- เทรนด์ความต้องการของประเทศไทยหรือตลาดโลก ทุกภาคส่วนเห็นตรงกันว่า ‘เด็กอาชีวะคืออนาคตของประเทศ’ เพราะเป็นกําลังสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม จึงต้องให้ความสำคัญและเสริมศักยภาพเด็กกลุ่มนี้
- โครงการต่อกล้าอาชีวะ ปีที่ 12 เน้นการพัฒนา ‘Young Smart IoT Technician’ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี Industrial Internet of Things (IoT) ผ่านการทำโครงงานที่ได้รับโจทย์จากสถานประกอบการ พัฒนา Hard Skill และ Soft Skill ไปพร้อมๆ กัน
- อีกสิ่งที่สำคัญคือ การพัฒนาอาจารย์ให้มีทักษะของการเป็นโค้ช หรือ Technician Coaching Teacher เพื่อนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปบูรณาการและพัฒนาการเรียนการสอนในสถาบัน ขยายผลการสร้างศักยภาพนักเรียนและนักศึกษาให้พร้อมสู่การทำงานจริง
ในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและตลาดแรงงานผันผวน การเรียนรู้ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการเผชิญความท้าทายในโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษาที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
‘โครงการต่อกล้าอาชีวะ’ โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างศักยภาพเยาวชนสายอาชีวศึกษาให้มีทักษะพร้อมสู่การทำงานจริงในภาคอุตสาหกรรม
ในปี 2567 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 12 มาในธีมการพัฒนา ‘Young Smart IoT Technician’ มุ่งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี Industrial Internet of Things (IIoT) ผ่านการทำโครงงานที่ได้รับโจทย์จากสถานประกอบการ นับเป็นการบูรณาการความรู้จากห้องเรียนสู่การประยุกต์ใช้จริงในระหว่างการฝึกอาชีพ
ก้าวทันยุคดิจิทัล ปั้นอาชีวะสู่นวัตกรพร้อมใช้
อรุณพร ธนโพธิวิรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์พัฒนาบุคลากรวิจัยและพัฒนาองค์กร เนคเทค สวทช. กล่าวว่า ปีนี้มีเป้าประสงค์ของโครงการฯ 4 เรื่องด้วยกัน อันดับแรก คือ มุ่งหวังพัฒนานักศึกษาและอาจารย์ในสังกัดอาชีวศึกษาให้มีทักษะด้านเทคโนโลยี Industrial Internet of Things (IIoT) ซึ่งเป็นทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของทุกกลุ่มอุตสาหกรรม สองคือการพัฒนาทักษะ ‘Soft Skills’ ทั้งลักษณะอุปนิสัยและความสามารถเชิงสมรรถนะ เช่น การคิดวิเคราะห์ ความคิดเชิงสร้างสรรค์ ทักษะการสื่อสาร และการทำงานเป็นทีม ซึ่งทักษะเหล่านี้มีความสำคัญกับการทำงานในยุคปัจจุบันอย่างมาก
“ประเด็นที่สาม คือ ปีนี้เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาจารย์ให้มีทักษะของการเป็นโค้ช หรือ Technician Coaching Teacher เพื่อนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปบูรณาการและพัฒนาการเรียนการสอนในสถาบัน ขยายผลการสร้างศักยภาพนักเรียนและนักศึกษาให้พร้อมสู่การทำงานจริง นอกจากนี้ยังคาดหวังให้สถาบันอาชีวศึกษามีการผลักดันสู่นโยบาย หรือมีการจัดเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน IoT และ IIoT ในวิทยาลัย และสุดท้ายเรื่องที่สี่ คือ การเชื่อมโยงการทำงานระหว่างสถานประกอบการกับวิทยาลัย เพื่อให้เกิดการพัฒนากำลังคนที่ตอบโจทย์และตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในยุคดิจิทัล”
โครงการต่อกล้าอาชีวะ ปีที่ 12 เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 มีอาจารย์และน้องๆ อาชีวะสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 36 ทีม จากสถาบันอาชีวศึกษา 25 สถาบัน ใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ จากนั้นมีการจัดอบรมทักษะพื้นฐานการเขียนโปรแกรมในรูปโค้ด (Coding) และเทคโนโลยี IoT เบื้องต้น ขณะเดียวกันได้เชิญฝั่งสถานประกอบการเครือข่ายเข้ามาร่วมให้โจทย์ปัญหาหรือหัวข้อความสนใจที่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของโครงการ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการเลือกจับคู่กับสถานประกอบการที่สนใจและพัฒนาเป็นโครงงาน
นิตยา บำรุงราษฎร์ ผู้จัดการงาน พัฒนากำลังคนด้านอิเล็กทรอนิกส์และ สารสนเทศ เนคเทค สวทช. กล่าวว่า โจทย์ในปีนี้เน้นการนำเทคโนโลยีด้าน IoT เข้าไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งทำได้หลากหลาย ได้แก่ Productivity, OEE, Production line monitoring, Warehouse management เป็นต้น ซึ่งผู้สมัครจะเลือกจับคู่กับผู้ประกอบการที่มีความสนใจร่วมกันในการพัฒนาโครงงาน จากนั้นคณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกโครงงานที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ซึ่งมีทั้งหมด 19 ทีม จาก 12 สถาบัน ใน 10 จังหวัด ซึ่งทุกทีมจะได้รับทุนสนับสนุนการพัฒนาผลงาน จำนวน 30,000 บาท และชุดอุปกรณ์สื่อการสอน Rasbery Pie จำนวน 2 ชุด ให้แก่อาจารย์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดในการเรียนการสอนวิทยาลัย
“สิ่งที่เราทำในโครงการ คือ กระบวนการสาธิตให้อาจารย์เห็นว่าการเรียนรู้และการฝึกปฏิบัติจริง มีผลต่อพัฒนาการของเด็กๆ อย่างชัดเจน ผลงานของน้องหลายๆ ทีม ค่อนข้างเป็นที่พอใจของสถานประกอบการ บางสถานประกอบการขอรับเด็กไว้ทำงานเลย เพราะอยากให้ต่อยอดพัฒนาผลงานเพื่อใช้จริง บางสถานประกอบการคุยกับอาจารย์เลยว่าจากนี้ไปจะรับนักศึกษาฝึกงานทุกปี ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและมีความสำเร็จระดับหนึ่งในการพัฒนากำลังคนและส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้าน วทน. ไปสู่การใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์ อีกมุมหนึ่งที่ทีมงานคาดหวังคือการผลักดันขยายผลให้เกิดการเรียนการสอน IoT และ IIoT ในวิทยาลัยทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับการศึกษาของไทย พัฒนาเด็กไทยให้รู้เท่าทันเทคโนโลยี และตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมได้จริงๆ”
ทีม TK24-17: พัฒนาระบบ Data Transmission ในไลน์การผลิตเครื่องยนต์ด้วยเทคโนโลยี IoT
สยามโตโยต้าอุตสาหกรรม จำกัด เป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์ดีเซลของโตโยต้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีความสนใจในเรื่องของการใช้เทคโนโลยี IoT ในการติดตามการทำงานของเครื่องจักร เนื่องจากที่ผ่านมายังมีปัญหาการสูญหายของข้อมูล
อธิพัทชร์ ภูรีเรืองโรจน์ ตัวแทนทีม TK24-17 วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ เล่าว่า ในการติดตามการทำงานของเครื่องจักรจะมีการส่งข้อมูลซ้ำๆ จำนวนมากจัดเก็บไว้ที่ Data Based ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาพัฒนาระบบ OEE เป็นระบบติดตามประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักร ซึ่งถ้าข้อมูลหายไปจะส่งผลต่อการวิเคราะห์เครื่องจักร โจทย์ปัญหาที่นำมาสู่การทำโครงงานพัฒนา ระบบ Data Transmission ในไลน์การผลิตเครื่องยนต์ด้วยเทคโนโลยี IoT เพื่อเป็นระบบรับข้อมูล ช่วยลดปัญหาการซ้ำของข้อมูลและการสูญหาย
“การได้ออกจากห้องเรียนมาฝึกทำโครงงานในสถานประกอบการช่วยให้มีทักษะความรู้เกี่ยวกับโรงงานเพิ่มขึ้นมาก ทำให้เห็นสภาพปัญหาจริงในการทำงาน เป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในห้องเรียน และยังช่วยฝึกทักษะด้าน Soft Skill ทำให้เราบริหารจัดการทีมได้ รู้จักวางแผนและกําหนดเวลาทำงาน
ทุกวันนี้การเรียนในห้องเรียนไม่เพียงพอแล้วครับ การได้ออกมาสัมผัสโลกกว้างแบบนี้จะช่วยให้เราได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นและมีความพร้อมต่อการทำงานในอนาคต”
ทีม TK24-18: Smart Water Meter ระบบอ่านค่ามิเตอร์น้ำ
บริษัทอีสเทิร์นไทยคอนซัลติ้ง 1992 จํากัด เป็นบริษัทที่ให้บริการด้านการปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม บริการห้องทดลองวิทยาศาสตร์ ออกแบบ ควบคุม ดูแลระบบผลิตน้ำประปา และระบบบำบัดน้ำเสีย ในนิมอุตสาหกรรม ซึ่งในภารกิจงานส่วนหนึ่งของเจ้าหน้าที่ คือการจดตัวเลขมิเตอร์น้ำตามจุดต่างๆ และบันทึกในระบบฐานข้อมูล แต่มิเตอร์น้ำที่ต้องตรวจสอบมีมากถึง 140 เครื่อง ต้องใช้คนทำงาน 3 คน และใช้เวลามากถึง 3 วัน ในการจัดเก็บข้อมูลทั้งหมด เป็นข้อจำกัดในการทำงานที่นำมาสู่โครงงาน Smart Water Meter
พิพัฒน์ ธีรภัทรไพศาล ตัวแทนทีม TK24-18 วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ เล่าว่า จุดประสงค์ของเราคือการพัฒนาระบบอ่านมิเตอร์น้ำ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมิเตอร์น้ำที่อยู่ในโรงงานให้เป็นระบบดิจิทัล เนื่องจากมีราคาสูงถึง 30,000-40,000 บาทต่อเครื่อง ขณะที่ต้นทุนของระบบ Smart Water Meter อยู่ที่ 2,000-3,000 บาท สามารถอ่านค่ามิเตอร์ได้อย่างแม่นยําด้วย AI ที่พัฒนาโดยเฉพาะ อีกทั้งระบบยังบันทึกข้อมูลลงฐานข้อมูลได้อัตโนมัติ รวมทั้งเรายังพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันเพื่อให้ผู้ใช้งานดูค่าต่างๆ ของมิเตอร์น้ำได้ทันที
“การได้ฝึกงานในโรงงานต่างจากการเรียนในห้องเรียนมาก เพราะได้เรียนรู้แบบเข้มข้นเลย ได้ความรู้ด้าน IoT และได้ลงมือทำจริง ซึ่งยากกว่า ถ้าทำผิดพลาดจะล่มทั้งระบบ ระหว่างทำงานได้พัฒนาทักษะด้าน Soft Skill ทั้งการแก้ปัญหาและการบริหารจัดการทีม แต่ก่อนทำงานไม่ได้แบ่งงานกัน แต่ตอนนี้มีการวางแผนแบ่งงานชัดเจน มีการกำหนดตารางการทำงาน ซึ่งช่วยให้ทำงานเป็นระบบและราบรื่นขึ้นมาก ที่สำคัญยังได้ทักษะการพูดและการสื่อสารด้วย แต่ก่อนพูดไม่ค่อยเป็น ให้เพื่อนคนอื่นพูดแทน แต่ปัจจุบันผมเป็นคนนําเพราะพูดเก่งขึ้น
ถ้าเรามี Hard Skill ที่ดีแล้ว แต่ Soft Skill ยังไม่ดี ก็จะสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจในสิ่งที่เราทำได้ยาก ฉะนั้นจำเป็นมากที่ต้องพัฒนาทักษะทั้งสองด้านควบคู่กัน”
TK24-28: GearMind คู่หูงานอุตสาหกรรมที่ล้ำหน้า
จุดเริ่มต้นจาก บริษัท เวิร์ล เอนเนอร์จี กรุ๊ป จำกัด มีปัญหาไม่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเครื่องจักรมีปัญหา ต้องค้นหาข้อมูลจากกองเอกสาร ทำให้แก้ไขปัญหาได้ล่าช้า พัชรพล ศรีดา ตัวแทนทีม TK24-28 วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ เล่าว่า ทีมจึงพัฒนา GearMind เป็นแชทบอทที่ออกแบบมาเฉพาะด้านสำหรับจัดการองค์ความรู้ส่วนตัว
สำหรับแนวคิดการทำงานของ GearMind คือ หากเครื่องจักรเกิด Error ข้อมูลจะถูกส่งไปวิเคราะห์ที่ GearMind เมื่อได้คำตอบแล้ว ระบบจะส่งการแจ้งเตือนไปยัง LINE Notify ของช่างเทคนิคหรือวิศวกรที่ดูแลเพื่อให้เข้ามาแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด
“โครงการต่อกล้าอาชีวะช่วยพัฒนาทักษะหลายด้านมาก โดยเฉพาะองค์ความรู้ด้าน IoT รวมถึงทักษะ Soft Skills ที่พวกผมไม่เคยรู้มาก่อน เช่น กระบวนการคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking ซึ่งช่วยให้เราทำงานเป็นระบบมากขึ้น จากเดิมที่ทำแบบมั่วซั่ว ตอนนี้เริ่มรู้จักวิเคราะห์หาปัญหาหรือจุดอ่อน รวมถึงการหาทางออกได้อย่างมีแบบแผนมากขึ้น
ถ้าไม่ได้มาโครงการฯ นี้คงเป็นเรื่องที่ยากที่จะพัฒนาขึ้นมาได้ เพราะองค์ความรู้บางอย่างต้องหาจากนอกห้องเรียน ซึ่งต่อกล้าอาชีวะมอบองค์ความรู้ดีๆ แบบนี้ให้เรา
TK24-36: ระบบตรวจับและวัดแรงดันก๊าซ แสดงผลด้วยระบบ IoT
บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) คือผู้ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีครบวงจร ซึ่งให้โจทย์ความสนใจในเรื่อง การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการตรวจสอบคุณภาพก๊าซในกระบวนการเคมี ลดการพึ่งพาการบันทึกข้อมูลด้วยมือ และทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถตรวจสอบสถานะได้จากระยะไกล พร้อมทั้งได้รับการแจ้งเตือนแบบทันทีผ่านไลน์เมื่อเกิดความผิดปกติ
ธีรธร ทรัยพ์เจ้าพระยา ตัวแทนทีม TK24-36 วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี เล่าว่า เรามีความคิดว่าอยากนำเทคโนโลยี IoT เข้าไปช่วยในการตรวจจับและวัดแรงดันก๊าซ ซึ่งระบบเดิมยังต้องใช้เจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบ แต่ระบบที่พัฒนาขึ้นจะสามารถตรวจวัดแรงดันก๊าซและแสดงผลข้อมูลบนหน้าจอได้เลยว่าแก๊สหมดหรือว่ายังมีอยู่ เป็นการนำ IoT เข้ามาช่วยควบคุมการทำงานทั้งระบบ ลดการใช้แรงงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มากขึ้น
“โครงการต่อกล้าอาชีวะเป็นโครงการที่ดีมาก ให้ความรู้และทักษะหลายๆ อย่าง ได้ฝึกคิดงานจากโจทย์ปัญหาจริงของผู้ประกอบการ ได้ทักษะทำงานเป็นทีม ทั้งเรื่องการวางแผน สื่อสาร และการทำงานร่วมกัน ทุกความรู้สามารถนำมาประยุกต์เพื่อให้เรานำไปใช้ในการทำงานจริงในอนาคต”
TK24-33: Solar Cell Monitoring ตรวจจับความผิดปกติแทนคน
ปัจจุบันประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์อย่างมาก เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้า การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจะช่วยยกระดับการแข่งขันของผู้ประกอบการได้มาก
อาทิตยา กรรณสูตร ตัวแทนทีม TK24-33 วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ เล่าว่า ทีมทำโครงงานพัฒนา Solar Cell Monitoring ร่วมกับ บริษัท โซล่า เซฟ จำกัด โดยใช้วงจรเซนเซอร์ในการตรวจเช็กและควบคุมการทำงานของแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อตรวจหาแผงโซลาร์เซลล์ในโซลาร์ฟาร์มที่มีปัญหาหรือชำรุดทดแทนแรงงานคน เมื่อแผงโซลาร์เซลล์ทำงานผิดปกติ ระบบ Solar Cell Monitoring จะส่งข้อมูลขึ้นคลาวด์ของบริษัท เพื่อให้เจ้าหน้าที่รับทราบและดำเนินการตรวจสอบแผงนั้นได้ทันที ซึ่งจะช่วยลดงบประมาณและระยะเวลาในการส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบทุกแผงด้วยตนเอง
“โครงการฯ นี้ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับโปรแกรมต่างๆ ในเชิงลึกที่เราไม่ได้เรียนจากในห้องเรียน ที่สำคัญคือไม่ใช่แค่รู้ แต่ยังได้ลองทำ ซึ่งช่วยให้เข้าใจแบบถ่องแท้และนำไปพัฒนาต่อยอดได้อีกมาก”
“ทักษะที่ได้คือการทำงานเป็นทีม” ศุภักษร เตชะ สมาชิกในทีม กล่าวเสริมและเล่าว่า การได้ลงมือทำงานร่วมกัน ทำให้รู้ว่าแต่ละคนมีความสามารถและจุดบกพร่องที่ต่างกัน แต่ก็นำมาเติมเต็มกันจนสร้างผลงานที่ดีได้ อีกทั้งยังได้ฝึกฝนเรื่องการพูด จากที่พูดให้คนอื่นเข้าใจได้ยาก ก็พัฒนาจนดีขึ้น ซึ่งทักษะการสื่อสารเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างมากในการทำงานร่วมกับผู้อื่น”
ต่อกล้าอาชีวะ เสริมทักษะแรงงานขับเคลื่อนประเทศ
เจษฎา อิงคภัทรางกูร ตัวแทนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ที่มีโอกาสเข้าร่วมในการดำเนินโครงการต่อกล้าอาชีวะอย่างต่อเนื่อง แสดงความเห็นหลังจากได้ชมผลงานของนักศึกษาในโอกาสพิธีปิดโครงการฯ ระหว่างวันที่ 13-14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ว่าที่ผ่านมาคนในสังคมบางส่วนอาจยังมีภาพลบต่อเด็กอาชีวะ แต่จริงๆ แล้ว พวกเขาคือกลุ่มเด็กที่มีศักยภาพพร้อมเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างมาก
ที่สำคัญหากมองในเรื่องเทรนด์ความต้องการของประเทศไทยหรือตลาดโลก ทุกภาคส่วนเห็นตรงกันว่า ‘เด็กอาชีวะคืออนาคตของประเทศ’ เพราะเป็นกําลังสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ทั้งในกลุ่ม S-Curve และ New-Curve ฉะนั้นจำเป็นอย่างมากที่ต้องให้ความสำคัญและเสริมศักยภาพเด็กกลุ่มนี้
“ตั้งแต่เริ่มโครงการฯ มาถึงวันนี้ เห็นได้ชัดว่าเด็กหลายคนเติบโตขึ้นและมีพัฒนาการจากวันแรกเยอะมาก ทั้งในส่วนของ Hard Skill และ Soft Skill เด็กๆ ได้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ได้เรียนรู้จากนักวิจัยของเนคเทค ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้าน IoT และเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศ ขณะเดียวกันยังได้เห็นว่าสถานประกอบการใช้เครื่องจักรหรือซอฟต์แวร์อะไร เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมและเตรียมความพร้อม ซึ่งทักษะเหล่านี้มีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากสำหรับสถานประกอบการในการยกระดับกระบวนการผลิตสู่ Industry 4.0 และระหว่างทางที่เด็กๆ ใช้เทคโนโลยี IoT เข้าไปช่วยแก้ปัญหาจริงในโรงงาน พวกเขาก็ได้พัฒนา Soft Skill โดยอัตโนมัติ ทั้งการทำงานเป็นทีม การสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์”
สุดท้ายอีกกลุ่มคนสำคัญในโครงการฯ ที่มีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาทักษะกำลังคนด้านดิจิทัลในระดับอาชีวศึกษา คือ ‘ครู’
“ความมุ่งหวังของโครงการฯ คือ เราอยากให้ครูได้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้พร้อมกับเด็กๆ เพื่อให้เห็นว่าโลกปัจจุบันมีความรู้หรือทักษะอะไรที่จำเป็นบ้าง และนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอน แน่นอนว่าการจัดโครงการต่อกล้าอาชีวะให้เด็กประมาณ 100 คนต่อปี ไม่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมได้มากพออยู่แล้ว แต่คนที่จะสร้างผลกระทบหรือขยายผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ คือครูกลุ่มนี้ที่จะนำโมเดลความรู้ไปปรับใช้ในห้องเรียน เพื่อผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพรองรับความต้องการของผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต”