- คุยกับ ชูใจ กะ กัลยาณมิตร ครีเอทีฟเอเจนซี กับผลงานล่าสุด www.facetook.org ‘เฟซ-ทุกข์’ แพลตฟอร์มที่เปิดให้ทุกคนเข้าไปโพสต์ความทุกข์เศร้าเพื่อตบหลังตบไหล่บอกกับใครหลายคนว่า ที่เศร้าอาจเพราะเปรียบเทียบตัวเองกับคนในโซเชียลมีเดีย แม้เห็นว่าเขาสุข แต่ทุกคนก็มีทุกข์เป็นของตัวเองนะ
- “สิ่งที่คนโพสต์ในโซเชียลมีเดียไม่ได้มีด้านที่เขามีความสุขอย่างเดียว ยังมีอีกด้านที่เป็นความทุกข์เพียงแต่เขาไม่ได้บอกให้คนอื่นรู้และคนไม่พูดกัน แต่บางทีคนไม่ได้นึกถึงสิ่งเหล่านี้ แต่ facetook.org อยากทำให้เห็นว่าทุกอย่างมีสองด้าน คนที่มีความสุขก็ทุกข์เหมือนกัน ถ้าเราเห็นความจริงก็น่าจะทำให้เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นน้อยลง นี่เป็นสมมุติฐานที่ทำให้เกิดโปรเจ็คท์นี้ขึ้นมา”
เคยไหม… จากที่รู้สึกแฮปปี้ อากาศรอบตัวดูแจ่มใส สมองปลอดโปร่ง คุณรู้สึกได้ถึงพลังชีวิตเต็มเปี่ยม แต่พอเปิดแอพพลิเคชั่นเฟซบุ๊ค อยู่ดีๆ หัวใจที่เคยพองโตกลับแฟบลงคล้ายมีคนเอาเข็มมาจิ้มเจาะ โลกใบเดิมหม่นลงเพียงพริบตา เหตุที่ทำให้รู้สึกแย่ ไม่ใช่เพราะเฟซบุ๊คฟีดข่าวร้าย แต่เศร้าเพราะเพื่อนมากมายในโซเชียลมีเดียกำลังมีความสุข หลักฐานคือรูปภาพและเรื่องเล่าหลากกิจกรรมที่คุณไม่อาจมีประสบการณ์
คุณเศร้า… ไม่สิ ต้องบอกว่าเราเศร้าลง เพราะถูกรายล้อมไปด้วยผู้คนที่กำลังมีความสุข และให้ตายเถอะ หลังจากนั้นคุณอาจเริ่มโกรธและผิดหวังกับตัวเองที่เผลอมีความคิดลบๆ เช่นนั้น
“ยัยนี่ไปเที่ยวอีกแล้ว… วันๆ ทำงานบ้างปะเนี่ย?”
“ตานี่คบกับแฟนมา 4 ปีแล้ว ให้ตาย ไม่เจอปัญหาคู่รักบ้างเหรอฮะ?!”
“คนนี้มีเวลาไปออกกำลังกาย ใช่ซี้… เพราะมีเงินและเวลา ถ้าฉันรวยบ้างคงไม่นั่งอ้วนแบบนี้หรอก”
ทั้งหมดนี้ไม่ได้บอกว่าคุณผิด แปลกประหลาด ใจร้าย ขี้อิจฉา และเอาเข้าจริง เราต่างมีบางขณะที่รู้สึกเช่นนี้กันทั้งนั้น และเพราะไม่ได้รู้สึกอยู่คนเดียว มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งรู้สึกและอยากทำงานกับมัน
www.facetook.org ที่อ่านว่า ‘เฟซ-ทุกข์’ เว็บไซต์น้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวราวสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตั้งใจเปิดพื้นที่ สร้างแพลตฟอร์มให้คนเข้ามาระบายความทุกข์เศร้าที่บางครั้งโซเชียลมีเดียอื่นๆ ไม่เปิดโอกาสให้ทำได้ และต้องการชี้ว่า ที่เห็นคนอื่นมี ‘ชีวิตดีๆ’ ในอีกด้านของเหรียญเดียวกัน ก็คือความทุกข์ไม่ต่างกัน
ตัวเว็บไซต์ออกแบบให้ล้อกับหน้าตาเฟซบุ๊คจริง สิ่งที่มากกว่าคือปุ่มคลิกตอบรับทั้ง ไลค์, ชูสองนิ้ว (ให้กำลังใจ), หน้ายิ้มกว้างจริงใจ, รูปมือสัญลักษณ์เลิฟ, กอด (ความเห็นอกเห็นใจ) และ หน้าร้องไห้ เพราะบางเรื่องเล่า ไม่ต้องการคำปลอบใจอะไร แค่นั่งร้องไห้ด้วยกันก็เพียงพอ
The Potential ชวนทีมทำงาน เม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ และ บอมบ์-ปัณณวิชณ์ แซ่โง้ว ผู้ร่วมก่อตั้ง และ ก๊อปปี้ไรเตอร์แห่ง ‘ชูใจ กะ กัลยาณมิตร’ ครีเอทีฟเอเจนซีกลุ่มนักคิดเพื่อสังคม พูดคุยถึงวิธีคิด ความตั้งใจ และเนื้อหาที่อยากสื่อสาร และจริงหรือไม่ที่คนหนุ่มสาวทุกข์เศร้ากันง่ายขึ้นทั้งที่เทคโนโลยีเปิดโอกาสให้เราใกล้ชิดกันเพียงสไลด์หน้าจอสมาร์ทโฟน ถ้าใช่ ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ เราจะตั้งหลัก รับมือกันอย่างไรดี?
ที่มา www.facetook.org
บอมบ์: facetook.org เป็นโปรเจ็คท์ภายใต้ โครงการความสุขประเทศไทย โดยชูใจฯ ร่วมกับธนาคารจิตอาสา และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยโปรเจ็คท์ความสุขประเทศไทยทำจะเป็นเรื่อง ‘มิติสุขภาวะทางปัญญา’ ศัพท์มันจะดูแอดวานซ์นิดนึงนะ แต่มันคือการทำให้คนค้นพบความสุขจากการเข้าถึงความจริงโดยไม่ต้องพึ่งพาวัตถุหรือบริโภคนิยม หมายถึงว่า เราอยู่ในยุคที่ทุกคนดิ้นรนปีนป่าย แสวงหาตัวตน อยากมีอยากได้ เราเลยหาที่พึ่งเพื่อทำให้เรามีความสุข แต่จริงๆ แล้วมันมีอีกทางหนึ่งที่ทำให้เรามีความสุขได้ นั่นคือการเริ่มต้นจากตัวเอง โครงการความสุขประเทศไทยนำเสนอวิธีเข้าถึงความจริงและความสุขผ่าน 8 เส้นทาง ตั้งแต่ การออกไปทำงานจิตอาสา การเข้าหาธรรมชาติ การทำงานศิลปะ การภาวนา และอื่นๆ
จริงๆ แล้วก่อนจะเกิดเป็น facetook.org เราทำอยู่หลายโครงการที่ต้องการสื่อสารในประเด็นเหล่านี้ (มิติสุขภาวะทางปัญญา) และมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนรุ่นใหม่ ทีนี้เราเลยคิดกันต่อว่า แล้วคนรุ่นใหม่ที่เราอยากสื่อสารด้วย เขามีปัญหาอะไร เขาใช้ชีวิตกันยังไง? สุดท้ายค้นพบว่า เดี๋ยวนี้คนเราอยู่บนหน้าจอกันหมด อยู่ในโลกออนไลน์ อยู่ในเฟซบุ๊ค และอยู่กันตั้งแต่ตื่นถึงหลับ เวลาที่อยู่กับมันมากๆ เราก็จมกับมัน เกิดการเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ ที่ใช้ชีวิตในนั้น สุดท้ายมันกระทบกับตัวเขาเอง จนทำให้หลายคนต้องเป็นทุกข์เพราะไปนั่งดูชีวิตคนอื่น
เราเลยมีไอเดียขึ้นมาว่า สิ่งที่คนเราโพสต์ในโซเชียลมีเดียหรือเฟซบุ๊ค มันไม่ได้มีด้านที่เขามีความสุขอย่างเดียว ยังมีอีกด้านที่เป็นความทุกข์เพียงแต่เขาไม่ได้บอกให้คนอื่นรับรู้และคนไม่พูดกัน แต่บางทีคนไม่ได้นึกถึงสิ่งเหล่านี้ เห็นแค่ภาพความสุขก็คิดขึ้นมาเลยว่า เขามีความสุขมากแน่ๆ แล้วพอมองกลับมาที่ตัวเอง เปรียบเทียบกับตัวเองเลยทำให้ทุกข์
แต่ facetook.org อยากทำให้เห็นว่า ทุกอย่างมีสองด้าน คนที่มีความสุขก็ทุกข์เหมือนกัน แล้วพอเขาเห็นความจริง ก็น่าจะทำให้เขาเริ่มเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นน้อยลง ทั้งหมดนี้เป็นสมมุติฐานนะครับ แต่ก็เป็นสมมุติฐานที่ทำให้เกิดโปรเจ็คท์นี้ขึ้นมา
เม้ง: และมันก็มาจาก insight ของผมและบอมบ์ด้วยนะ เพราะเราต่างก็เป็นทุกข์กับเฟซบุ๊ค เคยไหมที่ไปกินข้าวกับเพื่อน 3 ชั่วโมง เราถ่ายรูปกอดคอกับบอมบ์แค่ช็อตเดียว โพสต์ลงไป คนอาจคิดว่า ‘มันต้องสนุกโคตรๆ’ แต่จริงๆ ไม่ว่ามันจะสนุกหรือไม่สนุก คนที่ดูก็ไม่จำเป็นต้องสนใจขนาดนั้น หรือบางครั้งเราไปเที่ยว ก็พยายามจะถ่ายรูปให้ครบทุกโปรแกรมที่ไป เราได้เสพบรรยากาศจริงหรือไม่จริงไม่รู้ แต่โพสต์ไปก่อนหนึ่งที เพื่อโยนลงไปในสังคมไม่ให้เรารู้สึกแย่ว่ามาแล้วไม่ได้โพสต์ แล้วเวลาที่คนกดไลค์เรา มันรักษาจิตใจเรานะ แต่มันรักษาแบบไม่ยั่งยืน รักษาแบบเป็นแผล ไม่หายขาด
ตัวโลโก้ facetook ตัว t คือตัว f กลับด้าน และหน้าต่างในเว็บไซต์ออกแบบคล้ายเฟซบุ๊คจริงเกือบทุกประการ ทีมทำงานตั้งใจทำ facetook.org ให้เป็นโลกคู่ขนานใช้คู่กับเฟซบุ๊คเลยไหม หรือคนทำอยากเห็น facetook.org เป็นไปในลักษณะไหน
เม้ง: ตัวผมไม่ได้มองมันเป็นแอพพลิเคชั่นแบบระยะยาว และไม่ได้คิดขนาดอยากให้มันเป็นโลกคู่ขนานตีคู่ไปกับเฟซบุ๊ค แต่มองเป็น art piece หรืองานศิลปะมากกว่า ไม่รู้พูดอย่างนี้แล้วจะสูงส่งไปไหมนะ แต่มันเป็นโปรเจ็คท์ เป็นก้อนไอเดียก้อนหนึ่งที่อยากสร้าง awareness กระตุกเตือนสังคมให้เห็นโลกอีกด้าน ในแง่ที่ให้ทุกคนเข้าไปดูเรื่องราวความทุกข์คนอื่น แค่สองสามโพสต์หรือจะไล่ดูทั้งหมดก็ได้ ถ้าเฟซบุ๊คเป็นด้านความสุข facetook.org ก็เป็นการมาเตือนแหละ เพราะไม่เคยมีใครมาเตือนมันเลย โลโก้ก็เห็นชัดว่าทำกลับด้านเพื่อล้อเลียนโลกอีกด้านของมัน
โซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊คเป็นตัวร้ายหรือเปล่า?
เม้ง: จริงๆ ในวิดีโอมันบอกเกือบครบแล้วว่า เราไม่ได้บอกว่าเฟซบุ๊กผิด ไม่ได้บอกว่าคนโพสต์ผิด ไม่ได้ไปแก้ที่การโพสต์ แต่อยากจะบอกว่า บางทีภาวะแบบนี้มันลำบากนะ เราใช้มันเยอะเข้าเราก็เผลอ เราแค่ทำเครื่องมือมาเตือน เพราะทุกวันนี้พอใช้โซเชียลมีเดีย ชีวิตถูกสแน็ปเป็นช็อตๆ เป็นโมเมนต์ เป็นวิดีโอช่วงสั้นๆ ทำให้เราไม่เห็นทั้งหมด และเราก็คิดว่าอันนั้นมันคือทั้งหมดของเขา และเราก็ไปปฏิสัมพันธ์ในเชิงความรู้สึก ไปรู้สึกกับมันเยอะ อิจฉามาก โกรธมาก หงุดหงิดมาก ไปปรุงแต่งกับมันเยอะ ด้านมืดแค่ทำมาเตือน
บอมบ์: ผมมองว่าตัวเว็บไซต์ facetook.org มันเป็นผลพลอยได้มากกว่า แต่ข้อความที่อยากเล่าจริงๆ อยู่ในคลิปวิดีโอว่า เวลาคุณไปเจอโพสต์แบบนี้ คุณเปรียบเทียบกับคนอื่นใช่ไหม แต่จริงๆ แล้วเขาก็มีความทุกข์ไม่ต่างจากคุณ ทั้งหมดแค่อยากจะบอกว่า “ถ้าคุณรู้เท่าทันมัน มันก็จะไม่ดิ่ง ไม่จม ไม่ทุกข์ไปกับมัน”
เขาจะเข้ามาเล่น facetook.org ไม่กี่ครั้งหรอก แค่ครั้งสองครั้งเขาก็ไป แต่ชีวิตจริงของเขา เขาจะกลับไปนั่งและเล่นเฟซบุ๊คอยู่ทุกวันๆ ทันทีที่เขาไปส่องชีวิตคนอื่นจนทำให้เขาทุกข์ และถ้าเขารู้ตัวทัน มีสติ ฉุกคิดว่า “เอ้ย กูกำลังเปรียบเทียบกับเขาอยู่นี่หว่า” แค่นี้ ผมก็เชื่อว่าคลิปนี้ได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว
ในวัฒนธรรมการโพสต์บนโซเชียลมีเดียไม่ได้มีฟังก์ชั่นแค่การส่งออกความสุขเสมอไป แต่เป็นได้ตั้งแต่แสดงความ สุข เศร้า เหงา อวด บางคนเป็น drama queen เลยก็มี อาจไม่ได้เป็นพื้นที่เฉพาะความสุขเสมอไป
บอมบ์: เฟซบุ๊คมันคือพื้นที่ของการสร้างตัวตน ทุกคนทำยังไงก็ได้ให้รู้สึกว่า ฉันจะได้รับการยอมรับ ฉันมีตัวตน เป็นคนหนึ่งที่อยู่ในสังคมเหมือนๆ กันกับคนอื่น ซึ่งตรงนี้ผมมองข้ามเรื่องของคนอื่นไปเลยนะ เขาจะทำอะไรมันเป็นสิทธิของเขา เขาโพสต์รูป มีความสุขหรือทุกข์อะไร เป็นเรื่องของเขาเลย สิ่งที่ต้องการจะสื่อคือ ให้คนย้อนกลับมาดูตัวเอง ว่าเรารู้เท่าทันมันมากแค่ไหน อันนี้สำคัญมาก มันเหมือนเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเตือนเขาว่า มีสติก่อนนะ ก่อนที่คุณจะถลำลึก
หรือ “ทำไมคนนี้ชอบดราม่าจังวะ โพสต์แต่เรื่องแบบ โหว… ซัฟเฟอร์อย่างนู้นอย่างนี้ เห็นแล้วน่ารำคาญอะ” แต่ถ้าให้มองจริงๆ เราก็ไม่รู้ว่าเบื้องหลังชีวิตเขาเป็นอย่างไรบ้าง เขาเคยเจอ เคยผ่านอะไรมาบ้าง สิ่งที่เขา project ออกมา ระบายความทุกข์ที่เราคิดว่ามันเรี่ยราด มันอาจเป็นหนทางเดียวที่เขาพอจะนึกออก เพื่อใช้ระบายความทุกข์ของเขาก็ได้เช่นกัน
ไม่ต่างกับเรา เวลาเราเครียด เราก็ไปกินข้าวกับเพื่อน นั่งดูเน็ตฟลิกซ์ บลาๆๆ มันก็เป็นวิธีแก้ปัญหาของแต่ละคน ซึ่งการระบายความทุกข์อันนั้นก็อาจเป็น solution ในการหาทางออกสำหรับความทุกข์ของคนนั้น คำถามคือ แล้วคนที่มี solution ไม่เหมือนกับเรา เรามีท่าทีอย่างไรกับเขา? เราควรเห็นใจเขาหรือเปล่า ถ้าเรารู้ว่าเขาก็มีความทุกข์ไม่ต่างจากเรา
เม้ง: ตอนที่ทำงานนี้ก็คิดกันนะ จริงๆ เฟซบุ๊คมันก็เป็นการโพสต์เรื่องราวทั้งทุกข์และสุข แต่ที่มันทำงานแยบยลกับเรามากๆ คือ ภาพความสุข หมายความว่า เวลาเราเห็นคนโพสต์ความทุกข์ เห็นว่าเขาทุกข์ เราปลอบเขาได้เลย ส่งความข้อความหลังไมค์ไปทัก โทรไปหา “เฮ้ย เป็นไรวะ” รู้วิธีจัดการกับมันง่ายกว่า แต่กับภาพความสุข ที่บอกว่าแยบยลเพราะบางทีเราก็ไม่รู้ว่าเขาสุขจริงหรือเปล่า แต่อิจฉาเขาไปก่อนแล้ว ความสุขซับซ้อนนะ facetook.org เลยทำหน้าที่นี้ คือเตือนให้เห็นโลกอีกด้าน
คนทำตั้งให้ facetook.org เป็นเครื่องบำบัดความทุกข์ของผู้คนด้วยหรือเปล่า
บอมบ์: มันมีงานวิจัยนะว่า การที่ได้เผยด้านที่ตัวเองอ่อนแอจะช่วยเยียวยาเขาได้ประมาณหนึ่ง เหมือนการ retreat ได้เอาของเสียออกจากตัว และยิ่งถ้ามีคนได้รับฟังรับรู้ ก็จะยิ่งช่วยให้เขาได้ปลดปล่อยมากขึ้น แต่ถ้าถามว่า facetook.org คือ solution ในการแก้ปัญหาความทุกข์ทั้งหมดไหม? ไม่ใช่ ผมเชื่อว่าไม่ใช่ เพราะความทุกข์มันมีความซับซ้อนในตัวเอง การที่คนจะแก้ปัญหาความทุกข์ของตัวเองได้ ต้องอาศัยการเรียนรู้ ฝึกฝน ปฏิบัติ ต้องการความเข้าใจอีกหลายเลเยอร์ ซึ่ง facetook มันก็เป็นเหมือนเครื่องมือเบื้องต้นที่มาช่วยสะกิดปมในชีวิตเขา
หรือกระทั่งการเห็นคนที่ทุกข์กว่าเรา มันก็บรรเทาเราได้ในเบื้องต้นนะ เช่น เวลาที่เราเลื่อนฟีดแล้วเจอโพสต์แบบ… แม่คนหนึ่งอยู่ต่างจังหวัด มีลูก 7 คน ลูกทิ้งไปหมด ป่วยด้วย ต้องการคนดูแล มันแบบ โห… อะไรขนาดนี้ การเห็นความทุกข์คนอื่น ก็ทำให้ความทุกข์ของเราขนาดเล็กลงได้นะ แต่มันจะไม่ตลอดไปไง หมายถึงว่า เราก็กลับมาทุกข์ในรูปแบบของเราเหมือนเดิม ทันทีที่เราลืมเรื่องของเขาไปแล้ว เรากลับมาใช้ชีวิตของเรา อยู่ในชุดความคิดของเราเอง ชุดความคิดที่ว่า ถ้าเราไม่ได้มี ไม่ได้เป็นแบบนี้ เราจะทุกข์นะ
เม้ง: แต่ผมกำลังจะบอกว่านั่นเป็นของแถมที่ได้นะ เพราะหน้าที่ของ facetook.org หมดไปตั้งแต่การสะกิดเตือนเขาแล้วว่ามันมีโลกอีกด้านหนึ่ง อย่างที่บอกผมมองมันเป็นงานศิลปะที่รวม case study ไว้แล้วให้เราได้เข้าไปปฏิสัมพันธ์ได้เท่านั้นเอง อยากบอกแค่นี้ว่า อย่าพลาดพลั้งกับมัน ไม่ได้บอกว่าใครดีใครไม่ดี แต่บอกว่าเราเล่นเฟซบุ๊คด้วยทัศนคติแบบไหน และอาจทำให้เล่นเฟซบุ๊คครั้งต่อไปแบบไม่ปักใจเชื่อ กำลังจะเซ็งแล้วอะ รู้สึกแล้ว เฮ้ย… เราอิจฉาเขาว่ะ ให้รู้ว่ามันไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตเขานะ
การที่เราเข้ามาโพสต์ความทุกข์กัน นอกจากช่วยให้ตัวเองได้ระบายออกแล้ว พื้นที่ตรงนี้มันก็ช่วยเตือนว่า ไม่ต้องพยายามมีชีวิตดีๆ หรือปีนไปใช้ชีวิตดีๆ เพื่ออวดคนอื่น ไม่ต้องอยากจะมีเพื่อจะได้ไม่อายคนอื่น ความจริงก็คือ ย้ำว่าเราต่างเป็นเพื่อนทุกข์กัน มีความทุกข์ที่ต้องเผชิญ ไม่ต้องเศร้าใจไป เราเป็นเพื่อนกันในการต้องผ่านชีวิตแบบนี้กันไป
ปล่อย facetook.org ไปแล้ว ได้รับฟีดแบ็คอย่างไร หรือมีข้อสังเกตอะไรบ้าง เช่น คนเรามักจะทุกข์กับเรื่องแบบไหน
บอมบ์: ส่วนหนึ่งนะ พบว่าคนรุ่นนี้มีปัญหาเรื่องความโดดเดี่ยว รู้สึกเหงา ตั้งคำถามกับตัวเองว่า “กูเป็นใครวะ” “กูต้องเดินไปทางไหนวะ” บนเส้นทางที่ตอนนี้มีให้เลือกเดินมากมาย มันท่วมท้นไปหมดสำหรับคนยุคนี้ คือแม้ว่าเขาจะเชื่อมต่อกับคนในโลกโซเชียลมากมาย แต่สิ่งที่ขาดไปคือการที่เขากลับมา connect หรือกลับมารู้จักกับตัวเอง ซึ่งตรงนี้อาจเป็นปัญหาที่คนยุคนี้ส่วนใหญ่เจอกัน
ไม่รู้ว่าคิดไปเองหรือเปล่าว่า เราอยู่ในยุคที่ใครๆ ก็เศร้า พบความทุกข์ สุข เศร้า เหงา อวด ได้ง่ายๆ บนโลกโซเชียลมีเดีย ตอนนี้แยกไม่ออกแล้วว่า เราเศร้ากันง่ายขึ้น หรือ เพราะเห็นความสุขและเศร้าของคนอื่นได้เร็วขึ้น หรือ เพราะพบเห็นความสุขของคนอื่น จึงยิ่งสะกิดให้เราเศร้าและเหงาขึ้น
เม้ง: ผมไม่แน่ใจว่าคนทุกข์กันเยอะขึ้นรึเปล่า ผมไม่กล้าฟันธง แต่เห็นเยอะและง่ายขึ้นแน่ๆ แต่เอาจริงๆ ผมคิดว่าความทุกข์อาจเท่าเดิมนะ แต่พอมีที่ระบาย เราก็เห็นง่ายขึ้นและแนบเนียนแยบยลขึ้น หมายถึงการมีโซเชียลมีเดียทำให้มันแนบเนียนน่ะ ทำให้ทุกข์แฝงเยอะ
คิดไปคิดมาก็อาจมีสิทธินะ เพราะการเห็น visual บ่อยๆ มันทำให้ได้ข้อมูลมหาศาล เห็นการโพสต์ เห็นการพูดถึงตัวเองในแง่มุมต่างๆ มันทำให้เราอยากมีอยากเป็น เทียบกับความรู้สึกผมเอง มันจะรู้สึกแบบ… คนนั้นทำอย่างนั้นได้อีกแล้ว คนนี้ทำอย่างนั้นได้อีกแล้ว และแบบนี้มันกระทำกับเราถี่ขึ้น
หมายถึงว่า ผมคิดว่าต้นทุนของความทุกข์เท่าเดิมแหละ แต่มันกระทำด้วยวงจรที่ซับซ้อนขึ้น เพราะทุกคนก็แสดงอัตตาตัวตน ทุกคนอยากไปเที่ยว ทุกคนอยากมีชีวิตแบบคนอื่น มันแนบเนียนอะ มันแอบๆ
บอมบ์: ถ้าเป็นอดีต ความทุกข์ของคนสมัยนั้นไม่เหมือนกับสมัยนี้ แต่ก่อนมันเป็นเรื่องของความอดอยากปากแห้ง ขอแค่วันนี้มีกินก็พอ ยังไม่ต้องคิดถึงเรื่องการมีตัวตน เหมือนสามเหลี่ยมมาสโลว์ (Abraham Maslow – ลำดับชั้นความต้องการ เมื่อได้รับการตอบสนองความต้องการในชั้นที่ยืนอยู่แล้ว ความปรารถนายิ่งกระเถิบสูงขึ้นในชั้นถัดไป) มันจะยิ่งกระเถิบขึ้นไปสู่เลเวลอื่น เราอยากมีอยากเป็นเพื่อให้ได้รับการยอมรับ ซึ่งเทคโนโลยีหรือบริบทต่างๆ มันก็เอื้อ อย่างที่พี่เม้งบอกว่า รู้สึกว่าตัวตนสำคัญ ถ้าเผื่อว่าใครที่มาทำลายตัวตนเรา หรือมาบอกว่า “คุณผิดนะ คุณไม่ถูก” มันก็เหมือนกับการลดทอนตัวตน ทำให้เรารู้สึกว่า ความทุกข์เกิดขึ้นง่าย แค่เราโพสต์รูปไป 5 นาทีแล้วคนไม่กดไลค์ นี่ก็ทุกข์แล้วนะ
จะเลิกทุกข์ เลิกจม เลิกเสียสูญจากโลกโซเชียล ทำอย่างไรดี? และเอาเข้าจริง ทักษะการเอาตัวเองออกจากเรื่องดราม่า ควรเป็นทักษะของคนในศตวรรษที่ 21 ด้วยไหมคะ
บอมบ์: จริงๆ ใน facetook.org ถ้าสังเกตดีๆ จะมี solution หรือทางไปต่อนะ ก็คือกลับไปที่โปรเจ็คท์ความสุขประเทศไทย มันมีเส้นทางให้คุณเข้าถึงความสุขในหลายๆ เส้นทาง ในทางเหล่านั้นมันก็กลับมาแก้ปัญหาความทุกข์ที่คนยุคนี้เป็น เช่น ไปลองทำงานจิตอาสา ได้ช่วยคนอื่น ได้เอาตัวเองไปแบ่งปัน ทำให้เห็นว่าเราเองก็มีคุณค่าต่อคนอื่น ขณะเดียวกัน การทำงานก็ค่อยๆ ลดความเป็น ‘ตัวฉัน’ ลง อัตตาน้อยลง มีทางไปต่อผ่านช่องทางเหล่านี้
เม้ง: ในระหว่างโพสต์ ก็จะมีโพสต์เกี่ยวกับบทวิจัยในเรื่อง solution ขั้นอยู่ด้วยนะ มีตั้งแต่ไปปฏิบัติธรรมเลย เข้าหาธรรมชาติ ภาวนา เคลื่อนไหวร่างกาย มันมีหลายเส้นทางทำให้เรารู้จักกับตัวเอง เราอยากใช้คำว่า self-awareness กลับไปใคร่ครวญกับตัวเองมากขึ้น บางทีเราส่งออกตลอด กลายเป็นว่ามันไปไหนไม่รู้ นี่ก็คือการทำให้รู้จักกับตัวเองมากขึ้น แต่ผมไม่รู้ว่าเข้าไปจะรู้สึกแบบนั้นเลยรึเปล่านะ เพราะมันแล้วแต่จริต บางคนชอบทำงานจิตอาสา บางคนชอบการปฏิบัติธรรม แต่มันมีช่องทางให้เลือกที่จะไปค้นพบความสุขของตัวเอง
บอมบ์: จริงๆ มันมีหลายทางนะ วิ่ง เดินป่า โยคะ ได้หมดทุกอย่าง ถ้าได้ไปศึกษา ลองปฏิบัติ อยู่กับมัน สุดท้ายมันจะพาเรากลับไปที่ตัวเอง ได้ใคร่ครวญกับตัวเอง
แก่นของมันก็คือธรรมะใช่ไหมคะ
เม้ง: จริงๆ facetook ก็คือเครื่องมือธรรมะเลยนะ ใช้วิธีคิดแบบธรรมะเลย อย่างที่เราโควทคำของพระไพศาล วิศาโล ในคลิป (เหตุที่ทำให้ทุกข์ เพราะการเปรียบเทียบต่างหาก) ฟังก์ชั่น facetook.org ก็คือ ‘สติ’ นั่นแหละ เขาไม่ต้องรู้เบื้องหลังก็ได้นะ แต่ทันทีที่เขาสไลด์นิ้วผ่านแล้วรู้ตัวว่า “เฮ้ย นี่กำลังอิจฉานะ” และเกิดความระวังที่จะไม่ปรุงแต่งความคิดจากโมเมนต์ๆ เดียว แค่นี้ก็ ‘สติ’ แล้ว ซึ่งเอาเข้าจริง ธรรมะไม่ใช่เรื่องพิธีกรรมเชยๆ นะ ถ้าเข้าใจแล้วมันก็เวิร์คสำหรับทุกเรื่อง แต่พอดีมันถูกสื่อสารออกมากับคนรุ่นใหม่ด้วยวิธีแบบหนึ่ง พอถูกทำให้เข้าใจแบบนั้นเลยทำให้มีกำแพง
พอรู้มาบ้างว่าชูใจฯ เป็นครีเอทีฟเอเจนซีทำงานเพื่อสังคม แต่พอจะเล่าเพิ่มได้ไหมว่า ทำไมจึงสนใจการทำงานภายในและมักหยิบวิธีคิดแบบนี้ใส่ไปในงานหลายๆ ชิ้น
บอมบ์: สำหรับเรา ตรงไปตรงมามากเลยคือ เราศึกษาธรรมะ แล้วก็เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง จากที่ทุกข์มาก เราทุกข์น้อยลงและสั้นลง เลยรู้สึกว่านี่เป็นทางที่เรายึดเหนี่ยวกับมันได้ การทำงานโฆษณา มันก็คืองานแก้ปัญหา ในขณะที่ปัจจุบันนี้ วันหนึ่งเรารับข้อมูลเยอะมาก เพราะอย่างนั้นการสื่อสารอะไรสักอย่างที่มันจะดึงดูดให้คนมาสนใจได้ สำคัญมากเลยก็คือมันต้องเกี่ยวข้องกับชีวิตเขา มันต้องช่วยแก้ปัญหาในชีวิตเขาได้ ให้เขาเกิดปัญญาหรือเห็นคุณค่าในชีวิตตัวเอง ซึ่งปัญหาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตมนุษย์ของเราทุกคนก็คือ ความทุกข์ แล้วเราเชื่อว่าธรรมะหรือความจริง มันเป็น solution ที่จะช่วยเยียวยา แก้ปัญหาให้ผู้คนได้ ซึ่งจากความเชื่อของเรา มันก็เลยไปอยู่ในงานที่เราทำด้วย
เม้ง: วันแรกที่ตั้งชูใจฯ เราโตมากับคำพี่จิก (ประภาส ชลศรานนท์) คือ “มีเงิน 2 บาท หนึ่งบาทซื้อข้าว อีกสองบาทซื้อดอกไม้” หมายถึงว่า วันที่สมาชิกชูใจฯ 5 คนกระโดดออกจากการเป็นลูกจ้างในเอเจนซีโฆษณาแล้วมาตั้งบริษัท เพราะเราคิดว่าเราใช้ความคิดสร้างสรรค์ทำประโยชน์ให้กับสังคมมากกว่าแค่ขายสินค้าได้ จริงๆ ขายสินค้าก็ไม่ผิดนะ แต่หมายถึงว่า ทำไมความคิดสร้างสรรค์มันถูกใช้อย่างเดียว บางเรื่องต้องการความคิดสร้างสรรค์ บางเรื่องต้องการการโฆษณา เราแค่อยากเอาความคิดสร้างสรรค์ ความครีเอทีฟ ทักษะการทำโฆษณา ซึ่งเราทำทั้งหมดเหมือนเดิมเลยนะ แต่ทั้งหมดนี้ไปรับใช้เรื่องจิตใจ สิ่งแวดล้อม เรื่องต่างๆ ที่เราสนใจ เรื่องแยกขยะเราก็ทำ
เอาจริงๆ เลย มันเยียวยาความรู้สึกครับ คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมโฆษณามานาน หมายถึงว่ามันเติบโตมาเรื่อยๆ ความคิดมันเริ่มเปลี่ยน แล้วเราก็เห็นว่ามันน่าจะใช้ประโยชน์อย่างอื่นบ้าง
คิดว่าถ้าเราเอาพลังแห่งการขายของอย่างเดียวเหล่านั้นมารับใช้อย่างอื่น มันน่าจะสร้างพลังด้านดีๆ ให้สังคมได้ คือถ้าเราทำให้สังคมอยากซื้อสินค้าได้ถล่มทลาย เราก็ทำให้คนอยากแยกขยะได้ถล่มทลายเช่นกัน คือเราคิดว่าคุณค่าความคิดสร้างสรรค์มันน่าจะช่วยคนอื่นได้ เท่านั้นแหละ
แต่ทำไมต้องเป็นเครื่องมือ เกี่ยวกับการทำงานภายใน หรือ self-awareness
เม้ง: (นิ่งคิด) ไม่รู้สิ มันคงตอบตัวเองได้มั้งว่าเราทำไปทำไม อาจเป็นเพราะผมเคยบวช และเป็นเครื่องมือที่ทำให้ตอบคำถามตัวเองตอนนั้นได้มั้งว่า “เราทำไปทำไมวะ” ทำมาตั้ง 5-6 ปี? จริงๆ มันอาจไม่มีอะไรมากแต่มันเยียวยาเรา ทำให้เราและการงานมีความหมาย
บอมบ์: การช่วยคนอื่น คือการช่วยตัวเรา เราทุกคนสัมพันธ์กันหมด แต่ถามว่า ทำไมต้องเป็นธรรมะ คือมันเป็นความเชื่อความศรัทธา เหมือนเราอินมากแล้วเราไปชวนคนอื่น “ช่วยมาอินกับเราหน่อยได้ไหม?” ถ้าทำแบบนี้มันก็เหมือนแม่ที่ไปปฏิบัติธรรมแล้วชวนลูกไปด้วย ลูกไม่เข้าใจ แต่ถ้าพูดในภาษาที่เขาอินและเข้าใจ มันก็อาจจะชักชวนเขาเข้ามาในเส้นทางนี้ได้
บอมบ์: การช่วยคนอื่น คือการช่วยตัวเรา เราทุกคนสัมพันธ์กันหมด แต่ถามว่า ทำไมต้องเป็นธรรมะ คือมันเป็นความเชื่อความศรัทธา เหมือนเราอินมากแล้วเราไปชวนคนอื่น “ช่วยมาอินกับเราหน่อยได้ไหม?” ถ้าทำแบบนี้มันก็เหมือนแม่ที่ไปปฏิบัติธรรมแล้วชวนลูกไปด้วย ลูกไม่เข้าใจ แต่ถ้าพูดในภาษาที่เขาอินและเข้าใจ มันก็อาจจะชักชวนเขาเข้ามาในเส้นทางนี้ได้
มีอะไรอยากฝากหรือทิ้งท้ายไหมคะ
บอมบ์: มีตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดเรื่องการเปรียบเทียบ พระอาจารย์ไพศาล เคยเล่าว่า แม้ว่าเราจะมีความสุข แต่ทันทีที่เราไปเปรียบเทียบ ความทุกข์เกิดขึ้นเลย เช่น วันนี้คุณไปเจอกระเป๋าที่อยากได้ จากใบละหมื่น ลดเหลือใบละหนึ่งพัน คุณดีใจมาก แล้วก็รีบควัก mobile banking ขึ้นมาสแกนและก็ซื้อเลย วันรุ่งขึ้นคุณสะพายกระเป๋าไปทำงาน และพบว่า เพื่อนก็ซื้อกระเป๋าใบเดียวกันได้ในราคา 500 บาท แค่นี้ ความทุกข์เกิดขึ้นแบบทันทีเลยใช่ปะ คือทันทีที่เราเปรียบเทียบ ความสุขไม่ยั่งยืนเลย ความสุขเป็นความทุกข์ทันที
เม้ง: ซึ่งถ้าเล่นเฟซบุ๊คแล้วชอบตัวเอง ไม่ได้เปรียบเทียบ ก็จบเลยนะ อยากจะโพสต์ด้วยความชอบตัวเอง เป็นไดอารี เล่นโซเชียลมีเดียแล้วไม่ได้ชอบตัวเองน้อยลง เห็นคนอื่นเที่ยวก็ เออ… สนุกดีเนอะ ไม่ได้ฟูมฟายหรือลำบากใจ เราชอบตัวเองแบบนี้ เท่านี้ก็จบเลย