- หากคุณเคยเป็นหนึ่งคนที่ต้องร้องไห้เพราะทุกข์ทรมานจากการเรียน ภาวนาให้ตนเองป่วยเพราะไม่ต้องการส่งงาน คุณไม่ได้ผิดปกติ แต่สิ่งที่ต้องกลับมาคิดคำนึงคือ ทำไมสถานศึกษาถึงกลับกลายเป็นสถานที่ที่ทำให้เรารู้สึกหลงทางและทุกข์ทรมานมากกว่าเดิม?
- คำว่า ‘โต้รุ่ง’ แทบจะกลายเป็นคำพูดปกติควบคู่ไปกับการเรียนในระบบการศึกษา ทั้งที่ผลเสียจากการโต้รุ่งมีมากมาย แต่หลายคนยังคงเลือกที่จะโต้รุ่ง เนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น งานเยอะเกินไปจนทำให้ต้องโต้รุ่ง, การอ่านหนังสือโต้รุ่งก่อนสอบเพราะกลัวคะแนนสอบออกมาไม่ดี ฯลฯ
- เด็กหลายคนต้องแบกความคาดหวังในการเรียนเพื่อที่จะจบออกไปให้มีงานทำ ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยเองก็ไม่ได้เปิดกว้างมากพอที่จะรองรับความหลากหลายของเด็กแต่เลือกที่จะผลิตเด็กในรูปแบบเดียวกันซ้ำๆ เพื่อออกไปตอบโจทย์ตลาดแรงงานหรือโลกของทุนนิยม
Trigger warning : การฆ่าตัวตาย (Suicide), โรคซึมเศร้า (Depressive disorder)
ยิ่งเรียนยิ่งรู้สึกหลงทาง ความเชื่อมั่นในตัวเองสูญหายระหว่างการเรียนรู้ในระบบการศึกษา – น่าแปลกที่คำที่กล่าวมาข้างต้น มักมาจากการศึกษาในมหาวิทยาลัยทุกวันนี้ แม้การเรียนในระดับมหาวิทยาลัยจะดูเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เข้าศึกษาต่อในภาควิชาที่ตนเองสนใจ เรากลับพบว่าอัตราการฆ่าตัวตายหรือการเข้าพบจิตแพทย์ของนักศึกษากลับเพิ่มมากขึ้น ยิ่งในระดับชั้นที่สูงมากขึ้นเท่าไร ปัญหาสุขภาพจิตก็ยิ่งสูงตามมาเท่านั้น โดยเฉพาะในระดับชั้นที่จะต้องทำวิทยานิพนธ์หรือโปรเจกต์จบที่จะต้องทำงานควบคู่ไปกับอาจารย์ที่ปรึกษาและคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์
การสูญหายตัวตนระหว่างทางแทบกลายเป็นเรื่องปกติที่เราต้องพบเจอ
กรมสุขภาพจิตระบุว่า ในปี พ.ศ. 2562 เด็กไทยอายุ 10 – 29 ปี เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายถึง 778 คน ซึ่งการฆ่าตัวตายถือเป็น 1 ใน 5 ปัจจัยหลักของการเสียชีวิต นอกจากนี้ ตัวเลขที่กล่าวมาข้างต้นยังไม่ได้นับรวมจำนวนเด็กที่พยายามจะฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ และเด็กที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตแต่กลับไม่ได้รับการเข้าถึงการรักษา เนื่องจากติดปัญหาทางด้านอื่นอีกด้วย
หากคุณเคยเป็นหนึ่งคนที่ต้องร้องไห้เพราะทุกข์ทรมานจากการเรียน ภาวนาให้ตนเองป่วยเพราะไม่ต้องการส่งงาน คุณไม่ได้ผิดปกติ แต่สิ่งที่ต้องกลับมาคิดคำนึง คือ ทำไมสถานศึกษาถึงกลับกลายเป็นสถานที่ที่ทำให้เรารู้สึกหลงทางและทุกข์ทรมานมากกว่าเดิม ไม่ใช่เพียงคุณคนเดียวที่เผชิญสถานการณ์เหล่านี้ นักศึกษาหลายคนเองต้องพบเจอปัญหาการเรียนที่หนักจนแทบไม่ได้นอน ทั้งวิชาที่มีการให้งานเป็นจำนวนมาก การเข้มงวดอย่างมากเกินไปของอาจารย์ผู้สอน การค้นคว้า หรืออ่านหนังสือไปพร้อมๆ กับการร้องไห้ ความเชื่อมั่นในผลงานของตนแต่กลับโดนอาจารย์ตอบกลับมาจนแทบไม่เหลือความมั่นใจ โดยเฉพาะคณะสายอาร์ตที่ตั้งใจอย่างมุ่งมั่นในการสอบเข้ามาเพื่อเรียนรู้ถึงศิลปะที่ตนคิดว่าไม่มีขีดจำกัด แต่ยิ่งเรียนมากขึ้นเท่าไหร่คำว่าศิลปะของเราและอาจารย์กลับแตกต่างกันมากขึ้นเท่านั้น
เมื่อรู้ตัวอีกทีความภูมิใจในการมองการเห็นคุณค่าของตนเอง (Self-esteem) ก็สูญหายไประหว่างทางเมื่อไรก็ไม่รู้ และยิ่งในระดับชั้นปีที่จะต้องทำวิทยานิพนธ์ ถึงขนาดมีคำพูดที่ว่า ‘จะจบไม่จบขึ้นอยู่กับที่ปรึกษา/กรรมการสอบ’ ยิ่งกดดันให้นักศึกษาที่นอกจากจะเคร่งเครียดกับการเรียนก่อนหน้านี้แล้วยังต้องมาเครียดจากการเสี่ยงดวงว่าอาจารย์ที่ปรึกษาและคณะกรรมการสอบจะเป็นอย่างไร เพราะหากได้อาจารย์ที่ไม่เข้ากับตนเอง การเรียนที่หมั่นพากเพียรมาตลอดอาจสูญหายไปในพริบตา และทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา สิ่งที่น่าแปลกมากที่สุดคือ – ทำไมเราทุกคนถึง ‘ต้อง’ พบเจอเรื่องราวแบบนี้?
วัฒนธรรมการเรียนหนักคือเรื่องปกติในสังคมไทย
โต้รุ่ง (ปาก) ว. อยู่ตลอดคืนจนกระทั่งเช้า.
คำที่เรามักจะได้ยินบ่อยๆ และเป็นคำที่ใครหลายคนมักเคยผ่านประสบการณ์นั้น อย่างเช่น ทำงานโต้รุ่ง อ่านหนังสือโต้รุ่ง ทำโปรเจกต์โต้รุ่ง จนคำว่า ‘โต้รุ่ง’ แทบจะกลายเป็นคำพูดปกติที่ควบคู่ไปกับการเรียนในระบบการศึกษา
ซึ่งหากมาลองคิดพิจารณากันแล้วนั้น การโต้รุ่งเพื่อทำงาน การโต้รุ่งเพื่ออ่านหนังสือเรียน มันควรเป็นเรื่องปกติจริงหรือ เพราะผลเสียที่ตามมาจากการโต้รุ่งกลับมีมากมาย แต่ใครหลายๆ คนก็ยังคงเลือกที่จะโต้รุ่ง เนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น งานเยอะเกินไปจนทำให้ต้องโต้รุ่ง, การอ่านหนังสือโต้รุ่งก่อนสอบเพราะกลัวคะแนนสอบออกมาไม่ดี, การจำต้องทำงานในช่วงกลางคืนจนกลายเป็นโต้รุ่งเนื่องจากในช่วงกลางวันมีกิจกรรมอื่นที่จำเป็นต้องทำจึงไม่สามารถแบ่งเวลามาทำงานตลอดทั้งวันได้, การเรียนออนไลน์ที่ทำให้เด็กเกิดภาวะเครียดและการหลีกหนีช่วงเวลากลางวัน โดยเลือกที่จะเริ่มลงมือทำในงานช่วงเวลากลางคืนเนื่องจากรู้สึกดีและปลอดภัยกว่า และอีกหลายหลายปัจจัยอื่น ซึ่งแน่นอนว่าการที่เด็กขาดการนอนหลับในช่วงเวลาที่เหมาะสม ได้ส่งผลเสียต่อสมองและสุขภาพจิต
ซูมี ลี หัวหน้าทีมวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Annals of Behavioral Medicine หรือผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการ Sleep, Stress and Health (STEALTH) ได้ศึกษาเรื่องการนอนหลับและปัจจัยที่หลากหลายที่ส่งผลต่อประชากร กล่าวถึงเรื่องการขาดการนอนหลับไว้ว่า “การขาดการนอนหลับอย่างต่อเนื่อง มีความสัมพันธ์กับอารมณ์เชิงบวกที่ลดลง อารมณ์เชิงลบที่เพิ่มขึ้นและความถี่ของอาการทางร่างกายที่รุนแรงขึ้น
“เมื่อการอดหลับอดนอนเกิดขึ้นเกือบทุกวัน ซึ่งหมายความว่า (มัน) เรื้อรัง นั่นคือเวลาที่ร่างกายและจิตใจของเราไม่สามารถทนต่ออีกต่อไป ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการสูญเสียการนอนหลับติดต่อกันส่งผลให้การฟื้นตัวไม่สมบูรณ์และความเครียดสะสมและทำให้สุขภาวะในแต่ละวันของเราลดลง”
และแม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นเรื่องที่เรามักรู้ดี ว่าการอดหลับอดนอนโต้รุ่งจะเป็นสิ่งที่ไม่ดีนัก แต่เราก็มักเลือกที่จะทำเนื่องจากมันค่อนข้างเป็นสิ่งที่ หลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือเป็นสิ่ง จำเป็น และปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งหมดนั้นมาจาก ‘ความกลัว’
ความกลัว –กลัวที่จะล้มเหลว กลัวที่จะสอบได้เกรดไม่ดี กลัวว่างานที่ทำออกมาจะได้รับการต่อว่าจากอาจารย์ กลัวที่จะเรียนไม่จบ กลัวที่จะโดนครอบครัวดุด่า กลัวที่จะทำให้ครอบครัวผิดหวัง กลัวที่จะทำให้คะแนนออกมาไม่ดีและหลุดจากทุนการศึกษา กลัวที่จะหลุดออกจากภาพอนาคตที่ตนคิดไว้ และกลัวที่จะตกจากความคาดหวังที่ตนเองตั้งไว้หากไปไม่ถึง
ความกลัวเหล่านี้ แน่นอนว่าเกิดขึ้นมากจากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยหลักๆ นั่นเพราะมหาวิทยาลัยและระบบทุนนิยม คือ พันธมิตรที่ต้องพึ่งพากัน
เด็กหลายคนต้องแบกความคาดหวังในการเรียนเพื่อที่จะจบออกไปให้มีงานทำ ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยเองก็ไม่ได้เปิดกว้างมากพอที่จะรองรับความหลากหลายของเด็ก แต่เลือกที่จะผลิตเด็กในรูปแบบเดียวกันซ้ำๆ เพื่อออกไปตอบโจทย์ตลาดแรงงานหรือโลกของทุนนิยม
ทำให้วัฒนธรรมการเรียนหนักถูกผลิตซ้ำอยู่ร่ำไป ‘คนเรามีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน อยู่ที่ใครจะใช้ทำอะไร’ วาทกรรมอันขมขื่นของโลกทุนนิยมที่บีบรัดให้เด็กจะต้องใช้เวลาอย่างคุ้มค่า ใครขยันได้มากกว่าคนนั้นชนะ ใครเรียนได้มากกว่าคนนั้นชนะ ใครอ่านได้มากกว่าคนนั้นชนะ บีบรัดทั้งเวลาและตัวเด็ก บีบคั้นทั้งร่างกายและจิตใจให้ต้องทุกข์ทนซ้ำๆ อยู่กับวังวนของการเอาตัวรอดในระบบการศึกษา จนสุดท้ายจิตใจแตกสลายแต่กายยังคงต้องทำอยู่ สูญหายตัวตนระหว่างการเรียน ด้วยคำถามที่ว่า ‘เราดีพอรึยัง’ และ ‘แค่ไหนที่จะเรียกว่าเก่ง’ ไม่รู้ว่าจะมีความสามารถมากพอรึเปล่า ในเมื่อมองไปรอบข้างแล้วมีแต่คนเก่งมากมาย แต่ตัวเองนั้นกลับว่างเปล่า แม้กระทั่ง สิ่งที่คิดว่าชอบและทำได้ดีกลับโดนอาจารย์เหยียบย่ำและฉีกมันออกอย่างไม่มีชิ้นดีด้วยคำว่า ‘งานไม่ดี’ โดยไม่ทันได้มองว่า งานที่ดีหรือไม่ดีนั้นช่างปัจเจกฯเสียเหลือเกิน กลายเป็นว่ายิ่งเรียนมากเท่าไหร่ความเชื่อมั่นตนเองก็ยิ่งจางหายมากขึ้นเท่านั้น
ทุนนิยม – ระบบการศึกษา – มหาวิทยาลัย เกี่ยวข้องกันอย่างมีนัยสำคัญ
หากกล่าวถึงมหาวิทยาลัยในมุมมองของคนทั่วไป เรามักจะนึกถึงสถานที่ที่ได้เรียนรู้ความเป็นตัวเอง ได้ทดลองทำในสิ่งที่ตนเองสนใจและอยากทำ ได้เลือกเรียนในสิ่งที่ตนเองชอบ แต่ในมุมมองของ อันโตนิโอ กรัมชี่ นักทฤษฎีการเมืองแนวมาร์กซิสต์ชาวอิตาเลียน กลับฉายภาพความเชื่อมโยงระหว่างทุนนิยมและการจัดการศึกษาในรูปแบบของโรงเรียนได้อย่างน่าสนใจ
“การมองปัญหาและปรากฏการณ์ทางสังคม/การเมืองแบบเชื่อมโยงและเป็นองค์รวมถือเป็นจุดเด่นสำคัญประการหนึ่งของมุมมองแบบกรัมชี่ การเลือกใช้คำว่า ‘Organic’ สำหรับกรัมชี่มีนัยสำคัญที่ความเป็นโครงสร้าง กล่าวคือ เป็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่สามารถทำความเข้าใจได้โดยมิติหรือโดยตัวแปรใดแต่เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น หากตัวแปรต่างๆ กลับเชื่อมโยงถึงกันอย่างแนบแน่น เหตุที่กรัมชี่มองว่าหาก ‘โรงเรียน’ หรือองค์กรที่ทำหน้าที่จัดการศึกษา ตลอดจนหลักสูตรการศึกษานั้น จะนำไปสู่การเกิดวิกฤติเชิงโครงสร้างของรัฐได้
เพราะกรัมชี่มองว่า การศึกษาเป็นเรื่องของ ‘ชนชั้น’ (Class) การกำเนิดขึ้นของโรงเรียนในลักษณะที่แตกต่างกันเป็นผลมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่มุ่งเน้นการผลิตขนาดใหญ่และความชำนาญเฉพาะทางในการผลิต ภายใต้สังคมเช่นนี้จึงจำเป็นต้องสร้างกรรมาชีพที่มีทักษะการทำงานที่ตอบสนองชนชั้นผู้ถือครองปัจจัยการผลิตได้
“เมื่อองค์กรจัดการศึกษาเป็นสิ่งที่ผูกโยงกับประเด็นชนชั้น จึงทำให้เราเข้าใจประเด็นที่กรัมชี่เสนอในบทบันทึกนี้ว่า หากวิกฤติการณ์ของหลักสูตรการศึกษาและวิกฤติการณ์ของโรงเรียนเกิดขึ้น จึงมีโอกาสที่จะนำไปสู่วิกฤติยาวนานของรัฐหรือสังคมนั้นๆ ได้ เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นในระบบทุนนิยมที่ดำเนินอยู่บนพื้นฐานของการขูดรีด (Exploitation) และสร้างมูลค่าส่วนเกิน (Surplus value) ของชนชั้นนายทุนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น หากองค์กรการศึกษาเกิดวิกฤติหรือไม่สามารถทำหน้าที่ในการผลิตกรรมกรเพื่อทำหน้าที่ในการผลิตให้กับสังคมนั้นๆ ได้ มีโอกาสนำไปสู่วงจรของการขาดทุน เกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่จะเชื่อมโยงไปยังปัญหาสังคมอื่นตามมาได้อีกหลายประการ” (จากหนังสือ อันโตนิโอ กรัมชี่ กับการจัดวางความคิดทางการเมือง โดย วัชรพล พุทธรักษา)
แม้บทบันทึกของกรัมชี่ที่ยกมานี้จะไม่ได้กล่าวถึงรูปแบบมหาวิทยาลัย แต่ก็เห็นได้ว่าในตัวบทมีความเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้องกันกับรูปแบบมหาวิทยาลัยในไทยอยู่ไม่น้อย
เพราะหากเราลองคิดพิจารณาดีๆ จะเห็นได้ว่าคณะที่เกิดขึ้นมาใหม่นั้น หลายครั้งก็มาเพื่อตอบสนองตลาดทุนนิยม เทรนด์ของโลก และหลายครั้งที่คณะดีๆ จำต้องยุบไปเพราะมันแทบไม่มีประโยชน์อะไรกับโลกของทุนเลย
มหาวิทยาลัยในไทยทุกวันนี้ แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยที่ดูเหมือนเป็นสถานที่ที่ดูเปิดกว้างอย่างไม่จำกัดกรอบทางความคิด แต่ในทางปฏิบัติ มหาวิทยาลัยก็คล้ายกับโรงงานที่ผลิตนักศึกษาในรูปแบบที่ดูทันสมัยและตอบโจทย์กับผู้บริโภค หรือตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่แม้กระทั่งตัวนักศึกษาเองก็ยินดีที่จะอยู่ในระบบที่ขูดรีดนั้นเพราะมันได้สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจในแบบที่จับต้องได้จริงๆ
“ผมสอนหนังสือมาเกือบจะ 20 ปี ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งเต็มไปด้วยผู้มีความรู้และมีการศึกษาดี ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบ มหาวิทยาลัยที่ผมทำงานอยู่ถือว่ากำลังมุ่งหน้าไปสู่สิ่งที่ Paul Mason เรียกว่า ‘มหาวิทยาลัยเสรีนิยมใหม่ทั่วไป’ (Standard Neoliberal University) ซึ่งหมายถึงมหาวิทยาลัยเอาภววิทยาแบบธุรกิจมาใช้ ตามมุมมองดังกล่าว มหาวิทยาลัยโดยพื้นฐานแล้วก็คือ ‘สถาบันที่อบรมฝึกฝนแรงงานและนำสิ่งที่ค้นพบใหม่ๆ ไปใช้สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ’ มันคือ ‘ธุรกิจที่เชี่ยวชาญในการเตรียมความพร้อมให้ผู้คนเข้าทำงานในบริษัท’ ไม่มีใครมองมันว่าเป็นสถานที่ที่ ‘ทำให้คนหนุ่มสาวเสียคน’ (corrupt youth) อันที่จริงแล้ว นับวันนิสิตนักศึกษาก็ยิ่งได้รับการปฏิบัติเหมือนเป็นผู้บริโภคที่ต้องการได้รับความพึงพอใจและรู้สึกว่าสิ่งที่ได้มาคุ้มกับเงินที่จ่ายไป มหาวิทยาลัยไม่ใช่สถานที่ที่ผลิตความรู้ที่ ‘ต้องห้าม’ หรือ ใช้งานไม่ได้จริง’ ที่ท้าทายอำนาจรัฐและทุน ทุนต่างหากที่เป็นตัวกำหนดว่าการศึกษาวิจัยหรืองานวิชาการประเภทไหน ‘เป็นประโยชน์’ และ ‘มีคุณค่า’ ”
ข้อความข้างต้นจากหนังสือ เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์ โดย สรวิศ ชัยนาม ที่ได้ฉายภาพการเชื่อมโยงของทุนนิยม ระบบการศึกษา และมหาวิทยาลัยในไทยให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น และถือเป็นส่วนที่ตอกย้ำว่า บ่อยครั้งที่งานได้ถูกกำหนดคุณค่าโดยทุน หากทุนไม่เลือก งานเหล่านั้นก็อาจถูกลดคุณค่าทั้งๆ ที่หากวันดีคืนดีงานประเภทนั้นกลายเป็นกระแสสังคมโลกขึ้นมา ความเป็นคุณค่าที่ทุนเคยปัดทิ้งไปก็จะได้กลับคืนมาทันที
อย่างในกรณีสายศิลปะ ที่แม้ว่ามองภายนอกจะดูเปิดกว้างทางความคิดแค่ไหน แต่มหาวิทยาลัยก็ยังสอดแนบแนวความคิดที่เป็นที่นิยมในตลาดเข้ามาผ่านสภาพแวดล้อม วิชาเรียน อาจารย์ และแม้กระทั่งเกณฑ์การวัดคะแนนอยู่ดี ซึ่งตัวการเหล่านี้แหละ คือสิ่งที่คอยบีบคั้นให้เหล่านักศึกษาจะต้องดำเนินแนวทางไปตามเกณฑ์ของโลกทุนนิยมเสมอ โลกทุนนิยมเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ออกแบบสร้างสรรค์ แต่ในขณะเดียวกันก็กำหนดกรอบของการสร้างสรรค์ให้อยู่ในเกณฑ์นั้นด้วย
เมื่อตัวตนของเราไม่สอดคล้องกับกระแสของตลาดแรงงาน จุดเริ่มต้นของการมองไม่เห็นคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) ก็ได้เริ่มต้นขึ้น
ยิ่งเรียนยิ่งรู้สึกหลงทาง ความเชื่อมั่นในตัวเองสูญหายระหว่างการเรียนรู้ในระบบการศึกษา – คำที่กล่าวมาข้างต้นบทความ หากเราลองมองผ่านเลนส์ของโลกทุนนิยม จะเห็นได้ว่าสิ่งใดที่กำลังเกี่ยวและตัดตอนความมั่นใจในคุณค่าของตนออกไปเรื่อยๆ การที่โลกของทุนนิยมไม่ได้สร้างความหลากหลายที่แท้จริงไม่ได้แปลว่าตัวตนเรานั้นจะไร้คุณค่า เราไม่ได้แปลกแยก หรือไม่ดี แต่เป็นเพราะโครงสร้างของระบบสังคมที่ผิดเพี้ยนจนไม่ได้มองเห็นถึงความหลากหลายนี้ต่างหาก ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยและอาจารย์ที่มองผลงานของนักศึกษาผ่านเลนส์ของทุนนิยมก็เช่นเดียวกัน การที่ทุนไม่ได้เลือกผลงานของเรา ไม่ได้แปลว่าผลงานของเราไม่ดี ไม่งดงาม แต่เพราะผลงานของเราได้สร้างความสวยงามเกินกว่าที่ทุนเหล่านั้นจะมองเห็น
อันโตนิโอ กรัมชี่ เคยกล่าวไว้ว่า “มหาวิทยาลัยและผู้สอนต้องสามารถชี้นำทางปัญญาและกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ ด้วยตนเองเพื่อให้ผู้เรียนสามารถมองเห็นและแยกแยะวางเปลือกนอก (Form) และสารัตถะ (Content) ของสรรพสิ่งได้อย่างวิพากษ์”
สิ่งนี้คือส่วนสำคัญ หากมหาวิทยาลัยและอาจารย์ไม่ได้ชี้นำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมองเห็น เพียงแต่ผลักดันและเร่งรัดให้นักศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างดีเยี่ยมและตรงคุณสมบัติที่โลกของทุนนิยมต้องการมากที่สุด ดังนั้น แล้วการศึกษาจะมีอยู่เพื่ออะไร? เพราะหากไร้ซึ่งการวิพากษ์และความหลากหลาย การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมและโลกที่ดีกว่าในอนาคตคงยากที่จะเกิด