ตั้งแต่ต้นปี 2018 และโดยเฉพาะเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา การสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย TCAS จุดคำถามในบ้านเรามากว่า “ระบบสอบคัดเลือกเข้าอุดมศึกษาบ้านเรา กำลังคัดแบบไหน ด้วยวิธีอะไร และทำให้เด็กทุกคนมีโอกาสเข้าศึกษาอย่างยุติธรรมจริงหรือเปล่า”
ความเครียดของนักเรียน (พ่อแม่ และครูด้วย) จากการสอบ คือสิ่งที่ The Potential สนใจติดตามอย่างต่อเนื่อง พ่อแม่ ครู และ (ความกดดันจาก) สังคม ต่างทำหน้าที่ประคับประคอง ดูแลความเครียด ช่วยนักเรียนกร่อนร่อนสิ่งที่ตัวเองสนใจ แต่ผู้ที่ถูกวางให้เป็นผู้เล่นหลัก ช่วย ‘แนะแนว’ ทางเดินของพวกเขาอย่าง ‘ครูแนะแนว’ ดูจะหายไปจากการรับรู้ของคนทั่วไป
แต่เพราะแอดมินเป็นคนทำงานแล้ว (ยังไม่แก่นะ ><) ห่างไกลจากบรรยากาศห้องเรียนมาหลายปี เราไม่รู้เลยว่า -เฉพาะการเรียนแนะแนว- ท่ามกลางข้อมูลและบล็อกเกอร์แนะแนวท่วมท้นในอินเทอร์เน็ต ครูแนะแนวยังมีบทบาทในห้องเรียนหรือเปล่า ถ้ายังมี หน้าที่เขาคืออะไร สอนอะไร เด็กๆ มองเขาด้วยสายตาแบบไหน และครูแนะแนว แนะแนวแค่การสอบเข้าจริงหรือ
ระหว่างที่ฝุ่น (ในโซเชียล) กำลังตลบ ผู้คนออกมาตั้งคำถามกับระบบสอบ TCAS เราลงพื้นที่คุยกับนักเรียนจำนวนหนึ่ง ถามคำถามสั้นๆ 3 คำถาม ยังมีวิชาแนะแนวอยู่มั้ย, เรียนอะไร และครูแนะแนวการเรียนอย่างเดียว หรือแนะแนวทางชีวิตด้วย?
นี่เป็นแค่คำตอบส่วนหนึ่ง แต่เรายังอยากได้เสียงจากเด็กๆ อีก #ThePotential ชวนคุย ในห้องแนะแนว เด็กๆ เรียนอะไรบ้าง
วิชาแนะแนว เรียนอะไรบ้าง
ครูแนะแนวจะดูว่าเราชอบอะไร แนะแนวว่าควรเรียนต่อคณะไหน โดยการให้ทำแบบทดสอบว่าเราประเมินตัวเองยังไง เวลามีปัญหาก็ไปหาครูแนะแนวได้ แต่ผมไม่ค่อยได้ไปหาครูแนะแนว เพราะมีสิ่งที่ตัวเองชอบ ประเมินตัวเองได้อยู่แล้ว
วิชาแนะแนวมีผลต่อการตัดสินใจเลือกคณะรึเปล่า
วิชาแนะแนวมีผลต่อการเลือกคณะ ถ้าเราไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร วิชาแนะแนวช่วยให้เรารู้ได้ว่าเราชอบอะไร อยากทำอะไรในอนาคต
ทำอะไรบ้างในวิชาแนะแนว
อาจารย์เชิญวิทยากรข้างนอกมาแนะแนวการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นภาคไทยหรืออินเตอร์ บอกข้อมูลเกี่ยวกับคะแนน ทำความเข้าใจเรื่องระบบสอบแบบใหม่ นักเรียนส่วนใหญ่อาจยังไม่เข้าใจว่าต้องสอบกี่รอบ ใช้เกณฑ์อะไร รอบนี้รับเด็กยังไง อาจารย์แนะแนวจะบอกเราเรื่องนี้
วิชาแนะแนวช่วยค้นหาตัวตนได้จริงมั้ย
ช่วยนะครับ เราไปขอคำปรึกษาจากอาจารย์ได้ มีข้อสงสัยอะไรก็ไปถามอาจารย์ได้ เขาจะบอกสิ่งที่เหมาะกับเรา
ทำอะไรบ้างในวิชาแนะแนว
วิชาแนะแนวจะแนะนำทุนการศึกษา แนะนำคณะในมหาวิทยาลัย
วิชาแนะแนว ช่วยค้นหาตัวตนของเราได้จริงมั้ย
ผมคิดว่าการค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบ ต้องค้นหาด้วยตัวเอง วิชาแนะแนวเป็นแค่ตัวช่วยให้เห็นว่ามีตัวเลือกนี้อยู่ และนอกจากแนะนำคณะ ครูแนะแนวควรแนะแนวหลายๆ เรื่อง ปัญหาชีวิต ความเครียด การใช้ชีวิตทางการเรียน
ทำอะไรบ้างในวิชาแนะแนว
ดูว่าเราอยากเข้ามหาวิทยาลัยอะไร คณะอะไร เราชอบเพราะอะไร แล้วครูแนะแนวจะต่อยอดให้ ครูให้เขียนความคิดความฝัน เขียนตามความรู้สึกของตัวเองแล้วครูจะไปหาข้อมูลมาให้เราว่าเราควรเรียนอะไรดี สิ่งที่เราสนใจควรเป็นไปในทิศทางไหน
ครูแนะแนวอย่างเดียว กับครูแนะแนวที่สอนวิชาอื่นด้วย ชอบแบบไหน
เป็นครูประจำชั้นด้วย เพราะเขาจะรู้ว่าเราเป็นคนยังไง สนิท พูดได้ทุกเรื่อง แต่ถ้าเป็นครูแนะแนวอย่างเดียว เราจะได้เรียนกับเขาแค่คาบแนะแนวอย่างเดียว บางเรื่องเราไม่กล้าไปถาม
ทำอะไรบ้างในวิชาแนะแนว
สอนเกี่ยวกับการค้นหาตัวเองว่าควรจะไปด้านไหน เรียนในหนังสือเรียนแนะแนว ประมวลผลว่าคะแนนกลุ่มนี้เราได้กี่คะแนน
ครูแนะแนวอย่างเดียว กับครูแนะแนวที่สอนวิชาอื่นด้วย ชอบแบบไหน
เป็นครูแนะแนวโดยตรง เพราะเขาเรียนจิตวิทยาเด็กมาโดยตรง น่าจะมีเวลาทุ่มเทให้กับการแนะแนวมากกว่า
ทำอะไรบ้างในวิชาแนะแนว
ค้นหาว่าเราอยากเป็นอะไร เพราะสิ่งที่เราคิดอยู่อาจจะไม่ใช่ เขาจะมีแบบสอบถามให้ว่าเราชอบอะไร ถ้าเรายังไม่มั่นใจ ครูให้คำปรึกษาว่าเราเหมาะกับอะไรได้ แต่ไม่เคยไปขอคำปรึกษาเป็นส่วนตัว เพราะรู้ตัวอยู่แล้วว่าชอบด้านภาษา รู้ว่าอยากเข้าคณะไหนตั้งแต่ ม.ต้น
หาข้อมูล TCAS จากไหน
ส่วนใหญ่จากอินเทอร์เน็ต คุยกับเพื่อน และถามกับครูประจำชั้น ซึ่งครูตอบได้และบอกว่าเราควรเตรียมตัวกับมันยังไง
วิชาแนะแนวทำอะไรบ้าง
ไม่เหมือนกันแล้วแต่ครู ตอน ม.4 ครูจะให้เขียนความฝันใส่กระดาษ พอ ม.5 ครูจะให้เราจัดตารางว่า ม.6 ควรเริ่มอ่านหนังสือยังไง เราควรเลือกคณะในระบบ TCAS รอบ 3 รอบ 4 ยังไง ควรวางคณะที่เราอยากได้ไว้ที่อันดับเท่าไร สอนการคำนวณ GPAX สอนการทำพอร์ต
หาความรู้ TCAS จากไหน
ครูแนะแนวก็มีบทบาท แต่ส่วนใหญ่หาจากในอินเทอร์เน็ตมากกว่าเพราะได้ความคิดเห็นและข้อมูลมากกว่า
ครูแนะแนวเป็นครูแนะแนวอย่างเดียว หรือสอนวิชาอื่นด้วย
สอนเฉพาะวิชาแนะแนวน่าจะดีกว่า เพราะจะได้ใส่ใจได้เต็มที่ และมีความรู้ด้านนี้โดยตรง
ทำอะไรบ้างในวิชาแนะแนว
ให้เด็กทำประเมิน เช่น ชอบคณิตศาสตร์มั้ย ชอบทำกิจกรรมนี้มั้ย มีแบบประเมินว่าเราอยู่กลุ่มไหน และเข้าคณะอะไรได้บ้าง ครูให้ข้อมูลทุกอย่างได้ครบถ้วน ทั้งข้อมูลคณะ ข้อมูลโควตา พาไป open house อำนวยความสะดวกทุกอย่าง
ผลที่ได้ ตรงกับที่เราต้องการมั้ย
บางทีเราเลือกคณะเพราะพ่อแม่ชอบ แต่จริงๆ เราอาจไม่ได้ชอบ แต่แบบประเมินนี้เราประเมินตามที่ใจเราชอบจริงๆ เห็นผลก็รู้เลยว่าตรงกับความต้องการของเรา แต่ทางบ้านอาจไม่ได้อยากให้เราเรียนคณะนี้เลยไปเลือกคณะอื่น
วิชาแนะแนว เรียนอะไรอีก
เด็กคนไหนมีปัญหากับทางบ้าน หรือเลือกคณะไม่ได้จริงๆ ครูแนะแนวก็เรียกมาคุยส่วนตัว บางทีมีคณะอะไรที่มีโควตา เขาก็จะเรียกเด็กที่ชอบสาขานี้หรือมีคุณสมบัติครบไปพูดคุย
ครูแนะแนว สอนแนะแนวอย่างเดียวหรือสอนอย่างอื่นด้วย
คิดว่าครูสอนแต่วิชาแนะแนว ครูจะได้โฟกัสเด็กถูกจุด เพราะถ้าเป็นครูแนะแนวด้วยสอนวิชาอื่นด้วย มันจะงงๆ มั้ย?
ครูควรแนะแนวอะไรบ้าง
ควรให้คำปรึกษาเรื่องการใช้ชีวิตด้วย เพราะเด็กแต่ละคนชีวิตไม่เหมือนกัน ไม่รู้ว่าเด็กคนนี้มีปัญหาอะไรรึเปล่า จะดีมากถ้าครูช่วยด้วยอีกแรงหนึ่ง และส่วนมากครูโฟกัสเด็กได้แค่ไม่กี่คน เด็กที่ครูไม่ได้คุยด้วยก็อาจมีปัญหา เลยอยากให้ครูเข้าถึง
รู้ข้อมูล TCAS จากไหน
จากครูแนะแนวด้วย จากเว็บไซต์ต่างๆ ที่ให้ข้อมูลด้วย หรือบล็อกเกอร์ เพราะเด็กบางคนก็ไม่ได้เล่นอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา
วิชาแนะแนว ทำอะไรบ้าง
ครูช่วยเตรียมความพร้อมการสอบ จัดแจงว่าเราจะสอบอะไรบ้าง เวลาไหน และช่วยดูว่าเราถนัดด้านไหน ไม่ถนัดอะไร ดูปัจจัยของเราว่าเหมาะกับสภาพแวดล้อมแบบไหน เพื่อจัดทางที่ถูกต้องให้เรา
ครูแนะแนว สอนแนะแนวอย่างเดียวหรือสอนวิชาอื่นด้วย
สำหรับ ม.ปลาย ควรเป็นครูประจำชั้นด้วย เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ครูประจำชั้นคลุกคลีกับเรา รู้นิสัย รู้ว่าตัวตนของเราเป็นยังไง ถนัดอะไรบ้าง