Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย

Month: January 2020

อ่าน เล่น ทำงาน: อ่านนิทานได้อะไร ฉบับสมบูรณ์ ตอน 7 (จบ)
EF (executive function)
7 January 2020

อ่าน เล่น ทำงาน: อ่านนิทานได้อะไร ฉบับสมบูรณ์ ตอน 7 (จบ)

เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

ต่อจากตอนที่แล้ว อ่านนิทานได้อะไร ฉบับสมบูรณ์ ตอน 6: ประโยชน์ของการอ่านนิทาน ข้อ 13-16

17. ปฏิบัติการเชิงรูปธรรม (Concrete Operation)

ฌอง เพียเจต์ เขียนว่าเด็กพัฒนาวิธีคิดเชิงรูปธรรมระหว่างอายุ 8-12 ขวบ ก่อนหน้าอายุ 8 ขวบโลกเป็นเวทมนตร์คือ magic หลังจากอายุ 8 ขวบโลกเป็นตรรกะคือ logic

แต่ตรรกะหรือเหตุผลยังคงเป็นระบบที่สร้างขึ้นด้วยวัตถุที่เป็นรูปธรรมเสียมาก แปลง่ายๆ ว่าเห็นด้วยตาอย่างไรว่าอย่างนั้น เด็กยังมิได้นำอีกสองส่วนที่สำคัญเข้ามาในระบบเหตุผลเต็มรูปแบบ

ส่วนที่หนึ่งคือส่วนที่เป็นนามธรรม มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

ส่วนที่สองคือตนเอง เด็กมิได้นำตนเองเข้ามาอยู่ในระบบเหตุผลด้วย พูดง่ายๆ ว่าเขาอยู่นอกกรอบสังเกตการณ์หรือกรอบอ้างอิง (frame of reference) ตรงนี้อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นด้วยฟิสิกส์ของนิวตันและไอน์สไตน์

นิวตันเห็นแอปเปิลตกจากต้นด้วยความเร็วคงที่ เพราะนิวตันอยู่นอกกรอบอ้างอิง เขามิได้เอาตัวเองเข้ามาคำนวณด้วย เขาเห็น เขาคิด และได้คำตอบที่เป็นรูปธรรม เมื่อนึกถึงประเทศอังกฤษที่มีต้นแอปเปิลทั่วไปเหมือนบ้านเรามีต้นมะม่วง ก็ไม่น่าแปลกใจที่นิวตันจะคิดออกด้วยลูกแอปเปิล

ไอน์สไตน์ไม่เคยไปอวกาศด้วยตนเอง แต่เขาอธิบายสัมพัทธภาพด้วยปรากฏการณ์ในอวกาศได้เท่าๆ กับปรากฏการณ์บนพื้นโลก

ถ้าเราอยู่ในอวกาศที่มืดมิดไม่มีจุดอ้างอิง แล้วเห็นคนคนหนึ่งลอยเข้ามาหาเรา แปลได้ 4 กรณี คือ 1. เขาลอยมาหาเรา 2. เราลอยเข้าหาเขา 3. เขาลอยมาหาเราด้วยความเร็วสูงกว่าเราเคลื่อนถอยหลัง 4. เราลอยเข้าหาเขาด้วยความเร็วมากกว่าเขาเคลื่อนถอยหลัง จะเห็นว่าเราอยู่ในกรอบอ้างอิง และสิ่งที่เห็นเป็นสัมพัทธภาพ

ถ้าเราขับรถฝ่าสายฝน เห็นสายฝนตกเป็นมุมแหลมกระทบกระจกหน้าด้วยความเร็วสูง ในเวลาเดียวกันนั้นเอง คนที่อยู่ข้างถนนอาจจะบอกว่าฝนตกตั้งฉากกับพื้นดินด้วยความเร็วไม่สูงเท่าไรนัก

เด็กอายุ 8-12 ขวบยังไม่นำตนเองเข้ามาในสมการของระบบตรรกะ นี่คือข้อแตกต่างสำคัญ

เด็กนอนดูนิทานตั้งแต่เกิด ฟังเสียงแม่ที่อยู่ข้างๆ เขาอยู่นอกกรอบสังเกตการณ์ตลอดเวลา โดยทั่วไปพ่อแม่อ่านนิทานให้ลูกฟังได้ประมาณไม่เกินอายุ 10 ปี พวกเขามักอ่านเอง กลายเป็นวัยทีน แล้วไม่นอนฟังพ่อแม่อีก (อย่ามาน้ำตาเช็ดหัวเข่าก็แล้วกัน)

อย่างไรก็ตามคำศัพท์ที่ปรากฏในนิทานมิได้มีเพียงคำศัพท์ด้านวัตถุ แต่มีคำศัพท์ที่มิใช่วัตถุมากมาย ทั้งคำนาม กริยา สันธาน วิเศษณ์ บุพบท คำอุทาน คำหยาบ และคำท้องถิ่น ปะเลอะปะเต๋อนักไบ๊นักง่าว

สมองของเด็กได้คำศัพท์เหล่านี้ไปมากมายตลอดระยะเวลา 7-10 ปีที่เขายอมนอนในห้องนอนเพื่อรอแม่อ่านนิทาน  มีคำถามเสมอว่าเล่านิทานได้มั้ย คำตอบคือได้ แต่การเล่านิทานเด็กจะได้คำศัพท์หมุนเวียนของภาษาพูดประมาณ 2,000 คำ  อย่างมากไม่เกิน 5,000 คำ  แต่การอ่านเด็กจะได้คำศัพท์มากมายกว่านั้นหลายเท่า

อยากรู้ว่าคำศัพท์ใดเป็นรูปธรรม คำศัพท์ใดเป็นนามธรรมมิใช่เรื่องยาก ลองตั้งคำถามว่าเราถ่ายรูปได้ไหม เช่น ถ่ายรูปแมวให้ดูหน่อย คำตอบคือทำได้ หรือ ถ่ายรูปความเมตตาให้ดูหน่อย คำตอบคือทำไม่ได้ เว้นแต่จะไปหารูป เมตตา รุ่งรัตน์ นักแสดงที่งดงามและมีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในอดีตมาให้ดู

คำศัพท์นามธรรมเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เด็กสามารถใช้ตนเองในสมการของตรรกะและลอยขึ้นเหนือตนเอง เหนือระบบความคิดของตนเอง แล้วมองลงมาเห็นระบบของตนเอง นี่คือเมตตาค็อกนิชั่น (metacognition) และถ้าเก่งพอก็จะก้าวข้ามตนเองไปได้ในที่สุด

18. ปฏิบัติการเชิงนามธรรม (Formal Operation)

ฌอง เพียเจต์ มิได้ใช้คำว่า abstract เขาใช้คำว่า formal ซึ่งกินความกว้างขวางกว่าคำว่านามธรรม และว่าที่จริงแล้วการเปลี่ยนผ่านจากรูปธรรมสู่นามธรรมก็เป็นคอนทินิวอั้ม (continuum) มิได้มีเส้นพรมแดนที่อายุ 8 ปีจริงๆ เด็กพัฒนาความสามารถในการเข้าใจคำศัพท์ทางนามธรรมแต่ละคำได้เรื่อยๆ ด้วยความเร็วช้าต่างกัน

มีคำถามเสมอว่าอ่านเทพนิยายหรือนิทานพื้นบ้านได้ไหม เจ้าหญิงนิทราถูกพรากพรหมจรรย์เพราะถูกทิ่มแทง สงสารแต่แม่ปลาบู่อาศัยอยู่ในฝั่งคงคา นิทานเหล่านี้ลามกหรือสยองขวัญเกินกว่าจะให้เด็กอ่านหรือเปล่า หนูน้อยไม้ขีดไฟน่ากลัวมากกว่าน่าสงสารหรือไม่ การ์ตูนดิสนีย์หลายๆ เรื่องรุนแรงและมีด้านมืดมากเกินกว่าที่จะให้เด็กเสพหรือไม่

คำตอบคือเด็กอ่านและดูได้ทั้งนั้น หากพ่อแม่นั่งอยู่ข้างๆ พ่อแม่จะเป็นฟองน้ำดูดซึมส่วนเกินออกจากตัวเขาในระดับพอดีๆ เสมอ เท่านี้เอง ด้วยวิธีนี้เขาจึงจะไม่ถูกปิดหูปิดตา แต่ได้เผชิญและเรียนรู้ความโหดร้ายของโลกและของมนุษย์มากเท่าที่เขารับได้ในแต่ละช่วงวัย

แน่นอนว่าหากจะมีบ้างที่เขาร้องไห้สะอึกสะอื้นเพราะพ่อซิมบ้าตายหรือแม่แบมบี้ตาย เราสามารถเก็บนิทานเล่มนั้นขึ้นชั่วคราว อีกหกเดือนก็เอาออกมาอ่านหรือดูใหม่ ลูกในอีกหกเดือนถัดไปมิใช่คนนี้ที่นั่งอยู่ข้างๆ เรา

ความเหงา ความเศร้า ความกลัว ความตาย

โกหก ลักขโมย กลั่นแกล้ง ฆาตกรรม อิจฉาริษยา

พิน็อคคิโอทั้งหนีโรงเรียน โกหก ดื่มเหล้า และสูบซิการ์ในการ์ตูนของดิสนีย์ ฉากที่เพื่อนของเขากลายร่างเป็นลาโง่ในการ์ตูนของดิสนีย์น่ากลัวมาก เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เด็กๆ ควรเผชิญโดยที่มีพ่อแม่นั่งอยู่ข้างๆ

รูปธรรมนามธรรมกำลังหลอมรวมเข้าหากัน หนังสือนิทาน สื่อออนไลน์ และหนังการ์ตูนกำลังเคลื่อนตัวเข้าหากัน เราไม่สามารถแยกเรื่องราวเหล่านี้ออกจากกันโดยเอกเทศ เราจำเป็นต้องพาลูกผ่านด้านมืดเหล่านี้ในวันที่เขายังมีเรา

พาลูกขี่ม้า เดินเลียบปีศาจ ให้เขาดู เขาจะไม่เป็นไรตราบเท่าที่แม่มีอยู่จริง

กลับไปข้อที่ 1 สร้างแม่ที่มีอยู่จริง

หมายเหตุ: ติดตามอ่านบทความ อ่าน เล่น ทำงาน ของคุณหมอเรื่อง ‘การอ่าน’ ได้ที่นี่
อ่าน เล่น ทำงาน: อ่านนิทาน
อ่าน เล่น ทำงาน: เล็กๆ น้อยๆ แต่สำคัญมากของ ‘นิทานก่อนนอน’
อ่าน เล่น ทำงาน: ความต่างระหว่าง ‘อ่านออก (เร็ว)’ กับ ‘อ่านเอาเรื่อง’
อ่าน เล่น ทำงาน: ‘นิทาน’ สมาธิและความฉลาดเริ่มต้นในห้องนอนยามค่ำคืน
อ่าน เล่น ทำงาน: เด็กทำอะไรช้า มาจาก ‘ความจำใช้งาน’ เด็กๆ จึงต้องได้อ่านนิทานภาพก่อนนอน
อ่าน เล่น ทำงาน: อ่าน ‘อย่างมีความสุข’ เพื่อสร้างระบบความจำใช้งาน
อ่าน เล่น ทำงาน: อ่านวรรณคดีไทย ลูกจะเผชิญด้านมืดได้ดีกว่าคำพ่อแม่สั่งสอน
อ่าน เล่น ทำงาน: อ่าน–สมองและจิตใจของเด็กสร้างขึ้นมาได้อย่างไร ตอนที่ 1
อ่าน เล่น ทำงาน: อ่าน–สมองและจิตใจของเด็กสร้างขึ้นมาได้อย่างไร ตอนที่ 2 (จบ)
อ่าน เล่น ทำงาน: อ่านนิทานได้อะไร ฉบับสมบูรณ์ ตอน 1
อ่าน เล่น ทำงาน: อ่านนิทานได้อะไร ฉบับสมบูรณ์ ตอน 2
อ่าน เล่น ทำงาน: อ่านนิทานได้อะไร ฉบับสมบูรณ์ ตอน 3
อ่าน เล่น ทำงาน: อ่านนิทานได้อะไร ฉบับสมบูรณ์ ตอนที่ 4
อ่าน เล่น ทำงาน: อ่านนิทานได้อะไร ฉบับสมบูรณ์ ตอนที่ 5
อ่าน เล่น ทำงาน: อ่านนิทานได้อะไร ฉบับสมบูรณ์ ตอนที่ 6

Tags:

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์อ่าน เล่น ทำงานEFและการศึกษาการอ่าน

Author:

illustrator

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

Illustrator:

illustrator

antizeptic

Related Posts

  • EF (executive function)
    อ่าน เล่น ทำงาน: อ่านนิทานได้อะไร ฉบับสมบูรณ์ ตอนที่ 5

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

  • EF (executive function)
    อ่าน เล่น ทำงาน: อ่านนิทานได้อะไร ฉบับสมบูรณ์ ตอนที่ 3

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

  • EF (executive function)
    อ่านเถอะนะ ง่ายจะตายชัก

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

  • EF (executive function)
    อ่าน เล่น ทำงาน: ความต่างระหว่าง ‘อ่านออก (เร็ว)’ กับ ‘อ่านเอาเรื่อง’

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

  • EF (executive function)
    อ่าน-เล่น-ทำงาน : สมอง ‘อ่าน’ อย่างไร

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

เปิดห้อง MAKERSPACE โรงเรียนบ้านปลาดาว: แค่นั่งมองต้นไม้เฉยๆ ก็รู้ว่าเรียนรู้จากมันได้
Creative learning
7 January 2020

เปิดห้อง MAKERSPACE โรงเรียนบ้านปลาดาว: แค่นั่งมองต้นไม้เฉยๆ ก็รู้ว่าเรียนรู้จากมันได้

เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ ศรุตยา ทองขะโชค

  • นวัตกรรมบ้านปลาดาว ทั้ง 3 วิธี – 3R ที่เน้นให้เด็กอ่านออกเขียน 3 วิชาหลัก ผ่านกิจกรรมแบบ Active Learning, Project/Problem Based Learning และ Makerspace 
  • Makerspace หรือห้องนักสร้าง หนึ่งในนวัตกรรมการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นทั่วโลกและโรงเรียนนานาชาติหลายแห่ง แต่กับโรงเรียนรัฐบาลในประเทศไทย ยังไม่ค่อยเห็นโรงเรียนแห่งไหนเริ่มทำเท่าไรนัก ทั้งที่การเป็น ‘นักสร้าง’ คือหนึ่งในวิธีสร้างการเรียนรู้ที่จะพัฒนาทักษะชีวิตได้อย่างเห็นภาพวิธีหนึ่ง
  • โรงเรียนบ้านปลาดาว จ.เชียงใหม่ โรงเรียนเอกชนที่จัดการศึกษาสงเคราะห์ กันพื้นที่ 80 เปอร์เซ็นต์สำหรับเด็กชาติพันธ์ และทุกคนต้องเรียนฟรี คือหนึ่งในโรงเรียนไม่กี่แห่งที่จัด Makerspace  เด็กๆ จะถูกถาม, จินตนาการ, วางแผน, สร้างสรรค์ และคิดสะท้อนเพื่อออกแบบใหม่ เด็กในบ้านปลาดาวแทบทุกคนคุ้นกับการทำ design thinking 

ในหนังสือ Lifelong Kindergarten: อนุบาลตลอดชีวิต กล่าวถึงการปฏิวัติการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ทุกช่วงวัยให้มีจิตวิญญาณอนุบาล หนังสือที่เล่าผ่านงานวิจัยและปัจจัยความสำเร็จขององค์กรยุคใหม่ บอกว่า ‘การเล่น’ คือจิตวิญญาณอนุบาล เป็นอาวุธชั้นดีแห่งจินตนาการ จินตนาการที่เป็นกุญแจสำคัญขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงโลกทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะในยุคที่อะไรๆ ก็เปลี่ยนง่ายและเร็วด้วยเทคโนโลยี 

ถอดรหัสจากการเล่น เอาดีจากการเล่น หนังสือเล่มนี้บอกว่ากระบวนการขี้เล่น นัยหนึ่งคือการเป็น ‘นักสร้าง’  

Makerspace – ห้องนักสร้าง กำลังถูกจุดติดขึ้นในหลายโรงเรียนทั่วโลก ไม่ใช่เพื่อเร่งพัฒนาคนให้เปลี่ยนเป็นนวัตกร (ตัวน้อย) แต่ถูกบอกว่าทักษะ ‘นักสร้าง’ คือกระบวนการเดียวกับการติดเครื่องมือการเรียนรู้ ตั้งแต่การเปลี่ยนจินตนาการเป็นแผนงาน กลายเป็นโปรเจ็คต์ย่อมหรือใหญ่ รวมผู้คนมาอยู่ด้วยกันและทำงานร่วม สุดท้าย ลงมือสร้างมัน ซึ่งภายในกระบวนการสร้างเรียกร้องการได้รับฟีดแบคเพื่อต่อยอดพัฒนา 

ไม่อาจเถียงได้ คนเราเรียนรู้ได้ดีที่สุดผ่านการลงมือทำ ยิ่งผิดพลาดแล้วลงมือแก้ไขมากเท่าไร เราก็ยิ่งเติบโต ยิ่งพัฒนา 

“ครั้งหนึ่งแพรไปโรงเรียน เห็นเด็กกำลังเป่าลูกโปงฟองสบู่อยู่ เลยถามว่าเขาใช้อุปกรณ์อะไรมาทำ เขาบอกว่าเขาใช้เคเบิลมาถักเป็นพวงๆ บอกว่าอยากเป่าออกมาให้ฟองสบู่เป็นพวงองุ่น เลยถักสายเคเบิลต่อกันเป็นพวงเพื่อเป่าทีเดียวจะได้ฟองออกมาเป็นแถบ แพรถามเขาต่อว่าเคยเห็นแบบที่มันใหญ่กว่านี้ไหม? แล้วเปิดรูปเปิดคลิปให้เขาดู พอเขาดูเสร็จแล้วก็นั่งคิดกันต่อว่า ‘ในคลิปเขาใช้อะไรทำนะ’ ‘เขาใช้เชือกแบบไหน’ ‘แล้วต้องใช้สบู่อะไรถึงเป็นได้ขนาดนั้น’ เนี่ย… คุยกันแป๊บเดียว เด็กสองคนนั้นก็วิ่งกลับไปในห้อง ไปทำใหม่ นี่คือหัวใจสำคัญเลยนะคะ การต่อยอดพัฒนา” 

ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร (แพร) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิสตาร์ฟิชเอ็ดดูเคชั่น เล่าให้ฟังถึงกระบวนการเกิดห้องนักสร้าง หรือ Makerspace ที่ โรงเรียนบ้านปลาดาว ภายใต้มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ตั้งอยู่อำเภอแม่แตง ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ราว 50 กิโลเมตร โรงเรียนเอกชนที่จัดการศึกษาสงเคราะห์ ในแง่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียน จะถูกกันไว้สำหรับเด็กชาติพันธ์ุ (หรือไร้สัญชาติ) ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ผู้ปกครองอยู่ในคุก ยากจน หรืออยู่ในสถานการณ์เปราะบางไม่มีใครดูแล อีก 20 เปอร์เซ็นต์จึงค่อยเป็นเด็กๆ รอบชุมชน และแน่นอนว่าทุกคนเรียนฟรี

ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร

นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่โรงเรียนบ้านปลาดาวได้รับความสนใจจากคนทำงานภาคประชาสังคมและการศึกษา ไม่ใช่แค่เหตุผลเรื่อง ‘โรงเรียนเอกชนที่จัดการศึกษาสงเคราะห์’ ที่ต้องการแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ แต่รวมถึง นวัตกรรมบ้านปลาดาว ทั้ง 3 วิธี ที่ถูกออกแบบตามพัฒนาการ ตามช่วงวัย ตามทฤษฎีการศึกษาสมัยใหม่เพื่อพัฒนาคนอย่างสอดรับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุค disruption …ก็ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน 

“การทำงานกับเด็กกลุ่มนี้ (กลุ่มชาติพันธ์ุ) อยากให้ลองจินตนาการถึงเด็กอายุ 3 ขวบที่ไม่พูดภาษาไทย มาจากบ้านที่ยายหรือใครที่ไม่ใช่พ่อแม่จริงๆ ของเขาเลี้ยง ใช้ห้องน้ำไม่เป็น นั่งโต๊ะกินข้าวเองไม่ได้ ใช้ช้อนส้อมไม่เป็น มาจากครอบครัวที่ยากลำบาก และเขาก็พูดบอกปัญหาของเขากับใครไม่ได้เลย มากขนาดที่… คือตอนที่เราต้องลงพื้นที่บ้านเด็กๆ และทำ family tree เจอความซับซ้อนซ่อนเงื่อนของปัญหา เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘เฮ้ย ชีวิตเด็กมันต้องขนาดนี้เลยเหรอ’ แล้วอะไรที่จะทำให้เด็กคนนี้รู้สึกว่าโรงเรียนไม่แย่? นั่นแปลว่าเขาจะต้องได้ทำสิ่งที่ชอบ สนุก และอยากทำ เขาคงอยากออกไปเล่น ไปคุยกับเพื่อน หรือทำอะไรที่เขาภาคภูมิใจ แต่ถ้าให้เด็กคนนี้มานั่งในห้องแล้วยังต้องมานั่งท่อง ก-ฮ อันนี้น่าจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่เด็กคนนี้ต้องการ

“การทำงานของเราตั้งต้นจากการคิดว่าจะทำยังไงให้เขามี fulfillment ในชีวิต คิดว่าความสุขของเขามันเกิดจากอะไรบ้าง? ทำให้เราตั้งคำถามกับการจัดการศึกษาว่าถ้าเราเอาความสุขของเขาไปผูกกับวัตถุหรือสิ่งของที่คนอื่นซื้อหามาให้ ทั้งชีวิตเขาจะเป็นยังไงนะ? สุดท้ายเราบอกว่าเราต้องทำยังไงก็ได้ให้เด็กนั่งมองต้นไม้เฉยๆ แล้วมีความสุขและรู้ว่าเรียนรู้จากมันได้ ให้เขาเห็นแล้วรู้สึกว่าชีวิตมันดีนะ ฉะนั้นการจัดการศึกษาของบ้านปลาดาวจะตั้งต้นจากสิ่งรอบตัว อย่าเพิ่งไปคิดว่าเขาต้องเรียนรู้เรื่องอะไรที่มันยากๆ แต่ตั้งต้นจากเรื่องที่มันอยู่รอบตัวเขา”

คุณแพรเล่าให้ฟังถึงที่มาของวิธีคิดการจัดนวัตกรรมการศึกษาของโรงเรียน บอกว่าขณะนั้นเธอดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนโดยมี ดร.ริชาร์ด พี ฮ็อกแลนด์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ร่วมกันออกแบบการเรียนการสอนโดยตั้งต้นจากธรรมชาติการเรียนรู้ปฐมวัย จนนำมาสู่การต่อยอดเป็นนวัตกรรมบ้านปลาดาวในที่สุด

นวัตกรรมบ้านปลาดาวเริ่มต้นจากโจทย์ง่ายๆ ว่าจะจัดการเรียนรู้อย่างไรให้เด็กชาติพันธ์ุเข้าถึงการศึกษาและต้องมีคุณภาพ อ่านออกเขียนได้คิดเลขเป็น ติดเครื่องมือการเรียนรู้อย่างไม่ใช่แค่พอเอาตัวรอดได้ แต่มีทักษะชีวิตและติดเครื่องมือการเรียนรู้ในเนื้อตัว ถึงวันนี้ วิธีการของโรงเรียนบ้านปลาดาวขยายกว้างและกลายเป็นที่ดูงานด้านนวัตกรรมการศึกษาหลายแห่ง 

Makerspace เป็นเพียงหนึ่งในนวัตกรรมบ้านปลาดาว ที่เมื่อรวมกับนวัตกรรมที่ใช้ในโรงเรียนอีกสองตัวแล้ว หลายคนที่ได้ฟังหรือเข้าไปเห็นวิธีการเรียน ตั้งคำถามกันบ่อยๆ ว่า ทำไมเราไม่เคยได้เรียนอะไรแบบนี้?

นวัตกรรมบ้านปลาดาว: การเรียนรู้ที่เด็กนั่งมองต้นไม้เฉยๆ แล้วรู้ว่าเรียนรู้จากมันได้

เป็นเรื่องที่ต้องเล่ากันอย่างใช้เวลาและจำนวนตัวอักษรสักเล็กน้อยเพื่อเล่าจบและเห็นภาพว่าโรงเรียนจัดการศึกษา (อย่างสนุกสุดมัน) ด้วยวิธีอะไรบ้าง แต่อย่างรวบรัด คุณแพรเล่าว่าโรงเรียนบ้านปลาดาวจะใช้นวัตกรรม…

3R: คือการมุ่งเน้นให้เด็กอ่านออกเขียน 3 วิชาหลัก โดยทุกวิชาจะจัดผ่านกิจกรรมแบบ active learning และใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่ ดร.ริชาร์ดคิดขึ้นเองด้วย คือ

  • วิชาภาษาไทย เรียนด้วยการเรียนแบบเซ็ต (แบ่งพยัญชนะไทยเป็น 4 เซ็ตคือ เซ็ตสัตว์ เซ็ตสิ่งของ เซ็ตพยัญชนะที่ใช้ไม่บ่อย เซ็ตพยัญชนะที่แทบไม่ใช้เลย) และจะเรียนผ่านภาพ บัตรคำ และหนังสือเฉพาะสำหรับเรียนการอ่านในพยัญชนะเซ็ตนั้นๆ
  •  วิชาภาษาอังกฤษ โดยเรียกว่า ไทย-กริช คือการผสมการสะกดคำภาษาไทยและภาษาอังกฤษเข้าด้วยกัน เช่น คำว่า bat (ค้างคาว) จะเขียน/อ่านว่า แ-บ-t
  •  คณิตศาสตร์ คำนวณเลขพื้นฐานผ่านสัญลักษณ์มือและจำเป็นจุด

อยากเล่าให้ฟังด้วยว่าการบวกเลขโดยใช้สัญลักษณ์มือของเด็กๆ ตอนที่เราได้ฝึกทำเองแรกๆ งงหนักมากเพราะมันตีกับวิธีการบวกเลขเดิมของเรา ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังต้องตั้งหลักหลายนาทีก่อนจะบวกลบเลขหลักน้อยๆ ได้ถูกเป๊ะ แต่ภาพตรงหน้าคือเด็กๆ ชั้นอนุบาล 3 ต่อแถว แยกเป็นสองทีมเท่าๆ กันในลักษณะการเล่น ‘แม่งูเอ๋ย’ คนหัวแถวของแต่ละทีมจะ ‘เป่ายิงฉุบ’ กันเร็วๆ ด้วยสัญลักษณ์ตัวเลขแบบมือแล้วให้บวกเลข ใครขานคำตอบก่อนคนนั้นเป็นผู้ชนะ ผู้แพ้ให้วนกลับไปต่อแถวใหม่ ฝ่ายไหนหมดคนก่อนถือเป็นฝ่ายแพ้ไป สิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าคือเด็กๆ บวกลบกันเร็วมาก! มากแบบเรา (ป้า) ยังมองไม่ทันเลยว่านี่คือสัญลักษณ์อะไร เด็กๆ สนุกตื่นเต้น ส่งเสียงวีดวิ้วกันจนห้องเต็มไปด้วยความสดใส และแน่นอน วิธีการเรียนเลขด้วยกิจกรรมเช่นนี้ คือหนึ่งในกิจกรรม active learning อย่างไม่ต้องสงสัย

Project/Problem Based Learning: ถ้าเป็นระดับชั้นอนุบาล เด็กๆ จะเรียนด้วย Project Based Learning หรือการเรียนรู้โดยใช้ ‘กิจกรรม’ หรือ ‘หัวข้อ’ เป็นฐาน แต่ในระดับชั้นประถมศึกษาขึ้นไปจะใช้ Problem Based Learning หรือ ‘ปัญหา’ เป็นฐาน

อย่างในชั้นอนุบาล รูปธรรมที่เห็นได้ชัดคือแต่ละห้องเรียนที่เดินเข้าไปจะให้บรรยากาศไม่เหมือนกันเลยสักห้อง! เช่น ในวันที่ผู้เขียนไปเยี่ยมชมชั้นอนุบาล 1 เด็กๆ กำลังเรียน PBL เรื่อง ‘ฤดูกาล’ ทั้งห้องประดับประดาไปด้วยสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวกับฤดู ไม่ว่าจะเป็นสายรุ้ง เมฆฝน พระอาทิตย์ และอื่นๆ และผู้ประดิษฐ์ของแต่งห้องทั้งหมดนี้ไม่ใช่ใครก็คือเด็กๆ เอง ปกติแล้วจะเรียน PBL เทอมละ 2 เรื่อง นั่นหมายความว่าบรรยากาศในห้องจะเปลี่ยนไปเทอมละ 2 ครั้ง!

ครูสุรีรัตน์ จิตนารินทร์ (ครูเมย์) หัวหน้าฝ่ายวิชาการเล่าให้ฟังว่า ปกติแล้ว PBL จะมี 6 ขั้นตอนคือ สำรวจ ระบุปัญหา สืบสวน สร้างสรรค์ สะท้อน และสร้างความแตกต่าง แต่ในชั้นอนุบาลจะลดรูปเหลือแค่ 3 ขั้นตอนแรก (แต่ในระดับประถมจะใช้กระบวนการ 6 ขั้นตอนเต็ม) และอย่างที่คุณแพรเคยเล่าเอาไว้ “อยากให้เด็กมองต้นไม้เฉยๆ ก็มีความสุขและเรียนรู้จากมันได้” กระบวนการ PBL ก็ถูกวางไว้เช่นนั้น คือ เริ่มแรกเด็กๆ จะได้ไปสำรวจพื้นที่ใกล้ตัวเช่น รอบโรงเรียน ชุมชน และอื่นๆ แล้วจึงกลับมาโหวตกันในห้องว่าเทอมนี้จะศึกษา ‘หัวข้อ’ ไหนกันดี

ครูเมย์บอกว่า เชื่อไหมว่าแต่ละเทอม แต่ละห้อง จะเรียนเรื่องไม่ซ้ำกันเลย เด็กๆ มีเรื่องที่อยากเรียนรู้และสนุกกับมันเต็มไปหมด ตั้งแต่ รองเท้า ไอศกรีม ต้นไม้ นก ฤดูกาล กบ และอื่นๆ หรืออย่าง PBL ในเด็กประถมที่จะเรียนด้วย ‘ปัญหา’ เป็นฐาน หัวข้อที่เขาสงสัยและแก้ปัญหาก็เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่เองอาจคิดไม่ถึง เช่น “อยากทำเค้กแต่ไม่มีเตาอบจะทำอย่างไร” หรือ “มะเขือยาวที่โรงเรียนมีเยอะเกินไป จะทำอย่างไรกับมันได้บ้าง?”

ครูสุรีรัตน์ จิตนารินทร์ (ครูเมย์)

คงไม่ต้องพูดกันอีกแล้วว่าการเรียนแบบ PBL นอกจากจะเป็นการเรียนที่บูรณาการทุกวิชาเข้าไว้ที่ ‘การแก้ปัญหา’ เดียว เพราะการแก้ปัญหาหนึ่งเรื่องย่อมต้องการความรู้จากหลายศาสตร์ แต่คุณูปการอย่างหนึ่งของ PBL ก็คือ เด็กๆ สนุกกันมาก และมันเรียกร้องทักษะหลายอย่างตั้งแต่การคิดแก้ปัญหา, การทำงานเป็นทีม, ทักษะการสื่อสาร, ความคิดสร้างสรรค์ และอื่นๆ ที่เรียกรวมๆ ว่าคือ soft skills หัวใจสำคัญของทักษะในศตวรรษที่ 21   

Makerspace: อีกหนึ่งกิจกรรมที่เรียกว่าเป็นหัวใจของโรงเรียนเลยก็คือ ห้องนักสร้าง หรือ Makerspace ผ่านกระบวนการ STEAM DESIGN PROCESS (ถาม, จินตนาการ, วางแผน, สร้างสรรค์ และคิดสะท้อนเพื่อออกแบบใหม่) Makerspace ที่นี่มีอยู่ 6 ห้องคือ ห้อง studio, ห้องช่าง, ห้องอาหาร, ห้องศิลปะ, ห้องผ้า, ห้อง story telling 

Makerspace: นักสร้างที่ถูกตั้งคำถามสร้างจินตนาการ จบท้ายด้วยการร้องหาฟีดแบคเพื่อพัฒนางานไม่รู้จบ

เด็กทุกคนไม่ว่าจะอนุบาลหรือประถมจะต้องเข้าห้อง Makerspace ตามที่ตัวเองสนใจอาทิตย์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1-2 ชั่วโมง ที่น่าสนใจมากๆ คือเด็กๆ ทำกันจริงจังเหลือเกิน อย่างเช่นห้องทำอาหาร เด็กๆ ตัวเล็กตัวน้อยจับมีดกันคล่องแคล่ว สับหมูเป็นสับหมู ตำเป็นตำ จี่ข้าวเหนียวเป็นจี่ สำคัญที่สุดคือสูตรและเมนูอาหารเขา ‘ล้ำ’ หน้าจริงๆ เช่น ข้าวเหนียวปิ้งไส้อโวคาโด ทาโกยากิไข่ล้วน คุ้กกี้มะเขือขาว

ความน่าสนใจคือ ไม่มีครูคนไหนห้ามนักเรียนใช้อุปกรณ์ที่ดูอันตรายเลย!

“ไม่มีการห้ามเลยค่ะ ลุย! (หัวเราะ)” จิตรลดา มะโนระ ครูประจำ Makerspace ห้องอาหารเล่าและบอกว่า “เป็นธรรมดาที่ผู้ใหญ่มักจะกลัวว่าเด็กๆ จะบาดเจ็บจากอุปกรณ์ที่ดูอันตราย แต่นี่มันคือเครื่องมือของเขา ทักษะของเขา ถ้าไม่ให้เรียนรู้ก็จะไม่มีทางทำได้เลย ไม่ใช่เรื่องที่ผู้ใหญ่จะห้าม เพียงแต่จะตั้งกติกากันตั้งแต่แรก เช่น การใช้มีดควรถือแบบไหน ไม่เอามาขู่เพื่อนนะ ไม่ชี้มีดไปทางเพื่อนนะ สำคัญมากๆ คือครูต้องไม่ห้าม ไม่อย่างนั้นเด็กๆ ไม่สนุกเลยนะ แต่เราตั้งกติกาการใช้อุปกรณ์ และครูก็คอยดูเรื่องความปลอดภัย เท่านี้ก็พอค่ะ เด็กๆ เขาทำกันได้นะ” ครูจิตรลดาบอกพร้อมรอยยิ้ม

ไม่ต้องพูดก็บอกได้ว่าเด็กสนุกกับห้องเหล่านี้อย่างไร เพราะต่างคนต่างง่วนอยู่กับสิ่งตรงหน้าอย่างมีสมาธิ ในห้องอาหารไม่มีใครอยู่เฉยๆ ลงมือปรุงอาหารกันอย่างหอมหวน ในห้องผ้า เด็กๆ บ้างจับกลุ่มกันออกแบบชุด บ้างใช้กรรไกรตัดผ้าและเย็บอย่างมีสมาธิ บางทีก็เงยหน้าขึ้นตอบคำถามของผู้เยี่ยมชมบ้างอย่างไม่เคอะเขินและกลับไปง่วนกับงานของตัวเองใหม่อย่างจดจ่อ ถ้าเป็นเด็กเล็ก ไม่ต้องสงสัยเลยว่ากล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่จะได้ฝึกตัวไปพร้อมๆ กับจินตนาการที่ลอยฟุ้งแค่ไหน

คุณมุกดา คำวินิจ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปลาดาว เล่าให้ฟังว่า หัวใจของ Makerspace นอกจากจะเปิดให้เด็กมีจินตนาการอย่างไม่รู้เบื่อ แต่ยังช่วยประเมินด้วยว่าเด็กคนไหนมีความชอบส่วนตัวอะไร มักจะอยู่ในห้องไหนนานและบ่อยที่สุด ตรงนี้ใช้เก็บเป็นข้อมูลเพื่อทำงานกับผู้ปกครองต่อได้ด้วยว่าเด็กสนใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษ ช่วยสื่อสารให้ผู้ปกครองเข้าใจว่าลูกไม่จำเป็นต้องชอบวิชาการก็ได้นะ ความสามารถด้านนี้ของเขาก็สำคัญและโดดเด่นเหมือนกัน

“หลายคนสงสัยว่า Makerspace นี่คืออะไร มันคือห้องรีไซเคิลขยะรึเปล่า (หัวเราะ) ไม่ใช่นะคะ และมันไม่ใช่แค่การได้เล่นด้วย แต่คือการสร้าง คิด และพัฒนาสิ่งหนึ่งขึ้นมาเลย

คุณมุกดา คำวินิจ

“ครั้งหนึ่งแพรไปโรงเรียน เห็นเด็กกำลังเป่าลูกโปงฟองสบู่อยู่ เลยถามว่าเขาใช้อุปกรณ์อะไรมาทำ เขาบอกว่าเขาใช้เคเบิลมาถักเป็นพวงๆ บอกว่าอยากเป่าออกมาให้ฟองสบู่เป็นพวงองุ่น เลยถักสายเคเบิลต่อกันเป็นพวงเพื่อเป่าทีเดียวจะได้ฟองออกมาเป็นแถบ แพรถามเขาต่อว่าเคยเห็นแบบที่มันใหญ่กว่านี้ไหม? แล้วเปิดรูปเปิดคลิปให้เขาดู พอเขาดูเสร็จแล้วก็นั่งคิดกันต่อว่า ‘ในคลิปเขาใช้อะไรทำนะ’ ‘เขาใช้เชือกแบบไหน’ ‘แล้วต้องใช้สบู่อะไรถึงเป็นได้ขนาดนั้น’ เนี่ย… คุยกันแป๊บเดียว เด็กสองคนนั้นก็วิ่งกลับไปในห้อง ไปทำใหม่ นี่คือหัวใจสำคัญนะคะ การต่อยอดพัฒนา

“ครูคนเดิมแต่เปลี่ยนวิธีการ สิ่งที่เด็กได้ต่างกันมาก ครูทิ้งโจทย์ว่าถ้าเด็กอยากทำอะไรสักอย่างโดยที่ครูไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นกระดาษอะไรสีอะไร ตัดยังไง แต่ให้เด็กเข้ากระบวนการ STEAM design process ถามคำถามเขา ให้เขาจินตนาการว่าของเล่นจะออกมาเป็นยังไง วางแผนว่าตัวเองจะใช้อะไรบ้าง ลงมือทำแล้วและต้อง reflect ผลงานเพื่อดูว่า ‘ฉันจะทำให้มันดีกว่านี้ได้แบบไหน?’ โดยไม่ได้มองเรื่องของความสวยไม่สวย

คุณแพรขยายความให้ฟังถึงทักษะที่การเป็น ‘นักสร้าง’ จะบอกให้ว่า “เด็กจะถูกฝึกว่าเขาต้องเริ่มจากคำถาม ทั้งครูและเด็กจะต้องตั้งคำถาม ครูเองต้องมีวิธีถามเพื่อกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจ ซึ่งจุดนี้จะยากมากและตอนแรกครูเราก็ struggle กับมันพอสมควร คือถามยังไงไม่ให้ชี้นำ ไม่บอกโพล่งไปเลย หรือไม่ใช่แค่บอกกับเด็กว่า ‘คิดสิคะ คิด’ แต่ถามยังไงให้เหมือน ควักความคิดและกระบวนการออกมาจากเด็กให้ได้

“ถามเสร็จแล้วจะมีช่วงของจินตนาการ ฝันไปเลย เพราะถ้าไม่มีภาพฝันมันไม่รู้จะเอาอะไรมาคิด จากนั้นเอาความฝันมาแพลนว่าจะทำสิ่งที่ตัวเองฝันให้เป็นจริงอย่างไร เขาก็ต้องเริ่มวางแผนขั้นตอน ดูอุปกรณ์ที่ต้องใช้ หาคนที่เขาต้องไปคุยด้วย ทำเสร็จแล้วก็ถามอีก เราจะบอกเด็กว่าลอง reflect ดูนะ การ reflect ก็คือ redesign สะท้อนแล้วทำใหม่ อันนี้เป็นหัวใจ มันเป็นกระบวนการที่บอกเด็กว่าทุกอย่างที่เขาทำมันจะดีกว่านี้ได้อีก เขาสามารถพัฒนางานของเขาได้ โดยอัตโนมัติ… เด็กสามขวบจะถูกฝึกให้เป็นคนรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นและไม่โกรธและจะกล้าให้ความคิดเห็นคนอื่นด้วย

“สิ่งที่ต้องคุยกับเด็กคือการให้ฟีดแบคเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งแม้แต่เราเองก็ไม่เคยถูกฝึกนะคะ เคยแต่ถูกบอกว่าทำให้ดี ทำให้ดีที่สุด และพอไม่ดีเราก็ไม่มีโอกาสแก้ไข เราจะให้ mindset นี้กับเขาไปเลยว่าเราทำเพื่อที่จะพัฒนานะ ทำเพื่อให้มันดีกว่านี้ มันจะกลายเป็นธรรมชาติของเขาเลย อย่างพอเข้าสู่กระบวนการที่ 5 เขาก็จะคาดหวังแล้วว่าต้องได้คอมเมนต์จากครูและเพื่อน กระบวนการนี้อยู่บ้านก็ทำได้ ฝึกให้เขา reflect บ่อยๆ โดยที่ไม่ตัดสินว่ามันแย่มากเลย แต่เราเข้าไปตั้งคำถามว่า ‘ถ้ามีเวลามากกว่านี้ มีทรัพยากรมากกว่านี้ จะเพิ่มอะไร’ ”

สิ่งที่คุณแพรเล่าไม่ใช่แค่การเป็นนักสร้างในห้อง Makerspace แต่กระบวนการได้คิด วิเคราะห์ feedback เพื่อต่อยอดพัฒนา และทำทั้งหมดนี้จากความสงสัยและปัญหาของตัวเอง ถือว่ากระบวนการเหล่านี้ก็แฝงฝังอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็น PBL หรือ Makerspace เช่นกัน

โรงเรียนบ้านปลาดาวไม่ใช่ที่แรกที่จัดห้องเรียนนักสร้าง มีห้องเรียนเช่นนี้เกิดขึ้นหลายโรงเรียนในประเทศไทยและหลายพื้นที่ทั่วโลก ความพร้อมและจริงจังของอุปกรณ์ในห้องก็เพิ่มระดับขึ้นตามช่วงวัยผู้เรียน พูดให้อิจฉาและใกล้ตัว ประเทศสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับพื้นที่นี้มากและสร้างมันจริงในหลายโรงเรียน 

“Makerspace มีหลายที่เลยในไทยและทั่วโลก อย่างสิงคโปร์เขาบอกเลยว่าเด็กทุกคนต้องทำ design thinking ได้ แพรคิดว่า Makerspace เป็นกระบวนการที่เข้าใจง่าย ปรับใช้ในพื้นที่โรงเรียนได้ง่าย คือเริ่มง่ายกว่าถ้าเทียบกับ PBL โจทย์คือเราอยากให้คุณครูเห็นภาพและปรับนำไปใช้นะ เลยคุยกันว่างั้นเราลองเปิดศูนย์สาธิต 4 ที่ (โรงเรียนบ้านปลาดาว ที่เชียงใหม่ เชียงราย และสมุทรสาคร) ให้โรงเรียนใกล้เคียงและครูพาเด็กมาใช้งาน ให้เขาเห็นภาพ ให้ลองทำ แต่คุยกันในทีมว่าจะทำแค่ปีเดียวนะเพราะศูนย์สาธิตไม่ควรอยู่ตลอดไป วัตถุประสงค์คือให้เขามาเห็น เรา empower เขาให้ไปทำต่อในโรงเรียนของตัวเอง 

“ปัจจุบันเรามีศูนย์สาธิตอยู่ในโรงเรียนอื่นๆ 8 ที่และมีโครงการ Starfish Maker ที่ทำกับโรงเรียนอื่นอีก 60 แห่ง เป็นจุดที่ทำให้เราเข้าใจว่าเราต้องเริ่มออกไปหาคนอื่น เพราะถ้าเราต้องการขยายอิมแพคในการทำงานของเรา เราต้องสร้างเครือข่าย ต้องไปขายไอเดียว่าถ้าโรงเรียนต้องการจะพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 นี่คือ solution ที่เขาต้องการนะ และเราช่วยได้ เราไม่ได้ให้เงิน แต่เราจะให้องค์ความรู้ ให้ความเป็นเพื่อน ให้ทักษะเขาไปจัดการอะไรแบบนี้” คุณแพรกล่าว 

เดินออกจากโรงเรียนและหลังจบบทสนทนากับคุณแพร อีกครั้ง, เราคิดถึงหนังสือ Lifelong Kindergarten: อนุบาลตลอดชีวิต วิถีชีวิตของการเป็นคนขี้เล่น ไม่ใช่แค่กับเด็กแต่คือของผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน 

เกือบทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้ เราเห็นมันใน Makerspace 

Tags:

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาBBL(Brain-based Learning)Makerspaceโรงเรียนบ้านปลาดาวนรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตรระบบการศึกษาโรงเรียนProblem based Learning(PBL)project based learningเทคนิคการสอน

Author:

illustrator

ณิชากร ศรีเพชรดี

แอดมิชชันเข้าคณะการเขียนและสิ่งพิมพ์เพราะคิดว่าเขาจะสอนให้เขียนนิยาย แทนที่จะได้เขียนจากจินตนาการ อาจารย์และทุกอย่างที่นั่นเคี่ยวกรำให้ทำ-คิด-เขียน-รู้สึกกับประเด็นสังคม ยังคงสนุก(มาก)กับงานสื่อสาร ฝันสูงสุดคือยังเข้มแข็งเขียนงานได้อย่างมีคุณภาพและฐานะดี

Photographer:

illustrator

ศรุตยา ทองขะโชค

ออกเดินทางเก็บบันทึกห้วงอารมณ์ความสุขทุกข์ผ่านภาพถ่าย ร้อยเรียงความคิดในใจก่อนลั่นชัตเตอร์ ภาพทุกภาพล้วนมีเรื่องราวและมีที่มา ตัวเราเองก็เช่นกัน ในอนาคตอยากทำหลายอย่าง หนึ่งในลิสต์ที่ต้องทำแน่ๆ คือออกไปเผชิญโลกที่กว้างกว่าเดิม เพื่อบันทึกเรื่องราวที่เติมเต็มจิตใจให้พองฟูได้มากกว่าเดิม

Related Posts

  • Unique Teacher
    ศราวุธ แก้วบุตร: นับหนึ่งที่ครูเดลิเวอรี วันนี้คือครูเต็มตัวผู้เข้าถึงปมในใจเด็ก

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดีอุบลวรรณ ปลื้มจิตร

  • Education trend
    พื้นที่นวัตกรรม: การศึกษาไทยแก้ได้ในชาตินี้ ให้คนในพื้นที่เป็นเจ้าของ

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Unique Teacher
    ครูสอญอ: ผู้อำนวยการสร้างเยาวชนแห่งโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ พรภวิษย์ โพธิ์สว่าง

  • Creative learning
    ‘โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง’ ดินคือกระดาษ จอบคือปากกา วิชาอยู่กลางทุ่ง

    เรื่อง กนกอร แซ่เบ๊

  • Unique Teacher
    ‘ครูภาคิน’ ครูไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผิดได้ และเป็นมนุษย์แบบพวกเอ็งนั่นแหละ

    เรื่องและภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

สนามกว้าง สำคัญกว่าวิชาการ พาลูกไปทำงานคือวิชา สปช. : สร้อยแก้ว คำมาลา
อ่านความรู้จากบ้านอื่นCreative learning
6 January 2020

สนามกว้าง สำคัญกว่าวิชาการ พาลูกไปทำงานคือวิชา สปช. : สร้อยแก้ว คำมาลา

เรื่อง ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ ภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

  • มีอย่างน้อยสองเหตุผลที่เราอยากคุยกับ สร้อยแก้ว คำมาลา หนึ่งคือ การเลือกโรงเรียนให้ลูกเพราะสนามหญ้ามันกว้างดี
  • สอง-ซิงเกิลมัมคนนี้คือแม่ที่ยอมให้ลูกขาดเรียนบ่อยๆ เพื่อพาไปทำงานด้วย แรกๆ เพราะไม่มีคนดูแล แต่หลังๆ ไม่ใช่ เพราะลูกกลายมาเป็นพาร์ทเนอร์คนสำคัญที่ทำให้งานเสร็จสมบูรณ์
  • สร้อยแก้ว-ตาน้ำ คำมาลา คือแม่ลูกที่ช่วยกันผลิตงานสารคดีโทรทัศน์ หน้าที่สำคัญของลูกสาววัย 10 ขวบ คือ เลขาฯ ผู้ช่วยช่างภาพ ดูแลโดรน และกำลังใจ

“สนามมันกว้างดี” คือเหตุผลแรกที่ สร้อยแก้ว คำมาลา เลือกพาลูกออกจากโรงเรียนเอกชนเพื่อมาเข้าโรงเรียนเทศบาล เมื่อ 3 ปีที่แล้ว 

เพราะตัดสินใจออกจากงานประจำที่กรุงเทพฯ​ กลับมาอยู่บ้านที่เชียงใหม่กับลูก ค่าเทอมหลักหมื่นจึงหนักหนาเกินไป ที่สำคัญ ระหว่างการศึกษา กับ สิ่งแวดล้อม อย่างหลังสำคัญกว่าสำหรับสร้อยแก้ว 

หลายปีก่อน เราจะรู้จัก สร้อยแก้ว คำมาลา ในฐานะนักเขียนหญิงมือดีคนหนึ่งของวงการ หนึ่งในผลงานคือ วรรณกรรมเยาวชนเรื่อง ‘ลาก่อนนางฟ้า’ ที่เล่าประสบการณ์ฝังใจวัยเด็ก โดนครูทำโทษรุนแรงจนเป็นบาดแผลทางใจ ทั้งปาชอล์ก ปาแปรงลบกระดาน ตบ ตี ฯลฯ ด้วยหวังว่าจะต้องไม่มีเด็กคนไหนเจอเหตุการณ์เลวร้ายแบบนี้อีก

สร้อยแก้ว คำมาลา

แต่ตอนนี้อาชีพที่หาเลี้ยงครอบครัวได้จริงๆ ไม่ใช่นักเขียน หากคือ ผู้ผลิตสารคดีโทรทัศน์ ทำตั้งแต่เลือกประเด็น ลงพื้นที่ ถ่ายทำ เขียนบท ตัดต่อ ลงเสียง เรียกว่าครบจบหนึ่งเรื่องได้ด้วยตัวเอง ทั้งเรื่องงานและชีวิตส่วนตัว เพราะสร้อยแก้วตัดสินใจเป็นซิงเกิลมัมตั้งแต่ยังไม่คลอด ด.ญ.ตาน้ำ คำมาลา – ลูกสาวออกมา ด้วยเหตุผลส่วนตัวกับอดีตสามี 

บ้านหลังเล็กๆ ย่านหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ถือว่าใหญ่เพียงพอสำหรับใช้ชีวิตด้วยกันสองแม่ลูก สะดวกด้วยเพราะอยู่ห่างจากโรงเรียนไม่เกิน 10 นาที และเป็นโรงเรียนที่แม่คิวซีแล้วว่าดี ทั้งสนามที่กว้าง สระว่ายน้ำใหญ่ อาหารสะอาด และเห็นความสำคัญของการเรียนรู้นอกห้อง 

เพราะแม่ลูกคู่นี้พากันออกต่างจังหวัดบ่อย แม่จะไม่ยอมปล่อยให้ลูกอยู่บ้านคนเดียวเพื่อไปโรงเรียน อีกอย่าง สำหรับสร้อยแก้ว โลกกว้างข้างนอกคือ โรงเรียนสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต ที่ใช้เวลาคุณภาพเป็นค่าเทอม 

ทำไมถึงเลือกโรงเรียนจากสิ่งแวดล้อม

เราไม่ได้ซีเรียสเรื่องการศึกษามาก รู้สึกว่าวัยนี้ไม่ใช่วัยที่จะต้องมาแข่งเรียน แต่สิ่งที่เราคิดคือ สิ่งแวดล้อม โรงเรียนต้องดี อาหารโรงเรียนดีไหม สะอาดไหม เพื่อนฝูงเป็นยังไง เรื่องเพื่อนๆ ก็สำคัญ ถ้าเกิดลูกอยู่ในกลุ่มก๊วนเพื่อนที่เป็นลูกคนรวย ทำอะไรไม่เป็น เราก็ไม่เอานะ และต้องใกล้บ้าน เพราะตั้งใจว่าภายในรัศมี 5 กม. ฉันจะไม่ไปไหน มันไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเดินทาง ก็เลยมาลงตัวที่ โรงเรียนเทศบาลหางดง เพราะรู้สึกว่ามันตอบโจทย์ของเรา

ปรากฏว่าเขาชอบตั้งแต่วันแรก สนุกมากเลยแม่ ไม่ได้เรียนหนังสือเลย ต่างจากที่เดิม เขาเรียนเยอะ เรียนหนัก

แล้วตาน้ำชอบไหม ไปโรงเรียนวันแรก

ตาน้ำ: สบายดีค่ะ

สบายยังไง

ตาน้ำ: มันเป็นวันเปิดเทอม ไม่ได้เรียนแต่เขาแจกอุปกรณ์การเรียน

เหมือนที่โรงเรียนเก่าไหม

ไม่เหมือน ที่นี่เรียน 6 ชั่วโมง โรงเรียนเก่าเรียน 8 ชั่วโมง

การบ้านเยอะไหม

ตาน้ำ: ไม่ค่อยเยอะค่ะ

เพื่อนๆ ล่ะ

ตาน้ำ: ไปวันแรกก็มีเพื่อนหนึ่งคน พอไปได้อาทิตย์นึง ก็มีห้าคน แต่ตอนนี้เป็นหกคนแล้ว

ด.ญ.ตาน้ำ คำมาลา

ชอบอะไรที่สุดในโรงเรียน

ตาน้ำ: ชอบสระว่ายน้ำ แล้วก็ชอบร้านที่มาเปิด มีขนม มีช็อกโกแลต มีน้ำหวาน มีชาเขียว (ร้านค้าเอกชนอยู่ข้างโรงเรียน หลังเลิกเรียนเด็กๆ จะออกจากบริเวณโรงเรียนไปซื้อได้) 

ตาน้ำอยากกลับไปโรงเรียนเดิมไหม

ตาน้ำ: ไม่อยากไปละ

ที่เลือกโรงเรียนนี้เพราะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเนื้อหา หรือว่าความเก่ง ทำไมพี่สร้อยแก้วถึงคิดแบบนี้

มันเป็นช่วงที่เด็กควรจะสนุก ถ้าเลือกได้ เราก็อยากเลือกเก่งด้วยสนุกด้วย ได้สนุกสนานเฮฮาแล้วก็ได้ความรู้สอดแทรก แต่โรงเรียนแบบนี้ค่าเทอมแพงมาก เรารู้ว่าศักยภาพเราไม่สามารถจะพาลูกไปยังจุดนั้นได้ แต่ภายใต้เงื่อนไขที่เรามี รายได้แม่มีเท่านี้ และเราจะอยู่กันให้มันมีความสุขด้วย ลดความคาดหวัง ลดสเป็คโรงเรียนลงมา เอาระดับที่เรารู้สึกว่าเราโอเค 

สมมุตินะ ถ้ามีโรงเรียนใกล้ๆ ราคาที่เราพอจ่ายได้ แต่เขาโชว์จุดขายด้วยการเคี่ยวเข็ญเด็กให้เรียน แล้วก็สอบได้คะแนนเยอะๆ เราก็ไม่เอา

ทราบว่าก่อนพาตาน้ำเข้าเรียนจริงๆ ได้ไปคุยกับ ผอ.โรงเรียนด้วย?

ใช่ เขาเพิ่งเกษียณไปปีที่แล้ว พอได้คุยแล้ว ไอเดียเขาดีจริงๆ เขาบอกว่า คุณรู้ไหมว่าพอเด็กเกิดได้สามสี่เดือน ก็เริ่มคว่ำ สักพักเริ่มคลาน สักพักเริ่มเดิน สักพักเริ่มวิ่ง ถามว่าสิ่งเหล่านี้ใครสอน ก็ไม่ได้มีใครสอนซักหน่อย คุณไม่ต้องไปเร่ง เด็กจะรู้เองว่าช่วงไหนต้องรับอะไร ไปยังไงต่อ 

เราชอบสิ่งที่เขาอธิบายและเราก็คิดอย่างนั้น ขอให้ลูกได้สนุกก่อน วิชาต่างๆ คณิตศาสตร์ สังคม เราพอสอนได้ ภาษาไทยไม่ต้องพูดถึงเพราะเราเรียนจบเอกภาษาไทยมา ตรงนี้เราช่วยดูแลลูกได้

แต่สิ่งที่เราจะทำให้ลูกไม่ได้เลยคือสังคมข้างนอก โรงเรียนอากาศดี ลมพัดเย็นสบาย

หรือแม้กระทั่งเพื่อนฝูงเขา โรงเรียนนี้อาจรับเด็กเยอะ ครูน้อย แต่เรามองเห็นจุดดีของมัน

ตอนนั้น ป.2 เราทำงานเหนื่อยแล้วบ่นๆ ให้ลูกฟัง ตาน้ำบอกว่า แม่อย่าบ่นเลย แม่เหนื่อยแค่นี้ เพื่อนหนูนะแม่ ตื่นตั้งแต่ตีสี่ นอนเที่ยงคืน เขาต้องไปช่วยแม่ขายพวงมาลัย แม่เหนื่อยสู้เพื่อนหนูไม่ได้ เราก็เลยรู้สึกว่า เออ ดีจังที่ลูกได้เห็นชีวิตหลายอย่าง

ถึงขั้นไปดูโรงอาหารด้วย?

(พยักหน้า) คนอื่นให้ความสำคัญหรือเปล่าไม่รู้ แต่เรารู้สึกว่า นี่คือสิ่งที่ลูกกินทุกวัน พี่ว่ามันสำคัญพอๆ กับเรื่องการเรียนด้วยซ้ำ

เราไปชิมน้ำหวานในโรงอาหาร มันหวานพอดี ไม่ได้หวานมากเมื่อเทียบกับที่เราไปกินหลายๆ ที่ ส่วนเรื่องความสะอาดนี่หายห่วงเลย คือไปวันไหนก็สะอาดเหมือนเดิม หรือข้าวเช้า ช่วงหลังเราสบายใจมากเลย เอาเงินให้ลูกไปซื้อกินที่โรงเรียนเอง (ยิ้ม) ทั้งที่เราเป็นคนยอมให้ลูกไปโรงเรียนสายเพื่อกินข้าวเช้าก่อน

แล้วเรื่องวิชาการสำคัญไหมคะสำหรับพี่สร้อยแก้ว

สำคัญ (เสียงสูง) ยังหนักใจอยู่ทุกวันนี้ ตาน้ำภาษาอังกฤษไม่เก่ง แม่ก็ไม่เก่ง ก็กลุ้มใจกันสองแม่ลูกว่า เอ๊ะ เราจะทำยังไงดีถึงจะเก่งภาษาอังกฤษได้ ก็พยายามอยู่ แต่ก็ไม่ได้ซีเรียส ตอนนี้เรางานเยอะ แต่ถ้าช่วงไหนงานซาๆ ก็อาจจะเรียนเสริมหรืออาจจะออกทริปกันที่มันได้ใช้ภาษามากขึ้น

เราเป็นเด็กเรียนสายวิทย์มา จะเห็นความสำคัญของวิชาคณิตศาสตร์มาก คนที่สนใจคณิตศาสตร์จะคิดเป็นระบบ เช่น ถ้ามันออกขาวก็ต้องเป็นขาว ออกดำก็ต้องเป็นดำ จะบิดพลิ้วไม่ได้ ทำให้เราเป็นคนที่ซื่อตรงกับทุกงานที่เราทำ ทุกความสัมพันธ์ เราจะไม่บิดพลิ้วกับอะไร เราจะไม่มั่ว 

แต่วิชาเหล่านี้ บางทีมันก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ในโรงเรียน เราสามารถไปหยิบจับจากข้างนอกได้ เราถึงไม่ค่อยซีเรียสเรื่องโรงเรียน สิ่งสำคัญที่สุดของโรงเรียนคือสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เพราะลูกอยู่ตรงนั้นตั้งหลายชั่วโมง ต้องเห็นความสำคัญในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการสร้างทัศนคติที่ดีกับเขา 

ย้อนกลับไปถาม จากนักเขียนพี่สร้อยแก้วเปลี่ยนมาทำสารคดีได้อย่างไร

รู้จักเพื่อนที่ทำวิดีโอเป็น ถ่ายเองตัดต่อเองเราก็เลยสนใจ เลยสมัครทำสารคดีรายการ ที่นี่บ้านเรา ไทยพีบีเอส ปี 59 ตอนนั้นสมัครพร้อมกับน้องฝ่ายตัดต่อ เพราะเรายังตัดต่อไม่เป็น จากตรงนั้นเราได้เรียนรู้งานมากขึ้น และรู้สึกสนุกกับงานตรงนี้มาก เราก็เลยค่อยๆ พัฒนาในฐานะทีมผู้ผลิตภาคพลเมือง ได้ทำหลายรายการ 

ที่สำคัญทำงานนี้ เราได้อยู่บ้าน 

การผลิตสารคดีช่วงแรกๆ เราจะมีทีมช่างภาพ มีคนตัดต่อ ส่วนเราเป็นฝ่ายค้นคว้าข้อมูล เขียนบท ช่วยถ่ายบ้างเล็กๆ น้อยๆ เอาไว้เป็นฟุตเทจ แต่หลังๆ ช่างภาพงานยุ่ง เราเลยเริ่มทำคนเดียว ถ่ายเอง และก็เริ่มตัดต่อเอง นอกจากจะสะดวก จัดการง่ายแล้ว การตัดต่อเองทำให้ทำงานได้เร็วขึ้น และค่าใช้จ่ายต่อการผลิตหนึ่งครั้ง มันไม่มาก แต่กว่าจะทำเองได้ก็เข้าปีที่สี่ของการทำงาน ตอนนี้มีแต่คนเก่ง ระดับงานเราอยู่เท่าเดิมไม่ได้แล้ว ต้องเรียนรู้และพัฒนาตัวเองตลอด

มันเหมือนเขียนหนังสือ คุณจะต้องดูทุกรายละเอียดและดูทุกความเหมาะสม ความถูกต้องแม่นยำ จังหวะภาพต้องเข้ากับบท ซึ่งเราจะเข้าใจดีที่สุด ซึ่งการที่เราหัดตัดต่อเองนับเป็นจุดสำคัญ เพราะพอเราทำได้แล้วมันเห็นผลความเปลี่ยนแปลงชัดมาก เห็นผลลัพธ์ที่ต่างจากของเดิมทั้งหมด เข้าใจได้มากขึ้นว่า เออ มันต้องคิดทุกวินาทีจริงๆ เราต้องใส่ใจรายละเอียดเหมือนเขียนหนังสือ ใส่ใจทุกคำที่เขียน 

โปรดิวเซอร์รายการ เขาดูเรื่องล่าสุดที่เราทำเองทั้งหมดแล้วบอกว่า เฮ้ย เรื่องนี้มันแตกต่างจากทุกเรื่องที่ผ่านมา มันเห็นพัฒนาการ ก็เลยทำให้เรารู้สึกมั่นใจขึ้น ทั้งงานด้านการจัดการและเทคนิค

ถือว่ารายได้ตรงนี้ก็เรียกว่าเลี้ยงตัวเองได้?

พออยู่ได้ ไม่ได้มากมายเมื่อเทียบกับตอนทำงานประจำ แต่มันหายใจหายคอโล่งขึ้นเยอะ แล้วก็โชคดีที่สิ่งที่เราทำก็มีคนเห็น เราก็รับจ๊อบเพิ่ม ทำคลิปให้องค์กรต่างๆ ฟีดแบ็คดี เราก็แฮปปี้ (ยิ้ม) 

ได้พาตาน้ำไปทำงานด้วยบ่อยไหมคะ

บ่อย แทบทุกครั้ง ยกเว้นทริปอันตราย ดีตรงที่เขาไม่งอแง ครั้งหนึ่งพาไปทำเรื่องนาอินทรีย์ที่พะเยา ดูเขาเกี่ยวข้าว ได้นั่งล้อมวงกินข้าว ตอนนั้นแม่ไม่ได้มีเวลามาก ก็ซื้อข้าวผัดเซเว่นติดตัวไปให้ลูก พอไปถึง ลูกไม่กินข้าวผัดเซเว่น ไปนั่งล้อมวงกินกับชาวบ้านอย่างอร่อยเลย ตาน้ำอู้คำเมืองได้ คุยกับพี่ป้าน้าอาได้สบาย

ความตั้งใจที่พาน้องตาน้ำไปด้วย แรกๆ คืออะไร

ไม่มีใครดูแล จริงๆ สมมุติถ้าทิ้งลูกไว้สามสี่วัน ตาน้ำจะร้องไห้ตาม อยากไปกับแม่ แม่ก็เลยพาไป แต่พอพาลงพื้นที่บ่อยๆ มันคือการใช้เวลาด้วยกัน และได้อะไรอยู่บ้างตอนไปกับแม่

ได้อะไรบ้างคะ

เราเชื่อประโยคที่ว่า การสอนเด็ก หรือการสอนใครสักคนที่ดีที่สุดคือการลงมือทำให้เขาเห็น เมื่อก่อนไม่ได้ตระหนักเท่าไหร่ แต่วันหนึ่งที่พาตาน้ำไปด้วย ก่อนหน้านั้นเราไม่เคยสอนตาน้ำว่าต้องทำอย่างนู้นอย่างนี้ แต่วันนั้นเราต้องขับรถแล้วให้ตาน้ำช่วยถือกล้องถ่ายให้ และการถือกล้องของตาน้ำคือการค่อยๆ แพนมา เราก็เฮ้ย ลูกรู้ได้ยังไงว่างานวิดีโอคุณหมุนเร็วไม่ได้ ต้องค่อยๆ หมุน

จังหวะนั้นเรารู้เลยว่าลูกเห็นสิ่งที่เราทำ แล้วเราก็รู้สึกว่ามันได้หลายอย่างมาก คำพูดคำจา เวลาที่เราไปเจอผู้ใหญ่ เราจะพูดกับคนไม่รู้จักอย่างไร เหมือนเขาซึมซับไปโดยไม่รู้ตัว เรารู้สึกว่าเรื่องนี้สำคัญมากจริงๆ 

ตอนออกพื้นที่ เขาไม่มีปัญหา ตากแดดร้อนได้ ลุยได้ อดทน สอนเขาด้วยว่าถ้าอยากกินน้ำหรืออะไร ต้องคุยกับผู้ใหญ่ยังไง เหมือนไม่มีปัญหาเลยในช่วงปีสองปีหลังนี้

หรือตอนที่เขาเล็กกว่านั้น เราจะเป็นคนที่ถ้าลดขยะได้ก็จะพยายามให้มากที่สุด แกะกล่องสบู่มา ก็จะเก็บไว้ใช้ เป็นกล่องใส่ปากกาบ้าง หรือบางทีก็ใส่กระดาษโน้ต ทำโดยที่ไม่รู้ว่าลูกมองอยู่ พอวันหนึ่งมีกล่อง ลูกก็เอาไปทำ ตอนนี้โต๊ะของตาน้ำจะมีของใช้แล้วหลายอย่างที่เอามาประดิษฐ์ทำต่อ (ยิ้ม) 

เวลาไปทำงานกับแม่ ตาน้ำช่วยอะไรแม่บ้าง

ตาน้ำ: จับ ถือร่ม จับโดรน แล้วก็เอาโดรนกลับ แต่ไม่ได้บังคับ

สร้อยแก้ว: มันจะมีบางพื้นที่ที่โดรนไม่สามารถลงพื้นได้ อย่างทุ่งนา ต้องมีคนจับเพื่อที่จะปล่อยให้โดรนขึ้น แล้วพอโดรนจะลงมา ก็จะต้องมีคนไปรอรับซึ่งก็คือตาน้ำ  

มีครั้งหนึ่งจำได้ไม่ลืมเลย เราไม่รู้ว่าลูกกลัว มันเป็นโดรนลำใหญ่ ด้วยความที่ตอนนั้นยังไม่มีความรู้เรื่องโดรน บอกให้ตาน้ำจับโดรน เราก็จะสั่งให้ตาน้ำจับแน่นๆ ชอบกลัวว่าลูกจะทำหล่น พอเขาจับแล้วช่วงที่จะปิดโดรนจะพัดแรงขึ้นอีกทีนึง ซึ่งตาน้ำก็ต้องยื้อ เขากลัว แล้วพอเครื่องมันดับเขาก็ร้องไห้เลย โอ๊ย แม่ขอโทษ แม่ไม่รู้ จริงๆ พี่ไม่คิดว่าลูกจะกลัวขนาดนี้

แต่ตอนหลังเขายังขอทำอีกนะ เหมือนพอเขาผ่านตรงจุดนั้นไปได้ ก็จะเริ่มสนุก แล้ววันหนึ่งเขาก็พูดเองว่า แม่ บางทีอะไรที่เราทำไปนานๆ เดี๋ยวเราก็จะหายกลัวเอง

ตาน้ำเป็นกล้องสองให้แม่ด้วย?

ตาน้ำ: ค่ะ ดูให้ ถ้าไม่ได้ดูก็นั่งเฉยๆ กินน้ำไปด้วย ให้กำลังใจแม่

สร้อยแก้ว: เวลาไปทำงาน จะมีกล้องสามตัว บางทีมันต้องตั้งสองตัว เวลาเราสัมภาษณ์ พี่ก็จะให้ตาน้ำช่วยคุมตัวนึง 

ตาน้ำ: แม่ให้ดูว่าภาพมันโฟกัสชัดไหม แล้วก็ให้ดูเรคคอร์ด ว่ามันอัดอยู่ไหม 

สร้อยแก้ว: เมื่อก่อนเราตั้งกล้องไว้เฉยๆ แล้วปรากฏว่าคนให้สัมภาษณ์เขาขยับตัว หลุดกล้องไปเลย ตอนหลังก็เลยให้ตาน้ำอยู่ แล้วคอยจับโฟกัสใหม่เวลาเขาขยับตัว (โฟกัสทัชสกรีน) 

ขาดเรียนบ่อยไหมคะ

บ่อยมาก แต่โรงเรียนนี้ค่อนข้างเข้าใจ เราไม่ได้คิดว่าทำถูกนะ แต่เรามีเงื่อนไขเรื่องไม่มีใครดูแลลูก ก็อธิบายกับครูว่าเดี๋ยวเราให้ลูกไล่ตามเนื้อหาอีกทีหนึ่ง ตาน้ำก็ไม่ได้เรียนอ่อน 

ทัศนคติด้วย ครูที่นี่เขาจะถือว่าการที่ลูกไปกับแม่ ลูกได้เรียนรู้ เขาไม่ซีเรียสเรื่องนั้น ครูประจำชั้นครูต่างๆ โอเคหมด การที่ลูกไปกับผู้ปกครองเขาจะได้รู้ว่าผู้ปกครองทำอะไร แล้วเราก็คิดถึงสมัยที่เราเป็นเด็กนะ ไม่ว่าจะชอบอาชีพพ่อแม่เราหรือไม่ แต่อย่างน้อย เราก็ได้ทักษะอาชีพพ่อแม่เรามา ส่วนจะทำต่อหรือไม่ก็แล้วแต่ 

เราก็พูดกับลูกเหมือนกันว่า ตาน้ำ ไม่ว่าหนูจะชอบสิ่งที่แม่ทำหรือไม่ แม่อยากให้หนูทำเป็น อย่างน้อยเป็นความรู้ติดตัวหนูไป

เวลาช่วยแม่ทำงาน ตาน้ำชอบทำอะไรที่สุด

ตาน้ำ: อยู่เฉยๆ ข้างๆ 

สร้อยแก้ว: อีกอย่างที่ช่วยแม่ได้คือ ช่วยจำรายละเอียดจุกจิก เช่น บางทีแม่รีบ ก็ให้ตาน้ำช่วยจดให้แม่หน่อย เหมือนเลขา แม่ขี้ลืม (ยิ้ม)

ตาน้ำ: มาก (ลืมอะไรบ้าง?) โทรศัพท์ กระเป๋าสตางค์

หยุดโรงเรียนบ่อยมีไม่สบายใจบ้างไหมว่าจะเรียนไม่ทันเพื่อน

ตาน้ำ: ไม่ สบายใจกว่าเดิมอีก เพราะไม่ต้องเรียน (ยิ้ม) 

สร้อยแก้ว: แต่ถ้าตรงกับช่วงสอบไม่พาไปเลย เรารู้ว่ามันสำคัญ 

หลังจากพาตาน้ำออกพื้นที่บ่อยๆ เห็นพัฒนาการอะไรของเขาบ้างไหมคะ

เราอาจจะเป็นคนที่เคร่งครัด เวลาเรามอบหมายอะไรซักอย่างคือลูกต้องเป๊ะ ถ้าแม่ไม่อยู่บ้าน เขาจะอยู่กับตายาย พี่จะสั่งเขาว่า บ้านต้องใส่กุญแจตรงโน้นตรงนี้ เปิดไฟหลอดนี้ ก่อนนอนปิดไวไฟ ซึ่งเขาจะเป็นคนทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ตายายบอกไม่ต้องห่วง สบายมากเรื่องนี้ เดี๋ยวตาน้ำจัดการ 

ตอนพาไปแม่ฮ่องสอน เดินตามเส้นทางแม่น้ำยวม มันร้อนมาก หนนั้นให้จัดกระเป๋าไปเอง ปรากฏว่าเอาแต่ชุดกระโปรงไป เขาก็ใส่กระโปรงเดินตามตลอด ให้ช่วยถือขาตั้งกล้อง ก็ไม่บ่นนะ ระหว่างทางเจอทากดูด ก็ไม่ร้อง บอกว่า แม่ ตัวอะไรไม่รู้กัด เนี่ยคันๆ เราก็รู้สึกว่าดีแฮะ นึกว่าลูกจะกรี๊ด ร้อง 

ช่วงเราถ่ายทำ เขาก็เล่นน้ำ บางทีด้วยความเป็นเด็กเขาก็ไม่ได้สนใจจะมาทำงานอยู่แล้ว เวลาที่เราคุยกับคนหาปลา เขาก็ไปเล่นของเขา เราก็ชำเลืองมองเป็นระยะ ถามว่าอันตรายไหมก็ห่วงอยู่เหมือนกัน

ประสบการณ์การพาไปทำงานด้วย มีเรื่องไหนบ้างไหมที่เขาทำเองได้โดยไม่ต้องสอนเลย

เรื่องการเลือกโรงแรม (ตอบทันที) ยิ่งเราเป็นผู้หญิงที่ต้องทำงานเดินทางบ่อย เลือกที่พักก็ต้องเลือกแบบที่มีกลอนข้างใน อย่าเอาแต่แบบมีลูกบิดอย่างเดียว นี่เขาจะจำเลย ทุกครั้งที่เลือก ถ้าเป็นโรงแรมที่ไม่รู้จักมาก่อนเราจะขอดูห้องก่อน ดูความปลอดภัยทั้งหมด เพราะไม่ใช่แค่เราคนเดียว มีลูกเราด้วย 

สอง ถ้าสมมุติว่าเราได้พักที่มันดีๆ แล้วมันมีช่องตาแมว เราจะสอนเขาตั้งแต่เด็กๆ เลยว่า ใครมาเคาะต้องดูก่อน เขาจะเอาเก้าอี้ขึ้นมาปีนส่องก่อนเปิด จนถึงทุกวันนี้ ทริปล่าสุด เราเดินออกไปข้างนอก เขานั่งดูทีวี พอเคาะปุ๊บ เขาถามทันทีว่าใครคะ เขาจะฟังก่อนว่าเป็นเสียงแม่ไหม เขาถึงจะเปิดประตูให้ 

แล้วพอลงพื้นที่เสร็จกลับมา เป็นภาคของโพสต์โปรดัคชั่น ตาน้ำได้ช่วยอะไรไหม

ตรงนี้ไม่ได้ช่วยแล้ว ที่จริงเคยคิดอยากลองให้เขาทำดูบ้าง มาเป็นพิธีกรไหมลูก ถ้าหากทำงานกันสองคนกับลูกคือ หนึ่งเราได้เลี้ยงลูกด้วย สอง ก็เหมือนได้ทำอะไรด้วยกัน แล้วเราก็จะได้เงินด้วย แต่ตอนนี้เขายังไม่พร้อม 

อีกเรื่องที่คิดว่าลูกได้คือความอดทน ตาน้ำเป็นเด็กที่หิวเร็วมาก แต่บางเช้าเราต้องรีบถ่ายเดี๋ยวแสงหมด ต้องจังหวะนี้เท่านั้น เขาโอเค กินหลังจากงานเสร็จ บ่อยมากเลยที่เราต้องออกกันแต่เช้าเพื่อไปให้ทันงาน เขาก็ตื่นได้ไม่มีปัญหาเลย ถ้าไปเจอคนครั้งแรก ก็จะสอนว่าอย่าหน้าบึ้ง หงุดหงิดแค่ไหนก็ให้พยายามยิ้ม หรือถ้าไม่ไหวจริงๆ อยู่ในรถเลย ไม่ต้องให้เขาเห็นหน้าเรา 

เห็นว่ามีทำหนังสั้นแม่ลูกกันด้วย?

ทำเล่นๆ ค่ะ เราสองคนชอบสัตว์ ให้ตาน้ำคอยชวนเล่น แล้วเราก็ถ่าย สนุกๆ เฉยๆ 

แต่เราเคยคิดว่า วันหนึ่งถ้าเราแม่ลูกเติบโตพอทั้งคู่ อยากทำคลิปการอ่านหนังสือ อยากทำแนะนำหนังสือ ผ่านเด็กคนหนึ่ง ผ่านสิ่งแวดล้อมที่ดีๆ เอาหนังสือใส่ตะกร้าให้ตาน้ำปั่นจักรยานไปกับหมา แล้วบอกว่าหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างนี้นะ

เขาก็อยากทำ จริงๆ เขาชอบทำคลิปนะ (ยิ้ม) แต่แอบทำ เอาโทรศัพท์เราไปแอบทำ แล้วตัดต่อลงยูทูบด้วย อย่าง ปาเป้าอย่างไรให้ได้สตางค์ เขาชอบปาลูกดอกงานวัด จนเขาขอซื้อกระดานปาเป้า แม่ก็โอเคเพราะมันต้องฝึก 

สิ่งหนึ่งที่พอยิ่งโตยิ่งเห็นชัดคือ ทุกครั้งที่ออกทริปกัน เขามีความสุขมาก เขาบอกว่าแม่ มันสนุกมาก ให้ลำบากกว่านี้ก็ไป

แต่จะอยู่กับเราตลอดเวลาก็ไม่ได้ เขาต้องมีสังคม พี่รู้สึกว่าคนเราอยู่กับสิ่งที่เราเลือกเองทั้งหมด บางทีมันอาจจะไม่ถูกก็ได้ บางทีสิ่งที่เราไม่ได้เลือกอาจจะดีก็ได้ ลองดูทางนี้ด้วย ผสมกันไป

การที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกันเขาเข้าใจแค่ไหน

เขาเข้าใจ แต่ว่าเด็กต้องมีอะไรในใจอยู่แล้ว เช่น ช่วงที่เรามีปัญหา เราอารมณ์เกรี้ยวกราด จริงๆ ถามว่าลูกมีผลกระทบไหม ก็มีแหละ แต่เขาเข้าใจไหม น้อยใจไหม เราว่าเขาไม่มีตรงนี้เท่าที่ดูจากการแสดงออก

เขารักพ่อ เด็กไม่ได้มารับรู้ปัญหาระหว่างกัน แต่ในความสัมพันธ์พ่อ-ลูก เขารู้เสมอว่าพ่อยังอยู่ ลูกก็มีความสุข  

วางแผนมัธยมให้ตาน้ำอย่างไรบ้าง

ยังไม่แน่ใจ ถ้าลูกไม่เข้าเรียนตามระบบ ก็จะให้เรียน กศน. หรือไม่ก็โฮมสคูล ก็จะให้เขามาเรียนรู้และทำกิจกรรมตรงนี้ไปเลย ถ้าทำเป็นอาชีพได้ก็ทำไปเลย เราเป็นคนต้นทุนไม่สูง เราไม่มีเวลาเรื่อยเปื่อยมาก เรามีลูกตอนอายุเยอะด้วย ถ้าเขาเรียนจบมหา’ลัยตอนอายุ 22 แม่อายุ 60 แล้วนะ 

คิดว่าคำว่าวิชาชีวิตที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ ผ่านการลงมือทำ กับวิชาการในห้องเรียน ควรแบ่งสัดส่วนหรืออยู่ด้วยกันอย่างไร

ในห้องเรียนและนอกห้องเรียนสำคัญทั้งสองอย่าง แต่วิชาการในห้องเรียนก็ขึ้นอยู่กับครูผู้สอนด้วย ถ้าได้ครูที่เก่ง และมีเทคนิคการสอนที่ดีก็ถือเป็นโชคดีของเด็ก แต่ถ้าเป็นการอัดแน่นเนื้อหาเพียงเพื่อจะให้เด็กสอบได้คะแนนเยอะๆ อันนี้ไม่ค่อยเห็นด้วย เราให้ความสำคัญในเรื่องการทำความเข้าใจในเนื้อหา คิด วิเคราะห์เป็น แบบนี้มากกว่า และเราให้ความสำคัญกับการอ่าน อย่างไรเด็กต้องมีช่วงเวลานิ่งๆ อ่านอะไรไปยาวๆ นานๆ บ้าง เพราะความรู้คือขุมทรัพย์ รู้เรื่องในหลักการก่อน เวลาปฏิบัติจริงจะได้ไม่มั่ว หรือมั่วน้อยลง

ทุกวันนี้ ถ้าไม่นับวิชาคณิตศาสตร์ เราจะพบว่า ความรู้ด้านต่างๆ ของมนุษย์มีการปรับเปลี่ยน มีการค้นพบใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาในทุกแขนง อย่างวิชาวิทยาศาสตร์ จู่ๆ NASA บอกว่าดาวพลูโต ไม่ใช่ดาวเคราะห์ เป็นแค่ดาวเคราะห์แคระ หรือดื่มนมวัวเป็นผลดีหรือเสียกันแน่ น้ำมันหมูกับน้ำมันพืช อะไรดีกว่ากัน

ความรู้ยุคนี้มันเป็นเรื่องของการค้นคว้าและเอาข้อมูลมาสู้กัน แต่ตำราเรียนไทยเรายังไม่ทันสถานการณ์โลก และยิ่งวิชาประวัติศาสตร์ไทย เราไม่โอเคหลายเรื่องมาก ตำราเรียนของลูกยังบอกว่า ศิลาจารึกอักษรไทยอยู่ในยุคสมัยของพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งเราก็ต้องมาอธิบายให้ลูกฟังว่า นักโบราณคดีเขามีการวิเคราะห์กันใหม่นะลูก ว่าน่าจะอยู่ในยุคสมัย ร.4 เพราะอะไร ก็เล่าให้ลูกฟัง แต่ถ้าลูกจะกากบาทเวลาออกข้อสอบก็กาไปตามแบบเรียนที่เขาสอนมาให้ได้คะแนนก็พอ แล้วก็เล่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้ลูกเข้าใจพอสังเขป ถ้าลูกสนใจก็ไปค้นคว้าต่อ ซึ่งยูทูบ กูเกิลมีหมด แต่ก็สอนเขาอีกว่า เว็บไหนน่าเชื่อถือ สอนให้ดูแหล่งที่มา คือการดูแลลูก มันต้องค่อยบอกค่อยสอนกันไปทีละหน่อยๆ ทุกวันๆ

แต่ประสบการณ์ผ่านการลงมือทำ อันนี้สำคัญมากเพราะมันคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ทำให้เรานำความรู้ในห้องเรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์จริงๆ ได้ลองผิดลองถูกและเราจะจำได้ดีกว่าการเรียนในห้องเรียนเสียอีก 

วัดจากตัวเอง ป.1-ป.6 มีสองอย่างเท่านั้นที่เราจำได้แม่นมากคือ ตอนทำแกงส้มกับทำน้ำปู๋ที่โรงเรียนสอน มันอร่อย แต่ความรู้ทุกวันนี้มันเปลี่ยนรูปแบบไปจากเมื่อก่อนมาก เรามีสื่อใหม่เข้ามา ลูกอยากรู้เรื่องอะไร มันอยู่ในโลกออนไลน์หมดเลย ล่าสุดมีคนเรียน กศน. และสอบติดแพทย์ เราเลยไม่รู้สึกห่วงเรื่องวิชาการ แต่สิ่งที่เราอยากให้ลูกคือสังคม อยากให้มีเพื่อนวัยเดียวกัน สนุกสนานด้วยกัน 

จนถึงวันนี้ ลูกสอนอะไรแม่บ้าง

สอนเยอะมากเลย ทั้งที่เขารู้ตัวและไม่รู้ตัว ตอนเรามีลูก เรามักจะได้ยินคำพูดว่าเหมือนเราได้เกิดใหม่ หรือลูกคือชีวิตของเรา แต่ที่จริง พอเรามีลูก เราคือชีวิตของลูก เด็กคนหนึ่งเกิดมา ถ้าแม่ไม่อยู่ซักคน เขาจะมีชีวิตต่อยากมาก

เวลาที่คุณโมโห เกรี้ยวกราดลูก ยังไงก็จะเจอดวงตาคู่หนึ่งมองมาที่คุณและบอกว่า เราคือชีวิตเขา บางทีเราลืมคิดไปว่า เด็กคนหนึ่งเกิดมา เขารู้แค่ว่าที่ที่ปลอดภัยที่สุดของเขา ก็คือแม่ไง 

บางทีเราพาลูกไปไหนก็ตาม เขาไม่รู้หรอกว่าข้างหน้ามันอันตรายแค่ไหน แต่แม่พาไป เขาไปหมด เขาวางใจเรา รู้ว่าอยู่กับเราแล้วปลอดภัย หมายความว่าเรากำลังกุมชีวิตคนคนหนึ่งไว้กับเรา ซึ่งสิ่งนี้สำคัญมาก ทำให้เราต้องรับผิดชอบเขา มันเป็นหน้าที่เราที่จะทำให้ชีวิตเขาปลอดภัยที่สุด เติบโตให้ดีที่สุด

เขา (ลูก) คือคนที่ใกล้ชิดที่สุดและคอยสะท้อนสิ่งที่เราเป็น ให้เรากลับมาคิดและทบทวน และทำเพื่อตัวเองน้อยลง คิดถึงคนอื่นมากขึ้น 

ตอนนี้ยังคิดถึงงานเขียนอยู่ไหม

คิดถึง แต่มันไม่รองรับเราเรื่องการใช้ชีวิต ความเป็นอยู่ งานเขียนมันใช้เวลาใช้สมาธิสูงมาก แล้วจะมีคนอ่านมากแค่ไหน เราไม่เคยโกรธสำนักพิมพ์ที่ไม่รับพิมพ์นะ เพราะทุกคนต้องอยู่ต้องกิน แต่ว่าเราจะหาทางออกของเรายังไง

พอมาทำสารคดีก็ชอบ จริงๆ มันมีความเหมือนกับงานเขียน มันคือการเล่าเรื่อง 

ถ้าตอนนี้มีโอกาสเขียนนิทานหรือหนังสือสักเล่มหนึ่ง อยากเขียนเกี่ยวกับอะไร

เราอยากเขียนวรรณกรรมเยาวชนที่มันโลดโผน สำหรับเด็กโต นี่สัมผัสจากลูกนะ รู้สึกว่าวรรณกรรมเยาวชนบ้านเราชอบมีบล็อกให้เด็ก ให้เด็กเป็นแบบนั้นแบบนี้ ชอบคิดว่าเด็กยังคิดไม่ได้ เราทำให้เด็กดู เด๊กเด็ก ทั้งๆ ที่เด็กคือผู้ใหญ่ในร่างเด็กนะ

โดยส่วนตัว บางอย่างเราอาจให้ลูกทำเกินวัย แต่บางอย่างเขาก็ทำให้เห็นว่าเขาทำเต็มที่เท่าที่เขาจะทำได้ เราเห็นว่าเขาทำได้จริงๆ เช่น เขาเข้าใจกลไกโดรนดีกว่าเราอีก 

เราจึงอยากเขียนวรรณกรรมเยาวชนที่สนุก ของฝรั่งอย่าง The Hunger Game มันสนุกเพราะเขารู้ว่าหัวใจคืออะไร เด็กต้องการอะไร อยากทำแบบนั้น 

เรื่องความคิดอ่าน ความปรารถนาของเขาพอๆ กับเรา เวลาเสียใจ โกรธ อาย เขามีเหมือนเรา ผู้ใหญ่ชอบพูดว่าเป็นเด็กไม่ต้องอายหรอก ซึ่งเด็กมีสิทธิที่จะอาย แต่สิ่งหนึ่งที่เขามีเราไม่มีคือความเบิกบาน เขาหัวเราะได้ตลอดเวลา 

พล็อตที่สนุกสำหรับเด็กในความคิดเรา ต้องไม่จำกัดด้วยคุณธรรม ศีลธรรม วรรณกรรมบ้านเรามันมักจบอยู่ตรงนี้ ชอบมีโจทย์มาให้ก่อน เช่น ส่งเสริมคุณค่าความเป็นไทย โจทย์มันไม่ได้ตั้งต้นที่เด็ก

เราอยากตั้งโจทย์จากเด็ก ความโลดโผน ความเบิกบาน เพราะเขาคือดอกไม้ที่เพิ่งบาน 

เหตุผลที่เขาจะอ่านหนังสือสักเล่ม แค่ความรื่นรมย์ ความบันเทิง ก็พอแล้วนะ ส่วนใครอยากได้คติก็แล้วแต่หยิบจับไป อย่าสอนมาก เราเสนอแล้วให้เขาไปคิดต่อเอาเอง วรรณกรรมเยาวชนสำหรับเรา แค่สนุกก็พอแล้ว

Tags:

นักเขียนสร้อยแก้ว คำมาลาสื่อมวลชน

Author:

illustrator

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

อดีตนักข่าวที่ผันตัวมาทำงานด้านการเรียนรู้(อย่างรื่นรมย์) ด้วยอินเนอร์คุณแม่ลูกหนึ่ง(ที่เป็นวัยรุ่นและขายาวมาก) รักการทำงานก็จริงแต่ชอบหนีไปออกกำลังกายตามคำบอกของคุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เพื่อให้ชีวิตการงานสมดุลอยู่

Photographer:

illustrator

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

ศิลปศาสตร์บัณฑิต และมนุษย์ฟรีแลนซ์ที่ทำงานเขียน ถ่ายรูป สัมภาษณ์ แปลงาน ล่าม ไปจนถึงครูสอนพิเศษเด็กชั้นประถม ของสะสมที่ชอบมากๆ คือถุงเท้าและผ้าลายดอก เขียนเรื่องเหนือจริงด้วยความรู้สึกจริงๆ ออกเป็นหนังสือ 'Sad at first sight' ซึ่งขายหมดแล้ว ผลงานล่าสุดคือ I Eat You Up Inside My Head รับประทานสารตกค้างในกลีบดอกปอกเปิก

Related Posts

  • Book
    การศึกษาของกระป๋องมีฝัน และที่ทางให้ตัวเองได้เบ่งบาน

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • อ่านความรู้จากบ้านอื่น
    เขียนฝันไปด้วยกัน : บันทึกความในใจของ ‘ในใจ เม็ทซกะ’ นักเขียนรุ่นเยาว์และคุณแม่สิตางศุ์ 

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง ภาพ ปริสุทธิ์

  • ‘เตรียมใจและทุ่มเท’ เคล็ดลับในการทำอาชีพนักเขียนนิยายวาย ฟิล์ม – พิชญา สุขพัฒน์

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • Life classroom
    วาดลายเส้นลากใจเขามาใส่ใจเรา กับการ์ตูนสีเทาๆ ของ ‘มุนินฺ’

    เรื่อง รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนาทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

  • Voice of New GenBook
    SISU เลือกทางยากแทนทางง่าย ฝึกหัวใจและร่างกายไม่ให้ชินกับความสำเร็จรูป

    เรื่อง ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ ภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

7 คาแรคเตอร์ของเด็กเจนฯ อัลฟ่า
Learning Theory
3 January 2020

7 คาแรคเตอร์ของเด็กเจนฯ อัลฟ่า

เรื่อง The Potential

ภาพประกอบ: เสฎฐวุฒิ โกมารกุล ณ นคร

เจนเนอเรชั่นอัลฟ่า (Generation Alpha) คือคำเรียกเด็กที่เกิดตั้งแต่ปี 2010 หรือ พ.ศ.2553 เป็นต้นไป พวกเขาเติบโตมาในยุคเทคโนโลยีก้าวหน้า สังคมขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว แรง และขนาดใหญ่ ซึ่งการเติบโตท่ามกลางโลกที่หมุนเร็วของเด็กเจนฯ นี้ คงไม่อาจสรุปได้ว่าพวกเขาล้วนเป็นเลิศเพียงด้านเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว เพราะเด็กเจนฯ นี้ต่างมีลักษณะเฉพาะตัวทั้งที่ควรสนับสนุนและควรเป็นห่วง 

โดยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนี้ ไม่เพียงเฉพาะพ่อแม่ที่ปวดหัว ปวดใจ ไม่เข้าใจ แต่ในสนามทำงาน คนในเจนเนอเรชั่นเบเบี้บูมเมอร์ หรือ เจน Y ก็ส่งเสียงกังวลถึงความแตกต่างในธรรมชาติ และต้องหาคู่มือเพื่อทำความเข้าใจความต่างระหว่างวัยนี้เช่นกัน

ฉะนั้นในโลกเหวี่ยงเร็ว แรง และไวเช่นนี้ การให้เด็กหรือลูกเรียนวิชาผิดหวัง เปิดโอกาสให้เขาร่วมทุกข์ร่วมสุข จะกลายเกราะอย่างดีที่จะติดตัวเขาไปจนโต ทั้งหมดนี้จะไม่สามารถเกิดได้ด้วยพลังงานลบ สิ่งที่พ่อแม่ทำได้คือการรับมือและไปต่อด้วยพลังงานบวก การให้โอกาส ให้อภัย และพลังใจ ภารกิจถึงจะลุล่วง

อ่านบทความในประเด็นเด็กเจนฯ อัลฟ่า เพิ่มเติมได้: ที่นี่ 

Tags:

ปฐมวัยนพ.สุริยเดว ทรีปาตีgeneration gapGeneration Alpha

Author:

illustrator

The Potential

กองบรรณาธิการ The Potential

Related Posts

  • Social Issues
    This is my Generation. This is our Generation เข้าใจวัยที่แตกต่างเพราะเราเติบโตจากโลกที่ต่างกัน

    เรื่อง กรกมล ศรีวัฒน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Early childhoodSocial Issues
    นพ.สุริยเดว ทรีปาตี: ให้ลูกร่วมทุกข์สุข เรียนวิชาผิดหวัง รับมือเด็กเจนอัลฟ่าด้วยพลังบวก

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา ภาพ ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Creative learning
    เจ้าหญิงคาราเต้: ศิลปะเป็นเรื่องของทุกคน และต้องมีไว้เพื่อหล่อเลี้ยงหัวใจ

    เรื่อง ขวัญชนก พีระปกรณ์

  • Early childhoodCharacter building
    อนุบาลบ้านรัก : ตื่นเช้าไป ‘บ้าน’ ไม่ใช่โรงเรียน

    เรื่อง กนกอร แซ่เบ๊

  • Social Issues
    ยกเลิกสอบเข้า ป.1 จริงหรือไม่ สถานะทางกฎหมายตอนนี้เป็นอย่างไร?

    เรื่อง The Potential

ปีนี้ปีชวด แต่เราจะไม่ชวด สวัสดีปีใหม่ 2020
Social Issues
1 January 2020

ปีนี้ปีชวด แต่เราจะไม่ชวด สวัสดีปีใหม่ 2020

เรื่อง The Potential ภาพ KHAE

ปีที่ผ่านมาใครนก พัง พลั้งพลาด บาดเจ็บ หรือจำต้องออกจากฐานที่มั่นแห่งความปลอดภัย(มาแล้วตั้งเท่าไร) ไม่เป็นไรเลยนะคะ ช่างมัน! 

แต่ในเมื่อมันนกไปแล้ว(อะ) อย่าให้ความนกที่เกิดเป็นสิ่งไร้ค่าและปฏิเสธความนกทั้งหลายเลยนะ เพราะอีกด้านนึง ก็เป็นเจ้าความนก ความพัง แผลเป็นทั้งหลายนี่แหละ ที่เป็นของขวัญ ให้เราเรียนรู้ ทำความเข้าใจและเติบโตไปกันมัน พาบทเรียนเหล่านั้นไปกับเราต่อในปีหน้ากันนะคะ 🙂 

เพราะไม่สำคัญว่าสถานการณ์ที่เจอนั้นคืออะไร ไม่สำคัญว่ามันทำร้ายเราจนพังทลายไปแล้วแค่ไหน สำคัญว่าเราเข้าใจมันอย่างไร และได้เรียนรู้จากความพังนั้นอย่างไรมากกว่า

เพราะใครๆ ก็รู้เนอะ… เราต่างเติบโตจากความเจ็บปวด ^^ 

เป็นกำลังใจให้ทุกคนเลยนะคะ ปีหน้าปีชวดแต่เราไม่ชวด และถึงจะชวดจริงๆ ก็มาดูกันสักตั้งว่าเราจะเรียนรู้อะไรจากความชวดนี้! 

แฮปปี้นิวเยียร์ค่ะ ขอให้เป็นปีที่น่ารักและเติบโตสำหรับทุกคน ฝากรักและเอ็นดู ‘โพฯ’ The Potential กัน(ต่อ)อีกปีนะคะ 

ภาพ: ดื่มด่ำและเพ่งพินิจกับความพังอย่างหรูหรา โดย KHAE ทีมงาน

The Potential เองค่ะ 🙂

Tags:

ปีใหม่

Author:

illustrator

The Potential

กองบรรณาธิการ The Potential

Illustrator:

illustrator

KHAE

นักวาดลายเส้นนิสัยดี(ย้ำว่าลายเส้น)ผู้ชอบปลูกต้นไม้และหลงไหลไก่ทอดเกาหลี

Related Posts

  • Adolescent BrainSocial Issues
    The Anxious Generation EP 1: เลี้ยงลูกด้วย ‘หน้าจอ’ สัญญาณร้ายสู่คนรุ่นใหม่วัยวิตก

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ พิมพ์พาพ์

  • Transformative learningSocial Issues
    ขับเคลื่อนการศึกษาคุณภาพ ปั้นสมรรถนะ ‘เด็กตงห่อ’ สานต่ออนาคตของภูเก็ต

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง

  • Dek-Hoo-Jak-Kuam_nologo
    Social IssuesTransformative learning
    ‘เด็กฮู้จักควม’ คิดเป็น ทำเป็น เห็นคุณค่าในตัวเอง เป้าหมายการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเชิงพื้นที่ จังหวัดศรีสะเกษ    

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • Social Issues
    ไม่ควรมีเด็กคนไหนไร้การศึกษา เชื่อมโอกาสค้นพบศักยภาพด้วยการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นตอบโจทย์ชีวิต  

    เรื่อง The Potential

  • Book
    อ่านอะไรดีช่วงสิ้นปี ปีที่สุดปังและเปลี่ยนผ่าน ของขวัญจากคอลัมนิสต์ The Potential2020

    เรื่อง The Potential

Posts navigation

Newer posts

Recent Posts

  • ‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล
  • ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 
  • เปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนเป็นสนามพลังบวก ยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่เด็กได้โอกาส: ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง
  • F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง
  • Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Uncategorized
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel