- E-SACK ถุงเพาะชำชีวภาพที่ผลิตจากกากถั่วเหลืองและผักตบชวา ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยแก่พืชได้ ผลจากนวัตกรชั้นมัธยมปลาย โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ที่ตั้งคำถามว่า ทำไมถุงเพาะชำใส่ต้นไม้ส่วนใหญ่ทำจากพลาสติก
- E-SACK ย่อยสลายได้ใน 6 เดือน หลังทดลองใช้เพาะชำต้นกล้ามะเขือเทศพบว่าต้นกล้าที่ใช้ E-SACK เจริญเติบโตได้ดีกว่าต้นกล้าที่ใช้ถุงเพาะชำพลาสติกเพราะได้รับสารอาหารจากวัตถุดิบชีวภาพ แต่แม้ E-SACK จะผ่านการทดลองมานับไม่ถ้วน ปัญหาที่ติดอยู่คือเรื่องทุนการผลิตที่ยังสูงเกินไป
- “ผลงานนี้น่าจะต้องพัฒนาต่อครับ ตอนนี้ยังขายไม่ได้เพราะต้นทุนสูงกว่าพลาสติก สิ่งที่ต้องทำคือ ส่งมอบงานต่อให้น้องไปพัฒนา ทีมเราอยากสร้างสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมที่สามารถไปถึงผู้ใช้จริงได้ เพราะสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาแล้วมีผู้ใช้ มันน่าภาคภูมิใจ”
เรื่อง: กิติคุณ คัมภิรานนท์, มณฑลี เนื้อทอง
ภาพ: โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่
ขนาดภาคธุรกิจอย่างเซ็นทรัลยังเลิกบริการถุงพลาสติก เซเว่นฯ เองก็ลดการแจกถุงพลาสติก แล้วทำไมการกระทำความ ‘กรีน’ อย่างการปลูกต้นไม้ ถึงยังต้องพึ่งพาถุงพลาสติกอีกเล่า?
เราใช้ถุงพลาสติกอะไรในการปลูกต้นไม้? ก็ถุงเพาะชำสีดำๆ นั่นอย่างไร ทราบไหมว่าส่วนใหญ่ผลิตมาจากเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีน (polyethylene – PE) ที่กว่าจะย่อยสลายต้องใช้เวลาหลายชั่วอายุคน ชนิดที่ว่าตายแล้วเกิดใหม่ เราก็อาจจะต้องกลับมาเจอกับถุงพลาสติกที่เคยใช้เมื่อชาติที่แล้วอีกครั้ง
‘กวิน’ มนัสกวิน ภู่ภิญโญกุล ชั้น ม.6 โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ไม่โอเคกับสิ่งนี้… เราควรเลิกใช้ถุงพลาสติกมาเพาะชำต้นไม้ และในเมื่อไม่มีอะไรให้ใช้แทน เราก็สร้างถุงเพาะชำชีวภาพขึ้นมาเองซะเลยดีกว่า! ด้วย E-SACK ถุงเพาะชำชีวภาพที่สามารถย่อยสลายและเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ได้เป็นอย่างดี
ศึกครั้งนี้ถุงเพาะชำพลาสติกจะไปหรือจะอยู่? ติดตามได้ตั้งแต่ย่อหน้าถัดไป…
วางเป้าให้ใหญ่ แรงบันดาลใจจะมา!
“เราตั้งคำถามว่า จะทำอย่างไรให้ถุงพลาสติกที่ต้องใช้เยอะและเป็นปัญหาต่อโลกมันหายไป เราเห็นถุงเพาะชำที่เป็นพลาสติก แต่ยังไม่มีถุงเพาะชำที่ทำมาจากวัสดุชีวภาพ ตอนแรกจึงอยากทำเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้ แต่อาจารย์แนะนำให้ลองใช้น้ำยางพาราดู และมีรุ่นพี่ทำกระถางจากกากถั่วเหลือง เราจึงลองเอากากถั่วเหลืองมาใช้ด้วย ลองหาเส้นใยผักตบชวาที่มีเยอะแถวคลองบ้านผม นำมาผสมกันแล้วปรับเปลี่ยนสูตรไปเรื่อยๆ จนได้ไปแข่ง YSC ถึงรอบระดับประเทศ” กวินเล่าถึงการพัฒนาโครงงาน E-SACK ที่ถือว่าเป็นโปรเจ็คท์ที่มีเป้าหมายใหญ่ระดับโลก นั่นคือการทำให้พลาสติกหมดไป โดยใช้วัสดุชีวภาพแทนที่
เป้าหมายที่ใหญ่นั้นแม้จะดูไกลเกินตัว แต่ในมุมหนึ่งมันก็มีพลังสร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน ทำให้นวัตกรเห็นคุณค่าความสำคัญของผลงานที่พัฒนาอยู่ นั่นคือเหตุผลที่หลังจากผ่านการประกวด YSC แล้ว กวินจึงนำผลงานเข้าร่วมโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปี 6 ต่อ ด้วยอยากพัฒนา E-SACK ไปให้ถึงจุดที่สามารถนำไปใช้ลดการใช้ถุงเพาะชำพลาสติกได้จริง
และในช่วงการเข้าโครงการต่อกล้าฯ นี้เอง ที่กวินได้น้องๆ อีก 5 คน* มาร่วมด้วยช่วยกัน (โดยเฉพาะเมจิกับเอ็ม ซึ่งกำลังคิดจะทำโปรเจ็คท์ถุงเพาะชำที่ผลิตจากกากกาแฟและขุยมะพร้าวอยู่แล้ว) เพราะพบปัญหาแล้วว่า E-SACK ต้องมีการปรับเปลี่ยนสูตรครั้งใหญ่
“สูตรแรกตอนเข้า YSC ผมผสม 3 อย่างคือ แป้ง น้ำยาง กลีเซอรีน ผสมอยู่ 2 เดือนจนได้สูตรที่เหมาะสม จากนั้นก็ใช้เวลาอีก 5 เดือนลองผสมกับเส้นใยผักตบชวา ซึ่งตอนแรกผสมแล้วถุงหนามาก ก็ใช้เวลาพัฒนาให้บางลง” กวินเล่าด้วยรอยยิ้ม
“แต่ปัญหาก็คือ สูตรนี้มันทำให้ถุงแข็งและเหนียวมากจนเหมือนไม่ใช่ถุงเพาะชำ” เอ็มเสริมพลางหัวเราะ เพราะคุณสมบัติของถุงเพาะชำที่ดี ต้องมีความแข็งจากการขึ้นรูปในระดับที่คงตัวอยู่ได้กลางแจ้ง และในขณะเดียวกัน สิ่งที่ทีมต้องการก็คือ ถุงที่แข็งตัวนี้จะต้องย่อยสลายได้เมื่อนำลงดิน
“ตามธรรมชาติตอนเราปลูกต้นไม้ ถุงเพาะชำจะต้องถูกวางทิ้งไว้ในสภาพอากาศภายนอกก่อนนำไปลงดิน ถ้าถุงไม่แข็งแรง เมื่อมันโดนน้ำโดนฝนโดนลมจะทำให้ฉีกขาดได้ หรือเกิดการย่อยสลายในช่วงที่เราไม่ต้องการ ดังนั้นถุงที่มีความแข็งแรงและมีความหนาที่มีค่าสูงจะทำให้สามารถคงสภาพนั้นได้นาน” เมจิเล่าถึงแนวทางที่ทีมต้องพัฒนาผลงาน ก่อนที่เอ็มจะเสริมว่า
“โจทย์ของเราคือ ต้องการให้ถุงขึ้นรูปและตั้งอยู่บนพื้นดินได้ประมาณ 15 วัน แต่ก็คิดกันว่าถ้าค่าแรงดึงมากจนแข็งไป ถุงมันจะย่อยสลายยากไหม”
คำตอบที่ใช่ ต้องใช้เวลา
เพื่อให้ได้ถุงเพาะชำที่วางตั้งกลางแจ้งได้โดยไม่บุบสลาย แต่ก็พร้อมที่จะย่อยได้เมื่อนำลงดิน ทีมจึงต้องทำการทดลองและขวนขวายหาสูตรที่ลงตัวของ E-SACK ซึ่งนั่นหมายถึงการต้องปรับสูตรใหม่ถึง 4 ครั้ง และต้องทดลองในแต่ละสูตรอีกนับครั้งไม่ถ้วน
“เริ่มแรกต้องเตรียมวัสดุ ปั่นกากถั่วเหลือง ปั่นผักตบชวา จากนั้นก็มาตวงสาร ผสมสูตร ไปทำแล็บเพื่อผลิตฟิล์ม แล้วนำไปอบขึ้นรูป หลักๆ ที่เราต้องการคือหาสูตรที่เหมาะสม ที่ทำให้ขึ้นรูปได้ดีและใช้เวลาในการอบน้อย แล้วดูว่าสูตรไหนมีค่าแรงดึงสูงเพื่อดูความแข็งแรง แล้วนำไปทดสอบอัตราการย่อยสลาย” กวินเล่ากระบวนการทำงานของทีมอย่างกระตือรือร้น
แน่นอนว่ากระบวนการดังกล่าวย่อมต้องมีข้อผิดพลาด…
“ตอนแรกเฟลบ่อยมาก ยังหาสูตรที่เหมาะสมไม่ได้” กวินหัวเราะ “ต้องทดลองซ้ำๆ ลองผิดลองถูก ล้มเหลวหลายครั้ง ทำแล้วทำอีก ต้องไปศึกษางานวิจัยอื่นๆ เช่น วิธีการทดสอบต่างๆ หรือเสิร์ชหาเรื่องแผ่นฟิล์มย่อยสลายได้ เจองานวิจัยที่บอกขั้นตอนการทำ เราก็เอามาประยุกต์ใช้ และความเหนื่อยอีกอย่างก็คือการหาวัตถุดิบ การหาวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ อย่างกากถั่วเหลืองก็จะขอให้ครูไปเอาจากร้านน้ำเต้าหู้ ได้แล้วก็ต้องรีบเอามาตาก บางทีเผลอตากทิ้งไว้จนขึ้นราก็ใช้ไม่ได้ (หัวเราะ)”
“เคยเจอกรณีที่ใส่สูตรเหมือนกันแต่ผลออกมาต่างกัน เลยตั้งสมมุติฐานว่า ขึ้นอยู่กับการทำของแต่ละคน บางคนอาจได้เป็นก้อน บางคนอาจได้เป็นฟอง เลยทำให้เราได้เรียนรู้ว่า มันต้องใช้วิธีการคนวัตถุดิบแบบเดียวกัน การเขย่าแบบเดียวกัน มันถึงจะได้แผ่นที่เหมือนกัน” เอ็มเล่าเสริมถึงความผิดพลาดที่ได้เรียนรู้
แต่ขณะเดียวกัน การทดลองซ้ำๆ ก็ทำให้พวกเขาได้ค้นพบความสำเร็จใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน
“ผลพลอยได้จากการเปลี่ยนสูตร แต่ก่อนพี่เขาจะเอาแป้งไปต้มก่อน แต่ตอนหลังเราเทแป้งลงไปเลยโดยไม่ต้ม พอตกตะกอนมันจะได้ชั้นแป้งอยู่ข้างล่าง ทำให้เนื้อฟิล์มไม่ติดกัน พี่ๆ ก็แนะนำให้ร่อนแป้งด้วยมันจะกระจายตัวดีขึ้น เทตรงกลางแล้วกระจายเป็นวง คือเราก็ลองทำทุกวิธี” เอ็มยิ้มท้ายประโยค
ผ่านการทำลองซ้ำๆ ผิดพลาดมากกว่ามาก สุดท้ายทีมก็ได้สูตรที่ลงตัว แต่…
“ตอนได้สูตรที่เหมาะสมรอบแรกเราใช้น้ำปริมาณมาก ทำให้ใช้เวลาอบนานครั้งละ 20 ชั่วโมง และใช้อุณหภูมิสูงมาก ตอนเอาผลงานไปโชว์ในค่ายรอบ 2 เราก็แอบภูมิใจ เพราะถุงแบบเดิมเป็นเศษบางๆ แต่ถุงที่เราพัฒนาใหม่มีเนื้อสัมผัสที่หนาขึ้น ด้านล่างมีแป้งมันสำปะหลังตกตะกอน ดูเป็นถุงเพาะชำมากขึ้น แต่กรรมการบอกว่าการอบ 20 ชั่วโมง แถมใช้อุณหภูมิสูง ทำให้ต้นทุนสูงมากๆ ถ้าเอาไปทำมาหากินจริงๆ ก็คงไม่ทัน” เมจิเล่าถึงความภูมิใจของทีม ที่สุดท้ายผลงานกลับถูกตีตกเมื่อนำไปวิเคราะห์ถึงความเป็นจริงทางธุรกิจ
ไม่เสร็จรุ่นนี้ ต้องเสร็จรุ่นหน้า!
อย่างไรก็ตาม แม้ผลงานจะถูกตีตก แต่ทุกคนก็ยังคงมุ่งมั่นแก้ปัญหาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
“เราทดลองลดปริมาณน้ำยางและน้ำให้อยู่ในระดับที่พอคนได้ และจากที่เมื่อก่อนเวลาทำแล็บเราจะทิ้งช่วงแป๊บนึงก่อนเทส่วนผสมลงแผ่น แล้วค่อยเทสารเติมแต่งตามลงไป แต่พอลดปริมาณน้ำเราทิ้งไว้นานไม่ได้เพราะมันจะจับเป็นก้อน จึงต้องค่อยๆ เทส่วนผสมและสารเติมแต่งพร้อมๆ กันทีละน้อยและคนไปด้วย เสร็จแล้วก็เทลงแผ่น แล้วรีบเอาเข้าตู้อบ มันถึงจะไม่เสียสภาพ” เมจิเล่าถึงการแก้ปัญหาของทีม
และคือมันดี! เพราะสูตรใหม่นี้ทำให้ทีมลดเวลาในการอบถุงจาก 20 ชั่วโมง เหลือแค่ 4-5 ชั่วโมงเท่านั้น ไม่เพียงเท่านั้น ในแง่ของประสิทธิผลก็เป็นไปตามที่ทีมต้องการ นั่นคือ E-SACK สามารถย่อยสลายได้ในเวลา 6 เดือน และจากการทดลองใช้เพาะชำต้นกล้ามะเขือเทศ พบว่าต้นกล้าที่ใช้ E-SACK มีอัตราการเจริญเติบโตได้ดีกว่าต้นกล้าที่ใช้ถุงเพาะชำพลาสติก เพราะได้รับสารอาหารจากวัตถุดิบชีวภาพที่ใช้ผลิตนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้จะแก้ปัญหาได้และได้ถุงเพาะชำชีวภาพที่มีคุณสมบัติตามที่ทีมต้องการ แต่เมื่อมองในมุมการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ก็ยังติดปัญหาเรื่องต้นทุน ที่ยังสูงกว่าถุงเพาะชำพลาสติก
แน่นอนว่าทีมเองก็ท้อไม่น้อย (ซึ่งที่จริงสมาชิกหลายคนก็ท้อมาตั้งแต่ขั้นตอนการขวนขวายหาสูตรที่ลงตัวแล้ว)
“มันเป็นงานที่เจ๋งมาก ตอนฟังพี่กวินเล่าตอนแรกหนูรู้สึกว่า เฮ้ย! งานนี้โคตรเท่เลย คิดได้ไง! จนกระทั่งช่วงที่ต้องทดลองหาสูตร ต้องทำซ้ำๆ ทำเรื่อยๆ และมันเฟลเยอะมาก อบก็นาน และกว่าที่เราจะรู้ว่ามันเฟลก็ใช้เวลาไปนานมากแล้ว ต้องทำใหม่ และสรุปไม่ได้สักทีว่าเพราะอะไร ก็รู้สึกท้อว่าต้องมาทำอีกแล้วเหรอ” เจียเผยความรู้สึก
แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่หล่อเลี้ยงและเป็นแรงผลักดันให้ทุกคนในทีมไปต่อ! ก็คือสปิริตทีมเวิร์คที่เห็นคุณค่าความสำคัญของงานเป็นที่ตั้ง ทุกคนจึงพร้อมจะสละอัตตา ไม่ยึดความคิดและความสำเร็จส่วนตัว แต่ยึดในความก้าวหน้าของงานเป็นสำคัญ ทั้งเมจิกับเอ็ม ที่ทิ้งโครงงานของตัวเองเพื่อมาช่วยพัฒนา E-SACK และทั้งเดล-เจีย-ปิ่น ที่พร้อมบริหารจัดการเวลาและหน้าที่ส่วนตัว เพื่อให้สามารถมาช่วยงานของทีมให้ลุล่วง
“เมื่อก่อนเป็นคนไม่ค่อยรับผิดชอบเท่าไหร่ (หัวเราะ) บางทีเพื่อนนัดทำงานหลังเลิกเรียนก็ไม่ไป กลับบ้านเพราะไม่อยากทำ แต่สำหรับงานนี้หนูจะทำก่อนงานของตัวเอง เพราะงานนี้เป็นงานส่วนรวม ทำงานส่วนรวมก่อนดีกว่า ถ้าไม่ได้มาช่วยเพื่อนจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เป็นสมาชิก” เดลเล่าพลางยิ้ม
“เราได้เรื่องการทำงานเป็นทีม เพราะต้องเข้าใจว่าน้องๆ แต่ละคนไม่เหมือนกัน ต้องหาวิธีทำงานด้วยกัน ต้องจัดแบ่งเวลาให้เหมาะสม ใครว่างตอนไหนก็ให้มารวมตัวกันทำ 2-3 คนก่อนก็ได้ คนอื่นเสร็จธุระก็ค่อยมาสมทบ” กวินเสริม
และสปิริตแห่งทีมเวิร์คนี้ก็ไม่ใช่จะสิ้นสุดลงหลังจากจบโครงการต่อกล้าฯ ปี 6 นี้เท่านั้น หากแต่สปิริตดังกล่าวจะยังถูกส่งต่อจากกวินไปสู่น้องๆ ทั้งห้า กับภารกิจการต่อยอด E-SACK ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ทั้งในแง่ของคุณภาพและการขยายผลเชิงพาณิชย์
“ผลงานนี้น่าจะต้องพัฒนาต่อครับ ตอนนี้ยังขายไม่ได้เพราะต้นทุนสูงกว่าพลาสติก สิ่งที่ต้องทำในตอนนี้ก็คือ ส่งมอบงานต่อให้น้องไปพัฒนา ทีมเราอยากสร้างสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมที่สามารถไปถึงผู้ใช้จริงได้ เพราะสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาแล้วมีผู้ใช้ มันน่าภาคภูมิใจ” กวินกล่าวด้วยรอยยิ้ม
“การส่งทอดต่อให้รุ่นน้องนั้นเหมือนการส่งไม้ต่อให้เพื่อศึกษาเพิ่มเติม เพราะงานบางงานไม่สามารถทำจบได้ในเรื่องเดียว เเต่สามารถเเตกยอดเเตกหน่อไปได้อีก ผมอยากให้ถุงเพาะชำไม่จำกัดแค่สามารถใช้ได้กับต้นมะเขือเทศเท่านั้น เเต่อยากให้สามารถใช้ได้กับพืชตระกูลเดียวกันหรือมากกว่านั้น อยากพัฒนาให้ถุงย่อยสลายได้ด้วยน้ำกร่อย และย่อยสลายได้ถาวรด้วย อยากทำต่อให้ได้! ซึ่งผมเพิ่งอ่านเจอว่า มันมีสารสกัดจากเเมลงที่สามารถทำให้ตัวยางพาราย่อยสลายได้ง่ายขึ้นด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทาย และเป็นเหตุผลที่อยากให้ทีมพัฒนาผลงานต่อ” เอ็มสำทับ
ก่อนที่ปิ่นจะเสริมถึงแนวคิดของทีมต่อว่า “การทำโครงงานสำหรับหนูคือการทำการทดลองเพื่อให้ได้ผลออกมา ถ้าจะเข้าใจผลเราต้องทำแต่ละงานในโครงงานนี้ให้เข้าใจถ่องแท้ ลงมือทำเองจริงๆ เพื่อจะได้โครงงานที่เราเข้าใจมันจริงๆ เมื่อก่อนคิดว่าโครงงานคืองานที่ทำให้จบ ม.3 (หัวเราะ) แต่งานนี้เป็นการพัฒนาระยะยาว ต้องพัฒนาจนมันดีพอ โครงงานแต่ละอย่างใช้เวลาไม่เท่ากัน”
“ตอนแรกท้อ แต่พอมาขนาดนี้แล้วก็ต้องไปต่อ” เอ็มทิ้งท้ายสั้นๆ ด้วยแววตามุ่งมั่น
เป้าหมายที่ใหญ่มีไว้พุ่งชน! แน่นอนว่าทีม E-SACK ได้ลองแล้ว และพุ่งชนจนอุปสรรคหลายข้อต้องล้มคว่ำหลีกทางให้ แต่ด้วยความที่เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก อุปสรรคมันก็ย่อมใหญ่และเยอะไปตามตัว
แม้จะเอาชนะอุปสรรคและข้อปัญหามาได้ไม่น้อย แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีอุปสรรคใหญ่อีกหลายข้อที่ทีมต้องพุ่งชนต่อไป และในเมื่อไม่สามารถพุ่งชนเพื่อเอาชนะได้ในรุ่นนี้ ก็ต้องส่งมอบภารกิจต่อให้รุ่นหน้า
นั่นคือสปิริตของความเป็นทีมเวิร์คที่พร้อมจะสานต่อการทำงาน โดยไม่สนใจว่าใครจะเป็นผู้ที่ทำสำเร็จ แต่พุ่งเป้าไปที่การพัฒนาให้ได้ผลงานที่ดีที่สุด
สุดท้ายแล้ว ศึกระหว่างถุงเพาะชำพลาสติกกับถุงเพาะชำชีวภาพจะจบลงตรงไหน? โปรดติดตามได้จากทีม E-SACK รุ่นต่อไป…
E-SACK ถุงเพาะชำชีวภาพ ที่ผลิตจากกากถั่วเหลืองและผักตบชวา ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยแก่พืชได้สมาชิกในทีม: มนัสกวิน ภู่ภิญโญกุล (กวิน) ม.6เอกรัตน์ รุ่งศรีสุทธิวงศ์ (เอ็ม) ม.5นรัญญา รุจนเวชช์ (เมจิ) ม.5กรรวี บูรณกิจเจริญ (เดล) ม.4นางสาววินัดดา เรืองเดช (เจีย) ม.4นฤภร มุกดาพัฒนากุล (ปิ่น) ม.4โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ที่ปรึกษาโครงการ: อาจารย์ขุนทอง คล้ายทอง |