- ‘โครงการพี่เลี้ยงอาสา’ มีจุดประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่ในการรับฟัง ชวนคุย ชวนคิด ให้ทักษะในการใช้ชีวิตแก่เด็กๆ กลุ่มเปราะบาง และกลุ่มเด็กขาดโอกาสที่รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิยุวพัฒน์
- เด็กๆจะมีความรู้สึกว่ามีใครบางคนที่รับฟังเขาจริงๆ แม้จะไม่เคยเห็นหน้า ไม่เคยรู้จักเป็นทั้งพื้นที่ปลอดภัยและพื้นที่สบายใจให้เขาได้พึ่งพิงในวันที่ยากสำหรับเขา
- ไม่เพียงแต่เด็กๆ ในโครงการจะได้รับคำปรึกษาและมีที่พึ่งพิงทางจิตใจเท่านั้น แต่ ‘พี่เลี้ยง’ ที่เข้าร่วมโครงการเองก็ได้พัฒนาทักษะการฟัง การสื่อสาร และดึงศักยภาพของตัวเองมาใช้ในงานอาสาด้วย
“แม้ทุนการศึกษาจะทำให้เด็กเรียนหนังสือจนจบได้ แต่การที่เด็กคนนึงจะเติบโตมานั้นไม่ได้มีแค่เรื่องของทุนการศึกษาอย่างเดียว เพราะมันมีมิติอื่นๆ เข้ามาประกอบ ดังนั้นในเรื่องของความสุข ความทุกข์ และปัญหาอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องทุนการศึกษาก็ต้องทำให้เด็กได้รับความช่วยเหลือด้วยเหมือนกัน”
เม-วันวิสาข์ มาเมือง เจ้าหน้าที่มูลนิธิยุวพัฒน์ เล่าถึง ‘โครงการพี่เลี้ยงอาสา’ ที่มีจุดประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่ในการรับฟัง ชวนคุย ชวนคิด ให้ทักษะในการใช้ชีวิตแก่เด็กๆ กลุ่มเปราะบาง และกลุ่มเด็กขาดโอกาสที่รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิฯ
เพราะนอกเหนือจากภารกิจหลักของมูลนิธิที่ให้การช่วยเหลือเด็กๆ ด้วยการมอบทุนการศึกษาจนจบระดับมัธยมศึกษา และ ปวช.มาต่อเนื่องยาวนานจนเข้าปีที่ 30 แล้ว สิ่งที่ยุวพัฒน์มองว่าสำคัญไม่แพ้กันคือการดูแลเยียวยาจิตใจและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่เด็กๆ
เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่มักมีสภาพครอบครัวที่เปราะบาง ขาดที่พึ่งทางใจ และขาดผู้ที่จะแนะนำแนวทางในการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง จึงเกิด ‘โครงการพี่เลี้ยงอาสา’ ที่ทำให้เด็กๆ นั้นมีใครสักคนที่สามารถขอคำปรึกษา ระบายปัญหาและความรู้สึกของเขาได้ผ่าน 2 ช่องทางหลัก คือ ทางโทรศัพท์ และ เฟซบุ๊ก
“ปัญหาหลักที่พบตลอดการให้ทุนการศึกษาและการทำงานของมูลนิธิคือการที่มีเด็กกลุ่มหนึ่งที่หลุดออกนอกระบบและเรียนไม่จบ นี่เป็นสิ่งที่บอกเราว่าการให้ทุนการศึกษาอย่างเดียวก็ไม่ได้การันตีว่าเด็กจะเรียนจบและไปถึงฝั่ง ระหว่างทางจึงควรมีการดูแลและประคับประคองเขาด้วย”
ไม่เพียงแต่เด็กๆ ในโครงการจะได้รับคำปรึกษาและมีที่พึ่งพิงทางจิตใจเท่านั้น แต่ ‘พี่เลี้ยง’ ที่เข้าร่วมโครงการเองก็ได้พัฒนาทักษะการฟัง การสื่อสาร และดึงศักยภาพของตัวเองมาใช้ในงานอาสา รวมถึงได้ลองแลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ ที่อาจจะไม่เคยนึกถึงมาก่อนเช่นกัน
‘พี่เลี้ยงอาสา’ รับฟังปัญหาในวันที่น้องเหนื่อยใจ
“เราพยายามสร้างกิจกรรมที่ช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัยและให้ข้อมูลความรู้แก่เด็กๆ แต่ก่อนที่เราจะดีไซน์กิจกรรมขึ้นมา เราจะต้องตอบให้ได้ก่อนว่าปัญหาคืออะไร อย่างเราทำงานกับเด็ก ก็ต้องตอบให้ได้ว่าปัญหาของเด็กคืออะไร และในฐานะที่เราเป็นองค์กรที่ทำงานกับเด็ก เราจะแก้ปัญหานี้ยังไง ต้องมีธงตั้งต้นแบบนี้อยู่เสมอ ต้องรู้ความต้องการและปัญหาของเขา รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นและทำไมเด็กยังอยู่กับปัญหานี้อยู่”
โครงการพี่เลี้ยงอาสามี 3 กิจกรรมหลักๆ คือ การคุยกับเด็ก โดยการคุยผ่านโทรศัพท์หรือแชทเฟซบุ๊ก การทำงานคอนเทนต์ลงกลุ่มปิดเฟซบุ๊ก โดยทำงานร่วมกันเป็นทีมเพื่อสร้างสรรค์สื่อขึ้นมา และการทำไลฟ์ให้ความรู้
จุดประสงค์ของกิจกรรมคุยโทรศัพท์และแชตคือ ต้องการเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้แก่เด็กๆ เพราะบางครั้งเด็กอาจมีเรื่องที่ไม่สามารถพูดคุยกับที่บ้านหรือคุณครูที่โรงเรียน เขาก็จะมีพี่เลี้ยงอาสาที่สามารถพูดคุย ขอคำแนะนำ ปรึกษาและระบายได้
ส่วนจุดประสงค์ของการทำคอนเทนต์และไลฟ์ คือต้องการให้ข้อมูลแก่เด็กๆ หรือเวลาไลฟ์สด เด็กๆ ก็จะสามารถเข้ามาถามคำถามต่างๆ ซึ่งพี่ๆ ก็จะสามารถตอบเขาได้ทันที
โดยเด็กๆ ที่เข้าไปทำงานด้วยจะเป็นกลุ่มนักเรียนทุนยุวพัฒน์ ช่วงอายุ 13-18 ปี ที่เป็นเด็กขาดโอกาส ครอบครัวมีรายได้น้อย และกลุ่มเปราะบาง ที่มีราวๆ 7,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งกลุ่มปิดเฟซบุ๊กมีเด็กๆ เป็นสมาชิกอยู่ประมาณ 6,000 คน ปัจจุบันมีพี้เลี้ยงอาสามาแล้วทั้งหมด 14 รุ่น จำนวน 290 คน และช่วยดูแลน้องนักเรียนทุนได้กว่า 6,000 คน
ให้เด็กยืนได้ด้วยตัวเอง แม้ในวันที่ไม่มีพี่เลี้ยงอยู่ข้างๆ
ถึงวันนี้โครงการพี่เลี้ยงอาสาได้ดำเนินการมาถึงปีที่ 5 แล้ว มูลนิธิเชื่อมั่นว่าจะช่วยให้เด็กๆ ได้เห็นมุมมองใหม่ แนะนำวิธีคิดที่ช่วยให้เขาเห็นทางออกของปัญหาที่แตกต่างจากที่เขาคิดหรือมองเห็นว่าจริงๆ แล้วปัญหามีทางออกเพียงแต่เราอาจจะมองไม่เห็น จึงต้องมีคนชวนให้เขามองเห็นทางออกนั้น ด้วยการพูดคุยและชวนคิดชวนตอบ
“สิ่งนี้จะช่วยปรับมุมมองความคิด ทำให้เด็กเรียนรู้วิธีที่จะทบทวนตัวเอง เวลาที่เขาเผชิญปัญหา เช่น ปัญหานี้เราเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง เราจัดการตรงไหนได้บ้าง ใครที่จะช่วยในเรื่องนี้ได้บ้าง ถ้าไม่ใช่ทางออกนี้ มีทางออกอื่นอีกไหม โอกาสใหม่ๆ อะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่เรารู้สึกว่าเป็นปัญหา
ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว เด็กอาจจะยังไม่สามารถคลี่คลายปัญหาได้ด้วยตัวเอง เพราะเขาคือเด็ก แต่เขาจะมีวิธีคิดที่จะจัดการอย่างเป็นระบบในวันที่ไม่มีพี่เลี้ยงอาสาอยู่ข้างๆ เขา
และเวลาพี่เลี้ยงอาสามาทำงาน มันไม่ใช่การบอกเขาว่าต้องทำแบบนี้ๆ เท่านั้นนะตามลำดับ แต่พี่เลี้ยงอาสาจะถูกเติมทักษะบางอย่างเพื่อที่จะชวนน้องคุยหรือตั้งคำถาม เพราะเราเชื่อว่าการชวนเขาคุยหรือตั้งคำถามจะช่วยให้เขาเกิดกระบวนการคิดบางอย่าง สมมติว่าเรามาชวนน้องๆ คุย หรือรับฟังปัญหาของน้องๆ เขาก็จะได้วิธีการแก้ปัญหาหรือทางออกด้วยตัวของเขาเอง
และถ้าหากวันหนึ่งในอนาคตน้องๆ ไปเจอปัญหาแบบนี้หรือคล้ายๆ แบบนี้ แม้ว่าวันนั้นเขาจะไม่มีพี่เลี้ยงอยู่ก็ตาม เขาก็จะแก้ปัญหาและผ่านไปได้จากการที่เคยฝึกกระบวนการคิดจากการตั้งคำถามเหล่านี้ เพราะการพูดคุยจะทำให้เขาได้ลองมองในมุมมองใหม่ที่เขาไม่เคยคิดมาก่อน เหมือนเป็นการช่วยกันปรับเปลี่ยนมุมมองความคิด”
นอกจากนี้ เธอก็อยากให้คนในสังคมลองเข้ามาร่วมโครงการนี้ดูเพื่อที่จะได้มีมุมมองและทัศนคติต่องานอาสาว่าเป็นงานที่ดี เพราะมากกว่าการได้ช่วยเหลือเด็กๆ และเพิ่มความมีใจรักในการทำงานจิตอาสาแล้ว ผู้ที่ทำงานอาสายังได้ฝึกทักษะจากกระบวนการทำงานและได้ดึงศักยภาพที่มีของตัวเองออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ดังนั้นการฝึกกระบวนการคิดและการพัฒนาทักษะต่างๆ ที่ตนเองมีอยู่ผ่านการทำงานอาสาจึงเป็นเรื่องที่ได้ประโยชน์กันทั้งผู้ให้และผู้รับ
“ถึงแม้ว่าเราจะมีการเติมทักษะบางอย่างแก่ผู้เข้าร่วมเพื่อที่เขาจะเข้าไปทำงานกับเด็กต่อ แต่ว่าพี่เลี้ยงอาสาหลายๆ คนก็ดึงทักษะและความสามารถที่มีอยู่แล้วของตัวเองออกมาใช้กับงานด้วย เพราะงานพี่เลี้ยงอาสาไม่ได้ทำแค่เป็นเพื่อนชวนคิดชวนคุย หรือรับฟังเด็กอย่างเดียว แต่บางทีมันมีงานในโครงการที่เป็นสายคอนเทนต์และไลฟ์สดด้วย บางรุ่นพี่เลี้ยงก็มาไลฟ์พูดถึงอาชีพที่เขาทำ เพราะมันเป็นสิ่งที่เขาคุ้นชินและเป็นตัวตนของเขาอยู่แล้ว เขาเลยนำสิ่งนั้นออกมาแชร์เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ”
มากกว่างานอาสา คือการเติมเต็มหัวใจทั้งผู้ให้และผู้รับ
กระแสตอบรับส่วนใหญ่จากเด็กๆ คือเขามีความรู้สึกว่ามีใครบางคนที่รับฟังเขาจริงๆ แม้จะไม่เคยเห็นหน้า ไม่เคยรู้จัก แต่คนเหล่านั้นช่วยรับฟังเขาทุกอย่าง เป็นทั้งพื้นที่ปลอดภัยและพื้นที่สบายใจให้เขาได้พึ่งพิงในวันที่ยากสำหรับเขา
“บางทีเด็กไม่ได้มีปัญหาอะไร แค่ทักสติ๊กเกอร์มาในแชท มาสวัสดี แค่นี้เขาก็รู้สึกว่าชีวิตของเขามีใครสักคนแล้ว เด็กบางคนก็จะรู้สึกว่าในวันที่เขาท้อหรือเหนื่อย เขาก็อาจจะไม่ได้รู้หรอกว่าการให้กำลังใจตัวเองคืออะไร แต่เด็กเขาก็จะรู้ว่ายังมีพี่เลี้ยงอาสาอยู่ เขาก็จะโทรมาคุย แชทมาคุยด้วย”
ขณะเดียวกันในฝั่งพี่เลี้ยงเองก็สะท้อนกลับมาว่า เขารู้สึกได้ก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเองในบางเรื่องไม่คิดว่าจะทำอะไรแบบนี้ได้ และรู้สึกว่าตัวเองได้อะไรหลายอย่างกลับไปหลังจากเข้าร่วมโครงการนี้จริงๆ
“สิ่งนี้เป็นเรื่องที่เราไม่เคยคาดหวังมาก่อน แต่ปรากฏว่ามันเกิดขึ้น บางคนก็บอกว่า มันเกิดการเรียนรู้ระหว่างเขากับเด็กขึ้น เพราะบางครั้งไม่ใช่แค่เด็กมาปรึกษาพี่เลี้ยงทางเดียว แต่พี่เลี้ยงยังสามารถขอคำแนะนำบางเรื่องจากเด็กได้ด้วยซ้ำ เหมือนเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ซึ่งตรงนี้พี่เลี้ยงเขาก็บอกว่ามันทำให้เขาได้เห็นบางมุมที่ไม่เคยเห็นจากไหน หรือความรู้สึกเห็นคุณค่าในตัวเองที่เกิดขึ้นกับตัวพี่เลี้ยง
มีพี่เลี้ยงเคยบอกว่า เขาก็ไม่เคยคิดว่าการใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงในการรับฟังใครสักคน ช่วงเวลานั้นจะทำให้คนๆ นั้นได้รับอะไรบางอย่างมากมายขนาดนี้
ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีที่การทำงานอาสาสมัครทำให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกว่าชีวิตของเขานั้นมีคุณค่ามากมายแค่ไหนกับใครบางคน หรือในวันที่พี่เลี้ยงรู้สึกเหนื่อยรู้สึกท้อ ภาพตอนที่เขาคุยกับน้องๆ ได้ช่วยเหลือน้องๆ ก็ย้อนกลับมาทำให้เขารู้สึกดีขึ้นได้
เราจะบอกเสมอว่า คุณไม่จำเป็นต้องกลับมาเป็นพี่เลี้ยงอาสายุวพัฒน์ก็ได้ แต่หลังจากได้ทำงานพี่เลี้ยงอาสายุวพัฒน์แล้ว ขอแค่ให้มีภาพจำที่ดีกับงานอาสาและอยากทำงานนี้ต่อ ไม่ว่าจะกับยุวพัฒน์หรือที่ไหนก็ตาม”
ประคับประคองเด็กถึงสุดทาง ด้วยการประสานงานจากทุกภาคส่วน
ก่อนพี่เลี้ยงอาสาจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ มูลนิธิฯ จะมีการปฐมนิเทศในช่วงแรกของโครงการที่จะช่วยเติมทักษะต่างๆ ที่จำเป็นแก่พี่เลี้ยง เช่น การฟังและการตั้งคำถามให้เป็นเครื่องมือติดตัว รวมถึง ข้อปฏิบัติในการทำงานตลอดการเป็นพี่เลี้ยงอาสา การเคารพในสิทธิของเด็ก การรักษาความลับ และการแจ้งกลับมาที่ยุวพัฒน์ ในกรณีที่เด็กเจอปัญหาในประเด็นอ่อนไหวเกินกว่าที่พี่เลี้ยงอาสาจะช่วยเหลือได้ เป็นต้น เพราะพี่เลี้ยงไม่มีทางรู้ล่วงหน้าเลยว่าเด็กจะมาปรึกษาปัญหาอะไร ดังนั้นการสร้างทักษะเตรียมความพร้อมไว้จึงเป็นเรื่องสำคัญ
“แต่ถ้ามีบางอย่างที่เป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าน้องคนนี้มีความเสี่ยงที่จะเรียนไม่จบ หรืออะไรก็ตามที่เป็นอันตรายต่อเขา ให้แจ้งกลับมาที่มูลนิธิหรือเจ้าหน้าที่เป็นการส่วนตัว เราก็จะรับเคสต่อและให้ความช่วยเหลือต่อไป หรือว่าบางทีพี่เลี้ยงไม่รู้ว่าจะช่วยน้องๆ ยังไง หรือไม่รู้ว่าชวนมองชวนคุยยังไงให้บอกมูลนิธิได้เลย เพราะเราจะดูแลน้องๆ ต่อให้สุดปลายทางจนกว่าเด็กจะโอเคและได้รับความช่วยเหลือ
เพราะยุวพัฒน์ไม่ได้ทำงานแค่กับพี่เลี้ยงอาสา อย่างเคสที่เรารับเคสกลับมาและเราประเมินว่าปล่อยแบบนี้ไว้ไม่ได้ เราก็จะติดต่อประสานงานกับหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วย แล้วมันก็จะกลายเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายกับหน่วยงานที่จะสามารถช่วยเด็กได้”
โดยส่วนใหญ่ในกรณีนี้ มักจะกรณีของภาวะซึมเศร้า ซึ่งเมื่อเกิดภาวะแบบนี้ขึ้น ทางมูลนิธิก็จะประสานกับหน่วยงานที่แก้ปัญหานี้โดยตรง เช่น โรงพยาบาล และนักจิตวิทยา เพื่อให้เด็กได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ โดยที่ทางมูลนิธิจะคอยดูแลประคับประคองเด็กไปด้วย
อีกกรณีหนึ่งที่พบบ่อยคือเด็กที่มีสถานะทางครอบครัวค่อนข้างลำบากมาก การให้ทุนการศึกษาอย่างเดียวอาจไม่สามารถช่วยได้ทั้งหมด ในกลุ่มนี้มูลนิธิจะประสานไปยัง อบต.(องค์การบริหารส่วนตำบล) อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) พมจ. (สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด) หรือมูลนิธิในท้องถิ่นของเด็กให้ลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือ และคอยติดตามจนกว่าเด็กจะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพราะเมื่อเด็กได้รับความช่วยเหลือ ครอบครัวของเขาก็จะพ้นวิกฤติไปด้วย
สร้างภาพจำที่ดีกับเด็กในวันนี้ ให้เขาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในวันหน้า
เด็กคือคนๆ หนึ่ง เขามีสิทธิที่จะมีปัญหา มีสิทธิที่จะไม่สบายใจและมีเรื่องทุกข์ร้อนได้ บางครั้งเวลาที่ผู้ใหญ่มีเรื่องไม่สบายใจหลายคนก็มักจะหาทางออกได้ด้วยตัวเอง แต่เด็กนั้นต่างกันด้วยวัย วุฒิภาวะ และศักยภาพ ทำให้หลายๆ ครั้งเขาก็ไม่รู้ว่าจะจัดการกับปัญหาที่เจออย่างไร และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในบางเรื่อง
“เราคิดว่าการที่มีใครสักคนมาช่วยเขา เหมือนกับช่วยดึงเด็กที่เจอปัญหากลับมาสู้และใช้ชีวิตต่อไปได้ ซึ่งจริงๆ การดึงเด็กขึ้นมาและช่วยเขานั้นไม่ได้ช่วยแค่ตัวเด็กอย่างเดียว แต่เราช่วยไปถึงครอบครัวของเขาด้วย เพราะมูลนิธิฯ คิดว่า ถ้าครอบครัวเด็กอยู่ได้ เด็กก็น่าจะได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี
การที่เด็กคนนึงที่มีสถานะเป็นเด็กขาดโอกาส เด็กกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มเสี่ยง พอวันหนึ่งเขาได้คุยกับใครสักคนที่มีทัศนคติที่ดี และได้คุยกับคนๆ นี้บ่อยๆ เราเชื่อว่าในอนาคตเขาอาจจะทำสิ่งนี้และไปช่วยเหลือคนอื่นต่อด้วย ถ้าเรารู้สึกว่าเราคุยกับคนๆ นี้แล้วสบายใจ คนๆ นี้รับฟังเรา ไม่ตัดสินเรา เด็กอาจจะรู้สึกอยากเป็นคนแบบนี้ก็ได้ เด็กเขาจะมองเป็นแบบอย่าง และพัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่ดีขึ้น
เราอยากให้เด็กมีภาพจำที่ดี เพราะวันนึงเขาอาจจะเอาภาพจำนี้เป็นตัวตั้งต้นในการใช้ชีวิต เพราะเด็กมักจะเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบ ถ้าเขามีแบบอย่างที่ดี ได้สัมผัสกับคนที่ดี ก็มีแนวโน้มว่าเขาจะอยากเป็นแบบนั้นตาม”
เพราะสังคมคือส่วนหนึ่งในการเติบโตของเด็กทุกคน
“จริงๆ อยากให้คนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมกันเยอะๆ ค่ะ เพราะการที่เด็กจะเติบโตขึ้นมาได้นั้นไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง เพราะถ้าเราลองมองให้ดี เรามีสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากมายที่หล่อหลอมให้คนๆ หนึ่งเติบโตขึ้นมา เราเลยอยากให้คนในสังคมหรือคนที่อยู่แวดล้อมตัวเด็ก หรือแม้แต่คนที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน สามารถช่วยให้เด็กคนหนึ่ง มีมุมมอง ทัศนคติและแนวคิดที่ดี เพื่อให้ได้รับโอกาสที่ดีต่อไป ก็อยากให้คนในสังคมเข้ามาช่วยกันเยอะๆ ค่ะ”
ซึ่งหากสนใจเป็นพี่เลี้ยงอาสา มูลนิธิยุวพัฒน์ สามารถสมัครผ่านเว็บไซต์และเพจยุวพัฒน์ โดยสมัครทุกเพศ ทุกอาชีพ เพียงแค่อายุ 23 ปีขึ้นไป และมีทักษะอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ทักษะการสื่อสาร การเขียน มีความคิดที่ยืดหยุ่นในการทำงาน รวมถึงเข้าใจและมี Empathy มีทัศนคติเชิงบวก พร้อมรับฟัง และมีใจที่จะทำงานอาสา
โดยแต่ละรุ่นจะรับสมัครพี่เลี้ยงประมาณ 15 – 18 คน มีระยะการทำงาน 4 เดือน พี่เลี้ยงอาสา 1 คน จะได้ดูแลน้องๆ 5 – 10 คน ซึ่งตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงรุ่นที่ 14 มูลนิธิยุวพัฒน์มีพี่เลี้ยงอาสามาแล้ว 290 คน และมีน้องๆ ที่เข้าร่วมปรึกษาประมาณกว่า 6,900 คน
“เราหวังว่างานอาสาสมัคร และโครงการพี่เลี้ยงอาสามูลนิธิยุวพัฒน์จะมีคนอยากเข้ามาช่วยเพิ่มขึ้น พอมาช่วยแล้วก็อยากให้เขาขยายไปยังงานอาสาอื่นๆ ช่วยอะไรก็ได้ โดยอาจจะเริ่มต้นที่โครงการนี้และขยายผลไปยังที่อื่นๆ ได้
เพราะมูลนิธิยุวพัฒน์ไม่ได้มีเจ้าของเป็นใครคนใดคนหนึ่ง แต่เราอยากให้สังคมร่วมมาเป็นเจ้าของมูลนิธินี้ เราอยากให้เกิดการมีส่วนร่วม ร่วมกันมาเป็นหนึ่งกลไก หนึ่งมือ หนึ่งแรงที่จะเข้ามาช่วยเด็ก เพราะว่ายุวพัฒน์เราทำงานคนเดียวไม่ได้ ดังนั้นการที่เราจะทำให้เด็กคนนึงเรียนจบ ประสบความสำเร็จ มีความสุขและเติบโตอย่างมีคุณภาพได้นั้น ต้องให้สังคมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งด้วย เพราะเด็กก็คือสังคมของเราเหมือนกัน”