- Monster เป็นภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ ผู้กำกับระดับปรมาจารย์ที่คว้ารางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีล่าสุด
- ภาพยนตร์นำเสนอเรื่องราวของมินาโตะ นักเรียนชั้นป.5 ที่มีร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกาย ทั้งยังมีท่าทางที่เศร้าผิดปกติ แม่จึงบุกไปที่โรงเรียนเพื่อสืบหาความจริง แต่เมื่อเรื่องราวถูกตีแผ่ผ่านมุมมองของแม่ ครู และมินาโตะ ความจริงก็ค่อยๆ ปรากฏออกมา
- สำหรับแฟนๆ ของโคเรเอดะ นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 28 ปีที่เขากลับมาทำภาพยนตร์ที่ไม่ได้เขียนบทเอง โดยได้ยูจิ ซากาโมโตะ นักเขียนบทระดับตำนานที่เขาชื่นชอบมารับหน้าที่นี้
[บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์]
ไม่กี่วันก่อน ผมมีโอกาสไปชมภาพยนตร์เรื่อง Monster
ของฮิโรคาสุ โคเรเอดะ ผู้กำกับระดับปรมาจารย์ชาวญี่ปุ่น (Like Father Like Son , Shoplifters)
Monster บอกเล่าเรื่องราวของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่สังเกตเห็นความผิดปกติของ ‘มินาโตะ’ ลูกชายที่ดูไม่ร่าเริงแจ่มใส แถมยังมีร่องรอยของการถูกทำร้ายร่างกาย เธอจึงสอบถามลูกและพบว่าครูประจำชั้นมีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้เธอตัดสินใจไปที่โรงเรียนเพื่อสืบหาความจริง ซึ่งเสน่ห์อย่างหนึ่งของ Monster คือการเล่าเรื่องเดียวกันให้กลายเป็น ‘คนละเรื่องเดียวกัน’ ผ่านมุมมองของแม่ ครูประจำชั้น และมินาโตะ เพื่อให้ผู้ชมตัดสินว่าแท้จริงแล้วใครกันแน่ที่เป็นสัตว์ประหลาด
ตอนแรก ผมคิดว่าอาจไม่เขียนถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะผมมองว่า Monster เป็นเพียงภาพยนตร์LGBTQ+ ที่มุ่งเสนอความสับสนภายในจิตใจของเด็กป.5 อย่างมินาโตะ ที่สร้างเรื่องโกหกเพื่อปิดบังเพศวิถีของตัวเอง ดังนั้นถ้ามินาโตะพูดความจริงตั้งแต่แรกก็คงไม่มีปัญหาอื่นตามมา
แต่เมื่อผมตื่นขึ้นในเช้าวันถัดมา พร้อมกับทบทวนเรื่องราวในภาพยนตร์อีกครั้ง ผมกลับนึกถึงตัวเองตอนเด็ก ในวันที่ผมมีปัญหาชกต่อยกับเพื่อนที่ดีที่สุดคนหนึ่งในวัยประถมของผม เพียงเพราะเขาเป็นเด็กเนิร์ดที่มักถูกเพื่อนๆ รุมแกล้ง และด้วยความขี้ขลาดของผม แทนที่จะออกตัวปกป้อง ผมกลับทำเป็นมองไม่เห็นสิ่งที่เกิดขึ้น กระทั่งวันหนึ่งที่ใครสักคนในกลุ่มนั้นรู้ว่าผมสนิทกับเพื่อนคนนี้ ผมจึงถูกบังคับให้แกล้งเพื่อนไปด้วย และแม้เหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นตอนผมอายุ 9 ขวบ แต่จนถึงวันนี้ความรู้สึกผิดก็ไม่เคยหายไปไหน แม้ว่าผมจะมีโอกาสขอโทษเพื่อนคนนี้แล้วก็ตาม
และเมื่อย้อนทบทวนภาพยนตร์นี้อีกครั้งในสายตาของเด็ก มันทำให้ผมเข้าใจว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่มินาโตะในวัย 11 ปีจะสามารถยืนยันความเป็นตัวเองต่อหน้าคนอื่นๆ รวมถึงหากมินาโตะพูดความจริงออกไปก็เชื่อเหลือเกินว่าแม่กับเพื่อนคงจะผิดหวังและอาจไม่ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น
สิ่งแรกที่ผมอยากพูดถึงคือเรื่องราวระหว่างมินาโตะกับแม่เลี้ยงเดี่ยวของเขา มินาโตะรู้ดีว่าแม่ทุ่มเทเพื่อเขามากแค่ไหน ทำให้เขารักและประทับใจในตัวแม่มากถึงขั้นเขียนเรียงความเรื่องความฝันสมัยป.1 ว่าความฝันในอนาคตคือการได้เป็น ‘แม่เลี้ยงเดี่ยว’ ที่ดีเหมือนกับแม่ของเขา ซึ่งแม้จะฟังดูแปลกๆ สำหรับเพื่อนๆ ในห้อง แต่มันก็สร้างความประทับใจให้กับแม่และครูที่โรงเรียนเป็นอย่างมาก
นอกจากความรักความทุ่มเท แม่ยังเล่าให้มินาโตะฟังว่าเธอเคยให้สัญญากับพ่อว่าจะดูแลมินาโตะกว่ามินาโตะจะแต่งงานมีครอบครัว
ด้วยเหตุนี้ มินาโตะจึงรู้สึกผิดต่อแม่ที่เขาไม่อาจสานฝันของเธอให้เป็นจริง เพราะเขาไม่ได้ชอบผู้หญิง ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เขาไม่กล้าบอกความจริงกับแม่เพราะกลัวว่าแม่จะผิดหวังและไม่ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น หรือต่อให้มินาโตะกล้ายอมรับว่าเขาชอบเพื่อนที่เป็นเด็กผู้ชาย ผมเองก็ไม่มั่นใจว่าแม่ของเขาจะรับได้ ดังนั้นในฉากสำคัญของเรื่อง มินาโตะจึงต้องโกหกเอาตัวรอดโดยไม่คาดการณ์ถึงผลกระทบระยะยาวที่เกิดขึ้นจากการโกหกนั้น
ประเด็นถัดมาคือเรื่องน่าหนักใจของมินาโตะยามต้องไปโรงเรียน ซึ่งเขาต้องฝืนใจทำเป็นไม่รู้สึกรู้สาอะไรในเวลาที่ ‘โยริ’ เพื่อนร่วมห้องถูกแก๊งเพื่อนจอมเกเรรังแก เพราะหากมินาโตะแสดงออกว่าตัวเขานั้นมีใจชอบพอกับโยริหรือออกตัวปกป้อง เขาก็กังวลและกลัวเหลือเกินว่าตัวเองจะไม่เป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆ และอาจติดร่างแหไปด้วย ทำให้ในใจของมินาโตะสับสนและยากจะแสดงความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง แต่ที่น่าเจ็บใจที่สุดคือมินาโตะมักต้องจำใจเป็นส่วนหนึ่งของการทำร้ายโยริเพื่อให้เพื่อนๆ พอใจ
สำหรับประเด็นนี้ บางคนอาจมองเป็นเพียงเรื่องเล็กมากๆ ในสายตาผู้ใหญ่ แต่ในความคิดของเด็กอายุไม่ถึง 12 ปี ผมมองว่านี่คือปัญหาใหญ่มากที่มินาโตะต้องเผชิญ เพราะมินาโตะกับโยริรักกันมาก แต่ต่างฝ่ายต่างต้องทำตัวราวกับคนไม่รู้จักกันเพียงเพราะค่านิยมของสังคม และค่อนข้างเห็นใจมินาโตะที่ต้องฝืนใจทำร้ายโยริ เพราะแม้โยริจะเข้าใจและไม่ถือสา แต่สายตาของผู้กระทำอย่างมินาโตะกลับเต็มไปด้วยความแหลกสลาย
มาถึงตรงนี้ คำถามที่ผู้อ่านหลายท่านหรือแม้แต่ตัวผมเองอาจอยากต้องการคำตอบคือ แล้ววิธีแก้ปัญหาควรเป็นอย่างไร ซึ่งส่วนตัวผมมองว่าต้องเริ่มต้นที่ครอบครัว
เพราะหากความสัมพันธ์ในครอบครัวดี ผมเชื่อว่าเด็กมีแนวโน้มที่จะเล่าถึงปัญหาของตัวเองให้กับผู้ปกครองฟัง กลับกันหากผู้ปกครองตั้งความหวังอย่างใดอย่างหนึ่งกับเด็กมากเกินไป แล้วเด็กไม่อาจตอบสนองความต้องการหรือแบกรับความหวังอันยิ่งใหญ่นั้น ย่อมเป็นธรรมดาที่เด็กจะเครียดและกังวลจนไม่กล้าเล่าปัญหาให้ผู้ปกครองฟัง
หรือหากถูกจี้ถาม คำตอบที่ได้รับจากเด็กก็มีแนวโน้มว่าจะได้คำโกหกที่สมจริงมากกว่าความจริงอันโหดร้าย
ผมเคยอ่านงานวิจัยของวารสาร Basic and Applied Psycology ฉบับหนึ่งที่บอกว่าหากตัวตนในอุดมคติของเด็กวัยรุ่นขัดแย้งกับค่านิยมของสังคม การโกหกจะถูกนำมาใช้เป็นกลไกในการปกป้องภาพลักษณ์นั้น
“เราพบว่าทันทีที่ผู้คนรู้สึกว่าความภาคภูมิใจในตนเองถูกคุกคาม พวกเขาก็จะเริ่มโกหกในระดับที่สูงขึ้นทันที” นักจิตวิทยาคนหนึ่งกล่าว
อาจสรุปได้ว่าในกรณีของมินาโตะที่พูดความจริงไม่ได้ ไม่ใช่เพราะอยากโกหก แต่เพราะมินาโตะต้องการความรักและการยอมรับจากคนรอบข้าง ดังนั้นถ้าพูดความจริงไปแล้ว แม่รับไม่ได้ ส่วนเพื่อนก็มารุมบูลลี่แบบเดียวกับที่โยริเผชิญ สำหรับเด็กคนหนึ่งนั่นไม่ต่างอะไรกับฝันร้ายที่ทำให้เขารู้สึกว่าชีวิตตัวเองไร้ค่า ผลสุดท้ายมินาโตะจึงเลือกที่จะแคร์สายตาของสังคมมากว่าความรู้สึกของตัวเอง