คนรุ่นใหม่แบบไหนที่ซีอีโออยากทำงานด้วย คือคำถามสำคัญในวันที่เราตั้งคำถามว่าสังคมต้องการคนรุ่นใหม่แบบไหน ความคิดความเห็นของ รวิศ หาญอุตสาหะ น่าสนใจเพราะถอดจากประสบการณ์ปรับลุค ‘ผงหอมศรีจันทร์’ ให้กลับมาเดินได้ใหม่ในรันเวย์ภายใต้ชื่อ Srichand Cosmetics Grit, Growth Mindset, Character Building ฯลฯ และอีกหลายๆ ทฤษฎีที่เคยอ่านมา รวิศถอดรหัสและแปรรูปให้เป็นภาคปฏิบัติทั้งหมดในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง
ในวงธุรกิจ ทุกคนรู้จัก รวิศ หาญอุตสาหะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด จากการแต่งตัวใหม่ให้ผู้หญิงอายุ 80 ปีที่ดูไทยมากๆ อย่าง ‘ผงหอมศรีจันทร์’ ให้กลายเป็น Srichand Cosmetics – สุภาพสตรีรุ่นใหม่ หน้าอ่อนกว่าวัย มั่นใจแต่เรียบร้อย
เป็นคำอธิบายเปรียบเทียบเพื่อให้เห็น Before-After อย่างชัดเจน ทุกวันนี้ซีอีโอวัย 39 ปี มีพนักงานในความดูแลราว 200 คน ไล่ตั้งแต่รุ่นใหม่ไปจนถึงเลยเกษียณ การบริหารและดูแลจึงแตกต่างกันตามวัย
“เราพยายามดูว่า อะไรคือ value ของคนแต่ละวัย คนรุ่นพ่อแม่ เชื่ออยู่ 3 คำ คือ ขยัน ซื่อสัตย์ อดทน แต่เด็กยุคใหม่ ไม่ใช่ว่าเขาไม่ขยัน ซื่อสัตย์ อดทนนะ เพียงแต่เขาให้ความสำคัญกับเรื่องที่ต่างออกไปคือ freedom, sexuality และ autonomy (ความอิสระและเป็นตัวของตัวเอง)”
ความสำเร็จในการรีแบรนด์-ไม่สิ อาจจะเรียกว่า ‘รีเบิร์ท เกิดใหม่’ เลยก็ได้ อาจการันตีได้ว่าเขาเข้าใจ และสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ได้ตรงจุด แต่ในบทบาทคุณพ่อของลูกสาวสองคน (7 ขวบ และ 4 ขวบ) สิ่งที่รวิศเตรียมไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ คือทักษะสำคัญในการใช้ชีวิต
“คาแรคเตอร์ที่ควรมีในปัจจุบันกับทักษะที่ต้องปั้นในอนาคต” จึงเป็นหัวข้อที่ The Potential สนทนากับ รวิศ หาญอุตสาหะ ในวันนี้
จากการทำงานและสื่อสารด้วย คนรุ่นใหม่ พ.ศ.นี้เป็นอย่างไร
คนรุ่นใหม่อายุ 20-30 ปี ส่วนใหญ่ค่อนข้างรู้เรื่องเยอะกว่าคนยุคผม เหมือนเขาผ่านความซับซ้อนของโลกเยอะกว่า เขาเห็นจากโซเชียลมีเดีย รู้ข่าวเยอะกว่า ทำให้เขามีความซับซ้อนในตัวเองเยอะ แต่ละคนจึงมีคาแรคเตอร์แตกต่างกันอย่างชัดเจน ที่เห็นได้ชัดเลยคือกล้าแสดงออกมากขึ้น ถ้าเกิดเห็นว่ามันไม่ใช่ก็จะกล้าพูดเลยว่าไม่ใช่ ต่างจากคนยุคผมที่ไม่ได้ถูกฝึกมาแบบนี้ เด็กยุคใหม่เวลาสั่งงานก็ไม่ต้องไปบอก 1-2-3-4 หรอก ต้องบอกว่าอยากได้อะไร เมื่อไหร่ แล้วมีอะไรให้บ้าง เดี๋ยวเขาจะจัดการของเขาเอง นี่คือสิ่งที่คิดว่าเขาอยากได้
รวิศ หาญอุตสาหะ
สิ่งที่ต้องมีแต่เด็กรุ่นใหม่ยังไม่มี คืออะไรบ้าง
ผมว่าความสำคัญในยุคนี้ ที่ไม่ใช่แค่เด็กแต่หมายถึงทุกคน คือความกระหายจะเรียนรู้ มันหมดยุคที่เรารอให้ใครมาสอนแล้ว มันจะไม่ทัน คนที่กระหายจะเรียนรู้ อยากรู้นู่น อยากรู้นี่ ได้ลองทำอะไรไม่กลัวที่จะผิดพลาด เท่าที่เห็นก็จะมีโอกาสจะประความสำเร็จในหน้าที่ได้มากกว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่บางคนมีบางคนก็ไม่มี แต่ผมมองว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ
ใน Podcast ของคุณ เคยบอกไว้ว่า คำว่า “You are special” (ที่พ่อแม่มักจะบอกว่ากับลูกเพื่อแสดงว่าลูกพิเศษและแตกต่างจากคนอื่น) เป็นอันตรายสำหรับคนรุ่นใหม่ อันตรายอย่างไร
ผมคิดว่ามันเป็นเพราะหลายเรื่องประกอบกัน แต่หลักๆ คือ ในโซเชียลมีเดียต่างๆ เราจะเห็นภาพของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จหรือว่าใครก็แล้วแต่ที่ยังเป็นเด็กแต่รวยมากๆ สมัยยุคผมมันต้องหลุดมาถึงสื่อทีวี หนังสือพิมพ์ เราถึงจะได้เห็นกัน แต่ในยุคนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะฉะนั้นภาพพวกนี้มันก็ถูกฝังลงไปตั้งแต่ยังเด็ก
เด็กๆ จึงอยากจะออกมามีกิจการของตัวเอง แต่ถ้าใครยังไม่พร้อม ก็อาจจะหาประสบการณ์ทำงาน ถ้ารู้สึกไม่เวิร์คก็เปลี่ยนเลย แต่ยุคนี้ก็ต้องต่อสู้กันเยอะนิดหนึ่ง เพราะคนอยากออกมาทำเองเยอะ มันก็อาจจะยากขึ้น แต่ทุกอย่างก็มีทั้งยาก-ง่าย เทคโนโลยีก็มีส่วนช่วยให้ง่ายขึ้น
คาแรคเตอร์อะไรที่คนรุ่นใหม่ควรจะมี เพื่อที่จะอยู่รอดได้ในอนาคต
ในภาพรวม ลักษณะสำคัญที่ควรมีของคนในศตวรรษที่ 21 คือ self awareness หรือ การรู้จักตัวเอง ในยุคนี้ไม่มีความจำเป็นที่เราต้องไปเรียนสายวิทย์ ไปเป็นหมอ วิศวะ อีกต่อไปแล้ว ผมคิดว่าเราชอบอะไร เราถนัดอะไร หาให้เจอแล้วทำมันให้ดี จริงๆ ทุกอย่างที่ทำ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพอะไร สามารถทำเงินและหาเลี้ยงชีพเราได้หมด ถ้าเรารู้ว่าเราชอบอะไร แต่ก็มีปัญหาที่ยากขึ้นมาอีกว่าเราจะรู้ได้อย่างไร อย่างผมกว่าจะหาตัวเองเจอก็อายุ 30 กว่าแล้ว ซึ่งถ้าได้รู้จักตัวเองเร็วกว่านี้ ก็คงจะดี
วิธีเดียวที่จะหาตัวเองให้เจอคือต้องลอง ลองให้เยอะ ลองให้เร็ว แต่ไม่ใช่ให้เราไปลองทำทุกอาชีพ มันเป็นไม่ได้ มันจะมีกรอบคร่าวๆ ว่าเราชอบประมาณนี้ แล้วค่อยลอง ถ้าเราหาเจอปุ๊บ ชีวิตเราหลังจากนั้นจะดี คือจะมีเงินหรือไม่มีเงินก็จะดี เพราะว่าอย่างน้อยเราก็มีความสุขเวลาที่เราทำ
ทุกวันนี้มันมีทั้งคนที่ทำงานได้เงินแล้วมีความสุข ที่ไม่มีความสุขก็มี ยิ่งงานที่เงินน้อยก็รู้สึกแย่ แต่ถ้าเราทำงานในสิ่งที่เรารักและรู้ว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นตัวเรา โอกาสที่เราจะทำงาน หาเงินได้จากเรื่องนี้และมีความสุขประสบความสำเร็จในการทำงานด้วยก็ยิ่งมีเพิ่มขึ้น
แต่มันก็ไม่ใช่สิ่งที่หากันง่ายๆ เพราะไม่เช่นนั้นทุกคนก็คงจะไม่มีปัญหา คนที่หาเจอเร็วก็จะโชคดี
สิ่งหนึ่งเลยที่เราจะต้องมีคือวินัย ผมเชื่อว่าเมื่อเรามีวินัย เราจะสามารถทำการทดลองได้ แต่ถ้าไม่มีวินัยเราจะไม่มีทางทำการทดลองในชีวิตเราจนจบได้
ยกตัวอย่างเราอยากเขียนหนังสือ แต่เราจะรู้ว่าอาชีพนี้ดีหรือไม่ดี เราจะต้องเขียนหนังสือให้เสร็จ อย่างน้อยก็ทำให้จบกระบวนการ เพื่อจะได้รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบ หรือชีวิตนี้ฉันไม่มีวันเขียนหนังสือจนจบเล่มได้ อันนี้คือวินัยเพื่อที่จะได้ทำการทดลองให้มันชัดเจน
คำว่าวินัย จริงๆ แล้วตัวเองอาจจะไม่อยากทำสิ่งนั้นแต่ก็ต้องทำอยู่ดี เพราะเป็นสิ่งที่ตั้งใจไว้ เช่น นักเขียนมืออาชีพจริงๆ เขาจะเขียนหนังสือทุกวัน ไม่ว่าวันนั้นจะเขียนออกหรือเขียนไม่ออก เพราะว่ามันเป็นวินัย และที่สำคัญ ทุกวันนี้โลกมันเปลี่ยนเร็วมาก
ไม่ใช่แค่ความรู้ในมหาวิทยาลัยหรอก เอาแค่ความรู้ที่เรารู้เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว หรือที่เคยทำแล้วมันถูก ในวันนี้มันอาจจะเปลี่ยนไปแล้วก็ได้ เพราะฉะนั้นทุกๆ อย่างเราต้องเรียนรู้ใหม่ ต้องยอมทิ้งความคิดเก่าที่อยู่ในหัว แล้วรับไอเดียใหม่ๆ เข้ามา และเราก็ต้องยืดหยุ่นพอที่จะบอกตัวเองได้ว่า นี่คือโลกใหม่จริงๆ
เมื่อการค้นหาตัวเองสำคัญ แล้วจะดีลกับเงื่อนไขต่างๆ ในชีวิตอย่างไร
ทัศนคติของพ่อแม่สำคัญ ต้องเข้าใจก่อนว่ายุคนี้มันเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ ยกตัวอย่างใกล้ตัว หลานผม (ลูกของพี่สาว) อยากเป็นนักไวโอลิน เขาเล่นไวโอลินได้ดีมาก ตอนแรกทุกคนไม่ยอม คิดว่าดนตรีจะเป็นอาชีพได้ไหม ผมก็พยายามจะอธิบายให้คุณพ่อคุณแม่ของผม (ตายายของหลาน) เล่าให้เขาฟังว่า จริงๆ แล้วโลกยุคใหม่มันเป็นแบบนี้จริงๆ เราอยากเป็นอะไรก็เป็นได้ สมมุติเราอยากบอกพ่อกับแม่ว่าเราอยากเป็น Youtuber พ่อแม่คงไม่เข้าใจ แต่มันก็ทำเป็นอาชีพจริงๆ ได้ แล้วก็มีคนที่ประสบความสำเร็จจากอาชีพนี้มากมาย
ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ในยุคนี้จะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า อาชีพดั้งเดิมแบบที่เราเคยรู้จักกัน มันก็ยังมีอยู่ แต่ไม่ใช่ทางเลือกทั้งหมดแล้ว แต่ก่อนที่เราเคยบอกว่าต้องเข้าคณะนี้เพื่อจะเป็นอาชีพอะไร
ผมเชื่อว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า คำว่าคณะอาจจะไม่มีแล้วด้วยซ้ำ มันอาจเป็นที่ที่เราเข้าไปถึงแล้วเลือกเลยว่าเราอยากจะเรียนอะไร วิชาอะไร ผมอาจจะเรียนทั้งศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ก็ได้ เพราะว่ามันคือสิ่งที่ผมอยากเป็น
อย่างที่สอง เมื่อเราเข้าใจอย่างนั้นแล้ว แน่นอนว่าเราคงไม่ปล่อยให้ลูกออกไปทำอะไรเละๆ เทะๆ หมด ผมอยากใช้คำว่า frame and freedom คือ มีกรอบประมาณหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องให้อิสระเขา ถ้าอะไรที่มันดูอันตราย เราก็ต้องห้ามในฐานะผู้ปกครอง แต่ว่าไอ้กรอบที่มันเคยมี มันต้องใหญ่ขึ้น เพราะสมัยก่อนยุคผม พ่อแม่บังคับว่าต้องเป็นหมอ ซึ่งผมคิดว่าอันนี้อาจจะใช้ไม่ค่อยได้แล้ว
เราต้องมีพื้นที่ให้กับลูกประมาณหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดต้องให้ลูกได้ลอง ถ้าเขาได้ลองเขาจะได้รู้ว่าจริงๆ เขาไม่เหมาะหรือเหมาะกับอาชีพนี้ ต้องมีกรอบที่กว้างขึ้น ไกด์เขา อย่าไปบังคับ เพราะว่าสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่รู้ อีก 10 ปี ก็อาจจะไม่จริงแล้ว ถ้าเราบอกว่าให้ลูกทำแบบนี้ แล้วมันกลายเป็นสิ่งผิด มันไม่ใช่การตัดสินใจของเขานะ อย่างน้อยที่สุดถ้าเขาทำแล้วมันผิด ให้มันเกิดจากการตัดสินใจของเขา เขาจะได้เรียนรู้ ถ้าเป็นการตัดสินใจของเราเขาจะไม่ได้เรียนรู้อะไร
สำหรับคุณ ระบบการศึกษาสำคัญหรือไม่สำคัญอย่างไร
มีงานวิจัยบอกว่า คนไทยจะต้องถูก re-skill เกือบ 7 ล้านคน เพราะว่าเทคโนโลยีใหม่ที่มา ทำให้ skill ที่เรามีอยู่ในวันนี้ล้าหลัง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำงานต่อไม่ได้นะ เพียงแต่เราต้องเรียนรู้อะไรใหม่ ตอนนี้คิดว่าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยอาจจะเปลี่ยน อาจจะไม่ใช่เด็กอายุ 17-21 ปี เข้ามาเรียนปี 1 – ปี 4 แต่มันจะออกแบบการเรียนที่ไม่ได้กำหนดจำนวนปีหรือชื่อคณะ อาจจะไม่ได้กำหนดอายุเลยด้วยซ้ำ
ในอนาคตอาจเปลี่ยน เพราะทุกคนต้องเรียนใหม่หมด อาจมีปัญหาตรงกฎระเบียบต่างๆ มากมาย เช่น จำนวนหน่วยกิต ต้องเรียนเยอะไหม ต้องจบ 4 ปีไหม ไปเรียนคณะอื่นอย่างครึ่งๆ ได้หรือเปล่า ตรงนี้เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ต้องช่วยกันปรับ เรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องใหญ่มาก พูดเหมือนง่าย แต่มีความยาก
ถ้าไม่เริ่มทำวันนี้ AI เริ่มเข้ามา จะทำให้เกิด gap ที่ใหญ่เพิ่มขึ้นไปอีก ในสิงคโปร์เขาเริ่มทำแล้ว เริ่มจัดตั้งสถาบัน re-skill คน เพื่อตอบสนองทักษะในอนาคต
สิ่งที่เราทำได้คือ ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาเป็นอย่างแรก ไม่ได้หมายถึงการเปิดตำราเรียน แต่ขอให้มีทัศนคติว่าวันนี้เราจะต้องเรียนรู้อะไรใหม่ๆ สักเรื่องหนึ่งให้ได้ และเชื่อว่ามันสำคัญกับชีวิตจริงๆ แล้วจะพบว่ามันเป็นการเริ่มต้นที่ดี มันจะค่อยๆ เปิดให้เราทีละนิด ถ้าเราเริ่มค้นหามันจะเริ่มเจอ ตรงนี้สำคัญมาก
เคยตั้งคำถามกับระบบการศึกษาไหม และตั้งว่าอย่างไร
มีเยอะ ยุคผมคือ การสอบเอนทรานซ์ครั้งเดียวจบ ดังนั้นสิ่งที่โฟกัสมากๆ ก็คือการสอบแข่งขัน ตอนนั้นผมมุ่งมั่นที่จะเรียนวิศวะก็เลยไม่ได้สนใจ เรียนวิชาอื่นๆ แค่ให้ผ่านไปได้ ซึ่งรู้สึกว่ามันเสียเวลาทั้งเราและคนสอน จำได้ว่าต้องแอบทำข้อสอบของโรงเรียนกวดวิชาใต้โต๊ะเรียน กลายเป็นว่าเราไปโฟกัสกับโรงเรียนกวดวิชามากกว่า เสาร์อาทิตย์คือใช้เวลาอยู่กับโรงเรียนกวดวิชาตอนเย็นจนถึงดึกๆ ดื่นๆ
มองย้อนกลับไปผมว่ามันสะท้อนระบบประหลาดๆ บางอย่าง ทำไมเราถึงตั้งใจกับการกวดวิชา และไม่ตั้งใจเรียนที่โรงเรียนเท่าไหร่ ก็เป็นเรื่องที่เราสงสัยเหมือนกัน ผมคิดว่ามันอาจจะมีปัญหาจากหลายๆ ส่วนด้วยกัน หนึ่ง คือ ปัญหาเรื่องโครงสร้างซึ่งตรงนี้ก็ต้องอาศัยหลายๆ ส่วนเข้ามาดูแล ผมเรียนโรงเรียนรัฐบาลมาตลอด สิ่งที่มักจะเจอที่โรงเรียนรัฐบาล คือ จำนวนเด็กในห้องเยอะมาก ไม่ต่ำกว่า 50 คนแน่นอน ดังนั้น 50 คนในเวลา 1 ชั่วโมงที่ครูหนึ่งคนต้องสอนมันไม่มีทางทั่วถึง ไม่มีคนคอยถามว่าเราเข้าใจในบทเรียนนั้นไหม ถ้าเราอยากจะเรียนรู้หรือขวนขวายอะไรเพิ่มเติมต้องทำด้วยตัวเองตลอด
ช่วงเวลาในวัยมัธยมถนนทุกสายมันวิ่งเข้าสู่การเอนทรานส์ เพราะเราเชื่อว่ามันน่าจะมีสิ่งดีๆ รออยู่หลังจากนั้น มันก็เลยไม่มีโอกาสได้ทำอะไรมาก
อีกอย่างคือเราผ่านการเรียนวิชาที่มากเกินไปและไม่ได้ถูกนำมาใช้จริง กลับกันตอนที่เรียนปริญญาโทในต่างประเทศวิชาเรียนน้อยมากแต่ได้ใช้ทุกวิชา และง่ายมากถ้าเทียบกับที่เรียนมาก่อนหน้านั้น
ดังนั้นเราต้องกลับมาถามว่าเราจะให้เด็กเรียนเพื่อให้เขาสอบได้หรือให้เขานำวิชาไปใช้ได้ ทุกคนเชื่อว่าเรียนไปเพื่อสอบทั้งนั้น เพราะการสอบคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต และเราไม่เคยตั้งคำถามกับตัวเองเลยว่าเราจะเอาสิ่งที่เราเรียนไปทำอะไรแต่ต้องสอบให้ผ่านให้ได้ก่อน
ระบบการศึกษาปิดทางให้เราค้นหาตัวเองหรือไม่
ค่อนข้างมีผล เพราะเด็กถูกเลือกให้อยู่สายวิทย์สายศิลป์ ตั้งแต่มัธยม แล้วไอ้ที่เลือกกัน อาจไม่ได้ชอบจริงๆ หรือเลือกตามเพื่อน เราไม่ได้มีพื้นที่ให้ค้นหาตัวเอง เวลาที่อยู่โรงเรียนทั้งหมดเราก็ใช้ไปกับการเรียนหนัก เสาร์อาทิตย์ก็ต้องติวกวดวิชาอีก ไม่มีเวลาไปทำอะไร เพื่อนในรุ่นผมทั้งหมดมีแค่คนเดียวที่ได้ไปเรียนดนตรีอย่างที่ตัวเองอยากเรียน ตอนนี้ก็มีการมีงานทำที่ดีอยู่ที่เมืองนอก เพราะเขาได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบและรัก
คุณเคยพูดอีกว่า ‘การบริหารพลังงาน’ ถือเป็นการออกแบบชีวิตที่สำคัญ มันสำคัญอย่างไรและมีวิธีบริหารอย่างไรบ้าง
อย่างแรกทุกคนควรหา Kryptonite (แร่จากดาวคริปตอน ส่งผลให้ซูเปอร์แมนอ่อนแอลงได้) ของตัวเองให้เจอ ซึ่งแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน อย่างผมถ้าเลิกงานแล้วดื่มเบียร์จะยิงยาว แล้ววันรุ่งขึ้นก็จะรู้สึกพังไปทั้งวัน ผมเลยต้องเลิก ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะพังเหมือนผม แต่เราต้องหาให้ได้ก่อนว่าสิ่งที่ดูดพลังงานของเรามันคืออะไร เราก็ต้องมีความตั้งใจจริงๆ ว่าเราจะหยุดมันและค่อยๆ ควบคุมให้ได้ จากนั้นเราก็จะจัดเวลาให้กับมัน
คนเราอาจแบ่งตามเวลาได้ 3 กลุ่ม 1.คนที่ตื่นเช้ามากๆ เป็น early bird 2.คนธรรมดาตื่นปกติ และ 3.คนที่เป็นนกฮูก ถ้าเรารู้ว่าเราเป็นจำพวกนกฮูกแต่เราดันไปทำงานแต่เช้า ก็จะพังไปเพราะพลังงานเราไม่ได้อยู่ ณ ตอนนั้น แต่ผมเป็นคนตื่นเช้า ช่วงเวลาหลังตื่นนอนเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ จะต้องทำอะไรที่สำคัญช่วงเวลานี้เท่านั้น ไม่ควรเอาเวลานี้ไปทำในสิ่งที่มีมูลค่าน้อย เช่น ตื่นมา ยังไม่ตอบอีเมล อาจจะโยกไปทำตอนบ่ายๆ เย็นๆ ก็ได้ ช่วงเวลานี้ เราทำในสิ่งที่ต้องใช้สมาธิอย่างการคิดการเขียนเป็นอันดับแรกก่อน
ต่อมาเราก็ต้องรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ช่วยเสริมพลังงานของเรา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องทดลอง สิ่งที่ผมทำคือออกกำลังกาย บางคนออกกำลังกายแล้วรู้สึกเหนื่อย แต่ผมรู้สึกว่าเวลาออกกำลังกายแล้วผมมีแรงที่จะทำอะไรต่อ อีกอย่างคือตอนนี้ผมทำ IF หรือ Intermittent Fasting คือการเว้นช่วงการกินอาหารในแต่ละวัน ไม่ได้ทำเพื่อลดน้ำหนัก สำหรับผมมันช่วย boost energy หรือผมเคยเป็นคนที่นอนหลับยาก ชอบคิดอะไรก่อนนอน หลังๆ เลยฝึกด้วยการนั่งสมาธิ ช่วงแรกก็เละเทะนั่งไม่ได้แต่ก็พยายามฝึกจนตอนนี้ทำได้ แล้วมันก็ช่วยให้เรานอนหลับเร็วขึ้น
เราก็ต้องค้นหาตัวเองว่าวิธีไหนจะเหมาะกับเรา สิ่งที่ผมพูดไปทั้งหมดนี้มันอาจจะไม่ได้เหมาะกับคุณก็ได้ กว่าผมจะหาวิธีและจัดสรรเวลาได้ก็ใช้เวลานานเหมือนกัน ลองนอนดึก ลองนอนเร็ว ทำมาหมดแล้ว จนค้นพบสิ่งที่ช่วยให้เราประหยัดพลังงาน
สุดท้ายคือเรื่องของการเติมจิตวิญญาณ ฟังดูแล้วนามธรรมมากๆ แต่บางคนที่รู้สึกชอบอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ดูหนัง กิจกรรมตรงนี้ เป็นเครื่องมือในการเติมจิตวิญญาณทำให้เรามีแรงไปสู้และใช้ชีวิตต่อ อะไรที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย สิ่งที่เราทำแล้วมีความสุข ลดความทุกข์และความเครียดที่เราต้องเจอ พยายามหามันให้เจอและบริหารจัดการมันให้ดี
แล้วเงื่อนไขอื่นๆ ในชีวิต เช่น ครอบครัว การงาน จัดการอย่างไร
ต้อง ‘ลอง’ ก่อน เพราะทุกคนย่อมมีเงื่อนไขชีวิตอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนมีครอบครัวหรือไม่มี เวลาชีวิตก็ต่างกันแล้ว แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะบริหารจัดการมันไม่ได้ เวลาช่วงเช้าจะควบคุมได้มากกว่าช่วงเย็น ถ้าไม่ต้องไปส่งลูก เราสามารถตื่นไปถึงออฟฟิศได้เช้าๆ แล้วทำอะไรที่อยากทำได้ ตอนเย็นเป็นช่วงที่ควบคุมยากเพราะต้องเจอกับปัญหารถติด แต่เราก็ไม่ควรไปหงุดหงิดกับมันเพราะมันติดทุกวัน สิ่งที่เราควรทำมากกว่านั้นคือ เราจะทำอะไรที่มันตอบสนองจิตวิญญาณและมีประโยชน์ไปด้วย เช่น ฟัง audio book แรกๆ มันจะรู้สึกฝืนมาก รถก็ติด ยังต้องมาฟังอะไรที่หนักๆ อีก แต่พอทำไปสักพัก ความประหลาดจากการทำซ้ำๆ มันจะทำให้เราเริ่มชอบและติด
มนุษย์จะพยายามหาข้ออ้างให้ตัวเอง มันจึงเป็นที่มาของวินัย ข้ออ้างมันทำให้เราไม่ต้องคิดเยอะ คนที่ตื่นมาวิ่งได้ทุกวัน มันไม่ได้มาจากที่เขาอยากวิ่ง ส่วนใหญ่ใครๆ ก็ไม่อยากหรอก แต่เขามีวินัยและเชื่อว่าสิ่งที่เขาทำมันเกิดประโยชน์
เหมือนกับว่าสมองทั้งมีด้าน angel และด้าน devil ส่วนวินัยคือตัวที่ช่วยห้ามไม่ให้ 2 ตัวนี้เริ่มสู้กัน ถ้าเริ่มสู้กันเมื่อไร จะมีตัวใดตัวหนึ่งชนะ และส่วนใหญ่จะเป็น devil ที่ชนะเสมอ
ผมจะตื่นมาวิ่งทุกเช้า สิ่งที่ผมชอบทำคือ ก่อนนอนจะพับชุดกีฬาเตรียมไว้เลย ตื่นเช้ามานับ 1-5 อย่าไปเริ่มคิดว่า จะวิ่งหรือไม่วิ่งดี จังหวะนี้ angel กับ devil เริ่มสู้กันแล้ว ให้นับ 1-5 แล้วลุกขึ้นไปเปลี่ยนชุด เปลี่ยนชุดเสร็จแล้วค่อยคิดว่าจะไปนอนต่อหรือไปวิ่ง แต่การที่เราเปลี่ยนชุดแล้วโอกาสน้อยมากที่เราจะกลับไปนอนต่อ น่าแปลกใจมากที่กุศโลบายนี้ได้ผลมากๆ เราต้องออกแบบกุศโลบายต่างๆ ให้กับตัวเอง แล้วเราจะรู้ว่าเราทำอะไรได้-ไม่ได้ มันไม่มีสูตรตายตัว
มันมีคำอธิบายว่า สมองคนเราจะไม่คิดเรื่องที่กำลังทำตลอดเวลา เช่น แปรงฟัน เพราะมันจะเปลืองพลังงานมาก ฉะนั้นอะไรที่เราทำตลอดๆ เราก็ทำอย่างอัตโนมัติเลย การต่อต้านจะน้อยลง
ที่บอกว่าคนรุ่นใหม่จะมีวินัยน้อย จริงไหม
อาจจะไม่ใช่ เราต้องถามก่อนว่า วินัยคืออะไร มันอาจไม่ใช่การลุกขึ้นมาตื่นเช้า ผมคิดว่าวินัยคือการที่เราทำเรื่องเดิมๆ เพื่อรออะไรบางอย่างที่เราอยากได้ในอนาคต ไม่ได้ทำอย่างเลื่อนลอย ในอดีตมันอาจจะเป็นเรื่องของการตื่นเช้าตี 4 ตี 5 แต่ปัจจุบันภาพมันเปลี่ยนไปเยอะ ไม่ได้อยู่ในฟอร์แมตเดิมๆ แบบที่เราคุ้นเคยกัน เราอาจจะไปตีกรอบไม่ได้ว่ามีหรือไม่มี แต่ถ้าเด็กรุ่นใหม่ ยังทำในสิ่งที่เชื่อว่าจะพาตัวเองไปถึงจุดที่อยากได้ ก็อาจจะเรียกว่ามีวินัยก็ได้
คงไม่สามารถสรุปว่ามีวินัยเยอะหรือน้อย เพียงแค่มันเปลี่ยนรูปไป ถ้าเราพยายามเข้าใจพื้นฐาน เช่น วินัยของเด็กยุคนี้ อาจจะเป็นการฝึกตัวเองอย่างไรให้ไม่เล่น facebook ติดต่อกัน 5 ชั่วโมง หรือหลังตื่นนอนทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้หยิบโทรศัพท์มือถือเป็นอย่างแรก
มีวิธีดีลกับเด็กรุ่นใหม่ที่ใช้ Social Media อย่างไร
ผมเชื่อว่าการคุยกันแบบ face-to-face ยังเป็นเรื่องจำเป็นอยู่ ในองค์กรสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสื่อสาร และการสื่อสารที่ดีที่สุด คือการเจอหน้ากัน สิ่งที่สำคัญน้อยสุดคือการพิมพ์ เราเห็นคนทะเลาะกันหลายครั้งแล้วจากการที่พิมพ์สื่อสารกัน จึงต้องพยายามให้อยู่ในบริบทของการเจอหน้ากันให้ได้
แต่จะห้ามใช้ social media ไปเลยก็ไม่ได้ ถ้าเป็นศรีจันทร์ ยิ่งใช้ social media ในการขายของ และเพื่อติดตามกระแสต่างๆ กฎของที่นี่เมื่อเราดีไซน์อะไรไปแล้ว ต้องพยายามช่วยกันดัน จะไม่มีการบอกว่าทำยากจังเลย เหนื่อย ไม่อยากทำ ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น เวลา เราไม่ได้ไปบังคับอะไรมาก
ชอบทำงานกับคนรุ่นใหม่แบบไหน
ส่วนตัวชอบทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ เพราะมันทำให้เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ด้วย ชอบเด็กที่มีพลัง มีระเบียบวินัยประมาณหนึ่ง คุยกันรู้เรื่อง และที่สำคัญที่สุด ชอบคนที่พร้อมและอยากจะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอด มันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เราซื้อหนังสือให้คนในออฟฟิศอ่านหลายครั้ง แต่มันก็เท่านั้นถ้าเขาไม่หยิบขึ้นมาอ่าน เรื่องพวกนี้มันเป็นสิ่งสำคัญที่จะให้เขามีพลังที่อยากเรียนรู้
หนังสือแบบไหนที่จะเลือกซื้อให้
ผมจะเลือกไปเลยว่าหนังสือเล่มไหนเหมาะกับใคร หนังสือเล่มล่าสุดเล่มที่ซื้อให้คนทั้งบริษัทเลยคือ หนังสือชื่อว่า ‘Thank God it’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ’ เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวภายในออฟฟิศ เราจะมองเรื่องในออฟฟิศในสถานการณ์ต่างๆ อย่างไรให้เป็นบวก และอีกเล่มที่ชอบมากเหมือนกัน คือ ‘น่าจะรู้อย่างนี้ตั้งแต่ตอนอายุ 20 What I Wish I Knew When I Was 20’ เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับการพัฒนาตัวเอง เจอใครก็มักจะแนะนำให้ลองอ่านเล่มนี้
ในโลกที่มี AI เราควรจะพัฒนา Soft Skill ด้านไหนเพื่อจะอยู่ได้ในอนาคต
อย่างหนึ่งที่สำคัญเลยคือ Growth Mindset หรือ ความเชื่อว่าเราจะเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา รวมถึงเชื่อว่าคนอื่นเขาก็เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ได้ จะทำให้การทำงานเป็นทีมมันไปได้ นอกจากนั้น Growth Mindset ยังรวมถึง ความกระหายอยากเรียนรู้ การโยนความรู้เก่าๆ ทิ้ง พร้อมเปิดรับความรู้ใหม่ๆ เข้ามา ตอนยุคผมกรอกใบสมัครงาน มันมีช่องให้กรอกว่าคุณพิมพ์เร็วกี่คำต่อนาที ทุกบริษัทจะมีหมดเลยแสดงว่านั่นเป็นทักษะที่สำคัญ แต่ปัจจุบันไม่มีอีกแล้ว ไม่มีใครสนใจเรื่องนี้ มันกลายเป็นทักษะที่ล้าหลังไปแล้ว
อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ความซื่อสัตย์ โปร่งใส เพราะว่าอนาคตมันตรวจสอบได้หมด ถ้าพูดอีกอย่างทำอีกอย่าง ความน่าเชื่อถือจะหายไป เรื่องพวกนี้ไม่ใช่ทักษะที่มีแล้วดีแต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องมี ถ้าเราทำทุกอย่างที่เราพูดได้ มันจะทำให้เรามีอิสระ
มีคนถกเถียงกันเยอะมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ บางคนสุดโต่งเชื่อว่ามนุษย์จะหายไปเลยในโลกนี้ แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือ เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า AI จะทำอะไรได้บ้างต่อไปในอนาคต สิ่งสำคัญที่สุดคือ แล้วเราจะอยู่กับมันได้อย่างไร
เวลาเลือกคนเข้าทำงานจะพิจารณาจากอะไรเป็นพิเศษ
ผมให้ความสำคัญกับเรื่องทัศนคติที่สุด ทัศนคติไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ดี แต่มันเหมาะกับเราไหม ในบางองค์กรก็ต้องการคนที่เป็นนักแข่งขัน ชอบการแข่งขันอยู่ตลอดเวลาด้วยลักษณะของงาน งานบางอย่างเราจะประสบความสำเร็จได้ถ้าเราบี้กับคนอื่นตลอดเวลา ในขณะเดียวกันบางที่ก็เหมาะกับคนที่สามัคคี ปรองดอง ขอความคิดเห็นคนอื่น ทั้งสององค์กรนี้ไม่มีอะไรที่ผิด ต้องดูว่าวัฒธรรมขององค์กรเป็นอย่างไร และเลือกทัศนคติที่เข้ากับเรามากกว่า ไม่ได้ดูว่าเรียนคณะอะไรมาถ้าตำแหน่งนั้นไม่ได้เฉพาะเจาะจง เพราะทำงานก็เริ่มเรียนรู้ใหม่
ไม่จำกัดคณะหรือสายที่จบมา?
ยกตัวอย่างเพิ่งรับเข้ามาหนึ่งคน เดิมทีเป็นอาจารย์ ไม่เคยทำ HR มาก่อน แต่เรารู้สึกว่าเขาน่าจะคุยกับคนได้ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของตำแหน่งนี้ ส่วนเรื่องอะไรที่เป็นเรื่องเฉพาะ เช่น เรื่องกฎหมายต่างๆ ก็ไปเรียนรู้ใหม่ได้
ถ้าจะบอกว่า เรียนคณะอะไรก็ไม่ใช่ขนาดนั้น มันก็ยังต้องมีอาชีพที่เฉพาะอยู่ แต่มันไม่ได้แข็งตัวขนาดนั้น ถ้าจะเป็นหมอก็ต้องเรียนหมอมา ไม่ใช่ใครก็ได้ หรือคนที่ทำโฆษณามา ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะอยู่ในวงการโฆษณาตลอดไป
ถ้าสมมุติอยากเริ่มลองค้นหาตัวเอง อาจจะไม่ต้องไปหาที่อื่น เริ่มคุยกับเจ้านายเลยก็ได้ ถ้าองค์กรมีหลายแผนก อยากลองทำอะไรใหม่ๆ ตำแหน่งใหม่ๆ และเชื่อว่าในอนาคตแผนกที่เราแบ่งกันอยู่ตอนนี้มันอาจจะเปลี่ยนแปลงไปก็ได้คล้ายๆ กับการแบ่งคณะ
คุณเคยบอกว่างานปัจจุบันไม่ใช่สิ่งที่อยากทำ แต่จะทำอย่างไรให้การทำงานหรือหน้าที่ มีความสุขไปด้วย
ตอนนั้นผมก็ไม่รู้ว่าจะมาทำศรีจันทร์แล้วจะเป็นอย่างไร แล้วก็อาจจะไม่ใช่งานที่ผมอยากทำที่สุดก็ได้ แต่ว่าสิ่งที่เป็นหล่อเลี้ยงใจ คือ เราตั้งใจทำงานให้ผลงานออกมาดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นงานอะไรก็ตาม เชื่อว่าทุกคนไม่ได้มีโอกาสทำงานที่ตัวเองรัก แต่สิ่งที่จะทำให้เรามีความสุขนั้นคือเราทำงานนั้นออกมาได้ดีที่สุด ถ้าเราโฟกัสตรงนี้มันจะทำให้เราเห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้น
ทุกวันนี้มันมีหลายอย่างที่ผมไม่ได้อยากทำ เราก็พยายามทำให้ได้ ให้เหมือนแข่งกับตัวเองตลอดเวลา วันนี้ทำได้แค่นี้ พรุ่งนี้ทำให้ได้มากกว่านิดหนึ่งก็ยังดี มันอาจจะไม่ได้ทำให้เราชอบมันเลย แต่อยู่กับมันได้ รู้ตัวอีกทีส่วนใหญ่ก็กลายเป็นคนเชี่ยวชาญทางด้านนั้นไปแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าอยู่กับมันได้ตลอด ถ้าอยากขยับขยายตอนไหน เราก็ลองอะไรใหม่ๆ ได้เสมอ
แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรทำคือการตัดพ้อ เอาเวลานั้นไปลองทำให้มันดีก่อน ถ้ามันไม่ได้จริงๆ ก็มองหาหนทางใหม่ ถ้าบ่นๆ อยู่ตลอดเวลา ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น
ในบทบาทของพ่อ เราไม่สามารถนำความรู้ในยุคเก่ามาสอนลูกได้จริงไหม?
ถ้าเป็นด้านความรู้ บางส่วนก็คงจะจริง เพราะเด็กยุคนี้สิ่งที่สำคัญคือภาษากับคอมพิวเตอร์ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งต่างจากยุคผม แต่สิ่งที่เราสามารถส่งต่อได้ คือสิ่งที่เราเชื่อ เราเห็นแล้วว่าคนที่กตัญญู คนที่ซื่อสัตย์ ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ อาจจะมีช่วงที่ตกต่ำบ้างแต่ก็จะกลับมาได้เสมอ ค่อยๆ สอน ให้ความซื่อสัตย์เป็นเรื่องที่อยู่ในกิจกรรมของเราทุกวัน หรือการมีระเบียบวินัย อดทนต่อสิ่งที่เราไม่อยากทำ เช่น การทำงานบ้าน เราค่อยๆ สอนแทรกไป จากประสบการณ์ที่เราเคยผ่านมา เพื่อให้เขาเอาตัวรอดได้
มีวิธีการสอน-เลี้ยงลูกอย่างไรให้รับมือกับตลาดแรงงานในอนาคต
สิ่งที่ตั้งใจไว้คือการพยายามให้เขาชอบอ่านหนังสือ เพราะเชื่อว่าการอ่านหนังสือเป็นวิธีการในการหาความรู้อย่างหนึ่ง เขาอ่านหนังสือทุกวัน วันละชั่วโมง ทุกวัน จนตอนนี้ติดการอ่านไปแล้ว มันเป็นการปลูกฝังอย่างหนึ่งที่เราทำ ผมไม่รู้หรอกว่า เขาจะอยู่ในตลาดแรงงานแบบไหนในอนาคต มันเกินที่จะคาดเดา แต่การที่เขาชอบที่จะหาความรู้ใหม่ๆ ทักษะนี้จะช่วยให้เขาอยู่รอดได้
อีกสิ่งหนึ่งที่ผมพยายามจะสอนลูกให้ได้ คือทักษะสำคัญในชีวิต เช่น การจะอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างไร ผมจะซีเรียสมากเวลาลูกทำกิริยามารยาทไม่ดีต่อหน้าผู้ใหญ่ ต้องเรียกมาคุยมาอบรม เพราะผมเชื่อว่าสิ่งนี้มันยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้อยู่ในสังคมได้
ผมคิดว่าหน้าที่ของพ่อแม่มันคล้ายๆ กับหน้าที่ของผู้นำในปัจจุบันนี้ ที่ให้ลูกได้ลองทำอะไรหลายๆ อย่าง สมัยก่อนเหมือนเรามีพ่อและแม่คอยควบคุม ซึ่งมันไม่ได้ผิด ก็เป็นเรื่องของวัฒนธรรม แต่ก่อน CEO ก็ต้องดุ คอยสั่งงาน แต่ยุคนี้มันไม่ใช่
เราต้องเชื่อก่อนว่าทีมงานของเรามีความสามารถเพียงพอ สิ่งที่เราต้องทำคือการทำอย่างไรก็ได้ให้พวกเขาทำงานกันได้โดยมีอุปสรรคน้อยที่สุด มีความเชื่อใจ ผิดมาก็แก้ไข แต่ไม่ลงไปทำให้ แล้วก็ไม่ใช่สั่งๆๆ ไม่ให้เขารู้สึกทำตามคำสั่งอย่างเดียว กับลูกก็เช่นกัน
เราก็ต้องดูว่าลูกเราประมาณไหนแล้วจะเลี้ยงเขาอย่างไรให้เหมาะกับบุคลิกภาพที่เขามีมากที่สุด สิ่งที่เขาชอบ ความเชื่อของเขา จนสร้างตัวตนเขาขึ้นมาให้มีความสุขมากที่สุด
เช่น ลูกคนเล็กชอบทำกิจกรรม ก็ต้องหากิจกรรมให้เขาทำ มันอาจจะเหนื่อยสำหรับคนเป็นพ่อแม่ที่ต้องมานั่งคิดว่าจะให้ลูกทำอะไร แต่ผมคิดว่าการเลี้ยงลูกก็เป็นโปรเจ็คท์อย่างหนึ่งที่ยาวนานมากๆ และการทำโปรเจ็คท์มันก็มีไม่กี่อย่าง เช่น ตัววัดผล ระยะเวลา ตัวที่จะช่วยเราวัดผลกับลูกได้คือการเห็นว่าเขามีความสุขกับสิ่งที่เขาทำอยู่ไหม สองคือสิ่งที่เราอยากเห็นในตัวลูก เขามีความกระหายที่อยากจะทำเรื่องใด เช่น ลูกคนโตอยากจะซื้อหนังสือตลอดเวลา เราคิดว่าเริ่มมาถูกทางแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะให้เขาอ่านแต่หนังสืออย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องที่เราโฟกัส ดังนั้นเราต้องสร้าง environment เอื้อให้เขา เมื่อเขาโตขึ้นเขาจะเลือกซื้อหนังสืออ่านเอง สร้างบรรยากาศในการอ่านให้ได้
ที่บ้านเราจะมี bookclub time วันละครึ่งชั่วโมง วันเสาร์อาทิตย์หนึ่งชั่วโมงให้ทุกคนมาอ่านหนังสือ ห้ามเล่น Ipad พยายามทำเรื่องพวกนี้
เรียนรู้อะไรจากลูกบ้าง
เรียนรู้ว่า มนุษย์ทุกคน ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่เขามีมุมมองเป็นของตัวเองจริงๆ แต่ว่าเราชอบตัดสินทุกอย่างจากมุมมองของเราเอง ซึ่งก็อาจไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่พอเราตั้งใจฟัง สิ่งที่เขาพูด มันก็มีเหตุผลเหมือนกันนะ วันก่อนเขาทำช้อนหายไป เราก็หาช้อนที่หน้าตาเหมือนกันมาให้ เขาบอกว่ามันไม่ใช่ ช้อนที่หายมันเป็นช้อนวิเศษ เพราะว่ามันเคยผ่านการขุดดินของเขามา ซึ่งผู้ใหญ่มองว่ามันก็คือช้อนเหมือนกัน แต่ไม่ใช่สำหรับเด็ก
เหตุการณ์นี้มันสอนเราว่า เวลามองอะไรต้องมองจากอีกมุมหนึ่ง เรื่องนี้ใช้กับที่ทำงานได้ด้วย เพราะว่าการตัดสินอะไรจากมุมเดียว เรามักจะรู้สึกว่า ทำไมเรื่องนี้มันงี่เง่าจัง แต่ถ้าเรากลายเป็นเขา เราอาจจะไม่ได้คิดอย่างนี้ก็ได้