- ทุกวันนี้อวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัว หรือไกลเกินฝัน ไม่เฉพาะกับเด็กๆ ในประเทศมหาอำนาจ แต่ยังเป็นหนึ่งในเส้นทางที่ไม่ได้ตีบตันสำหรับเด็กไทย ถ้าได้รับการส่งเสริมสนับสนุนอย่างถูกทาง
- ไอเดียและไอซีเติบโตมาในครอบครัวที่มีนิทานเป็นสื่อกลาง ไอเดียชอบศิลปะ ส่วนไอซีช่างซักช่างถาม ทั้งสองคนสนใจเรื่องอวกาศมาตั้งแต่สมัยประถม ด้วยเหตุผลว่าเป็นเรื่องที่มองไม่เห็น อยู่นอกโลกและดูยิ่งใหญ่
- อวกาศเป็นเรื่องสนุก ไม่จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีขั้นสูงในการสอนเรื่องอวกาศให้ก้าวล้ำกว่าประเทศอื่น ไม่จำเป็นต้องมีห้องแล็บไร้แรงโน้มถ่วง แค่สอนกระตุ้นให้นักเรียนรู้ว่ามีเรื่องราวเหล่านี้อยู่ แล้วนักเรียนที่สนใจจะไปหาคำตอบเอง
ภาพ: ไอเดีย ไอซี
เวลาที่เด็กสักคนพูดว่า “หนูอยากเป็นนักบินอวกาศ” หรือฝันถึงการทำงานบนอวกาศ ถ้าไม่เจอกับคำพูดดับฝันอย่าง “เป็นไปไม่ได้” “โอกาสมันน้อยมากสำหรับเด็กไทย” ก็คงตามมาด้วยเสียงหัวเราะ เอ็นดูกับความฝันไร้เดียงสาแบบเด็กๆ
แต่ในความจริง ทุกวันนี้อวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัว หรือไกลเกินฝัน ไม่เฉพาะกับเด็กๆ ในประเทศมหาอำนาจ แต่ยังเป็นหนึ่งในเส้นทางที่ไม่ได้ตีบตันสำหรับเด็กไทย ถ้าได้รับการส่งเสริมสนับสนุนอย่างถูกทาง
ไอเดีย – ศวัสมน ใจดี อายุ 20 ปี กับ ไอซี – วริศา ใจดี อายุ 18 ปี คือ สองพี่น้องที่เริ่มต้นเส้นทางสู่อวกาศแบบไม่ต้องปีนหอคอยสูงเสียดฟ้า การไต่ระดับความฝันของทั้งคู่เริ่มต้นจากการเปิดกว้างของคนในครอบครัว การเรียนรู้ด้วยตัวเองโดยไม่กลัวที่จะล้มเหลว การกล้าทำในสิ่งที่คิดว่ายากและพยายามจนสำเร็จ ซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับหลายๆ บ้านได้
ตั้งแต่เด็กไอเดียและไอซีเป็นเด็กช่างถามช่างจินตนาการ พอเริ่มสนใจเรื่องอวกาศ ก็เริ่มหาความรู้ด้วยตัวเองและเดินตามความฝันด้วยการส่งแนวคิดเพื่อเข้าร่วมการทดลองบนอวกาศกับโครงการระดับนานาชาติ จนได้รับโอกาสให้เข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับอวกาศหลายต่อหลายครั้ง และแม้ตอนนี้ไอเดียจะเรียนอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ก็ยังสนใจเรื่องอวกาศ เพราะเชื่อว่าทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกันหมด ส่วนไอซีกำลังเตรียมตัวเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย ที่คณะวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์
ในความรู้สึกของทั้งคู่อวกาศจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่อยู่ใกล้ขนาดที่สามารถเดินเข้าหาและสัมผัสได้ พวกเธอบอกว่า ทุกคนสามารถฝันถึงอวกาศได้ ตั้งแต่ยังคำนวณสูตรวิทยาศาสตร์ไม่ได้ ยังไม่เข้าใจหลักการฟิสิกส์ หรือแม้แต่ทฤษฎีวิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำไป ขอแค่มี ‘จินตนาการ’ และความมุ่งมั่น ก็เป็นต้นทุนที่ดีแล้ว
“ในขณะที่เรื่องอวกาศในบ้านเรายังถูกมองเป็นเรื่องห่างไกล แต่ที่โน่น (จีน) ศึกษาและสอนเด็กๆ เรื่องเคลียร์พื้นที่ในอวกาศกันแล้ว ตอนนี้ก็มีสาขาเรียนใหม่เกี่ยวกับกฎหมายอวกาศ การใช้พื้นที่ทางอวกาศ เตรียมรองรับไว้ก่อนแล้ว ไปไกลกันขนาดนั้น…”
จักรวาลเริ่มต้นที่บ้าน นิทานคือบทเรียนที่ 1
“ไอเดีย (Idea) ชอบเตะท้องแม่ตั้งแต่อยู่ในท้อง แต่ถ้าเปิดเพลงให้ฟังแล้วจะหยุดเตะ พ่อบอกว่า เออ… ลูกคงกำลังคิดอะไรอยู่นะ ก็เลยได้ชื่อนี้มา””
“ไอซี (I see) ลืมตาไวและตาโตมาก เหมือนรู้เรื่องแล้ว เข้าใจแล้ว แปลตรงตัวเลยก็แปลว่าฉันเห็น ฉันเข้าใจ” ทั้งสองคนอธิบายถึงที่มาที่ไปของชื่อเล่นตัวเอง
ด้วยวัยที่ห่างกันเพียง 2 ปี ทั้งไอเดียและไอซีทำกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่วัยเด็กด้วยกันมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการวาดรูป ไปร้านหนังสือ เล่นบทบาทสมมุติ เล่านิทาน เขียนนิยาย ในวัยประถมไอเดียช่วยสอนหนังสือน้อง โตขึ้นมาก็ชวนกันสมัครเข้าร่วมโครงการวิทยาศาสตร์ ยิ่งโตขึ้นก็กลายเป็นบัดดี้ที่สามารถแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันได้
“เคยเล่นบทเป็นเม็ดเลือดขาวในร่างกายวิ่งไปวิ่งมา เพราะแม่ชอบพูดให้ฟังว่าไอเดียกับไอซีต้องกินอาหารให้ครบ 5 หมู่นะ ไม่อย่างนั้นเม็ดเลือดขาวจะไม่แข็งแรง ไม่มีภูมิคุ้มกันโรค เราก็มาเล่นบทบาทสมมุติเป็นเม็ดเลือดขาว หน่วยปราบปรามเชื้อโรคในร่างกาย หรือบางเรื่องก็มาจากนิทาน เรื่องเล่าจากหนังสือที่เราอ่าน” ไอเดีย เล่า
ไอเดียและไอซี บอกว่า พวกเขาเติบโตขึ้นจากครอบครัวที่มีนิทานเป็นสื่อกลาง ยายชอบเล่านิทานให้แม่ฟัง แม่ก็เล่านิทานให้ลูกๆ ฟังอยู่เสมอ ครั้งหนึ่งทั้งสองคนได้มีโอกาสแวะไปเยี่ยมญาติซึ่งเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ระหว่างรออยู่ในห้องสมุด ก็มีโอกาสได้เล่านิทานให้น้องๆ นักเรียนในห้องสมุดฟัง
ภาพที่เกิดขึ้นวันนั้น ทั้งสองคนถูกล้อมรอบด้วยน้องๆ หลายสิบคนที่ตั้งใจฟังเรื่องเล่าจากนิทานอย่างตั้งใจ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แม่จึงชักชวนไอเดียและไอซีอาสาไปเล่านิทานให้กับน้องๆ และเพื่อนๆ นักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ อยู่บ่อยๆ จนถึงขั้นขึ้นประกวดเวทีเล่านิทาน ซึ่งการเล่านิทานของพวกเขา ไม่ใช่แค่การเปิดหนังสือแล้วอ่านตามตัวอักษรไปทีละหน้าเท่านั้น หลายๆ ครั้งเป็นการเล่าที่ทั้งสองคนลงมือออกแบบและประดิษฐ์อุปกรณ์เพื่อนำไปใช้แสดงบทบาทสมมุติประกอบการเล่านิทาน
“เริ่มจากครอบครัวเราเองที่มีหลายวัยไปสู่คนข้างนอกซึ่งเป็นอีกสังคมหนึ่ง เราก็คิดหาวิธีเล่าเพื่อให้นิทานออกมาสนุก ทั้งคนที่เล่ากับเราและผู้ฟัง ซึ่งเราก็สนุกไปด้วย ได้เจอเพื่อนหลากหลายวัยหลากหลายความคิด ต้องนำเล่าบ้าง ตามเขาบ้าง หรือต้องสอนเขาบ้าง ทำให้ได้พัฒนาทั้งด้านการพูดและรู้จักรับฟัง เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงตัวเองเสมอ” ไอซี เล่า ขณะที่ไอเดียเสริมว่า
“เวลาเรียนรู้เรื่องอะไรมาแล้วรู้สึกว่ายาก แม่จะพยายามนำเรื่องนั้นมาทำเป็นนิทาน เป็นเรื่องเล่า ให้มีความสนุก ทำให้เราจำได้ หลังจากแม่เล่าให้ฟังก็ทำให้เดียอยากเขียนนิทานเองบ้าง เวลาเราเขียนเรียงความ เขียนกลอน เขียนวิเคราะห์ในห้องเรียนก็ทำออกมาแล้วครูชมว่ามันเชื่อมโยงดีนะ ดูเป็นผู้ใหญ่ดีนะ ซึ่งเราได้มาจากการเล่านิทานทั้งหมด แล้วเอามาใช้โดยไม่รู้ตัว”
การอ่านและเปิดรับการเรียนรู้ ทำให้ไอเดียได้มาพบกับความลี้ลับของอวกาศ เธอเริ่มสนใจเรื่องอวกาศมาตั้งแต่สมัยประถม ด้วยเหตุผลว่าเป็นเรื่องที่มองไม่เห็น อยู่นอกโลก และดูยิ่งใหญ่ แล้วก็ชักชวนไอซีให้มาอ่านมาเรียนรู้ด้วยกัน
“ตอนเด็กเดียเป็นคนพูดมาก อ่านอะไรมาก็จะเอามาเล่าให้พ่อแม่ให้ไอซีฟัง ไอซีก็เริ่มสนใจด้วยเหมือนกัน คุยกันไปคุยกันมา ชวนกันออกไปดูดาวที่สวนหน้าบ้าน ช่วงที่มีฝนดาวตกเราก็ตื่นเต้นกันมาก คิดว่าถ้าได้ไปอวกาศจริงๆ ก็คงจะดี ความฝันตอนเด็กๆ เลยอยากเป็นนักบินอวกาศ พอโตขึ้นมาได้รู้เพิ่มขึ้น เราก็รู้ว่าเรียนสายอื่นก็เอามารวมกันได้ เป็นหมอแล้วมาเป็นนักบินอวกาศด้วยก็ได้ งั้นเรามาเป็นหมอก่อนไหม”
“แรงบันดาลใจหลักๆ เรื่องอวกาศของพวกเราก็น่าจะได้มาจากการอ่านและดูหนัง ทั้งหนังสารคดีของนาซ่า (NASA) ดิสคัฟเวอรี่ (Discovery) เนชั่นแนล จีโอกราฟิก (National Geographic) และหนังไซไฟ (sci-fi) พี่เดียชวนดู ชวนอ่าน ซีเริ่มมองว่ามันเรื่องจริงนะ วันหนึ่งโลกอาจจะอยู่ไม่ได้ เราต้องไปอยู่กันที่อวกาศแน่นอน ซีสนใจเรื่องอวกาศจริงจังตอน ม.3 ที่ได้เรียนฟิสิกส์ดาราศาสตร์ แล้วตอนนั้นเอาความรู้เรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศไปใช้ทำในการนำเสนองานที่ค่ายแล้วได้รางวัลมา เลยรู้สึกดีใจว่า ดีนะที่เรารู้เรื่องพวกนี้มันเอามาใช้ได้จริงๆ” ไอซี กล่าว
แสวงหาโอกาสและประสบการณ์ บันไดขั้นแรกสู่อวกาศ
“ใครๆ ก็ร่วมทำการทดลองกับนักบินอวกาศได้” ไอเดีย เอ่ยขึ้นก่อนอธิบายถึงโครงการ Space Seeds For Asian Future 2013 ที่ได้ทำการทดลองปลูกถั่วแดงญี่ปุ่นร่วมกับนักบินอวกาศ เพื่อเปรียบเทียบผลการเจริญเติบโตของถั่วแดงในภาวะไร้แรงโน้มถ่วง สนับสนุนโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับองค์การวิจัยและพัฒนาการสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA (Japan Aerospace Exploration Agency)
ตอนนั้นไอเดียเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ดูเหมือนว่าความฝันเรื่องไปอวกาศของเธอค่อยๆ ชัดขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทั้งไอเดียและไอซีได้นำคำถามที่ติดค้างคาใจอีกหลายอย่างเกี่ยวกับอวกาศ มาตั้งเป็นหัวข้อเพื่อทดลองทำในอวกาศ แล้วส่งความคิดที่มาจากจินตนาการเหล่านั้นเข้าร่วมภารกิจ Asian Try Zero G 2015 ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนอายุไม่เกิน 27 ปี ส่งแนวความคิดการทดลองด้านอวกาศเข้าร่วมประกวด เพื่อคัดเลือกให้นักบินอวกาศ JAXA นำไปทดลองจริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นการทดลองที่ไม่เคยทำบนอวกาศมาก่อน ใช้อุปกรณ์ที่มีให้เลือกในแคตตาล็อก และใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที
ฟังดูแล้วน่าจะไม่ใช่เรื่องที่คิดได้ง่ายๆ แต่ทั้งคู่คิดตรงกันข้าม
…บนโลกมนุษย์มีเหตุการณ์และการทดลองต่างๆ เกิดขึ้นมากมายก็จริงแต่ไม่ใช่บนอวกาศ ดังนั้น เหตุการณ์และสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นปกติบนโลกมนุษย์ เป็นเรื่องที่น่าสนใจและเป็นเรื่องใหม่สำหรับการนำไปทดลองในอวกาศ ได้แทบทุกเรื่อง…
การทดลองของทั้งคู่ที่ได้รับคัดเลือกในปี 2015 คือ Zero G painting ทั้งสองคนต้องการรู้ว่าในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงจะสามารถวาดภาพบนอวกาศได้หรือไม่ ภาพวาดจะออกมาเป็นอย่างไร โดยมีนักบินอวกาศญี่ปุ่น คิมิยะ ยูอิ ใช้พู่กันจุ่มกาแฟ (แทนสีน้ำ) ระบายบนแผ่นกระดาษในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงบนสถานีอวกาศ
ส่วนอีกโครงการที่ได้รับเลือกในปี 2017 คือ Inside the Slinky การจำลองการเดินทางของวัตถุในสลิงกี้ (ของเล่นเด็กแบบสปริง) เพื่อศึกษาเกี่ยวกับมวลหรือน้ำหนักที่ต่างกันของวัตถุรูปทรงกลมเดียวกันขนาดเท่าๆ กันในลูปของสลิงกี้ด้วยแรงกระทำภายนอกที่ต่างกัน
“พวกเราส่งหัวข้อกันทุกปี ตั้งแต่ปี 2015 รวม 4 เรื่อง เรื่องที่ส่งแล้วได้รับเลือกมี 2 เรื่องเป็นคำถามพื้นฐานที่ชวนให้คิดว่าถ้าวันหนึ่งเราได้ไปอยู่ในอวกาศจริงๆ กิจวัตรประจำวันที่เราเคยทำมันจะแตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไร พี่เดียกับซีพยายามคิดด้วยกันบ่อยๆ การตั้งคำถามไม่มีผิดถูกอยู่แล้ว เรื่องการได้รับคัดเลือกหรือไม่ เราไม่ได้คาดหวัง แต่คงเป็นเพราะเราส่งทุกปี ปีสุดท้ายเราก็เลยได้ไปประเทศญี่ปุ่น JAXA เปิดโอกาสให้เจ้าของแนวคิดที่ได้รับการคัดเลือก เดินทางไปชมการทดลองของนักบินอวกาศแบบสดๆ ด้วยตนเองที่ศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินเมืองสึคุบะ (Tsukuba)” ไอซี เล่า
นอกจากนี้ ไอซี ยังได้ออกแบบยานกำจัดขยะอวกาศ (The DEBRIS BUGS) ฉายเดี่ยวในโครงการ APSCO Youth Space Contest 2017, Theme “Future Space Homeland” ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
“ซีต่อยอดจากที่เคยได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปเข้าค่ายอวกาศที่ประเทศเกาหลี นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างที่อยู่อาศัยบนดาวอังคารกับเพื่อนๆ ต่างชาติ พอกลับมาสมัครโครงการนี้ระดับเยาวชนในหัวข้อวิธีการกำจัดขยะอวกาศ เป็นส่วนหนึ่งของงาน GEO-SCIENCE YOUTH FORUM 2017 ที่ไทย ผลงานนี้ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขัน APSCO Youth Space Contest 2017 เรียกว่าทำต่อไปเรื่อยๆ ผ่านมาทีละขั้น แต่ละขั้นไม่ได้คิดว่าต้องได้รับเลือก แต่ตั้งใจเรียนรู้จากค่ายแล้วนำแนวคิดมาปรับใช้เรื่อยๆ”
จากความฝันและจินตนาการ บวกกับความคิดและความอยากมองเห็นคำตอบในสิ่งที่สงสัย จุดประกายให้ทั้งสองคนค้นหาและเรียนรู้อย่างไม่ลดละและไม่ท้อแท้ แต่กลับสนุกกับการได้คิดและได้ทดลองทำระหว่างทาง
“เราทำไปเพราะชอบ เราส่งในสิ่งที่เราสงสัย คิดในสิ่งที่มันสนุก ไม่ได้คิดเรื่องได้รางวัล สุดท้ายจะได้หรือไม่ได้รับการคัดเลือกอย่างน้อยก็สบายใจว่าได้ให้โอกาสตัวเองได้ทำ ถือเป็นแรงบันดาลใจอีกเรื่องที่ผลักดันตัวเราในอนาคตให้ก้าวไปข้างหน้า”
“ซีทำความเข้าใจกับตัวเองทุกครั้งว่าเราต้องฝึกฝนเพิ่มอยู่เรื่อยๆ ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราไม่รู้ แล้วก็ศึกษาจากเพื่อนๆ ที่ได้รับการคัดเลือก ทุกครั้งซีนึกถึงความสนุกตอนที่คิดจะทำ ว่าเป็นการใช้เวลาที่มันคุ้มค่ามากๆ แล้วเราก็เต็มที่แล้ว” ไอซี กล่าว
การเรียนรู้ที่เริ่มจากความสนใจ ตั้งคำถามและกล้าคิดกล้าทดลองทำสิ่งใหม่ๆ
ปัจจุบัน ไอเดียกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ แต่ยังมีความสนใจเรื่องอวกาศ เพราะเชื่อว่าทุกเรื่องในชีวิตประจำวันเชื่อมโยงกับอวกาศได้หมด ส่วนไอซีก็กำลังเตรียมตัวเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย คณะวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ หรือทางด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) และอาจกลับมาเรียนต่อที่ไทยหลังจบการศึกษาจากองค์การสหสากลวิทยาลัย หรือ United World Colleges (UWC) แห่งแรกของโลกที่ประเทศเวลส์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ UWC Atlantic College
“ถ้าคุณตั้งคำถามได้เหมาะสม การได้คำตอบก็เป็นเรื่องง่าย”
หนึ่งในประโยคที่เป็นใจความสำคัญจากหนังสือ The Hitchhiker’s Guide to the Galaxy ซึ่งทั้ง 2 คนชอบ ไม่ว่าจะเป็นความบังเอิญหรือไม่ก็ตาม หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มเดียวกับที่ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เจ้าของบริษัทเทสลา (Tesla) ผู้ผลิตรถพลังงานไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีขับเคลื่อนด้วยตัวเอง และ ผู้ก่อตั้งบริษัท Space Exploration Technologies Corp หรือ “สเปซเอ็กซ์” (SpaceX) ที่สามารถผลิตจรวดนำกลับมาใช้ใหม่ได้
“หนังสือเล่มนี้ทำให้เดียรู้สึกว่าอวกาศเป็นเรื่องสนุก ครูไม่จำเป็นต้องโฟกัสว่าต้องมีเทคโนโลยีขั้นสูงในการสอนเรื่องอวกาศให้ก้าวล้ำกว่าประเทศอื่น ไม่จำเป็นต้องมีห้องแล็บไร้แรงโน้มถ่วง แต่แค่สอนกระตุ้นให้นักเรียนรู้ว่ามีเรื่องราวเหล่านี้อยู่ แล้วนักเรียนที่สนใจจะไปหาคำตอบเอง
เพราะการเรียนในห้องเรียนอย่างเดียวยังไงก็ไม่มีวันพอ เด็กสามารถเข้าถึงข้อมูลเองได้ แค่สอนให้เด็กเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและอ่านให้เป็น ครูแค่ระวังอย่าทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง แล้วไม่กล้าเรียนต่อก็พอ ถ้าเราปั้นทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ด้านนี้มามากพอสักวันหนึ่งเราก็จะไปอวกาศจริงๆ ได้เอง” ไอเดีย กล่าว
ทั้งสองคนเล่าถึงวิธีการเรียนรู้ของตัวเองว่ามาจากเรื่องที่สนใจ ความสนใจช่วยสร้างแรงบันดาล แรงผลักดัน รวมถึงแพชชั่นในการเรียนรู้เรื่องนั้นๆ หลังจากนั้น คือ การตั้งคำถามในเรื่องที่สงสัยเพื่อหาคำตอบ ซึ่งคำตอบที่ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่โตเสมอ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ไม่ได้ เพราะคำตอบที่ได้อาจเป็นความรู้ที่มากขึ้น การได้พัฒนาตัวเอง หรืออาจนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่ไม่เคยมีมาก่อน
“เดียเป็นคนที่ชอบทำอะไรก็จะลงมือทำ แล้วก็ทำจนกว่าจะทำสิ่งนั้นได้ดี ยกตัวอย่างเรื่องการวาดรูป ไม่ว่าจะเป็นช่วงสอบ หรือต้องทำอะไรก็ตาม ถ้าตอนนั้นรู้สึกว่ามีแพชชั่น มีแรงบันดาลใจอยากวาดรูป เดียก็จะวาดตอนนั้นเลย หรือว่านอนอยู่กลางดึกแล้วมีไอเดีย มีพล็อตเกี่ยวกับนิยายที่จะเขียนผุดขึ้นมา ก็จะตื่นมาจดเลย เพราะปล่อยไว้ก็จะลืม เป็นคนที่ทำอะไรต้องทำให้เสร็จ ชอบวางแผนไว้ก่อนแล้วก็ทำ เช่น ตั้งใจจะเขียนหนังสือเล่มนี้ภายใน 3 เดือน ก็จะต้องทำให้เสร็จ”
“ซีเป็นคนอยู่นิ่งไม่ได้ ชอบหาอะไรมาทำเรื่อยๆ โต๊ะซีจะรกมากเพราะทำอันโน้นอันนี้เยอะไปหมด สมัยเด็กๆ ก็มีพี่เดียชวนอ่านหนังสือแล้วทำให้ซีมีสมาธิขึ้น โฟกัสให้งานเสร็จเป็นอย่างๆ ไป อ่านหนังสือให้จบทีละเล่มๆ ซีมองว่าตัวเองเป็นคนจริงจัง คิดมาก ซีหยุดคิดไม่ได้จะมีอะไรในมือกับในหัวตลอดเวลา แต่มันดีตรงที่ทำให้มีสติแล้วไม่ค่อยลืมตัว ไม่ทำอะไรที่ต้องมาตามแก้ทีหลัง”
“แรงบันดาลใจทำให้ซีกล้าคิดกล้าทดลองทำในสิ่งใหม่ๆ ทำให้ซีกล้าก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง เช่นการมาเรียนที่เวลส์ แล้วเลือกเรียนฟิสิกส์ตัวยากแต่ชอบ ทั้งที่ตอนเรียนอยู่ไทยสอบตกต้องนั่งซ่อมด้วยการคัดโจทย์หลายร้อยข้อมาก่อน แรงบันดาลใจผลักดันให้ซีไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เปลี่ยนเรื่องเหนื่อยเป็นสนุกแล้วพอสำเร็จเราก็มีความสุข”
ประสบการณ์ไม่จำกัดกรอบ แรงหนุนจากครอบครัว
“เรามาเรียนรู้เรื่องนี้กันเถอะ” เป็นประโยคที่แม่ใช้พูดกับทั้งสองคนอยู่เสมอ เป็นคำพูดที่ไม่จำกัดกรอบ ไม่จำแนกว่าสิ่งที่จะเรียนรู้ต่อไปนี้เป็นวิชาอะไร ทำให้ทุกเรื่องเป็นเรื่องที่น่าสนใจเสมอ
“สมัยเด็กๆ พ่อแม่ไม่เคยบังคับว่าเราต้องเรียนสายวิทย์-คณิต หรือบอกให้ไปทางไหน พ่อแม่ไม่เคยมาจำแนกให้ฟังว่าแบบนี้คือวิทย์ คณิตนะ ถ้าเป็นแบบนี้คือฟิสิกส์ เคมี ชีวะ หรือเกี่ยวกับศิลปะ ภาษา เดียรู้สึกว่าทั้งวิทยาศาสตร์ ภาษา ศิลปะ ทุกเรื่องรวมกันได้หมด
เพราะถ้าเดียไม่รู้ภาษาอังกฤษ เดียก็ไม่สามารถเข้าไปค้นหา อ่านงานวิจัยที่เป็นภาษาอังกฤษได้ ถ้าเดียวาดรูปไม่ได้ หรือไม่ชอบวาดรูปเดียอาจจะเรียนวิทยาศาสตร์ไม่สนุกก็ได้ เพราะแค่การอ่านเรามองไม่เห็นภาพ มันเลยกลายเป็นวิธีการเรียนรู้ของเดีย เพราะพ่อแม่ไม่เคยใส่กรอบมาตั้งแต่เด็กๆ เลยชอบได้ทุกอย่าง สิ่งที่เดียชอบหลายๆ อย่างค่อนข้างขัดแย้งกัน เดียชอบภาษา ชอบวาดรูป หลายๆ คนเลยไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมเดียชอบวิทยาศาสตร์ แล้วก็มาเรียนหมอ ไม่ได้ใช้สมองซีกใดซีกหนึ่ง” ไอเดีย เล่า
“ซีรู้สึกเสมอว่าตัวเองไม่ได้เก่ง เลยต้องตั้งใจมากกว่าคนอื่นหลายเท่า เวลาทำงานหรืออ่านหนังสือเตรียมสอบซีใช้เวลาเยอะมากในการเตรียมตัว ทำให้ต้องพัฒนาทักษะตนเองอยู่เสมอ พ่อกับแม่สอนไว้คือให้ตั้งใจทำทุกอย่างจนเข้าใจด้วยตนเอง และเมื่อรู้แล้วให้สอนคนอื่นต่อ การสอนคนอื่นกลายเป็นการฝึกฝนทักษะอีกทางหนึ่งของซี ทั้งด้านการสื่อสาร และวิชาความรู้ที่ต้องหามาให้คำตอบคนอื่นได้ ทั้งหมดนี้ทำให้ซียังเดินอยู่ในเส้นทางของการทดลอง และจินตนาการไปเรื่อยๆ ให้โอกาสตัวเองได้ทำสิ่งใหม่ๆ”
“แม่บอกว่าพี่เดียหาเรื่องยากให้ตัวเองด้วยการเรียนหมอ ส่วนซีก็ตั้งใจเป็นครูมาตลอดเพราะวัยเด็กใช้เวลาไปเล่านิทานสอนเด็กเยอะมาก ซีหาเรื่องยากด้วยการมาอยู่ที่เวลล์ ซีรู้ว่ามันยาก แต่พอเราผ่านพ้นไปได้ เราจะได้เรียนรู้อะไรบางอย่างเสมอ ซีถือว่าเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ดี ประสบการณ์ตรงนี้แหละเป็นตัวบอกว่าเราควรวางตัวอย่างไรในสังคมเพื่อให้ชีวิตราบรื่น” ไอซี กล่าวอย่างแน่วแน่
เป้าหมายของการไปอวกาศคงไม่ใช่แค่การไปเหยียบดวงจันทร์หรือไปถึงดาวอังคาร เพราะหากเป็นอย่างนั้นเราคงไปได้ไม่ไกลกว่าการเดินตามหลังมหาอำนาจชาติอื่น ที่ลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศจนก้าวล้ำหน้ามาหลายทศวรรษ แต่การทำให้อวกาศเป็นเรื่องใกล้ตัว เข้าถึงง่าย ไม่น่ากลัวและไม่ไกลเกินเอื้อมสำหรับเด็กและเยาวชน จนทำให้เกิดความสนใจศึกษาค้นคว้าต่อ จะเป็นบ่อเกิดของความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมอีกมากมาย
“สำหรับสังคมปัจจุบัน การศึกษาเรื่องอวกาศจำเป็นและสำคัญต่อการพัฒนาเยาวชนรุ่นใหม่เป็นหลัก ซีเคยไปค่ายอวกาศที่จีน เป็นที่น่าสนใจมากว่าเด็กเขาพูดถึงแต่การไปอยู่อวกาศ ถึงขั้นว่าต้องจับจองพื้นที่กัน มีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องขยะอวกาศ
ซีไปนำเสนอแนวคิดเรื่องยานกำจัดขยะอวกาศ อาจารย์คนหนึ่งเอานามบัตรมาให้ พอค้นหาชื่ออาจารย์ในอินเทอร์เน็ตเจอว่าเขาทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องนี้เยอะมาก ในขณะที่เรื่องอวกาศในบ้านเรายังถูกมองเป็นเรื่องห่างไกล ที่โน่นเขาศึกษาและสอนเด็กๆ เรื่องเคลียร์พื้นที่ในอวกาศกันแล้ว ตอนนี้ก็มีสาขาเรียนใหม่เกี่ยวกับกฎหมายอวกาศ การใช้พื้นที่ทางอวกาศ เตรียมรองรับไว้ก่อนแล้ว ไปไกลกันขนาดนั้น
เด็กไทยจึงควรมีโอกาศศึกษาเรื่องนี้กันไว้บ้างเพื่อเตรียมความพร้อม ถ้าเราไม่รู้เราก็จะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นโอกาสทางด้านการศึกษา หรือ การทำธุรกิจระหว่างประเทศ” ไอซี สะท้อนจากประสบการณ์
การเชื่อว่าทุกความฝันและจินตนาการเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ จะช่วยเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนไทยได้ใช้จินตนาการอย่างอิสระมากขึ้น หากมีเด็กสักคนไม่ว่าอยู่แห่งหนตำบลไหนในประเทศไทย เอ่ยขึ้นมาว่า “อยากเป็นนักบินอวกาศ” “อยากไปท่องอวกาศ” หรือ ไม่ว่าอยากเป็นอะไรก็ตาม เด็กคนนั้นไม่ควรถูกส่ายหน้าหรือถูกมองอย่างขำขัน เพราะความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นได้เมื่อความฝันถูกขยายออก ไม่ใช่เมื่อความฝันนั้นถูกทำให้หดเล็กลงจนไร้ตัวตน