างหนทางกันใหม่อย่างไรเพื่อให้เราไปถึงเป้าหมาย เช่น ฉันจะวางแผนใหม่กับพี่นักจิตวิทยา ฉันอาจจะไปเรียนพิเศษเพิ่มนะ ฉันอาจจะไปปรึกษาเรื่องความรักกับพี่ชายดู หรือฉันตัดสินใจที่จะเขียนโน้ตถึงพ่อแม่ในบางเรื่องแทนการพูดคุยหรือให้ผู้ใหญ่ท่านอื่นช่วยคุยให้ เป็นต้น
  • CHEER up นีทอยากให้เราให้กำลังใจตัวเองทุกวันว่า วันนี้เราทำอะไรได้ดีขึ้น หรือวันนี้เรารู้สึกเต็มไปด้วยความหวังอย่างไรค่ะ เช่น ดีใจจังวันนี้ฉันไม่ทะเลาะกับแม่ วันนี้ฉันเรียนเลขรู้เรื่องมากขึ้น วันนี้ฉันร้องไห้น้อยลงแล้ว เป็นต้น

นีทเชื่อว่า มนุษย์มีพลังวิเศษค่ะ ถ้าเราพอมองเห็นหนทาง เราจะพอมีพลังวิ่งต่อไป ดังประโยคที่นีทชอบมากจากการ์ตูนเรื่อง หัตถ์เทวดา เทรุ 

“ดีแล้วล่ะ ร้องไห้เยอะๆ กินเยอะๆ แล้วก็นอนเยอะๆ ถ้าทำอย่างนั้นแล้ว พรุ่งนี้จะต้องมีรอยยิ้มที่สดใสแน่นอน” 

อ้างอิง
Seligman, M. E. (1972). Learned helplessness. Annual review of medicine, 23(1), 407-412.
Snyder, C. R. et al. (2002). Hope theory: Rainbow in the mind. Psychological Inquiry, 13(4), 249-275.
A Brief Hope Intervention to Increase Hope Level and Improve Well-Being in Rehabilitating Cancer Patients: A Feasibility Test

Tags:

คาแรกเตอร์(character building)Character world

Author:

illustrator

เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์

นักจิตวิทยาโรงเรียน ผู้ฝันอยากจะเป็น “ฮีโร่” ให้กับเด็กๆ และวัยรุ่น ให้เขามีความสุขในชีวิตมากขึ้น ปรับตัวได้ดีมากขึ้น และมีพลังมุ่งหน้าไปสู่ฝัน นอกจากนี้ยังมีความโลภอยากจะเชิญชวนให้มนุษย์ผู้ใหญ่ทุกคนมาร่วมกันเป็น “ฮีโร่” ของเด็กๆ ผ่านปลายปากกา

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Character building
    Compassion Deficit Disorder: ทำอย่างไรในยุคที่เด็กๆ (และเรา) ป่วยเป็นโรคขาดความเมตตา

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Character building
    สอนให้เด็กเห็นคุณค่าสิ่งที่มี ขอบคุณยินดีกับสิ่งที่เกิดขึ้น เขาจะเป็นเด็กที่มีความสุขที่สุดในโลก

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Character building
    หาก Grit คือความเพียร แต่จะเพียรพยายามในเรื่องที่ไม่อินมากๆ ได้อย่างไร?

    เรื่อง เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • 21st Century skills
    ในห้องเรียน ‘ความคิดสร้างสรรค์’ วัดกันได้ และไม่ต้องใช้คะแนนหรือเกรดเฉลี่ย

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา

  • Character building
    PROJECT-BASED LEARNING ทักษะมาก่อน คะแนนจะตามไป

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา

#ถ้าการเมืองดี การศึกษาจะ … (จุด จุด จุด)
Social Issues
6 November 2020

#ถ้าการเมืองดี การศึกษาจะ … (จุด จุด จุด)

เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดีเพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา ภาพ ภาพพิมพ์ พิมมะรัตน์

ผ่านตาอย่างไวๆ ในกรุ๊ปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของคุณครูรุ่นใหม่ที่มีไฟฝันกรุ๊ปหนึ่ง ความเห็นจากคุณครูท่านหนึ่งโพสต์ไว้อย่างน่าสนใจและชวนคิดตามประมาณว่า #ถ้าการเมืองดี คุณครูเก่งๆ จะไม่ลาออก คอมเมนต์ในนั้นคิดเล่นเห็นต่าง ร่วมแลกเปลี่ยนกันอย่างหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่แล้วมักแลกเปลี่ยนกันถึงความทุกข์ที่สะสมทับถมของวงการศึกษาในแง่ ‘คนใน’ เท่านั้นที่เข้าใจ 

ไม่ได้ตั้งใจแพร่บรรยากาศลบหรือทำให้วงการศึกษามัวหมอง เพียงแต่… หากเชื่อว่าการเรียนรู้คือการวิพากษ์รับฟีดแบก ติเพื่อก่อ เพื่อปรับปรุงระบบไม่ให้ #ครูเก่งต้องลาออก ตามความหมายนั้นจริงเพียงเพราะวัฒนธรรมที่ป่วยไข้เรื้อรังไม่ถูกรับ เราน่าจะเอาความจริงขึ้นมากางเพื่อพูดคุยถกเถียงกันต่อได้ และที่สำคัญ…หากครูที่ทุกข์เช่นนี้เหมือนกันผ่านมาอ่านเจอ อาจรับรู้ได้ว่ามีคนที่คิดเช่นนี้เป็นเพื่อนกันอีกหลายคน 

เหนือสิ่งอื่นใด ผู้มีส่วนได้เสียในการศึกษา – อันที่จริงก็คือพวกเราทุกคน เพราะการศึกษาคือรากฐานของการพัฒนาคุณภาพชีวิต – ทุกคนเป็นผู้ร่วมออกแบบระบบ ได้รับฟังปัญหาของคนในเพื่อทำความเข้าใจและร่วมออกแบบแก้ไขปัญหาต้องตรงกันได้ 

นี่คือความเห็น #ถ้าการเมืองเมืองดี การศึกษาจะ … (จุด จุด จุด) ในมุมของคุณครูจำนวนหนึ่งค่ะ 

#ถ้าการเมืองดี เด็กทุกคนจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน และครูไม่ตกอยู่ในวาทกรรมแห่งการเสียสละ

คมสัน กิมาลี โรงเรียนจารุศรบำรุง

“ผมเป็นคนนครพนม ตอนเด็กๆ ชอบเรียนหนังสือและเรียนดีระดับหนึ่งเลยละ แต่ครอบครัวเราเป็นชาวนา ไม่มีตังค์ จำได้ว่าตอนประถมผมอยากไปค่ายวิทยาศาสตร์ มันต้องใช้เงิน 400 บาทซึ่งพ่อแม่ไม่มีให้ ที่ผมต้องทำคือทิ้งความอยากไป และยอมรับว่าเราจน เราไม่มีตังค์ หรืออย่างช่วงติวเข้ามหา’ลัย เพื่อนที่พอมีตังค์จะไปติวกันที่โรงเรียนกวดวิชา ซึ่งพ่อแม่ผมไม่มีตังค์ให้ ผมต้องอ่านหนังสือเอง

“แต่สุดท้ายผมสอบติดคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ แต่เพราะช่วงนั้นไม่ใช่ฤดูเก็บเกี่ยว ที่บ้านเลยไม่มีตังค์และคงไม่มีเงินไปรายงานตัวกับมหา’ ลัย แต่สุดท้ายครูที่โรงเรียนควักเงินส่วนตัวให้ผมกันคนละ 500-1000 บาท บอกว่าเอาไปเรียนต่อ เอาไปรายงานตัวซะ กลายเป็นว่าผมได้รับโอกาสได้เรียนต่อ แต่ถ้าไม่มีครูคนนั้นผมก็คงไม่ได้เรียนและไม่ได้มาถึงจุดนี้ แล้วกับเด็กคนอื่นๆ ที่ไม่ได้โอกาสเหมือนเรา เรียนไม่เก่ง หรือเรียนได้สอบได้แต่ไม่มีเงินล่ะ?

“เราเป็นเด็กชาย ได้เห็นสังคมตั้งแต่ระดับล่างสุดจนถึงการศึกษาระดับชั้นนำ มันทำให้เราอยากเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่าง ถึงบอกว่า #ถ้าการเมืองดี เด็กทุกคนจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน และคงไม่ต้องมีครูเสียสละให้เงินส่วนตัวกับใคร

“ถ้าการเมืองดีเด็กทุกคนจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียม การศึกษาที่มีคุณภาพจะไม่กระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองหรือในโรงเรียนใหญ่ๆ ถ้าการเมืองดีการออกนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาจะมีการกระจายงบประมาณที่ดี ถ้าการเมืองดี เราใช้การวัดและประเมินผลที่มีคุณภาพและเท่าเทียม ครูจะประเมินได้ว่าตัวเองสอนมีคุณภาพรึเปล่า

“ส่วนที่บอกว่าถ้าการเมืองดีครูจะไม่ต้องเสียสละ เราโดนวาทกรรมเรื่องครูจะต้องเสียสละกดอยู่มากเลยนะ เสียสละเวลาส่วนตัว เสียสละงบส่วนตัวสำหรับซื้อสื่ออุปกรณ์การสอนทั้งที่รัฐควรจัดงบประมาณให้แต่ละโรงเรียนอย่างมากเพียงพอให้ครูนำไปพัฒนาการทำสื่อหรือการจัดการเรียนรู้ แต่ตอนนี้ครูต้องดูแลไมค์และเครื่องเสียงของโรงเรียน ถ้าเป็นฝ่ายสถานที่อาจต้องซื้อกรรไกรตัดหญ้า หรือกระดาษเอสี่ โรงเรียนจะแจกแค่ 1 – 2 รีมสำหรับหนึ่งปี ทั้งที่ต่อปีครูใช้ไม่ต่ำกว่า 20 รีม เด็กบางคนไม่มีเงินกินข้าว ครูก็เอาเงินตัวเองออกเอง หรือบางทีครูต้องลงไปทำครัวเอง เวลาครูไปเยี่ยมบ้าน ค่ารถ ค่าน้ำมัน เราไม่เคยได้เบิกเลย เงินเดือนครูสตาร์ทหมื่นห้า จะให้เราเหลือเท่าไร?

“ทั้งหมดนี้เราโดนกดด้วยคำว่า ‘ครูต้องเสียสละ’ มาตลอด แต่เราเสียสละขนาดไหน? ทั้งหมดนี้มันเกินเลยจากคำว่าเสียสละไปสู่คำว่า ‘ขาดแคลน’ และทำให้ครูเก่งๆ มีความรู้ความสามารถเขาก็ไม่อยากมาเป็นครู”

ถ้ามีพร 1 ข้อ ที่สามารถปรับหรือเปลี่ยนระบบการศึกษาได้ อยากขออะไร?

“ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เก่ง/ไม่เก่ง ดี/ไม่ดี ในระบบ/นอกระบบ เด็กชายขอบ ไร้สัญชาติ พวกเขาจะได้รับโอกาสโดยไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ผมยังเชื่อในปรัชญาการศึกษาว่ามันคือการพัฒนาคุณภาพชีวิต ถ้าเขาได้รับโอกาสก็จะส่งต่อโอกาสนั้นให้คนอื่น เขาจะพัฒนาชีวิตตัวเองได้ ทำให้ครอบครัวและคนรอบข้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้”

#ถ้าการเมืองดี มีสวัสดิการเท่าเทียม คุณภาพชีวิตคนจะดี ได้ครูเก่งๆ มาสอน

เติ้ล – สุริยันต์ ปัญญาทอง ครูประจำวิชาสังคมศึกษา โรงเรียนบางกะปิ

“เหตุผลที่แต่ละคนมาเป็นครูไม่เหมือนกัน ต้องยอมรับว่าครูเองก็เป็นข้าราชการคนหนึ่ง ดังนั้น ก็เป็นหนึ่งเหตุผลว่าทำไมคนถึงอยากเป็นครู อาจเพราะสวัสดิการที่มันดีกว่าโดยปกติ แต่ถ้าวันหนึ่งการเมืองเราดี มีรัฐสวัสดิการที่ดีจริงๆ ทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่ดี เข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ดีจริงๆ หลายคนอาจไม่ต้องพยายามมาเป็นครูเพื่อให้ได้สวัสดิการ ระบบก็ได้คนที่อยากเป็นครูจริงๆ ถ้าคุณไม่ได้ตั้งใจมาพอมาเจองานอื่นที่ไม่ได้แค่สอนความสุขในการทำงานก็ยิ่งลดลงไว  แล้วพวกภาระงานอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการสอน ถ้าการเมืองมันดีจริง สิ่งต่างๆ พวกนี้จะไม่มากระทบกับครูและผู้เรียน

“สำหรับผมพอเข้ามาเป็นครูในระบบ สิ่งที่ทำให้กังวลใจ ทำให้เราท้อ คือผู้เรียนเขาไม่มีความสุขกับสิ่งที่เขาเรียน เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาเรียนอยู่ทุกๆ วันมันไกลตัวเขาไปเรื่อยๆ สุดท้ายเขาก็เรียนเพื่อไปสอบ เพื่อเข้าลู่วิ่งเดียวคือเป็นความหวังของพ่อแม่ ไม่ว่าจะเลือกเรียนอะไรคุณต้องยึดหลักความมั่นคง เพราะมันก็คือการลงทุนของพ่อแม่ที่ส่งเด็กคนหนึ่งเรียน เพื่อที่เขาจะได้สบายทั้งครอบครัว ทำให้เด็กไม่มีความสุขกับการเรียนจินตนาการและความฝันตัวเองถูกลดทอน เขามาเรียนกับเราแค่อยากผ่านเท่านั้น ไม่ได้อยากมาเรียนจริงๆ เขาถูกบังคับจากที่บ้าน ‘คุณควรมาเรียนนะ เพราะฉันให้คุณเรียน’

“โรงเรียนที่ผมเคยอยู่เป็นโรงเรียนขยายโอกาสหรือแม้แต่ตอนนี้ยังพบปัญหา ส่วนใหญ่เด็กมีปัญหาความยากจน พ่อแม่หย่าร้าง ไม่มีเงินมาเรียน คือต่อให้เรียนฟรีก็จริง แต่เขายังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก เช่น ค่าเดินทาง ค่าชุดนักเรียน ปัญหาที่ผมเจอตอนนี้ คือ เด็กรู้สึกว่าสิ่งที่เขาเรียนไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตเขา เขาก็ไม่อยากจะเรียน มีทางเลือกอื่น หรือการเรียนทางอื่น โอเค ฉันทำงานตอนนี้ได้เงินตอนนี้ ฉันหันหลังให้กับการเรียนแบบนี้ดีกว่า

“ด้วยความที่เราเป็นเด็กต่างจังหวัดด้วย เราเห็นชัดมากเรื่องความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาถ้าเทียบกับเด็กในเมืองและเด็กต่างจังหวัดไม่เหมือนกัน แล้วผมโตในครอบครัวที่แม่ไม่ได้เรียนหนังสือ อ่านหนังสือไม่ออกด้วยซ้ำ นี่เลยเป็นคือความตั้งใจแรกของเราที่เข้ามาเป็นครูในระบบ เราต้องไม่ให้เกิดสิ่งนี้ในสังคมอีก สังคมต้องไม่มีคนที่ไม่รู้หนังสือ หรือไม่มีความรู้พื้นฐาน

“ถ้าการเมืองดี คุณภาพชีวิตผู้คนจะดี เขาไม่ต้องดิ้นรนปากกัดตีนถีบ เด็กก็เรียนรู้ได้ดีขึ้น เช่น ผมสอนเด็กเรื่องการแบ่งปัน ถ้าคุณภาพชีวิตเขามันยังไม่ดี กลับบ้านไปยังนึกไม่ออกเลยว่าวันนี้จะได้กินอะไรรไหม เขาไม่เข้าใจหรอกว่าการแบ่งปันคืออะไร แต่ถ้าชีวิตเขาโอเค กินอิ่มนอนหลับ สอนเรื่องแบ่งปันเขาก็เข้าใจง่ายขึ้น สังคมมันต้องเป็นแบบนี้ก่อน”

ถ้ามีพร 1 ข้อ ที่สามารถปรับหรือเปลี่ยนระบบการศึกษาได้ อยากขออะไร?

“อยากให้นักเรียนของผมมีตัวตน ให้เสียงของเขามีความหมาย เวลาเราพูดถึงปัญหาการศึกษาหรือหลักสูตรอะไรก็ตาม เราคิดถึงผู้เรียนหมดนะ แต่กลายเป็นว่าคนที่ได้รับผลกระทบอย่างผู้เรียนแทบจะไม่มีพื้นที่ได้พูดเลย เขาไม่ได้สิทธิ์แสดงความคิดเห็น ได้ออกแบบการสอนออกแบบหลักสูตรหรือมีพื้นที่ที่จะได้พูด ถ้าให้นักเรียนได้มีตัวตน ทุกคนได้ฟังเสียงของเขา การศึกษาเราจะโฟกัสขึ้น การทุ่มงบประมาณมันจะตอบโจทย์เขา เป็นการศึกษาเพื่อตัวนักเรียนจริงๆ

“การ disruption เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเจอ อยู่ที่ตัวครูผู้สอนว่าเราจะวางแผนการศึกษาคนในประเทศนี้อย่างไร ถ้ายึดหลักสูตรเดิมๆ เราจะตามผู้เรียนทันหรือเปล่า แล้วในสภาวะที่อัตราประชากรเราเติบโตน้อยลง เราฝากความหวังให้คนรุ่นใหม่ที่จะเป็นคนขับเคลื่อนประเทศนี้ เราก็ต้องมาทบทวนว่าสิ่งที่เราสอนมันตอบโจทย์ไหม ผู้สอนจะต้องวางบทบาทตัวเองแบบไหน 

“สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่ายังทำให้ครูยังพอมีบทบาทอยู่คือความเป็นมนุษย์ เทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนได้ เพียงแต่ว่าครูในตอนนี้ต้องถามตัวเองว่าเรายังเป็นมนุษย์อยู่แค่ไหน เราควรเริ่มเป็นมนุษย์ตอนนี้ได้หรือยัง บางทีเราอาจละเลยความเป็นมนุษย์ไป ความเห็นอกเห็นใจผู้เรียน ทำให้ช่องว่างระหว่างครูและนักเรียนห่างกันไป”

#ถ้าการเมืองดี วัฒนธรรมอำนาจเชิงโครงสร้างจะถูกปฏิรูป

ปานตา ปัสสา ครูประจำชั้นอนุบาล โรงเรียนบ้านดอนทับช้าง

“ด้วยความที่เราเป็นครูอายุน้อยที่สุดในโรงเรียน ตอนเข้ามาใหม่ๆ จะมีรังสีการข่มจากครูคนอื่นที่อาวุโสกว่า แต่เพราะตัวเองเป็นสายไฝว้มาตลอด เราไม่ยอม จนช่วงนึงโดนบอยคอตเล็กๆ ไปเลย ตอนนั้นพยายามตั้งหลักว่าเรามาทำงานไม่ได้มาเอาใจใคร เธอไม่ชอบฉันก็แล้วแต่เธอเพราะฉันก็ไม่ค่อยชอบเธอสักเท่าไรเหมือนกัน (หัวเราะ) แต่ด้วยอะไร หลายๆ อย่างมันพิสูจน์ได้ว่าเราไม่ได้เป็นคนก้าวร้าว ที่เราพูดหรือตั้งคำถามตรงๆ เพราะอยากให้งานออกมาดี เราเสนอความคิดในฐานะที่เรามีความคิดอีกมุมที่อยากให้เค้าเข้าใจ

“เอาจริงๆ ในโรงเรียนมันมีลำดับชั้นเหมือนลำดับนางสนม มีฮองเฮา สนมเอก สนมโท เหมือนมีใครเอาปากกามาขีดเส้นใต้ลำดับชื่อคนว่า เธออยู่ชั้นนี้ ชั้นอยู่ชั้นนี้ เป็นเส้นบางๆ ที่มองไม่เห็นแต่ทำให้รู้สึกว่าเธอไม่มีสิทธิ์มาพูดแบบนี้กับฉัน เพราะเธอเป็นแค่ลูกจ้าง ส่วนฉันคือครูชำนาญการพิเศษ เช่น พี่ที่ทำงานธุรการจะรู้สึกว่าเขาปฏิเสธงานที่ถูกสั่งมาจากครูคนอื่นที่โยนงานมาให้เขาไม่ได้ เขาไม่กล้ายืนยันว่านี่ไม่ใช่หน้าที่ของเขาแต่คือของคุณ คุณโยนงานไม่ได้ 

“เรารู้สึกว่าแบบนี้ไม่ถูกต้อง เลยบอกกับพี่เขาไปว่า ‘พี่บอกเขาไปเลยว่านี่มันไม่ใช่หน้าที่ของพี่นะ’ แต่คำตอบที่ได้รับทำให้เราจุกไปเลย และมันกลับไปอธิบายแฮชแทกที่ว่า ‘#ถ้าการเมืองดี คนในระบบการศึกษาจะมองบุคลากรในโรงเรียนทุกคนเท่ากัน’ คือคำตอบว่า ‘พี่ไม่กล้า น้องก็พูดได้สิเพราะน้องเป็นครูแต่พี่เป็นแค่ลูกจ้าง’ ตอนนั้นเราได้แต่ยืนยันกลับไปว่าอย่าคิดอย่างนั้น เพราะเราทุกคนต่างทำงานเหมือนกัน  ต่อให้ตำแหน่งชั้นทางวิชาการต่างกันแต่ทุกคนทำงานเหมือนกัน ครูไม่ใช่คนที่ลอยมาจากฟ้าแต่คือคนทำงานที่ให้บริการนักเรียน ควรเคารพและให้เกียรติกันในฐานะเพื่อนร่วมงาน

 “ทั้งหมดนี้ดูเหมือนเป็นปัญหาระหว่างเพื่อนร่วมงาน แต่มันกระทบหลายอย่างนะ โดยเฉพาะทางจิตใจ พอความรู้สึกเครียดและรู้สึกว่า ‘ที่นี่ไม่ใช่ที่ของเรา’ ‘ฉันคือส่วนเกิน’ มันสะสมมากเข้า บางคนก็ซึม ดาวน์ ร่วงพังไปเลย หลายคนลาออกเพราะเรื่องแบบนี้ ระบบบีบให้ทนไม่ไหวทั้งที่เขามีศักยภาพที่จะไปต่อได้อีกเยอะ

“มันไม่ใช่เพราะเราเป็นคนรุ่นใหม่ที่ตั้งคำถามกับระบบหรือเพิ่งเห็นปัญหาแล้วทนไม่ได้นะ เราไม่ได้เพิ่งรู้สึกแต่รู้สึกมาทั้งชีวิต ยายเราเป็นครู พ่อแม่เราเป็นครู ป้ากับน้าเราเป็นครู เรียกว่าเราเป็นเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษามาตั้งแต่เกิด มันไม่ใช่คำถามใหม่แต่เป็นคำถามเก่าแล้วสงสัยว่าทำไมสิ่งเหล่านี้ยังอยู่ในยุคของฉัน ทำไมปัญหาที่พ่อแม่บ๊นบ่น (เล่นเสียง) ถึงยังตกมาอยู่ในรุ่นของฉันอีก พอเรากลับไปบ่นไปง้องแง้งกับยายเรื่องนี้ เขาปลอบใจเราว่า ‘ยายก็โดน’ พอไปบ่นไปง้องแง้งกับพ่อแม่ เขาก็บอก ‘พ่อกับแม่ก็โดน’ พอไปบ่นไปง้องแง้งกับเพื่อน เพื่อนบอก ‘เออ กูก็โดน!’ คือแบบ… แล้วทำไมไม่มีใครคิดจะแก้ปัญหานี้เลย ไม่มีใคร call out ปัญหานี้ ทำไมทุกคนต้องรับสภาพทั้งที่รู้ว่ามันไม่ดีเลย มัน toxic มาก ทำไมเราทำให้มันเป็นเรื่องปกติไป (normalize) 

“เราถามพ่อแม่นะว่าทำไมไม่พูดมันออกมา พ่อบอกว่าเขาเคยทำแล้วแต่สุดท้ายเพื่อนครูที่เจอปัญหาเหมือนกันไม่กล้าร่วมด้วย กลายเป็นว่าพ่อถูกโดดเดี่ยวให้สู้อยู่คนเดียว คือตอนนั้นพ่อใช้คำว่า เขาสู้กับยุคสมัยไม่ได้ สุดท้ายพ่อบอกเราว่า ‘พ่อดีใจที่หนูกล้า กล้าที่จะไม่ทนกับอะไรแบบนี้อีกแล้ว ขอให้ในยุคของหนูมันเป็นโลกที่หนูอยากอยู่ เป็นแบบที่หนูฝัน’ คำพูดนี้เลยยิ่งเป็นแรงผลักดันให้เราบอกตัวเองว่า ถ้าไม่มีใครหยุดสิ่งนี้ได้ เราจะหยุดมันเอง เราจะทำงานกับความ ‘ไม่กล้า’ นี้ให้มันหายไปสักที”

ถ้ามีพร 1 ข้อ อยากเปลี่ยนหรือปรับระบบการศึกษาเรื่องอะไร?

“เราขออะไรง่ายๆ แล้วกันนะ ขอให้เราเลิกใช้แผ่นซีดีในการส่งงานเขตพื้นที่การศึกษาได้แล้วค่ะ (หัวเราะ) อย่างที่รู้กันว่าโรงงานแผ่นซีดีเค้าปิดกิจการไปแล้ว ไม่มีการผลิตแผ่นซีดีบนโลกนี้แล้ว แต่เขตพื้นที่การศึกษาแต่ละอำเภอยังให้ส่งงานในแผ่นซีดีอยู่เลย เรื่องนี้มันสะท้อนอะไรหลายอย่างนะว่าการศึกษาไทยไม่ได้เดินไปพร้อมกับโลก กับยุคสมัย แต่ติดกับอยู่ในกับดักเดิมๆ กับยุคสมัยเก่า เราคิดว่าสิ่งง่ายๆ อย่างการเลิกส่งงานโดยแผ่นซีดีเนี่ย เป็นจุดเริ่มต้นของการนำการศึกษาไปอยู่ในโลกยุคใหม่ได้เหมือนกันนะ

“นี่ยังหนักใจอยู่เลยว่าถ้าวันนึงแผ่นซีดีที่ซื้อเก็บไว้หมด แล้วจะเอาแผ่นไหนไปส่งเขาเนี่ย”

#ถ้าการเมืองดี ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเด็ก จะสามารถส่งเสียงถึงเรื่องที่ต้องปรับปรุงเพื่อให้การศึกษามีคุณภาพกว่านี้ได้

ครูเก๋ – ว่าที่ร้อยตรีหญิงสุดารัตน์ ประกอบมัย โรงเรียนมักกะสันพิทยา

“เราเคยเป็นครูคนหนึ่งที่คิดว่าถ้าอยากทำงานการศึกษา แค่ทำหน้าที่ของตัวเอง แค่เปลี่ยนที่ตัวเองก็พอ ไม่เชื่อว่าการศึกษากับการเมืองคือเรื่องเดียวกัน แต่พอทำงานไปเรื่อยๆ เรากลับเจอกับปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะโครงสร้างเชิงอำนาจจากลำดับอาวุโสที่กดทับเราอยู่ เขาอยากสั่งอะไรให้เราทำก็ได้ มันเป็นการทำงานที่เต็มไปด้วยความกลัว ซึ่งเรามองว่าตรงนี้ทำให้ครูที่เก่งๆ ใช้ความสามารถของตัวเองในการสอนได้ไม่เต็มที่ ถ้าครูคนนั้นไม่ได้มีภาระจำเป็นอะไรที่ทำให้ต้องอยู่ในระบบ หลายคนก็ออกไปสอนในรูปแบบอื่นๆ หลายคนออกไปเป็นติวเตอร์ด้วยเหตุผลว่าแบบนั้นก็สร้างเด็กได้มากกว่าและทำในรูปแบบของตัวเอง

“อีกอย่างคือ มันเป็นระบบที่ห้ามวิพากษ์ เราวิพากษ์ผู้อาวุโสไม่ได้ เด็กก็วิพากษ์ครูไม่ได้ แต่การเรียนการสอนมันควรต้องวิพากษ์กันได้ เรื่องนี้ควรเรียนมั้ย เรียนยังไง ข้อมูลที่ครูสอนถูกต้องรึเปล่า แต่ในระบบแบบนี้ครูถูกวิพากษ์ไม่ได้ ถ้าเถียงครูเท่ากับความผิด!!!

“แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่ทำให้เราท้อนะ เรื่องที่ทำให้เราท้อที่สุดคือการได้ยินคำพูดว่า ‘รู้ว่าสิ่งที่เก๋ทำมันดีนะ แต่เราทำแบบนั้นไม่ได้หรอก’ คำว่า ‘เปลี่ยนไม่ได้หรอก’ จากคนที่เข้าใจปัญหาแล้วนี่แหละที่ทำให้ท้อที่สุด คือถ้าเราได้ยินคำนี้จากคนที่ยังไม่เข้าใจปัญหา รู้สึกว่า ‘แบบนี้ก็ดีอยู่แล้วนี่’ เรายังโอเคนะเพราะรู้ว่าเรายังพยายามทำให้เขาเห็นว่าปัญหาคืออะไร แสดงให้เค้าเห็นว่าที่ดีกว่าคืออะไรได้ แต่ถ้าคนที่เข้าใจปัญหาแต่บอกว่า ‘มันเปลี่ยนไม่ได้’ มันแบบ… อ้าว คุณเห็นปัญหาอยู่นะ (เงียบ) แต่ยังไงก็ตาม เราเข้าใจเขานะ เราเข้าใจว่าครูก็เป็นมนุษย์คนนึงที่ต้อง save หัวใจตัวเอง การที่คนๆ นึงจะมีแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงและเชื่อว่าเปลี่ยนได้ เขาต้องหนักแน่นมากนะ ต้องเชื่อ แต่ที่บอกว่าท้อ ก็ไม่ใช่การท้อแบบจะเลิกเป็นครูนะ มันแค่ท้อและตั้งคำถามว่า ฉันจะไปทางไหนต่อดี จะย้ายที่เหรอ แต่ย้ายแล้วก็ต้องไปเจอกับปัญหาแบบเดิมมั้ย? ท้อแบบสับสนน่ะ

“แต่เด็กเขาเห็นนะ เด็กๆ เขาเฝ้าคอยมองอยู่ตลอดว่าครูแต่ละคนทำอะไร เขาสังเกต เขาเข้าใจ ทั้งที่เราไม่ได้เล่าอะไรให้ฟัง แต่เขากลับมาพูดเชิงให้กำลังใจว่าสิ่งที่ครูทำอยู่มันดีนะ อยากให้เราทำต่อไป ซึ่งอันนี้น่าสนใจมากเลยว่าเขารับรู้และมองเห็น”

ถ้ามีพร 1 ข้อเปลี่ยนการศึกษาไทย เปลี่ยนอะไรดี? – เราถาม

“ไม่มีการสอบ โดยเฉพาะการสอบมาตรฐานอย่างโอเน็ต เรามองว่ามันเป็นการเอาแบบประเมินแบบเดียวมาวัดแล้วบอกให้ทุกคนเป็นแบบเดียวกันหมด แต่เราทุกคนไม่มีใครเหมือนกัน เราโดดเด่นกันคนละแบบ การที่คนๆ หนึ่งตอบคำถามที่บังคับให้คนตอบเหมือนกันไม่ถูก ไม่ได้แปลว่าเขาไม่มีความสามารถ เราอยากให้ระบบเข้าใจว่าการสอบไม่ได้วัดประเมินคนได้ทุกคน

“แต่จะไม่มีการสอบได้ มันก็ต้องมาจากความเชื่อที่ว่า เด็กๆ ได้เลือกเรียนอย่างอิสระ ไม่ต้องบังคับว่าทุกคนต้องเรียนฟิสิกส์ เคมี ตรงตามวิชาเหล่านี้เป๊ะๆ แต่ทุกคนควรได้เรียนจากความชอบของเขาเอง สนใจกับความครีเอทีฟของเค้า”

Tags:

ครูประชาธิปไตยDisruptionInsKru

Author:

illustrator

ณิชากร ศรีเพชรดี

แอดมิชชันเข้าคณะการเขียนและสิ่งพิมพ์เพราะคิดว่าเขาจะสอนให้เขียนนิยาย แทนที่จะได้เขียนจากจินตนาการ อาจารย์และทุกอย่างที่นั่นเคี่ยวกรำให้ทำ-คิด-เขียน-รู้สึกกับประเด็นสังคม ยังคงสนุก(มาก)กับงานสื่อสาร ฝันสูงสุดคือยังเข้มแข็งเขียนงานได้อย่างมีคุณภาพและฐานะดี

illustrator

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

เพิ่งพ้นรั้วมหาวิทยาลัยจากคณะแห่งการเขียนและสื่อมวลชน แม้ทำงานแรกในฐานะกองบรรณาธิการ The Potential หากขอบเขตความสนใจขยายไปเรื่องเพศ สิ่งแวดล้อม และผู้ลี้ภัย แต่ที่เป็นแหล่งความรู้วัยเด็กจริงๆ คือซีรีส์แวมไพร์, ฟิฟตี้เชดส์ ออฟ จุดจุดจุด และ ยังมุฟอรจาก Queer as folk ไม่ได้

Illustrator:

illustrator

ภาพพิมพ์ พิมมะรัตน์

เพิ่งค้นพบว่าเป็นคนชอบแมวแบบที่ชอบคนที่ชอบแมวมากกว่าชอบแมว (เอ๊ะ) มีความฝันว่าอยากเป็นแมวที่ได้อยู่ใกล้ๆคนที่ชอบ (จริงๆ ก็แค่อยากมีมนุดเป็นทาสและนอนทั้งวันได้แบบไม่รู้สึกผิดน่ะแหละ)

Related Posts

  • Voice of New Gen
    พังกำแพง ‘ก็เขาทำกันมาแบบนี้’ : เป้าหมายของมายมิ้น – ศุกรียา วรรณายุวัฒน์ Voice of new gen วงการการศึกษาไทย

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา ภาพ ศรุตยา ทองขะโชค

  • Learning Theory
    ประชาธิปไตยง่ายๆ เริ่มได้ที่ห้องเรียน

    เรื่อง The Potential ภาพ KHAE

  • Social Issues
    แฟนฟิค ทศกัณฑ์ โพลีแคท ธนาธร พ่อหล่อสอนลูก งานวิจัยของเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่ได้สนใจแต่ตัวเอง

    เรื่อง

  • Voice of New Gen
    ครูสอนสังคมที่ให้สังคมสอนนักเรียน : ‘ครูพล’ อรรถพล ประภาสโนบล

    เรื่อง

  • Unique Teacher
    ‘ครูพล’ คุณครูสังคมศึกษาที่ไม่สอนตามตำราและเอาแต่ถามว่าทำไม

    เรื่อง รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

ศิริพร ฉายเพ็ชร หน้าที่ของเราคือสร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้ออกแบบ (นวัตกรรมเพื่อ) สังคมในแบบของตัวเอง
Everyone can be an Educator
4 November 2020

ศิริพร ฉายเพ็ชร หน้าที่ของเราคือสร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้ออกแบบ (นวัตกรรมเพื่อ) สังคมในแบบของตัวเอง

เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

  • คุยกับ เอ๋ – ศิริพร ฉายเพ็ชร นักเคลื่อนไหวทางสังคมที่วันนี้ต่อยอดโปรเจ็กต์ร่วมกับคนรุ่นใหม่ ทำ SYSI สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม
  • ตั้งแต่เรื่องชีวิต การเดินทางขับเคลื่อนประเด็นสังคม และการออกแบบกระบวนการผลักงานคนรุ่นใหม่ ก่อนจะแตกหน่อต่อยอดมาเป็น SYSI ในวันนี้
  • ผู้อยู่เบื้องหลังการเดินทางของไผ่ ดาวดิน และอีกหลายคนรุ่นใหม่ที่ทำงานขับเคลื่อนสังคม ที่เอาเข้าจริงแล้ว งาน NGO ก็เป็นอีกหนึ่งนิยามของคำว่า ‘นวัตกรรม’

ประการแรก – สารภาพตามตรงว่าตอนแรกที่เห็นโครงการ SYSI (Society of Young Social Innovators) พร้อมคำอธิบายในเว็บไซต์และทุกช่องทางสื่อสารของทีมงานว่าคือ เครือข่ายนวัตกรรมสังคม เราเข้าใจเพียงว่าโครงการนี้ต้องทำหน้าที่คล้ายกับ ‘โค้ช’ ของทีมนวัตกรรมที่อยากทำธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) อย่างที่พบเห็นทั่วไปในปัจจุบันแน่ๆ หากพอค่อยค้นข้อมูลก็พบว่า ‘เธอ’ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งที่จะมาพูดคุยให้ข้อมูลกับเราเป็นใคร ก็ยิ่งรู้สึกว่า…คำว่า ‘นวัตกรรมทางสังคม’ อาจให้นิยามที่ลึกกว่าที่เราคาดคิด

เริ่มตั้งแต่ ‘เธอ’ ชักชวนเราให้เข้าสังเกตการณ์เวิร์กชอป ‘ระดับใกล้โปร Turn-Pro’ ที่จังหวัดกาญจนบุรี ครั้งนั้น กลุ่มที่ผ่านเข้ามารุ่น Turn-Pro เข้ามาด้วยประเด็นหลากหลาย ตั้งแต่ครูที่ตั้งใจใช้กระบวนละครมาสอนวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารจริง, กลุ่มแม่บ้านที่นำทีมโดยคนหลากหลายทางเพศ, กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำข้อมูลที่ทำกินทั้งประเทศให้ค้นและใช้ได้จริง, กลุ่มแพทย์ที่ต้องการทำแอปพลิเคชันช่วยตรวจเช็คสุขภาพก่อนเข้ารับการตรวจจริงที่โรงพยาบาล, กลุ่มที่ต้องการสร้างความเข้าใจเรื่องแฟชั่นยั่งยืน และอื่นๆ ที่ให้เห็นเฉดความสนใจประเด็นทางสังคมของคนรุ่นใหม่ว่ามีหลากหลายประเด็นและเต็มไปด้วยไฟฝัน  

ความน่าสนใจอยู่ที่ระหว่างเวิร์กชอป (ซึ่งแม้เราไปแค่วันเดียว) ยังได้เห็นบรรยากาศการพูดคุยถกเถียงที่ทั้งเข้มข้นในการแลกเปลี่ยนความคิดอันเนื่องจากการเห็นประเด็นรอบด้านไม่เท่ากัน (แน่นอนสิเนอะ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้อง ‘แลก’ ข้อมูล) การตั้งคำถามของกระบวนกรที่ไม่กะเกณฑ์ว่าผู้ฟังต้องเชื่อตามนั้นแต่สุดท้ายแล้วต่างฝ่ายต่างได้ข้อมูลใหม่ๆ กลับไปถกเถียงกับตัวเองต่อ หรือกระทั่งเวิร์กชอปการทำงานภายในกับตัวเองเพื่อถามเช็คจุดประสงค์ความต้องการลึกๆ ของเราจริงๆ – นี่เป็นแค่ช่วงถกเถียงเพื่อให้เข้าใจประเด็นที่แต่ละทีมอยากทำ ยังไม่เข้าขั้นไปสู่การสร้างนวัตกรรมและเครือข่ายเลย

ทั้งหมดนี้ทำให้เราตั้งคำถามว่า เอาเข้าจริงแล้ว SYSI ทำอะไรบ้าง และการพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้เข้าใจประเด็นทางสังคมรอบด้านเพื่อไปสร้างนวัตกรรมของตัวเองต่อ ต้องทำอะไรบ้าง? …นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเสียแล้ว

ประการต่อมา – เราตั้งต้นด้วยคีย์เวิร์ด ‘นวัตกรรมทางสังคม’ แต่ข้อมูลที่ได้รับมาพร้อมกันคือ ‘เธอ’ คนนี้ คือผู้อยู่เบื้องหลังการเดินทางของ* จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน, พร้อมๆ กับคนทำงานสังคมอีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเอิร์ท – ภูมิสิทธิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย ผู้ร่วมก่อตั้ง a-chieve ชูใจ จากชูใจคอฟฟี่ และคนอื่นๆ ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม – ที่เราไม่เข้าใจคือ คนรุ่นใหม่ที่ทำงานขับเคลื่อนสังคมเหล่านี้ เชื่อมกับคำว่า ‘นวัตกรรมทางสังคม’ อย่างไร และ เธอเข้าไปจัดกระบวนการเรียนรู้ให้คนกลุ่มนี้อย่างไร 

‘เธอ’ ที่ว่าคือ เอ๋ – ศิริพร ฉายเพ็ชร นักเคลื่อนไหวประเด็นสังคม และผู้ทำงานด้านการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้กับคนทุกเพศ วัย อาชีพ (โดยเฉพาะชาวบ้าน) และทุกฝักฝ่ายการเมือง มาตลอดชีวิตการทำงานกว่า 20 ปี และเป็นตัวแทนทีม SYSI พูดคุย

ก่อนอื่น ศิริพรเล่าก่อนเธอไม่ได้เป็นตัวตั้งตัวตีของ SYSI ทั้งหมด คนทำงานจริงคือคนรุ่นใหม่ที่เคยอยู่ในโครงการการทำงานพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ ภายใต้โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (ก่อตั้งปี 2555) ทั้ง 3 รุ่น ซึ่งวันนี้พวกเขาแยกย้ายกันไปเติบโตในสายงานตัวเองแต่กลับรวมตัวกันก่อตั้ง SYSI ในนาม 4 องค์กร คือ เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม, ธุรกิจเพื่อสังคมอาชีพ (a-chieve), บริษัท Influencer จำกัด และกลุ่ม Dot to Dot – หรือจะเรียกว่า SYSI คือการต่อยอด การกลับ (บ้าน) มารวมตัวกันผลักงานนวัตกรรมทางสังคมคนรุ่นใหม่ ก็ได้

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะว่ากันเรื่องการทำงานของ SYSI จำเป็นที่ต้องเล่าถึงที่มาที่ไป ชีวิต ความเชื่อ ประสบการณ์ ทั้งชีวิตของเธอและวิธีทำงานของ ‘โค้ช’ อย่างศิริพรเสียก่อน จึงจะเข้าใจว่า ทำไม SYSI ถึงเชื่อเรื่องการทำงานกับคนรุ่นใหม่ในประเด็นทางสังคม และทำด้วยวิธีเช่นนี้ 

ที่มาของวิชา ‘การออกแบบการเรียนรู้ทางสังคม’ ของเอ๋ ศิริพร

จุดเริ่มต้นการทำงาน ทำไมถึงสนใจประเด็นสังคม

เอาจริงๆ เลยคือพี่เป็นคนไม่ชอบเรียนหนังสือ เป็นเด็กหลังห้อง ทะเลาะกับอาจารย์ตลอด เเต่พี่เป็นคนเรียนเร็ว เรียนป.1 ตั้งเเต่ 6 ขวบ แล้วก็เรียนพิมพ์ดีดตั้งเเต่เล็กเพราะข้างบ้านเปิดสอนพิมพ์ดีด ไม่มีอะไรทำอะ ก็ไปเรียนพิมพ์ดีดสนุกๆ พอเรียนจบช่วงม.3 พี่ก็ไม่ได้อยากเรียนม.4 ต่อ มันไม่มีอะไรน่าสนใจ พูดก็พูด…ครูก็ไม่ได้เรื่องไง เเม่ก็เลยตามให้พี่ไปเรียนที่ดุสิตพาณิชยการ (วิทยาลัยอาชีวศึกษาดุสิตพณิชยการ) เลือกเรียนสาขาการตลาด จบแล้วก็มาเข้าราชมงคลโคราช คล้ายๆ ปวส. ตอนนั้น (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (ศูนย์กลางนครราชสีมา) แล้วเราก็เริ่มทำกิจกรรมตั้งเเต่ตอนนั้น จากโคราชก็มาเรียนต่อจนจบ ป.ตรี ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เรียกว่าชีวิตไม่มีอะไรน่าสนใจ รู้เเต่ชอบอ่านหนังสือ ชอบเดินทาง ชอบผจญภัย เเล้วก็ไม่ชอบความไม่เป็นธรรม เส้นทางการทำกิจกรรมช่วงเรียน 4 ปี จึงเป็นสิ่งที่ทุ่มเทที่สุด

‘ความไม่เป็นธรรม’ ในสายตาของเด็กสาวคนนั้น มันเป็นยังไงคะ

เวลาพ่อพี่กินเหล้าบ้างครั้งและใช้ความรุนเเรงก็โดนกันทุกคนทั้งแม่และลูก หนักเบาแล้วแต่เหตุการณ์พี่โดนน้อยหน่อยเพราะเป็นลูกคนเล็ก พี่ชายก็มีเพื่อนเยอะมีแก๊งค์มีความเป็นนักเลงคุมถิ่น อย่างเวลามีเพื่อนผู้ชายมาเเกล้งเราบ่อยๆ พูดแล้วไม่หยุดเราก็ไปบอกพี่มาเคลียร์ (หัวเราะ) คนแถวบ้านก็กลัวพ่อ ส่วนในโรงเรียนคนก็เกรงพี่ ก็มีครูที่ชอบใช้อารมณ์ทั้งด่าและตี มีครั้งหนึ่งเราเจอครูด่านักเรียนทั้งห้องว่าโง่ ตอนนั้นนะ…จำได้เลยว่าเป็นครูวิชาภาษาอังกฤษตอนม.2 เขาให้นักเรียนทุกคนลุกขึ้นยืนเเล้วก็ด่าๆ ด่าไม่พอหยิกพุงด้วย พอมาถึงพี่ พี่บอกเขาเลยว่า ถ้าหยิกพี่ตบนะ จากนั้นเราไม่ยอมเรียนวิชาภาษาอังกฤษ และถูกเรียกเข้าห้องปกครองเลย (หัวเราะ)

เเม่พี่ก็เป็นเเม่ค้าในโรงเรียน พอถูกเรียกผู้ปกครองแม่ก็บอกครูว่า ‘นี่ก็ไม่รู้จะทำยังไงแล้ว ให้ครูจัดการเลย ยกให้’ แต่ครูประจำชั้นพี่น่ารัก เขาก็บอกว่าเดี๋ยวเขาจะดูเเลพี่เอง เขาบอกพี่มีทางเลือก 2 ทางคือ ถ้าไม่ไปเรียนก็ไปห้องสมุดและก็อยู่ห้องพักครู แล้วห้องพักครูก็มีพิมพ์ดีดและอุปกรณ์ธุรการ มีกิจกรรมที่ครูทำ พอได้ช่วยงานครูหลายอย่างก็เลยได้เรียนรู้อยู่กับครูในห้องนั้น จากนั้นพี่ก็เลยมีทักษะใช้เครื่องคิดเลข พิมพ์ดีด หัดใช้คอมพิวเตอร์ ในห้องเรียนนี้ 

แปลว่าความรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรมครั้งเเรกๆ ในชีวิตมาจากความสัมพันธ์ของครูกับนักเรียน เเล้วก็เรื่องที่บ้าน เรื่องครอบครัว ที่ทำให้เราไม่ชอบการได้รับการปฏิบัติแบบนี้ แล้วก็ไปเรียนหนังสือ 

อาจจะเป็นเพราะเราชอบอ่านหนังสือและโตมากับพี่ชายที่สนิทกันมาก ชอบเล่นกีตาร์ ร้องเพลงต่างประเทศ อ่านหนังสือบันเทิงคดี แล้วเวลาอยู่กับเด็กผู้ชายเนอะ มันจะมีเรื่องชกต่อยของเด็กๆ ซึ่งพี่ไม่โอเคกับการใช้ความรุนเเรงในแง่ ‘ใช้แรง’ แต่พี่อาจจะใช้เป็นคำพูดมากกว่า พี่เป็นคนพูดตรง ชอบอิสระ พอพื้นฐานเป็นคนแบบนี้ไปเจอกับมอส. (มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม) ครั้งแรกตอนเรียนมหา’ลัย ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงหลังรัฐประหารปี 35 อีก เลยทำให้ยิ่งสนใจทำงานทางสังคม

แล้วไปเจอกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ได้ยังไง

เจอเพราะการทำกิจกรรม รุ่นพี่ที่ชมรมคนหนึ่ง (ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและส่งแวดล้อม) แกเป็นอาสาสมัครของ มอส. รุ่น 16 ที่ทำงานกับมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย อยู่ที่วังน้ำเขียว อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ตอนนั้นมันมีเหตุการณ์ช้างป่าตกลงไปในน้ำตกเหวนรก เราก็เข้าไปเรียนรู้และทำกิจกรรมกับที่นั้นเรื่องานอนุรักษ์ฯ ตอนนั้นมีพี่อ้วน (นิคม พุทธา) และพี่โชค (โชคดี ปรโลกานนท์) เป็นหัวหน้าและคนทำงานในพื้นที่ศูนย์คลองทราย ซึ่งทำงานกับชาวบ้านรอบเขาใหญ่ที่นั้น ป่าชุมชนแห่งแรกของประเทศไทยก็อยู่ที่นั้น ชื่อ ‘ป่าชุมชนบ้านท่าวังไทร’ ที่นี่มีกิจกรรมเยอะ ทางชมรมฯ ก็ปักหมุดเป็นพื้นที่ที่ลงมาเรียนรู้ต่อเนื่อง ช่วงพี่บริหารชมรมฯ ก็เลยมากันทุกอาทิตย์ ทำให้ได้คุยกันกับพี่ๆ เพื่อนๆ ถึงสถานการณ์ทางสังคมหลายอย่าง ทั้งเรื่องการเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม ก็เลยสนใจจัดวงคุยกลุ่มศึกษา รุ่นพี่ก็เลยเชื่อมให้รู้จักกับพี่ๆ มอส. ที่ทำงานในภาคอีสาน แล้วก็เจ้าหน้าที่ฝ่ายอาสาสมัคร ที่ลงพื้นที่มาติดตาม มาจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ อะไรที่สนใจ เสนอไปพี่ๆ ก็ช่วยสนับสนุน ทั้งงบค่าอาหาร ชวนวิทยากรมาช่วยเติมข้อมูล สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยน และพาลงไปเรียนรู้ในพื้นที่ต่างๆ 

ช่วงพี่เรียนคือปี 2536 เป็นช่วงหลังเหตุการณ์ใหญ่ๆ เช่น การรัฐประหารของคณะ รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ปี 2534 การล้อมปราบประชาชนเดือนพฤษภาคม ปี 2535 และการชุมนุมปิดถนนมิตรภาพที่สระบุรีของกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลทหาร รสช. ถ้าจำไม่ผิด ชื่อโครงการจัดสรรที่ดินทำกินเพื่อเกษตรกรผู้ยากไร้ เรียกสั้นๆ ว่า คจก. ซึ่งเนื้อในแล้วไม่ต่างจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ของ คสช. เลย แต่ตอนนั้นเลวร้ายกว่า อุกอาจมากกว่า เพราะการสื่อสารไม่เหมือนตอนนี้ เรากับเพื่อนๆ ก็สนใจ และขยายความสนใจออกไปจากสถาบันการศึกษาและจังหวัดของตัวเอง ก็มีชวนกันมาวิเคราะห์ จัดสัมนา ตั้งคำถาม ลงพื้นที่ไปเรียนรู้ จัดค่าย ลงไปช่วยงาน ไปเชื่อมไปร่วมขบวนการกับกลุ่มต่างๆ ซึ่งตัวเชื่อมสำคัญครั้งนั้นก็คือพี่ที่ทำงาน มอส. และอาสาสมัคร มอส. ในช่วงนั้นรุ่นต่างๆ ที่ทำงานกระจายไปประเทศ ปิดเทอมก็เลาะไปทั่วไม่ได้กลับบ้านกันเลย 

เด็กคนหนึ่งที่เพิ่งจากบ้านเกิดมาเรียนต่างจังหวัดในวัย 17 ปี เมื่อเจอกับสถานการณ์นั้น การเรียนรู้ประเด็นสังคมจากหน้างานจริงแบบนั้น มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง เรารู้สึกยังไง

‘เหมือนฝัน’ พี่เกิดและโตที่ทุ่งรังสิต ซึ่งสมัยนั้นก็ว่าชีวิตเราลุยมากแล้ว ได้ขี่จักรยานเลาะไปตามที่ต่างๆ แล้วเป็นเด็กที่ชอบอ่านวรรณกรรมเยาวชนโดยเฉพาะเรื่องผจญภัยมาเเต่เด็ก ทีนี้พอไปอยู่เขาใหญ่ มันเลยเหมือนฝันมากเพราะ relate กับสิ่งที่เคยอ่านจากในหนังสือ จากสิ่งที่เราชอบ เเล้วทั้งหมดนั้นมันทำให้เราเห็นความไม่เป็นธรรม ได้พบกับข้อเท็จจริงที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เช่น ไปชมรมเเรกๆ เราก็เข้าไปเจอไปคุยกับเจ้าหน้าที่อุทยานแล้วได้ข้อมูลมาชุดหนึ่ง แต่พอมาทำงานกับ NGO เราก็จะมองเห็นปัญหาในอีกฟาก ได้เห็นการกล่าวหาว่าชาวบ้านทำลายธรรมชาติ ซึ่งมันไม่ถูกเสียทีเดียว เลยรู้สึกตื่นเต้นที่ได้รู้ความจริงที่เราไม่เคยรู้มาก่อน

แล้วตอนนั้นเรามีความคิดว่าชาวบ้านเป็นคนทำลายไหม 

ไม่ ไม่เคยคิดอะไรเเบบนี้ เเต่หน่วยงานบอกเราเเบบนี้มาเสมอ เช่น สมัยก่อนเจ้าหน้าที่อุทยาน…จริงๆ เขาน่ารักนะ เเต่ในมายเซ็ตของเขาจะบอกว่าชาวบ้านคือคนตัดไม้ทำลายป่า แต่ถ้าไปดูข้อมูลอีกด้านจะพบว่าป่าหมดเพราะสัมปทาน แปลว่าคนตัดไม้ทำลายป่าไม่ใช่ชาวบ้านเเต่เป็นเพราะนโยบาย เป็นเรื่องของรัฐกับทุนร่วมมือกันเเล้วชาวบ้านเข้าไปเป็นเเรงงาน สุดท้ายชาวบ้านคือเหยื่อหรือผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนผิด ส่วนคนอื่นไม่ผิดอะไรเลยในกระบวนการนี้ หรืออย่างความขัดเเย้งเรื่องช้างตกเหว มันก็มีข้อเท็จจริงจากนโยบายตัดถนนที่ทำให้ช้างเดินตกเหว อันนี้ชัดว่ามันไม่ได้เป็นปัญหาจากชาวบ้านเรื่องการสร้างถนน เเต่เป็นนโยบายของเจ้าหน้าที่รัฐ มันเป็นการ ‘รู้ความจริงที่มันจริง’ ทำให้เราได้ทำงานทางความคิดและจิตสำนึก

ถ้าให้ถอดบทเรียนว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้เด็กอายุ 17 18 คนหนึ่ง ได้เจอกับโลกและข้อเท็จจริงหลายๆ  ชุด เกิดการปะทะทางความคิดบางอย่าง แล้วมีไฟฝันอยากทำงานทางสังคมแบบนี้ วัยรุ่นคนหนึ่งจะต้องมีเส้นทางชีวิตยังไงบ้าง

การเป็นคนที่ชอบตั้งคำถาม แล้วคำถามนี้มันเชื่อมกับหนังสือที่เราอ่าน เช่น ตลิ่งสูงซุงหนัก หรือ ลูกอีสาน เลยทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นกับข้อเท็จจริงใหม่ๆ ที่เราไปพบ อีกอย่างที่รู้สึกว่าสำคัญคือ ‘การหาราก’ การไปเจอข้อเท็จจริงที่ทำให้เรารู้สึก relate หรือเชื่อมโยงตัวเองกับอะไรบางอย่าง รู้สึกไปกับมัน มีจิตวิญญาณบางอย่างที่เชื่อมโยงกับมัน ตื่นเต้นเเล้วอยากรู้ไปกับมัน มีเเค่นี้เอง

อีกอย่างคือ อาจเพราะเพื่อนพี่ก็เป็นเเบบเดียวกัน ตอนเข้าป่าไปเรียนก็เข้าไปด้วยกัน เข้าทุกอาทิตย์เลยนะไม่ได้ทำเล่นนะ (น้ำเสียงจริงจัง) คือสนใจเรื่องอะไรต้องจริงจัง แล้วเวลาคุยกับคนอื่นต้องไม่มีอคติ เช่น เวลาเจ้าหน้าที่รัฐแลกเปลี่ยนความคิดอย่างที่เล่าไป พี่ก็อยากรู้ว่าทำไมเขาถึงคิดอย่างงั้น แต่ไม่ได้ตัดสินว่าใครดีใครเลว เป็นแค่ความอยากรู้ อีกอย่างคือ เวลาทำงานแบบนี้มันจะไม่รู้ทันทีแต่ต้องปะติดปะต่อข้อมูลเหมือนต่อจิ๊กซอว์ ไม่รู้อะไรก็ค่อยๆ ถามรุ่นพี่บ้าง อ่านหนังสือบ้าง แล้วก็ทำแบบนี้ต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน

มันเป็นพลังแห่งวัยเยาว์ด้วยเนอะ

พลังเยอะ และก็เป็นจุดที่ทำให้ได้ออกแบบค่ายเด็กด้วย ตอนนั้นทำไม่เป็นหรอกแต่พี่เขาโยนงานมาให้ บอกแค่ว่าอยากทำไหม ถ้าอยากทำก็ทำ ให้ออกแบบค่ายเด็ก 3 วันในหมู่บ้าน สำหรับให้เด็กและชาวบ้านมาร่วมงาน สำหรับพี่มันท้าทายมากนะ มันคือโอกาส ไม่มีผิดหรือถูก เพราะพี่ๆ ซัพพอร์ตเราตลอด เเล้วมันก็โต

จากตรงนั้นเราได้ทำหมดเลย ฉายหนัง หาเงินเข้าคณะ ขอเงินจากทุกพรรคการเมือง จากทุกห้างในโคราช ทำงานเก็บข้อมูล ทำงานศึกษา เป็นนักข่าว ถ่ายรูป ไปม็อบชาวบ้าน ใครให้ทำอะไรเราทำหมด เรียกว่างานตรงนี้ได้พัฒนาทักษะชีวิตเราทั้งหมดเลยจริงๆ เรากระตือรือร้นอยากจะเรียนรู้ รู้สึกว่ามันมีประโยชน์และไม่ได้คิดถึงเรื่องอาชีพเลย

จากหลายๆ งานที่ทำ พอจะบอกได้มั้ยว่าทำงานอะไรเป็นหลัก

ค่ายเด็ก ออกแบบการเรียนรู้ให้เด็ก ส่วนประเด็นจะหลากหลายแต่เกาะเรื่องความเหลื่อมล้ำและทรัพยากรเป็นหลักเพราะเราโตมากับงานสิ่งเเวดล้อม การเเย่งชิงทรัพยากร ความเหลื่อมล้ำ การไร้ที่ดินทำกิน ทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกัน

เอาความรู้จากภาคส่วนต่างๆ มายำรวมกันเเล้วออกเเบบกระบวนการในการทำงานยังไง

ก็ต้องมีเป้าที่ชัดก่อนว่างานนี้จะเอาอะไร อย่างเช่นจะทำเรื่องค่าย พี่ว่าการไม่ยัดเยียดคือสำคัญ เช่น การยัดเยียดข้อมูลให้เชื่อ คือสิ่งที่เราจะไม่ทำในงาน ไม่ยัดเยียดความรู้ ความคิด เเละความเข้าใจ แต่ต้องให้ข้อเท็จจริงไปวิเคราะห์ เราเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพในการวิเคราะห์ข้อมูล

วิธีคิดแบบนี้ ได้มาตั้งเเต่ตอนนั้นเลยใช่ไหมคะ

ใช่ เราเชื่อว่าเด็กคิดได้ เราแค่ทำข้อมูลและสร้างความสมดุลบางอย่าง เช่น พาเด็กๆ ไปค่ายสิ่งเเวดล้อม คนที่มาก็ต้องมาหมดทุกฝ่าย มีเจ้าหน้าที่ที่รักป่าจริงๆ เพื่อมาคุยเรื่องป่าไม้ มีพ่อเเม่ของเขามาจริงๆ มาคุยว่าเขามองสถานการณ์นั้นๆ อย่างไร มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แล้วเราเปิดพื้นที่หรือทำกระบวนการให้เกิดการแลกเปลี่ยนชุดข้อมูลความรู้กัน

สิ่งที่เราพอจะพาเขาไปเชื่อมกับสิ่งเหล่านี้ได้ คือ เด็กๆ อยู่ที่บ้านเขาอยู่เเล้ว เราก็ทำให้เขารู้สึกรักในสิ่งที่เขาอยู่ ให้เขารู้ว่าเเม่เเละคนในครอบครัวเขากำลังสู้อยู่กับเรื่องอะไร ให้เขารู้ว่าเขาจะเป็นใครในอนาคต แล้วการเป็นใครในอนาคตเขาต้องเชื่อมโยงกับอะไรบ้าง ซึ่งไอ้คำตอบว่า ‘เราอยากเป็นใคร’ มันไม่ใช่คำตอบของพี่ เเค่ออกเเบบว่าอะไรคือปัจจัยที่จะทำให้เขาเป็นตัวของตัวเองได้ เขาภูมิใจกับสิ่งที่เขาเป็นได้ Identity เขาคืออะไร ตัวตนเขาเป็นยังไง ซึ่งไม่ว่าจะยังไง เราจะเคารพ นี่คือสิ่งที่เราพยายามทำ

จากนักออกแบบการเรียนรู้ประเด็นทางสังคม สู่โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม แล้วจึงต่อยอดเป็น SYSI

จุดเริ่มต้นของ SYSI คืออะไร

มันเป็นการต่อยอดการทำงานพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ภายใต้โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม โดย มอส. ซึ่งต้องขอเล่าย้อนก่อนว่า โครงการนั้นมันเกิดขึ้นช่วงสถานการณ์การเมืองเลวร้ายช่วงปี 2553 เล่าย้อนไปอีกนิดว่า สมัยก่อนมอส. จะเป็นตัวเชื่อมคนรุ่นเก่า – รุ่นใหม่ เชื่อมเครือข่ายต่างๆ แต่หลังการเกิดรัฐประหารปี 2549 รอยร้าวที่เกิดขึ้นส่งผลต่อกระบวนการของ มอส. และ NGO ช่วงนั้นก็แทบไม่เป็นกระบวนเดียวกันอีก แบ่งฝักฝ่ายชัดเจนมาก และหากปี 2549 ว่าแตกแยกแล้ว ปี 2553 เรียกว่าแตกหักและไม่สามารถเชื่อมกันได้ใหม่

ซึ่งตอนนั้นปี 2549 พี่ก็เฟดออกจากงานไปเรียนที่ออสเตรเลีย กลับมาอีกทีก็หลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ผอ.มอส. ขณะนั้นก็อยากให้กลับมาช่วยฟื้นฟูงานอาสาสมัครเพื่อสังคม แต่พอเกิดโครงการที่ว่านี้ งบประมาณได้มาแล้วแต่ยังขาดทีม เขาก็ให้มาช่วยก่อน พอทำมาได้จะครบสามปี ก็มีรัฐประหาร (ปี 2557) หลังจากนั้นก็งานยุ่งเลยนอกจากงานหลักที่ทำก็เคลื่อนไหวด้วย ทั้งจัดเวทีแลกเปลี่ยนกันภายในเครือข่าย มอส. และเพื่อน ร่วมกับ อ.จอน และน้องๆ ใน ilaw ไปจนถึงจัดการเรียนรู้ทั้งในและต่างประเทศให้กับคนรุ่นใหม่ เชื่อมกลุ่ม / เครือข่ายต่างๆ เข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน แล้วก็ทำยาวมาถึง 8 ปี ครบ 3 รุ่น

โครงการนี้ เริ่มมาจากพี่ๆ หลายคนพัฒนาความคิดกันขึ้นมาภายใต้สถานการณ์การเมืองสีเสื้อที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะป้ามล ทิชา ณ นคร ป้าเป็น ผอ.บ้านกาญจนาภิเษกฯ และเป็นบอร์ด สสส. (สมัยนั้น) มีคนเสนอให้ป้าทำโครงการนี้ แต่ป้าคิดว่ามี มอส. ที่มีประสบการณ์อยู่แล้วจึงเสนอให้ มอส. เป็นผู้ปฏิบัติงาน โดยมีภาคีเครือข่ายหลายองค์กรเข้ามาหนุนช่วยด้วยอย่างต่อเนื่อง 

ความแตกแยกขัดแย้งภายในขบวนช่วงนั้นมันเยอะมาก การสร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ที่แตกต่างหลากหลายจากต่างพื้นที่ ต่างองค์กร ต่างประเด็น ต่างศาสนา ต่างประสบการณ์ ต่างชาติพันธุ์ ต่างความคิด ความเชื่อ ฯลฯ ได้มาพบเจอและเรียนรู้ระหว่างเป็นระยะเวลา 2 ปี แบบที่ มอส. ทำเท่าที่รู้แทบไม่มี ตอนนั้นมันก็มีคนรุ่นใหม่ที่เขาตั้งกลุ่มองค์กรเองที่เขารู้สึกว่าต้องออกมาขับเคลื่อนสังคมเยอะนะ โดยที่ไม่ได้มีการจัดตั้งแบบเก่า มันมาจากความรู้สึกต่อความไม่เป็นธรรมและอยากเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไข การเปิดตัวโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมในครั้งนั้น ก็เลยมีคนสนใจสมัครมามาก มีแต่ตัวจี๊ดๆ ทั้งนั้น โครงการก็ก่อตั้งขึ้นมา

บทบาทที่ทำก็ตั้งแต่ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ เชื่อมเครือข่าย เพราะเครือข่ายมันใหญ่เนอะ ประคบประหงมคนหนุ่มสาวนี้ให้เขาผ่านช่วงเวลาการทดสอบไปให้ได้ ออกแบบกระบวนการให้เขาได้เติบโต เรื่องอะไรก็ได้นะ แต่ให้คุณได้เห็น ได้แชร์ ได้รับผิดชอบสิ่งที่คุณทำ เห็นภาพย่อยแล้วกระเถิบไปภาพใหญ่ เห็นสังคมทั้งสังคมด้วยกระบวนการของเพื่อนในรุ่น เพื่อนที่เป็นเครือข่ายเดียวกัน

วิธีทำงานในโครงการนี้คือ เริ่มจากการพัฒนาตัวเอง ไปพัฒนากลุ่ม สร้างเครือข่ายสังคม แล้วค่อยไปสู่การทำนวัตกรรม แต่ของ SYSI จะเริ่มจากนวัตกรรมเลย เอาสิ่งที่อยากทำเป็นตัวตั้ง เราพัฒนามาจากตรงนั้น แล้วเชื่อมเครือข่ายสังคม พัฒนาบุคคล-ทีม วิธีการมันส่วนกัน ซึ่งเดี๋ยวว่ากันต่อไป  

คนที่เข้ามาอยู่ในโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม นั้นเป็นใครบ้าง และกระบวนการยาวนานแค่ไหน

ส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรม สมัครมาทั่วประเทศนะ อายุ 20 – 30 ปี กระบวนการยาว 2 ปี รับรุ่นละ 35 – 40 คน ก็มีหลากหลายมาก เป็นนักศึกษา นักกิจกรรม ที่เคลื่อนไหวประเด็นสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม สันติภาพ การศึกษา สุขภาพ เกษตร เอดส์ – เพศ gender เป็นคนทำงานธุรกิจเพื่อสังคม เป็นเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ แกนนำเยาวชนในชุมชน เป็นนักพัฒนารุ่นใหม่ อย่างเช่น ไผ่ ดาวดิน (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) ซึ่งตอนนั้นก็ยังเด็กเลยน่าจะปี 1 หรือปี 2 นักกิจกรรมที่เป็นนักศึกษาหลายๆ ที่ สภาเด็กและเยาวชน โอ๊ย…หลากหลายมาก รวมถึงกลุ่มแก็งค์ที่ออกมาจากป.ป.ส. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด) ที่เอาหัวหน้าแก็งค์มาพัฒนาความคิดไม่ให้ไปย้อนรอยทำแบบเดิม คิดดูว่ารุ่นแรกที่เข้ามาแล้วเป็นยังไงกันบ้าง จริงๆ ประสบการณ์ทำงานกับความหลากหลายขนาดนี้ของทีมงานแถบจะเป็นศูนย์เลยนะ 

แล้วเขาก็ยอมเข้าด้วยเหรอคะ

เขาไม่รู้ไง ทุกวันนี้เวลาคุยเรื่องเก่าๆ ก็ยังขำกันเลย ‘ก็พี่เขาบอกให้มาก็มา’ คือพวกนั้นสมัครใจแบบแกมบังคับให้มา พอมาถึงแต่ละคนก็เป็นตัวของตัวเองมาก ทรงผมโมฮอก หล่อมากเลย เฟี้ยว ใส่แว่นตาดำ โอ๊ย…บางคนยังเล่นยาอยู่เลย (หัวเราะ)

คือโครงการมันถูกโปรโมทว่าเป็นโครงการที่สร้างนักเปลี่ยนแปลงสังคมท่ามกลางความขัดแย้ง พวกเจ๋งๆ อยากเข้ามา อยากมาเจอคนอื่น คิดว่าตัวเองเจ๋งแล้วอยากจะมาเปลี่ยนแปลงคนอื่นไง แล้วบางคนก็มางงๆ ใสๆ อย่างเอิร์ธ (ภูมิสิทธิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย) นายกสมาคมรุ่นที่ 1 ตอนนั้นเพิ่งก่อตั้งบริษัท a-chieve ได้ 2 ปี ก็มาใสๆ น่ารักๆ ทำงานเยาวชน

แตกต่างกันมาก ดังนั้นหลักสูตรที่คิดๆ ไว้ เป็น ideal มันจะเป็นจริงได้ยังไง? แค่ module แรก เรียนรู้จักตัวเองและเพื่อนผ่านกระบวนการละคร ทำโดยทีมมะขามป้อม มีพี่ก๋วย (พฤหัส พหลกุลบุตร) เป็นหลัก และก็มีกระบวนการอื่นๆ จากหลากหลายวิทยากร ทุกวันก็มีแต่เรื่องให้ต้องแก้ไข บางคนก็บอกไม่ขอเข้าร่วมโครงการนี้แล้ว บางก็ว่ากระบวนการอ่อนไป บ้างก็บอกว่าเข้มไป บางก็มีความเห็นมีการตัดสินตัวบุคคลว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้ module นั้นต้องอยู่ด้วยกัน 7 วัน ตีกัน (ทางความคิด) ทุกคืน ทีมงานซึ่งเป็นพี่ๆ ที่อายุมากกว่าก็ไม่ไหว พี่ก็ต้อง stand by แลกเปลี่ยนกับน้องๆ ทุกคืน คือพี่ทุกคนตายหมดเหลือแต่พี่ยังต้องตื่นอยู่คนเดียว (หัวเราะ) 

ก่อนเริ่มกระบวนการนี่พี่ก็คิดเยอะตอนอ่าน proposal เห็นว่า Ideal มันใหญ่แล้วก็ยากไง เห็นแนวคิด เห็นเป้าหมายปลายทางที่จะต้องไปให้ถึงแล้วไม่แน่ใจว่าประสบการณ์จะพอไหม แล้วพี่ก็ไม่ได้ทำงานอบรมมานานพอสมควร ก็เลยหาทางไปอบรมเคาะสนิมและหาเครื่องมือใหม่ๆ เสริมความมั่นใจให้ตัวเอง ก็พอดีมีพี่ส่งข่าวบอกว่าจะมีอบรมที่เชียงใหม่ ขององค์กร Training For Change (TFC) จากอเมริกามาเมืองไทยเลยสมัครไป อบรมเสร็จเขาก็ถามว่าสนใจไปเข้าอบรมในคอร์สใหญ่ 21 วัน ชื่อ Super-T ของ TFC ไหม เราสนใจก็เลยได้ทุกไปอบรมต่อที่อเมริกา ได้เพื่อน activists มาเยอะเลย พอกลับมาทำงานก็ทำให้มีเครื่องไม้เครื่องมือเยอะขึ้น มั่นใจขึ้น ส่วนตัวนิสัยเป็นคนเปิด ฟัง คุย แลกเปลี่ยนได้ ชอบคนดื้อด้วย เลยคุยกับน้องได้หลากหลาย และพอกระบวนการมันลงล็อก ทำงานกันไปครบปีแล้วคนรุ่นแรกยังอยู่ต่อ ช่วยงานกันต่อเนื่อง อาจเพราะด้วยมี commitment กันอยู่ 2 ปี 6 module ด้วย ไม่มาไม่ได้นะ แต่งานมันได้เชื่อมโยงถึงกัน

พอจะเล่าได้คร่าวๆ ไหมว่า ทำยังไงให้คนที่มีความคิดหลากหลายอยู่ด้วยกันโดยไม่ตีกัน

โอ้โห้…ก็ให้ตีเลย และพี่เป็นคนดื้ออยู่แล้วเลยไม่กลัวความดื้อพวกนี้ ซึ่งมันไม่ได้มีอะไรมาก พี่แค่ถามว่าเขาคิดอะไร คิดยังไง แล้วไล่ถามทุกวง ด้วยความที่พวกหัวโจกทุกกลุ่มมันจะสร้างแก็งค์ มันอยากเปลี่ยนแปลงความคิดคนอื่น ดังนั้นมันต้องอดทนกว่าคนอื่นอยู่พอสมควร แปลว่าพวกนี้พื้นฐานเป็นคนท้าทาย เราโยนอะไรไปก็กินหมด แล้วพี่เป็นคนชอบเเหย่ รู้ว่าอาการเเบบนี้น่าจะทำอะไรได้บ้าง แล้วก็ท้าทายเขา แล้วคนกลุ่มนี้เป็นพวกไม่ยอมถอย

เช่น จุดที่คุกรุ่นมากๆ เราก็ถามว่าโครงการนี้ต้องการการมีส่วนร่วม แล้วจะมีส่วนร่วมได้ยังไงในเมื่อขณะนี้ยังคุยกันด้วยเหตุผลไม่ได้ ถ้าเเค่นี้ยังคุยกับคนที่อยู่ข้างๆ ไม่ได้ เเล้วจะไปเปลี่ยนเเปลงสังคมได้ยังไง

เขาก็คิดหนัก แล้วก็โยนโจทย์ต่อให้เข้ากลุ่มเพื่อไปทำเรื่องการฟังกันต่อ 

เคล็ดลับคืออะไร

ฝึกฟัง พื้นฐานคือฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสิน ไม่ตีความ ฝึกเรื่องนี้ให้เป็นพื้นฐาน ทำให้พวกเขาต้องฟังกันจริงๆ ไม่ตัดสินว่าคุณพูดสิ่งนั้นด้วยความคิดอะไร ไม่ตีความด้วยว่าคุณพูดสิ่งนี้เพื่ออะไร แต่ฟังกันจริงๆ ก่อน 

ถ้าปลายทางมันคือการทำนวัตกรรมทางสังคม เคล็ดลับที่เล่ามาอย่าง การฟังและไม่ตัดสิน มันนำพาไปสู่นวัตกรรมได้ยังไง

พี่ว่าการทำงานกับคนรุ่นใหม่ให้เริ่มจากตัวเองก่อน ยังไม่ต้องลงมือทำ (initiate) เพราะ initiate เเรกคือประเด็นว่า เราจะอยู่ร่วมกันในสังคมนี้ได้ยังไง คุณจะเคารพความเเตกต่างหลากหลายจริงๆ ได้ยังไง เวลาพูดว่าคุณเคารพความเป็นมนุษย์ มันอาจยังไม่ได้เป็นจริงไง สิ่งที่เราทำในโครงการคนรุ่นใหม่คือการทำพื้นฐานเรื่องนี้เลย ทำเเล้วก็เชื่อในตัวเอง ไม่ใช่คำพูด แต่เชื่อด้วยตัวเองว่าเราแตกต่างเเต่เราอยู่ด้วยกันได้

การที่คุณ…คนรุ่นใหม่ จะเห็นว่าก่อนหน้านี้โลกเกิดมาได้ยังไง คุณต้อง relate กับมัน คนรุ่นใหม่ คุณน่ะ…อ่านตัวเองยังไง แล้วถ้าคุณกำลังคิดต่อว่าโลกหวังจะพึ่งคุณ คุณก็ต้องคิดว่าอยากทำอะไร จะออกเเบบอะไร ออกแบบเเบบไหน 

หมายถึงว่า การปูพื้นฐานด้วยเรื่องนี้ (ฟัง ตั้งคำถาม) มันคือการทำงานกับความคิดตัวเอง ตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอ ต้องมี awareness ในตัวเราอยู่เสมอว่าประเด็นสังคมที่พูดมา พูดเพราะอะไร คำพูดนั้นทำงานกับตัวเองยังไง

จากโครงการคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลง ดำเนินมาสู่ SYSI ได้ยังไง

ด้วยความที่โครงการคนรุ่นใหม่คือการพัฒนาตัวเขาก่อนแล้วให้คนที่เข้าร่วมโครงการไปพัฒนากลุ่มของเขาต่อ ไปสร้างงานของเขาเพื่อตอบหรือเเก้ปัญหาสังคม แต่การเเก้ปัญหาสังคมควรเข้าใจภาพรวม และทำงานร่วมมือเป็นเครือข่ายได้ แล้วเมื่อไหร่ที่งานมันได้ข้ามสาย (cross) ไปสู่เครือข่าย มันจึงจะมีพลังเปลี่ยนแปลง หน้าที่ของเราตลอดมา (โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยน และ SYSI) เลยเป็นการเชื่อมสิ่งนี้

พูดง่ายๆ คือ มันเป็นพื้นที่ให้คนมาเจอกัน เอาคนมาพัฒนากันและกัน เอาประสบการณ์ที่ได้ไปทำต่อ แล้วค่อยมาต่อเติมเรื่องกระบวนการทางสังคม พาคนไปเรียนรู้จากคนชายขอบคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่สังคมเข้าถึงยาก พาไปเรียนรู้สิ่งที่คุณอาจไม่สามารถไปได้ด้วยตัวคุณเองเเต่คุณอยากเรียนรู้ ไม่สนใจเเค่เรื่องเรา อย่างเช่น โครงการที่พี่พาไป ไปเรียนรู้กับเพื่อนพนักงานบริการที่พัฒน์พงศ์ พาไปเจอคนทำงานเครือข่ายผู้ติดเชื้อ HIV มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ไปค้างคืนและทำกิจกรรมกับคนไร้บ้าน ที่ศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์วัดหนู ลงไปเรียนรู้กับแรงงานข้ามชาติ กับองค์กร LPN หรือผู้ลี้ภัย เป็นต้น เราพาไปเจอกับเจ้าของประเด็นเจอกับคนที่เขาทำงานนี้โดยตรง จากนั้นมันจะเห็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องความไม่เป็นธรรมเอง

มันก็ต่อยอดกันมาเรื่อยๆ จากคนรุ่น 1 ทำงานกับคนรุ่น 2 รุ่น 2 ทำงานกับรุ่น 3 ต่อ ทุกรุ่นจะเป็นพื้นที่ในการพัฒนาตนเองของพวกเขา พัฒนาทีม พร้อมๆ ไปกับการทำนวัตกรรมของตัวเองด้วย การเกิดของ SYSI จริงๆ ก็เป็นการคุยกันอย่างต่อเนื่อง มีการสรุปและถอดบทเรียนการทำงานร่วมกันตลอด ก็เห็นศักยภาพ ก็เพราะเห็นอยู่เเล้วว่าน้องๆ จากโครงการคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมเขาพร้อมที่จะต่อยอดงานต่อ เพราะเขาทำงานกันมาต่อเนื่องอยู่แล้ว คนกำลังเติบโต เเล้วพี่ก็เเก่ไปแล้วด้วย (หัวเราะ) SYSI อยากจะเป็นสิ่งเล็กๆ ที่ทำให้เครือข่ายเติบโต SYSI ไม่ได้สร้างเพื่อให้ตัวเองเติบโต เเต่องค์กรของตัวเองจะทำให้คนอื่นได้เติบโต เเละคนทำงานก็จะเติบโตไปพร้อมกัน 

มีใครอยู่ใน SYSI บ้างคะ

มีคนรุ่นใหม่อยู่ใน SYSI เยอะ เป็นศูนย์กลางคนรุ่นใหม่ โดยคนรุ่น 1 – 3 เขาเสนอตัวเข้ามาเอง แต่เฉพาะทีมงานของ SYSI ที่รับงบสสส.และทำเฉพาะตัวนวัตกรรมจะมี 13 คน โดยมาจาก 4 องค์กร คือ เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม, ธุรกิจเพื่อสังคมอาชีฟ (a-chieve), บริษัท Influencer จำกัด และกลุ่ม Dot to Dot แต่ก็มีคนทำงานอื่นๆ ทั้งที่มีตำแหน่งและสร้างตำเเหน่งตัวเองขึ้นมา (หัวเราะ)

SYSI คือการทำงานภาคต่อของโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ดูเหนียวแน่นมากเลยนะคะ การทำงานหลายๆ รุ่นที่ยังติดต่อกันและยังอยากทำงานพัฒนาคนรุ่นใหม่ในประเด็นสังคมต่อๆ มา

ถ้าถามว่าอะไรที่ทำให้เครือข่ายแบบนี้อยู่ได้ เราคิดว่ามันเป็นการทำงานเรื่องการติดตามระดับบุคคล หมายถึงว่า เราทำงานเรื่องการเเลกเปลี่ยนความคิด ลงไปตาม ลงไปเชื่อม เช่น ช่วงเเรกๆ คนในรุ่นอาจมีอคติกับพวกดาวดิน กับกลุ่มสภาเด็กฯ เราก็จัดให้พวกเขาได้ไปเจอกัน จัดโครงการในภาค พาไปเรียนรู้ข้ามภาค เรียนรู้เชื่อมกันระหว่างองค์กร ให้ไปเห็นและรู้จักงานและความคิดกันจริงๆ คือ ให้ไปเห็นความเป็นมนุษย์ที่คนอื่นอาจไม่ได้เห็นอย่างที่เราเห็น ให้เห็นว่าเขาคิดอะไรอยู่ เขาทำอะไรอยู่ ทำเพราะอะไร เขาเจออะไรอยู่ แต่แค่ให้โจทย์นะ ไม่ต้องคิดเอาเอง ไม่ต้องไปตัดสิน แล้วลงไปดู  

กระบวนการที่ SYSI ตั้งใจจะพาคนเข้าเวิร์กชอปไปเจอ วางไว้อย่างไรบ้าง

ต้องบอกว่ากับ SYSI พี่ถอยออกมาเยอะนะ งานออกแบบหลักๆ จะเป็นน้องในทีม การทำงานกับทีมตอนนี้ (ทั้งการทำงานกับทีม และวิทยากรในการเวิร์กชอป) คือพี่ถูกจ่ายงานมาให้นะ ต้องถอย ไม่งั้นจะกลายเป็นว่าเราไปครอบงำ เค้าผ่านกระบวนการมาเยอะแล้ว เจออะไรมาเยอะแล้ว โตแล้ว ทำเองได้แล้ว แล้วน้องก็รุ่นเล็กด้วย และที่ต้องถอยก็เพราะมันเป็นงานของเขา ต้องให้เค้าไปออกแบบเอง ได้พยายามทำด้วยตัวเอง พัฒนางานร่วมกับทีม 

แต่ละรุ่นได้ถูกออกแบบโครงสร้างการเรียนรู้ไว้คร่าวๆ แล้ว ส่วนรายละเอียดก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบกระบวนการในแต่ละครั้ง แบ่งเป็น module ไว้ เช่น พวกเขาจะได้เจอกันสองสามครั้ง โดยจะเน้นพัฒนานวัตกรรมของแต่ละทีม พัฒนาให้เห็นหัวใจสำคัญก่อน ต่อมาคือการพาไปเรียนรู้และรู้จักกับเครือข่าย จากนั้นก็จะเป็นเรื่องของกลุ่มแล้วว่าจะสร้างหรือทำงานสังคมร่วมกันอย่างไร กระบวนการนี้มันจะสวนทางกับงานเดิม (โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่) อย่างที่เล่าไปนิดๆ ว่าครั้งนั้นเราเอาตัวเค้าหรือระดับบุคคลมาเจอกัน สร้างเครือข่าย แล้วค่อยไปสู่นวัตกรรม แต่ของ SYSI จะตั้งต้นที่นวัตกรรมก่อน สร้างทีม จากนั้นคือเครือข่ายแล้วขับเคลื่อนประเด็นสังคม  

การพัฒนาโครงการของ SYSI จะแบ่งการพัฒนาทีมเป็น 3 ระดับ คือ ระดับเริ่มต้น (Rookie), ระดับกลาง (Semi Pro) และ ระดับใกล้โปร (Turn Pro) แต่ในทุกระดับ SYSI จะสนับสนุนแต่ละทีม 4 ส่วนหลักคือ 

Funding: การให้เงินทุนทำโครงการถึงการก่อตั้งองค์กร
Training: พัฒนาความรู้และทักษะจำเป็นต่อการพัฒนาตัวเองและพัฒนาทีม 
Monitoring: การติดตามลงพื้นที่เพื่อให้คำปรึกษาแต่ละโครงการ เพื่อติดตามการเติบโตของทีมและดูผลกระทบของโครงการ 
และ Network: สร้างเครือข่ายโดยการพาไปเชื่อมกับคนทำงานทางสังคมในประเด็นใกล้เคียงและอาจข้ามสาย 

ทั้ง 3 รุ่นที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการพัฒนาทั้งมิติของโครงการที่จะทำให้โครงการแก้ปัญหาสังคมได้จริง มิติตัวบุคคลที่ทำให้เข้าใจตัวเอง ผู้อื่น และสังคม รวมถึงมิติการทำงานเป็นทีมที่เป็นทักษะสำคัญยิ่ง

เส้นทางการเรียนรู้ของ SYSI จะเริ่มจาก ‘ปฐมนิเทศ’ ปูพื้นฐานการเข้าใจความแตกต่างหลากหลายในสังคมและพัฒนาโครงการ มี ‘fieldtrip’ ให้ผู้เข้าร่วมได้พัฒนาความเข้าใจคนชายขอบในสังคมผ่านการสัมผัสจริง มี ‘workshop’ ติดอาวุธทักษะและความรู้  รุ่น Turn Pro จะมี ‘Job Shadow’ เพิ่มเข้ามาที่ SYSI สนับสนุนให้แต่ละทีมออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ของทีมตัวเอง ว่าอยากเดินทางไปเรียนรู้กับองค์กรใดประเด็นใด และปิดท้ายด้วย ‘ถอดบทเรียน’ ที่จะพาทุกคนทบทวนประสบการณ์การทำโครงการที่ผ่านมาเพื่อก้าวต่อไปอย่างมั่นคง

ส่วนเนื้อหาที่จะเรียนรู้ในโครงการจะมีทั้งเนื้อหาที่เรียนรู้ร่วมกัน และเนื้อหาที่แต่ละทีมจะเลือกเรียนตามความสนใจ 

เนื้อหาเรียนรู้ร่วมกัน เช่น การรู้จักความเป็นผู้นำในแบบของตนเอง, การเรียนรู้การอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างหลากหลาย, การทบทวนทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง, การพัฒนาโมเดลธุรกิจ, สร้างวิธีการวัดผลโครงการ, ทบทวนการเติบโตหลังจบโครงการ เป็นต้น 

ส่วนเนื้อหาที่เลือกเรียนตามความสนใจ เช่น วิธีจัดการความขัดแย้ง สร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย, การสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนและสะท้อนคิด, 
นโยบายสำหรับนวัตกรทางสังคม, วิธีทำงานแบบอะไจล์, การสื่อสารสาธารณะ เป็นต้น

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม: https://sysi.or.th

ในเวิร์กช็อป เราจะเห็นการออกแบบกระบวนการให้แต่ละทีมได้เจอกับคนทำงานจริง หรือผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น 

ใช่ พวกนั้นเป็นคนออกแบบหมดเลยและพี่เป็นแค่หนึ่งในแขกรับเชิญที่เค้าเชิญไป

ตอนที่เข้าสังเกตการณ์เวิร์กชอป เราพบว่าสิ่งที่ยากคือการทำให้ทีมซึ่งตั้งใจแก้ปัญหาสังคม ได้เห็นปัญหานั้นๆ อย่างรอบด้านมากพอที่จะไม่ทำนวัตกรรมมาแล้วกลายเป็นกดทับปัญหา หรือลดทอนปัญหา ซึ่งในระหว่างเวิร์กชอป เราเห็นการปะทะกันทางความคิดระหว่างคนในทีม ระหว่างทีม และจากผู้เชี่ยวชาญที่มาให้คำแนะนำด้วย  

ตอนที่เราสัมภาษณ์ เห็นใบสมัคร เราก็พอรู้ว่าทัศนคติเค้าเป็นยังไงพอสมควรนะ จากจุดนั้นเราเลยเลือกเมนเทอร์หลายๆ คนที่เราเชื่อว่าเขาจะมาช่วยโค้ชได้** แค่นี้เลย ตั้งหลักที่เมนเทอร์ที่เชิญมาจะมาช่วยเขาให้เขามีมุมมองที่กว้างขึ้น หรือเอาประสบการณ์ของเมนเทอร์มาช่วยขยายความคิดเค้า แล้วเป้าเขาจะชัดขึ้น 

งานแบบนี้ต้องสะสมเครือข่ายเนอะ 

แน่นอนสิคะ ดิฉันเล่าไปแล้วว่าทำงานมากี่ปี (หัวเราะ)

เวลาเจอคนที่ตั้งใจทำงานประเด็นสังคม แต่อาจมองปัญหาเดียวกันไม่เหมือนกับเรา เชื่อไม่เหมือนกัน แล้วทำให้เกิดการปะทะทางความคิด เราทำยังไง

ฟัง ไม่ตัดสิน ถ้าตัดสินเราจะทำงานด้านการเปลี่ยนความคิดคนไม่ได้ แล้วเขาจะงงว่าทำไมเขากลายเป็นคนผิดวะ บางทีมันมีที่มาที่ไปนะที่ทำให้เราคิดต่างกัน ก็แค่ถามกันอะ เหมือนเราฟังเพื่อนแล้วไม่เข้าใจว่าทำไมเขาคิดแบบนี้ อยากรู้อะ ตั้งต้นแบบนี้มันก็อยากฟังเขามากกว่านะ ถามไปสิ ‘ทำไมคิดแบบนั้นวะ แล้วเอ็งรู้มั้ยมันมีคนคิดแบบนี้ด้วย’ พี่ก็คุยแค่นี้ แล้วถ้าเขาอยากคุยต่อเราก็คุย แต่ถ้าเขาไม่อยากรู้พี่ก็จบ โอเค เข้าใจ

การหล่อหลอมแบบมอส. หรือ SYSI มันเชื่อเรื่อง ‘คนเป็นคน’ ว่าคนจะไม่เปลี่ยนเพราะถูกยัดว่าอะไรผิดอะไรถูก ไม่เชื่อเรื่องดีงามร้อยเปอร์เซ็นต์ การทำงานตลอดมามันเลยเป็นลักษณะของการเข้าๆ ออกๆ อยู่ตลอดเวลา เป็นพื้นทีเสรีภาพ เป็นพื้นที่เปิดอยู่เสมอขึ้นอยู่กับเขา

แม้ว่าเราจะบอกว่ามันไม่มีผิดถูก แต่จริงๆ มันก็มีกรอบการเดินทางบางอย่างอยู่ มีธงบางอย่างที่เราอยากให้เขาไปถึง จริงๆ มันก็การผิดหรือถูกอยู่ดีไหม

ผิดหรือถูก แปลว่ามีคนสถาปนาว่าอันนี้คือผิดหรือถูกไง แต่เค้าจะรู้เองว่าที่ทำอยู่มันมาผิดทางรึเปล่า เข้าใจมั้ย? มันไม่ใช่แบบ…ผิดหรือถูกอะ มันจะเป็นแค่ ‘เฮ้ย ที่เราทำกันอยู่ มันผิดทางรึเปล่าวะ’ เราจะให้เครื่องมือพวกนี้ตรวจสอบและตั้งคำถามกับตัวเองมากกว่าว่าที่ทำอยู่ผิดทางรึเปล่า ถ้ามาถูกทางสัญญาณมันไปทางไหน ผิดทาง สัญญาณจะไปทางไหน แล้วเอ็งก็ลองใคร่ครวญวิเคราะห์มันดูใหม่ว่าตรงนี้มันเกิดอะไรขึ้น แกะมันออกมาให้ได้แล้วเราจะได้หาทางอื่นต่อ

การถากถางทางใหม่ แปลว่าทางนั้นมันยังไม่ถูกมองเห็นนะ จะมองเห็นก็ต่อเมื่อประสบการณ์มันเกิด แล้วจะให้ประสบการณ์เกิดมันก็ต้องถางทางต่อไป (หัวเราะ) คนที่ทำนวัตกรรม ทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน จึงเป็นผู้บุกเบิกไง การบุกเบิกทางใหม่เป็นเรื่องยาก มันท้าทายเรา แล้วมันจะสนุกถ้าเราทำสิ่งที่เรียกว่า ทำไปถอดไป แล้วเรามีเพื่อนร่วมทาง

เวลาเราเน้นว่ามันคือนวัตกรรม เรารู้ว่ามันไม่ง่ายไง มันล้มเหลวง่ายกว่าสำเร็จถูกมั้ย? การที่เขาได้ทำแล้วมีเพื่อน ทำแล้วสนุก ได้พัฒนาตัวเอง ได้ทดลองสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาแล้วได้แตะกับความสำเร็จจริงๆ แบบนี้จะยืนระยะได้ยาวขึ้น

ชอบที่บอกว่า การทำนวัตกรรมคือการ ‘ทำๆ ถอดๆ’

มันต้องมีช่วงเวลาการถอดอยู่ตลอดเวลา ทำแล้วต้องมาทวน ไม่มีทางที่จะทำๆ มุดๆ ไปแล้วไม่ทวน ซึ่งตรงนี้แหละ เราต้องมีมันก็ต้องมีพื้นที่ได้ให้เค้าได้ถอด ต้องสร้างพื้นที่ให้เค้าได้มาพูด ไหนเอากลับมาดูซิ กลับมาพรีเซนต์ใหม่ซิ ได้กลับมาเล่า มาพราวด์ มาปรับทุกข์ มาร้องไห้ได้ ได้มาใช้พลังงานร่วมกัน

ถ้า SYSI จะเป็นพื้นที่อะไรสักอย่าง ก็คงเป็นพื้นที่ให้คนหนุ่มสาวได้มีความมั่นใจที่จะรับผิดชอบสังคมนี้ด้วยตัวเองแบบจริงๆ เราอยากทำให้ความต้องการเขามันทะลุไปเลยว่าเราหวังกับตัวเองได้ อยากเห็นมันเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเองได้ และเรานี่แหละเป็นพลัง

เรียกว่าในกระบวนการ ฝึกฝนความเป็นมนุษย์หนักมากเหมือนกัน

นี่ก็เป็นคำถามที่เราถามกันในวงหนักเหมือนกัน เราเปลี่ยนแปลงความคิดกันตอนไหน อะไรที่ทำให้เราเป็นเราวันนี้ อะไรคือจุดเปลี่ยน (turning point) ของเรา อะไรที่มันสำคัญสำหรับเราในชีวิต เอาจริงๆ นะ นี่เป็นบทสนทนาปกติของคนรุ่นใหม่เลย

จากที่ออกแบบค่ายมา มองเห็นการเปลี่ยนแปลงยังไงของคนรุ่นใหม่ หรือคนแต่ละรุ่นบ้าง

ถ้าสมัยก่อนน้องจะเชื่อพี่ เชื่อประสบการณ์ เชื่อข้อมูล แต่ปัจจุบันมัน…ไม่ใช่ว่าเขาไม่เชื่อนะ แต่เขามีความรู้ของตัวเอง แต่ก่อนถ้าเอาพี่มาพูดเชิงแลคเชอร์ น้องตั้งใจฟังหมดเพราะมันไม่มีโอกาสฟังประสบการณ์อะไรแบบนี้ แบบ…การลงพื้นที่ การไปพบชาวบ้าน ความสัมพันธ์ที่มันลิงก์ต่อกัน มันไม่ได้เกิดง่ายๆ อาจเพราะด้วยความที่แต่ก่อนข้อมูลข่าวสารไม่ได้ถูกแชร์กันอย่างง่ายแบบนี้ด้วยมั้ง มีความ top down อยู่นิดๆ

แต่ปัจจุบันไม่ เถียงด้วย มั่นใจ มั่นใจว่าเราก็รู้บางส่วน คุณก็รู้บางส่วน แล้วโครงการคนรุ่นใหม่นี่เชิญวิทยากรยากมากนะ น้องมันปฏิเสธ ถ้าพี่จะมาแลคเชอร์นี่ไม่เอานะ วอล์กเอาท์ก็มี โอ๊ย…อย่าให้เล่าเยอะ (หัวเราะ) แต่สนุก ชอบความดื้อของคนรุ่นใหม่

ในฐานะคนออกแบบกระบวนการ  การสร้าง social innovator ในยุคนี้มีปัจจัยอะไรที่ที่ต้องคำนึงมั้ย

เรื่องที่เราจะ ‘ไม่ทำ’ นี่แหละ ซึ่งมันก็ชัดเนอะ คือการระวังคำพูดของตัวเอง ว่าคำพูดที่ออกไปของเรานี้พูดเพื่อเราหรือเพื่อเขา พูดเพื่อเราให้ได้โชว์ภูมิหรือเพื่อให้เขาได้เรียนรู้ มันต้องเท่าทันตัวเอง

และการ ‘ไม่ทำ’ อีกอย่างคือ การไม่ยัดเยียดข้อมูล และ การฟังโดยไม่ตัดสินและตีความ แค่นี้แหละ พื้นฐานสำคัญในการการออกแบบกระบวนการ คือถ้าเราเชื่อในประชาธิปไตยนะ การออกแบบกระบวนการมันก็ต้องไปในทางนั้น การไม่ตัดสินและตีความ การทำพื้นที่ที่เค้าได้รับความเคารพ ซึ่งมันสำคัญมาก เวลาทำตรงนี้ ทำแล้วเค้าไปใช้กับชีวิตได้ ใช้กับทุกคน 

เอาเข้าจริงแล้ว บทบาทของ SYSI คล้ายทำงานเป็นผู้สนับสนุน (supporter)

พูดแบบนั้นก็ได้แต่คิดว่าไม่พอ เพราะการทำนวัตกรรมมันไม่ง่าย คนชอบพูดว่าคนรุ่นใหม่มีพลัง ทำอะไรก็ได้ แต่เรารู้ว่ามันไม่ค่อยมีคนรับผิดชอบเวลาที่เค้าล้มเหลว ไม่ค่อยมีคนไปกอบกู้เขา เราต้องรู้ว่ามันไม่ง่ายเพราะเราผ่านประสบการณ์เหล่านี้ด้วยตัวเอง เราต่างเคยเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไปแกะจนเจอว่ามันต้องมีเพื่อน พี่ น้อง ที่ต้องประคับประคองกันในบางสภาวะ สร้างพื้นที่ให้เค้าตั้งหลักได้ เป็นแค่ supporter ไม่พอ แต่ต้องเป็นคนที่เชื่อมั่นว่าถ้าจะปลูกต้นไม้ ต้องทำให้ดินพร้อมปลูกต้นไม้ที่ต่างกันให้ได้ ให้รู้ว่าที่นี่มันพร้อมที่ต้นไม้จะโตได้ด้วย ก็เหมือนการออกแบบให้พื้นที่เหล่านี้มันเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่การซัพพอร์ตอย่างต่างคนต่างมา แต่เรารู้สึกว่าเราแค่อยากสร้างพื้นที่ที่ให้ทุกเมล็ดพันธุ์เติบโตและโตแบบเป็นตัวของตัวเองด้วย โตบนความหลากหลาย ให้เป็นเหมือนป่าธรรมชาติ

มันอุดมคติ

ก็อุดมคติแต่มันต้องใช้จินตนาการ เพราะเป็นเรื่องที่เราสร้างใหม่ และต้องเชื่อด้วยนะ ต้องเห็นด้วยนะว่ามันเป็นอยู่จริง 

ท้ายๆ แล้วค่ะ นิยามคำว่านวัตกรรม ว่าอะไร

นวัตกรรมทางสังคมที่พยายามจะออกแบบ สำหรับพี่ มันไม่ใช่แค่ความคิดนะ แต่คือการทำความคิดให้เป็นนวัตกรรมที่สร้างการเปลี่ยนแปลง อะไรก็ได้แต่นวัตกรรมนั้นต้องช่วยยกระดับสังคมขึ้นมา ไม่ใช่ไปขั้วตรงข้าม เช่น ถ้าเราอยากเห็นสังคมประชาธิปไตย เราก็ต้องทำให้เท่ากัน ลดความเหลื่อมล้ำ ในมิติต่างๆ คิดว่านี่เป็นรูปธรรมที่อยากเห็น แบบไหนก็ได้ ถ้าคุณคิดว่าอยากเห็นสังคมดี ต้องตีโจทย์นี้ออกมา แล้วออกมาเป็นการกระทำ

ถ้าได้ยินคำว่า generation of innovator คิดถึงอะไร 

SYSI นะ (หัวเราะ) คิดถึงน้องที่ทำๆ เขาถกเถียงแลกเปลี่ยนกันเยอะนะ สิ่งที่เขาทำอยู่ก็เป็นนวัตกรรมที่กำลังทดลองทำสิ่งนี้ ซึ่งก็เป็นสิ่งใหม่ใช่มั้ย ยังอยู่ในบริบทถกเถียงแลกเปลี่ยนและทำไปด้วย หาแนวทางใหม่ๆ ด้วย และยังมีคนที่ทำนวัตกรรมมาเชื่อม มารับงบประมาณไปทำ มันก็ shape ความคิดไปด้วย ซึ่งมันเป็นความน่าสนใจนะถ้า SYSI สามารถเปลี่ยนไอเดียของผู้คนไปสู่นวัตกรรมที่มีรูปธรรมชัดขึ้น คิดว่ามันคงตอบโจทย์และเป็นนวัตกรรมที่เป็นองค์กรของคนรุ่นใหม่ สร้างโดยคนรุ่นใหม่ บริหารโดยคนรุ่นใหม่ ที่จะไปตอบโจทย์ให้โอกาสคนรุ่นใหม่ได้เติบโต เกื้อหนุนให้เค้าพัฒนาความคิดและเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยกัน แล้วเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ที่มีพลัง

*ไผ่ ดาวดิน นักเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยรุ่นใหม่ที่ตั้งใจสื่อสารด้วยสันติวิธี, a-chieve ธุรกิจเพื่อสังคมให้นักเรียนมัธยมทั่วประเทศเลือกเส้นทางการเรียนและอาชีพที่ตนเองรักได้อย่างมั่นใจและตรงกับความชอบ ความถนัดและคุณค่าในชีวิตของตนเอง และ ชูใจคอฟฟี่ กาแฟอินทรีย์ที่ตั้งใจอยากพูดถึงคนทำ ทำผลิต ในฐานะแหล่งอาหารชุมชน 

**นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (AIDS Access) และตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ
รวีวรรณ ศรีทอง ผู้ประสานงานผักประสานใจ โดยใช้หลัก Community Supported Agriculture (CSA)

Tags:

นวัตกรศิริพร ฉายเพ็ชรSYSI

Author:

illustrator

ณิชากร ศรีเพชรดี

แอดมิชชันเข้าคณะการเขียนและสิ่งพิมพ์เพราะคิดว่าเขาจะสอนให้เขียนนิยาย แทนที่จะได้เขียนจากจินตนาการ อาจารย์และทุกอย่างที่นั่นเคี่ยวกรำให้ทำ-คิด-เขียน-รู้สึกกับประเด็นสังคม ยังคงสนุก(มาก)กับงานสื่อสาร ฝันสูงสุดคือยังเข้มแข็งเขียนงานได้อย่างมีคุณภาพและฐานะดี

Photographer:

illustrator

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

ศิลปศาสตร์บัณฑิต และมนุษย์ฟรีแลนซ์ที่ทำงานเขียน ถ่ายรูป สัมภาษณ์ แปลงาน ล่าม ไปจนถึงครูสอนพิเศษเด็กชั้นประถม ของสะสมที่ชอบมากๆ คือถุงเท้าและผ้าลายดอก เขียนเรื่องเหนือจริงด้วยความรู้สึกจริงๆ ออกเป็นหนังสือ 'Sad at first sight' ซึ่งขายหมดแล้ว ผลงานล่าสุดคือ I Eat You Up Inside My Head รับประทานสารตกค้างในกลีบดอกปอกเปิก

Related Posts

  • Voice of New Gen
    4 เคล็ดลับสู่การเริ่มต้นเป็นนักพัฒนาเทคโนโลยี : ฤทัยมาตา ขวัญเกตุ

    เรื่อง กิติคุณ คัมภิรานนท์มณฑลี เนื้อทอง

  • Creative learning
    ครูต่าย ภูมินทร์ ประกอบแสง : ให้แรงจูงใจเปลี่ยนเด็กเทคนิคเป็นนวัตกร

    เรื่อง กิติคุณ คัมภิรานนท์มณฑลี เนื้อทอง

  • Voice of New Gen
    ALGOLAXY: แอพฯ สอนอัลกอรึทึม เปลี่ยนความงงเป็นโอกาส ฝึกคิดให้เป็นระบบ 1-2-3-4

    เรื่อง

  • Voice of New Gen
    นวัตกรตัวน้อย: ไม้ยืนต้น รากลึกและแข็งแรงจาก ‘ต่อกล้าให้เติบใหญ่’

    เรื่อง The Potential

  • Voice of New Gen
    ‘ภูมิ’ เด็กสร้างค่าย เปลี่ยนเด็กธรรมดาให้กลายเป็น ‘นักสร้างสรรค์’ ภายใน 3 วัน

    เรื่อง รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

“ไม่รู้สึกว่าถูกเด็กตำหนิ แต่คิดว่าคนรุ่นเราไม่ได้สร้างระบบการศึกษาที่ดีพอให้เด็กรุ่นนี้” สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
Social Issues
3 November 2020

“ไม่รู้สึกว่าถูกเด็กตำหนิ แต่คิดว่าคนรุ่นเราไม่ได้สร้างระบบการศึกษาที่ดีพอให้เด็กรุ่นนี้” สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดีเพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา ภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

  • จากสถานการณ์ที่คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาพูดปัญหาในระบบการศึกษา จัดตั้งกลุ่มขึ้นมาอย่างกลุ่มนักเรียนเลวเพื่อขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว ใช้ศักยภาพในฐานะ Digital Native ใช้โซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์เป็นพื้นที่สื่อสาร
  • หากระบบการศึกษาต้องการสร้างคนให้มีทักษะศตวรรษที่ 21 มีสมรรถนะที่อยู่รอดในโลกที่เปลี่ยนรวดเร็ว เราสามารถเห็นทักษะเหล่านี้ในม็อบนักเรียนกันมิใช่หรือ?
  • เพื่อทำความเข้าใจ เราชวนดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ และในฐานะคนทำงานด้านการปฏิรูปการศึกษา มาคุยกันว่าคิดเห็นอย่างไรกับม็อบนักเรียน มองเห็นโอกาสอะไร และอยากสื่อสารอะไรกับคนในวงการการศึกษา

ถ้าไม่ใช่กลุ่มนักเรียนเลว ถอยหลังกลับไปในประวัติศาสตร์รอบรั้วโรงเรียนไทย เรียกว่าไม่มีเคยใคร (กล้า) หยิบความจริงขึ้นมาพูดถึง จัดกระบวนการสื่อสารจนเป็นที่พูดถึงกันในวงกว้าง ใช้เทคโนโลยีที่คนรุ่นใหม่คุ้นเคยอย่างทวิตเตอร์และทุกกระบวนท่าโซเชียลมีเดีย เดินขบวนทั้งออนไลน์และออฟไลน์ – หลักฐานคือการทำให้มีการดีเบทครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างกลุ่มนักเรียนกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ – จัดทัพสื่อสารและดึงให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย… ทั้งร้อนใจ ถูกจดจี้ให้ต้องรับเรื่อง และพูดให้ถึงที่สุด กลุ่มนักเรียนเลวไม่ถดถอยที่จะทำให้ประเด็นนี้ไม่ลอยหายไปกับกาลเวลา ทำให้นักการศึกษาและนักกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องต้องรับเรื่องเข้าไปพูดคุยกัน

ด้านหนึ่ง มีผู้ใหญ่ไม่เห็นด้วย อึดอัดกับวิธีคิด ทำ พูด ของกลุ่มนักเรียนเลว และม็อบนักเรียนที่ลุกฮือขึ้นตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา

อีกด้าน หลายคนมองว่านี่คือการจัดกระบวนทัพการสื่อสารที่ทรงพลัง สื่อสารประเด็นสังคมที่ตนรู้สึกร่วม เป็น pain point ร่วม อย่างการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน และมองเห็นศักยภาพของคนรุ่นใหม่ในฐานะ Digital Native และเฝ้ามองว่าคนรุ่นใหม่จะเดินกระบวนไปถึงจุดไหน

มีหลายประเด็นสื่อสารที่ต้องทำงานในเวลานี้ แต่เฉพาะชิ้นนี้ เราตั้งต้นที่ว่า หากคนทำงานด้านการศึกษาพูดคุยกันตลอดว่าระบบการศึกษาต้องสร้างคนให้มีทักษะศตวรรษที่ 21 เช่น ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) เห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy) ยืดหยุ่นทั้งการใช้ชีวิตและการทำงาน ทักษะสื่อสารเป็นเลิศ และอื่นๆ มีสมรรถนะหรือความสามารถในโลกที่เคลื่อนเปลี่ยนรวดเร็ว ทั้งหมดนี้ เราตั้งสมมติฐานกันว่า เราเห็นทักษะเหล่านี้ในม็อบนักเรียนกันมิใช่หรือ?

The Potential ชวนดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) และในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนของนักเรียน นักศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ คุยกันว่าเขาคิดอย่างไรกับม็อบนักเรียน มองเห็นโอกาสอะไรในม็อบนักเรียน และในฐานะหนึ่งในคนทำงานด้านการปฏิรูปการศึกษา โครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา อยากสื่อสารอะไรกับคนในวงการบ้าง?

ส่วนตัวคุณสมเกียรติได้ติดตามการเคลื่อนไหวของนักเรียนมากน้อยเท่าไร เห็นอะไรบ้าง

รู้สึกว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่มองด้วยความสนใจและตื่นเต้นนะครับ แต่ยังไม่ได้มีเวลาไปศึกษาวิจัยเยอะ ด้วยข้อจำกัดทางเวลา แต่คิดว่าว่ามีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งได้เข้าไปศึกษาแล้ว แต่โดยรวมผมมองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ พยายามศึกษาเพื่อเข้าใจข้อห่วงใยของกลุ่มน้องๆ เห็นความคิดสร้างสรรค์ที่ออกมาจากม็อบนักเรียนเยอะแยะ เห็นลักษณะการชุมนุมที่ไม่เหมือนกับรุ่นของพวกผมที่เคยทำกันมาเลย เรียกว่าเป็นเจเนอเรชันใหม่ ถ้าจะพูดไปแล้วมันก็คือโลกของ digital native แล้วแหละ เพราะคนที่มาชุมนุมครั้งนี้เขาใช้สื่อได้ดิจิทัลเป็นหลัก

ความเห็นในฐานะคนทำงานการศึกษา มองการเคลื่อนไหวม็อบนักเรียนครั้งนี้อย่างไร

ผมเคยพูดเรื่องหนึ่งเมื่อสองสามปีก่อนเรื่อง AI เรื่องเทคโนโลยีที่มันจะเข้ามา disrupt และพลิกโลก ซึ่งตอนนั้นผมก็พูดไปอย่างไม่ได้คิดอะไรมาก พูดว่าตอนนี้โลกเปลี่ยนไปเยอะมากแต่ระบบการศึกษาไทยยังไม่รองรับกับการเปลี่ยนแบบนี้ วิธีการสอนของเราแทบจะตรงข้ามกับการที่จะให้เด็กอยู่รอดบนโลกได้เลย เด็กกลุ่มนี้เค้าก็อายุยืนขึ้น เขาโตขึ้นมาแบบหนึ่ง เขาเห็นโลกอีกแบบหนึ่ง และน่าจะเซนส์ (sense รับรู้ รู้สึก) ว่าโลกยุคต่อไปจะอยู่ยากมาก และเซนส์ว่าการศึกษาไทยไม่ได้เตรียมให้เขาอยู่รอดในโลกที่มันปั่นป่วนได้ และตอนจบผมบอกว่า “ก็ขอให้โชคดี”

คลิปนี้ถูกแชร์เยอะมากจนผมตกใจ เพราะพูดไปด้วยความคิดและข้อเท็จจริงธรรมดา ผมเลยคิดว่ามันคือเซนส์ของความรู้สึกไม่มั่นใจในอนาคต ว่าระบบการศึกษาไทยจะช่วยให้อยู่รอดในโลกอนาคตได้ยังไง ซึ่งมันไม่ใช่บรรยากาศที่นักเรียนรู้สึกเท่านั้น แต่คนรุ่นผู้ใหญ่ที่คนอายุสามสิบกว่าที่ผมรู้จักเขาคิดเยอะมากว่าจะมีลูกหรือไม่มี เพราะเห็นแล้วว่าต่อไปเขาต้องเจอกับสภาพอากาศผันผวนจากภาวะโลกร้อน เจอการ disruption โดยเทคโนโลยี ซึ่งมันอยู่ยากขึ้นทุกวันๆ นะ ฉะนั้น มันต้องเป็นโลกที่ถ้าจะอยู่รอดได้ การศึกษาต้องถูกเตรียมพร้อมอย่างดี ซึ่งอันนี้คือประเด็นแรกเนอะ โลกเปลี่ยน

ประเด็นที่สอง –  ไม่นานมานี้ผมเสนอข้อมูลเรื่องพ่อแม่ไทยเปลี่ยนแปลงวิธีการเลี้ยงลูก ภายใน 7 ปีที่ผ่านมาว่าเปลี่ยนจากการสอนลูกแบบเผด็จการ ไปสู่การเลี้ยงดูแบบไม่ชี้นำ และปล่อยเสรีหรือให้อิสระเยอะขึ้น เปลี่ยนเยอะมาก เห็นตัวเลขแล้วก็ตกใจเลยว่าเซอร์เวย์มีอะไรผิดพลาดรึเปล่า เพราะหากเราดูการสำรวจทางสังคมทั่วไปมันจะไม่เปลี่ยนเร็วขนาดนี้ ซึ่งถ้าข้อมูลมันถูกนะ แปลว่าพ่อแม่ก็เซนส์ว่าโลกเปลี่ยนเยอะ ทำแบบเดิมไม่ได้ นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของนักเรียนที่ออกมาเรียกร้อง ผู้ใหญ่อาจมองว่าเรื่องเสื้อผ้าทรงผมเป็นเรื่องเล็ก แต่สำหรับเขามันเป็นสัญลักษณ์ของระบบที่ปิดกั้น กดทับ จำกัดสิทธิเสรีภาพของเขา

จะเรียกว่า ผมเข้าใจน้องๆ นักเรียนทั้งหมดก็ไม่ได้เนอะเพราะไม่เคยไปคุยกับเขาแบบลึกจริงๆ แต่มีข้อสันนิษฐานที่คิดว่าทำไมเค้าไม่ยอมอยู่กับระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จากข้อมูลมันเห็นว่าโลกเปลี่ยน พ่อแม่เปลี่ยน เด็กก็รู้ว่าเขาอยู่ยาก แต่โรงเรียนปรับตัวช้ามากหรือเผลอๆ ก็ถอยหลัง ซึ่งสองส่วนนี้มันไปด้วยกันไม่ได้ เด็กเกิดมาและเดินไปอีกโลกหนึ่งแล้วแต่โรงเรียนยังอยู่ในโลกเก่า และมันเก่าขนาดที่ว่า ตอนผมทำกฎหมายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งกฎหมายนี้บอกว่าอยากขอเปลี่ยนอะไรบางอย่างเพื่อทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษา สร้างของใหม่ได้ ทีนี้มีผู้ใหญ่คนนึงพูดว่า “การศึกษาไทยดีอยู่แล้ว ถ้าไม่ดี จะมีคนอย่างอาจารย์หมอจรัสได้ยังไง?” (ศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา อดีตประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา)

ผมฟังแล้วตกใจมากเลย คือผมไม่ได้มีเครื่องหมายคำถามอะไรกับอาจารย์หมอจรัส เพราะท่านเป็นคนเก่งมาก แต่ท่านเรียนหนังสือมากี่ปีแล้วอะ? ตอนนี้ท่านอายุ 88 ปีแล้ว หมายความว่าถ้าเราใช้อาจารย์หมอจรัสเป็นต้นแบบ เท่ากับว่าเรากลับไปดูการศึกษาไทยเมื่อกี่ปีที่แล้ว? การที่เขาพูดอย่างนี้แปลว่าเขาไม่ได้ตระหนักเลยว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไปเยอะมากแล้ว

ปัจจุบันคุณเข้าไปเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนของนักเรียน นักศึกษา กระทรวงศึกษาธิการด้วย บรรยากาศเป็นอย่างไรบ้าง

ดีเลยฮะ ประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 63 เป็นครั้งที่สอง จากที่กลุ่มนักเรียนเลวไปร้องเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการและหลังจากนั้นก็มีดีเบท ผมก็ไม่รู้ที่มาที่ไปยังไง จู่ๆ ผมถูกตั้งขึ้นมาให้เป็นประธาน แล้วกรรมการก็มีครบหมด ที่ปรึกษาคือคุณหมอวิจารณ์ (ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช) และอาจารย์วรากรณ์ (รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ) และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหนึ่ง เช่น คุณหมอเดว (รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี) อ.อรรถพล (ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล) เป็นต้น มีกลุ่มนักเรียน มีผู้อำนวยการ มีคุณครู  

ข้อเรียกร้องของม็อบนักเรียนคือ หนึ่ง-เรียกร้องทางการเมืองเหมือนม็อบนักศึกษา สอง-เรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน และแก้ปัญหาเรื่องเสื้อผ้า และทรงผม สาม-ปฏิรูปการศึกษา แล้วน้องๆ ที่อยู่ในชุดคณะกรรมการ เขาก็จะพูดเรื่องหลักสูตรการศึกษาไทยที่มันโบราณ ทำให้การศึกษาไทยเดินหน้าต่อไปไม่ได้

ในฐานะคนทำงานการศึกษา ฟังข้อเสนอแบบนี้แล้วรู้สึกถูกตำหนิมั้ย ที่ถามแบบนี้เพราะว่าเข้าใจว่าหลายคนที่ทำงานเรื่องนี้ ฟังแล้วรู้สึกว่าถูกตำหนิ รู้สึกเหมือนถูกต่อว่า

ผมไม่ใช่วงในจริงๆ นะ ผมจะถัดออกมาอีกชั้น แต่ถามว่ารู้สึกถูกตำหนิมั้ย? ไม่เลยฮะ ผมกลับรู้สึกด้วยซ้ำว่าคนรุ่นเราเนี่ย ยังไม่ได้สร้างความพร้อมให้รุ่นของเขา เขาจึงส่งเสียงออกมาว่าเขาเดือดร้อน

ผมเคยมีประสบการณ์ที่เจอกับตัวเองหลายที เช่น ครั้งหนึ่งผมไปพูดให้นักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์ของไทยที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งฟัง 

ตอนนั้นไปพูดเรื่อง AI กับการ disruption ว่าการเรียนรู้ต่อไปต้องเป็นยังไง ปรากฎว่าเด็กฟังอย่างสนใจแต่เงียบและช็อกไปพักใหญ่ แต่พอไปพูดเรื่องกับคนที่อายุเยอะหน่อย คนที่สอนหลักสูตรต่างๆ อย่างพวกผู้บริหาร เขาฟังไปหัวเราะไป ผมก็แซวเขาว่า “ที่หัวเราะ เพราะเห็นว่าเดี๋ยวตัวเองก็ตายแล้วใช่มั้ย ถึงไม่ต้องรู้สึกว่าโลกอยู่ยาก” 

แต่เด็กๆ ที่ต่อให้เป็นเด็กที่เก่งที่สุดในประเทศไทย เขารู้สึกถึงภัยคุกคามที่มันมาข้างหน้า ทั้งหมดนี้และที่ผมตีความจากที่ผมเจอมาสามสี่เรื่องที่เล่าไปข้างต้น ผมคิดว่าเด็กเขาน่าจะได้สัญญาณจากโลกที่เปลี่ยนแปลงและบางเรื่องเขาก็ทำความเข้าใจไม่ได้ว่าอะไรมันจะเกิดขึ้นกับเขา แต่เขาน่าจะเซนส์ได้ว่าตัวเองไม่ได้รับการเตรียมความพร้อมอย่างเพียงพอจากระบบการศึกษาไทย 

คิดว่าเรื่องนี้เป็นทั่วโลกแต่ไทยน่าจะหนักเป็นพิเศษ ก่อนจะพูดเรื่อง disruption นะ คุณภาพการศึกษาไทยก็มีปัญหาที่แสดงออกมานานพอสมควรแล้ว ที่เป็นรูปธรรมที่สุดคือคะแนน PISA ที่คะแนนเด็กไทยต่ำลงๆ ฉะนั้น อย่าว่าแต่ disruption เลย เอาแค่อ่านออกเขียนได้เด็กไทย อายุ 15 ปีไม่มีทักษะที่ใช้การได้พอ

ผลคะแนน PISA ของประเทศไทยปี 2018  

ฉะนั้นถามว่า ผมรู้สึกว่าถูกเด็กมาตำหนิมั้ย? ผมรู้สึกว่ารุ่นของเรายังไม่ได้สร้างระบบการศึกษาที่ดีพอให้เด็กรุ่นนี้ การที่ผมเข้าไปร่วมออกแบบพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาก็ดี อย่างอื่นก็ดี ก็มาจากการความพยายามทำในส่วนที่จะทำได้ และเราก็อยากชวนคนในสังคมมาช่วยกันทำ

มองว่าปัจจัยทางวัฒนธรรม เช่น การใช้อำนาจ มีผลมากน้อยในปรากฎการณ์แค่ไหน คือ… ระบบก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ระบบก็เกิดมาได้เพราะวัฒนธรรม ที่สร้างระบบแบบนี้ขึ้นมา

(พยักหน้า) คือในช่วงหลายปีที่ผ่านมา วัฒนธรรมการใช้อำนาจมันแรงขึ้น ตัวนี้มันน่าจะตกทอดไปถึงโรงเรียนด้วย แล้วมันแสดงออกมาอย่างชัดเจน เช่น เรื่องทรงผม เครื่องแบบ การใช้ความรุนแรงในโรงเรียน

เอาจริงๆ ตัวระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยระเบียบการไว้ทรงผม มีปัญหาอยู่บ้างแต่ไม่ถึงกับมีปัญหามากมายนะฮะ คือมีอยู่ข้อเดียวคือข้อที่ 7 ที่ให้โรงเรียนออกระเบียบเฉพาะของโรงเรียนได้ ซึ่งทำให้เป็นปัญหา นั่นคือการตีความระเบียบ  และพอครูเชื่อว่าเด็กไม่ได้ทำถูกระเบียบ วิธีที่ครูทำโทษนั้นครูไปใช้ความรุนแง ซึ่งถ้าทำโทษตามระเบียบกระทรวงศึกษาจริงๆ มันคือตักเตือน หักคะแนน หรือให้ไปทำกิจกรรมที่ปรับพฤติกรรม ไม่มีตรงไหนบอกว่าครูสามารถกล้อนผมเด็ก หรือไปทำอะไรที่รุนแรงคุกคามได้ นี่มันตัวสะท้อนการใช้วัฒนธรรมอำนาจเข้ามาเยอะ

ม็อบนักเรียนและนักศึกษาที่เกิดขึ้น มีข้อสังเกตว่าผู้หญิงออกมามากกว่าผู้ชาย มีการตีความกันว่าเด็กผู้หญิงถูกใช้ความรุนแรงในโรงเรียนมากกว่า

โดยเฉพาะเรื่องเสื้อผ้าทรงผมนี่แหละ และโดยวัฒนธรรมไทยผู้หญิงถูกคุมเยอะกว่าอยู่แล้ว สารพัดเรื่องเลย เช่น ไว้ผมต้องแบบนั้นแบบนี้ หน้าม้าหรือถักเปียได้ไม่ได้ และน่าจะเจอกับการคุกคาม harassment (การล่วงละเมิด) มีทั้งการการคุกคามด้วยวาจา ถูกต่อว่าแบบแสบๆ ถูกบูลลี่เยอะ อีกกลุ่มหนึ่งที่ได้ยินว่า ถูกบูลลี่เยอะก็คือกลุ่ม LGBTQ+

เรียกว่าเป็นทั้งระบบการศึกษาและบรรยากาศ

และบรรยากาศในโรงเรียนก็ชวนให้คิดถึงบรรยากาศในประเทศด้วยว่ามันไปทางเดียวกัน เด็กที่เขาอึดอัดในโรงเรียนแล้วออกมาเรียกร้องชูสามนิ้ว ผู้ใหญ่อาจจะแบ่งเป็นสามเรื่องก็ได้แต่สำหรับเด็กมันอาจเป็นเรื่องเดียวกัน เรื่องสิทธิเสรีภาพของเขา

อย่างข้อเรียกร้องของนักเรียนเรื่องระเบียบทรงผมการทำโทษ ผมคิดว่าเด็กเดือดร้อนกับเรื่องการทำโทษมากกว่าการบอกว่าเขาผิดกฎระเบียบ เท่าที่ผมฟังเขามา เขายอมรับได้นะถ้าบอกว่าเขาทำผิดกฎระเบียบ แต่เอาให้ชัดสิว่า ตกลงที่ผิดระเบียบมันคือยังไงกันแน่ ผมผู้ชายมันกี่เซ็น 5 หรือ 10 เซ็น? ผู้หญิงที่บอกว่าไว้ผมยาวได้แต่ต้องรวบผม แปลว่าถักเปียได้มั้ย ไว้ผมหน้าม้าได้มั้ย?

อีกเรื่องคือ เรื่องมันจะไม่แรงขนาดนี้ถ้าวิธีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมันดี ครูอธิบายด้วยเหตุผล ไม่ใช่การลงโทษในระดับ harassment หรือทำโทษทางร่างกาย ซึ่งการทำโทษทางร่างกายนี่ พ่อแม่ของพวกเขาก็เลิกทำไปแล้วนะ

ส่วนหนึ่งอยู่ที่คณะครุศาสตร์หรือคณะที่ผลิตครูด้วยนะ ต้องเปลี่ยนต้นน้ำ อีกส่วนคือการสอบที่ต้องรู้เรื่องกฎระเบียบ ซึ่งที่ควรรู้เลยคือ ทรงผมเป็นยังไง เครื่องแบบเป็นยังไง การทำโทษยังไงได้ไม่ได้ จำนวนมากจะพบว่าครูทำโทษเด็กนอกกฎระเบียบ กฎไม่ได้บอกให้ทำร้ายเด็กได้ หรือให้ด่าเด็กด้วยคำพูดรุนแรงด้วยการดูถูกเหยียดหยาม เราจึงต้องทำงานทุกส่วนเลย

เด็กบอกว่าเขากำลังพูดเรื่องสิทธิ แต่ครูบอกว่าเด็กพูดการเมือง เป็นเด็กอย่าสนใจการเมือง เรียนหนังสือก่อน  

เด็กเขากำลังเชื่อมเรื่องการเมืองบนตัวของเขาแล้วขยายต่อไปถึงการเมืองในระดับประเทศได้ เพราะร่างกายมันคือสิทธิที่เขาจะมีสิทธิบนร่างกายตัวเอง อย่างที่ผมคุยกับเด็กเมื่อวานนี้ เขาถามว่า ในรัฐธรรมนูญมันมีเรื่องสิทธิมนุษยชนใช่มั้ย มีกฎหมายเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เป็นพระราชบัญญัติ เขาพูดถึงความตกลงระหว่างประเทศที่มันเกี่ยวข้องคุ้มครองสิทธิเด็กด้วย แล้วตั้งคำถามต่อว่า …แล้วทำไมตัวระเบียบของกระทรวงถึงไปใหญ่ทับตัวอื่นได้? ก็จะมีเครื่องหมายคำถามอะไรแบบนี้

แล้วคณะกรรมการว่ายังไงคะ

ก็ไดอาล็อกกันฮะ ฟังเยอะๆ ถ้าพูดถึงครู ครูจะเข้าใจเด็กได้นะ ครูต้องฟังเด็กเยอะๆ ไม่ต้องเห็นด้วยกับเด็ก แต่ควรฟังแบบใจเย็นๆ อย่าไปโกรธเด็ก

พูดไปแล้วเหมือนต่อว่าครู เอาเป็นว่าครูที่เราเจอมาจำนวนหนึ่ง ไม่ค่อยคุ้นเคยกับวิธีการแบบนี้

อันนี้จะเกี่ยวกับระบบการศึกษาละ คือระบบการศึกษายังยึดแบบเดิมคือ ครูรู้ดีกว่า ครูพูด นักเรียนฟัง และต้องเงียบเพราะครูกำลังจะถ่ายทอดความรู้ที่เป็นประโยชน์กับเด็ก เด็กทุกคนจึงต้องตั้งใจฟังและควรจะต้องจดตามครู นี่คือโหมดการเรียน ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับพ่อแม่ก็คือการเลี้ยงลูกแบบเผด็จการอะ พ่อแม่รู้ดีกว่า จึงทำมีสิทธิ์บอกลูกว่าควรทำหรือไม่ควรทำอะไร

วิธีการสอนแบบนี้เคยเวิร์ก สมัยที่อาจารย์จรัสโตมาก็คงเรียนมาแบบนี้แหละ แต่วันนี้มันผ่านมา 70 ปีแล้ว แล้วโลกที่เด็กเห็นข้างหน้าเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนตลอด ใครจะเป็นคนรู้ดีแล้วมาบอกให้ใครอีกคนเชื่อ มันเป็นไปไม่ได้แล้ว พอระบบการศึกษาเป็นแบบนี้ มันเลยไม่ได้เข้าโหมดที่ว่า ‘ครูกับนักเรียนมาเรียนรู้ร่วมกัน’

มีคำพูดหนึ่งของอาจารย์เดชรัตน์ สุขกำเนิดที่ผมชอบยกขึ้นมาคุยหลายที ท่านบอกว่า ‘ตอนเป็นเด็กก็เรียนรู้จากพ่อแม่ พอมาเป็นพ่อแม่แล้วก็เรียนรู้จากลูก ตอนที่เป็นนักเรียนก็เรียนรู้จากครู ตอนเป็นครูก็เรียนรู้จากนักเรียนนักศึกษา’ คือมันเป็นโหมดการเรียนรู้แบบเสมอกันกับเด็กนะ เรียนรู้ไปด้วยกัน คนที่มีประสบการณ์มากกว่าก็อาจช่วยทำหน้าที่เป็น facilitator คอยอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของเด็ก แต่ไม่ได้ผูกขาดความรู้อีกต่อไป ฉะนั้นในโหมดนี้ ถ้าครูไม่คุ้นเคยกับโหมดที่มาเรียนรู้ร่วมกันกับเด็กก็ยาก

อีกอย่างที่อาจารย์เดชรัตน์พูดไว้ชัดคือ ‘ต้องอย่าเอาความเป็นพ่อไปข่ม’ หมายถึงถ้าเห็นไม่ตรงกัน พ่อบอกอย่างนึง ลูกบอกอย่างนึง แล้วจังหวะที่กำลังคิดว่าอะไรถูก ถ้าพ่อใช้วิธีว่า ‘ฉันเป็นพ่อเธอนะ ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน ฉันต้องรู้ดีกว่าเธอ’ แล้วปิดการสนทนา แบบนี้การเรียนรู้ระหว่างกันมันไม่เกิด

กรณีโรงเรียนก็เหมือนกัน เพราะครูไม่คุ้นเคยกับการเรียนรู้แบบ active learning ซึ่งความรู้มาจากการสร้างชิ้นงาน  สร้างการเรียนรู้ด้วยเอง หรือกระบวนการ constructivism แล้วครูก็คอยแนะนำ คอยเป็นไกด์ให้ แต่ไม่ใช่คนที่รู้ดีกว่าแล้วไปบอกว่าความรู้คืออะไร โหมดอย่างนี้มันไม่คุ้นเคยในห้องเรียนไทย พอเจอแบบนี้ ครูจะไปใจเย็นๆ คอยฟังเด็กมั้ย? ซึ่งพวกนี้มันคือทักษะเหมือนกันนะ

เห็นใจครู พูดแบบเต็มที่เลยว่าเห็นใจครู เพราะว่าครูไม่ได้ถูกเตรียมให้มารับมือกับแบบนี้ ไม่ได้ถูกเตรียมให้มารับมือกับโลกที่เปลี่ยนไปแบบนี้เหมือนกัน เตรียมให้มารับมือกับเด็กที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เพราะคนที่ดูแลระบบการศึกษายังทำเสมือนโลกมันหยุดนิ่งอยู่ จะให้ครูไปสอน active learning ครูก็สอนไม่ได้เพราะครูก็ไม่เคยเรียนมาแบบนี้ ภาระงานก็มากมาย ในวงคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนของนักเรียน ก็มีคนบอกว่า ในมุมหนึ่ง ครูเองก็ถูกบูลลีเหมือนกัน

ครูไม่ได้ถูกเตรียมพร้อมเหมือนกัน ถูกแรงกดดันสารพัด ครูไม่มีเวลามาเอาใจใส่นักเรียนได้ดีพอ ถ้าใครเคยอ่านหนังสือเล่ม Poor Students, Rich Teaching สอนเปลี่ยนชีวิต – สู้ความเหลื่อมล้ำด้วยพลังแห่งการสอน ว่าด้วยทักษะของครูที่ต้องทำงานกับเด็กที่เปราะบางมีปัญหา อ่านแล้วจะตกใจว่าเล่มนี้เรียกร้องครูสูงมากเลยนะ แล้วตอนนี้เด็กต้องเปลี่ยนผ่านในสถานการณ์บ้านเมืองที่มันยากกับตัวเขา ครูยิ่งต้องมีทักษะที่สูงไปอีก จะเห็นเลยว่าถ้าครูไม่ได้ถูกเตรียมให้มีทักษะพร้อม ถ้าจะเรียกร้องให้ครูไปรับมือกับเด็กอย่างเดียว มันก็ใจร้ายกับครูไปนิดนึงนะ

อีกประเด็นคือ คนทำงานการศึกษาพูดกันเรื่องเราจะพัฒนาเด็กให้มีทักษะศตวรรษที่21 อยากทำสมรรถนะ ซึ่งทั้งหมดนี้เราเห็นในม็อบหมดเลย

ใช่ๆ ปรัชญาการเรียนรู้มันเกิดได้ทุกที่แหละ การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดในห้องเรียน แล้วเราอยากให้เด็กมีความคิดเชิงวิพากษ์ มี critical thinking ซึ่งมันจำกัดไม่ได้ว่าให้คุณมี critical thinking เฉพาะตอนมาเรียนกับฉันและต้องเฉพาะเรื่องนี้เท่านั้นนะ แต่พอออกห้องเรียนไปอยู่ในปริมณฑลทางการเมือง คุณห้ามมี critical thinking นะ …มันห้ามไม่ได้ ของอย่างนี้มันมาเป็นแพคเกจเดียวกัน

เราต้องคิดว่าถ้าเราสอนเขาดีพอ เขามี critical thinking เขาจะเลือกสิ่งที่ดีสำหรับเขาเอง และถ้าเราคิดว่าเขากำลังไม่ได้เลือกในสิ่งที่ดีที่สุด สิ่งที่เราต้องทำคือการเสนอเหตุผลให้เขาไปชั่งดูว่ามันใช่หรือไม่ใช่ และถ้าเราคิดว่าเราสอน critical thinking ให้เขาดีพอ เราจะไม่ควรตั้งคำถามกับเรื่องพวกนี้

อาจเป็นเพราะว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นทางการเมืองที่ธงของเด็กๆ คล้ายอาจทำให้ครูอึดอัด ในวงเว็บว่า ครูก็มีอำนาจเหนือที่จะบังคับจัดการนักเรียนได้

เพราะว่าผู้ใหญ่หรือครูไปมี position ว่าเด็กต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ จริงๆ แล้ว มีการคิดเรื่องนี้มานาน อย่างน้อยตั้งแต่บทกวีของคาริล ยิบราน ที่ว่า

“บุตรของเธอ…ไม่ใช่บุตรของเธอ เขาเหล่านั้นเป็นบุตรและธิดาแห่งชีวิต เขามาทางเธอ แต่ไม่ได้มาจากเธอ และแม้ว่าเขาอยู่กับเธอ แต่ก็ไม่ใช่สมบัติของเธอ เธออาจจะให้ความรักแก่เขา แต่ไม่อาจให้ความนึกคิดได้เพราะว่าเขาก็มีความนึกคิดของตนเอง” พูดมานานมาก แต่เอามาทำให้มันโรแมนติกอย่างเดียวไม่ได้  

คนเรานะ ถ้าอยู่ในโหมดใช้อำนาจ มีอำนาจมากกว่าจะใจร้อนกว่าเสมอ อันนี้เป็นปกติเลย ฉะนั้นจึงต้องฝึกให้อยู่ในอีกโหมดที่ว่ามาเรียนรู้ด้วยกัน

เราเห็นโอกาสอะไรจากม็อบนักเรียน ครูจะมองเรื่องนี้เป็นโอกาสยังไง

ครูน่าจะลองไปสังเกตการณ์ม็อบนักเรียนนะ ไปลองดู จะได้รู้จักเค้า และสนทนากับเขาอย่างใจเย็นๆ แล้วถ้าไม่มั่นใจว่าจะใจเย็นได้ ให้หาคนกลางมาคนหนึ่ง คนกลางทำหน้าที่ facilitate เวลาเด็กสนทนากับครู ครูอย่าขัดเด็ก ให้โอกาสเด็กพูดให้จบก่อน ถ้าครูไม่เห็นด้วยอยากแย้งอยากอะไรก็ค่อยแย้ง แต่ต้องฟังกันเยอะๆ

ทักษะที่ต้องเทรนด์ครู คือทักษะของการมี empathy ต่อเด็ก สกิลนี้เป็นทักษะศตวรรษที่ 21 นะ คือการ empathy ความพยายามเข้าใจว่าเขาอยู่ในสถานการณ์แบบไหน ทำไมเขาคิดแบบนั้น พยายามเอาใจเขามาใส่ใจเรา ก่อนไปถึง sympathy หรือเห็นอกเห็นใจคนอื่น

ทำยังไง

ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ แต่คิดว่าทำได้หลายทาง เช่น เล่นบทบาทสมมติ (role play) ผมเคยไปเข้าเวิร์กชอปหนึ่งที่อเมริกา เค้าพยายามอธิบายว่าถ้าเป็นผู้หญิงและเป็นคนกลุ่มน้อย (minority) ในสังคม เช่น เป็นผู้หญิงผิวสี คนที่เป็นผู้ชายที่อยู่ในกระแสหลัก เช่น ผิวขาว จะฟังคนกลุ่มนี้ไม่เข้าใจเพราะตัวเองอยู่ในสเตตัสที่ได้หลายเรื่องมาโดยไม่ต้องออกแรง เขามีสเตตัสที่เป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว คนที่มีปากมีเสียงก็อาจไม่เข้าใจหรอกว่าคนที่ไม่มีปากมีเสียงคิดยังไง แต่ถ้าเล่น role play ก็จะได้จำลองว่าถ้าคุณเป็นบทบาทนู้นนี้ ก็จะเข้าใจเค้าได้ดีขึ้น นี่ก็เป็นกระบวนการง่ายๆ ที่อาจจะทำให้ครูมี empathy กระบวนการแบบนี้อาจช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนที่ถูกกั้นไว้จากโครงสร้างแบบเดิมถูกสลายสู่ความสัมพันธ์โหมดใหม่

อีกวิธีหนึ่ง คือต้องพาให้ครูไปเห็นว่าโลกเปลี่ยน และครูจะค่อยๆ เข้าใจว่าถ้าสอนแบบเดิมจะไม่มีทางทำให้นักเรียนอยู่รอดได้ในโลก คือในโครงสร้างแบบนี้ ครูต้องสามารถตั้งคำถามที่กระทรวงสั่งได้ด้วย ที่ยากคือตรงนี้ ที่จะให้ครูมี critical thinking ซึ่งแปลว่าครูต้องสามารถตั้งคำถามได้ ที่คุณบอกมายังงี้ มันมีเหตุผลมั้ย คุณต้องอธิบาย

อ้างอิง
ศธ.เดินหน้าแก้ไขระเบียบทรงผมนักเรียน
ผลคะแนน PISA ปี 2018

Tags:

ประชาธิปไตยDisruptionสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ประเด็นทางสังคม

Author:

illustrator

ณิชากร ศรีเพชรดี

แอดมิชชันเข้าคณะการเขียนและสิ่งพิมพ์เพราะคิดว่าเขาจะสอนให้เขียนนิยาย แทนที่จะได้เขียนจากจินตนาการ อาจารย์และทุกอย่างที่นั่นเคี่ยวกรำให้ทำ-คิด-เขียน-รู้สึกกับประเด็นสังคม ยังคงสนุก(มาก)กับงานสื่อสาร ฝันสูงสุดคือยังเข้มแข็งเขียนงานได้อย่างมีคุณภาพและฐานะดี

illustrator

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

เพิ่งพ้นรั้วมหาวิทยาลัยจากคณะแห่งการเขียนและสื่อมวลชน แม้ทำงานแรกในฐานะกองบรรณาธิการ The Potential หากขอบเขตความสนใจขยายไปเรื่องเพศ สิ่งแวดล้อม และผู้ลี้ภัย แต่ที่เป็นแหล่งความรู้วัยเด็กจริงๆ คือซีรีส์แวมไพร์, ฟิฟตี้เชดส์ ออฟ จุดจุดจุด และ ยังมุฟอรจาก Queer as folk ไม่ได้

Photographer:

illustrator

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

ศิลปศาสตร์บัณฑิต และมนุษย์ฟรีแลนซ์ที่ทำงานเขียน ถ่ายรูป สัมภาษณ์ แปลงาน ล่าม ไปจนถึงครูสอนพิเศษเด็กชั้นประถม ของสะสมที่ชอบมากๆ คือถุงเท้าและผ้าลายดอก เขียนเรื่องเหนือจริงด้วยความรู้สึกจริงๆ ออกเป็นหนังสือ 'Sad at first sight' ซึ่งขายหมดแล้ว ผลงานล่าสุดคือ I Eat You Up Inside My Head รับประทานสารตกค้างในกลีบดอกปอกเปิก

Related Posts

  • Voice of New Gen
    การมีบ้านเมืองที่มองเห็นอนาคต : โลกใบใหม่ที่คนรุ่นใหม่วาดฝัน

    เรื่อง กุลธิดา ติระพันธ์อำไพ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Voice of New Gen
    ชวนฟังเสียงจากคนรุ่นใหม่ Voice of new gen

    เรื่อง The Potential

  • Social Issues
    65 ปี คำขวัญวันเด็ก คำท่องจำที่สะท้อนความคาดหวังต่อเด็กจากรัฐ แต่ไม่เคยสะท้อนเสียงของเด็กเลยสักครั้ง

    เรื่อง The Potential

  • Social Issues
    #ถ้าการเมืองดี การศึกษาจะ … (จุด จุด จุด)

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดีเพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา ภาพ ภาพพิมพ์ พิมมะรัตน์

  • Dear Parents
    การเมือง เรื่องที่ควรเริ่มคุยจากในครอบครัว : ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

    เรื่อง ภาพพิมพ์ พิมมะรัตน์

สิทธิเด็กอยู่ตรงไหน (ในการนินทา) ข่าวดาราเลิกกัน: จะเด็จ เชาวน์วิไล
Social Issues
3 November 2020

สิทธิเด็กอยู่ตรงไหน (ในการนินทา) ข่าวดาราเลิกกัน: จะเด็จ เชาวน์วิไล

เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษาณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

  • ‘การหย่า’ แม้จะเป็นเรื่องของคนสองคน แต่หากครอบครัวไหนมีลูก พวกเขาย่อมเป็นหนึ่งในตัวแปรของสมการการหย่าร้างนี้ ในฐานะผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะทางบวกหรือลบ หรือบางครั้งเด็กก็ถูกดึงมาเป็นเครื่องมือต่อรอง หรือเอาชนะกันของพ่อแม่
  • ในสถานการณ์เช่นนี้เด็กควรได้รับการปฎิบัติอย่างไร? ชวนคุยกับจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ในประเด็นสิทธิเด็กต่อสถานการณ์หย่าร้างของพ่อแม่ เขาควรได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างไร รวมถึงการแสดงออกของสังคมที่ก็เป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตมา และย้อนกลับไปคุยถึงต้นตอเรื่องค่านิยมสังคมไทยที่ส่งผลต่อบทบาทความเป็นพ่อแม่

‘เรื่องของผู้ใหญ่เด็กไม่เกี่ยว’ เชื่อว่าทุกคนต้องเคยได้รับประโยคนี้จากพ่อแม่ ครู ญาติ หรือผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด พอเจอประโยคนี้ก็ต้องมานั่งคิดแล้วล่ะว่ามันมีเรื่องอะไรบ้างที่เป็นของผู้ใหญ่? เราขอยกตัวอย่างที่ตัวเองเคยเจอ มีทั้งเรื่องเงิน เรื่องการเมือง หรือแม้แต่เรื่องในครอบครัวโดยตรง เรายังไม่มีสิทธิ์ยุ่งเลย เพราะเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ (อันนี้ผู้ใหญ่บอกเองนะ) 

‘การหย่า’ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ถูกบอกว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ แต่เอาจริงๆ มันเป็นเรื่องที่เกิดกับคนใกล้ชิดของเด็กอย่างพ่อแม่ ซึ่งเราว่าเกี่ยวเต็มๆ เด็กได้รับผลกระทบแน่นอนไม่ว่าจะทางบวกหรือลบ บางทีเด็กก็ถูกดึงมาเป็นตัวแปรสำคัญในการหย่าของพ่อแม่ เป็นเครื่องมือต่อรอง หรือเอาชนะกัน

แถมถ้าพ่อแม่เป็นคนมีชื่อเสียง เรื่องการหย่าร้างของพ่อแม่กลายเป็นเรื่องของสาธารณะ เด็กก็ไม่วายต้องถูกลากมาเป็นหนึ่งในหัวข้อสนทนาบนโลกออนไลน์ คงไม่ใช่ ‘ไม่ใช่เรื่องของเด็ก’ อย่างที่ผู้ใหญ่บอกซะแล้วล่ะ ยิ่งยุคนี้เราสามารถแสดงจุดยืนได้ง่ายดาย คิดอะไรก็พิมพ์ลงไป ถ้าผิดหรือไม่ถูกใจก็แค่ลบทิ้ง ที่ต้องไม่ลืมคือ เรายังมีสิ่งที่เรียกว่า Digital Footprint หรือร่องรอยของเราบนโลกดิจิทัล ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราโพสต์ในโลกโซเชียล ต่อให้ลบแล้ว มันก็ยังสามารถกู้คืนกลับมาได้ หรือถ้ามีมือดีแคปเก็บไว้ ก็สามารถเอามาแชร์ต่อได้เรื่อยๆ 

ลองจินตนาการถึงเด็กคนหนึ่งที่ลำพังแค่เจอการเปลี่ยนแปลงในครอบครัวก็ว่ายากแล้ว ยังต้องถูกสังคมเอาครอบครัวเขาไปวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา เมื่อโตขึ้นหากกลับมาดูข้อมูลพวกนี้มันจะส่งผลกับเขาอย่างไร? ภาพพ่อแม่ที่เด็กคนหนึ่งมองเห็นมาตลอดชีวิตเขา กับภาพพ่อแม่ที่สังคมวาดไว้หากไม่ตรงกันจะเกิดอะไรขึ้นกับผู้เป็นลูก?

จะเด็จ เชาวน์วิไล

ทั้งหมดทั้งมวลข้างต้นเป็นเหตุในการนัดเจอกับ จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เพื่อชวนเขามาคุยตั้งแต่กระบวนการหย่าร้างของพ่อแม่กับสิทธิของเด็ก รวมถึงการตีกรอบบทบาทพ่อแม่ และการปฎิบัติของสังคมซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมหนึ่งที่เด็กอาศัยอยู่ควรทำอย่างไร

จะเด็จ เขาเป็นนักสิทธิที่ทำงานต่อสู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศและต่อต้านความรุนแรงในครอบครัวมากว่า 40 ปี นั่นเป็นเหตุผลชั้นดีที่เราชวนเขาคุยในวาระนี้

เมื่อพ่อแม่หย่ากัน ลูกอยู่ตรงไหน

ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ จะเด็จเริ่มด้วยการวาดภาพเคสที่มูลนิธิดูแลให้เราเห็น ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่มาด้วยปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และต้องการหาทางออก บางคนอยากอยู่เป็นครอบครัวต่อเหมือนเดิม หรือบางคนต้องการหย่าขาดจากกัน หน้าที่ของมูลนิธิ คือ ให้ความช่วยเหลือตามสิ่งที่เคสต้องการ ถ้าต้องการอยู่ด้วยกันต่อ มูลนิธิจะทำหน้าที่เป็นเหมือนสื่อกลางเชื่อมพวกเขาเข้าด้วยกัน แก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เช่น ถ้าต้นเหตุความขัดแย้งมาจากเรื่องเหล้า มูลนิธิก็จะพาไปบำบัด พร้อมๆ กับทำความเข้าใจเรื่องสิทธิ ความรุนแรงในครอบครัว หรือถ้าคนไหนเลือกการหย่ามูลนิธิก็จะให้คำแนะนำทางด้านกฎหมาย

ในกรณีที่ต้องการหย่ากัน หากมีลูกก็ต้องสร้างข้อตกลงกันว่าลูกจะอยู่กับใคร จะเด็จอธิบายว่า ถ้าครอบครัวไหนสามารถตกลงกันได้เอง ไม่จำเป็นต้องขึ้นศาล แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็ต้องขอแรงศาลให้ช่วย การเลือกว่าจะให้เด็กอยู่กับฝ่ายไหน ศาลจะยึดการตัดสินใจของเด็กเป็นหลัก พร้อมๆ ไปกับพิจารณาว่าฝ่ายไหนมีความสามารถเลี้ยงลูกมากกว่ากัน

“เขาจะให้เด็กคุยกับนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ เพื่อประเมินสภาพจิตใจของเด็ก จากนั้นก็ดูว่าแม่และพ่อเป็นยังไง เช่น สภาพจิตใจ สภาพแวดล้อม ฐานะทางเศรษฐกิจสามารถเลี้ยงดูเด็กได้หรือไม่ แต่ยังไงก็ต้องยึดความต้องการของเด็กเป็นหลักว่าเขาอยากอยู่กับใครมากที่สุด แต่ขณะเดียวกันเด็กก็ต้องได้รับการปกป้องตามกฎหมายนะ”

การพิจารณาก็จะใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 เป็นฐาน ตามมาตราที่ 22 ระบุไว้ว่า การปฎิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใด ให้คำนึงถึงประโยชนสูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ และไม่ให้มีการเลือกปฎิบัติโดยไม่เป็นธรรม

“ไม่ใช่ว่าเด็กเลือกอยู่กับแม่แล้วแม่มีปัญหาติดเหล้า แล้วศาลจะตัดสินให้ไปอยู่เลยนะ คือถ้าเด็กเลือกแบบนี้ ศาลก็จะสั่งให้แม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น เข้ารับการบำบัด ไม่งั้นมีปัญหาแน่ เพราะเด็กควรอยู่กับคนที่ปกป้องเขาได้จริงๆ 

“หรือสมมติฝ่ายพ่อมีพฤติกรรมชอบใช้ความรุนแรง แล้วศาลตัดสินให้เด็กอยู่กับแม่ เพื่อความปลอดภัยของแม่และเด็ก ศาลก็จะสั่งให้พ่อไปปรับปรุงพฤติกรรมก่อนจึงจะสามารถพบลูกได้ เพราะมันก็อันตรายนะ สมมติพ่อเป็นคนที่มีอารมณ์โกรธตลอดเวลา ควบคุมตัวเองไม่ได้ มันก็อาจเกิดอันตรายกับเด็ก”

แต่ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจากคำสั่งที่ให้ผู้ปกครองปรับพฤติกรรมคือ การติดตามผล (follow up) โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ว่าพฤติกรรมของพ่อแม่ปรับเปลี่ยนหรือไม่ พร้อมที่จะกลับมาอยู่กับเด็กหรือไม่ จะเด็จบอกว่า ส่วนมากเจ้าหน้าที่ไม่ค่อยติดตามผลต่อ ทำให้บางครั้งปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น พ่อที่บอกจะเข้าบำบัดรักษาอาการติดเหล้า แต่สุดท้ายก็ทำไม่สำเร็จ ซึ่งส่งผลเสียกับตัวแม่และเด็กได้ เช่น เขาอาจจะกลับมาทำร้าย ใช้พฤติกรรมแบบเดิม ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวก็ยังคงอยู่

จุดยืนของพ่อแม่ สื่อ และสังคม กับการดูแลเด็ก

เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น ปฎิกิริยาโต้ตอบกลับก็มีหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการพยายามเอาชนะ ใช้ทุกวิธีเพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามแพ้ ทำให้พลั้งเผลอ หรือดึงลูกมาเป็นเครื่องมือต่อรอง

“แน่นอนว่าบางทีพ่อแม่ก็ตัดสินใจผิดพลาด เช่น เอาลูกมาเป็นเครื่องมือต่อรอง มันก็ส่งผลกระทบต่อเด็กสูงมากนะ ผมเชื่อว่าทั้งพ่อและแม่ต่างก็มีสิทธิในตัวลูกเท่าๆ กัน สิ่งสำคัญ คือ เราจะปกป้องเด็กแบบไหนไม่ให้เหตุการณ์พวกนี้ทำร้ายเขา ไม่ว่าด้วยคำพูดหรือการจัดสิ่งแวดล้อมให้กับเด็ก

“ผมเคยเจอเคสที่ใช้ความรุนเเรงในครอบครัว กว่าพ่อแม่จะตกลงหย่ากัน ลูกที่อายุประมาณ 4 – 5 ขวบ เขาก็ซึมซับความรุนเเรงไปแล้ว แล้วส่งต่อความรุนแรงนั้นให้คนอื่น พอไปโรงเรียนก็แสดงออกด้วยการก้าวร้าวกับเพื่อน หรือโตขึ้นอาจใช้ความรุนเเรงกับคู่ชีวิตของเขา”

สังคมก็เป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตมา จะเด็จเล่าว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้คนพุ่งเป้าให้ความสนใจข่าวพวกนี้ก็มาจากการนำเสนอของสื่อ เขาตั้งข้อสังเกตว่าในช่วง 5 ปีมานี้ ข่าวที่เรามักจะเห็นตามสื่อใหญ่ๆ ก็คือข่าวคนทะเลาะกัน เรื่องดารา หรือพยายามสร้างประเด็นเพื่อขายข่าว อย่างเช่นข่าวลุงพล 

จะเด็จมีโอกาสไปพูดคุยกับคนในแวดวงดังกล่าว ซึ่งบางส่วนไม่ได้เข้าใจ หรือสนใจเรื่องกฎหมาย สิ่งที่พวกเขาสนใจ คือ จะทำยังไงให้ได้เรตติ้งเพิ่มเพื่อนำไปสู่การโฆษณา

“แง่หนึ่งมันก็ทำให้สังคมไม่สนใจเรื่องอื่น วนเวียนอยู่กับข่าวคนทะเลาะกัน เรื่องดารา ถ้าคุณคิดถึงเรื่องอื่นเมื่อไหร่ คุณก็จะมองเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างทันที เกิดการตั้งคำถามไปถึงโจทย์ใหญ่ คือไทยเรามีปัญหาเรื่องเชิงอำนาจนิยมเต็มไปหมด ความไม่เป็นธรรมในสังคม เรื่องชายเป็นใหญ่ เรื่องประชาธิปไตย หรือเรื่องอื่นๆ แต่เรากลับไม่เคยถูกทำให้ตั้งคำถามต่อเรื่องพวกนี้ เพราะมันยังคงมีคนได้ประโยชน์จากเรื่องนี้อยู่

“ตอนนี้ผมกำลังทำงานกับพม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลเกี่ยวกับข้อกำหนดเเละเกณฑ์การทำงานของสื่อกับการคุ้มครองเด็ก ถึงแม้เราจะมีพรบ.คุ้มครองเด็กแล้วก็จริง เเต่หลักปฏิบัติเรื่องการทำงานสื่อยังออกมาไม่ชัดเจน ซึ่งก็ต้องเพิ่มเติมส่วนนี้

“จริงๆ ภาครัฐสามารถออกหนังสือเตือนสื่อได้นะ เวลาที่นำเสนอข่าวไม่เหมาะสม อย่างเช่นกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ถ้าเขาเจอโฆษณาที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม เขาจะทำหนังสือเตือนไปที่สื่อเลยนะ สื่อก็จะรู้ตัวและแก้ไข เเต่กรณีแบบนี้ยังไม่ค่อยมีใครทำ”

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตราที่ 27 ระบุไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชน หรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ 

“เด็กเเค่เห็นพ่อเเม่ทะเลาะกันมันก็เป็นความรู้สึกที่อยู่ในใจเขาแล้ว เขารู้สึกไม่พอใจเเละไม่ได้รับการยอมรับ ความรู้สึกพวกนี้มันก็อาจกลายเป็นความก้าวร้าวไปจนถึงการใช้คำพูดหรืออาจทำร้ายร่างกายคนอื่น สิ่งที่คนไปคอมเมนท์ก็ไม่ต่างกัน เพราะวันหนึ่งเด็กเขาเห็นก็คงจะรู้สึกเเย่”

ต้นเหตุของเรื่องราว: แนวคิดชายเป็นใหญ่

เนื้อหาที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงแค่ปลายเหตุ ซึ่งต้นเหตุจริงๆ จะเด็จบอกว่ามาจากระบบชายเป็นใหญ่ (หรือปิตาธิปไตย (Patriarchy)) “การบ่มเพาะมันมีมายาวนานแล้ว ตั้งแต่คุณเกิดมา หลักๆ คือการกำหนดว่าถ้าคุณเป็นผู้ชาย คุณต้องปฎิบัติตัวอย่างไร เช่น คุณต้องเป็นชายชาตรี ต้องเข้มแข็ง ร้องไห้ไม่ได้ ถ้าแต่งงานก็ต้องเป็นผู้นำดูแลครอบครัว ส่วนผู้หญิง คือ คุณต้องเป็นแม่ เป็นเมีย เป็นช้างเท้าหลัง ต้องอ่อนโยน เพราะเมื่อไหร่ที่คุณแสดงความเข้มแข็งออกมา จะถูกมองว่าไม่ดี

“แล้วพอไปโรงเรียน หลักสูตรที่เรียนมันก็ยิ่งไปตอกย้ำเรื่องพวกนี้ ที่มูลนิธิเราเคยสำรวจเก็บข้อมูลเลยนะ เช่น ในหลักสูตรจะกำหนดเลยว่าเป็นผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว ต้องแต่งตัวเรียบร้อย หรือถ้าเป็น LGBTQ+ ก็จะโดนตีตราว่าเป็นโรค”

การกำหนดบทบาทเพศก็เป็นลูกโซ่ส่งต่อที่บทบาทพ่อแม่ แม่ถูกคาดหวังว่าต้องเป็นแม่บ้าน มีหน้าที่เลี้ยงลูก ส่วนพ่อก็ถูกคาดหวังว่าต้องเป็นผู้นำครอบครัว ควรวางตัวให้น่าเกรงขาม

“ถามว่าฝ่ายชายรักลูกไหม? ก็รักนะ แต่เขาถูกสอนว่าไม่ใช่หน้าที่เขาที่ต้องเลี้ยงลูก หน้าที่ของพ่อคือ หาเงิน ทำงาน ส่วนภรรยาก็ต้องอยู่บ้าน หรือถ้าจะทำงานก็ได้นะ แต่คุณต้องดูแลลูกด้วย 

“ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวส่วนหนึ่งก็มาจากฐานความคิดนี้นะ ผู้ชายถูกสังคมคาดหวังว่าคุณต้องเป็นผู้นำครอบครัว นำพาสมาชิกทุกคนให้รอด ถ้าสมมติครอบครัวเกิดปัญหาแล้วเขาแก้ไม่ได้ หรืออย่างตอนนี้ที่มีโควิด-19 เกิดปัญหาเศรษฐกิจ หลายคนตกงาน ก็เกิดความเครียด แล้วไอ้พื้นที่ระบายปัญหาของผู้ชายส่วนใหญ่ก็คือการกินเหล้า เล่นพนัน สุดท้ายเกิดปัญหาปากเสียงในครอบครัว นำมาสู่ความรุนแรง”

แล้วคุณเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ไหม? เราถามจะเด็จกลับ ในฐานะที่เขาก็เป็นผู้ชาย เป็นพ่อ ซึ่งจะเด็จตอบว่า บ่อยครั้งไปที่เขาจะเจอการตัดสินเช่นนี้

“ผมเป็นลูกชายคนเดียวนะ มีพี่น้องผู้หญิง 3 คน ก็โตท่ามกลางผู้หญิงเป็นหลัก โชคดีที่แม่ผมสอนเรื่องพวกนี้ตั้งแต่เด็ก เช่น ให้ทำงานบ้าน แต่พ่อก็จะเสมอว่าเป็นผู้ชายไม่ต้องทำงานพวกนี้หรอก แต่แม่ผมเขาไม่ได้คิดแบบนั้น แม่บอกว่าเราต้องทำงาน ต้องดูแลตัวเองได้ ทำให้ผมเข้าใจประเด็นนี้ตั้งแต่เด็กๆ

“สมัยที่ลูกผมเล็กๆ แล้วแฟนผมต้องไปทำงานแต่เช้า งานที่ผมทำมันทำให้เรามีเวลาดูแลลูกได้ เราก็รับหน้าที่ดูแลลูก แน่นอนคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจหรอก ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องธรรมดามาก ซึ่งปัจจุบันมันอาจดีขึ้นแล้วก็ได้ ค่านิยมการเป็น family man”

จะเด็จที่ทำงานด้านนี้มายาวนาน แม้ว่าปัจจุบันปัญหามันยังคงอยู่ คนยังไม่เข้าใจเรื่องสิทธิ เรื่องเพศกันเยอะ แต่เขาบอกว่าตอนนี้เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงสังคมไปทิศทางที่ดี มีคนรุ่นใหม่ออกมาขับเคลื่อนประเด็นนี้มากขึ้น คนในสังคมเริ่มตั้งคำถาม “ที่เรายังไม่เข้าใจเรื่องเพศเพราะมันมีม่านบังตาอยู่ เป็นเรื่องอำนาจ ยังมีฝ่ายที่มีอำนาจไม่ยอมทำลายกำแพง ไม่ใช่แค่ผู้ชายอย่างเดียว ผู้หญิงเองก็ยังมีความเชื่อเรื่องชายเป็นใหญ่ การเปลี่ยนแปลงมันเลยยาก 

“แน่นอนว่ามันยังมีความหวัง เราเห็นคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะผู้หญิงออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ พูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ แต่แน่นอนว่าม่านบังตาในรุ่นพวกผมมีเยอะเกินไป สิ่งที่เราต้องทำ คือ สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง สนับสนุนคนรุ่นใหม่” จะเด็จทิ้งท้าย

เพื่อให้เข้าใจเรื่องสิทธิเด็กมากขึ้น เราหยิบบางมาตราของพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ที่บอกถึงหลักปฎิบัติต่อเด็ก

มาตรา 25 ผู้ปกครองต้องไม่กระทําการ ดังต่อไปนี้
– ทอดทิ้งเด็กไว้ในสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือสถานพยาบาล หรือไว้กับบุคคลที่รับจ้างเลี้ยงเด็กหรือที่สาธารณะหรือสถานที่ใดๆ โดยเจตนาที่จะไม่รับเด็กกลับคืน
– ละทิ้งเด็กไว้ ณ สถานที่ใดๆ โดยไม่จัดให้มีการป้องกันดูแลสวัสดิภาพหรือให้การเลี้ยงดูที่เหมาะสม
– จงใจหรือละเลยไม่ให้สิ่งที่จําเป็นแก่การดํารงชีวิตหรือสุขภาพอนามัยจนน่าจะเกิดอันตรายแก่ รางกายหรือจิตใจของเด็ก
– ปฏิบัติต่อเด็กในลักษณะที่เป็นการขัดขวางการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็ก
– ปฏิบัติต่อเด็กในลักษณะที่เป็นการเลี้ยงดูโดยมิชอบ 

มาตรา 26 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ห้ามมิให้ผู้ใดกระทําการ ดังต่อไปนี้
– กระทําหรือละเว้นการกระทําอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก
– จงใจหรือละเลยไม่ให้สิ่งจําเป็นแก่การดํารงชีวิตหรือรักษาพยาบาลแก่เด็กที่อยู่ในความดูแลของตน จนน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของเด็ก
– บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทําให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทําผิด
– โฆษณาทางสื่อมวลชนหรือเผยแพร่ด้วยประการใด เพื่อรับเด็กหรือยกเด็กให้แก่บุคคลอื่นที่มิใช่ญาติของเด็ก เว้นแต่เป็นการกระทําของทางราชการหรือได้รับอนุญาตจากทางราชการแล้ว
– บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ชักจูง ส่งเสริม ยินยอม หรือกระทําด้วยประการใดให้เด็กไปเป็นขอทาน เด็กเร่รอน หรือใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการขอทานหรือการกระทําผิด หรือกระทําด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหา ประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก
– ใช้จ้าง หรือวานเด็กให้ทํางานหรือกระทําการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก
– บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กเล่นกีฬาหรือให้กระทําการใดเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้าอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็ก หรือมีลักษณะเป็นการทารุณกรรมต่อเด็ก
– ใช้หรือยินยอมให้เด็กเล่นการพนันไม่ว่าชนิดใด หรือเข้าไปในสถานที่เล่นการพนัน สถานค้าประเวณีหรือสถานที่ที่ห้ามมิให้เด็กเข้า
บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กแสดงหรือกระทําการอันมีลักษณะลามกอนาจาร ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบแทนหรือเพื่อการใด
– จําหน่าย แลกเปลี่ยน หรือให้สุรา หรือบุหรี่แก่เด็ก เว้นแต่การปฏิบัติทางการแพทย์ 
อ้างอิง 
พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546

Tags:

พ่อแม่แบบแผนทางความสัมพันธ์จะเด็จ เชาวน์วิไลสิทธิ

Author:

illustrator

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

เพิ่งพ้นรั้วมหาวิทยาลัยจากคณะแห่งการเขียนและสื่อมวลชน แม้ทำงานแรกในฐานะกองบรรณาธิการ The Potential หากขอบเขตความสนใจขยายไปเรื่องเพศ สิ่งแวดล้อม และผู้ลี้ภัย แต่ที่เป็นแหล่งความรู้วัยเด็กจริงๆ คือซีรีส์แวมไพร์, ฟิฟตี้เชดส์ ออฟ จุดจุดจุด และ ยังมุฟอรจาก Queer as folk ไม่ได้

illustrator

ณิชากร ศรีเพชรดี

แอดมิชชันเข้าคณะการเขียนและสิ่งพิมพ์เพราะคิดว่าเขาจะสอนให้เขียนนิยาย แทนที่จะได้เขียนจากจินตนาการ อาจารย์และทุกอย่างที่นั่นเคี่ยวกรำให้ทำ-คิด-เขียน-รู้สึกกับประเด็นสังคม ยังคงสนุก(มาก)กับงานสื่อสาร ฝันสูงสุดคือยังเข้มแข็งเขียนงานได้อย่างมีคุณภาพและฐานะดี

Photographer:

illustrator

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

ศิลปศาสตร์บัณฑิต และมนุษย์ฟรีแลนซ์ที่ทำงานเขียน ถ่ายรูป สัมภาษณ์ แปลงาน ล่าม ไปจนถึงครูสอนพิเศษเด็กชั้นประถม ของสะสมที่ชอบมากๆ คือถุงเท้าและผ้าลายดอก เขียนเรื่องเหนือจริงด้วยความรู้สึกจริงๆ ออกเป็นหนังสือ 'Sad at first sight' ซึ่งขายหมดแล้ว ผลงานล่าสุดคือ I Eat You Up Inside My Head รับประทานสารตกค้างในกลีบดอกปอกเปิก

Related Posts

  • Social Issues
    สิทธิการเลือกรับวัคซีนยังคงเป็นของเรา แม้ว่าจะอายุเท่าไรก็ตาม

    เรื่อง The Potential

  • Family Psychology
    ลูกไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ (พ่อแม่ก็เช่นกัน)

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Family Psychology
    ลำดับการเกิดที่แตกต่าง มาพร้อมความคาดหวังและภาระที่ต้องแบกรับไม่เท่ากัน

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Family Psychology
    พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน เพราะความรักเป็นเรื่องไม่อาจฝืน

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Dear ParentsMovie
    Gilmore girls – ซีรีส์ที่ทำให้อยากมีแม่แบบเพื่อน ให้อิสระ อยู่ตรงนั้นเพื่อให้คำปรึกษาและพึ่งพิง

    เรื่องและภาพ พิมพ์พาพ์

Posts navigation

Newer posts

Recent Posts

  • เติบโตไปด้วยกัน Alpha Generation EP.9 ‘รักที่ปราศจากเงื่อนไข เริ่มต้นจากมองเห็นคุณค่าในตัวเองและรักตัวเองเป็น’
  • ‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล
  • ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 
  • เปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนเป็นสนามพลังบวก ยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่เด็กได้โอกาส: ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง
  • F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Uncategorized
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel