- หลังกำแพงสูงของสถานพินิจฯ แม้จะดูสิ้นหวังแต่ก็ไม่อาจกักขังความฝันของเด็กและเยาวชนที่ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยก้าวพลาดให้ก้าวเดินต่อไปในลู่ในทาง
- ด้วยข้อจำกัดและความต้องการของเด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ นำมาออกแบบหลักสูตรการฝึกทักษะอาชีพช่างอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี เพื่อให้เขาเห็นเป้าหมายของตนเอง ก่อนจะขยับไปสู่การออกแบบการเรียนการสอนที่ทำให้ได้ทั้งทักษะและความรู้
- “เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ออกจากชุมชน ไม่เกิน 3 เดือนจะเริ่มเข้าสู่วงจรที่ค่อนข้างอันตราย เพราะครอบครัวส่วนใหญ่หาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลาเอาใจใส่ ระบบการศึกษาก็ขาดคนที่รัก เข้าใจและเอาใจใส่เด็กอย่างจริงจัง “แต่แปลกที่สถานพินิจฯ ทุกคนเหมือนกับ… ผมใช้คำว่า ‘ซ่อมเด็ก’ กันอุตลุตเลย คือทุกคนทุ่มเทที่จะพยายามเยียวยาช่วยเหลือเด็ก ได้เด็กที่จะออกมาแบบสมบูรณ์ ประณีต และมีคุณภาพ แล้วไม่เป็นอันตรายกับสังคมต่อไป”
ภาพ : ปริสุทธิ์
หลังกำแพงสูงของสถานพินิจฯ แม้จะดูสิ้นหวังแต่ก็ไม่อาจกักขังความฝันของเด็กและเยาวชนที่ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยก้าวพลาดให้ก้าวเดินต่อไปในลู่ในทาง
ดรีม (นามสมมติ) ในวัย 19 ปี เคยใช้ชีวิตช่วงสั้นๆ ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดนครพนม ตอนนั้นเขาเพิ่งอายุแค่ 16-17 ปี แต่เผอิญไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ทำให้ต้องหมดอิสรภาพ พร้อมๆ กับความฝันที่มีมาแต่เด็กต้องสะดุดลง
“ความฝันจริงๆ ผมอยากเป็นตำรวจ อยากเป็นข้าราชการให้พ่อแม่ภูมิใจ แต่ผมทำไม่ได้ ผมติดยาเสพติด ติดเพื่อน… ในที่สุดผมถูกจับมาอยู่ที่สถานพินิจฯ แต่ที่นี่ไม่ได้ขังเด็ก เขาให้แง่คิด ให้โอกาส ทำให้ผมและเพื่อนๆ ได้มีโอกาสฝึกอาชีพหลายๆ อย่าง”
ซ่อมไฟ ซ่อมชีวิต สานฝันเด็กสถานพินิจฯ
โอกาสที่ดรีมพูดถึงมาจาก ‘โครงการการพัฒนาทักษะอาชีพช่างอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีแก่เยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดนครพนม’ เพื่อยกระดับสู่มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยนำข้อจำกัดและความต้องการของเด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ มาออกแบบหลักสูตรการฝึกทักษะอาชีพ มี ผศ.บุญเยี่ยม ยศเรืองศักดิ์ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมมหาวิทยาลัยนครพนม เป็นผู้รับผิดชอบโครงการฯ
ปี 2563 โครงการฯได้จัดอบรมให้กับเด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ นครพนม ทั้งหมด 5 หลักสูตร คือ หลักสูตรที่ 1 การซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าในบ้านพักอาศัย หลักสูตรที่ 2 การติดตั้งไฟฟ้าภายในอาคาร หลักสูตรที่ 3 การซ่อมจักรยานยนต์ หลักสูตรที่ 4 การเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ หลักสูตรที่ 5 การสร้างสื่อดิจิทัล โดยเรียนหลักสูตรละ 20 คน แบ่งหลักสูตรการเรียนเป็น 2 ประเภท ได้แก่ หลักสูตรระยะสั้น 30 ชั่วโมง และหลักสูตร 120 ชั่วโมง ซึ่งเป็นหลักสูตรที่จะได้รับใบประเมินความรู้ความสามารถ เป็นทักษะ กระบวนการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ โดยเฉพาะช่างไฟฟ้าภายในอาคารและช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ
“ตอนเข้ามาเด็กไม่รู้จักกันเลยครับ เราไม่รู้จักเด็ก เด็กไม่รู้จักเรา แต่ก่อนที่เราจะเริ่มเราจะมีการคุยกับเจ้าหน้าที่ แล้วก็ใช้แบบสอบถาม ใช้วิธีการลองพูดคุยว่าเป็นยังไง แล้วก็ลองมาโหวตกันดูว่าถ้ามีวิชาชีพเด็กๆ อยากเรียนอะไร
คือเด็กที่นี่จะเห็นว่าถ้าเด็กๆ เขามีกิจกรรมเขาจะมีความสุข ซึ่งถ้าเป็นเรื่องทางช่างเด็กเขาชอบอยู่แล้ว พอเราบอกว่าจะมาสอนช่างก็มาโหวตน้ำหนักว่าเขาต้องการเรียนช่างอะไร สุดท้ายก็มองว่าน่าจะเป็นสาขาที่เขาทำอยู่บ้านได้ สามารถสร้างรายได้ได้ ซึ่งก็น่าจะเป็นสาขาซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าและระบบไฟฟ้า หลอดไฟเสีย สวิตช์เสียก็พอที่จะซ่อมได้”
ผศ.บุญเยี่ยม เล่าถึงแนวคิดในการออกแบบหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน เพื่อให้เขาเห็นเป้าหมายของตนเอง ก่อนจะขยับไปสู่การออกแบบการเรียนการสอนที่ทำให้ได้ทั้งทักษะและความรู้
“หลังจากนั้นเราก็มาคุยกับเจ้าหน้าที่ว่าบริบทของเด็กที่นี่เป็นอย่างไร ถอดออกมาว่าเด็กที่นี่ปัญหาคือเรียนแบบปกติไม่ได้ ตอนแรกเราก็กะว่าจะเอาวิชาชีพที่เราสอนมาใช้เต็มที่ ก็เจอปัญหาแล้ว ต้องมาปรับมายเซ็ตของทีมงานใหม่ เริ่มจากบริบทของที่นี่ มาดูว่าเด็กเป็นยังไงเรียนยังไง รู้แล้วเด็กไม่ชอบเรียนทฤษฎี ไม่เป็นไร นี่คือการเรียนทฤษฎีแต่ใช้วิธีการทำงานไปด้วย”
ดรีมเลือกเรียนระบบไฟฟ้า เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว อย่างน้อยความรู้ที่ได้ก็สามารถนำไปใช้ที่บ้านหลังออกจากที่นี่ไปแล้ว แต่หลังจากที่ฝึกฝนจนมีความมั่นใจและมีโอกาสได้นำความรู้ไปใช้เดินไฟ-ซ่อมไฟให้ที่บ้านเลยไปจนถึงเพื่อนบ้าน สิ่งที่เขาได้รับกลับเป็นความรู้สึกภูมิใจในตัวเอง และนั่นคือจุดเปลี่ยนที่แท้จริง
“พอกลับไปบ้านก็ได้เอาไปใช้ ไม่ต้องจ้างช่าง แล้วก็มีเพื่อนบ้านให้ไปทำให้ ทีนี้พอมีอะไรเขาก็แบ่งปัน เขามองเราเปลี่ยนไป เริ่มเข้าใจเรามากขึ้น เมื่อก่อนผมเกเรมาก แต่หลังออกจากที่นี่ ผมรู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไป จากเด็กที่ไม่อยากไปโรงเรียน ก็ขวนขวายหาที่เรียนด้วยตัวเอง ช่วยงานที่บ้าน รับผิดชอบตัวเอง ยายก็ดีใจ”
โครงการนี้ไม่เพียงทำให้ดรีมสามารถซ่อมและต่อแผงวงจรไฟฟ้าภายในบ้านได้ แต่เขายังได้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ที่แม้แต่เด็กในระบบบางคนยังทำไม่ได้ ซึ่งนั่นทำให้เขาวาดความฝันครั้งใหม่ขึ้นมา
“ผมตั้งใจจะไปเรียนช่างไฟฟ้าในมหาวิทยาลัยต่อ อยากให้สังคมเปิดโอกาส ให้เข้าใจในตัวเรา ส่วนเราก็ทำเต็มที่ให้เขาดู เป็นคนดีให้ได้”
‘โอกาส’ สำหรับเด็กที่นี่จึงไม่ได้เป็นเพียงคำพูดสวยหรู แต่เป็นรูปธรรมของการให้จากผู้ใหญ่ใจดีทั้งหลาย รวมถึงความตั้งใจจริงของผู้รับเอง ซึ่งทำให้ เขา-เด็กก้าวพลาดเหล่านี้สามารถเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของตัวเองได้
เปลี่ยนมายเซ็ตครูและศิษย์ ลดทฤษฎีสู่ปฏิบัติ
นอกจากโจทย์ใหญ่เรื่องสภาพแวดล้อมและสภาพจิตใจของเด็กในสถานพินิจฯ เอง สถานการณ์โควิด-19 ก็เป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้ ผศ.บุญเยี่ยม ยศเรืองศักดิ์ ต้องปรับกระบวนการฝึกอาชีพ โดยปีที่ผ่านมามีการแบ่งเด็กเป็นกลุ่มเล็กลง เน้นให้เด็กได้เรียนรู้และปฏิบัติจริง มีกระบวนการเปิดใจและสร้างแรงบันดาลใจก่อนเริ่มต้นเรียนรู้ เพื่อให้เด็กเห็นเป้าหมายชัดเจน เช่น เรียนแล้วได้อะไร สามารถไปประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง สิ่งสำคัญคือความเชื่อใจระหว่างครูกับศิษย์ เพราะสิ่งที่สอนไม่ใช่แค่วิชาชีพแต่เป็นวิชาชีวิต
“อันนั้นคือจุดหลักเลยครับ ผมถือว่าวิชาชีพเป็นเครื่องมือแค่นั้นเอง หลักจริงๆ คือผมต้องการปรับแนวคิดเขา ถ้าเขาคิดได้ทุกอย่างจบ นี่คือเกราะสำคัญที่สุด พวกนี้คือเครื่องมือ อยากเรียนช่างไฟใช่มั้ย อยากเรียนช่างยนต์ ไปเติมให้เฉยๆ แต่แกนหลักจริงๆ เราคือต้องการปรับให้คิดให้ได้ เพราะถ้าเกิดเขาคิดไม่ได้เขากลับไปที่บ้าน อยู่ในสังคมไม่ได้แน่นอน”
ในมุมของอาจารย์มหาวิทยาลัย ผศ.บุญเยี่ยมบอกว่าตัวเขาเองก็ต้องปรับทัศนคติหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะในด้านการเรียนการสอน
“เด็กที่นี่พอได้สัมผัสเรารู้สึกว่าเขาเป็นเด็กที่น่าสงสารมากเลย มันมีหลายแบบ แต่สุดท้ายก็คือก้าวแรกเขาพลาดไปแล้วก้าวที่สองเขาจะไปยังไง ถ้าเกิดเราไม่ช่วยเขาจะก้าวกลับไปยังไง เขาก็ต้องไปอยู่ในวงจรเดิมๆ เราก็เลยพยายามทำให้ดีที่สุด แต่ต้องยอมรับว่าพื้นฐานของน้องเขากับเด็กที่เราสอนมันคนละแบบ วิธีการจะคนละแบบ แต่ผมเชื่อมั่นร้อยเปอร์เซ็นต์เลยครับว่าใครก็ได้ ถ้าใจคุณเปิด ถ้าคุณอยากได้ลองเอาหลักสูตรนี้ไปทำ ซึ่งหนึ่งร้อยยี่สิบชั่วโมงนี่มันไม่ได้นาน แต่ทำไมสามารถทำเด็กไปถึงฝีมือแรงงานได้”
ทว่าไม่ใช่ความรู้ในระดับที่นำไปประกอบอาชีพได้เท่านั้นที่จะติดตัวเด็กและเยาวชนเหล่านี้ รูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปคือสิ่งที่การันตีว่า เขาจะเดินต่อไปในลู่ในทางได้
“อย่างน้องดรีม ผมไม่ได้สนใจว่าเขาจะได้ใบอะไรไปทำอะไร แต่วันนี้เขาอยู่ในสังคมได้ เด็กที่ไม่เคยไปช่วยยายทำงาน ทุกวันนี้เขาเปลี่ยนไปหมด ผมเคยถามว่าถ้าเกิดสังคมเขาไม่รับ คิดยังไง เขาบอกไม่สนใจเพราะเขาไม่ได้เป็นคนอย่างนั้น วันนี้เขาได้รับการตอบรับจากสังคม สุดท้ายเขาเอาวิชาชีพไปช่วยต่อไฟที่วัด ชุมชนเริ่มเห็นว่าเด็กคนนี้เขาก็มีดี ทุกวันนี้เขารับเหมาด้วย อันนี้คือสิ่งที่เกิดจากกระบวนการที่เราใส่ตั้งแต่แรก”
แน่นอนว่า ทั้งหมดนี้คือความภาคภูมิใจของคนเป็น ‘ครู’
“ความภูมิใจที่สุดก็คือมันเกินคำว่าการเรียนการสอนครับ อย่างเราเป็นครูในห้องเรียนเราทำตามคำอธิบายรายวิชาแต่ละเทอม คาบนี้สอนอันนี้ จบ แล้วเด็กก็ค่อยไปปะติดปะต่อรายวิชา จบไปทำงานเอง แต่สอนที่นี่ไม่ใช่อย่างนั้น ธงเราคือเด็กต้องทำได้และเด็กจะต้องไปทดสอบได้ เด็กต้องมีอาชีพ เพราะฉะนั้นเราก็เริ่มจากเด็กที่ไม่มีความรู้อะไรเลย แล้วเราก็ใช้วิธีการปรับเปลี่ยนตลอด จนวันนึงเรามีความรู้สึกว่าเด็กที่นี่ก็ทำได้ ผมเลยมีความมั่นใจว่าให้ผมไปทำกับเด็กที่ไหนก็ได้ ประชาชนที่ไหนก็ได้ มันมีความมั่นใจมากขึ้น มีความรู้สึกว่านี่คือคำว่าครูของจริง”
นครพนมโมเดล ก้าวกล้าแก้ปัญหาเด็กนอกระบบ
จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในจังหวัดนครพนม ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา องค์กรท้องถิ่น หรือภาคประชาสังคม ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการสงเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. ยกให้เป็น ‘นครพนมโมเดล’ ต้นแบบการแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ขยายช่องว่างสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม
“ผมไม่ได้มีความรู้สึกเลยนะครับว่า สถานพินิจที่จังหวัดนครพนมเป็นที่ต้องขังเด็ก หรือว่าเป็นที่พักชั่วคราวหนึ่ง แต่ผมมองว่าสถานพินิจมีบรรยากาศของโรงเรียน มีบรรยากาศของครอบครัวอยู่ตลอดเวลาเลย
แววตาของเด็กที่นั่งเรียน ผมมีความรู้สึกเลยนะครับว่า แม้เขาจะกึ่งสงสัย ยังตั้งคำถามเราอยู่ แต่ความสุขและความมุ่งมั่น และแรงบันดาลใจเกิดขึ้นในสายตาของเด็กๆ เหล่านั้น แล้วถ้าเจอเด็กสองคนที่ผ่านกระบวนการขัดเกลา ผ่านการช่วยเหลือแล้วเขาค่อนข้างจะประสบความสำเร็จ แววตา อากัปกิริยา หรือว่าพฤติกรรมอะไรต่างๆ เขาเป็นเด็กปกติที่ค้นพบศักยภาพตัวเอง อยากศึกษาต่อ อยากมีอาชีพ ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องสำคัญที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เราต้องการโมเดลแบบนี้”
สำหรับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาก่อตั้งเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว มีโจทย์ใหญ่คือ การลดเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยการให้ทุนการศึกษา ให้โอกาส ผ่านทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน และทุนโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา เพื่อตัดวงจรการส่งต่อเรื่องความยากจนในครอบครัว
“ใน 3 ปีที่ผ่านมา เราให้ทุนการศึกษาจำนวนไม่น้อยไปสู่กลุ่มต่างๆ เด็กเป็นล้านๆ คน ให้ทุนกับเด็กอาชีวะได้เรียนจนจบ ปวช. ปวส. ให้กลุ่มผู้ยากจนด้อยโอกาสได้รับการฝึกฝนอาชีพโดยการใช้ชุมชนเป็นฐาน และอื่นๆ
ใน 3 ปี ที่เราจะก้าวต่อไป นครพนมโมเดลเป็นเสมือนก้าวแรกของ กสศ. ที่เราเริ่มรู้ว่า โมเดลนี้มีความสำคัญ เพราะการแก้ไขปัญหาเด็กของประเทศเรา ส่วนใหญ่จะต่างคนต่างทำ มีงบประมาณ มีระเบียบกฎเกณฑ์ มีข้อจำกัดอะไรต่างๆ มากมาย นครพนมโมเดลสามารถนำคนทั้งจังหวัด Key Person หน่วยงานราชการต่างๆ มาร่วมประชุม มาร่วมลงนามกันได้ ผมถึงบอกว่านี่คือก้าวสำคัญของการในการแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพคนอย่างแท้จริง”
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ย้ำว่าถ้าเราไม่ทำอะไรเลย เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ออกจากชุมชน ไม่เกิน 3 เดือนจะเริ่มเข้าสู่วงจรที่ค่อนข้างอันตราย เพราะครอบครัวส่วนใหญ่หาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลาเอาใจใส่ ระบบการศึกษาก็ขาดคนที่รัก เข้าใจและเอาใจใส่เด็กอย่างจริงจัง “แต่แปลกที่สถานพินิจฯ ทุกคนเหมือนกับ… ผมใช้คำว่า ‘ซ่อมเด็ก’ กันอุตลุตเลย คือทุกคนทุ่มเทที่จะพยายามเยียวยาช่วยเหลือเด็ก ได้เด็กที่จะออกมาแบบสมบูรณ์ ประณีต และมีคุณภาพ แล้วไม่เป็นอันตรายกับสังคมต่อไป”
หากมองกรณีศึกษาที่นครพนมเป็นต้นแบบ ความหวังที่จะแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาดจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อหน่วยงานต่างๆ ที่มีทั้งทรัพยากรและบุคลากร เชื่อมโยงและบูรณาการกัน
“ที่นี่เราเห็นคำสำคัญทุกคำเลยครับ เกิดการมุ่งมั่น ผลักดัน พัฒนา ก้าวหน้า บูรณาการ การขับเคลื่อน เป็นคีย์เวิร์ดและเป็นคอนเซ็ปต์สำคัญของการพัฒนาระดับจังหวัด อันนี้ไม่ใช่แค่นครพนมโมเดล แต่เป็นก้าวย่างสำคัญของประเทศเรา ในการที่จะเป็นแบบอย่าง เป็นจังหวัดต้นแบบการแก้ปัญหาเด็กนอกระบบและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา”