Skip to content
ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์
29 November 2022

‘Echo Chamber’ เราต่างมีกะลาคนละใบ…ที่เข้าใจว่าคือโลกกว้าง

เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • คำว่า Echo Chamber หรือห้องเสียงสะท้อน ถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายถึงสถานการณ์ หรือปรากฏการณ์ที่ผู้คนอยู่ในพื้นที่ที่พบเจอแต่ความคิดเห็นคล้ายกัน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ราวกับอยู่ในห้องที่ได้ยินแต่เสียงสะท้อนย้ำๆ ซ้ำๆ
  • ผลกระทบของ Echo Chamber จากการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่พบเจอแต่ความคิดเห็นคล้ายคลึงกับของตัวเอง จะทำให้ผู้คนยิ่งปักใจเชื่อในทัศนคตินั้น จนถูกหล่อหลอมให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ความจงรักภักดีต่อเผ่าพันธุ์เดียวกัน’ และ การแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างสุดโต่ง
  • การรับฟังความคิดเห็นจากภายนอก หรือทัศนคติที่เป็นกลาง เป็นอีกวิธีสำคัญที่จะออกจากห้องเสียงสะท้อน หรือพูดง่ายๆ ว่า ต้องรู้จักเปิดรับข้อมูลหรือสื่อ ที่ไม่ได้สอดคล้องกับความเชื่อของเราบ้าง

‘ฟ้าใส’ เด็กสาวผู้เชื่อมั่นในอุดมการณ์การเมืองแบบหนึ่ง เธอตะโกนเสียงดังกลางห้องโถงเพดานสูงว่า “อุดมการณ์คือความถูกต้อง” ทันใดนั้น เสียงสะท้อนดังซ้ำๆ มาจากรอบทิศทางว่า “อุดมการณ์ของฉันคือความถูกต้อง”

ฟ้าใส ยิ้มกว้าง บอกกับตัวเองว่า ทุกคนต่างเห็นด้วยกับอุดมการณ์การเมืองแบบที่เธอเชื่อจริงๆ ด้วย

แต่ ‘อนุรักษ์’ ไม่คิดอย่างนั้น เขามั่นใจในประสบการณ์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายสิบปีของตัวเองว่า อุดมการณ์ไม่สำคัญเท่าความดี เพื่อยืนยันความคิดนั้น อนุรักษ์เปล่งเสียงดังออกมาว่า “อุดมการณ์ไม่สำคัญเท่าความดี”

ประโยคนั้นสะท้อนดังก้องซ้ำๆ ยิ่งตอกย้ำความมั่นใจของอนุรักษ์ให้หนักแน่นขึ้น

ทั้งฟ้าใสและอนุรักษ์ ต่างเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองคิด แล้วความคิดใครคือสิ่งที่ถูกต้อง

สถานการณ์สมมติข้างบน คือ ปรากฏการณ์ที่นักวิชาการในแวดวงสื่อเรียกว่า Echo Chamber หรือแปลเป็นไทยว่า ‘ห้องเสียงสะท้อน’ โดยแรกเริ่มเดิมที ศัพท์คำนี้ใช้ในทางดนตรี หมายถึง ห้องโล่งๆ ที่ใช้สำหรับบันทึกเสียงเพลงหรือดนตรี ที่ต้องการเอฟเฟกต์ที่มีหางเสียงก้องกังวาน หรือเสียงสะท้อน แต่ในยุคปัจจุบัน ซาวด์เอฟเฟกต์ของเสียงสะท้อน สามารถสร้างขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยการบันทึกเสียงในห้องโถงขนาดใหญ่ ทำให้ศัพท์คำนี้ แทบไม่ถูกใช้ในวงการดนตรีอีกต่อไป

ในยุคที่โซเชียลมีเดียผลิบาน โลกเสมือนจริงกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนใช้เวลาอยู่ในนั้น นานพอๆ กับการใช้ชีวิตในโลกจริง ศัพท์คำว่า Echo Chamber จึงถูกนำมาใช้ในอีกบริบท เพื่ออธิบายถึงสถานการณ์ หรือปรากฏการณ์ที่ผู้คนอยู่ในพื้นที่ที่พบเจอแต่ความคิดเห็นคล้ายกัน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ราวกับอยู่ในห้องที่ได้ยินแต่เสียงสะท้อนย้ำๆ ซ้ำๆ

และเมื่อบวกกับพฤติกรรมมนุษย์ ที่มีแนวโน้มจะเลือกเชื่อแต่ข้อมูล หรือหลักฐาน ที่สอดคล้องกับทัศนคติของตัวเอง (ศัพท์ทางจิตวิทยาเรียกพฤติกรรมแบบนี้ว่า Confirmation Bias หรือ ความลำเอียงเพื่อยืนยันความเชื่อของตัวเอง) ก็ยิ่งทำให้ผู้คนหลงติดอยู่ใน Echo Chamber โดยไม่รู้ตัว

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักวิชาการจำนวนมาก ทั้งทางด้านสื่อและจิตวิทยา พากันออกมาเตือนถึงผลกระทบของ Echo Chamber โดยชี้ว่า การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่พบเจอแต่ความคิดเห็นคล้ายคลึงกับของตัวเอง จะทำให้ผู้คนยิ่งปักใจเชื่อในทัศนคตินั้น จนถูกหล่อหลอมให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ความจงรักภักดีต่อเผ่าพันธุ์เดียวกัน’ และ การแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างสุดโต่ง 

สิ่งที่ตามมาก็คือ เสรีภาพทางวิชาการ ถูกคุกคามอย่างรุนแรง เพราะคนที่ติดอยู่ในห้องเสียงสะท้อน จะไม่สามารถรับฟัง หรือยอมรับทัศนคติที่แตกต่างจากตัวเอง ซึ่งเท่ากับว่า บรรยากาศแห่งการอภิปราย หรือถกเถียง เพื่อนำไปสู่การหาทางออกของปัญหา จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้

หนึ่งในตัวอย่างผลกระทบของ echo chamber ที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างถึง ก็คือ ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ในปี 2016 ซึ่งในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต มีคะแนนนำในทุกผลการหยั่งเสียง ขณะที่หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal หรือแม้กระทั่งสื่อแนวทางอนุรักษ์นิยมอย่าง Fox News ก็ยังทำนายว่า เธอจะได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่อย่างค่อนข้างแน่นอน

ทว่า กลุ่มผู้สนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน อาศัยช่องทางโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะทวิตเตอร์ ทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงที่ยังไม่ตัดสินใจ หันมาเชื่อมั่นในตัวทรัมป์ จนกลายเป็นความจงรักภักดีอย่างสุดขั้ว ไม่รับฟังข้อมูลจากฝ่ายอื่นที่ไม่ใช่พวกตนเอง และเทคะแนนเสียงช่วยให้ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ อย่างพลิกความคาดหมาย

และนั่นคือ ผลกระทบจากปรากฏการณ์ Echo Chamber

อัลกอริทึม คือ พระเอกหรือผู้ร้าย

แม้ว่า Echo Chamber จะสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในโลกออฟไลน์ และออนไลน์ แต่โดยทั่วไปแล้ว เมื่อเราพูดถึง Echo Chamber จะหมายถึงปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ ทั้งนี้เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางสังคมในโซเชียลมีเดีย ที่มีระบบอัลกอริทึมเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงส่งผลให้ปรากฎการณ์ห้องเสียงสะท้อน เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนมากกว่า

หลายคนอาจสงสัยว่า อัลกอริทึม คืออะไร แล้วมาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้อย่างไร อัลกอริทึม (Algorithm) คือชุดลำดับคำสั่งที่ใช้ในการสั่งการทำงานของคอมพิวเตอร์หรือหุ่นยนต์ โดยมีการกำหนดเงื่อนไข เช่น ถ้าใส่ข้อมูล A คอมพิวเตอร์จะเริ่มทำงานแบบหนึ่ง แต่ถ้าใส่ข้อมูล B คอมพิวเตอร์จะทำงานอีกแบบหนึ่ง หรือถ้าใส่ข้อมูล C คอมพิวเตอร์จะหยุดการทำงาน

แม้ว่าอัลกอรึทึม ช่วยให้การทำงานคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะการสืบค้นข้อมูลทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำได้สะดวกง่ายดาย และรวดเร็วขึ้น แต่ความชาญฉลาดของระบบสมองกลก็มีข้อเสีย และข้อเสียนั้นก็นำไปสู่ปรากฎการณ์ Echo Chamber ที่อาจเป็นปัญหาใหญ่ของโลกในยุคศตวรรษที่ 21

ตัวแปรหนึ่งที่ช่วยก่อให้เกิดปรากฎการณ์ Echo Chamber ก็คือ พฤติกรรมการเสพสื่อที่เปลี่ยนไป ผู้คนส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบัน ไม่ได้อ่านข่าวหรือค้นหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ หรือตำราอ้างอิงในห้องสมุด หากแต่พึ่งพาอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter และ Google ซึ่งสื่อเหล่านี้ ต่างใช้อัลกอริทึมในการทำงานทั้งสิ้น เพื่อให้สามารถตอบสนองความพึงพอใจผู้ใช้ให้มากที่สุด และจะนำไปสู่ยอดการมีส่วนร่วม หรือ engagement ที่เพิ่มขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ข้อมูลที่แต่ละคนได้รับหรือค้นพบจากโลกออนไลน์ จึงถูกกลั่นกรองมาแล้วโดยอัลกอริทึม ซึ่งอาศัยข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาจากประวัติหรือร่องรอยที่คนๆ นั้นเคยกดไลก์ กดแชร์ เคยเข้าไปแสดงความคิดเห็น หรือเคยค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต

นั่นหมายความว่า ทุกครั้งที่เราเข้าไปค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต และโดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย เราจะพบเจอแต่ข้อมูลที่ผ่านการกลั่นกรองโดยอัลกอริทึมมาแล้วว่า เป็นสิ่งที่เราพึงพอใจมากที่สุด และข้อมูลที่ถูกจัดหามาให้สำหรับแต่ละคน จะไม่เหมือนกันเลย แม้ว่าจะใช้คีย์เวิร์ดในการค้นหาข้อมูลชุดเดียวกันก็ตาม

ดังนั้น เมื่อออนเข้าสู่โลกทวิตเตอร์ ฟ้าใส จึงพบแต่หัวข้อที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ความเชื่อของเธอ ขณะที่หน้าฟีดข่าวเฟซบุ๊กของอนุรักษ์ ก็พบเจอแต่โพสต์ที่ตอกย้ำความเชื่อหรือแรงศรัทธาของเขา

ทั้งฟ้าใสและอนุรักษ์ ไม่ได้อยู่ในห้องเดียวกัน แต่ทั้งคู่กำลังติดอยู่ในห้องเสียงสะท้อนเหมือนๆ กัน

ทางออกจากห้องเสียงสะท้อน

แน่นอนว่า ไม่มีใครต้องการตกอยู่ในภาวะ Echo Chamber แต่เราจะทำอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว

อิเนส อาเลเกร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการตัดสินใจแก้ปัญหาระดับบริหาร และโจเซฟ วาลอร์ ศาสตราจารย์ด้านระบบสารสนเทศ จากไออีเอสอี บิสซิเนส สกูล ประเทศสเปน ได้จัดทำงานวิจัยถึงผลกระทบของ Echo Chamber รวมถึงแนวทางเพื่อหลีกเลี่ยงการตกอยู่ในห้องเสียงสะท้อน

แม้ว่างานวิจัยชิ้นดังกล่าว มุ่งเน้นไปที่ผลกระทบของ Echo Chamber ที่มีต่อการตัดสินใจทางธุรกิจเป็นหลัก แต่แนวทางการแก้ไขและป้องกันปัญหาดังกล่าว สามารถปรับใช้ได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำธุรกิจ นักเรียน นักศึกษา หรือพนักงานทั่วไป

งานวิจัยของอาเลเกรและวาลอร์ ชี้ว่า ก้าวแรกของการแก้ปัญหา จะต้องยอมรับว่ามีปัญหาเกิดขึ้นเสียก่อน ซึ่งในกรณีนี้ คือ การตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า มนุษย์มีแนวโน้มที่จะมีความลำเอียงเพื่อยืนยันความเชื่อของตนเอง (Confirmation Bias)

การรับฟังความคิดเห็นจากภายนอก หรือทัศนคติที่เป็นกลาง เป็นอีกวิธีที่สำคัญ หรือพูดง่ายๆ ว่า ต้องรู้จักเปิดรับข้อมูลหรือสื่อ ที่ไม่ได้สอดคล้องกับความเชื่อของเราบ้าง

พยายามคิดในมุมที่ตรงกันข้าม หรือสมมติตัวเองว่า เป็นคนที่อยู่ในขั้วตรงข้าม แล้วลองหาเหตุผลมาอภิปรายสนับสนุนความคิดนั้น (อ่านบทความเพิ่มเติม Critical Thinking การคิดเชิงวิพากษ์: ทักษะที่ฝึกฝนได้ทั้งในบ้านและห้องเรียน ช่วยเด็กไม่ให้ตกเป็นเหยื่อดรามา)

ในกรณีขององค์กรทางธุรกิจ จะให้ความสำคัญกับการสร้างทีมที่มีความหลากหลายทางความคิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะ Echo Chamber แต่สำหรับคนทั่วไป ในหัวข้อนี้ น่าจะใกล้เคียงกับการพาตัวเองเข้าไปอยู่ในกลุ่มหรือสภาพแวดล้อม ที่มีความคิดเห็นที่หลากหลาย มากกว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ท้ายสุด พยายามวิเคราะห์เปรียบเทียบสถานการณ์ก่อนและหลังจากที่ตกอยู่ใน Echo Chamber ซึ่งอาจนำไปสู่การค้นพบแนวทางใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ดี นักวิชาการอีกหลายคน มีความคิดเห็นที่ต่างออกไป พวกเขามองว่า ผลกระทบของปรากฏการณ์ห้องเสียงสะท้อน อาจไม่น่ากลัวอย่างที่เคยคิด

อลิซาเบธ ดูบอยส์ (Elizabeth Dubois) ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยออตตาวา และแกรนท์ แบลงค์ (Grant Blank) นักวิจัยจากสถาบันอินเทอร์เน็ตอ็อกซ์ฟอร์ด มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ร่วมกันจัดทำแบบสำรวจที่มีกลุ่มตัวอย่างราว 2,000 คน ในประเทศอังกฤษ พบว่า มีผู้ถูกสำรวจเพียง 8 % ที่เสี่ยงต่อการติดอยู่ในห้องเสียงสะท้อน

รายงานการสำรวจชิ้นดังกล่าว ที่ทำขึ้นในปี 2018 สรุปว่า คนส่วนใหญ่ มีพฤติกรรมโดยธรรมชาติ ที่ช่วยให้ตัวเองหลุดพ้นจาก Echo Chamber อยู่แล้ว ซึ่งพฤติกรรมที่ว่าก็คือ การเสพสื่อจากหลายช่องทาง เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนการตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นทางการเมือง

แม้ว่ารายงานฉบับนี้ จะเป็นการมองโลกในแง่ดี แต่สิ่งสำคัญที่อยู่ในข้อสรุปของรายงานการสำรวจ ก็คือ การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล โดยอาศัยการเปิดรับสื่อจากหลากหลายช่องทาง คือ หัวใจสำคัญที่นำไปสู่การหลุดพ้นจาก Echo Chamber

ท้ายที่สุด ไม่ว่าปรากฏการณ์ Echo Chamber จะเป็นภัยคุกคามในโลกยุคใหม่ หรือเป็นแค่ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ แต่หากเราไม่อยากตกอยู่ในภาวะดังกล่าว สิ่งแรกที่ควรทำ คือ การย้ำกับตัวเองบ่อยๆ ว่า ในยุคปัจจุบัน ข้อมูลข่าวสารไม่ได้ไหลมาถึงเราอย่างเสรี หากแต่ล้วนผ่านการกลั่นกรองมาแล้วทั้งนั้น

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเห็น จึงไม่ใช่ทั้งหมดของความจริง แต่เป็นเพียงเศษเสี้ยวที่ถูกปรุงแต่งมาให้ถูกจริตของเราเพียงผู้เดียว

ดังนั้น เราทุกคน จึงถูกครอบด้วยกะลาคนละใบ แต่กลับหลงเข้าใจว่าคือโลกกว้าง

อ้างอิง 

Avoiding Echo Chambers: 5 Strategies To Beat Confirmation Bias https://www.forbes.com/sites/iese/2021/06/16/avoiding-echo-chambers-5-strategies-to-beat-confirmation-bias/?sh=4b3de1fc1267

The myth of the echo chamber https://theconversation.com/the-myth-of-the-echo-chamber-92544

Are Echo Chambers A Threat to Intellectual Freedom https://www.psychologytoday.com/us/blog/digital-world-real-world/201903/are-echo-chambers-threat-intellectual-freedom

Echo Chamber https://www.populismstudies.org/Vocabulary/echo-chamber/

What is echo chamber? https://edu.gcfglobal.org/en/digital-media-literacy/what-is-an-echo-chamber/1/

Confirmation Bias https://www.simplypsychology.org/confirmation-bias.html

Tags:

โซเชียลมีเดียการฟังห้องเสียงสะท้อน (echo chamber)ความเชื่อConfirmation Bias

Author:

illustrator

สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

อดีตนักแปล-นักข่าว ปัจจุบันเป็นพ่อค้า พ่อบ้าน และพ่อของลูกชายวัยรุ่น รักหนังสือ ชอบเข้าร้านหนังสือ และชอบซื้อหนังสือมาดองเป็นกองโต

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • what-about-me-effect-nologo
    Social IssuesHow to enjoy life
    ‘What About Me Effect’ แค่ถามหรือเรียกร้องความสนใจ ปรากฎการณ์ปัจเจกนิยมเกินเหตุในโซเชียลมีเดีย

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • loneliness-nologo
    How to enjoy life
    ‘ภัยเงียบของความเหงา’ เมื่อคนมากมายไม่อาจเติมช่องว่างทางความรู้สึก

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Life Long Learning
    โกวิท วงศ์สุรวัฒน์: การเรียนรู้ผ่านโลกทวิตเตอร์ 280 ตัวอักษรของน้องใหม่วัย 71

    เรื่อง ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะรชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

  • Education trend
    เอาชนะหุ่นยนต์ได้ด้วยการ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ และความฉลาดทางอารมณ์

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Voice of New Gen
    VISUALIZATION: ในโลกของ BIG DATA เราต้องการนักสร้างภาพจากมหาสมุทรข้อมูล

    เรื่อง กนกอร แซ่เบ๊antizeptic ภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel