Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Life classroomSocial Issue
28 September 2024

Zookeeper ‘หมูเด้ง’ ผู้ไม่เคยผ่านหลักสูตรเลี้ยงฮิปโป แต่เรียนรู้ทุกวันจากการสังเกต: เบนซ์-อรรถพล หนุนดี

เรื่อง ชุติมา ซุ้นเจริญ

  • จบช่างไฟฟ้า อาชีพแรกๆ ในชีวิตคือก่อสร้าง ขับสิบล้อ ก่อนจะมาทำงานในสวนสัตว์ ฝึกฝนตัวเองและหาความรู้เพิ่มเติมจนได้รับตำแหน่ง Zookeeper แห่งสวนสัตว์เขาเขียว
  • งานแรกที่ เบนซ์-อรรถพล หนุนดี ได้รับมอบหมายคือการดูแลฮิปโปโปเตมัส ส่วนงานที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักและภูมิใจ คือการปั้นลูกฮิปโปแคระ ‘หมูเด้ง’ จนโด่งดังไปทั่วโลก
  • สำหรับเบนซ์ หัวใจสำคัญของการเป็น Zookeeper นอกจากความรักสัตว์ที่ต้องมีเป็นพื้นฐานแล้ว คือความช่างสังเกตและไม่หยุดเรียนรู้ 

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ช่วงนี้อาชีพ Zookeeper หรือผู้ดูแลสัตว์จะอยู่ในโฟกัสของใครต่อใคร เพราะหลังจากที่ลูกฮิปโปโปเตมัสแคระ ‘หมูเด้ง’ โด่งดังไปทั่วโลก เรื่องราวของ เบนซ์-อรรถพล หนุนดี ในฐานะพี่เลี้ยงหรือ ‘ป๋าดัน’ ผู้ส่งหมูเด้งขึ้นแท่นซุปเปอร์สตาร์ในโลกโซเชียล ก็อยู่ในสปอตไลท์ด้วย

ท่ามกลางแฟนคลับหมูเด้งที่มารอกันตั้งแต่เช้ามืด The Potential ชวนเบนซ์-อรรถพล พูดคุยถึงเส้นทางการเรียนรู้สู่อาชีพ Zookeeper ที่เขาว่า “ไม่ใช่แค่ดูแลสัตว์ แต่ต้องดูแลสวนสัตว์ด้วย” 

“ผมไม่ได้จบโดยตรงครับ เรียนจบช่างไฟฟ้า เทคโนฯ ชลบุรี ก่อนมาทำงานนี้ก็เคยทำงานพวกก่อสร้าง ขับรถสิบล้อส่งหินดินทราย แล้วก็มาเรียนต่อการจัดการผลิตสัตว์หลังจากที่ทำงานไปแล้วสักพักนึง ประมาณ 2 ปีได้มั้งครับ เพื่อที่จะบรรจุเข้าทำงานในตำแหน่งนี้”

เบนซ์เล่าว่าครั้งแรกที่เข้ามาทำงานยังไม่ได้ระบุตำแหน่ง แต่คงเป็นเพราะหน่วยก้านดีเลยได้ฝึกเลี้ยงฮิปโปโปเตมัส จากนั้นก็เรียนรู้จากรุ่นพี่และจากงานที่ทำจนเข้าใจธรรมชาติและลักษณะนิสัยของมัน ทำให้ทางสวนสัตว์เห็นถึงศักยภาพ

“การดูแลสัตว์ไม่มีที่ไหนสอนตรงๆ ต้องให้รุ่นพี่สอนเราครับ เพราะสัตว์บางชนิดก็จะมีแค่ในสวนสัตว์เท่านั้น เราก็มาฝึกเอาเรื่อยๆ แรกๆ ก็เบื่อครับ แต่พอตัวนั้นตัวนี้เริ่มมีลูก มันเหมือนเกิดมากับเรา ก็เริ่มผูกพัน เริ่มสนุก เหมือนเป็นลูกเราครับ”

แม้จะไม่เคยคิดฝันว่าจะมาทำหน้าที่นี้ แต่เมื่อเห็นลูกสัตว์ที่ตัวเองดูแลค่อยๆ เติบโต เขาก็เริ่มเห็นคุณค่าของงานและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาความรู้ความสามารถของตัวเอง ปัจจุบันเบนซ์และทีมดูแลสัตว์กว่า  30 ตัว ซึ่งไม่ใช่แค่ฮิปโป แต่รวมถึงดาราของสวนสัตว์เขาเขียวอย่างคาปิบารา สล็อต และอีกหลายตัวที่เขาปลุกปั้นจนโด่งดังมาก่อน แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่มีตัวไหนดังเท่า ‘หมูเด้ง’ ลูกฮิปโปที่หลายคนหลงรักจากโซเชียลมีเดีย ‘ขาหมู แอนด์เดอะแก๊ง’ ซึ่งมียอดผู้ติดตามรวม 3 แอป กว่า 4 ล้าน

“มันเริ่มจากตัวแม่ของหมูเด้ง เราลงไปทำความสะอาดบ่อทุกวัน เฝ้าเขากินทุกวัน ไม่รู้จะทำอะไรผมก็เลยนั่งไลฟ์สด ก็ทำอย่างนั้นทุกวันครับ จนเขาน่าจะจำเสียงจำกลิ่นอะไรของผมได้หมดแล้ว นั่งติดกันเลย แล้วก็ไลฟ์ไปจนเขากินเสร็จ เพราะว่าถ้าเราไม่เฝ้า ลิงมันจะมาฉวยอาหารไปหมดเลย ซึ่งมันทำให้เขาคุ้นเคยกับเรา ทำให้เขาเชื่องได้ อันนั้นก็เป็นความท้าทายในการเลี้ยงฮิปโปครับ”

จนมาถึงหมูเด้งที่เบนซ์หมายมั่นปั้นมือว่าจะสามารถสร้างกระแสได้ ซึ่งก็เป็นไปตามคาด “มันเป็นความน่ารักของเขาด้วย แล้วนักท่องเที่ยวก็ถ่ายไปลงกันเยอะมาก ก็เลยกระจายเป็นวงกว้างไปเลย ทำให้สัตว์ตัวอื่นๆ ก็มีคนอยากมาดูด้วย”

แน่นอนว่าท่ามกลางความโด่งดังของหมูเด้ง คนที่เหนื่อยที่สุดหนีไม่พ้น Zookeeper คนดัง เพราะงานประจำก็ยังคงต้องทำ คลิปก็ต้องถ่าย มากไปกว่านั้นคือการตอบคำถามคนที่สนใจงานของเขา

“Zookeeper ก็เป็นผู้ดูแลสัตว์และเป็นผู้ดูแลสวนสัตว์ด้วยครับ ก็คือหลังจากดูแลสัตว์เสร็จปุ๊บ ทำความสะอาดกรง ซ่อมกรง ปลูกต้นไม้ บริการนักท่องเที่ยว แล้วก็ทำทุกอย่างเลย”

งานของเบนซ์จะเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ โดยเขาจะดูแลความสะอาดภายในพื้นที่เลี้ยงสัตว์แต่ละชนิดที่อยู่ในความดูแล เก็บอาหารเก่าออกแล้วให้อาหารใหม่ พร้อมสังเกตพฤติกรรมของพวกมัน

“อย่างตอนเช้าๆ ที่ผมเล่นกันกับหมูเด้ง ก็คือดูแม่เขากิน แล้วก็สังเกต แล้วค่อยปล่อยให้เขาไปนอน พอตอนบ่ายก็ให้อาหารอีกรอบนึง”

เขาบอกว่านิสัยสัตว์แต่ละชนิดไม่เหมือนกัน ดังนั้นผู้ดูแลต้องรู้วิธีที่จะเข้าหา บางตัวเชื่อง บางตัวขี้ตกใจ บางตัวก็ดุร้าย ถึงจะเป็นฮิปโปแคระด้วยกันก็ไม่เหมือนกัน

“จากการที่ดูแลฮิปโปมา 8 ปี เราก็ศึกษาธรรมชาติของเขาก่อน ว่าเขากินอะไร มีพฤติกรรมยังไง นอนยังไง อะไรยังไง แล้วเราก็ดูเขาทุกวัน ถ้าเกิดวันไหนเขาเดินขากะเผลกๆ ก็อาจจะขาเจ็บ วันไหนเขาสั่นๆ อาจจะปวดท้อง อะไรอย่างนี้ครับ

พฤติกรรมแบบนี้เราก็แจ้งสัตวแพทย์มาดู พอเขารู้อาการเขาก็จะให้ยา เราก็จะเป็นผู้ให้ยาสัตว์อีกทีนึง เพราะว่าสัตวแพทย์เขาไม่ได้เป็นคนเอายาไปป้อน Zookeeper ต้องเป็นคนป้อนยาสัตว์นะครับ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องทำความคุ้นเคยกับเขา เวลาเขาเป็นแผล สัตวแพทย์ให้ยามา ให้สำลีอะไรมา แต่เราเป็นคนเข้าไปทา เราก็ต้องทำความคุ้นเคยกับเขาตั้งแต่เล็กๆ เลยครับ”

ทุกวันของ Zookeeper จึงเป็นการเรียนรู้จากการสังเกตและการลงมือทำหน้างาน ส่วนองค์ความรู้ได้มาจากการสั่งสมประสบการณ์ เมื่อถามย้อนกลับไปถึงวันแรกที่เข้ามาทำงานในสวนสัตว์ เบนซ์บอกว่าสิ่งที่เพิ่มขึ้นนอกจากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสัตว์แล้ว คือความรักสัตว์ที่ขยายออกไปเป็นความรักในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“เมื่อก่อนก็ไม่ได้รู้เรื่องสัตว์ไม่ได้รู้เรื่องธรรมชาติ ปกติก็รักสัตว์นะครับ เลี้ยงหมาเลี้ยงแมวนี่แหละ แต่ว่าไม่ได้รู้เรื่องธรรมชาติอะไร พอมาทำงานแล้ว นอกจากสัตว์มันก็ซึมซับเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไปด้วย เหมือนมันเป็นสิ่งที่คู่กันในโลกนี้ครับ ก็เหมือนเป็นการช่วยอนุรักษ์สัตว์ อนุรักษ์ธรรมชาติไปด้วย แล้วก็เป็นการถ่ายทอดความรู้ผ่านสื่อที่เราทำ”

แม้ว่าส่วนใหญ่แล้วผลตอบรับจากการติดตามพฤติกรรมของลูกฮิปโป ‘หมูเด้ง’ จะเป็นไปในทางที่ดี แต่ที่ผ่านมาก็มีความเห็นเชิงลบเกี่ยวกับการหาผลประโยชน์จากสัตว์ของสวนสัตว์ด้วยเช่นกัน

“ก็จริงนะครับ ที่ว่าสัตว์อยู่ในธรรมชาติคือดีที่สุด แต่ว่าสัตว์หลายชนิดถ้าไม่มีสวนสัตว์มันจะหมด แล้วบางชนิดมันก็ไม่มีในธรรมชาติแล้ว สวนสัตว์ก็ทำเพื่ออนุรักษ์ แล้วก็เพาะขยายพันธุ์เพื่อปล่อยเขากลับสู่ธรรมชาติ อย่างนกในธรรมชาติที่ไม่มีแล้ว แต่ในสวนสัตว์มีอยู่ สวนสัตว์เพาะขยายพันธุ์ได้ก็เอากลับไปปล่อย ติดตาม คือเราก็พยายามเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ไม่ให้เขาสูญพันธุ์ครับ” 

นอกจากนี้ อีกบทบาทหนึ่งของสวนสัตว์ก็คือการเป็นแหล่งเรียนรู้  ที่เชิญชวนคนทั่วไปโดยเฉพาะเด็กๆ ให้เข้ามาหาทำความรู้จักกับสัตว์ชนิดต่างๆ โดยมุ่งหวังให้เกิดความรู้และความรักสัตว์ไปด้วย

“ความดังของหมูเด้งทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาที่สวนสัตว์เขาเขียวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก วันธรรมดาจากวันละหลักร้อยคนก็เป็นหลัก 4,000-5,000 คน วันหยุดจาก 5,000 คนก็เป็น 10,000 คน เดือนนี้ (กันยายน) ก็น่าจะแสนกว่าคนแล้วมั้งครับที่เข้ามา”

แน่นอนว่าในจำนวนนี้ นอกจากเสียงชื่นชมก็มีคำถามถึงความเหมาะสมในการดูแลหมูเด้งด้วยเหมือนกัน

“หมูเด้งก็เป็นฮิปโป เขาถึกบึกบึนและซนมากครับ บางคนก็ทะนุถนอมเขาเกินไป จนแบบว่าทำงานยากมากเลยตอนนี้ เขาเล่นเองวิ่งชนต้นไม้ วิ่งกระโดดน้ำ รุนแรงกว่าที่ผมจับเขาเยอะครับ ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะเจ็บหรืออะไร บางทีเขาวิ่งกระโดดน้ำ ตู้ม! แผลมาเลย คือเขายังเป็นเด็กก็จะซน เดี๋ยวจะเห็นแผลเขาอีกเยอะครับ ไม่ต้องกลัวว่าผมจะไปทำให้เขาเจ็บ เดี๋ยวเขาทำตัวเองแน่นอนครับ”

ซึ่งในมุมของผู้ดูแล เมื่อถามถึงวิธีกำราบความดื้อความซนของลูกฮิปโป เบนซ์บอกว่า “ก็ปล่อยเขาครับ เขายังเด็ก ซนก็ซนไป ผมไม่บังคับหรือตีเขา แค่หาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย แล้วก็ไม่ให้ไปทำลายข้าวของหรือต้นไม้”

ส่วนใครที่เป็นห่วง Zookeeper คนนี้ที่ถูกหมูเด้งสวบ (กัดเล่น) อยู่บ่อยๆ เขาบอกว่า “ธรรมชาติฮิปโปแคระเป็นสัตว์ที่ไม่ได้ดุร้ายครับ หมายถึงว่าอยู่ดีๆ จะวิ่งเข้าใส่เรา ไม่ใช่แบบนั้น แต่ว่าถ้าเราไปทำเขา เขาก็จะดุร้ายทันที หมายถึงว่าเขาก็ไม่ได้ชอบให้ใครเข้าไป 

เวลาเขาโกรธเขาก็โหดมากครับ ประมาณว่าพละกำลังเยอะ แต่เขาก็ไม่ค่อยแสดงความโหดเท่าไหร่ ก็มีโดนทำร้ายบ้างครับ เราก็ต้องมีวิธีไม่ไปให้โดนทำร้ายหรอก”

เมื่อถามว่าสัตว์ที่เคยดูแลตัวไหนเลี้ยงยากที่สุด เบนซ์ตอบด้วยความมั่นใจว่า “ถ้าเลี้ยงแล้วใส่ใจ อะไรก็ง่ายหมดครับ” เขาว่าสัตว์ก็เหมือนกับคนที่นิสัยใจคอแตกต่างกัน คนเลี้ยงต้องสังเกตและเอาใจใส่ ถึงจะเข้าหาและดูแลได้ถูกวิธี

“มันจะยากตอนมีปัญหา เช่นเวลาเขาเจ็บต้องเคลื่อนย้าย ฮิปโปก็จะยาก เพราะว่าตัวใหญ่กำลังเยอะ ถ้าเคลื่อนย้ายสัตว์เล็กๆ เอากล่องไปใส่ก็ย้ายได้แล้ว แต่ถ้าจะย้ายฮิปโปตัวนึงต้องใช้ฝีมือใช้ประสบการณ์มากเลยครับ”

ดังนั้นถ้าใครคิดอยากจะทำงานเป็น Zookeeper เบนซ์บอกว่า อันดับแรกก็ต้องรักสัตว์ก่อน “แล้วก็ต้องเป็นคนที่ช่างสังเกตครับ เพราะเราต้องสังเกตพฤติกรรมสัตว์ ถ้ามันผิดปกติเราจะได้รู้ว่าเป็นอะไรยังไง ป่วยไหม อะไรอย่างนี้ครับ”

สำหรับคนที่ยังขอเป็นแค่ผู้ชม Zookeeper แห่งสวนสัตว์เขาเขียวให้คำแนะนำสั้นๆ ง่ายๆ คือ  “ดูอย่างเดียว” 

“ถ้าเขานอนก็นอน ถ้าเขาวิ่งก็ดูอย่างเดียวครับ ส่งเสียงนิดหน่อยได้ แต่ถ้าไปตะโกนเรียกชื่อเขาก็ไม่ตื่นหรอกครับ เขายังจำชื่อตัวเองไม่ได้ เขายังเด็กอยู่ แต่ถ้าเป็นผม เขาก็จะจำโทนเสียงในการเรียกได้”

สำหรับเบนซ์ นี่คือการเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างเขากับสัตว์ทุกตัวที่ได้ดูแล และแม้ว่า Zookeeper อาจจะยังไม่ได้อยู่ในลิสต์อาชีพในฝันของเด็กๆ แต่การทำให้คนทั่วไปได้รู้ถึงความทุ่มเทของผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสุขและรอยยิ้มของผู้คน ก็สร้างความสุขและความภูมิใจให้กับเขาด้วยเช่นกัน

Tags:

การเรียนรู้สัตว์หมูเด้งZookeeperฮิปโปสวนสัตว์

Author:

illustrator

ชุติมา ซุ้นเจริญ

ลูกครึ่งมานุษยวิทยาและนิเทศศาสตร์ รักการเล่าเรื่องผ่านตัวอักษร พอๆ กับการเดินทางข้ามพรมแดนทุกรูปแบบ เชื่อเสมอว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่ไม่นิยมแบกโลกไว้บนบ่า

Related Posts

  • Learned-helplessness-nologo
    How to enjoy life
    แค่ยอมรับสภาพ หรือเพราะภาวะความสิ้นหวังจากการเรียนรู้ ‘Learned helplessness’

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Movie
    Like Stars on Earth: ไม่มีเด็กคนไหนไร้ค่า ขอแค่แสงสว่างจากใครสักคนเพื่อเปล่งประกาย

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Everyone can be an EducatorLife classroom
    ‘ผมอยากเห็นสังคมที่ปลอดภัย’: Alex Face ศิลปินสตรีทอาร์ต และพ่อที่ขอเป็นเบาะในวันที่ลูกล้ม 

    เรื่อง ชุติมา ซุ้นเจริญ

  • Everyone can be an EducatorSocial Issues
    ‘Saturday School’ วิชานอกห้องเรียนที่ทำให้เด็กกล้าฝันและเป็นเจ้าของการเรียนรู้: ยีราฟ-สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง

  • Character building
    ชวนเด็กเปื้อนดิน ติดตั้ง ‘สมรรถนะการอยู่กับธรรมชาติและวิทยาการ’ ให้เขาอยู่รอดและอยู่ร่วมกับโลกได้อย่างยั่งยืน

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel