- การเสพประสบการณ์ผ่านสื่อต่างๆ เป็นเรื่องที่ดี ถ้ารู้เท่าทัน แต่ปัญหาก็คือหากถูกโซเชียลมีเดียครอบงำโดยไม่รู้ตัวอาจส่งผลกระทบทั้งร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่อาจเกิดปัญหาเรื่องพัฒนาการ และในกลุ่มวัยรุ่นที่อยู่ระหว่างการพัฒนาตัวตนและต้องการการยอมรับจากสังคม
- การเสพติดโซเชียลมีเดีย อาจมีกลไกคล้ายกับการที่สมองติดยาและสมองติดเกม ส่วนหนึ่งเกิดจาก Sensation seeking คือใช้แล้วมีความสุข อีกส่วนคือ Self-medication การใช้โซเชียลบำบัดความเครียด ซึ่งถ้าเราสามารถจับสัญญาณของปัญหานี้ได้ นั่นคือการตระหนักรู้ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
- สำหรับคนที่รู้สึกว่ากำลังได้รับผลกระทบจากโซเชียลมีเดีย คำแนะนำคือ ทบทวนประโยชน์ของแพลตฟอร์มและเป้าหมายในชีวิต รู้ตัวเองว่าเราหรือโซเชียลมีเดียเป็นนาย ถ้าเราเป็นนาย เราต้องเป็นผู้เลือก
ภาพ : ปริสุทธิ์
ทุกๆ เช้าที่เราตื่นขึ้นมาสิ่งแรกที่หลายคนมักจะทำก็คือ หยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาเช็ค notified ต่างๆ และแน่นอนว่าพฤติกรรมการชำเลืองมองเป็นระยะๆ หรือจดจ่อเป็นชั่วโมงๆ ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งวันจนเข้านอน สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเรื่องราวทุกเรื่องบนโลกแม้แต่ความสัมพันธ์ส่วนตัวของเราก็โลดแล่นอยู่ในโลกโซเชียล
ทว่าถ้าใครได้ดูสารคดี The Social Dilemma ทาง Netflix จะเห็นแง่มุมที่แตกต่าง เมื่อเราไม่ได้เป็นเพียงผู้ใช้เทคโนโลยีหรือโซเชียลมีเดียต่างๆ แต่แพลตฟอร์มเหล่านั้นต่างหากที่เล่นกลกับจิตใจของมนุษย์ และพยายามทำให้เราติดกับ!
ตอนหนึ่งในสารคดีได้พูดถึง สถิติการฆ่าตัวตายในกลุ่มวัยรุ่นที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจหลังปี 2013 ซึ่งเป็นปีที่แพลตฟอร์มออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กกำลังเป็นที่นิยม และโซเชียลมีเดียต่างๆ เริ่มครอบงำความคิดของผู้คนมากขึ้น หมายความว่าอาจจะมีกลุ่มเสี่ยงที่ถูกโซเชียลมีเดียทำร้ายทางจิตใจมากขึ้นเรื่อยๆ มากไปกว่านั้นเชื่อมโยงไปถึงคำถามที่ว่า การใช้โซเชียลมีเดียทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้หรือไม่
แม้ว่าในทางจิตวิทยา เหตุปัจจัยอาจไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว แต่ในยุคสมัยที่ใครๆ ต่างก็มีโลกสองใบ คือโลกแห่งความเป็นจริงและโลกโซเชียล น่าสนใจว่าสื่อออนไลน์เหล่านี้การทำงานกับจิตใจเราอย่างไร ลึกซึ้งและซับซ้อนมากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญ ถ้าเราเผลอตกหลุมพรางของโซเชียลมีเดียควรจัดการกับมันอย่างไรดี
The Potential ชวนทุกคนมาสำรวจพฤติกรรมการเสพติดโซเชียลของตัวเอง เพื่อตระหนักถึงผลกระทบต่อชีวิตและจิตใจที่เปลี่ยนไป แล้วจัดการล้างสารพิษจาก (โรค) โซเชียลที่เข้ามามีผลต่อภาวะอารมณ์ของเรากับ หมอเอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ จิตแพทย์และนักแต่งเพลง ด้วยวิธีทางจิตวิทยาที่เรียกว่า social media detoxification
ผลกระทบจากการใช้โซเชียลมีเดียที่มากเกินไปของวัยรุ่นมีอะไรบ้าง และรุนแรงมากแค่ไหน
วัยรุ่นเจน Z เจนเอลฟ่า คือวัยที่เติบโตมาพร้อมๆ กับเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย ดังนั้นการใช้โซเชียลมีเดียของพวกเขาจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอย่างขาดไม่ได้ ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราจะพูดถึงปัจจัยสี่ มีอาหาร ที่อยู่ ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม แต่สมาร์ทโฟนกลายเป็นปัจจัยที่ห้าที่หกไปแล้ว ที่ไหนมี WiFi ที่นั้นน่าอยู่ เป็นความต้องการพื้นฐานหนึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งการเติบโตมาพร้อมกับสิ่งนี้ มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย
ข้อดีก็คือว่า เราจะเห็นประสบการณ์ที่หลากหลาย ถ้าเป็นกลุ่มเด็กเจน Y จะเป็นช่วงวัยที่คาบเกี่ยวกับการเข้ามาของอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือธรรมดาๆ กำลังพัฒนาสู่สมาร์ทโฟนใช้งานได้ครบจบในเครื่องเดียว ส่วนหนึ่งก็จะเติบโตมาตามธรรมชาติ โตมาตามแบบแผน มีกิจกรรม Outdoor ที่ฮิตกันในแต่ละช่วง เช่น ช่วงหนึ่งฮิตเล่นสเก็ตบอร์ด เล่นโรลเลอร์เบลด ดีดหนังยาง แต่ความเพลิดเพลินของเด็กสมัยนี้จะเป็นเกมอะไรที่ฮิตในช่วงนี้มากกว่า การ์ตูนตอนเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ที่ต้องรอดูก็ไม่ค่อยมีละ เพราะอินเทอร์เน็ตทำให้เราดูตอนไหนเมื่อไรก็ได้แบบไม่จำกัด
เงื่อนไขที่เคยมีก็ไม่มีแล้ว ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าถ้าเด็กๆ ไม่มีกรอบของเวลา คือหนึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่ได้คัดกรองเกมหรือสื่อที่จะเข้ามาสู่สายตา สู่ประสาทสัมผัสของลูก สองไม่ได้มีการวางเวลา เด็กๆ รักสนุกอยู่แล้ว ทุกคนรักสนุก เวลาทำอะไรสนุกๆ ก็ชอบอยู่ตรงนั้น ก็จะทำให้เราลืมเรื่องการจัดการเวลาไป
แต่การเสพประสบการณ์ผ่านสื่อต่างๆ เป็นเรื่องที่ดี ถ้าเรารู้เท่าทันก็สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้เราได้หลายๆ เรื่อง เหมือนเราดูละครแล้วเห็นนางเอกเป็นหมอ แล้วอยากเป็นหมอ เราก็จะมีฝัน เด็กเองถ้าเขาเสพอะไรแล้วมันมีความเป็นไอดอล มีจินตนาการของเขา มีฝันของเขา มันก็จะเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการคิดของเขาได้ เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการลอกเลียนแบบได้ เพราะฉะนั้นการคัดเลือกสิ่งที่เด็กๆ จะเสพหรือสิ่งที่จะอยู่ในโทรศัพท์ก็เลยเป็นปัจจัยที่สำคัญมากๆ กับพัฒนาการและการเติบโต สำหรับเด็กยุคใหม่
ส่วนข้อเสียแน่นอนว่าถ้าไม่ควบคุม ไม่คัดกรอง ในเด็กเล็กก็จะมีผลกระทบในเรื่องของพัฒนาการ ทางด้านร่างกายเลย เช่น กล้ามเนื้อ เราจะสังเกตว่า การละเล่น ความเพลิดเพลินของยุคสมัยที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย เราจะได้ใช้กล้ามเนื้อทุกมัด ผ่านความเพลิดเพลินจากการออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเตะฟุตบอล กระโดดยาง เล่นหมากเก็บ เราก็มีการใช้กล้ามเนื้อมือในการรวบ ใช้ไหวพริบ ซึ่งการเล่นทั้งหมดไม่ใช่การเล่นแบบไร้ความหมาย แต่การเล่นทุกอย่างมีการกระตุ้นประสาทสัมผัส การเคลื่อนไหว การใช้กล้ามเนื้อ เพราะฉะนั้นกล้ามเนื้อมัดเล็กก็ถูกใช้ กล้ามเนื้อมัดใหญ่ก็ถูกใช้
ในขณะที่ปัญหาของเด็กยุคนี้ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อยู่กับโซเชียลมีเดียนานๆ เราจะพบว่า เด็กเริ่มมีปัญหาดวงตา กล้ามเนื้อตาอ่อนล้า มีปัญหาเรื่องสายตา ต้องใส่แว่นตาตั้งแต่อายุน้อยๆ เขียนตัวหนังสือได้ยาก เพราะกล้ามเนื้อมัดเล็กไม่ทำงาน เพราะการที่เด็กอยู่กับโซเชียลมีเดียมากเกินไป ทำให้ได้ใช้กล้ามเนื้อน้อยลง พัฒนาการและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ก็น้อยลง
แล้วถ้าพูดถึงเรื่องของสติปัญญา เขาอาจจะได้ข้อมูลมากมาย แต่การได้รับข้อมูลมากมายไม่ได้หมายความว่าเขาจะมีการเรียนรู้ที่ดีหรือฉลาดขึ้น ในทางกลับกันการที่เขารับสื่อทางเดียวและดูความเคลื่อนไหวตลอดเวลาจะพบว่า เด็กยุคนี้ก็จะมีปัญหาเรื่องสมาธิสั้นมากขึ้น แล้วกลายเป็นสมาธิสั้นไม่จริง เป็นสมาธิสั้นเทียม
‘โรคสมาธิสั้น’ ก็คือความผิดปกติในพัฒนาการของสมองในส่วนของสมาธิที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด สมองเราก้อนใหญ่ๆ ในแต่ละส่วนของสมองทำหน้าที่แตกต่างกัน ดูแลการทำงานในร่างกายที่ต่างกัน ในส่วนของสมองส่วนหน้าที่ทำหน้าที่ในเรื่องของสมาธิ การโฟกัส ในเด็กสมาธิสั้นจริง สมองส่วนสมาธิเขาเติบโตช้ากว่าปกติ แต่สมองด้านอื่นก็ทำงานปกติ เผลอๆ จะดีกว่าคนปกติด้วยซ้ำ แต่พอเวลาที่เราไม่มีสมาธิ การที่จะเรียนรู้อะไรจะเป็นเรื่องยาก เพราะสมาธิเป็นประตูบานแรกที่จะรับข้อมูลเข้ามาในสมองแล้วมาเก็บไว้ในความจำระยะสั้นก่อน ถ้ามันถูกดึงออกมาใช้ก็จะเริ่มเข้ามาอยู่ในความจำระยะยาว ดังนั้นการที่เราไม่มีสมาธิตั้งแต่ครั้งแรกในการรับข้อมูล การจะเกิดกระบวนการเรียนรู้ในสมอง เกิดเป็นความจำระยะสั้นระยะยาวก็จะยากขึ้น
เด็กที่เติบโตหรือถูกเลี้ยงมากับการใช้โซเชียลมีเดีย เนื่องด้วยคุณพ่อคุณแม่ไม่มีเวลา ทิ้งให้อยู่กับยูทูบ เกม ทีวี เด็กกลุ่มนี้มีโอกาสสมาธิสั้น แต่มันเกิดจากการเลี้ยงดู ไม่ได้เกิดจากพัฒนาการที่ผิดปกติ
ผลกระทบดังกล่าว สามารถขยายผลจนทำให้เกิดโรคซึมเศร้าหรือมีภาวะอารมณ์ที่ผิดปกติ?
มีผลในเรื่องของสุขภาพจิตได้แน่นอน แต่ถามว่ามันจะเป็นสาเหตุหลักของการเป็นซึมเศร้าเลยไหม อาจจะไม่ใช่ซะทีเดียว สมมติว่าเด็กคนหนึ่งเล่นมือถือจนมีปัญหานำร่องในเรื่องของสมาธิก่อน สิ่งที่ตามมาก็คือเขาก็จะไม่มีสมาธิในการทำอะไรสักอย่างให้เสร็จเป็นชิ้นเป็นอัน การที่เขาจะตั้งใจเรียนเวลาอยู่ในห้องเรียนก็จะเป็นเรื่องยาก ผลการเรียนก็ออกมาไม่ดี เพราะฉะนั้นถ้าวัฒนธรรมของครอบครัว วัฒนธรรมของสังคมมองว่า เด็กที่เรียนดี ผลการเรียนดีคือการยอมรับ เด็กคนนั้นก็จะมีผลต่อความมั่นใจในตัวเองในทันที เพราะฉันเรียนไม่เก่ง ผลการเรียนไม่ดี เรียนไปก็ไม่เข้าหัว ไม่มีสมาธิ หรือในอีกแบบหนึ่งพอไม่มีสมาธิแล้วก็ไม่อยากเรียน โดดเรียนไปเล่นเกม ไปทำอย่างอื่นที่ตัวเองสนใจ แต่ครอบครัวไม่เข้าใจ ไม่ได้เห็นด้วย ทั้งพ่อแม่และโรงเรียนก็มองว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี มีปัญหา เขาก็จะกลายเป็นเด็กมีปัญหาในสายตาของสังคมเลยทันที
ปัญหานี้จะเกิดเยอะในเด็กเล็ก แต่ถ้าเกิดเป็นเด็กวัยรุ่น เขาก็จะเริ่มต้นค้นหาความเป็นตัวเอง ค้นหาการยอมรับ ก่อนจะมีโซเชียลมีเดียเราอาจจะอยากได้รับการยอมรับจากพ่อแม่ จากคนในครอบครัว จากเพื่อน จากครู จากสังคมที่เราอยู่ การเปรียบเทียบส่วนใหญ่ก็จะเกิดจากการเปรียบเทียบกับคนกันเองในบ้าน หรือเด็กข้างบ้านบ้าง ซึ่งแค่เปรียบเทียบกับข้างบ้านเราก็ไม่ชอบแล้วนะ
แต่เดี๋ยวนี้พ่อแม่สามารถจะเห็นคนบนโลกได้หมดเลย การเปรียบเทียบจึงเกิดได้มากกว่าเดิม ยังไม่รวมถึงการที่เด็กเปรียบเทียบตัวเองกับคนในโซเชียลด้วย เพราะฉะนั้นเพื่อนก็จะไม่ใช่เพื่อนที่มีตัวตนแค่ในโรงเรียนเท่านั้นแล้ว ยังหมายถึงเพื่อนที่อยู่ในโซเชียลด้วย ทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก
เด็กคนไหนที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้เป็นพี่เลี้ยง อาจจะไม่ได้ประคับประคองว่า ตอนนี้ในวัยของเขาอะไรเป็นสิ่งที่เขาใฝ่หาและต้องการเป็นพิเศษ ไม่ได้รู้ว่าการที่เราจะมีความมั่นใจอย่างถูกต้องได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้มันทำให้เด็กๆ เปราะบางและอ่อนไหวได้ เพราะเขาไม่รู้ว่าการที่ทำแบบนี้แล้วครูชอบ เพื่อนชอบ แต่พอโพสต์ลงโซเชียลกลับมีคอมเมนต์ตำหนิ หรือบูลลี่ เช่น ลงรูปหน้าสด เพื่อนคนหนึ่งบอกน่ารัก แต่อีกคนบอกทำไมหน้าจืดจังเลย ทำไมหูกาง ก็เริ่มนอยด์ละ แล้วตกลงอันไหนดีไม่ดี แล้วถามว่าอันไหนมีอิมแพคมากกว่ากัน ก็ต้องอันที่มีจำนวนเยอะกว่า ตัวตนของเรามันกลายเป็นภาพที่คนอื่นเห็นแล้วใครก็ไม่รู้มาตัดสิน อันนี้คือความอันตราย
ถ้าเกิดว่าเด็กเติบโตมาโดยที่ไม่มีพี่เลี้ยง ไม่ได้หมายความว่าเป็นการควบคุมหรือบีบบังคับอะไรเด็กให้ผิดธรรมชาติในตอนนี้ ต้องบอกว่าการมีโซเชียลมีเดียมันกลายเป็นธรรมชาติของเด็กสมัยนี้ไปแล้ว แต่การที่เขาไม่มีพี่เลี้ยงมันก็สุ่มเสี่ยงมากกับการที่เขาจะมีความเปราะบางทางด้านจิตใจ เพราะเขาไม่รู้ว่าตัวตนเขาอยู่ตรงไหน อะไรคือฉัน อะไรคือความมั่นใจ ผลลัพธ์มันก็เลยกลายเป็นความอ่อนไหว อ่อนไหวเวลาที่เจอปัญหา นำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตได้ เป็นผลกระทบที่อาจจะทำให้เด็กคนหนึ่งอาจจะเป็นซึมเศร้าได้ง่ายขึ้นได้นั่นเอง
เพราะฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นโซเซียลมีเดียไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมด แต่เป็นเพราะโลกความจริง บริบทสังคม สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ และการที่เราไม่รู้ทันเทคโนโลยีทำให้มันเป็นปัญหา
หมอยกตัวอย่าง 2 เคส เคสหนึ่งเป็นเด็กผู้หญิง มีไอดอลเป็นดาราเกาหลี พ่อแม่ก็ไม่รู้ว่าเด็กให้ความสำคัญกับไอดอลคนนั้นมากขนาดไหน วันดีคืนดีเด็กคนนี้ก็ไปอยู่ในแอคหลุมในเฟซบุ๊กใช้ชื่อปลอมโปรไฟล์ปลอม แต่กลุ่มที่เขาอยู่คือกลุ่มที่เกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย คนในนั้นก็เป็นแอคหลุมหมด เพราะเขาจะได้โชว์วิธีการ ประสบการณ์ว่าเคยทำร้ายตัวเองมายังไง แล้วปัญหาก็เกิดขึ้นตอนที่ไอดอลของเขาฆ่าตัวตาย เด็กก็เลยมีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย แล้วก่อนที่ไอดอลจะฆ่าตัวตายในเอ็มวีของไอดอลเกาหลีคนนี้ก็มีฉากหนึ่งที่เอาลิปสติกมากรีดข้อมือ เด็กก็ทำตามแต่ใช้มีดคัตเตอร์กรีดข้อมือแทน จะเห็นว่าพอคุณพ่อคุณแม่เองไม่ได้เป็นพี่เลี้ยงลูกมาตั้งแต่แรก ลูกเข้าไปอยู่ในหลุมแบบนี้โดยที่คนรอบข้างก็ไม่รู้ด้วยซ้ำ แต่เขามีความพึงพอใจอะไรบางอย่าง เด็กจึงมีความเชื่ออะไรบางอย่างที่บิดเบี้ยวไป
อีกเคสหนึ่งเป็นเด็กผู้ชาย ซึ่งเขามีปัญหาในการจัดการความโกรธ ความไม่พอใจของตัวเอง แต่ก็ไม่ใช่ว่าเขาไปทำร้ายใครนะ เขาเป็นคนที่โกรธแล้วเก็บ สิ่งที่เป็นความโปรดปรานของเขาในระยะหลังๆ คือ การเสพซีรีส์ที่รุนแรง ฆาตกรรม มันทำให้เขามีความรู้สึกสะใจ เขาเสพมันมากจนติด ไม่ดูไม่ได้ต้องดูทุกวัน แล้วก็อินเหมือนตัวเองเป็นตัวละครในซีรีส์ฆาตกรรมนี้ แล้วมีอยู่วันหนึ่งเขาเปิดเพลงเสียงดัง น้าเขาก็ตะโกนบอกว่าทำไมเสียงดังจัง เปิดเบาๆ หน่อย แต่ก็ไม่ได้ดุด่าอะไร แต่อีโก้จากการอินในตัวละครนั้นมันทำงานทันที เขาบอกหมอว่าอยากเอามีดไปแทงน้าตอนนั้นเลย แล้วเด็กเกิดความกลัวตัวเองที่คิดแบบนี้ กลัวไปทำร้ายคนอื่น กลายเป็นว่าตัวเองก็เลยมาทำร้ายตัวเองเพื่อจะบรรเทาความอึดอัดนั้น
สิ่งเหล่านี้มันเข้าไปทำงานกับจิตใจเราได้อย่างไร
มันคือ กลไกของการเสพติด ในสารคดี The social dilemma บอกชัดเจนในแนวคิดของการสร้างแพลตฟอร์มเชิงธุรกิจ สิ่งที่ต้องทำคือทำยังไงให้คนรู้สึกดีกับการที่อยู่ในแพลตฟอร์มนั้นแล้วใช้มันได้นานที่สุด ก็เลยต้องเล่นกับจิตวิทยาพื้นฐานแบบนี้แหละ
เราชอบอะไรพึงพอใจอะไร คนชมเรา ชอบเรา เราก็ชอบ เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของความสุข เราต้องการการยอมรับ ยอดไลก์ก็เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการถูกยอมรับ ทำให้เรารู้สึกมีคุณค่า มีตัวตน แต่เด็กอาจจะไม่รู้ว่านั่นมันไม่จริง และเชื่อว่าโลกใบนั้นคือโลกของความจริง เราจึงถูกหลอกด้วยเทคโนโลยีในแบบนี้
ซึ่งกลไกการทำงานกับจิตใจเรานั้น อย่างเคสเด็กผู้ชายที่หมอยกตัวอย่าง เขารู้ว่ามันมีผลกระทบแต่หยุดไม่ได้ หยุดแล้วจะมีความรู้สึกกระวนกระวาย เครียด เพราะตอนดูแล้วมันมีความสุข เป็นอาการเดียวกันกับการติดสารเสพติด เด็กติดเกมก็เช่นกัน
กลไกนี้เกิดจากความพึงพอใจบางอย่างในการทำกิจกรรมนั้นแล้วติดใจ เรียกว่าเป็น Reward System หรือ ระบบการให้รางวัล กิจกรรมนั้นมันทำให้เรามีโมเมนต์ของความพึงพอใจเกิดขึ้น อย่างเด็กในเคสของหมอ ความพึงพอใจของเขาคือการที่ตัวละครนั้นแสดงความก้าวร้าว ที่ตัวเขาเองอยากจะแสดงออกมา แต่เขาทำไม่ได้ พอดูแล้วก็เลยรู้สึกสะใจ รู้สึกฟินที่ตัวเอกยิงคนที่เกลียด ความฟินความสะใจมันเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็เริ่มมีผลกับสมองของเรา ทำให้เกิดความเคยชิน และรู้สึกว่าต้องมี
อีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ ทั้งแม่และลูกต่างติดโซเชียล มีโลกกันคนละใบ ลูกก็เก็บตัว แม่ก็ไม่รู้จะพูดยังไง ต่างคนต่างรู้สึกว่าไม่รักกัน พอถามเด็กเขาก็บอกว่าแม่รักมือถือมากกว่า อยากจะบอกอะไร พูดอะไรแม่ไม่เห็นสนใจเลย
ปัญหาดังกล่าวเป็นกลไกเดียวกับเรื่องของการที่สมองติดยาและสมองติดเกม หนึ่งคือ อาจจะเป็น Sensation seeking ใช้แล้วเรามีความสุขยังไง เด็กที่ติดซีรีส์ความรุนแรงที่พูดถึงตอนต้น เขาชอบเวลาที่ได้จินตนาการว่าตัวเองเป็นตัวเอกในนั้น เพราะเหมือนได้ปลดปล่อย ได้แอคชั่น นี่คือ Sensation seeking แต่เรายังสามารถรู้สึกดีในกิจกรรมด้านอื่นที่ไม่ต้องสมมติตัวเองไปเป็นตัวเอกในซีรีส์ฆาตกรรมที่ต้องฆ่าใคร แต่เปลี่ยนมาเรียนรู้ที่จะจัดการกับความโกรธของตัวเอง
หรือเป็นเรื่องของการที่เราใช้โซเชียลเป็น Self-medication หมายถึงว่า ใช้โซเชียลบำบัดหรือเยียวยาความเครียด บางคนเครียดไม่รู้จะทำยังไง ทำอะไร ก็ไถๆ โทรศัพท์ไปให้มันเพลินๆ พอฆ่าเวลาไป กิจกรรมคลาสสิกเลยก็คือ ซื้อของออนไลน์ ยิ่งเครียดยิ่งจ่าย ความเครียดตามจำนวนกล่องเลย คือมันช่วยคลายเครียดได้ชั่วขณะ พอรู้ตัวอีกทีก็หมดไปเยอะเลย ถ้าเราสามารถจับสัญญาณของปัญหานี้ได้ นั่นคือเราได้ตระหนักรู้แล้ว
อีกปัจจัยหนึ่งอาจจะเป็นความเคยชิน ที่เรียกว่า Habit forming ชินที่ได้ทำ อย่างเวลาเข้าห้องน้ำต้องติดโทรศัพท์เข้าไปด้วย จับมาไถๆ สักแป๊บก็ยังดี แล้วก็กลายเป็นการโดนดูดเข้าไป หรือเวลาที่มี notified ติ้ง!… แจ้งเตือนขึ้นมา ต้องหยิบมาดู
บางคนเป็นหนักถึง craving ความอยาก ความกระหาย แล้วหยุดไม่ได้ และเริ่มมีปฏิกิริยาทางด้านร่างกาย ชินจนไม่มีไม่ได้ สมองเรียนรู้แล้วว่าเราฟินกับสิ่งนี้ คล้ายๆ คนมีความรัก เป็นความรู้สึกที่คิดถึงจังเลย ขอแค่ได้ยินเสียงเธอสักนิดก็ยังดี
แค่ไหนอย่างไรถึงควรพาตัวเองเข้าคลาส Social media detoxification หาวิธีเปลี่ยนสุขภาพจิตแย่ๆ ให้กลายเป็นดี โดยไม่ทรมานจนเกินไป
ขั้นแรก การที่เราจะเริ่มต้นดีท็อกซ์เพื่อล้างสารพิษจากโซเชียลได้นั้น เราต้องมี Self-Awareness การตระหนักรู้ในตนเองก่อนเลย การที่เราจะเสพติดอะไรสักอย่างมันจะมีสาเหตุที่ทำให้เราติด ซึ่งถ้าเราคิดว่าตัวเองไม่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากโซเชียลมีเดีย แน่นอนว่าเราก็ไม่จำเป็นนต้องดีท็อกซ์ก็ได้ แต่ในกลุ่มที่ใช้เวลากับมันมากๆ เราต้องเริ่มมี Awareness ตัวเองแล้วว่า ติดมั้ย? ถ้าบอกว่าไม่ติด แต่ใช้เวลาไป 12 ชั่วโมง อันนี้ก็ยากนะ แต่ถ้าบอกว่าติดแล้วติดเพราะอะไร
ขั้นที่สอง พอเรามี Awareness แล้ว ก็ต้องมาพิจารณาความสัมพันธ์ของตัวเองกับโซเชียล ดูว่าเรามีความตระหนักในระดับไหน ซึ่งจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนก็ได้ขึ้นอยู่กับตัวเราเอง เพราะบางคนเขาก็ไม่ได้มองว่ามันเป็นปัญหา เหมือนที่หมอเคยเจอคนติดเหล้า ถามว่าจะกินไปจนถึงเมื่อไร เขาบอกก็กินจนตาย ซึ่งถ้าพิจารณาแล้วว่าเราติด ก็อาจจะต้องไปอีกสเต็ปหนึ่ง คือการก้าวเข้าสู่ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลง (State of change) ซึ่งการความตระหนักในตัวเอง จะทำให้เราเห็นแพทเทิร์นบางอย่าง ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
สเต็ปที่สอง คือ เริ่มรู้สึกว่าเราต้องไตร่ตรอง เริ่มรู้สึกเอ๊ะ! กับมัน ถ้าในขั้นตอนนี้แนะนำว่าเราควรจะนั่งพิจารณาข้อดีข้อเสีย อย่างเช่น ตอนนี้ที่เราใช้โซเชียลอยู่มันมีข้อดียังไง ข้อเสียยังไง ข้อดีข้อเสียอย่างไหนมากกว่ากัน คือการที่เราเห็นน้ำหนักของข้อดีข้อเสียมันจะทำให้เราเริ่มมีแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงตัวเองในเรื่องนี้อีกสเต็ปหนึ่ง พอเวทข้อดีข้อเสียแล้วเราก็อาจจะอยากมีแพลนนิ่งว่าจะทำอะไร
เช่น ทุกครั้งที่เราหยิบโทรศัพท์มันเริ่มจากมี notified ก็เริ่มต้นเลย ปิด notified ทั้งหมด ซึ่งถ้าไปดูในหนังคนที่สร้างกูเกิลเองเขาก็บอกเลยว่า เขาแนะนำให้ปิด notified ทุกอย่าง มันจะกลายเป็นว่าเราจะหยิบมันขึ้นมาก็ต่อเมื่อเราต้องการมัน การปิดก็เหมือนลดการได้ยินเสียงเรียกร้องที่พร้อมจะกวักมือเราตลอดเวลา ทำยังไงให้เรามาอยู่ในสิ่งที่เราควบคุมได้มากที่สุด
หนึ่งก็คือ ลดการถูกเรียกร้องความสนใจจากโซเชียลมีเดีย
สอง กำหนดเวลาว่าจะใช้มันเวลาไหนบ้าง ในหนึ่งวันควรจะใช้สักเท่าไร
อย่างหมอเองเคยโหลดแอปที่ดูว่าเราใช้โซเชียลแต่ละแพลตฟอร์มในหนึ่งวันไปกี่ชั่วโมง ชื่อว่า สมาร์ทไทม์มิ่ง จะทำให้เราเห็นการใช้งานของเราเอง เห็นว่าตัวเองหมดเวลาไปกับตรงนั้นนานแค่ไหน หมอก็เลยนอกจากปิดแล้วนะ พอเห็นสถิติของตัวเองก็เลยหักดิบลบแอปไปเลย สร้างเงื่อนไขการใช้งานที่ยากขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าใช้ไม่ได้เลยนะ สมมติเราใช้เวลาในเฟซบุ๊กเยอะ เราก็เพิ่มเงื่อนไขให้มันใช้ยากนิดนึง ถ้าจะใช้ต้องเข้าไปในเสิร์ชเอนจินอื่น อันนี้ก็เป็นวิธีการหนึ่ง หรือถ้าจะใช้ค่อยโหลดอันนี้ก็จะฮาร์ดคอร์มาหน่อย หรือทำตารางการใช้งาน เราจะใช้ตอนกี่โมงบ้าง
ซึ่งจริงๆ แล้วตอนเช้าเราไม่ควรใช้เลย เพราะว่าตอนเช้าจะเป็นช่วงเวลาที่เรามีพลังงานชีวิตที่ดีที่สุด สมองเราตื่นตัวมากที่สุด จึงเป็นช่วงเวลาที่เราควรทำงานหรือเรียนหนังสือ เก็บความรู้ได้ดีที่สุด ถ้าเกิดเราเอาใจเราไปอยู่ในนี้เลยทันที รับข้อมูลเลยเราจะจัดการวันทั้งวันได้ยาก หรือาจจะพังไปทั้งวันเลย เราอาจจะต้องมีกรอบเวลานิดนึง เช่น เช็คได้ตอนเที่ยง อีกทีตอนเย็น คือตั้งเวลาให้ตัวเองเลย และอย่างที่สามก็คือ
เราอาจจะต้องมาลองทบทวนว่าเราจะใช้ประโยชน์จากแต่ละแพลตฟอร์มเพื่อทำอะไร เราใช้ไลน์เพื่อคุยงาน ติดต่อประสานงานต่างๆ ใช้เฟซบุ๊กเพื่อ…ทำอะไร การทบทวนประโยชน์ของแพลตฟอร์มและก็เป้าหมายในชีวิตเราจะช่วยให้เราเป็นเจ้านายแพลตฟอร์ม
ขั้นที่สาม ก็คือการที่เราต้องแอคชั่น สิ่งที่คิดมาทั้งหมดก็ต้องทำ แล้วถ้าทำได้แล้วทำยังไงจะรักษาไว้ได้ ก็คือสเต็ปถัดไป การรักษาสิ่งที่ทำได้ คือการเป็นนายของโซเชียลมีเดีย เราก็ Reward ให้รางวัลกันสักหน่อย ถ้าทำได้สักหนึ่งอาทิตย์ตามตารางเวลาที่วางไว้ เมื่อทำได้จะให้อะไรเป็นรางวัลตัวเอง อย่างช่วงนี้เซิร์ฟสเก็ตมาแรง งั้นเราประหยัดเงินจากการชอปปิ้งออนไลน์ให้ได้หนึ่งเดือน ถ้าทำได้เราจะได้ของรางวัลนั้น อย่างนี้มันจะมีเป้าหมาย แล้วมันจะมีแรงจูงใจ ไม่อย่างนั้นเราก็จะทำไปเรื่อยๆ แล้วก็กลับมาวงจรเดิม
สิ่งหนึ่งที่เป็นภูมิคุ้มกันเราได้อย่างหนึ่งก็คือ ‘สติ’ เมื่อไรก็ตามที่เรามีสติ เรารู้ตัวว่าเราทำอะไร เพราะอะไร เราจะเลือกได้ว่าเราจะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาหรือจะวางมันไว้ เราจะทำไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งวิธีนี้สามารถทำได้เองที่บ้าน ได้ทุกที่ทุกเวลาที่เราอยากจะทำ เราแค่เข้าใจกระบวนการพวกนี้ และรู้ตัวเองว่าเราเป็นนายของโซเชียลมีเดีย หรือโซเชียลมีเดียเป็นนายของเรา ถ้าเราเป็นนายเราจะเป็นผู้เลือก