Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย

Month: June 2020

พรเพ็ญ เธียรไพศาล หันหลังให้ความกลัว ทำงานอาสาสู้ความเดือดร้อนของคนคลองเตยจากโควิด-19
Social Issues
2 June 2020

พรเพ็ญ เธียรไพศาล หันหลังให้ความกลัว ทำงานอาสาสู้ความเดือดร้อนของคนคลองเตยจากโควิด-19

เรื่อง นฤมล ทิพย์รักษ์

  • ในช่วงที่การออกออกจากบ้านไม่ปลอดภัย แต่ในกลับมีคนกลุ่มหนึ่งที่ตั้งใจเดินออกจากบ้าน เพื่อไปช่วยเหลือคนหาเช้ากินค่ำ ช่วยเหลือชุมชนและคนที่เดือดร้อนในสภาวะโควิด-19 แม้ว่าจะไม่ใช่หน้าที่ก็ตาม พวกเขาคือ ‘กลุ่มคลองเตยดีจัง’
  • “จริงๆ แล้วคนไทยเห็นนะว่าที่คลองเตยมีปัญหา แต่ ณ วันนั้นสถานการณ์มันรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ คนก็กลัวและไม่รู้ว่าจะส่งความช่วยเหลือมายังไง รวมถึงการแพร่ภาพว่าชุมชนแออัดเป็นแหล่งติดเชื้อโรคง่าย มันก็ทำให้คนที่อยากจะช่วยเกิดความกลัว ดังนั้นเราคิดว่าการที่เราลุกขึ้นมาเป็น Hub หรือเป็นสถานที่ส่งต่อ เป็นตัวกลางในการช่วยกรองสิ่งของ เราคิดว่ามันน่าจะดี มันก็ช่วยลดความกลัวของคนที่จะให้ แล้วก็คนที่จะรับด้วย” โบว์ – พรเพ็ญ เธียรไพศาล
ภาพ: ทีมคลองเตยดีจัง

อย่างที่เราทราบกันดีว่าสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ทำให้เราจำเป็นต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่ ในวันที่รัฐไม่อยากให้เราออกจากบ้าน รวมไปถึงข่าวสารต่างๆ ที่ทำให้เราหวาดหวั่นในความปลอดภัยของตัวเอง แต่ในสถานการณ์แบบนี้ กลับมีคนกลุ่มหนึ่ง ที่ตั้งใจเดินออกจากบ้านเพื่อไปช่วยเหลือคนหาเช้ากินค่ำ ช่วยเหลือชุมชนและคนที่เดือดร้อน แม้ว่าจะไม่ใช่หน้าที่ก็ตาม  

หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อของกลุ่ม “คลองเตยดีจัง” กลุ่มที่ออกมาระดมความช่วยเหลือเพื่อชาวคลองเตย ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย และได้รับผลกระทบเต็มๆ จากมาตรการรัฐ  

ด้วยรูปแบบการทำงานที่เป็นระบบ และการลงพื้นที่กระจายความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องของอาสาสมัคร เพื่อ 13 ชุมชนในเขตคลองเตย ที่มีผู้อาศัยรวมกว่า 25,000 คน วันนี้เรามาคุยกับ โบว์ – พรเพ็ญ เธียรไพศาล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิวายไอวาย (Why I Why) และผู้ประสานงานโครงการคลองเตยดีจังว่า อะไรที่ทำให้พวกเขากล้าที่จะออกไปช่วยผู้อื่น อะไรที่ทำให้พวกเขาเดินออกจากบ้านในวันที่ทั้งสังคมถูกปกคลุมไปด้วยความกลัว

โบว์ – พรเพ็ญ เธียรไพศาล

ไม่ใช่แค่ช่วย แต่ต้องช่วยอย่างเป็นระบบ 

ต้องเท้าความตั้งแต่เริ่มต้นก่อนว่า ทีมคลองเตยดีจัง กับมูลนิธิวายไอวาย (Why I Why) ซึ่งปกติจะทำงานในเชิงพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนอยู่ในพื้นที่คลองเตยอยู่แล้ว โดยออกแบบกระบวนการและติดตามผลต่างๆ แต่พอเกิดโควิด-19 ทีมคลองเตยดีจังเห็นว่าผู้ปกครองเด็กมีความเดือดร้อน มีความต้องการเรื่องอาหารการกินและความเป็นอยู่มากขึ้น ดังนั้น ถ้าเรายังทำงานแบบเดิม เด็กๆ และเยาวชนก็จะอยู่ไม่ได้ แล้วครอบครัวเด็กก็เดือดร้อนแน่ๆ 

เราเลยทำ “โมเดลคลองเตยรอรัฐ” ขึ้นมา ซึ่งทำงานกับองค์กรภาคสังคมในพื้นที่ คือ กลุ่มคลองเตยดีจัง มูลนิธิดวงประทีป และมูลนิธิวายไอวาย (Why I Why) มี 3 แผนหลัก คือ แผนปันกันอิ่ม (แจกถุงยังชีพ ระบบคูปองร้านค้า), แผนควบคุมโรค (เก็บข้อมูลคัดกรอง ตรวจโควิด) และแผนสร้างรายได้ (หางานที่เหมาะสมให้กับคนในชุมชน) ซึ่งโมเดลนี้ เราก็อยากให้พัฒนาเป็นเครื่องมือสำหรับช่วยเหลือพื้นที่อื่นๆ ในอนาคตด้วย 

โครงการไม่ได้ทำด้วยทุนพวกเราเองคนเดียว แต่จากทุนของการบริจาค หลักๆ ก็เริ่มต้นมาจาก taejai.com (เทใจ) , Tigerplast และผู้สนับสนุนท่านอื่นๆ ที่ระดมเงินมาเรื่อยๆ 

ความหิวมันรอไม่ได้  

สิ่งทำให้ทีมเราออกมาช่วยเหลือ คือการที่เราเห็นความเดือดร้อนของคนในพื้นที่ คือ ณ ตอนนั้นมันไม่มีใครเลยที่ได้เห็นว่าคนในชุมชนเขาเดือดร้อนกันยังไง เดือดร้อนกันแบบไหน เดือดร้อนขนาดที่ว่าข้าว 1 มื้อ ยังต้องพยายามเดินไปถึงวัดสะพานเพื่อรับข้าว เพราะช่วงนั้นวัดสะพานตั้งตัวเป็น Hub หรือ ศูนย์ประสานงานสำหรับการแจกข้าวและสิ่งของต่างๆ ชาวบ้านต้องเดินกัน 2-3 กม. ถึง 5-6 กม. เพื่อไปรับข้าวที่นั่น 

ทีนี้ เราและทีมเห็นว่ามันเป็นความเดือดร้อนที่รอไม่ได้ จะรอให้โควิดซาแล้วช่วยก็ไม่ได้ เรารอให้ความกลัวทำงานกับพวกเราแล้วไม่ทำสิ่งนี้ เรารอไม่ได้จริงๆ มันเลยเป็นที่มาของการคุยกันในเชิงลับๆ ว่าใครไม่กลัวโควิดมาช่วยงานหน่อย 

จริงๆ ตอนที่รัฐประกาศให้ทุกคนอยู่บ้าน มันไม่สามารถทำได้ทุกคนเพราะมันมีความละเอียดอ่อนในเชิงความจำเป็น อาชีพ และการหยุดพักกระทันหันโดยที่ไม่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า มันปุปปัปมาก ทั้งยังมีการบูลลี่คนที่ออกนอกบ้าน ทั้งที่ในความเป็นจริง คือ คนที่ออกนอกบ้านเขามีความจำเป็น ต้องกินต้องใช้ การที่เขาออกนอกบ้าน ไม่ได้หมายความว่าเขาอยากออกไปติดเชื้อ  

ความกล้าในความกลัว 

ความจริงเราก็กลัวโควิดนะ แต่ไม่ได้กลัวแบบแตกตื่น ทำงานไปก็ระวังตัวเองไป พกเจลแอลกอฮอล์ ใส่หน้ากาก ล้างมือ อาบน้ำ คือปฏิบัติตัวกันดี ซึ่งผลตรวจตอนนี้ (ที่ตรวจพร้อมชาวบ้าน) ทีมก็ไม่มีคนติดเชื้อด้วย การที่ผลตรวจบอกว่าไม่มีเชื้อ มันก็พิสูจน์ประมาณนึงว่า เราก็ปลอดภัยนะ 

กับครอบครัว เราก็อาจจะโดนเพ่งเล็งนิดหน่อย แต่ก็พยายามสื่อสารกับที่บ้าน เคยมีช่วงที่แอบไปทำด้วย แล้วปรากฏว่าเขาเห็นเราในภาพข่าว ก็เลยโดนที่บ้านถามเรื่องนี้ แต่โดยรวมแล้วก็โอเคค่ะ พอสื่อสารกันเข้าใจปุ๊บมันก็ไม่เกิดประเด็นอะไรเยอะ 

ทำดี ไม่ใช่ไม่มีอุปสรรค

ปัญหาอุปสรรคอันนึงคือ หลายชุมชนที่อยู่ในเขตคลองเตยเป็นที่สนใจของคนที่จะเอาของมาบริจาค มันก็มีปัญหาเรื่องของการติดต่อมาแล้วก็หาย หรือ ติดต่อมาแล้วจะเอาวันนี้ ลงวันนี้ ซึ่งมันก็มีผลเพราะตอนนี้การจะแจกข้าว ต้องทำหนังสือไปถึงสำนักงานเขตเพื่อให้เขาทราบข้อมูล มันก็จะรวนกันนิดหน่อย แต่เราก็พยายามแก้ปัญหากันไป 

เราแค่เป็นตัวกลาง ไม่ใช่แม่พระ 

จริงๆ แล้วการลุกขึ้นมาช่วยเขา มันไม่ได้ทำให้เรามองว่าตัวเราสูงส่ง หรือว่าเราเป็นผู้ให้ หรือเป็นแม่พระอะไรขนาดนั้น เรามองว่า เราเป็นเหมือนตัวกลางในการส่งต่อ ในการเชื่อมมากกว่า เราคิดว่ามันสำคัญนะ เพราะว่าจริงๆ แล้วคนไทยเห็นนะว่าที่คลองเตยมีปัญหา 

แต่ ณ วันนั้นสถานการณ์มันรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ คนก็กลัวและก็ไม่รู้ว่าจะส่งความช่วยเหลือมายังไง รวมถึงการแพร่ภาพว่าชุมชนแออัดเป็นแหล่งติดเชื้อโรคง่าย มันก็ทำให้คนที่อยากจะช่วยเกิดความกลัว ดังนั้นเราคิดว่าการที่เราลุกขึ้นมาเป็น Hub หรือเป็นสถานที่ส่งต่อ เป็นตัวกลางในการช่วยกรองสิ่งของ เราคิดว่ามันน่าจะดี มันก็ช่วยลดความกลัวของคนที่จะให้ แล้วก็คนที่จะรับด้วย  

ทุกคนช่วยได้ในแบบของตัวเอง 

เราไม่ได้อยาก force หรือบีบบังคับว่าทุกคนควรจะลุกขึ้นมาทำแบบนี้ ทุกคนมีสิทธิ์ในการตัดสินใจ เราคิดว่าจริงๆ แล้วคนที่ไม่ได้ลุกขึ้นมา action เยอะๆ เขาก็กำลังพยายามหาทางช่วยอยู่เหมือนกัน เช่น การบริจาคเงิน การพยายามเย็บหน้ากากส่งมา หรือการซื้อของส่งมา เราคิดว่ามันไม่น่าจะไป force ว่าใครควรลุกขึ้นมาทำมากกว่าใคร น่าจะเป็นเรื่องของการมองเห็นว่า คนเหล่านั้นก็กำลังทำอยู่ ในรูปแบบหรือวิธีการที่เขาสามารถทำได้ เราคิดแบบนี้ เราต้องไม่กล่าวโทษคนที่ไม่ได้ออกมาว่าการทำแบบนี้เท่ากับเป็นคนไม่ดี เพราะเรารู้สึกว่าต่างคนต่างวาระ เขาก็มีวิธีการช่วยเหลือของเขาได้ ดังนั้นก็อย่าไปว่าเขา มันคือการทำความเข้าใจ 

ไม่ใช่แค่ให้ของ ต้องให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ด้วย

คือทีมงานแต่ละคนก็มีหน้างานประจำของเขา แต่เมื่อมีวิกฤต เขาก็ปรับตัวและมาช่วย ที่เราชอบที่สุดคือทีมเราไม่ได้มองว่าการเป็นผู้ให้แล้วสูงส่ง เรามองว่าการให้ของเรามันคือ การเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์เท่าๆ กัน ผู้รับเขามีสิทธิ์ที่จะรู้สึก เขามีสิทธิ์ที่จะเดือดร้อน เขามีสิทธิ์ที่จะโวยวายว่าเขาไม่ได้ แต่ว่าทีมก็ต้องทำงานไปบนความเดือดร้อนนี้เช่นกัน ถามว่าบ่นกันไหม ก็บ่น แต่ทีมไม่เคยรู้สึกว่าจะหยุดทำแม้แต่วินาทีเดียว 

คนในชุมชนบางทีก็ดีบ้าง บางทีเราก็โดนด่าบ้าง แต่ว่ามันเป็นธรรมดาของมนุษย์ มันก็มีคนที่ไม่ได้รู้สึกโอเคกับทีมพวกเรา มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แต่ไม่ว่าเขาจะโอเคหรือไม่โอเคกับเรา เราก็ต้องทำให้เขาเท่ากัน ไม่เลือกปฏิบัติ เพราะว่าความซับซ้อนของมนุษย์มันมีเยอะ แต่การดูแลเรื่องความเดือดร้อนมันต้องมาก่อน ต่อให้เขาด่า เราก็เชื่อว่าเขาก็เดือดร้อน เขาอาจจะมีแรงผลักดันว่าเขามองเห็นอะไรบางอย่าง เขาเคยเจออะไรมา เขาก็เลยเลือกที่จะด่า แต่เขาก็เดือดร้อนไม่ต่างกัน

ส่วนในกลุ่มอาสาสมัคร เราเห็นเลยว่าวันที่ชวนอาสามาลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลชาวบ้าน หรือเก็บข้อมูลโควิด ซึ่งไม่มีแม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญลงมา ถามว่าเขากลัวไหม เขากลัว แต่เขาตั้งใจทำกับเรามากๆ ประทับใจตรงนี้ 

ไม่ได้อยากทำแทนรัฐ แต่ต้องทำเพราะจำเป็น

เรารู้สึกว่า รัฐไม่เคยเห็นคนเป็นคนเลย เราไม่เคยเห็นรัฐลงพื้นที่ เพื่อสำรวจความเดือดร้อนอะไรอย่างนี้เลย เอาแต่อยู่บนหอคอย บอกชาวบ้านว่า ถ้าอยากได้เงิน 5,000 ก็ลงทะเบียนนะ ในความเป็นจริงคือ เขาเห็นไหมว่า พื้นที่เขาไม่ได้สามารถลงทะเบียนได้ขนาดนั้น หรือการเข้าถึงสิทธิ์ กระทั่งการให้ถุงยังชีพ รัฐก็ใช้วิธีการคุยกับผู้นำชุมชนแล้วก็แจก ทั้งที่จริงๆ แล้วมันมีบ้านเลขที่ที่เร้นลับ บ้านที่ไม่มีบ้านเลขที่ หรือกระทั่งคนเดือดร้อนที่เป็นแรงงานข้ามชาติอยู่ในพื้นที่ ซึ่งเขาเหล่านั้นไม่เคยได้รับการช่วยเหลือเลย ทั้งที่ควรจะได้รับการช่วยเหลือในช่วงโควิดแบบนี้ เรารู้สึกว่ารัฐไร้รัก ไร้ความรัก ไร้ความมองเห็นคนเป็นคน 

ถ้ารัฐไม่รัก ก็ไม่ต้องรอ

เราคิดว่าเราอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนในที่อื่นเห็นว่า การรอรัฐมันก็อาจจะช้า แต่ว่าถ้าเราช่วยกัน หรือมีองค์ความรู้แล้วลุกขึ้นมาทำ มันน่าจะช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนคนได้เยอะมากๆ เรามองว่าคนตัวเล็กสำคัญ ยิ่งคนในพื้นที่ก็ยิ่งสำคัญ เพราะพอชาวบ้านเห็นเราทำ เขาก็ทำกับเรา ลุกขึ้นมาทำ ลุกขึ้นมาช่วยแพ็คของ หรือเดินไปกับเรา มันก็ไม่อ้างว้างไม่ทำให้เรารู้สึกว่าเราทำงานคนเดีย

ถึงไม่ใช่หน้าที่ แต่ก็หยุดไม่ได้

จริงๆ ก็จะโดนดราม่าบ่อยๆ จากคนที่เขาห่วงใยเราว่าทำงานคลองเตย ทำไปทำไม เพราะเขารู้สึกว่าในช่วงโควิด มันไม่ควรจะทำอะไรเลย ควรจะอยู่บ้านเพื่อระมัดระวังตัวเองจากเชื้อ เราเข้าใจความเป็นห่วงเขานะ แต่เราก็บอกเขาว่า “เฮ้ย เราหยุดทำไม่ได้จริงๆ”

เตรียมตัวและหัวใจ การทำอาสาในช่วงวิกฤต

ถ้าจะให้แนะนำ คนที่อยากทำอาสาในช่วงนี้ คือ

  • หนึ่ง ต้องเช็คสภาวะตัวเราก่อน ว่าเราพร้อมที่จะไปทำ ออกไปนอกพื้นที่ไหม มีความกลัวมีความระแวงหรือเปล่า
  • สอง คือ ดูแลตัวเอง กินอาหาร นอนพักให้เป็นเวลา ใส่หน้ากาก ล้างมือพกเจลแอลกอฮอล์ แล้วก็อาบน้ำเมื่อมาถึงที่บ้าน แยกชุดแยกของ
  • สาม คือ ดูพื้นที่ตรงนั้นว่ามีใครทำอะไรบ้างแล้ว แล้วเราจะเข้าไปทำกับเขาได้ยังไงบ้าง ลองประเมินความสามารถของเรา
  • สี่ อย่ามองว่าการที่เราออกไปช่วยเหลือคน มันเท่ากับว่าเราสูงส่งกว่าพวกเขา หรือว่าเราต้องเป็นผู้ให้ แล้วจะต้องมีภาพลักษณ์ที่ดูดีตลอดเวลา มันมีทั้งแรงกระแทกที่ได้รับมาในช่วงความเดือดร้อน ยิ่งเดือดร้อนเท่าไหร่ คนก็จะยิ่งกระแทกเยอะ เพราะมันเป็นความต้องการข้างใน ดังนั้นก็อย่ามองว่าเราต้องได้ภาพที่ดีตลอด  

สิ่งที่ต้องเตรียมตัวรับมือก็คือความวุ่นวาย เพราะคนอยู่หน้างานมันไม่สามารถถ่ายทอดงานทีเดียวได้จบ แต่ว่าสิ่งสำคัญ คือ ต้องปรับตัว ยืดหยุ่นและลื่นไหล เพราะสิ่งที่เจอหน้างาน คือสภาพพื้นที่ สภาพคนในชุมชนหรือความเดือดร้อนที่แต่ละครอบครัวต้องการไม่เท่ากัน คือต้องอธิบายเขาแล้วก็ปรับตัว ถ้าให้ได้ก็ให้ 

สุดท้ายนี้เราก็ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่อยากจะทำอาสาทุกคน ผ่านพ้นทุกอุปสรรคในการทำงานไปได้ด้วยดีนะ

สิ่งที่กลุ่มคลองเตยได้บอกเล่าในครั้งนี้ ทำให้ได้รู้ว่าสิ่งสำคัญในการทำงานช่วยเหลือผู้อื่น คือ การมองเห็นความเป็นมนุษย์ในตัวทุกคนอย่างเท่าเทียม เพราะเมื่อเรามองเห็น เราก็จะเข้าใจความเจ็บปวดของเพื่อนร่วมสังคม และยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือในสิ่งที่พอจะทำได้
อาจไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ แค่ความหวังดีเล็กๆ หรือความเห็นอกเห็นใจเล็กๆ ที่ถูกเปลี่ยนเป็นการกระทำ เพื่อประคับประคองกันและกันในวันที่โหดร้าย เชื่อว่าเราทั้งสังคมจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแน่นอน

Tags:

ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ความเหลื่อมล้ำSocial Issuesกลุ่มคลองเตยดีจังพรเพ็ญ เธียรไพศาล

Author:

illustrator

นฤมล ทิพย์รักษ์

Related Posts

  • Voice of New GenSocial Issues
    เข้าไม่ถึงการศึกษาและปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่คนวัยเรียนต้องเจอ คุยกับ เฟลอ – สิรินทร์ มุ่งเจริญ

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • Social Issues
    ‘ความไม่แน่นอน คือ สิ่งที่พวกเรากำลังเผชิญ’ เสียงจากนักเรียนม.6 ต่อสถานการณ์โควิด-19 และอนาคตที่ยังมองไม่เห็นทาง

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Social Issues
    “การศึกษาที่ทำให้ความฝันของเด็กคนหนึ่งต้องถูกดัดแปลง” อรรถพล ประภาสโนบล ประเด็นรัฐสวัสดิการกับการศึกษา

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษาณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ จิตติมา หลักบุญ

  • Social Issues
    ผลกระทบของโควิด-19 ต่อครัวเรือนที่มีเด็กเล็ก

    เรื่อง

  • Voice of New Gen
    ผู้เรียนต้องการทักษะสมัยใหม่ ไม่ใช่หลักสูตรเก่า: 1 ใน 4 แนวทางพัฒนาการศึกษายุคใหม่

    เรื่อง ปรียานุช ปรีชามาตย์

เด็กซึมซับการควบคุมอารมณ์จากครู: ครูใจเย็น รับฟัง มีสัมพันธ์ดี พฤติกรรมเด็กจะดีขึ้นเอง
Learning Theory
2 June 2020

เด็กซึมซับการควบคุมอารมณ์จากครู: ครูใจเย็น รับฟัง มีสัมพันธ์ดี พฤติกรรมเด็กจะดีขึ้นเอง

เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา

  • ในกลุ่มนักเรียนที่มีบาดแผลจากการเลี้ยงดูของครอบครัวเป็นทุนเดิม การลงโทษอาจไปซ้ำรอยแผลเก่าของเขาและกระตุ้นร่างกายให้เกิดการตอบสนองต่อความเครียดโดยอัตโนมัติ
  • งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า การตอบสนองของสมองต่อกฎระเบียบโรงเรียน เกี่ยวพันกับความรู้สึกผูกพันใกล้ชิด ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนสำคัญมากกับการประพฤติตัวตามระเบียบวินัย กล่าวคือ การควบคุมดูแลให้เด็กทำตามระเบียบวินัย คนดูแลก็ต้องเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะดี ควบคุมตัวเองได้เสียก่อน
  • อารมณ์เป็นดั่งคลื่นพลังที่ถ่ายทอดจากคนหนึ่งสู่อีกคนได้ ครูที่คุมสติและอารมณ์ได้ มีน้ำเสียง สีหน้า และท่าทางสงบนิ่งเป็นปกติเวลาพูดคุยหรือสอน นักเรียนก็จะไม่มีปฏิกิริยาตั้งแง่เป็นปฏิปักษ์ เขาจะเห็นการควบคุมตัวเองของคุณครู ดูเป็นแบบอย่าง และซึมซับไปทีละเล็กละน้อยเอง   

การใช้น้ำเย็นเข้าลูบเวลาเด็กๆ ทำความผิด ไม่ได้หมายความว่าให้ครูปล่อยผ่านความผิดของเขาให้หายไป แต่เป็นวิธีที่จะช่วยให้อารมณ์เดือดพล่านของเขาสงบลงจนพร้อมจะเรียนรู้และเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง

ปัจจุบันมีนักเรียนจำนวนมากแบกรับความเครียด กดดัน วิตกกังวลจากปัญหาส่วนตัว หรือแม้แต่มีบาดแผลจากการเลี้ยงดูในครอบครัวที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ (adverse childhood experiences-ACEs) ซึ่งพบว่าเกิดขึ้นกับเด็กในทุกช่วงวัย 

ด้วยเหตุนี้ โรงเรียนจึงมีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนรู้ด้านสังคมและภาวะอารมณ์ให้กับเด็กๆ อย่างครอบคลุมและเข้าถึงปัญหาดังกล่าว รวมทั้งต้องพิจารณากฎมาตรการหรือระเบียบปฏิบัติที่จะนำมาใช้กับเด็กๆ ให้เหมาะสมถี่ถ้วน เพราะตามหลักแล้ว กฎระเบียบทั่วไปมักใช้ได้ผลกับเด็กที่อยู่ในร่องในรอยโดยไม่จำเป็นต้องใช้กฎมาควบคุมอยู่แล้ว แต่จะใช้ไม่ได้ผลกับเด็กกลุ่มที่มีปัญหา และจำเป็นต้องมีกฎระเบียบมาควบคุมดูแลมากที่สุด ซึ่งความจริงแล้ว คงไม่มีครูคนไหนอยากนำมาตรการใดๆ มาใช้กับนักเรียนของตน นอกจากทุ่มเทพลังที่มีทั้งหมดไปกับการพัฒนาให้เขาโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

ในกลุ่มนักเรียนที่มีบาดแผลจากการเลี้ยงดู (ACEs) การลงโทษอาจไปซ้ำรอยแผลเก่าของเขาและกระตุ้นร่างกายให้เกิดการตอบสนองต่อความเครียดโดยอัตโนมัติ 

งานวิจัยที่ได้ศึกษาการทำงานของสมองพบว่า การตอบสนองของสมองต่อกฎระเบียบของโรงเรียน มีความเกี่ยวพันกับความรู้สึกผูกพันใกล้ชิด การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน มีส่วนสำคัญมากกับการประพฤติตัวตามระเบียบวินัย กล่าวคือ การจะควบคุมดูแลให้เด็กทำตามระเบียบวินัยอย่างสงบเรียบร้อย คนที่ดูแลพวกเขาเหล่านั้นก็ควรต้องเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะดี ควบคุมตัวเองได้เสียก่อน 

ในประเด็นนี้ กลุ่มนักเรียนที่มีบาดแผลจากการเลี้ยงดูมักขาดโอกาสเช่นนี้ โรงเรียนจึงควรเป็นเหมือนที่หลบภัยให้พวกเขารู้สึกอุ่นใจและปลอดภัยยามเมื่อทำผิดและต้องการที่พึ่งพิง

อย่างไรก็ตาม การละเว้นบทลงโทษหรือปล่อยผ่านความผิดของเด็กที่มีบาดแผลจากการเลี้ยงดู ก็เป็นเรื่องไม่สมควร พวกเขายังต้องได้เรียนรู้จากพฤติกรรมหรือเหตุการณ์นั้นๆ อยู่ แต่เหนืออื่นใด คุณครูต้องเข้าถึงสิ่งที่เขากำลังรู้สึกและเก็บไว้ภายในใจให้ได้เสียก่อนจึงจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเขาได้อย่างแท้จริง

เพราะอารมณ์เป็นดั่งคลื่นพลังที่ถ่ายทอดจากคนหนึ่งสู่อีกคนได้ คุณครูที่คุมสติและอารมณ์ได้ มีน้ำเสียง สีหน้า และท่าทางสงบนิ่งเป็นปกติเวลาพูดคุยหรือสอน นักเรียนก็จะไม่มีปฏิกิริยาตั้งแง่เป็นปฏิปักษ์ 

เวลารับฟังว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กทำพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ พยายามจับอารมณ์ความรู้สึกของเด็กให้ได้ว่าเขากำลังเผชิญกับอะไรอยู่และรู้สึกอย่างไร นี่คือจุดสำคัญที่นักเรียนจะสัมผัสได้ว่าครูเห็นเขามีค่าและเข้าอกเข้าใจเขา

เช่นเดียวกัน เมื่อเกิดอารมณ์คุกรุ่นขึ้นระหว่างพูดคุยกันแล้วครูเป็นฝ่ายสะกดกลั้นอารมณ์ สูดหายใจยาวๆ จิบน้ำหรือทิ้งจังหวะพูดคุยแล้วปล่อยให้นักเรียนขบคิดกับตัวเองตามลำพังสักพัก เขาจะมองเห็นการควบคุมตนเองเหล่านั้นจากคุณครูเป็นแบบอย่าง และซึมซับไปทีละเล็กละน้อยเอง    

การควบคุมตัวเองของคุณครู ช่วยให้เด็กเรียนรู้เรื่องการควบคุมอารมณ์ไปพร้อมกัน

กระบวนการควบคุมสติอารมณ์ร่วมกัน (ศัพท์ภาษาอังกฤษเรียกว่า Co-regulation) คือการที่ครูเข้าไปช่วยกำกับดูแลนักเรียนที่ทำผิดให้สงบสติอารมณ์ จำเป็นต้องเริ่มจากตัวคุณครูเองที่ต้องมีสติ ควบคุมอารมณ์ของตนระหว่างตักเตือนเด็กๆ หรือพูดอีกอย่างคือ ครูต้องพร้อมและเต็มใจที่จะทำตามกฎระเบียบเหล่านั้นด้วย 

ถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องอาศัยความใจเย็นกับเด็กๆ มีเคล็ดลับง่ายๆ 3 ข้อที่จะช่วยสงบสติอารมณ์ได้ในเวลาสั้นๆ

  1. สูดหายใจลึกๆ สามครั้ง
  2. ส่งข้อความหาเพื่อนหรือหาอย่างอื่นเบี่ยงเบนความสนใจจากการทุ่มเถียงที่จะเกิดขึ้น
  3. ยืดเส้นยืดสายและขยับร่างกายสักครู่สั้นๆ

ถ้าอารมณ์ขึ้นหรือรู้สึกโกรธ ให้นับหนึ่งถึงร้อย รอจนอารมณ์เย็นลงก่อนค่อยเรียกนักเรียนมาตักเตือน ทำตัวเป็นแบบอย่างให้เขาเห็นว่าครูสามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ ระมัดระวังการแสดงออก ท่าทาง สีหน้า และน้ำเสียง เพราะเด็กๆ สามารถอ่านสัญญาณเหล่านั้นออกและเป็นการบอกเขาทางอ้อมว่าถ้าครูทำได้ เขาก็ทำได้เช่นกัน 

วิธีเข้าถึงต้นตอปัญหาให้รู้ที่มาของรูปแบบพฤติกรรมที่เด็กมักกระทำเวลาโมโหหรือโกรธ คือการพยายามสังเกตความรู้สึกของเขาที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมเหล่านั้น 

ถ้ามีเวลาสักครู่ ก่อนพูดคุยถึงปัญหากันเป็นเรื่องเป็นราว ลองให้เวลานักเรียนปรับอารมณ์โดยการให้ไปพักดื่มน้ำดื่มท่าให้สดชื่น หรือให้สูดลมหายใจลึกๆ สักสองสามครั้งก่อนแล้วค่อยพาไปเดินสูดอากาศพูดคุยกัน

หรือถ้าที่โรงเรียนมี “ระบบบัดดี้” (a friend-in-need system) ไว้ช่วยเหลือดูแลกันอยู่แล้วยิ่งดี a friend-in-need system คือการที่เด็กๆ สามารถเลือกบัดดี้คนพิเศษ จะเป็นเพื่อนในชั้นเรียนหนึ่งหรือสองคน ครูหรือผู้ใหญ่คนใดคนหนึ่งในโรงเรียนที่เขาไว้ใจได้เป็นบัดดี้ที่เขาสามารถปรับทุกข์ พูดคุยระบายความอัดอั้นเวลารู้สึกย่ำแย่ วิธีนี้เป็นมาตรการป้องกันหนึ่งที่เป็นตัวช่วยให้นักเรียนรู้จักควบคุมความรู้สึกลบของตัวเอง ทั้งนี้ คุณครูยังต้องสอนวิธีสงบจิตใจควบคู่กับการให้แนวทางเรื่องการจัดการอารมณ์ความรู้สึกของตนเองและข้อปฏิบัติในชั้นเรียนไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วย

การได้รับความสนใจจากครู (validation) ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยสงบสติอารมณ์นักเรียนที่กำลังโกรธหรือขุ่นมัวให้รู้สึกดีขึ้น เมื่อครูมองเห็นและสนใจความรู้สึกของเขา อารมณ์ที่คุกรุ่นก็จะเย็นลง 

คำพูดแสดงความห่วงใยที่คุณครูควรใช้เพื่อบอกให้รู้ว่าเป็นห่วงและสนใจความรู้สึกของเขา เช่น 

  • “เรื่องนี้ทำให้เธอต้องรู้สึกแย่แน่ๆ”
  • “หนูคงกำลังโกรธมากเลยใช่ไหม”
  • “เธอดูสับสนวุ่นวายใจมากเลย”
  • “ครูว่ามันเป็นเรื่องที่ลำบากมากสำหรับเธอจริงๆ”

การแสดงความห่วงใยสนใจนักเรียนอย่างเข้าอกเข้าใจจะช่วยเปิดใจให้เขากล้าหารือหรือขอคำแนะนำในการตัดสินใจไปสู่ผลลัพธ์ครั้งสำคัญได้ และยังช่วยให้เขามองเห็นแผนในอนาคตว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเกิดปัญหา

จะว่าไปแล้ว เวลาที่จำเป็นต้องตักเตือนนักเรียนเมื่อทำผิด ครูนั้นต้องทำตัวเป็นเครื่องควบคุมความร้อนที่คอยปรับอุณหภูมิของนักเรียนให้เย็นลง ที่เปรียบอย่างนี้ก็เพราะคุณครูต้องเป็นผู้ควบคุมบรรยากาศระหว่างการพูดคุยหรือรับฟังปัญหากับนักเรียนให้ราบรื่นคงที่ตลอดรอดฝั่ง นอกจากชี้แนะให้พวกเขาเข้าใจว่าตัวเองมีทางเลือกใดบ้างและผลลัพธ์ที่ตามมาจากการตัดสินใจของเขานั้นจะเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญอีกประการที่ครูต้องทำให้เขาเห็นเป็นแบบอย่างชัดเจนคือ เมื่อต้องรักษากฎระเบียบวินัย ครูเองต้องสามารถรักษาตนเองให้อยู่ในระเบียบแบบแผน เคารพและปฏิบัติตามกฎเหมือนกันกับเขาด้วยเช่นกัน

ที่มา: edutopia.org

Tags:

ความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้Adverse Childhood Experiences(ACE)

Author:

illustrator

บุญชนก ธรรมวงศา

จบภาษาและการสื่อสาร เคยผ่านงานบริษัทออแกไนซ์ เปิดคลินิก ไปจนเป็นเลขาซีอีโอ หลังค้นพบและติดใจโลกนอกระบบตอกบัตร จึงแปลงร่างเป็นนักเขียน นักแปลและนักพยากรณ์ไพ่ ขี้โวยวายเป็นนิสัยที่อยากแก้ไขแต่ทำยังไงก็ไม่หาย ปัจจุบันกำลังเข้าใกล้ Midlife Crisis และหวังจะข้ามผ่านได้ด้วยวิถี “ช่างแม่ง”

Related Posts

  • Learning Theory
    6 คำถามสำหรับครู-โค้ช ชวนเด็กถอดบทเรียนหลังทำกิจกรรมเพื่อกดเซฟการเรียนรู้

    เรื่อง The Potential

  • Education trend
    ที่ก้าวร้าวก็เพราะข้างในบอบช้ำ: ATLAS หลักสูตรที่ ‘ครู’ ใช้รักษาบาดเเผลในใจนักเรียน

    เรื่อง ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Learning Theory
    Relational mindset: ‘ครูแสดงความเอาใจใส่ต่อศิษย์’ เทคนิคที่จะช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้ได้ดีขึ้น

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิชครูใหม่ วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ภาพ เพชรลัดดา แก้วจีน

  • Learning Theory
    ‘ความรู้สึก’ ส่วนผสมหลักเพื่อการเรียนรู้ ให้การมาโรงเรียนไม่ใช่แค่เรียนไปวันๆ

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ บัว คำดี

  • EF (executive function)
    เราแค่ ‘รู้’ แต่เราไม่ ‘รู้สึก’ การศึกษาไทยจึงถูกทิ้งไว้กลางทาง : เดชรัต สุขกำเนิด

    เรื่อง

Posts navigation

Newer posts

Recent Posts

  • ‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล
  • ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 
  • เปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนเป็นสนามพลังบวก ยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่เด็กได้โอกาส: ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง
  • F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง
  • Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Uncategorized
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel