- “เราเติบโตมากับความไม่จริง เราเติบโตมากับการไม่อัพเดท เลยรู้สึกว่าแล้วแบบนี้จะบ่มเพาะเด็กคนหนึ่งขึ้นมาอย่างไร ตอนโตต้องมาตระหนักรู้เองหรือว่าสิ่งที่เรียนมามันผิด ซึ่งก็ไม่ใช่ทุกคนที่ตระหนักรู้ เพราะการศึกษาไม่ได้เข้าถึงทุกคนในประเทศจริงๆ”
- อร-พัศชนันท์ เจียจิรโชติ ในฐานะคนรุ่นใหม่มองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้การศึกษาของไทยเดินหน้าต่อไปหรือจะถดถอยกว่าเดิม
- แม้ว่าอรจะผ่านการเรียนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานมาเป็น 10 ปีแล้ว แต่ก็เห็นว่าหลักสูตรไทยไม่ได้อัพเดทด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงควรปรับหลักสูตรใหม่ ปรับหลักสูตรที่เด็กจะได้ใช้ในชีวิตจริง และทุกโรงเรียนต้องเท่าเทียม มีมาตรฐาน
หลังจากโบกมือลาการเป็นไอดอลของวง BNK48 ปัจจุบัน พัศชนันท์ เจียจิรโชติ หรือ อร ยังคงโลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิงด้วยหลายบทบาททั้งเจ้าของค่ายด้านเอนเตอร์เทนเมนท์ รวมถึงงานแสดงต่างๆ แต่ถ้าย้อนไปในวันวาน อรเป็นเด็กคนหนึ่งที่ผ่านความไม่สมบูรณ์แบบของครอบครัว และผ่านช่วงเวลาที่ทำให้เธอมองว่าระบบการศึกษาไทยไม่ตอบโจทย์ จนทำให้เธอต้องดิ้นรนเพื่อได้เรียนสิ่งที่อยากเรียน ได้วางอนาคตของตัวเองที่อยากเป็น
และการเลือกตั้งครั้งนี้ คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่อรมองว่าจะทำให้การศึกษาของไทยเดินหน้าต่อไปหรือจะถดถอยกว่าเดิม

ในมุมมองของอร การศึกษามีความสำคัญกับเด็กมากน้อยแค่ไหน
หนูรู้สึกว่านอกจากสถาบันครอบครัวเป็นรากฐานแล้ว การศึกษาก็สำคัญเหมือนกัน สถาบันครอบครัวเป็นการบ่มเพาะเด็กสักคนหนึ่งขึ้นมา คือคุณจะเป็นใครในอนาคต คุณต้องผ่านอดีตมาก่อนแหละ อย่างหนูพ่อแม่หย่าร้างกัน มันจะเป็นปมตอนเด็กที่หนูรู้สึกว่าเป็นคนไม่มั่นคงคนหนึ่ง รู้สึกว่าถ้าเราไม่ได้ตรงนี้เราจะขาด ก็ไม่รู้จนมาตระหนักได้ตอนโตว่าเป็นเพราะครอบครัวเราเป็นแบบนี้ หนูถึงคิดว่าการศึกษาสำคัญ
บอกตรงๆ ว่าหนูไม่รู้ว่าการศึกษาไทยตอนนี้เป็นอย่างไรแล้วนะ เพราะหนูผ่านจุดนั้นมาเป็นสิบกว่าปีแล้ว แต่ก็ได้เห็นว่าหลักสูตรไทยไม่ได้อัพเดทด้วยซ้ำ แล้วเราเติบโตมากับสิ่งนี้
เราเติบโตมากับความไม่จริง เราเติบโตมากับการไม่อัพเดท เลยรู้สึกว่าแล้วแบบนี้จะบ่มเพาะเด็กคนหนึ่งขึ้นมาอย่างไร ตอนโตต้องมาตระหนักรู้เองหรือว่าสิ่งที่เรียนมามันผิด ซึ่งก็ไม่ใช่ทุกคนที่ตระหนักรู้ เพราะการศึกษาไม่ได้เข้าถึงทุกคนในประเทศจริงๆ
และสิ่งที่หนูเห็นนะ ครุศาสตร์สำคัญ คนที่จะเป็นครู สร้างคนสักคนหนึ่งควรให้ความสำคัญกับเขา ไม่ใช่แค่เงินเดือนน้อยๆ ดูอย่างประเทศเกาหลีใต้ที่ให้ความสำคัญกับครูมากๆ คนที่จะมาเป็นครูมันยากมาก ยากพอๆ กับหมอเลย สุดท้ายคนที่ปั้นหม้อคือคนขึ้นรูปไง ถ้าคุณไม่แน่นพอ จะขึ้นรูปแบบไหนล่ะ ก็จะได้แจกันที่บิดเบี้ยว
ตอนที่ยังเรียนอยู่ อรมองการศึกษาเป็นอย่างไร
ก็จะไม่เข้าใจว่าเรียนสิ่งนี้ไปทำไม หรือเรียนบางวิชาไปทำไม แต่เพิ่งมาตระหนักรู้ได้ตอนโตเฉยๆ ตอนนั้นก็เรียนตามระบบที่มาเป็นแบบนี้ แต่ช่วงหนูก็มีช่วงที่ปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างเหมือนกัน ตอนนั้นเป็นช่วงจุดเปลี่ยนของชีวิตมากๆ อย่างรุ่นหนูไม่รู้ว่าสอบ GED คืออะไร สอบ IGCSE คืออะไร หนูเพิ่งมารู้ตอน ม.5 ถ้ารู้งี้เราน่าจะสอบตั้งแต่ ม.4 คือหนูอยากเรียนจบเร็วมาก เพราะอยากไปทำงาน อยากไปทำอะไรอย่างอื่นแล้ว แล้วก็เพิ่งรู้ว่ามี GED ตอน ม.5 เลยคิดว่ามันเป็นการเสียเวลาชีวิต หนูเพิ่งรู้ว่ามีการ Pre Degree ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง มันเลิศนะ แต่ตอนนั้นรู้สึกว่ามันเฉพาะกลุ่มมากๆ บางคนเขาก็อยากจะมีเส้นทางที่เป็นแบบนี้ แต่เขาไม่รู้
ช่วงนั้นสายวิทย์-คณิต ได้รับความสำคัญมากๆ ไม่รู้ยุคนี้เป็นอยู่ไหม ไม่เหมือนโรงเรียนอินเตอร์ที่จะมีให้เลือกสายวิชาเยอะมาก ซึ่งอันนี้หนูคิดว่าเป็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูงมาก เอาง่ายๆ ถ้าอยู่ประเทศไทยสบายคุณต้องรวย คุณก็จะได้ทุกอย่างที่คุณต้องการ มันเลยเกิดความเหลื่อมล้ำเยอะมาก แล้วถ้าคนที่เขาไม่มีตังค์ แต่เขาอยากเรียนสายอื่นๆ เช่นอยากเรียนแฟชั่นแล้วจะทำอย่างไร
ในรุ่นหนูการเรียนสายอาชีพมันเป็นอะไรที่ดู Negative ทั้งที่ความจริงถ้าคุณอยากเรียนแฟชั่นดีไซน์ แล้วทำไมไม่เรียนแฟชั่นดีไซน์ตั้งแต่ ม.ปลาย ซึ่งถ้าสายอาชีพมีนะ แต่พอไปเรียนแล้วจะถูกมองอีกแบบ มันคือความเหลื่อมล้ำแปลกๆ ที่เป็นค่านิยมอะไรบางอย่าง
หมายความว่าการศึกษาไทยให้ความสำคัญกับสายสามัญมากเกินไป?
ใช่ค่ะ ประเทศไทยให้ความสำคัญกับสายสามัญมาก แต่ความจริงหนูอยากเรียนสายอาชีพมากเลยนะ แอบรู้สึกว่าทำไมเราไม่พัฒนาตรงนี้บ้าง บางคนเขารู้ตัวเร็วว่าอยากเป็นอะไร สมมติรู้ตัวว่าอยากเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ คุณก็แค่เรียนสายแฟชั่นดีไซน์แล้วตรงยาวเลยสิ จะได้เริ่มต้นก่อนคนอื่น พอเป็นสายสามัญเหมือนเรียนวนในอ่าง ทำไมเราจำแนกแค่นี้เองเหรอ วิทย์-คณิต, ศิลป์-ภาษา, ศิลป์-คำนวณ หรือศิลป์-สังคม แค่นี้เองเหรอ

คิดว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในบ้านเรามีช่องว่างมากขนาดไหน
โห ไกล! หนูว่ามันเป็นรูโหว่ที่ถึงแม้จะเปลี่ยนรัฐบาลภายใน 4 ปี ก็จะแก้ปัญหาตรงนี้ไม่ได้ จะต้องเป็นหลัก 10 ปี มันคือความยั่งยืนเลยค่ะ ยิ่งถ้าต่างจังหวัด ขนาดที่หนูผ่านการเรียนมาแล้วเป็น 10 ปี ตอนนี้หนูก็ว่าเขาน่าจะยังใช้หลักสูตรเดิมอยู่ดี แล้วไม่ได้มีคนมาใส่ใจขนาดนั้น
แล้วตอนเรียน อรเรียนสายไหน
หนูเข้าโรงเรียนหญิงล้วนด้วยศิลป์-ฝรั่งเศส แล้วยื่นเกรดย้ายไปวิทย์-คณิต เพราะเพื่อนอยู่เยอะ ตอนนั้นก็ถือเป็นความเหลื่อมล้ำเหมือนกัน เพราะวิทย์-คณิต หนูตั้งใจเรียนมากเลยนะ แต่หนูได้เกือบที่โหล่ของห้อง เพราะเขาไปเรียนพิเศษข้างนอกกัน
สิ่งที่ครูออกข้อสอบเป็นสิ่งที่เขาต้องไปเรียนข้างนอก นี่คือปัญหา ถ้าคุณอยากรู้ข้อสอบคุณก็แค่มาเรียนกับผม แล้วทำไมหนูต้องเรียนพิเศษเพิ่มทั้งที่ความจริงโรงเรียนควรเป็นที่ให้ความรู้มากที่สุดไม่ใช่เหรอ ที่เรียนพิเศษควรจะแค่มาเสริม
ปรากฏว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยได้คุณต้องไปเรียนพิเศษ แล้วคนที่ไม่มีตังค์เรียนพิเศษเขาจะเรียนอะไร ในตอนนั้นยูทูบอาจจะไม่บูมเท่าตอนนี้ ตอนนี้มีหลักสูตรออนไลน์เยอะ แล้วตอนนั้นทำให้หนูด้อยค่าตัวเองมากว่าหรือเราไม่เก่งนะ ตอนที่เรียนวิทย์-คณิตเลยรู้สึกว่าโรงเรียนไม่ตอบโจทย์แล้ว ก็เลยคิดจะไปเรียนอินเตอร์ ก็ลาออกแล้วไปเรียนอินเตอร์
เรียนอินเตอร์แล้วหนูก็ถามครูว่าอะไรจบเร็วที่สุด เขาบอก GED ทำนองเดียวกับ กศน.อเมริกา นิสัยส่วนตัวหนูคืออยากเรียนจบเร็ว ตอนที่เรียนปกติหนูรู้สึกว่าทำไมเราต้องเรียนรู้จากศูนย์ใหม่ในการเรียนมัธยมปลาย แต่การเรียนอินเตอร์ค่าเรียนก็แพงนะคะ ทุกอย่างมีความเหลื่อมล้ำหมด ถ้าคุณอยากจบเร็วคุณต้องมีเงินก้อน
ตอนที่บอกป๊าว่าหนูเรียน GED ป๊าก็ไม่เข้าใจ พอบอกว่า กศน.อเมริกาเขาถึงเข้าใจ แต่จริงๆ กศน.ของไทยก็เรียนจบเร็วได้เหมือนกัน แต่ว่าต้องไปทำหลายอย่าง เช่น กิจกรรมเพื่อสังคม อะไรต่างๆ แต่ GED คุณแค่เรียนตามหลักสูตร ที่เขาสอนก็คือข้อสอบ เด็กไทยหลายคนที่เรียนเก่งแล้วอยากจบเร็วก็มาเรียน GED
จนถึงวันนี้ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งมากี่ครั้งแล้ว?
ถ้าเลือกตั้งใหญ่แค่ครั้งเดียวเองค่ะ คือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เพราะมีช่องว่างตอนรัฐประหาร แล้วก็ได้มาเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร

มองว่าสิทธิเสียงของประชาชนในการเลือกตั้งสำคัญอย่างไร
ง่ายๆ เลย ถ้ามีพรรคหนึ่งได้ 100 คะแนน อีกพรรคได้ 101 คะแนน แล้วประเทศไทยมี 202 คน แล้วเราคือหนึ่งเสียงที่อยากโหวตให้พรรคที่ได้ 100 แต่ไม่ยอมไปเลือกตั้ง คุณก็จะแพ้ไปเลย ง่ายๆ มันคือหน้าที่ของเรา ข้อเท็จจริงเลย ประชาชนมีหน้าที่อะไรบ้าง หนึ่งเราไปดูแลปกป้องประเทศไม่ได้อยู่แล้ว หรือถ้าคุณไม่ได้อยู่พรรคไหนสักพรรค เราจะมีสักกี่หน้าที่นอกจากดำรงชีวิตตัวเอง ถ้าคุณเลือกพรรคการเมืองที่เขาสนับสนุนหรือเดินหน้าประเทศไทยต่อได้ คุณก็สบาย ก็แค่นั้น มันคือหน้าที่ของเรา หนึ่งเสียงของเราจึงมีค่ามากๆ
ถ้าคุณเลือกถูก คุณเหมือนถูกหวย สมมติถ้าเลือกผิด อีก 4 ปีค่อยว่ากันใหม่ ชีวิตหนึ่งเราจะได้เลือกตั้งสักกี่ครั้งเอง
ประเทศไทยจะเดินหน้าต่อได้ก็เพราะประชาชน ไม่ใช่แค่รัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง หรือแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่คือประชาชน พลังของเราจะมีค่าก็ตรงนี้แหละ
เหมือนว่า 4 ปี ประชาชนจะได้แสดงพลังของตัวเองสักครั้งหนึ่ง?
4 ปีเลยนะ ถ้าย้อนกลับไปเรื่องการศึกษา 4 ปี ยังขุดไปถึงรากเหง้าการศึกษาไม่ได้ คุณต้องเปลี่ยนทัศนคติครู เปลี่ยนทัศนคตินักเรียน ซึ่งหนูมองว่านักเรียนเปลี่ยนได้อยู่ เพราะสุดท้ายเขาจะปรับตามกล่องที่เขาอยู่ เด็กก็เหมือนน้ำที่ปรับตามกล่องที่ผู้ใหญ่ให้มา
กับการเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ 2 ของอร คาดหวังการเปลี่ยนอะไร โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา?
อย่างที่บอกว่าการศึกษาเป็นเรื่องระยะยาว ถึงแม้จะไม่เปลี่ยนในทันที แต่เชื่อว่ามันก็น่าจะขึ้นโครงอะไรบางอย่างที่ควรเปลี่ยนเพื่ออนาคต อย่างหนูมีหลาน หลานหนูเรียนพิเศษเยอะมาก เพราะในโรงเรียนมันได้ระดับหนึ่ง แต่ที่เขาเรียนเป็นพวกเรียนสร้างหุ่นยนต์ เรียนสิ่งที่เขาสนใจ ถ้าโรงเรียนใส่สิ่งเหล่านี้มาเด็กก็จะไม่ต้องไปเรียนเพิ่มอีก ถ้าเด็กมีเงินแล้วไปเรียนเพิ่มก็ไม่แปลก แต่คนที่ไม่มีแล้วเขาจะเอาเงินที่ไหนไปส่งลูกเรียน ทำไมไม่ทำให้โรงเรียนทุกที่เท่ากันหมด ไม่ว่าจะรัฐบาลหรือเอกชน
ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล อยากให้มีนโยบายด้านการศึกษาอย่างไรบ้าง
โอ้โห ปรับหลักสูตรใหม่ค่ะ ปรับหลักสูตรที่เด็กจะได้ใช้ในชีวิตจริงค่ะ แล้วทุกโรงเรียนต้องเท่าเทียม มีมาตรฐาน แล้วปรับหลักสูตรครุศาสตร์ใหม่ ปรับทั้งระบบเลย ช่วยอัพเดทแพทช์หน่อย ไม่ใช่หลักสูตร 20 ปีที่แล้ว ยังเอามาให้เรียนโดยไม่ปรับปรุง แล้วเด็กจะไม่งงเหรอว่าเรียนมาแบบนี้แต่ในชีวิตจริงไม่ใช่เหมือนในตำราเลย

ทุกโรงเรียนต้องไม่เหลื่อมล้ำ คืออย่างไร
หนูแอบคิดเรื่องการแต่งกายนะ เช่นถ้าโรงเรียนรัฐบาลในอเมริกาเด็กจะแต่งชุดอะไรก็ได้ แต่ก็จะมีคนบอกว่าถ้ามีคนแต่งชุดแพงๆ ก็จะเหลื่อมล้ำ แต่หนูคิดว่ามันเป็นสิทธิของเขานะ ซึ่งในประเทศไทยบางโรงเรียนก็ให้เด็กไว้ผมอะไรก็ได้แล้ว ซึ่งก็เป็นสิทธิของเด็ก มันดีนะ มันเป็นการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง ถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ มันจะลดความเหลื่อมล้ำไปเอง มันจะเป็นความเคยชิน เหลื่อมล้ำหรือไม่เหลื่อมล้ำหนูว่าปรับหลักสูตรให้เท่ากันดีกว่า เรื่องเครื่องแต่งกายเป็นเรื่องนอกกายมากๆ รวมถึงทรงผม
มีหลานที่ต้องเรียนพิเศษ เรียนเสริมเยอะๆ อรมองว่าเป็นการสร้างความเครียดหรือแรงกดดันให้เด็กหรือเปล่า
หนูว่าแล้วแต่คน บางคนชอบเรียนรู้ บางคนไม่ชอบ ถ้าเป็นหนูจะรู้สึกว่าทำไมฉันต้องเรียนพิเศษ คนเรียนพิเศษคือคนที่อ่อนหรือเปล่า นี่คือในมุมที่ว่าทำไมเรียนในห้องเรียนแล้วต้องไปเรียนพิเศษ หนูไม่เคยเรียนพิเศษมาตั้งแต่เด็ก แต่ปรากฏว่าตอนนี้ค่านิยมมันเปลี่ยนไป กลับกลายเป็นเรียนพิเศษมันสนุกกว่าเรียนในโรงเรียนจริง แล้วแบบนี้ทำไมไม่แก้ที่โรงเรียน อะไรแบบนี้มันเป็นเรื่องง่ายๆ ที่แค่ต้องแก้ที่โรงเรียน
สมมติคุณอยากเข้าหมอมากๆ การเรียนพิเศษควรเป็นการช่วยให้เข้าหลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่ง อันนี้เข้าใจได้ เพราะการเรียน ม.ปลาย ไม่ได้สอนจริยธรรมแพทย์ การเรียนพิเศษจึงไม่ได้ผิด ถ้าคุณมีทุนทรัพย์ที่จะไปเรียน แล้วการเรียนพิเศษมันตอบโจทย์กว่าคือมันสนุกกว่า
แบบนี้รัฐบาลใหม่ควรทำอย่างไรกับเรื่องนี้
กระทรวงศึกษาธิการต้องอัพเดทแพทช์ ไม่ใช่ใครจะมาเป็นครูก็ได้ คือครูพิเศษก็มีความจำเป็นในบางอย่างที่เฉพาะเจาะจง แต่ก็ต้องกลับมาทำให้เด็กมีทางเลือกมากขึ้น หนูไปดูการรับสมัครครู บางที่รับใครก็ได้มาเป็นครู แต่จริงๆ คนที่จะมาเป็นครูควรมีจิตวิญญาณ ต้องมีหลักสูตรที่บ่มเพาะให้เขามีจิตวิญญาณของความเป็นครู ต้องมีความภาคภูมิใจในตัวเอง ไม่ใช่เงินเดือน 4,000 – 7,000 บาทในต่างจังหวัด ถึงแม้ต่างจังหวัดค่าครองชีพจะถูกกว่าก็จริง แต่ค่าใช้จ่ายมีเยอะมาก เป็นครูต้องมีจิตวิญญาณจริงๆ ไม่ใช่เอาใครมาเป็นครูก็ได้
มองศักยภาพของเด็กรุ่นใหม่เป็นอย่างไร
เก่งค่ะ เด็กเดี๋ยวนี้เรียนรู้ไว ข้อมูลอยู่ในมือถือ อยู่ในอินเทอร์เน็ต เขาเสิร์ชได้ทันที ทุกอย่างมันตอบโจทย์ให้พวกเขา
ยังมีเรื่องอะไรอีกที่อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญเพื่อปลดล็อกศักยภาพของเด็กไทย
เด็กไทยเก่งค่ะ หนูรู้สึกว่าคนไทยเก่ง แต่ยังขาดการสนับสนุนจากรัฐบาล ยกตัวอย่างเอนเตอร์เทนเมนท์ ประเทศไทยเราจะไปไกลกว่านี้มากถ้ารัฐบาลสนับสนุน ส่วนการศึกษาก็สำคัญ ทุกอย่างถ้ารัฐบาลสนับสนุนหนูว่าไปได้ไกลทั้งนั้น เอาจริงๆ ประเทศไทยดี เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ แล้วมันติดอยู่ตรงไหน ถ้าใส่ใจมากพอ

เชื่อมั่นมากแค่ไหนว่าหลังเลือกตั้ง ประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลง
อย่างแรกต้องเชื่อมั่นก่อนว่าทุกอย่างจะโปร่งใสก่อน มันแปลกที่เราต้องมานั่งคอยจับตาดูเรื่องความโปร่งใส หลังจากนั้นถ้ามีพรรคที่ตอบโจทย์ ทุกอย่างมันจะปรับเปลี่ยนทั้งหมดภายใน 4 ปี ไม่ได้หรอก แต่ถ้าเขาทำงานกันจริงๆ มันจะเวิร์กไปเอง จะเห็นการเปลี่ยนแปลงแน่ๆ แต่อะไรที่ต้องใช้เวลาจริงๆ เช่น
การศึกษาต้องใช้เวลา ถึงแม้จะปรับหลักสูตรตอนนี้ซึ่งมันจะเห็นผลในอีกเป็น 10 ปี แต่ก็หวังว่าเรามีอนาคตที่จะพัฒนาสู้กับทุกประเทศได้ หลุดจากการเป็นประเทศกำลังพัฒนาได้แล้ว
มีอะไรฝากถึงรัฐบาลใหม่ ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล
ขอบคุณที่เสียสละเวลามาตรงนี้ อนาคตประเทศไทยอยู่ที่คุณ ในการที่จะดำเนินต่อไปได้หรือไม่ได้ ยังมีคนอีกเป็นล้านคนที่คุณต้องรับผิดชอบชีวิตของประชาชน เลยอยากให้มีความรับผิดชอบตรงนี้ ทำให้ได้ตามสิ่งที่พูด ยึดมั่นในสิ่งที่ตัวเองยึดมั่น