- หนังสือ เขียนให้รู้ว่ารัก (Napkin Notes) เขียนโดย การ์ท แคลลาแฮน แปลเป็นภาษาไทยโดย พาสินี (สำนักพิมพ์ นานมีบุ๊คส์) บอกเล่าเรื่องราวสุดประทับใจระหว่างผู้เขียนที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งกับ เอมมา ลูกสาวสุดที่รักคนเดียวของเขา
- การ์ทเขียนหนังสือเล่มนี้ตอนตรวจพบมะเร็งเป็นครั้งที่สี่ หมอบอกว่า 8% คือโอกาสที่เขาจะมีชีวิตได้อีก 5 ปี แต่แทนที่จะนั่งรอวันตาย การ์ทกลับลุกขึ้นสู้กับโรคร้าย เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับเอมมาได้ตระหนักถึงคุณค่าของความพยายามและความล้มเหลวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
- ทุกเช้าการ์ทจะตื่นมาทำอาหารกลางวันให้เธอ ก่อนเขียนข้อความสั้น ๆ ที่สื่อถึงความรักและมุมมองของเขาเกี่ยวกับชีวิตผ่าน ‘กระดาษเช็ดมือ’ ที่แนบไปกับกล่องข้าว เพื่อเป็นกำลังใจให้เอมมาในแต่ละวัน
ว่ากันว่าความตายคือครูที่ดีที่สุด เมื่อใกล้ตาย เราจะตระหนักถึงความชัดเจนของชีวิตราวกับว่าปัญญาที่ปิดไว้ได้เปิดออก จน ‘เรา’ กลายเป็น ‘เรา’ ในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด
นี่คือสิ่งที่ผมเรียนรู้ หลังอ่านบันทึกชีวิตของคุณพ่อชาวอเมริกัน
ตอนนั้น การ์ท แคลลาแฮน อายุ 42 ปี เขามีภรรยาที่เอาใจใส่ และ เอมมา ลูกสาววัย 12 ขวบสุดน่ารัก การงานของเขามั่นคง มีบ้านมีรถในแบบ ‘อเมริกันดรีม’
คืนหนึ่ง การ์ทปัสสาวะเป็นสีเลือด เดิมทีเขาไม่ได้ตระหนกตกใจอะไรนัก แถมยังทึกทักว่า “วันนี้คงออกกำลังกายหักโหมและกินบีตรูตมากไปหน่อย”
โชคร้ายที่การ์ทปัสสาวะเป็นสีเดิมในวันรุ่งขึ้น เขาจึงตัดสินใจไปโรงพยาบาล ก่อนพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งไตระยะแพร่กระจาย เนื้องอกของเขามีขนาด 12 ซม. ซึ่งต้องผ่าออกเท่านั้น แต่นั่นกลับไม่น่าตกใจเท่าบทสรุปที่ว่า
“คุณแคลลาแฮนครับ…คุณกำลังจะตาย”
การ์ทกำลังจะตาย แต่สิ่งที่เขากลัวที่สุดกลับไม่ใช่ความตาย หากเป็นความรู้สึกของ ‘เอมมา’ ที่ต้องกำพร้าพ่อ ส่วนการ์ทเองก็อยากอยู่ดูแลนางฟ้าตัวน้อยจนเธอเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี และคอยให้คำปรึกษายามเธอต้องการ
ลูกสาว
“เอมมาลูกรัก, เวลาที่พ่ออยากได้ปาฏิหาริย์ แค่มองดูนัยน์ตาลูก พ่อก็รู้แล้วว่าพ่อได้สร้างปาฏิหาริย์ไว้แล้ว รัก, พ่อ”
แม้จะรับหน้าที่หาเงินและปล่อยให้ภรรยาเลี้ยงลูกเต็มเวลา แต่การ์ทก็พยายามมีส่วนร่วมกับภรรยาเสมอ โดยเฉพาะการอาสาตื่นเช้ามาทำอาหารกลางวันให้กับเอมมา ตั้งแต่เธออยู่ชั้นประถม
“ผมจะสับ หั่น คลุกเคล้าส่วนผสมเข้าด้วยกัน ทำเสร็จก็จัดใส่ห่อ พยายามหาของโปรดของเอมมาใส่ลงไปในถุงด้วย อย่างเช่นคุกกี้หรือพุดดิงสักถ้วย ให้มีบางอย่างที่ทำให้เธอมีรอยยิ้ม”
วันหนึ่งการ์ทเกิดไอเดียบางอย่าง ก่อนหยิบกระดาษเช็ดมือมาเขียนโน้ตสั้นๆ แทน ‘ความรักความห่วงใย’ และแนบกระดาษแผ่นนั้นเนียนๆ ไปกับกล่องอาหารกลางวัน
“รักลูกนะ ขอให้วันนี้มีแต่เรื่องยอดเยี่ยม เป็นเพื่อนที่ดีของใครสักคน”
นับแต่นั้น โน้ตกระดาษจึงกลายเป็นธรรมเนียมระหว่างสองพ่อลูก หากวันไหนการ์ทไม่ได้เขียน เอมมาจะมาทวงกระดาษเช็ดมือของเธอ “แล้วโน้ตล่ะคะ”
“เอมมาลูกรัก, สัปดาห์นี้เรามีแต่เรื่องวุ่นวาย อย่าลืมมีสุดสัปดาห์ที่ยอดเยี่ยมด้วยกันนะ!! รัก, พ่อ”
“เอมมาลูกรัก, ในชีวิตนี้ ที่ที่ลูกจะไป ยังมีความหมายน้อยกว่าคนที่จะอยู่เคียงข้างลูก และวิธีที่ลูกจะสร้างความแตกต่างให้กับโลก รัก, พ่อ”
“เอมมาลูกรัก, ไม่เป็นไรถ้าลูกจะต้องขอให้ใครช่วยในเวลาจำเป็น จริงๆ นะ ลูกบอกพ่อได้ พ่ออยู่ตรงนี้เสมอ รัก, พ่อ”
มะเร็ง
“การเริ่มต้นของสิ่งใหม่ ๆ มักแฝงตัวมาในรูปแบบของจุดจบอันเจ็บปวด – – เล่าจื๊อ”
ปัญหาของคุณพ่อชาวเวอร์จิเนียคือไม่รู้ว่าจะบอก ‘ข่าวร้าย’ ยังไงให้ลูก ‘สบายใจ’ ที่สุด แถมตลกร้ายคือหลังผ่าตัดชิ้นเนื้อครั้งแรกสำเร็จ ยมทูตก็ยังยิงกระสุนมะเร็งใส่เขาอีกสามครั้ง จนเขาเริ่ม ‘เสียศูนย์’ แต่หากปล่อยไว้แบบนี้ การ์ทรู้ดีว่ามะเร็งไม่เพียงแต่จะพรากชีวิตเขา แต่จะลามไปทำร้ายภรรยาและลูกอีกด้วย
“ดังนั้น มะเร็งจึงเป็นเสียงที่ปลุกให้ผมตื่นขึ้น ทำให้ผมเอาใจใส่จดจ่อกับเรื่องสำคัญ”
การ์ทยอมรับว่าเขาใจสลายที่ต้องนั่งข้างเอมมาบนเตียงถึงสี่ครั้ง เพื่อบอกเธอว่าเขาเป็นมะเร็ง
ครั้งที่ 1 (มะเร็งไต) : “ผมทำใจให้รู้สึกกลัวน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่งลงคุยกับเอมมา ค่อยๆ พูดเรื่องความเจ็บป่วยของผม มันอาจเป็นมะเร็งก็ได้ พ่อต้องเข้ารับการผ่าตัด ถ้าทุกอย่างราบรื่นดี เพียงแต่ผ่าตัดเอามันออกแล้วก็หมดเรื่อง”
หลังการผ่าตัดครั้งแรกผ่านไปด้วยดี เอมมาก็เริ่มเก็บโน้ตกระดาษของเขาในสมุดสะสม “ไม่มีอะไรค่ะ จะได้จำได้ไงคะ”
ครั้งที่ 2 (มะเร็งต่อมลูกหมาก) : “คืนนั้นผมนั่งลงข้างเอมมา ผมไม่ค่อยอยากพูดถึงเรื่องต่อมลูกหมากให้ลูกสาวอายุสิบสามฟังเลย ผมเครียดจนทำแผนพัง พ่อเป็นมะเร็งอีกแล้ว เอมมาเป็นเด็กฉลาด พอได้ยินคำว่า มะเร็ง ก็คิดล่วงหน้าไปไกล เอมมาเริ่มร้องไห้ ผมกอดเธอแน่น ผมยังต้องเรียนรู้อีกมากที่จะหาวิธีพูดกับลูกเรื่องนี้”
ครั้งที่ 3 (มะเร็งที่ต่อมหมวกไต) : “ผมอธิบายกับลูกว่าโรคมะเร็งอาจผลุบๆ โผล่ๆ เป็นบางครั้ง เหมือนเกมตีตัวตุ่นที่โผล่จากรู ที่เราต้องทำก็แค่คอยทุบมันกลับลงไป”
รอบนี้เอมมาชะงักและพูดขึ้นว่า “แต่เราเอาชนะตัวตุ่นไม่ได้นี่คะ ส่วนพ่อจะชนะมะเร็งต่างหาก”
ครั้งที่ 4 (มะเร็งไตอีกครั้ง) : การรักษาของการ์ทในช่วงนี้จะเน้นไปที่การกินยารักษา (ตลอดชีวิต) แต่นั่นก็แลกมากับผลข้างเคียงสุดทรมาน
ท้องร่วง/อ่อนเพลีย/เบื่ออาหาร/คลื่นไส้อาเจียน/สูญเสียการรับรส/ปวดช่องท้องด้านขวา/สีผมขาวโพลน/ความดันโลหิตสูง/ต่อมไทรอยด์มีปัญหา
หลังตรวจพบมะเร็งครั้งที่สี่ เอมมาได้มีบทบาทดูแลการ์ทมากขึ้น อย่างน้อยก็คอยห่มผ้าและหาน้ำให้เขาดื่ม ทั้งยังลองเขียนโน้ตกระดาษและซ่อนมันในกล่องอาหารกลางวันของการ์ท
“ลูกธนูต้องถูกดึงถอยกลับมาก่อนจึงจะยิงออกไปได้ ดังนั้นช่วงชีวิตที่ถดถอยจึงหมายถึงชีวิตกำลังจะพาคุณไปพบสิ่งที่ยอดเยี่ยม”
การ์ทสัญญากับตัวเองว่าจะเขียนโน้ตบนกระดาษเช็ดมือให้ครบ 826 แผ่น เพื่อให้เอมมาได้รับ ‘จดหมายน้อย’ ทุกวันกระทั่งจบมัธยมปลาย
“โฮมรันของเมื่อวาน ไม่ได้ทำให้ชนะเกมของวันนี้ –เบบ รูท”
“เอมมาลูกรัก, ลูกจะชนะไม่ได้ถ้าลูกไม่ได้เล่น”
“อย่าสวดขอพรให้มีชีวิตที่สะดวกสบาย จงขอให้มีความเข้มแข็งเพื่อยืนหยัดผ่านพ้นอุปสรรคของชีวิต –บรูซ ลี”
นอกจากนี้เขายังได้เขียนบันทึกก่อนตายที่ไม่ใช่การบอกลา แต่เป็นบทเรียนชีวิตที่เขาต้องการแชร์ให้เอมมารู้และเข้าใจ ซึ่งตัวอย่างที่ผมชอบมากคือเรื่องวางโทรศัพท์ลง
“พ่อรู้ว่าโทรศัพท์เป็นอุปกรณ์ของยุคนี้ แต่มันเป็นสิ่งของ ถูกต้องที่สิ่งของนี้เชื่อมโยงลูกกับเพื่อน ๆ และคนที่ลูกรัก แต่ลูกไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกัน “ทั้งวันทั้งคืน” ลูกควรเป็นตัวของตัวเอง พักเสียบ้าง มีเวลาอยู่กับความคิดของตัวเองบ้าง เวลาอยู่กับผู้อื่น ลูกต้องอยู่ที่นั่นอย่างแท้จริง ให้ความสนใจ ฟังสิ่งที่เขาพูด ดังนั้นวางโทรศัพท์ลง ถ้าลูกไปดูหนังและเอาโทรศัพท์เก็บใส่กระเป๋าสองสามชั่วโมงได้ ลูกก็ควรมีมารยาทแบบเดียวกันในตอนที่นั่งกินอาหารเย็นกับครอบครัวนะ”
บทสรุป
หลังการต่อสู้ที่ยืดเยื้อ ในบทสุดท้าย ผมถึงกับหลั่งน้ำตาให้กับการ์ท ไม่ใช่เพราะหนังสือจบลงด้วยความตาย แต่จบด้วยกิจวัตรประจำวันง่ายๆ ที่เขายังคงตื่นเช้ามาทำอาหารกลางวันและเขียนโน้ตกระดาษเพิ่มเป็นสองแผ่น
“อย่าลืมเป็นคนที่ ‘ยอดเยี่ยม!’ อย่าลืมว่าเราคือเด็กมหัศจรรย์คนหนึ่งเช่นกัน น่าภูมิใจจริง ๆ
“ทำสิ่งที่ทำให้เรายอดเยี่ยมอีก! รักนะ!”
ใช่ครับ! การ์ทมีหลานตัวน้อยสองคน (แถมคนละเพศซะด้วย) ซึ่งเขาให้สัมภาษณ์กับสื่อภายหลังว่า “เป้าหมายของผมจากนี้คือตั้งใจมีชีวิตอยู่ เพื่อเขียนโน้ตให้หลานๆ ของผม ซึ่งผมคิดว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่จะดีไปกว่านี้อีกแล้ว”