- การกลั่นแกล้งรังแก (Bullying) มีหลายรูปแบบ ทั้งการทำร้ายทางร่างกาย การใช้คำพูดล้อเลียน ดูหมิ่น หรือการแบนออกจากกลุ่ม รวมถึงการถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ หรือ Cyberbullying
- การที่เด็กคนหนึ่งถูกบูลลี่หรือกลั่นแกล้งด้วยวิธีต่างๆ สามารถส่งผลกระทบทั้งทางร่างกาย จิตใจ และการเรียนรู้ หากเกิดซ้ำๆ และไม่ได้รับการช่วยเหลือ อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล จนนำไปสู่การทำร้ายตัวเอง
- การป้องกันไม่ให้ปัญหาการถูกกลั่นแกล้งบานปลาย พ่อแม่และครูควรเปิดโอกาสให้เด็กเข้ามาพูดคุยเรื่องนี้ได้อย่างปกติ รับฟังโดยไม่ตัดสิน และไม่ควรมองว่าเป็นเรื่องของเด็กๆ ที่เล่นกัน
“เด็กคนหนึ่ง เป็นเด็กชายอายุ 11 ปี เรียนอยู่ชั้นป.6 แม่พามาตรวจที่แผนกจิตเวชเด็กและวัยรุ่น เพราะแม่สังเกตว่าไม่สดใส จากที่เคยเป็นเด็กร่าเริงก็ดูเงียบไป บางครั้งจะมีสีหน้าเศร้า แม่เคยเห็นว่ามักจะมีอาการมากหลังจากที่เปิดโทรศัพท์มือถือ เล่นเฟซบุ๊กหรือไลน์ บางทีก็ร้องไห้
แม่เคยถามว่าเด็กเป็นอะไร เด็กจะบอกว่า ไม่มีอะไรหรอก แต่หลังจากนั้นก็เริ่มมีบ่นปวดท้องบ่อยๆ ในตอนเช้าที่ต้องตื่นไปเรียน บอกแม่ว่า ปวดท้องมาก แม่พาไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล คุณหมอตรวจอย่างละเอียดแต่ไม่พบความผิดปกติใดๆ ให้ยามารับประทาน แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น มีอาการปวดท้องจนขาดเรียนบ่อยๆ ต่อมาเริ่มบนว่า เบื่อ ไม่อยากไปโรงเรียน ต่อมาเริ่มมีปัญหาการเรียน ไม่ส่งการบ้าน ขาดเรียนบ่อย นอนไม่หลับ รับประทานได้น้อยลง จากเดิมที่เป็นคนร่าเริงแจ่มใส เรียนดี ไม่มีปัญหาอารมณ์พฤติกรรมใดๆ”
พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นโรงพยาบาลมนารมย์ หรือที่ใครหลายคนรู้จักในชื่อ ‘หมอมิน บานเย็น’ เจ้าของเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา เล่าถึงกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงของเด็กชายคนหนึ่ง หลังกุมารแพทย์ได้แนะนำให้แม่พาลูกชายมาพบ เพราะเด็กอาจมีภาวะทางจิตใจบางอย่างซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดท้องที่เกิดขึ้น
“เมื่อคุยกับเด็กจึงพบว่าเด็กถูกเพื่อนแกล้งในเฟซบุ๊กกับไลน์ เพื่อนเอารูปถ่ายของเด็กไปตัดต่อในแบบตลกขบขัน บางรูปก็เป็นการตัดต่อกับรูปลักษณะลามก ส่งต่อในกลุ่ม และล้อเลียนกันสนุกสนาน เรื่องบานปลายจนเด็กถูกแบนออกจากกลุ่มเพื่อน เพื่อนในห้องไม่มีใครคบด้วย ทำให้เด็กมีความเครียดมากขึ้น”
หมอมินบอกว่าสิ่งที่เด็กชายกำลังพบเจอคือ การกลั่นแกล้งรังแก (Bullying) ซึ่งผู้ใหญ่บางคนอาจเข้าใจผิดว่าการกลั่นแกล้งจะต้องมีร่องรอยของการบาดเจ็บทางร่างกายหรือมีบาดแผลให้เห็น แต่จริงๆ แล้วการกลั่นแกล้งมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำ การทำร้ายทางกาย คำพูดล้อเลียน ดูหมิ่น หรือการแบนออกจากกลุ่ม ซึ่งรูปแบบที่เจอได้บ่อยๆ ในยุคนี้คือ การถูกกลั่นแกล้งรังแกในโลกออนไลน์ หรือที่เรียกว่า Cyberbullying
“การบูลลี่นั้นเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ บางครั้งเป็นการกระทำของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็กๆ ซึ่งไม่ควรมองเป็นเรื่องธรรมดาปกติ”
อีกแง่มุมที่น่าสนใจคือ หลายครั้งการกลั่นแกล้งมักถูกมองว่าเป็นเพียงการพูดจาหยอกล้อหรือการแซวเล่นเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น รวมถึงตัวคนกระทำเองก็มักอ้างว่าไม่ได้มีเจตนาจะทำร้าย เรื่องนี้หมอมินชี้ว่าเส้นแบ่งระหว่างการหยอกล้อกับการบูลลี่ ไม่ได้อยู่ที่เจตนาของผู้กระทำอย่างเดียว แต่ให้ยึดความรู้สึกของผู้ถูกกระทำเป็นเกณฑ์
“น่าจะอยู่ที่ความรู้สึกของคนที่ถูกกระทำ ถ้าเขาไม่ชอบ ก็คงไม่ใช่แค่ล้อเล่น หยอกล้อ ผู้ใหญ่ก็ต้องบอกเด็กว่าบางครั้งในสถานการณ์เดียวกัน ความคิดความรู้สึกของเราอาจต่างกับคนอื่น เราต้องรู้จักเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน เห็นใจเขา ถ้าเพื่อนไม่ชอบก็ไม่ควรทำ ตรงนั้นเป็นการไปบูลลี่เพื่อน อย่าลืมว่าเรื่องเล็กน้อยของเรา อาจเป็นเรื่องที่มีผลกระทบอย่างยิ่งกับจิตใจของคนหนึ่งก็ได้”
สำหรับเด็กที่มักตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้ง หมอมินบอกว่าส่วนใหญ่มักเป็นเด็กที่มีปัญหาด้านการเรียน เด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงเด็กที่มักถูกผู้ใหญ่ ‘ล้อเลียนรูปลักษณ์’ ต่อหน้าเพื่อนนักเรียนด้วยกัน
“จริงๆ ผู้ใหญ่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีกับเด็กๆ บางครั้งมีกรณีพ่อแม่ ญาติ หรือครูที่ชอบทักเด็กด้วยความเอ็นดูหรืออะไรก็ตามด้วยการนำรูปลักษณ์ของเด็กมาล้อเล่น เช่น ยายไฝ นายแว่น ยายดำ นายอ้วน ฯลฯ คิดว่าเป็นเรื่องเล่นๆ สนุกๆ แต่หารู้ไม่ว่าเป็นการปลูกฝังค่านิยมการเหยียดหรือบูลลี่ในใจเด็ก แล้วเด็กก็บูลลี่เพื่อนต่อไปเรื่อยๆ
ส่วนเด็กที่ไปแกล้งคนอื่น บางครั้งเป็นเด็กที่เคยเป็นเหยื่อของการถูกแกล้งมาก่อน เด็กที่มีรูปร่างลักษณะตัวใหญ่ดูน่ากลัว เด็กที่มีประสบการณ์ความรุนแรงจากที่บ้าน ครอบครัวใช้ความรุนแรงกันจนเด็กซึมซับมองเป็นเรื่องปกติ เด็กที่มีภาวะทางจิตเวชบางอย่างที่ทำให้ควบคุมตัวเองไม่ได้ ไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ เด็กที่มีพฤติกรรมทำผิดกฎระเบียบ เด็กไม่มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น
หมออยากเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ทำสิ่งที่จะนำไปสู่ค่านิยมที่ดีให้สังคม เริ่มต้นด้วยการเลิกเรียกเด็กหรือคนรอบข้างด้วยสมญานามที่เอาจุดด้อยเขามาล้อเล่น น่าจะทำให้สังคมเราน่าอยู่มากขึ้น”
เพราะการที่เด็กคนหนึ่งถูกบูลลี่หรือกลั่นแกล้งด้วยวิธีต่างๆ ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นเชื่อมโยงทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และการเรียนรู้
“เด็กที่ถูกกลั่นแกล้งมักมีปัญหาการเรียน ภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล ปัญหาทางอารมณ์ บางทีเด็กที่เครียดมาด้วยอาการทางกายต่างๆ สุขภาพร่างกายไม่ดี อาจมีปัญหาพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การใช้ยาเสพติดเพื่อช่วยให้รู้สึกดีขึ้น
สิ่งที่หมอห่วงมากที่สุดคือความคิดและการพยายามฆ่าตัวตาย การทำร้ยตัวเองและฆ่าตัวตาย ซึ่งมีหลายๆ กรณีที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าวว่าเด็กและวัยรุ่นที่ถูกกลั่นแกล้งรังแกจบชีวิตตัวเองอย่างน่าเศร้าและไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น”
หมอมินอธิบายเพิ่มเติมว่าความรุนแรงของผลกระทบทางด้านจิตใจของเด็กที่ถูกกลั่นแกล้งรังแกสัมพันธ์กับภาวะเดิมของเด็กคนนั้นด้วย เช่น หากเป็นเด็กที่มีภาวะอารมณ์อ่อนไหว เครียดง่าย วิตกกังวลง่าย หรือมีภาวะซึมเศร้าอยู่เดิมจะมีผลกระทบมากกว่า
นอกจากนี้หากเด็กถูกกลั่นแกล้งด้วยความรุนแรงบ่อยครั้งก็ย่อมส่งผลกระทบต่อจิตใจจนอาจลุกลามกลายเป็นแผลใจในอนาคต ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการช่วยเหลือและให้กำลังใจจากคนรอบข้าง เพราะหากเด็กมีความสัมพันธ์กับครอบครัว เพื่อน และคุณครูที่ดีที่คอยให้กำลังใจ เด็กก็ย่อมจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า
“…พ่อแม่ผู้ปกครอง คุณครูสามารถสังเกตว่าเด็กมีอาการ เช่น เมื่อกลับจากโรงเรียนแล้วเสื้อผ้าฉีกขาด ข้าวของเสียหาย ร่างกายเด็กมีรอยแผล หรือรอยช้ำที่ไม่ทราบสาเหตุ เด็กอาจไม่บอกว่าถูกรังแกตรงๆ หมอเคยเจอเด็กมาพบด้วยอาการอยู่ดีๆ ก็กลัวการไปโรงเรียนแบบไม่มีสาเหตุ การเรียนตกลง เมื่อซักประวัติเพิ่มเติม เด็กจึงยอมรับว่าถูกเพื่อนขู่เอาเงิน และทำร้ายร่างกาย
เด็กบางคนอาจมีอาการเศร้า เงียบ แยกตัว บางทีอาจจะอารมณ์แปรปวนง่าย นอนไม่หลับ ฝันร้าย เด็กที่ถูกรังแกได้ง่ายส่วนหนึ่งมักเป็นเด็กที่ขาดทักษะการสื่อสาร มีลักษณะเก็บตัว เงียบ ไม่ค่อยมีปากมีเสียง อาจจะไม่ค่อยมีเพื่อนสนิท หรือครอบครัวไม่ค่อยมีเวลาให้ เด็กไม่สามารถขอความช่วยเหลือใครได้ หรือไม่รู้จะขอความช่วยเหลืออย่างไร”
ขณะเดียวกัน หมอมินมองว่าการจะสังเกตและให้ความช่วยเหลือเด็กก็มีหลักที่ผู้ใหญ่ควรและไม่ควรปฏิบัติเช่นกัน ซึ่งสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งคือการใช้คำถามประเภท “เธอไปทำอะไรเขาก่อน ทำไมเขาถึงมาทำเธอ” เพราะมันจะทำให้เด็กรู้สึกว่าผู้ใหญ่มองว่าเขาทำผิดจึงถูกเพื่อนแกล้ง รวมถึงบางเรื่องอาจไปสะกิด ‘ต่อมอยากสอน’ ของผู้ใหญ่ แต่ก็ควรปล่อยให้เด็กเล่าจนจบ แล้วค่อยสอบถามพูดคุยถึงการแก้ปัญหาต่อไป
“สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำเป็นอย่างแรกคือทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและมั่นคง เริ่มด้วย ‘การรับฟัง’ ถามเด็กว่าเกิดอะไรขึ้น การที่เด็กได้เล่า ก็เป็นการได้ระบายความรู้สึก ฟังไปเรื่อยๆ สนใจและตั้งใจ พยักหน้าเป็นระยะ สบตาไม่ใช่ว่าเด็กเล่าไป ผู้ใหญ่ก็ก้มหน้ากดมือถือ มีคำพูดที่สะท้อนความรู้สึกให้เหมาะสม เช่น “หนูคงรู้สึกแย่มากทีเดียวที่เจอเรื่องแบบนี้”
บางครั้งพ่อแม่ก็มีความจำเป็นต้องคุยกับครูในเรื่องที่เด็กถูกแกล้ง เพราะบางทีการแกล้งมีความรุนแรงและมีผลกระทบมาก บางครั้งเด็กที่ถูกเพื่อนแกล้งเดินไปฟ้องครู ครูบอกว่า “จะฟ้องอะไรกันมากมายนี่” บางทีเด็กก็เหมือนกับขาดที่พึ่ง อย่างน้อยๆ ครูก็ช่วยรับฟังปัญหา และแนะนำเขาสักหน่อย ก็ช่วยให้ใจชื้นขึ้นมาก แต่บางครั้งเด็กที่ถูกแกล้งเหมือนหาทางออกไม่ได้ หมอเข้าใจว่าบางครั้งครูอาจจะมีภาระมาก แต่อยากให้กำลังใจและขอร้องให้คุณครูมีความละเอียดอ่อนตรงนี้สักหน่อย
การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการถูกแกล้งบานปลายก็คือพ่อแม่และครูควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เข้ามาพูดคุยเรื่องนี้ได้อย่างปกติ ไม่ควรมองปัญหาการกลั่นแกล้งว่าเป็นเรื่องของเด็กๆ ที่เล่นกัน
และพูดคุยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับเพื่อนบ่อยๆ เพราะการรับฟังช่วยได้มาก บางทีถึงแม้ว่าเพื่อนก็ยังแกล้งเขาอยู่ แต่เด็กก็คงรู้สึกดีขึ้นได้ ถ้ารู้สึกว่ามีใครสักคนที่รับฟังและเข้าใจความทุกข์ของเขา การทำให้เด็กรู้สึกว่าทุกอย่างนั้นมาคุยกับผู้ใหญ่ได้เสมอ พร้อมจะเข้าใจและเป็นกำลังใจให้
ที่สำคัญคือให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและมั่นคงเพียงพอ และผู้ใหญ่เป็นที่พึ่งทางใจให้เขาได้ ส่วนในกรณีที่ผลกระทบเกิดขึ้นกับจิตใจเด็กมาก อาจมีความจำเป็นที่จะต้องให้เด็กเข้ารับการปรึกษาจากจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเพื่อหาทางช่วยเหลือเด็กต่อไป”
สำหรับการให้คำแนะนำต่อเด็กที่กำลังเผชิญการถูกกลั่นแกล้งรังแก หมอมินบอกว่าไม่มีสูตรสำเร็จในการรับมือหรือวิธีที่ดีที่สุด ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์และระดับความรุนแรง
“หมอเคยดูคลิปในยูทูป มีคุณครูคนหนึ่งแนะนำเด็กๆ ว่าถ้าเป็นการบูลลี่ด้วยคำพูด “แม้จะรู้สึกแย่แค่ไหนกับคำพูดเพื่อน แต่จงอย่าแสดงออกให้เขาเห็นว่าเราเป็นเดือดเป็นร้อน” อย่าโวยวายหรือแสดงออกชัดเจนว่าไม่ชอบมากๆ เพราะมันจะทำให้คนที่มาแกล้งรู้สึกสนุกและอยากแกล้งต่อไป ส่วนใหญ่ถ้าคนที่ถูกแกล้งมีปฏิกิริยาในทางลบมากเท่าไหร่ เช่น โกรธ เสียใจ ทำท่าไม่พอใจ คนที่มาแกล้งจะรู้สึกสนุกและอยากแกล้งมากขึ้น
บางครั้งการพูดตามตรงว่า “เราไม่ชอบที่เธอมาพูดแบบนี้กับเรา” ก็อาจจะเป็นการสื่อสารที่ดีเช่นกัน อาจจะใช้ได้ในบางสถานการณ์ ในกรณีเด็กที่มาแกล้งพอจะเข้าใจและมีความเห็นอกเห็นใจบ้าง แต่วิธีนี้อาจจะเหมาะเฉพาะการกลั่นแกล้งรังแกที่เกิดในรูปแบบคำพูดที่ไม่มีการทำร้ายร่างกาย เพราะถ้ามีการทำให้เจ็บตัวด้วย แล้วคนที่ถูกแกล้งจะไปยิ้มรับและยินดีเต็มใจให้เขาทำให้บาดเจ็บก็คงไม่ดี
ดังนั้นถ้ามีการทำให้เกิดอันตรายกับร่างกาย ก็ต้องใช้วิธีอื่นเป็นการป้องกันตัวเอง หรือขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ไม่ควรยอมให้เขาทำร้ายไปเรื่อยๆ เช่น ควรบอกผู้ใหญ่ บอกผู้ปกครองดีกว่า หรือสามารถปรึกษาคนอื่นแทนได้ เช่น คุณครู หรือเพื่อนที่เราไว้วางใจ แต่สุดท้ายแล้วที่สำคัญที่สุดก็คงจะเป็นพ่อแม่ของเด็กที่ถูกแกล้งที่ต้องมีความเข้มแข็งและเป็นหลักให้ลูก ให้กำลังใจลูกในวันที่ถูกแกล้ง
การป้องกันคือพ่อแม่ควรปลูกฝังให้ลูกๆ เรียนรู้เรื่องของความเข้มแข็งทางใจ และทักษะในการจัดการกับการถูกแกล้ง เป็นเกราะป้องกันใจที่สำคัญในวันที่โลกภายนอกโหดร้ายกับเขา
ส่วนครูควรมองเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงจัง และช่วยให้เด็กรู้สึกปลอดภัยเวลาอยู่ในโรงเรียน มีช่องทางให้เด็กปรึกษาได้ง่ายและสะดวก”
นอกจากนี้ หมอมินได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ใหญ่ที่มีแผลใจจากการถูกกลั่นแกล้งรังแกด้วยการยอมรับสิ่งที่เคยเกิดขึ้น อยู่กับปัจจุบัน และมองหาเรื่องราวดีๆ ที่ช่วยปลอบประโลมใจให้สามารถก้าวผ่านห้วงความทุกข์นี้ไปได้
“บอกตัวเองว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาทุกอย่างทั้งดีและร้าย แต่ทั้งหมดมันก็ผ่านไปแล้ว พยายามมองที่ปัจจุบัน ชีวิตอาจจะไม่ได้เริ่มต้นด้วยความสุข แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ชีวิตจะต้องมีแต่ความทุกข์ตลอดไป นอกจากมองเห็นเรื่องแย่ๆ ลองมองหาเรื่องดีๆ ที่ปลอบประโลมใจเรา น่าจะทำให้มีความหวังและกำลังใจขึ้น
บางคนใช้วิธีเลี่ยงความเจ็บปวด ด้วยการวิ่งหนี เก็บซ่อน ปฏิเสธ แต่ในที่สุดมันก็ไม่ช่วยให้ความเจ็บปวดหายไป การเผชิญหน้าและยอมรับต่างหาก ที่จะนำไปสู่การจัดการทำให้ชีวิตเดินหน้าต่อไปได้
ความเข้าใจและยอมรับทั้งเรื่องดีและร้าย เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเข้มแข็ง กล้าที่จะเป็นตัวเอง ค่อยๆ เชื่อมั่นและยอมรับในตัวตนได้มากขึ้น รวมถึงพร้อมเผชิญอุปสรรค ความผิดพลาดตามธรรมชาติที่ผ่านเข้ามาในอนาคต แต่ถ้ารู้สึกว่าเรื่องราวในอดีตส่งผลรบกวนต่อสุขภาพจิตหรือการใช้ชีวิตมาก ไม่สามารถทำความเข้าใจ ยอมรับ หรือจัดการได้ ก็อาจต้องไปพบผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา เพื่อการบำบัดรักษาที่เฉพาะต่อไป”