- ประเด็น ‘การบ้าน’ จำเป็นหรือไม่ เป็นคำถามที่มากคำตอบและซับซ้อนมากกว่าหลายคนคิด
- แทนที่จะถามแค่ว่าต้องมีการบ้านหรือไม่ อีกคำถามที่ควรมีคือ หลังโรงเรียนเลิกควรมีอะไรที่ช่วยให้นักเรียนยังจดจำสิ่งที่ได้เรียนรู้และพร้อมจะเรียนเพิ่มเติม
- เพราะแต่ละช่วงวัย การบ้านมีผลไม่เท่ากัน
พอพูดถึงการบ้าน เสียงก็แตกออกเป็นสองฝั่ง – มีการบ้านหรือไม่ต้องมี แต่นั่นเป็นเพียงคำถามเดียวที่ควรถามในเรื่องการบ้านหรือเปล่า?
ขณะที่ครูกับพ่อแม่กลุ่มหนึ่งเชื่อว่าการบ้านช่วยสร้างทักษะและช่วยให้เด็กทบทวนความรู้ อีกกลุ่มหนึ่งก็มองว่าการบ้านเป็นเรื่องไม่จำเป็น ทำให้เด็กหมดเรี่ยวแรงและไม่อยากไปโรงเรียน แต่งานวิจัยมากมายในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ปัญหานี้แตกต่างและซับซ้อนมากกว่าที่หลายคนคิด
แทนที่จะถามแค่ว่าต้องมีการบ้านหรือไม่ อีกคำถามที่ควรมีคือ หลังโรงเรียนเลิกควรมีอะไรที่ช่วยให้นักเรียนยังจดจำสิ่งที่ได้เรียนรู้และพร้อมจะเรียนเพิ่มเติม
ประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย: การบ้านมีผลไม่เท่ากัน
งานวิจัยตลอดหลายทศวรรษบอกว่า การบ้านก็ยังมีประโยชน์ แต่ไม่ใช่กับทุกระดับชั้น และปริมาณการบ้านก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด
• ประถม – อ่านอย่างเดียวก็พอ
การบ้านอาจทำให้เสียเวลาเพราะเด็กวัยนี้ยังไม่มีทักษะการเรียนพอที่จะได้รับประโยชน์เต็มที่ สำหรับวัยนี้จึงควรเน้นฝึกให้รักการเรียนรู้ และการบ้านก็อาจเป็นศัตรูตัวฉกาจ
การบ้านที่เข้ากัน: อ่านหนังสือตอนค่ำกับพ่อแม่เป็นกิจกรรมที่เหมาะที่สุด เพราะยิ่งเด็กๆ อ่านออกช้าเท่าไหร่ โอกาสจบมัธยมก็ยิ่งน้อยลงตามไปด้วย (อ๊ะๆ แต่ไม่จำเป็นต้องบังคับให้อ่านออกตั้งแต่อนุบาลนะ)
• มัธยมต้น – มีได้แต่อย่าเยอะ
เมื่อเริ่มโตและค้นข้อมูลเป็นแล้ว การบ้านจึงช่วยให้จำสิ่งที่เรียนได้ แต่ก็ไม่ควรมีมากเกินไปเพราะผลวิจัยปี 2015 พบว่าเด็กวัยนี้ที่ต้องทำการบ้านวันละ 90-100 นาทีมีโอกาสเรียนแย่ลงเพราะหมดแรงจูงใจและความสนใจ
การบ้านที่เข้ากัน: นักวิจัยหลายคนแนะนำว่า การบ้านควรท้าทายความสามารถแค่ระดับหนึ่ง ไม่ต้องยากเกินไปจนทำให้เด็กๆ หมดกำลังใจและความพยายาม
• มัธยมปลาย – ประโยชน์มากแต่ความเสี่ยงสูง
การบ้านช่วยเรื่องการเรียนในวัยนี้ได้มาก ตราบเท่าที่ไม่เกินคืนละสองชั่วโมงหรือกัดกินเวลาพักผ่อน รวมถึงเวลาที่ใช้กับครอบครัวและเพื่อน งานวิจัยปี 2013 พบว่านักเรียนมัธยมปลายที่มีระดับความเครียดสูงเพราะทำการบ้านจนนอนไม่พอจะมีปัญหาสุขภาพทั้งทางกายและใจอย่างหนัก
การบ้านที่เข้ากัน: เมื่อถึงโรงเรียน พวกเขาควรได้เรียนรู้อย่างอิสระ การบ้านจึงควรเชื่อมโยงกับบทเรียนและทำได้เองโดยไม่ต้องขอความช่วยเหลือ เน้นคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ ผลการตรวจจากครูก็ควรเปิดเผยและชัดเจน
5 คำถามก่อนสั่งการบ้าน
การบ้านควรเป็นเรื่องของคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ และนี่คือ 5 คำถามที่จะช่วยครูสั่งการบ้านอย่างมีคุณภาพมากขึ้น
1. ใช้เวลาทำนานแค่ไหน: นานไปก็ไม่เหลือเวลาไปใช้ชีวิตตามประสาเด็ก
2. เข้ากับนักเรียนทุกคนหรือเปล่า: เด็กแต่ละคนมีวิธีเข้าใจเรื่องที่เรียนไม่เหมือนกัน อาจง่ายกับบางคนแต่ยากจนท้อแท้สำหรับบางคน
3. สนับสนุนความสำเร็จในอนาคตหรือไม่: การบ้านทำให้เด็กๆ เข้าใจสิ่งที่เพิ่งเรียนไปเพื่อพร้อมรับความรู้ใหม่ในวันรุ่งขึ้นหรือเปล่า
4. มีเนื้อหาที่ไม่มีในห้องเรียน ได้หรือไม่: กุญแจที่จะทำให้เด็กเข้าใจเนื้อหาอาจอยู่ในสถานที่นอกโรงเรียน เช่น พิพิธภัณฑ์ สนามเด็กเล่น หรือแม้กระทั่งจากคนในครอบครัวก็ได้
5. ช่วยนักเรียนตอนที่ครูไม่อยู่ หรือไม่: การบ้านอาจเป็นผู้ช่วยให้นักเรียนใฝ่รู้ โดยไม่ต้องมีครูมาคอยบังคับ ยิ่งกว่านั้นอาจกระตุ้นให้เด็กๆ ต่อยอดออกมาเป็นความเข้าใจในสไตล์ตัวเองได้ด้วย
ถ้าไม่มีการบ้าน ครูจะให้ทำอะไรดี
แจ็คเกอลีน ฟลอเรนติโน (Jacqueline Fiorentino) ครู นักเขียน และบล็อกเกอร์จากเว็บไซต์ Shorepointsmom.com ตัดสินใจเลิกให้การบ้านนักเรียนชั้นประถมเมื่อปีที่แล้ว ผลที่ได้คือเด็กๆ มีเวลาว่างมากขึ้นเพื่อสำรวจตามหัวข้อที่พวกเขาสนใจแถมยังออกมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังอย่างตื่นเต้นด้วย
ในฐานะครู แจ็คเกอลีนมี 4 ขั้นตอนให้คุณครูลองทำตาม
1) อธิบายกับพ่อแม่ ถ้าเป็นไปได้ก็หาเวลาพบหน้า อธิบายด้วยข้อมูลและพูดคุยกับพ่อแม่เป็นรายคนได้ยิ่งดี
2) กระตุ้นการอ่านที่บ้าน อาจส่งรายชื่อหนังสือน่าอ่านแต่ไม่ต้องกำหนดระยะเวลา และทำความเข้าใจว่าการอ่านควรเป็นทางเลือกที่สร้างความสุขมากกว่าเป็นงานที่ต้องทำ
3) มีภารกิจรายเดือนสำหรับครอบครัว กระตุ้นให้เกิดการพูดคุยระหว่างนักเรียนกับพ่อแม่ กิจกรรมนั้นต้องสนุกด้วย ทั้งครอบครัวมีเวลาทั้งเดือนทำภารกิจร่วมกันและเด็กๆ จะได้มานำเสนอหน้าชั้นตอนสิ้นเดือน
4) ขยายบทเรียนให้กว้างขึ้น สำหรับเด็กที่ยังชอบการบ้าน แค่หาหัวข้อให้เขาลองสืบค้นจากนอกห้องเรียน เปิดโอกาสให้พวกเขานำผลการสืบค้นมารายงานให้เพื่อนร่วมชั้นฟัง
กุญแจสำคัญคือพ่อแม่มีส่วนร่วม
มองในอีกแง่หนึ่ง การบ้านเป็นเครื่องมือที่ดีที่จะทำให้พ่อแม่มีส่วนร่วมกับการเรียนรู้ เข้าถึงความสนใจและจุดแข็งของเด็กๆ ทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการพูดคุยถึงชีวิตที่โรงเรียนของพวกเขาด้วย แต่อย่าเผลอลืมตัวไปเจ้ากี้เจ้าการเพราะนั่นจะยิ่งผลักให้เด็กๆ หมดอารมณ์ทำการบ้านกว่าเดิม
แม้การบ้านจะเปิดโอกาสให้พ่อแม่มีส่วนร่วมกับลูก แต่ข้อสำคัญคืออย่าบีบคั้นจนทำให้ช่วงเวลาทำการบ้านกลายเป็นสนามรบย่อมๆ เลยเชียว