Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Book
24 May 2025

เพื่อนยาก: ความผูกพัน ความฝัน ความรับผิดชอบและการจากลาชั่วนิรันด์ในนาม ‘มิตรภาพ’

เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • ‘เพื่อนยาก’ (Of Mice and Men) โดย จอห์น สไตน์เบ็ค เป็นหนังสือที่ถ่ายทอดเรื่องราวของมิตรภาพระหว่างจอร์จและเลนนี่ สองชายผู้แตกต่างสุดขั้วที่ร่อนเร่พเนจรทำงานรับจ้าง และมีความฝันร่วมกันที่จะมีชีวิตที่ดีกว่าในยุคเศรษฐกิจตกต่ำของอเมริกา ความสัมพันธ์ของพวกเขาเต็มไปด้วยความผูกพัน ความหวัง และความเปราะบางที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกสะเทือนใจ
  • หนังสือสะท้อนให้เห็นถึงความรับผิดชอบที่มากับมิตรภาพ ผ่านเรื่องราวของจอร์จที่ต้องดูแลเลนนี่ ซึ่งมีความคิดเท่าเด็กน้อยแต่พละกำลังมหาศาล และแสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายของชีวิตจริงที่มักไม่เปิดโอกาสให้คนชายขอบหรือความฝันเล็กๆ เป็นจริงได้ในสังคมที่ไร้ความเมตตา
  • บางครั้งความรักและมิตรภาพที่แท้จริงก็อาจต้องแลกมาด้วยการเสียสละอย่างสุดหัวใจ จอร์จเลือกเส้นทางให้เลนนี่ ไม่ใช่เพราะมันง่ายหรือดีที่สุด แต่เพราะมันคือหนทางเดียวที่จะให้เพื่อนได้สัมผัสความฝันที่งดงามที่สุด แม้ต้องแลกกับความฝันของตัวเองที่แตกสลาย

ภายใต้คำนิยามทั่วไป ‘มิตรภาพ’ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนขึ้นไป ประกอบด้วยความผูกพัน ความรู้สึกดีๆ ต่อกัน ความเข้าอกเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และพร้อมช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกัน

ขณะที่ในวรรณกรรมเด็กเรื่อง ‘เจ้าชายน้อย’ ตัวละครที่เป็นสุนัขจิ้งจอก พูดกับเจ้าชายน้อยว่า 

“เมื่อใดที่เราสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น เราจะต้องรับผิดชอบต่อความสัมพันธ์นั้นด้วย เพื่อให้ความสัมพันธ์นั้นคงอยู่อย่างยั่งยืนและงดงาม”

คำพูดของสุนัขจิ้งจอก ครอบคลุมถึงความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนรัก ความสัมพันธ์ในครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน และความสัมพันธ์ที่เรียกว่า ‘มิตรภาพ’

ในโลกวรรณกรรม มีหนังสือหลายเล่มที่หยิบยกเอาเรื่องมิตรภาพมาเป็นแก่นหลักของเรื่อง แต่อาจจะมีไม่กี่เล่มที่สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนในใจคนอ่านอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจุดประกายการถกเถียงอย่างกว้างขวาง ถึงเรื่องราวของมิตรภาพ และความรับผิดชอบต่อความสัมพันธ์ของคนสองคนในเรื่อง

หนังสือเรื่อง ‘เพื่อนยาก’ หรือ Of Mice and Men ผลงานของ จอห์น สไตน์เบ็ค (John Steinbeck) นักเขียนรางวัลโนเบลชาวอเมริกัน นับเป็นหนึ่งในหนังสือที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงอยู่เสมอ แทบทุกครั้งที่มีการพูดถึงเรื่องราวของมิตรภาพในโลกวรรณกรรม

หนังสือเรื่อง ‘เพื่อนยาก’ เป็นผลงานที่สไตน์เบ็คนำเอาประสบการณ์ช่วงหนึ่งของชีวิต ที่เคยทำงานเป็นแรงงานรับจ้างในไร่ เป็นเรื่องราวของชายสองคนที่ใช้ชีวิตร่อนเร่พเนจร รับจ้างทำงานตามไร่ต่างๆ โดยมีความฝันร่วมกันว่า สักวันหนึ่ง ทั้งสองจะสามารถเก็บเงินได้เพียงพอที่จะซื้อที่ดินทำไร่เลี้ยงสัตว์เป็นของตนเอง

จอร์จ และ เลนนี่ เป็นเพื่อนกันตั้งแต่เด็ก ทั้งคู่คือคู่ที่แตกต่าง ต่างคนต่างเป็นด้านตรงข้ามของกันและกัน แต่ก็ช่วยเติมเต็มซึ่งกันและกันอย่างสมบูรณ์

จอร์จ มิลตัน เป็นชายตัวเล็ก ท่าทางคล่องแคล่ว ฉลาดเฉลียว ส่วน เลนนี่ สมอล เป็นชายร่างยักษ์ ท่าทางงุ่มง่าม และมีอาการของคนปัญญาอ่อน เมื่อทั้งคู่อยู่ด้วยกัน จอร์จจะทำหน้าที่เป็นมันสมองและปาก คอยคิดและคอยพูดแทนเพื่อนตัวโตของเขา ขณะที่เลนนี่จะทำหน้าที่เป็นร่างกายที่เปี่ยมไปด้วยพละกำลัง ใช้แรงงานทำทุกอย่างที่จอร์จบอก แม้กระทั่งกระโดดลงน้ำทั้งที่ตัวเองว่ายน้ำไม่เป็น

ดูเหมือนว่า ชีวิตของทั้งคู่น่าจะไปได้สวย แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น พละกำลังที่มหาศาล บวกกับสติปัญญาที่น้อยนิดของเลนนี่ ทำให้เจ้าตัวมักจะก่อเรื่องร้ายแรงโดยไม่ได้ตั้งใจอยู่เสมอ และทุกครั้งก็ส่งผลให้ทั้งคู่ต้องเผ่นหนีออกจากเมือง ก่อนที่จะถูกตำรวจจับ หรือไม่ก็ถูกชาวบ้านรุมประชาทัณฑ์เสียก่อน

จุดอ่อนของเลนนี่ คือ เขาชอบลูบคลำวัตถุที่นุ่มนิ่ม ไม่ว่าจะเป็นขนสัตว์ตัวเล็กๆ อย่างเช่น หนู กระต่าย ลูกสุนัข และยังรวมไปถึงกระโปรงผ้าที่แสนบอบบางของผู้หญิง ทุกครั้งที่เจอของนุ่มนิ่ม เลนนี่จะลูบมันอย่างอ่อนโยน เพราะมันให้สัมผัสที่ทำให้รู้สึกดี แต่น่าเศร้าที่เขาไม่เคยควบคุมพละกำลังของตัวเองได้เลย สัตว์ตัวเล็กที่ถูกเลนนี่จับมาลูบคลำ จึงมักจะตายไปในระหว่างที่พยายามดิ้นรนหนีจากการถูกเลนนี่ลูบ

ครั้งหนึ่ง เลนนี่หวุดหวิดจะถูกชาวบ้านรุมประชาทัณฑ์ ในข้อหาพยายามลวนลามผู้หญิงคนหนึ่ง ทั้งที่ความจริงแล้ว ยักษ์ใหญ่ผู้มีสติปัญญาเท่าเด็กวัยอนุบาล ต้องการแค่จะสัมผัสความนุ่มนิ่มจากกระโปรงของหญิงสาวคนนั้นเท่านั้นเอง

เหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้ทั้งคู่ต้องซ่อนตัวในคูระบายน้ำทั้งวัน ก่อนจะเผ่นหนีออกจากเมืองเมื่อยามค่ำคืนอันมืดมิดมาถึง

แน่นอนว่า จอร์จ ผู้รับหน้าที่เป็นสติสัมปะชัญญะของเลนนี่ พยายามห้ามปรามและคอยดูแลไม่ให้เพื่อนร่างยักษ์ก่อเรื่องร้ายแรงเช่นนี้มาโดยตลอด แต่เลนนี่ไม่เคยจดจำอะไรได้เลย เพราะมันยากเกินกว่าที่สมองของเขาจะสามารถทำได้

“ถ้าฉันอยู่ตามลำพังล่ะก็ ฉันสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสบายมากเลย ฉันสามารถไปหางานทำแล้วทำงานและไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น… พอถึงสิ้นเดือนฉันก็จะได้เงินห้าสิบดอลลาร์… ไปซื้ออะไรก็ได้ที่ฉันต้องการ” ครั้งหนึ่ง จอร์จ พูดโพล่งออกมาด้วยความโมโห “แล้วดูสิว่าฉันมีอะไร ฉันมีนาย! และนายก็ทำให้ฉันเสียงานทุกงานที่ฉันหาได้… นายทำให้ฉันตกที่นั่งลำบากตลอดเวลาเลย!”

แต่พอเลนนี่พูดด้วยน้ำเสียงอ่อยๆ ว่า “ถ้านายไม่ต้องการฉันนายก็แค่พูดออกมา แล้วฉันจะไปอยู่บนภูเขาโน่น แล้วใช้ชีวิตตามลำพัง”

เพียงเท่านั้น โทสะเบาบาง-จางหาย จอร์จ รู้สึกตัวและคิดขึ้นได้ว่า ถ้าไม่มีเขาอยู่ข้างๆ เลนนี่จะใช้ชีวิตอย่างไร ถ้าไม่มีเขาคอยตักเตือน คอยปกป้องคุ้มครอง เลนนี่ ซึ่งไม่ต่างจากเด็กอนุบาลในร่างยักษ์ ก็คงไม่มีทางอยู่รอดในโลกใบนี้ได้แน่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โลกใบที่จอร์จและเลนนี่เกิดมา ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของอเมริกา คนที่ไร้การศึกษา ไร้ต้นทุนหรือแต้มต่อใดๆ แค่เพียงการเอาตัวรอดไปวันๆ ก็ยังเป็นเรื่องที่ยากแสนยาก

แต่ถึงจะไม่มีทรัพย์สินเงินทองใดๆ ทั้งคู่ก็ยังมีความฝัน ฝันที่จะเป็นเจ้าของที่ดินเล็กๆสักผืน ที่ดินสักสองเอเคอร์ พร้อมกระต๊อบเล็กๆ สักหลัง ทำไร่ปลูกผักเลี้ยงสัตว์แค่พออยู่พอกิน ไม่ต้องเป็นแรงงานเร่ร่อนรับจ้างเหมือนที่เป็นอยู่ทุกวัน และที่สำคัญ เลนนี่ ก็จะได้เลี้ยงกระต่ายของตัวเอง กระต่ายขนนุ่มนิ่มที่เขาสามารถลูบคลำได้ทั้งวัน

นอกเหนือจากการได้สัมผัสของที่มีความนุ่มนิ่มแล้ว สิ่งที่เลนนี่รักที่สุด ก็คือ ความฝันที่เขาและจอร์จมีร่วมกัน เขามักรบเร้าให้จอร์จบรรยายความฝันนั้นให้ฟังบ่อยๆ ซึ่งหากจอร์จอารมณ์ดี เขาจะเล่าด้วยน้ำเสียงและถ้อยคำที่แทบเหมือนเดิมทุกครั้งว่า…

“คนอย่างพวกเราที่ทำงานในไร่ เป็นคนที่เปล่าเปลี่ยวที่สุดในโลก พวกเขาไม่มีครอบครัว พวกเขาไม่เป็นส่วนหนึ่งของที่ใด… พวกเขาไม่มีอนาคตอะไรให้มองหา

“ส่วนเราไม่เหมือนอย่างนั้น เรามีอนาคต เรามีใครบางคนให้พูดคุยและคอยใส่ใจ… สักวันหนึ่ง เราจะมีเงินด้วยกัน และเราจะมีบ้านหลังเล็กๆ กับที่ดินสักสองเอเคอร์ วัวตัวหนึ่งกับหมูสองสามตัว… เราจะมีแปลงผักขนาดใหญ่ และกรงกระต่าย”

นั่นคือความฝันของจอร์จและเลนนี่ ความฝันที่ไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนความฝันของคนอเมริกัน (American Dream คือ ค่านิยมของคนอเมริกันที่เชื่อว่า หากทุ่มเททำงานหนักอย่างไม่ย่อท้อ ทุกคนจะสามารถประสบความสำเร็จ มีบ้าน มีรถ และครอบครัวที่อบอุ่นได้) แต่ก็เป็นความฝันที่ใหญ่โตเหลือเกินสำหรับคนชายขอบของสังคมอย่างจอร์จและเลนนี่

และความฝันนี้เอง ที่ทำให้มิตรภาพของชายสองคนยิ่งแน่นแฟ้นขึ้น

และความฝันนี้เอง ที่ทำให้ทั้งคู่รู้สึกว่าตัวเองแตกต่างจากคนชายขอบคนอื่นๆ

เพราะพวกเขามีสิ่งที่เรียกว่า…ความหวัง

ความฝันของจอร์จและเลนนี่ เข้าใกล้ความจริงมากที่สุด เมื่อทั้งคู่เข้าทำงานเป็นแรงงานรับจ้างที่ไร่แห่งหนึ่ง นอกเมืองโซลิแดด ตามแผนที่จอร์จคิดไว้ ทั้งคู่จะตั้งใจทำงานหนักเพื่อแลกกับค่าแรงเดือนละห้าสิบดอลลาร์ พยายามเก็บหอมรอมริบเพื่อนำเงินสะสมไปซื้อที่จากชายชราคนหนึ่ง ที่บอกขายในราคาหกร้อยดอลลาร์

แม้ว่าทั้งคู่จะมีเงินเก็บรวมกันเพียงสิบดอลลาร์ แต่แคนดี้ ชายชราผู้รับจ้างทำความสะอาดในไร่ อยากเข้าร่วมหุ้นเพื่อทำไร่แห่งความฝันด้วย หลังจากบังเอิญได้ยินเลนนี่หลุดปากพูดเรื่องนี้ โดยที่แคนดี้ มีเงินสะสมอยู่ถึงสามร้อยห้าสิบดอลลาร์

ตาเฒ่าแคนดี้ เต็มใจยกเงินของตัวเองให้กับจอร์จและเลนนี่ เพื่อแลกกับการได้เข้าร่วมในความฝันเล็กๆ นั้น เพราะรู้ตัวดีว่า ร่างกายที่พิการของตัวเอง บวกกับอายุที่มากขึ้นเรื่อยๆ อีกไม่นาน แกก็จะกลายเป็นคนไร้ประโยชน์สำหรับไร่แห่งนี้

ในโลกความจริงที่แสนโหดร้าย ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอย สิ่งใดที่ไร้ประโยชน์ มักจะถูกกำจัดทิ้งอย่างง่ายดาย ไม่ต่างจากสุนัขต้อนแกะของตาเฒ่าแคนดี้ ซึ่งแก่จนแทบลุกไม่ไหว และถูกคนงานในไร่ยิงทิ้ง ด้วยเหตุผลว่า ไม่มีประโยชน์อีกแล้ว

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ความฝันของทั้งสามคนจะกลายเป็นความจริง เลนนี่ ก็ก่อเรื่องอีกจนได้ และครั้งนี้ เขาพลั้งมือทำให้หญิงสาวที่เป็นภรรยาของลูกชายเจ้าของไร่เสียชีวิต ด้วยสาเหตุเพียงเพราะหญิงสาวนางนั้น เอ่ยปากชวนให้เลนนี่สัมผัสเส้นผมอันอ่อนนุ่มของเธอ

หากมีการทำโพลล์สำรวจความคิดเห็นว่า ฉากจบของหนังสือเล่มใดสะเทือนใจคนอ่านมากที่สุด ผมเชื่อว่า ฉากจบของ ‘เพื่อนยาก’ น่าจะติดในอันดับต้นๆ

จอร์จ เป็นคนเดียวที่รู้ว่า เลนนี่จะหนีไปซ่อนตัวอยู่ที่ไหน เขารีบไปพบเลนนี่ก่อนหน้าที่คนอื่นๆ จะไปถึง

“นายจะไม่ทิ้งฉันใช่ไหมจอร์จ ฉันรู้ว่านายจะไม่ทำ” เลนนี่พูดเสียงดัง เมื่อเห็นหน้าจอร์จ

“ไม่หรอก”

“เอ้อ ฉันจากไปได้นะ ฉันจะขึ้นเขาไปเลยแล้วหาถ้ำอยู่ถ้านายไม่ต้องการฉัน”

“ไม่” จอร์จ พูด “ฉันอยากให้นายอยู่กับฉันที่นี่”

จอร์จ เริ่มต้นเล่าความฝันให้เลนนี่ฟังอีกครั้ง พลางชี้ชวนให้เพื่อนร่างยักษ์มองไปที่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำ เลนนี่มองเห็นภาพไร่เล็กๆ ของพวกเขา พร้อมฝูงกระต่ายที่เลี้ยงไว้ จอร์จล้วงหยิบปืนออกมาอย่างเงียบๆ ขณะที่คนงานคนอื่นๆ ในไร่ กำลังเดินเข้ามาใกล้ที่หลบซ่อนของเลนนี่

เสียงปืนดังขึ้น เลนนี่จากไป พร้อมกับความฝันที่สมจริงราวกับมีชีวิต จอร์จยังคงอยู่ พร้อมกับความฝันที่แตกสลาย

ว่ากันว่า หนังสือเล่มเดิมที่เราหยิบขึ้นมาอ่านในแต่ละครั้ง จะให้ความรู้สึกและข้อคิดที่ไม่ซ้ำกัน หนังสือเรื่อง “เพื่อนยาก” ก็เช่นกัน

ผมจำได้ว่า ตอนที่อ่านหนังสือเล่มนี้เป็นครั้งแรก ผมรู้สึกสงสารเลนนี่ ในตอนนั้น อดคิดไม่ได้ว่า จอร์จถือสิทธิ์อะไรในการคิดแทนเลนนี่ว่า การจบชีวิตไปขณะที่ยังมีภาพความฝันอันงดงาม คือทางออกที่ดีที่สุด ทำไมไม่คิดว่า ถ้าสามารถเลือกได้ เลนนี่อาจเลือกหนีไปอยู่บนภูเขาเพียงลำพัง ถึงจะอยู่อย่างลำบากยากแค้น แต่ก็ยังมีชีวิตอยู่

หรือต่อให้ถูกจับตัวส่งตำรวจ ก็ไม่ได้หมายความว่า เลนนี่จะต้องถูกลงโทษประหารชีวิตเพียงอย่างเดียว ศาลอาจพิพากษาลงโทษเขาในสถานเบากว่านั้น ด้วยเหตุผลเรื่องสติไม่สมประกอบ ซึ่งอาจทำให้เลนนี่ถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลก็ได้

ไม่มีใครตอบได้ เพราะไม่มีใครจะรู้ล่วงหน้าว่าทางเลือกที่เราเลือกจะนำไปสู่จุดหมายปลายทางที่ดี หรือยิ่งเลวร้ายกว่าเดิม

ในการหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านครั้งล่าสุด ผมกลับนึกสงสารจอร์จมากกว่า สิ่งที่เขาทำ อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด แต่มันคือการแสดงความรับผิดชอบต่อมิตรภาพ และความไว้เนื้อเชื่อใจที่เลนนี่มีให้เขา

ไม่มีใครบอกได้ว่า หากเลนนี่มีโอกาสเลือกเอง เขาจะเลือกเส้นทางไหน แล้วเส้นทางนั้นจะนำไปสู่จุดหมายปลายทางเช่นไร แต่ในความคิดของจอร์จ เส้นทางที่เขาเลือกให้ อาจจะเป็นเส้นทางเดียวที่นำพาเลนนี่ไปพบภาพที่เขาวาดฝันไว้

และนั่นคือ การแสดงความรับผิดชอบต่อมิตรภาพที่จอร์จมอบให้กับเลนนี่ด้วยการช่วยให้ความฝันของเพื่อนใกล้เคียงความจริงที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้ว่าการทำเช่นนั้น จะทำให้ความฝันในส่วนของจอร์จสูญสลายหายไปก็ตาม

Tags:

หนังสือความสัมพันธ์เพื่อนชายขอบ

Author:

illustrator

สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

อดีตนักแปล-นักข่าว ปัจจุบันเป็นพ่อค้า พ่อบ้าน และพ่อของลูกชายวัยรุ่น รักหนังสือ ชอบเข้าร้านหนังสือ และชอบซื้อหนังสือมาดองเป็นกองโต

Related Posts

  • Book
    เพื่อนคนเก่ง: ในมิตรภาพอันแสนซับซ้อนนั้นมีทั้งความรักและความอิจฉา

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Cover
    Book
    The Wild Robot: ชีวิตที่ลิขิตเอง ไม่ต้องรอโปรแกรมคำสั่ง

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Weaponized-Incompetence-1
    Relationship
    Weaponized Incompetence: ทำไมการ ‘แกล้งทำไม่เป็น’ เพื่อโยนงานให้คนอื่น ถึงเป็นเรื่องท็อกซิกในความสัมพันธ์

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Book
    Normal People: จะรวยหรือจน…ทุกคนล้วนเป็นคนธรรมดา

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Book
    ในโมงยามแห่งความรัก เราทุกคนล้วนบ้า…และมาจากดวงจันทร์

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel