- หมอวิน – ผศ.นพ. วรวุฒิ เชยประเสริฐ เจ้าของเพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ กล่าวไว้ว่า สุขภาพจิตที่ดี (Mental Health) เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เด็กออกไปเผชิญโลกอนาคตที่ไม่แน่นอนได้ เพราะสุขภาพจิตที่ดีจะทำให้เด็กพร้อมเรียนรู้ รับมือกับปัญหาและรู้จักอารมณ์ของตัวเอง
- สุขภาพจิตที่ดีของเด็กมีความสัมพันธ์โดยตรงกับ ‘การเห็นคุณค่าและมีภาคภูมิใจในตัวเอง’ (self-esteem) และ ‘ความมั่นใจในตัวเอง’ (self-confidence)ซึ่งในระยะยาวคุณสมบัติทั้งสองประการนี้จะทำให้พวกเขาวางเป้าหมายชีวิต (set-goal) ได้ โดยไม่ตั้งข้อสงสัยในความสามารถหรือศักยภาพของตัวเอง
- การสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยทั้งทางกายและใจช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีและพร้อมรับมือกับปัญหาและอุปสรรคที่จะผ่านเข้ามาในชีวิต
วิธีเลี้ยงลูกหลังคลอด วิธีรับมือกับลูกเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น การส่งเสริมพัฒนาการการเรียนรู้ของลูก ฯลฯ หลากหลายโจทย์และความท้าทายที่พ่อแม่ต้องเผชิญเมื่อเด็กๆ เติบโตขึ้นในแต่ละช่วงชีวิต
บ้านและโรงเรียนเป็นพื้นที่ที่เด็กใช้เวลาอยู่ด้วยมากที่สุดในช่วงวัยหนึ่ง และเมื่อเติบโตขึ้นสังคมรอบข้างจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเขา สิ่งแวดล้อมรอบด้านเหล่านี้มีความสำคัญต่อการปลูกฝังและมีอิทธิพลต่อการบ่มเพาะความคิดความอ่านและลักษณะนิสัยของเด็กคนหนึ่งที่กำลังเติบโตขึ้นมา หมอวิน – ผศ.นพ. วรวุฒิ เชยประเสริฐ เจ้าของเพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก กล่าวไว้ในเวทีเสวนา ‘TK Park x EDSY เตรียมพร้อมเด็กไทยในวันที่โลกเปลี่ยน’ ว่า สุขภาพจิตที่ดี (Mental Health) เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เด็กออกไปเผชิญโลกอนาคตที่ไม่แน่นอนได้
สุขภาพจิตที่ดีสะท้อนความพร้อมในการเรียนรู้
ในโลกออนไลน์มีการแชร์ความรู้ แนวคิดและ how to การเลี้ยงลูกทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติอย่างกว้างขวางและหลากหลาย เชื่อว่าหลายเรื่องผู้ปกครองคงเคยได้ยินหรืออ่านผ่านตากันมาบ้างแล้ว ยกตัวอย่างเช่น EF การพัฒนาสมองส่วนหน้าที่ช่วยควบคุมความคิด อารมณ์และพฤติกรรม, Growth Mindset กรอบคิดเติบโตที่ฝึกให้เกิดขึ้นในตัวเด็กได้ เพื่อเตรียมความพร้อมเปิดรับการพัฒนาตัวเองตลอดชีวิต หรือ GRIT ความเพียรพยายามในระยะยาว รวมไปถึงการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านต่างๆ (Character Building) เช่น ความยืดหยุ่นและความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น
ขณะที่ความรู้ภาคทฤษฎีและปฎิบัติเหล่านี้เป็นตัวอย่างและแนวทางให้ผู้ปกครองเลือกนำมาปรับใช้ หมอวิน กล่าวว่า สุขภาพจิตที่ดีทำให้เด็กพร้อมเรียนรู้ รับมือกับปัญหาและรู้จักอารมณ์ของตัวเอง เรื่องนี้จึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่มองข้ามไม่ได้
“เด็กที่สุขภาพจิตเสียเรียนรู้ไม่ได้ เด็กที่มีสุขภาพจิตดีสามารถแสดงอารมณ์ได้อย่างสมเหตุสมผลและสามารถจัดการอารมณ์ด้านบวกและด้านลบของตนเองได้ หากวันใดเจออุปสรรค มีความรู้สึกด้านลบเข้ามาหรือเจอความเปลี่ยนแปลงต่างๆ จากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของโลก เช่น จู่ๆ วันหนึ่งตกงานขึ้นมา เขาจะสามารถจัดการ ดูแลตัวเองและก้าวผ่านมันไปได้”
เชื่อว่าตัวเองมีค่า มั่นใจว่าตัวเองทำได้
สุขภาพจิตที่ดีของเด็กมีความสัมพันธ์โดยตรงกับ “การเห็นคุณค่าและมีภาคภูมิใจในตัวเอง” (self-esteem) และ “ความมั่นใจในตัวเอง” (self-confidence) หมอวิน กล่าวว่า ในระยะยาวคุณสมบัติทั้งสองประการนี้จะทำให้พวกเขาวางเป้าหมายชีวิต (set-goal) ได้ โดยไม่ตั้งข้อสงสัยในความสามารถหรือศักยภาพของตัวเอง
“ถ้าเด็กไม่มีความภาคภูมิใจ ไม่มีความมั่นใจในตัวเองเลย เขาจะมองตัวเองในภาพลบ เด็กกลุ่มนี้มีความเจ็บปวดอยู่ภายใน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กต้องมี self-esteem สูงมาก เด็กที่มี self-esteem สูง คือมีความมั่นใจในตัวเองมาก ปัญหาที่จะตามมาคือในวันที่เขาล้ม ในวันที่เขาเจอสิ่งที่ทำไม่ได้ เด็กจะสร้างกลไกลการป้องกันตัวเองด้วยการไม่ทำ ใช้การโกง หรือปิดบัง
ดังนั้น self-esteem ที่มากหรือน้อยเกินไปส่งผลเสียกับเด็กเสมอ การให้เด็กเห็นคุณค่าของตนเองที่พอดี ไม่สูงหรือต่ำเกินไปก็สำคัญเช่นกัน ดังนั้นพ่อแม่จึงมีหน้าที่ส่งเสริมสิ่งที่เรียกว่าความภาคภูมิใจในตัวเองที่เหมาะสม ดีพอและพอดีให้กับลูก ความภาคภูมิใจในตัวเอง เกิดขึ้นเมื่อเขาสามารถลงมือทำจนทำได้ แล้วพัฒนาความเชื่อมั่นในตนเอง และเขาจะตั้งเป้าหมายในอนาคตได้”
หมอวิน อธิบายต่อว่า พื้นฐานของการเห็นคุณค่าและมีความภาคภูมิใจในตัวเอง คือ การรับรู้ตัวเอง (sense of self) ไม่ว่าจะเป็นการรู้รอบเกี่ยวกับร่างกาย อารมณ์และจิตใจ การรับรู้ตัวเองสามารถสร้างและปลูกฝังให้กับเด็กได้ตั้งแต่ช่วงปฐมวัยจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ผู้ปกครอง (บ้าน) และครู (โรงเรียน) ดังนั้นบ้านและโรงเรียนจึงมีบทบาทสำคัญต่อการบ่มเพาะสุขภาพจิตที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน
“เด็กมองตนเองผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น และผ่านสายตาของคนอื่น คนแรกที่เขาจะมอง คือ พ่อแม่ ถ้าพ่อแม่ชมลูกมากจนเกินไป ลูกอาจมี self-esteem สูง แต่ถ้าตำหนิ ห้ามและดุด่ามากเกินไป อาจทำให้ลูกมี self esteem ต่ำ ต้องเข้าใจว่าการดุด่าไม่ได้ทำให้เด็กหยุดรักเรา แต่จะทำให้เด็กหยุดรักตัวเอง ทั้งหมดนี้จะถูกปลูกฝัง กลั่นกรองเข้าสู่ตัวเด็กผ่านการเลี้ยงดู การทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกับพ่อแม่หรือคนรอบตัว”
เด็กควรได้รับความรักที่ไม่มีเงื่อนไข
“หนูต้องเป็นเด็กดีนะ”
“ไหนดูคะแนนคณิตศาสตร์ก่อน”
“ทำไมลูกทำแบบนี้แกล้งน้อง เป็นเด็กไม่ดีเลยเดี๋ยวแม่ไม่รักนะ”ในมุมมองของพ่อแม่ สิ่งที่ทำเพื่อลูกต่างทำไปเพราะความรัก แต่หลายครั้งคำพูดหรือพฤติกรรมที่แสดงออกไปโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว กลับเป็นการแสดงความรักที่สร้างเงื่อนไขซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็ก หมอวิน กล่าวว่า หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจ คือ การให้ความรักกับเด็กไม่ควรเป็นความรักที่มีเงื่อนไข พ่อแม่ไม่ควรใช้ความรักมาเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนให้ลูกทำอย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ ระบบการวัดผลประเมิน การคัดเลือก แพ้แล้วคัดออก มีส่วนทำลายการเห็นคุณค่าและความภาคภูมิใจในตัวเด็กอย่างมาก
“ความรักที่ให้กับเด็กไม่จำเป็นต้องมีเงื่อนไข ความรักไม่จำเป็นต้องทำบางอย่างแล้วถึงได้มา เพราะเด็กควรได้รับความรักจากพ่อแม่อยู่แล้ว แต่หลายบ้านเด็กต้องได้รับเงื่อนไขเพื่อแลกกับความรัก คำพูดเหล่านี้ยิ่งทำให้ความภาคภูมิใจในตัวเองของเด็กถูกสั่นคลอน สร้างความเจ็บปวดจากข้างในที่ทำให้เมื่อหันกลับมามองตัวเองแล้วเขารู้สึกไม่มีค่า แม้กระทั่งในสายตาของพ่อแม่ที่อยู่ข้างๆ ยังไม่เห็นคุณค่าของเขา”
“การเลี้ยงดูที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการตัดสินใจในอนาคตของเด็ก ถามว่าสุดท้ายเด็กจะหันหน้าไปหาใคร คำตอบก็คือ เพื่อน เพราะเพื่อนไม่ตีตรา ไม่วัดประเมิน อยู่ข้างกันพูดคุยกันได้อย่างเต็มที่ เราเลยเห็นเด็กหลายๆ เมื่อโตขึ้นออกจากบ้านไปอยู่กับเพื่อน เพราะเพื่อนให้ความรักแบบไม่มีเงื่อนไข ดังนั้น ทั้งเพื่อนและโรงเรียนต่างส่งผลต่ออนาคตของเด็ก นี่เป็นเห็นผลว่าทำไมกุมารแพทย์ส่วนใหญ่จึงพูดตรงกันว่า การศึกษาในปัจจุบันทำร้ายเด็กเยอะเลยทีเดียว เช่น คนเก่งๆ ได้ขึ้นบอร์ด เด็กที่เรียนกลางๆ ไม่มีตัวตน เด็กที่เรียนแย่โดนตีตราว่าเป็นเด็กไม่ดี ทั้งที่การศึกษาควรสนับสนุนให้เด็กก้าวเดินในเส้นทางของตัวเองอย่างมั่นใจมากกว่าที่เป็นอยู่”
อุ้ม กอด บอกรัก สร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้กับลูก
ทำอย่างไรให้ลูกอยู่บ้านแล้วรู้สึกสบายใจ ออกจากบ้านไปแล้วอยากกลับบ้าน และคิดถึงพ่อแม่?
‘อุ้ม กอด บอกรัก’ คำตอบที่ได้ไม่มีอะไรซับซ้อน “ยิ่งลูกโต เรายิ่งต้องใช้หูมากขึ้น สั่งสอนให้น้อยลง” หมอวิน กล่าว
การสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยทั้งทางกายและใจช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้พวกเขาเติบโตขึ้นด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง พร้อมรับมือกับปัญหาและอุปสรรคที่จะผ่านเข้ามาในชีวิต หมอวิน กล่าวว่า พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องสวมบทบาทเป็นผู้ประเมินผลในทุกๆ เรื่อง แต่บทบาทของพ่อแม่ต้องอยู่เคียงข้างลูกเสมอ
“ในทุกๆ วันถ้าพ่อแม่เปิดโอกาส เด็กเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองว่าทำสิ่งไหนได้ดี ไม่ดี หรือมีพรสวรรค์ด้านไหนผ่านการลงมือทำหรือการเล่นอยู่แล้ว เวลาทำกิจกรรมด้วยกันพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องประเมินผลหรือพยายามวัดให้ได้ทุกอย่าง อีกทั้งไม่ต้องไปบอกว่า หนูดีแล้ว หนูเก่งแล้ว หรือกระตุ้นด้วยการบอกว่าพยายามอีกหน่อยสิ แม้แต่การให้กำลังใจว่า…มันไม่มีอะไรเลยแล้วหนูจะผ่านไปได้ คำพูดพวกนี้ไม่ได้ทำให้เด็กผ่านไปได้ ไม่ได้ช่วยทำให้ self-esteem เด็กดีขึ้น”
“พ่อแม่ทำได้ผ่านการกอด เห็นลูกเสียใจอยู่เข้าไปกอด พูดคุยถึงความจริงตรงหน้า ตอนนี้หนูรู้สึกเสียใจใช่ไหมที่บล็อกไม้หล่นลงมา แค่กอดลูกแล้วบอกว่า…มาช่วยกันต่อ ล้มก็ต่อใหม่ได้ และพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องพุ่งไปช่วยแก้ปัญหาให้ลูก เลี้ยงแบบสุขนิยม เศร้าไม่ได้ เสียใจไม่ได้ เห็นลูกร้องไห้ปุ๊บ รีบเข้าไปหาลูก เดี๋ยวพ่อแม่จัดการให้ แบบนี้ยิ่งเป็นการปลูกฝังเด็กว่าเขาสุดยอดที่สุด ทำผิดพลาดไม่ได้ พอเจอสถานการณ์เฉพาะหน้า เจอความล้มเหลว กลายเป็นว่าเขาจะรอให้คนอื่นเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้เขาไปตลอด”
Walking without legs!
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากหมอวินทำให้ผู้เขียนนึกย้อนไปถึงเรื่องราวของ วอลเตอร์ ลี และ ซาย ลี บนเวที TEDx เชียงใหม่ในปี 2018 ที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมามีร่างกายและจิตใจที่แข็งแกร่งและใช้ชีวิตอยู่รอดได้นั้น ‘สุขภาพจิตที่ดี’ ซึ่งถูกถ่ายทอดและปลูกฝังจากพ่อแม่เป็นปัจจัยสำคัญอย่างมาก
ซาย ลี ถึงวันนี้อายุ 16 ปี เกิดมาพร้อมขาที่พิการทั้งสองข้าง แขนซ้ายที่สมบูรณ์เพียงข้างเดียว และสะโพกที่แยกออกจากกันสองส่วน กำลังใจที่ดีของ วอลเตอร์ ลี ผู้เป็นพ่อ ทำให้เขาไม่ลดละความพยายามหาวิธีการรักษา จนพบวิธีการบำบัดแบบวอยต้า (Vojta Therapy) ณ ประเทศเยอรมนี ที่ใช้การกดจุดเพื่อกระตุ้นการเคลื่อนไหว ทำให้ซายสามารถใช้ร่างกายได้ดีขึ้น
วอลเตอร์ ลี เลี้ยงดูลูกด้วยความรักแบบไม่มีเงื่อนไข ให้โอกาสลูกได้เรียนรู้และลงมือทำเหมือนคนปกติทั่วไป เขาพาลูกชายปีนขึ้นภูเขาคินาบาลู ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่อายุ 6 ปี จากการเลี้ยงดู ปลูกฝัง และสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยจากครอบครัว ทำให้ซายมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแกร่งและใช้ชีวิตได้ไม่ต่างจากคนปกติอื่นๆ ปัจจุบัน ซาย สามารถเดินทางไปเรียนหนังสือ ทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น ปีนเขา ว่ายน้ำ เล่นคีย์บอร์ด และทำอาหารได้ เขามีความฝันอยากเป็นนักกีฬาว่ายน้ำในการแข่งขันพาราลิมปิกในอนาคต
ที่สำคัญ ซายยังเป็นแรงบันดาลใจให้วอลเตอร์ ลี ก่อตั้งมูลนิธิซาย มูฟเม้นท์ (Zy Movement Foundation) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กพิการทางการเคลื่อนไหวร่างกาย เผยแพร่องค์ความรู้ให้เด็กพิการด้อยโอกาสคนอื่นๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้และใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป เป็นเพื่อนคอยดูแลสภาพจิตใจให้กับพวกเขาและครอบครัว รวมทั้งสร้างความรู้เข้าใจที่ถูกต้องระหว่างผู้พิการและคนในสังคม