- ศิริส้ม (SiriSOM) ผลิตภัณฑ์ช่วยชะลอความเปรี้ยวและยืดอายุของปลาส้ม ให้ผู้ค้าในชุมชนท่าบ่อวางขายได้นานขึ้นโดยไม่ต้องแช่เย็น ผลงานของน้องๆ ชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ โรงเรียนสหราษฎร์รังสฤษดิ์
- ความก้าวหน้าและน่าสนใจของศิริส้ม คือด้วยกระบวนการทดลองที่เป็นวิทยาศาสตร์ ความตั้งใจจะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ โลโก้ และมีกลุ่มผู้ใช้รอซื้อจริง ขาดก็เพียงการขอมาตรฐานรับรองผลิตภัณฑ์เท่านั้น ความฝันของสมาชิกในทีมก็จะเป็นจริง
เรื่อง: มณฑลี เนื้อทอง
ภาพ: โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่
แม้แม่ช้อยฯ ไม่ได้กล่าวไว้ แต่คนส่วนใหญ่รู้ดีว่า ปลาส้มที่อร่อยเนื้อต้องไม่เละ และความเปรี้ยวต้องพอดี หากปลาส้มแผงใดเปรี้ยวโดด ให้สงสัยได้ทันทีว่า ปลาส้มนั้นค้างแผงนานจนใกล้เสีย
ในมุมวิทยาศาสตร์ ต้นเหตุที่ทำให้ปลาส้มเปรี้ยวจวนเสีย คือ ‘แลคติกแอซิดแบคทีเรีย’ ที่มากเกินไป เจ้าแบคทีเรียนี้ยิ่งมีมาก ปลาส้มยิ่งเสียเร็ว ถ้าแม่ค้าขายไม่ทันก็เท่ากับทุนหายกำไรหด ถ้าลูกค้าโชคร้ายหยิบไปก็สูญเงิน และอาจได้อาการท้องเสียเป็นของแถม
“จะดีกว่าไหม ถ้าเราจะลองใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาช่วยคุมปริมาณแลคติกแอซิดแบคทีเรีย เพื่อยืดอายุให้ปลาส้ม แม่ค้าและลูกค้าจะได้แฮปปี้กันทุกคน”
คือสิ่งที่ 3 สาวและ 3 หนุ่มจากโรงเรียนสหราษฎร์รังสฤษดิ์ อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม คิดออกมาดังๆ ก่อนจะเปิดประตูแห่งการเรียนรู้ออกไปทดลองทำจริงๆ เพื่อพบว่า มีความสำเร็จและผิดพลาดมากมายรออยู่หลังประตูบานนั้น…
ทดลองเข้มข้น จากรุ่นสู่รุ่น
ศิริส้ม (SiriSOM) ผลิตภัณฑ์ช่วยชะลอความเปรี้ยวและยืดอายุของปลาส้มโดยไม่ต้องแช่เย็น เป็นผลงานของน้องๆ ชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ โรงเรียนสหราษฎร์รังสฤษฏ์ ที่พัฒนาต่อเนื่องกันมาถึง 3 รุ่น แต่เดิมเคยทำโครงงานเรื่องการนำน้ำเหลือทิ้งมาทำปลาส้ม จนมาถึงรุ่นของ มายด์-ชยมล ลิปูหนอง ชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สานต่อโปรเจ็คท์ดังกล่าวจนได้รางวัลในการประกวดนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และต่อยอดมาถึงรุ่นปัจจุบัน ที่ทำโครงงานเรื่องการยับยั้งแลคติกแอซิดแบคทีเรียในปลาส้ม
“ตอนทำโครงงานรุ่นแรก เรามีองค์ความรู้เรื่องสารที่สามารถยับยั้งแบคทีเรียได้ รุ่นหนูเลยคิดต่อยอดไปเรื่องการตลาด เริ่มจากไปสัมภาษณ์คนทำปลาส้มว่า ‘นอกจากปัญหาน้ำทิ้งแล้วมีปัญหาอะไรอีกบ้าง?’ ก็เจอปัญหาหนึ่งคือ ปลาส้มเปรี้ยวเร็ว วางขายแค่ 2-3 วันก็เสีย สังเกตได้จากแผงว่าจะมีปลาเก่ากับปลาใหม่ ราคาจะต่างกัน ปลาเก่าคือตัวที่เปรี้ยวมาก ราคาจะถูกกว่า เราเลยนำเรื่องนี้มาเป็นหัวข้อหลักในการทำโครงงาน” มายด์เล่าถึงที่มาของโครงงาน ที่เป็นการยกระดับผลงานเพื่อช่วยแก้ปัญหาธุรกิจปลาส้ม จากระดับกระบวนการผลิต ไปสู่ระดับการตลาด
แต่ด้วยภารกิจที่ต้องพัฒนาโปรเจ็คท์โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับเด็กและเยาวชน (Junior Science Talent Project: JSTP) ของตัวเอง และเพื่อนร่วมทีมก็อยู่ในช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัย จึงส่งต่อผลงานศิริส้ม (ตอนนั้นอยู่ในขั้นผลการทดลอง) ให้รุ่นน้องอย่าง ต๋อง-ภานุพงษ์ อินทะศรี ชั้นม.5, โม-ชญานิกานต์ เจนการค้า ม.6 และ เมย์-พิมลวรรณ สุพะสอน ม.6 โรงเรียนสหราษฎร์รังสฤษดิ์ ทำต่อเพื่อส่งแข่งขันโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition: YSC) โดยมายด์ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงเพื่อส่งต่อองค์ความรู้ สนับสนุนงานเอกสาร และมีอาจารย์ที่ปรึกษาช่วยสนับสนุนการทดลอง
แม้ต้องทิ้งงานของตัวเองเพื่อมารับช่วงต่อจากรุ่นพี่ และไม่ใช่สิ่งที่ทั้ง ต๋อง โม และเมย์ คิดฝันไว้ แต่ด้วยเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่กลุ่มผู้ใช้จะได้รับ ทั้งสามจึงเข้ามารับงานศิริส้มอย่างเต็มตัว
“ตอนนั้นเราทำโครงงานอื่นอยู่ แต่โครงงานนี้มีกลุ่มผู้ใช้ชัดเจนคือ คนในชุมชนท่าบ่อ เลยทิ้งโครงงานเดิมมาทำโครงงานนี้ ตอนนั้นพวกหนูก็ยังไม่รู้ว่าต้องทำยังไง พี่มายด์ต้องสอนงานใหม่หมด ดูค่า pH ก็ยังไม่เป็น ไม่รู้สีอะไรเป็นสีอะไร แยกไม่ออก ก็ต้องทำใหม่เรื่อยๆ” โมเล่าอย่างอารมณ์ดี
โปรเจ็คท์ศิริส้มมีเป้าหมายอยู่ที่การพัฒนาสารเพื่อช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในปลาส้ม ทำให้ปลาส้มมีอายุยาวนานขึ้น ให้ผู้ค้าในชุมชนท่าบ่อสามารถวางจำหน่ายได้นานขึ้นโดยไม่ต้องแช่น้ำแข็ง ซึ่งสิ่งที่ทีมต้องทำก็คือ พิสูจน์สมมุติฐานว่า อนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์ (อนุภาคของซิงค์ออกไซด์ที่มีขนาด 25-50 นาโนเมตร) สามารถยับยั้งเชื้อราและกำจัดแบคทีเรีย สามารถยับยั้งปริมาณแบคทีเรียกรดแลคติก (Lactic Acid Bacteria) ได้จริงหรือไม่ และถ้าสามารถยับยั้งได้ ต้องใช้ในปริมาณความเข้มข้นเท่าไหร่
“ตอนแรกเราวัดผลแค่ตอนปลาย คือวัดค่า pH กับการไทเทรต (Titration) หาความเข้มข้นของกรด เพราะแบคทีเรียเพิ่มปริมาณได้จากกรด เราจึงทดลองจากสมมุติฐานแรกคือ ถ้าเราใส่ปริมาณซิงค์ออกไซด์ที่เท่าไหร่ มันจะให้ความเข้มข้นที่ต่างกัน แล้วมันจะสามารถยับยั้งได้ที่ปริมาณความเข้มข้นที่เท่าไหร่ ทีแรกผลที่ได้อยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าใช้กับของที่เป็นอาหาร ปริมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าสิ้นเปลือง จะเพิ่มต้นทุนมากกว่าลดต้นทุน และอาจตกค้างในร่างกายจากการที่มันแตกตัวไม่หมด เราเลยทดลองสมมุติฐานเพิ่มว่า ถ้าปริมาณน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นอย่างไร แล้วเราก็ทดลองลดความเข้มข้นไปเรื่อยๆ จนถึงประมาณ 0.1 เปอร์เซ็นต์ จนพบว่าช่วงประมาณ 0.1-0.3 เปอร์เซ็นต์ สามารถลดปริมาณแบคทีเรียได้เหมือนกัน” มายด์เล่าถึงกระบวนการทำงานของทีม ซึ่งกว่าจะได้ปริมาณความเข้มข้นที่เหมาะสม ต้องผ่านการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายร้อยรอบ
เมื่อความผิดพลาดกลายเป็นความคุ้นชิน
นอกจากโม-เมย์-ต๋อง ยังมี มาร์ค-ชาญชล ลิปูหนอง และ กุ้ง-ณัฐภัทร ไชยกา โรงเรียนสหราษฎร์รังสฤษดิ์ เข้ามาร่วมทีมในช่วงเข้าโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปี 6 ได้เปิดโลกของการเรียนรู้หลายๆ อย่าง แต่อย่างหนึ่งที่โดดเด่นที่สุดสำหรับพวกเขาก็คือ การฝึกปรือเทคนิคการทดลองทางวิทยาศาสตร์
“หนูไม่เคยทำโครงงานมาก่อน ไปแข่งแค่โครงงานคณิตศาสตร์ก็แทบไม่ได้ทำอะไรเลย รอไปนำเสนอเฉยๆ (หัวเราะ) พอมาทำงานนี้ พี่สอนให้ทำเองทุกอย่าง เขาจะไม่ทำการทดลองให้ แต่จะสอนและซัพพอร์ตอยู่ห่างๆ เราต้องลงมือทำเองหมด ถ้าเราทำผิดพลาดเราก็ต้องเริ่มทำใหม่เอง เหนื่อยมาก สมมุติฐานแรกเราทดลองกัน 20-30 ครั้ง ซึ่งมันเฟล ซื้อปลาส้มมาเต็มตู้เย็นจนแช่อย่างอื่นไม่ได้เลย” โมเล่าด้วยเสียงหัวเราะ
“ตอนเข้ามาแรกๆ ผมยังทำอะไรไม่เป็นสักอย่าง ไม่เคยทำแล็บวิทยาศาสตร์ ก็ค่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ทำให้ได้เรียนรู้วิธีชั่งสารว่าต้องทำอย่างไร รวมทั้งกระบวนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ด้วย” ต๋องเสริม
“ก่อนจบ ม.6 หนูถ่ายทอดทุกสิ่งที่มีให้น้อง ทั้งการผสมสารแต่ละสูตร วิธีเลี้ยงเชื้อ วิธีการไทเทรต วิธีหาความเข้มข้น การใช้เครื่องมือต่างๆ สอนเกือบครึ่งเดือน ทำการทดลองซ้ำๆ วัดปริมาณกรดและทดลองการเลี้ยงเชื้อว่ามันสามารถยับยั้งเชื้อที่เราเลี้ยงได้ไหม” มายด์กล่าว
ใครที่ไม่เคยทำแล็บวิทยาศาสตร์ อาจนึกภาพไม่ออกว่าการทดลองซ้ำๆ ของนักวิทย์นั้นเขาทำกันมากน้อยแค่ไหน เมื่อได้ยินคำถามนี้ โมก็หัวเราะและตอบอย่างร่าเริงว่า
“ถ้านับเป็นชุดการทดลองเราทำหลายรอบมาก ความเข้มข้นที่ 1 เปอร์เซ็นต์ ทำ 3 ชุดการทดลอง ชุดละ 3 ครั้ง ก็ 9 ชุดแล้ว และมีชุดควบคุมอีก 3 ชุด ตีว่า 1 ชุดความเข้มข้นเราต้องทดลอง 9+3 ครั้งตลอด แล้วลดความเข้มข้นไปทีละ 0.1 เปอร์เซ็นต์ รวมแล้วเราทดลองประมาณ 500 ครั้งที่ได้ผล กับอีกประมาณ 300 ครั้งที่ไม่ได้ผล ใช้ปลาส้มในการทดลองไปประมาณ 800 ตัว”
การทดลองเหยียบ 1,000 ครั้งถือว่าไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักเรียน ม.ปลาย อย่างพวกเขา หนำซ้ำในการทดลอง 800 กว่าครั้งนั้นก็ไม่ใช่จะสำเร็จไปทุกครั้ง หากแต่พวกเขาต้องประสบกับความผิดพลาดไปถึง 300 ครั้ง
พวกเขารับมือกับความพลาดหวังดังกล่าวกันอย่างไร?
“ถ้าเราทำผิดพลาดเราก็ต้องเริ่มทำใหม่” คือประโยคที่โมทวนให้ฟังอีกรอบด้วยน้ำเสียงสบายๆ เหมือนคุ้นชินไปแล้วกับความผิดพลาดที่เจอเป็นประจำ
“สิ่งที่ทำให้เรารู้ว่ามันเฟลคือ จะมีปลาที่เน่าตอนวันที่ 4 หรือ 5 หลังการทดลอง ซึ่งจริงๆ มันต้องไม่เน่าเพราะมีแบคทีเรียที่ผลิตกรดอยู่แล้ว เราก็ต้องไปดูว่าช่วงระหว่างนั้นทดลองยังไง ผิดตรงไหน ใส่อะไรแปลกไป หรือเปิดฝาทิ้งไว้ ก็ต้องสืบจากคำบอกของน้องว่าทำอะไรไปบ้าง ต้องหาให้ได้ว่าผิดพลาดตรงจุดไหน แล้วทำใหม่ บางครั้งก็ไม่รู้สาเหตุจริงๆ ว่าเกิดจากอะไร ก็ทำใหม่” มายด์เสริม
แม้จะต้องพบกับความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็นความคุ้นชิน แต่มันก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาหยุดยั้งการทดลอง ส่วนหนึ่งก็เพราะว่ามีผู้ใช้ที่รอคอยผลงานของพวกเขาอยู่
“เราเอาผลงานไปเสนอให้ร้านค้าปลาส้มลองใช้ ตอนนี้มี 2 เจ้าแล้วที่ลองแล้วเวิร์ค เขาชอบ ทีแรกพวกหนูต้องการแก้ปัญหาแค่เรื่องน้ำแข็ง แต่เขาฟีดแบ็คกลับมาว่ามันแก้ปัญหาเรื่องถุงได้ด้วย คือปกติถุงที่เขาซีลปลาส้มไว้มันจะพองลม เพราะแบคทีเรียไม่ได้ผลิตแค่กรดอย่างเดียว แต่มันผลิตแก๊สด้วย พอผลิตแก๊ส ถุงก็จะพอง ทำให้เขาต้องเปลี่ยนถุงใหม่เรื่อยๆ เพราะถุงไม่สวยใครก็ไม่อยากซื้อ ซึ่งถุงมีราคาแพงมาก ถ้าต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ก็เพิ่มต้นทุน อีกอย่างพอใส่น้ำแข็งถุงก็แตก ตรงนี้เลยเป็นผลพลอยได้ เพราะทีแรกเราคิดแค่ยับยั้งกรด แต่พอแบคทีเรียน้อยแก๊สมันก็น้อยลงด้วย” มายด์เล่าอย่างภาคภูมิใจ
ความผิดพลาดครั้งใหญ่ กับความฝันที่ยังไม่หายไป
ดูจากพัฒนาการของผลงานแล้ว กล่าวได้ว่าศิริส้มเป็นโปรเจ็คท์ที่มีความก้าวหน้าชนิดน่าจับตามอง ด้วยกระบวนการทดลองที่เป็นวิทยาศาสตร์ ความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ที่เป็นรูปธรรม มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ โลโก้ และมีกลุ่มผู้ใช้รอซื้อจริง ขาดก็เพียงการขอมาตรฐานรับรองผลิตภัณฑ์เท่านั้น ความฝันของสมาชิกในทีมก็จะเป็นจริง
“ตอนค่ายสองโค้ชบอกว่า ผลงานของเราเป็นของกิน ต้องส่งขอ อย. ก็ได้ไปจ้างแล็บของห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ระหว่างนั้นเราก็พัฒนาแพ็คเกจไปเรื่อยๆ” มายด์เล่า
ขณะที่โมขยายความต่อ “ตอนค่ายสามมีผลแล็บประมาณหนึ่งแล้ว พี่โบ้ (สิทธิชัย ชาติ นักวิชาการ งานพัฒนาเยาวชนและเขตพื้นที่ด้านไอที ฝ่ายสนับสนุนการวิจัย NECTEC และหัวหน้าโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่) ก็ให้ไปศึกษาวิธีการขอ อย. ว่าต้องผ่านอะไรบ้าง หนูก็ไปค้นหาในอินเทอร์เน็ตว่าผลิตภัณฑ์นี้สามารถยื่นประเภทไหนได้บ้าง เขาบอกว่ามันเป็นประเภทเจือปนในอาหาร ก็ไปดูว่าต้องผ่านเกณฑ์อะไรบ้าง ซึ่งมันเป็นเรื่องใหม่ที่เราไม่เคยรู้มาก่อน แต่ก็อยากทำให้ได้ เพราะส่วนหนึ่งที่ชุมชนยังไม่ค่อยเชื่อมั่นในผลงานเรา เพราะเรายังไม่มี อย. ติดข้างขวด”
รูปการณ์เหมือนจะผ่านไปได้ด้วยดี แต่ในวันสุดท้ายก่อนที่จะปิดค่ายโครงการต่อกล้าฯ ทีมก็ได้รับข่าวร้ายที่ไม่มีใครคาดคิด
“กรรมการและทีมโค้ชเรียกให้เข้าไปคุยในห้องประชุม หนูก็ชิลล์ๆ เข้าไปนั่ง แต่ก็กะว่าต้องมีเรื่องแล้ว เพราะเห็นทุกคนหน้าตาจริงจังมาก แล้วเขาก็แจ้งว่าทางศูนย์นาโนเทคโนโลยีฯ แจ้งมาว่า สารที่เราใช้ มันใช้กับภายนอกได้ แต่ยังไม่มีผลวิจัยที่บอกว่าสามารถกินได้ คือไม่ได้บอกว่ากินไม่ได้ แต่ยังไม่มีผลวิจัยมารองรับว่ากินได้ มันก็เลยยังไม่ควรกิน” มายด์เล่าถึงข่าวร้ายที่ทีมได้รับ
“ตอนนั้นรู้สึกเสียใจ เพราะอีกนิดเดียวมันก็จะเสร็จแล้ว สุดท้ายโค้ชบอกว่าให้ลองเปลี่ยนจากอนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์เป็นสารอื่นที่สามารถกินได้ แต่ตอนนั้นเราก็แบบ… อุตส่าห์ทำแทบตาย” โมเล่าถึงอารมณ์ในตอนนั้น
ขึ้นชื่อว่าความพลาดหวัง เป็นภาวะที่ไม่มีใครอยากพบเจอ แต่สำหรับสมาชิกทั้งหกที่มีภูมิคุ้มกันเรื่องความผิดพลาดมาอย่างโชกโชน แม้จะเสียใจ แต่พวกเขายังไม่ท้อ
“เสียใจ แต่ไม่ท้อ มันน่าเสียดายแต่ก็ไม่ถึงกับสูญเปล่า ถ้าให้เทียบก็เหมือนจากที่ทำมาได้ 99 เปอร์เซ็นต์แล้ว อยู่ดีๆ ก็ถูกตัดออกไปเหลือแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ ก็คิดกันเสียว่าเหลืออีก 49 เปอร์เซ็นต์ ที่ต้องมาลองทำกันใหม่” โมเผยความรู้สึก
เพราะกระบวนการทดลองทางวิทยาศาสตร์สอนพวกเขาว่า ความผิดพลาดคือผลลัพธ์อย่างหนึ่งในการทดลอง แม้ความผิดพลาดครั้งล่าสุดนี้จะทำให้โครงงานของพวกเขาสะเทือน แต่ที่สุดแล้วมันก็คือความสำเร็จอย่างหนึ่งที่พบว่า อนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์ยังไม่ใช่สารที่สามารถใช้ในโปรเจ็คท์นี้ได้ในเวลานี้ และขั้นตอนต่อไปก็คือ การทดลองหาสารตัวใหม่มาใช้ทดแทน
“คิดว่าไม่เป็นไร แค่ทดลองใหม่ หนูก็กลับมาหาข้อมูลใหม่ เพราะหนูก็ชอบทำอะไรพวกนี้ อ่านไว้ประดับความรู้ ได้ประโยชน์ก็บอกต่อ ก็เจอว่าตัวที่ยับยั้งแบคทีเรียได้มันมีหลายสาร แต่ตอนแรกที่เราไม่เลือกแทนนิน (Tannin) เพราะแทนนินบริสุทธิ์ยังไม่มีขาย ต้องมาสกัดเอง เป็นเรื่องยุ่งยาก และแทนนินมีรสฝาด ถ้าใส่ในปลาส้มมันจะไม่เปรี้ยว มันจะกลายเป็นขม เราก็ต้องมาเทสต์เรื่องรสชาติ เรื่องประสิทธิภาพ และการทำซ้ำมันก็ไม่ใช่เรื่องยาก อย่างน้อยเรารู้แล้วว่าทำแบบนี้ เทคนิคนี้ มันก็จะไม่ยาก ก็แค่ทำใหม่” มายด์กล่าว
แม้จะฟังดูเป็นคำพูดง่ายๆ แต่เราก็รู้สึกได้ถึงน้ำหนักของความสัตย์จริงในคำพูดนั้น เพราะถึงที่สุด นอกจากความผิดพลาดและความสำเร็จจากการทดลองแล้ว สิ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้ผลงานศิริส้มพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยมาก็คือความฝันของทั้งหก ที่อยากเห็นศิริส้มถูกพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายได้จริง
“เราอยากให้ผลงานพัฒนาไปถึงจนขอ อย. เสร็จแล้วขายได้ นั่นคือเป้าหมายสูงสุดของเรา” โมสำทับความฝันของทีม
เพราะกระบวนการทดลองทางวิทยาศาสตร์สอนพวกเขาว่า ความผิดพลาดคือผลลัพธ์อย่างหนึ่งในการทดลอง ความผิดพลาดในความหมายทางวิทยาศาสตร์จึงไม่ใช่ความล้มเหลว หากแต่มีคุณค่าเทียบเท่าความสำเร็จชนิดหนึ่ง เพราะมันอาจนำไปสู่การค้นพบสิ่งใหม่ที่ไม่เคยรู้มาก่อน
นักวิทยาศาสตร์ผู้คุ้นชินกับความผิดพลาด จึงไม่ยี่หระอะไรนักเมื่อการทดลองสะดุดจากผลที่ไม่เป็นไปดังใจ หากแต่มองความผิดพลาดนั้นเป็นความท้าทายใหม่ๆ ที่จะเปิดประตูแห่งการเรียนรู้ให้กว้างออกไป
เพื่อพบว่า มีนวัตกรรมที่ดีกว่ารออยู่หลังประตูบานนั้น…