- เมื่อการลงโทษในสถานศึกษาที่แม้ตัวครูมีจุดประสงค์หวัง ‘ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม’ นักเรียนให้ดีขึ้น แต่หลายครั้งอีกเช่นกันที่เกินเลยเข้าข่ายคำว่า ‘ทำร้ายร่างกาย’ และ ‘ละเมิดสิทธิ’ ไปมาก
- “จากเคสครูถ่ายคลิปลงโทษเด็กและเผยแพร่ในโซเซียลมีเดีย ประเด็นคือ หนึ่ง – การกระทำของครูกำลังละเมิดความเป็นส่วนตัวของนักเรียนแน่นอน สอง – ครูอาจไม่เข้าใจเรื่อง Digital footprint (ร่องรอยของเราบนโลกดิจิทัล) และสาม – ครูกำลังส่งสารที่สำคัญมากเข้าไปในตัวเด็กว่า การสัมผัสร่างกาย หรือการถ่ายภาพเขา เป็นเรื่องที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าตัว”
- ชวนตั้งหลักว่าเราจะสร้างวินัยเชิงบวก (ไม่ใช่ลงโทษ) เด็กอย่างไรไม่ให้เป็นการละเมิดสิทธิเขากับ กอล์ฟ – พงศธร จันทร์แก้ว นักสังคมสงเคราะห์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งเพจนักสังคมสงเคราะห์เล่าเรื่อง
ตอนที่เรียนมัธยมเราเคยสอบไม่ผ่านวิชาหนึ่ง โดนครูลงโทษด้วยการตีให้เท่ากับจำนวนคะแนนที่ขาดไป ซึ่งเรา ณ ตอนนั้นไม่ได้รู้สึกว่ามันแปลกเพราะเป็นความผิดตัวเองที่สอบไม่ผ่านโดนทำโทษก็ถูกแล้ว แถมยิ่งดีด้วยผ่านโดยไม่ต้องสอบใหม่ แต่เรา ณ วันนี้ก็ฉุกคิดได้ว่ามันแปลกมาก ทำไมการสอบไม่ผ่านถึงกลายเป็นความผิดที่ต้องถูกลงโทษ แล้วการถูกตีมันจะช่วยให้เราจำเรื่องที่เรียนได้เหรอ?
เหตุการณ์หนึ่งที่คิดว่ามันเกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ คือ การที่ครูคนหนึ่งถ่ายคลิปลงโทษนักเรียนให้ลุกนั่งและยกเก้าอี้ไว้บนหัวลงโซเซียลมีเดีย ซึ่งเสียงของชาวโซเชียลก็แตกเป็น 2 ด้าน ฝั่งหนึ่งบอกว่าครูทำถูกแล้วที่ลงโทษเด็ก ส่วนอีกฝั่งมองว่าครูกำลังละเมิดสิทธิเด็กทั้งการถ่ายคลิป และบทลงโทษที่เกินกว่าเหตุ
เพื่อไขว่าเรื่องนี้ควรจบลงอย่างไร เราควรตั้งหลักมองมันด้วยกรอบคิดแบบไหน The Potential ชวน กอล์ฟ – พงศธร จันทร์แก้ว นักสังคมสงเคราะห์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งเพจนักสังคมสงเคราะห์เล่าเรื่อง มาคุยกันในประเด็นสิทธิเด็กกับการลงโทษในสถานศึกษา เรื่อง digital footprint การถ่ายรูปหรือคลิปเด็กลงโซเชียลมีเดีย และการเคลื่อนไหวประเด็นสิทธิเด็กในสังคมไทยปัจจุบัน
วัฒนธรรมในสังคมที่เด็กต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่
จากเคสครูถ่ายคลิปลงโทษเด็กและเผยแพร่ในโซเซียลมีเดีย สำหรับกอล์ฟมองเห็น 3 ประเด็น คือ หนึ่ง – การกระทำของครูกำลังละเมิดความเป็นส่วนตัวของนักเรียนแน่นอน สอง – ครูอาจไม่เข้าใจเรื่อง Digital footprint (ร่องรอยของเราบนโลกดิจิทัล) และสาม – ครูกำลังส่งสารที่สำคัญมากเข้าไปในตัวเด็กว่า การสัมผัสร่างกาย หรือการถ่ายภาพเขา เป็นเรื่องที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าตัว
“มันเป็นการลดทอนพลังอำนาจของเด็กในการทำความเข้าใจกับสิทธิเรือนร่างของตัวเขาเอง มันสำคัญมากนะในการประกอบสร้างตัวตนเขาต่อไปในอนาคต”
ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ครูรวมถึงคนส่วนใหญ่มีทัศนคติเช่นนี้ คือ วัฒนธรรมในสังคมที่ให้พลังอำนาจครูอยู่เหนือนักเรียน จนกลายเป็นว่าครูสามารถทำอะไรกับเด็กก็ได้เป็นเรื่องปกติ เช่น ครูล้อเลียนเด็ก ‘ดำเป็นเงาะป่าเลยนะ’ แต่ถูกมองว่าเป็นการหยอกล้อสนุกสนาน แสดงความเอ็นดู เพราะเราต่างหลงลืมที่จะมองในมุมเด็กหรือคนที่ถูกกระทำ และตัวครูเองก็ลืมเช่นกัน หรือถ้าไม่ลืมก็เอนจอยกับการใช้อำนาจนั้น
กอล์ฟยกประสบการณ์ที่เขาเคยไปเรียนต่อประเทศนอร์เวย์ บรรยากาศสังคมที่นั่นต่างกับไทยมาก ครูนอร์เวย์ต้องขอคอนเซนต์ (consent ความยินยอม) จากเด็กและผู้ปกครองก่อนจะทำอะไรทุกครั้ง เช่น ถ่ายภาพ หรือทำกิจกรรมต่างๆ บางโรงเรียนจะมีแบบฟอร์มขอความยินยอมให้ผู้ปกครองเซ็นเลย แต่เมืองไทยเส้นแบ่งของการทำได้ – ทำไม่ได้มันสั้นมาก เพราะผู้ใหญ่ไม่ให้อำนาจ หรือไม่ได้มองเด็กคนหนึ่งว่าเขาก็เป็นมนุษย์ (human being) ที่มีอารมณ์ความรู้สึก มีพลังในการเซเยสหรือโนได้ด้วยตัวเอง
“เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แบบ… กว่าเราจะมารู้เรื่องสิทธิของตัวเองได้ก็คือต้องโตแล้ว” กอล์ฟกล่าว
สุดท้ายสภาพแวดล้อมมันก็หล่อหลอมให้เด็กต้องยอมจำนนรับสภาพไป การที่เขาถูกล่วงละเมิดถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ อาจจะมีคนแย้งว่าเด็กบางคนก็โอเคกับการกระทำของครู ไม่ได้มองว่าตัวเองถูกละเมิดสิทธิ ในมุมกอล์ฟมองว่า ‘การโอเคของเด็ก’ มันเป็น ‘การโอเค’ ที่เขารู้สึกจริงๆ หรือโอเคเพราะมี norm (บรรทัดฐานสังคม) บางอย่างกดทับเขาอยู่ให้รู้สึกว่าสิ่งนี้โอเค
ที่พูดมาทั้งหมดไม่ได้สื่อความว่าครูจะไม่สามารถลงโทษเด็กหรือแตะต้องเด็กได้เลย กอล์ฟบอกว่า สิ่งที่ครูและผู้ใหญ่ทุกคนต้องท่องไว้ในใจ คือ ทุกๆ การกระทำของพวกเขาไม่ควรไปกระทบสิทธิเด็ก หรือการประกอบสร้างตัวตนของเด็ก
กระบวนการทางกฎหมาย
ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 ให้นิยาม ‘การลงโทษ’ ไว้ว่า “การลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทำความผิด โดยมีความมุ่งหมายเพื่อการอบรมสั่งสอน มีขอบเขตวิธีลงโทษ ระเบียบกระทรวงฯ กำหนดไว้ 4 สถานด้วยกัน คือ ว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนความประพฤติ และทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับปรุงพฤติกรรม”
ข้อที่เราคิดว่าน่าสนใจ คือ ข้อ 6 ข้อห้ามสำหรับการลงโทษเด็ก คือ ห้ามลงโทษนักเรียนและนักศึกษาด้วยวิธีรุนแรง หรือแบบกลั่นแกล้ง หรือลงโทษด้วยความโกรธ หรือด้วยความพยาบาท โดยให้คำนึงถึงอายุของนักเรียนหรือนักศึกษา และความร้ายแรงของพฤติการณ์ประกอบการลงโทษด้วย การลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาให้เป็นไปเพื่อเจตนาที่จะแก้นิสัยและความประพฤติไม่ดีของนักเรียนหรือนักศึกษาให้สำนึกในความผิด และกลับไปประพฤติตนในทางที่ดีต่อไป
กอล์ฟบอกว่าความท้าทายของเรื่องนี้ คือ การตีความการกระทำ “เวลาเราพูดเรื่อง child abuse หรือ การทารุณกรรมเด็ก มันเกี่ยวโยงกับสังคมมากๆ เลยนะ เพราะแต่ละสังคมก็ให้นิยามคำว่า ‘ทารุณกรรม’ หรือ ‘การละเมิดเด็ก’ ไม่เท่ากัน
“เราชอบนิยามคำว่า ‘ทารุณกรรม’ ของพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก คือ เป็นการกระทำที่ทำให้เด็กเสื่อมเสียเสรีภาพ หรือเกิดอันตรายกับร่างกายและใจ ซึ่งฟังดูมันก็ค่อนข้างความหมายกว้างอยู่เนอะ ปัญหาก็เลยอยู่ตอนตีความ ใครจะเป็นคนตี แล้วตีออกมารูปแบบไหน อย่างเคสครูถ่ายคลิปลงโทษเด็ก ก็ต้องมาถกเถียงว่ามันเป็นการกระทำที่ละเมิดหรือทารุณกรรมเด็กตามกฎหมายไหม”
กอล์ฟเล่าให้ฟังคร่าวๆ ถึงขั้นตอนทางกฎหมายหากเด็กที่ถูกครูลงโทษรุนแรงเกินเหตุ จนกลายเป็นการละเมิดสิทธิเขา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นคนรับผิดชอบเคสแบบนี้ คือ พนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะมีสองแบบ แบบแรก คือ เป็นโดยตำแหน่ง ถ้าใครอยู่ตำแหน่งนั้นคุณจะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่โดยอัตโนมัติ เช่น ผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดกระทรวง เป็นต้น กับอีกแบบ คือ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่โดยผ่านการอบรม อาจขึ้นตรงกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หรือเป็นเจ้าหน้าที่ในองค์กรเอกชน
ตามกฎหมายให้อำนาจและหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ว่า ถ้ามีการกระทำที่เป็นการทารุณกรรม หรือทำให้เด็กอยู่ในอันตราย พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องเข้ามาจัดการ แต่ปัญหาคือพนักงานเจ้าหน้าที่เองจะให้นิยามการกระทำที่เกิดขึ้นว่า เป็นการทารุณกรรมเด็ก หรือเป็นการทำให้เด็กอยู่ในสภาวะอันตรายหรือไม่?
“พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจทางกฎหมาย เช่น สามารถเข้าไปวางเงื่อนไขได้ว่า ครูจะต้องทำอะไรหรือไม่ทำอะไรกับเด็ก แต่ความท้าทายของมันคือ เขาจะตีความการกระทำนั้นอย่างไร
“เราที่เป็นนักสังคมสงเคราะห์ เวลามีเคสและเราต้องการเทคแอคชันอะไร ก็ต้องแจ้งไปพนักงานเจ้าหน้าที่ เพราะเราไม่มีอำนาจทางกฎหมาย เช่น เคสเด็กถูกทารุณกรรม (abuse) จากผู้ปกครอง ตัวเรารู้สึกว่าเด็กจำเป็นต้องถูกแยกออกมา อำนาจที่จะสั่งแยกเด็กกับผู้ปกครองได้ก็ต้องเป็นของพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น เขาสามารถออกคำสั่งแล้วไม่ถูกฟ้องจากพ่อแม่เรื่องสิทธิการปกครอง”
ปัญหาเรื่องการตีความการกระทำไม่ได้มีเฉพาะแค่ที่ไทย แต่กอล์ฟบอกว่าเป็นกันทั่วโลก เพราะมันขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของแต่ละสังคม ไม่สามารถมองได้แค่เฉพาะตัวการกระทำ เช่น ที่ประเทศนอร์เวย์ มีกฎหมายห้ามผู้ปกครองตีเด็ก เขาตั้งคำถามกลับว่าถ้าพ่อแม่เป็นผู้อพยพละ? ที่เขาตีลูกเนื่องด้วยวัฒนธรรมของเขา หรือถ้าเป็นการตีแบบ good intention (เจตนาดี) ถามว่าแบบนี้ถือเป็นการกระทำผิดไหม? ถ้ายึดตามกฎหมาย คือ ผิด แต่เราก็ไม่สามารถละเลยเจตนาหรือละเลยเรื่องของข้อจำกัดในการเลี้ยงลูกไปได้จริงๆ
“ครูที่ทำไปแบบนั้น เขาอาจมีเจตนาเพื่อปรับปรุงความประพฤติของเด็กจริงๆ แต่พูดถึงการดำเนินคดีปุ๊บ มันสมควรแล้วไหม? หรือการที่ครูได้รับการทัวร์ลง คนคอมเมนต์ต่อว่าก็โอเคแล้ว ให้เขาค่อยๆ เปลี่ยนมายเซ็ตเรื่องนี้
“เพราะเราว่า social sanction (การลงโทษทางสังคม) ช่วยได้ในระดับหนึ่งนะ หรือจริงๆ อาจไม่ต้องถึงขั้นดำเนินคดีแต่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปทำงานกับครู ทำความเข้าใจว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ครูทำไม่ได้ เราไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการทางกฎหมายที่หมายถึงการฟ้องร้องนู่นนี่นั่นก็ได้ แต่ใช้เครื่องมือที่กฎหมายให้เรามา เช่น การเข้าไปพูดคุย ตั้งบันทึกข้อตกลง การทำความเข้าใจกับครู
“เราว่าเคสแบบนี้ไม่ต้องถึงขั้นจับครูติดคุกหรอก คือ เรากำลังมองการกระทำของครูในแง่ที่เขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่อาจมีข้อจำกัดในการรับรู้บางเรื่องเหมือนกัน เขาเองก็ต้องได้รับโอกาสในการ ‘ถูกอธิบาย’ (เน้นเสียง) หลักการบางอย่าง เพราะตัวครูอาจโตมาด้วยคอนเซปต์แบบนั้น (ลงโทษเพื่อปรับปรุงพฤติกรรม)
“การเพิ่มคอนเซปต์ใหม่เข้าไปในชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง ต้องให้เวลาในการเปลี่ยนโปรแกรมใหม่นิดหนึ่ง เพราะสำหรับเราบางครั้งกฎหมายอย่างเดียวอาจไม่ช่วยให้มนุษย์เปลี่ยน”
ถ่ายรูปเด็กควรหรือไม่ควรโพสต์ลงโซเชียล?
การถ่ายรูปเด็กโพสต์ลงโซเชียลมีเดียเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันตลอดว่า ควรหรือไม่ควร สำหรับกอล์ฟมองว่า ขึ้นอยู่กับความต้องการของเด็ก เพราะยังมีเด็กที่ชอบถ่ายรูป แชร์รูปตัวเอง และเด็กที่ไม่ชอบ สิ่งสำคัญ คือ ในฐานะผู้ใหญ่ควรคำนึงตลอดว่า รูปถ่ายหรือคลิปที่เราอัดและลงวันนี้ มันจะถูกเผยแพร่ไปที่ไหนได้บ้าง หรือถ้าลงไปแล้วมันจะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กคนนี้ที่โตไปเป็นผู้ใหญ่รู้สึกไม่แฮปปี้กับการที่มีคลิปนี้อยู่ในโลกอินเตอร์เน็ตตลอดไปไหม เพราะหน้าที่หนึ่งของผู้ใหญ่ คือ เราต้องปกป้องเด็กจาก discomfort (ความอึดอัด) ในอนาคตให้เขาด้วย
“สิ่งที่สำคัญมากๆ คือ แม้แต่ในกรณีที่เราจะลงรูปเด็กและได้รับความยินยอมจากเขา เราก็ต้องอธิบายเขาเสมอว่าเราจะนำรูปเขาไปลงที่ไหน ใครที่จะมีโอกาสเห็นบ้าง เพื่อที่จะให้เขาสามารถตัดสินใจได้ด้วยข้อมูล มิใช่แค่ความเกรงใจที่เขามีต่อเรา เราว่านี่คือการคืนกลับพลังอำนาจให้เขาในฐานะเจ้าของร่างกายตัวเองที่สามารถเซเยส หรือเซโนกับเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาได้”
แม้ประเทศไทยจะไม่มีกฎหมายที่พูดเรื่อง digital footprint โดยตรง แต่ในมุมกอล์ฟไม่อยากให้มองว่าต้องมีกฎหมายแล้วถึงจะต้องปฎิบัติตาม เพราะเราไม่จำเป็นต้องสวมแว่นกฎหมายแล้วถึงเข้าใจเรื่องนี้ เพราะมันคือแว่นวัฒนธรรมที่ทุกคนควรเข้าใจเรื่องสิทธิเด็ก อย่ามองว่า ‘มันก็เรื่องเล่นๆ น่ะ นิดเดียวเอง’
“สำหรับเรา ถ้าไม่ใช่เด็กที่เป็นญาติพี่น้อง เราไม่ลงรูปเด็ดขาด เพราะว่าเราคือใคร? มีสิทธิอะไรไปลงรูปเขา แล้วในฐานะครูเป็นคนที่ทำงานกับเด็ก อาจจะยังไม่ขอพ่อแม่เขาด้วยซ้ำแล้วมาถ่ายลงแบบนี้เราว่าไม่โอเค
“ตอนอยู่นอร์เวย์เราเคยถ่ายรูปเด็กในสวนสาธารณะ ถ่ายห่างๆ ด้วยนะ พ่อแม่เขาเห็นปุ๊บเดินมาเราเลย ถามว่าถ่ายรูปลูกเขาทำไม ช่วยลบได้ไหม? ตอนแรกเรารู้สึกเสียเซลฟ์มากนะ พอมาคิดๆ ดูก็แบบ เออ… แล้วเราเป็นใครไปถ่ายรูปลูกเขาทำไม? ขนาดพ่อแม่เขายังเคารพสิทธิลูกเขาเลย ตอนแรกเราก็เกือบตอกกลับไปแบบอิพี่ไทย ‘ทำแหม่ะ?’ แต่เอ๊ะ…กลับมาก่อน (หัวเราะ)”
เด็กไทยวันนี้ คือ คนที่รู้จักสิทธิตัวเองดีที่สุด และสอนผู้ใหญ่ด้วยว่า ‘สิทธิคืออะไร’
หลังจากคุยกับกอล์ฟไปสักพักสิ่งที่ผุดขึ้นมาในหัวเราตลอดเวลา คือ ทำไมสังคมนี้ถึงไม่พยายามทำให้เด็กรู้เรื่องสิทธิตัวเอง ทำไมต้องมารู้เมื่อโตแล้ว เราตั้งคำถามกับกอล์ฟว่า หรือการที่ผู้ใหญ่ไม่อยากให้สิทธิเด็กมาก เพราะกลัวว่าสิทธิตัวเองจะน้อยลง ส่งผลเรื่องการปกครองเด็กไหม? กอล์ฟถามเรากลับว่า “ถ้าให้สิทธิเด็กเยอะแล้วสิทธิผู้ใหญ่จะน้อยลง คำถามเรา คือ แล้วเรากลัวอะไรกับการที่ผู้ใหญ่จะมีสิทธิน้อยลงในการควบคุมกำกับเด็ก น่าสนใจนะว่าทำไมคนส่วนใหญ่ถึงมองว่า ถ้าเด็กมีสิทธิมากกว่าแล้วมันจะเป็นปัญหา แสดงว่าเรายังไม่ได้มองว่าเด็กมีศักยภาพในการคิดและตัดสินใจเอง”
มายเซ็ตแบบนี้ยิ่งตอกย้ำว่า การที่ผู้ใหญ่มีสิทธิเหนือกว่าเด็กเป็นเรื่องชอบธรรม ถ้าจะมองในมุมที่ผู้ใหญ่มีประสบการณ์มากกว่า มีวุฒิภาวะมากกว่าเด็ก ก็ถือเป็นข้อเท็จจริง แต่อย่าลืมว่าเด็กเองก็มีศักยภาพในการคิด ตัดสินใจ และบอกความต้องการของตัวเอง ยิ่งในโลกปัจจุบัน มีหลายพื้นที่ทางสังคม หลายพื้นที่ทางความรู้ที่ผู้ใหญ่เองอาจไม่รู้จักเลย แต่เด็กกลับเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์มากกว่า
ในฐานะคนที่ทำงานกับเด็ก หน้าที่ของกอล์ฟ คือ ต้องช่วยดึงศักยภาพของพวกเขาออกมา ช่วยซับพอร์ตการเติบโตของเด็ก ในหลายครั้ง เราเองกลับเป็นคนที่ได้เติบโตไปด้วยผ่านประสบการณ์และความรู้ของเขา เขาบอกว่าถ้าผู้ใหญ่มีมายเซ็ตว่า ‘เด็กคิดเองไม่ได้หรอก’ จบเลย เป็นการปิดประตูตัดโอกาสเด็กในการใช้และพัฒนาศักยภาพตัวเอง สิ่งที่เราควรสนใจคือ ‘เด็กคิดอย่างไรกับเรื่องนี้นะ’ ซึ่งจะช่วยเปิดประตูทั้งเราและเขาให้ได้เรียนรู้โลกของกันและกันมากขึ้น
“เป็นเรื่องการถูกปลูกฝังของเราด้วยแหละว่า เด็กคือเด็ก เด็กคิดไม่ได้ ก็ต้องมารื้อระบบใหม่ ทั้งกฎหมายด้วย หรือทางปฏิบัติ เพราะตอนนี้บริบทเด็กบ้านเรามันเปลี่ยนไปแล้ว ความเป็นเด็กหรือการรับรู้ความเป็นเด็กมันต่างกันแล้วนะ สมัยตอนเราเป็นเด็กมันยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ทำให้เรา ณ วันนั้นยังไม่เข้าถึงชุดความรู้ขนาดนี้ แต่เดี๋ยวนี้มันเป็นอีกแบบหนึ่ง หลายอย่างเด็กรู้เยอะกว่าเราที่เป็นผู้ใหญ่ด้วยซ้ำไป ทุกวันนี้เด็กเขาไปไกลกว่าเราแล้ว ดังนั้นก็ต้องมาคิดกันใหม่เหมือนกันว่า บ้านเราเด็กอายุเท่าไรถึง have a say ได้ อายุเท่าไรเขาจึงตัดสินใจในเรื่องที่กระทบกับชีวิตเขาได้ เราว่าต้องมานั่งคุยกันใหม่
“พอยท์ที่สำคัญ คือ เราที่เป็นคนทำงานเทรนด์เรื่องสิทธิให้เด็ก แต่ทุกวันนี้เราคุยกันกับพี่ๆ ในวงการว่า เราไม่ต้องขอเงินทุนมาทำโครงการให้เด็กเรียนรู้เรื่องสิทธิเด็กแล้ว เพราะกลายเป็นว่าระบอบวัฒนธรรมการเมืองที่บีบคั้น ทำให้เขาเรียนรู้เรื่องและเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องมีผู้ใหญ่แบบเราไปนั่งบอกว่า เธอมีสิทธิอะไร” กอล์ฟทิ้งท้าย