- การขี่ม้าเป็นกีฬาที่ไม่เพียงเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย พัฒนากล้ามเนื้อและฝึกการเคลื่อนไหว ยังช่วยทำให้เด็กมีสมาธิมากขึ้น พัฒนาทักษะด้านการคิด การวางแผน
- Charan 92 Horse Riding เป็นสนามฝึกสอนขี่ม้าที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ เปิดสอนการขี่ม้าเบื้องต้น และ ‘อาชาบำบัด’ สำหรับเด็กที่ต้องการแก้ปัญหาหรือเสริมสร้างพัฒนาการในด้านต่างๆ
- “การใช้สัตว์เป็นสื่อกลางจะทำให้เด็กเปิดใจได้มากกว่า เขาจะเล่นได้โดยไม่ต้องคิดอะไรมาก ขอแค่เขาไม่ได้กลัวสัตว์ ทุกอย่างก็จะโอเคกับเขา”
การขี่ม้านอกจากจะเป็นกีฬาหรือสันทนาการแล้ว ยังสามารถออกแบบให้เป็นกิจกรรมเสริมสร้างพัฒนาการ รวมถึงแก้ไขข้อจำกัดด้านการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้ แต่หลายคนอาจจะติดตรงที่ว่า แล้วในกรุงเทพฯ จะไปหาสนามขี่ม้าแบบนี้ได้ที่ไหน
The Potential ชวนทุกคนปักหมุดที่ Charan 92 Horse Riding ซอยจรัญสนิทวงศ์ 92 แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ สนามฝึกสอนการขี่ม้าที่เปิดมากว่า 14 ปี โดยมี ปฏิการ มุขตารี เป็นผู้จัดการ ซึ่งต่อมาเขาได้ไปอบรมเกี่ยวกับศาสตร์ที่ชื่อว่า ‘อาชาบำบัด’ ที่ Horseshoe Point สนามขี่ม้าที่มีหลักสูตรอาชาบำบัดโดยครูฝึกจากประเทศอังกฤษและเยอรมนี ที่จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นทางเลือกให้เด็กที่ต้องการเยียวยาร่างกายและจิตใจด้วยการขี่ม้า รวมถึงฝึกโค้ชเพื่อให้พร้อมในการดูแลเด็กๆ ให้ได้รับความปลอดภัย และออกแบบกิจกรรมเพื่อตอบโจทย์ปัญหาของเด็กแต่ละคน
อาชาบำบัดคืออะไร?
น.สพ.ณัฐวุฒิ นุชประยูร สัตวแพทย์ที่ปรึกษาฟาร์มอธิบายว่า อาชาบำบัดคือการใช้ม้าเพื่อบำบัดเด็กทั้งที่มีความต้องการพิเศษและเด็กที่ไม่มีความต้องการพิเศษ โดยจะแบ่งเป็นพัฒนาการด้านร่างกาย และด้านจิตใจเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจ ปรับอารมณ์ สนับสนุนด้านการสื่อสารให้เด็ก โดยใช้พื้นฐานของกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัดมาใช้ร่วมกันโดยที่มีม้าเป็นสื่อกลาง
“ที่ต้องเป็นม้า เพราะม้าขี่ได้ ปกติแล้วจะมีสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่ใช้บำบัดได้ เช่น ควายบำบัด, ช้างบำบัด ก็มี แต่การที่เด็กได้ขี่บนหลังม้า บริเวณสะโพกของเขาจะเคลื่อนที่เหมือนเด็กเดินได้ด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นการที่เด็กนั่งบนหลังม้าแล้วสะโพกเขาเคลื่อนที่มันสอดคล้องกัน โดยเฉพาะกับเด็กที่เดินไม่ได้ ก็จะช่วยตรงนี้ได้มากกว่า”
ถึงจะบอกว่าดีต่อเด็กที่เดินเองไม่ได้ แต่อาชาบำบัดยังเหมาะสำหรับเด็กอีกหลายกลุ่มเช่นกัน ยกตัวอย่าง เด็กออทิสติก, ดาวน์ซินโดรม, สมาธิสั้น, โรคสมองพิการ (cerebral palsy) เป็นต้น นอกจากนี้คุณหมอบอกว่ายังเหมาะกับเด็กทั่วไปที่ขาดความมั่นใจ หรือมีปัญหาด้านสภาพจิตใจด้วย
“การใช้สัตว์เป็นสื่อกลางจะทำให้เด็กเปิดใจได้มากกว่า เขาจะเล่นได้โดยไม่ต้องคิดอะไรมาก ขอแค่เขาไม่ได้กลัวสัตว์ ทุกอย่างก็จะโอเคกับเขา เหมือนเวลาเราเล่นกับสุนัข เล่นกับแมว เราก็เล่นได้อย่างสนิทใจ”
ข้อจำกัดของอาชาบำบัด
แม้ว่าจะมีข้อดีในการเสริมสร้างพัฒนาการในหลายด้าน แต่อาชาบำบัดก็มีข้อจำกัดที่ น.สพ.ณัฐวุฒิ เน้นย้ำคือ ไม่ควรจัดกิจกรรมนี้กับเด็กที่ ‘กลัวสัตว์’ และเด็กที่มีปัญหาทางด้านร่างกายบางอย่าง ซึ่งเป็นข้อควรระวังที่ผู้ปกครองต้องรู้
“สำหรับเด็กที่กลัวสัตว์มากๆ เราต้องดูว่าเขาเข้าหาสัตว์ได้มากน้อยแค่ไหน เช่นต้องเว้นระยะห่างก่อนไหมแล้วค่อยขยับเข้ามา จากดูก่อนแล้วมาเล่นใกล้ๆ แล้วมาขี่ หรือไม่ได้เลยก็จะแนะนำให้เขาทำอย่างอื่นดีกว่า
หรืออย่างบางกรณี เช่น เขามีปัญหาเรื่องกระดูกหัก เคยผ่าตัดมาก่อน มีสมองบวมน้ำ มีอาการชักที่คุมด้วยยาไม่ได้ กลุ่มประมาณนี้เราก็จะไม่แนะนำให้เข้ามาใช้อาชาบำบัด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็จะให้ผู้ปกครองคุยกับแพทย์ประจำตัวของเด็กมาก่อนว่ามีข้อแนะนำหรือข้อระวังอะไรเป็นพิเศษไหม”
ด้วยข้อจำกัดของอาชาบำบัดทำให้ในการเปิดรับเด็กที่จะเข้าคอร์สต้องมีเงื่อนไขการซักถามผู้ปกครองถึงปัญหาที่เด็กแต่ละคนเป็น ไปจนถึงความต้องการที่อยากได้รับจากคอร์สอาชาบำบัดนี้ เพื่อกำหนดกิจกรรมในหลักสูตรให้เหมาะสม
“นอกจากการพูดคุยเรื่องความต้องการจากอาชาบำบัด สิ่งที่เราคุยคือวัตถุประสงค์เราตรงกันไหม ผู้ปกครองอาจจะอยากให้เด็กได้ผลลัพธ์ทางร่างกาย แต่เรามองแล้วว่าเด็กคนนี้อาจต้องการเรื่องสมาธิกับการเข้าสังคมมากกว่า อันนี้ก็ต้องปรับกันว่าความเห็นตรงกันหรือเปล่า
หลังจากพูดคุยจนได้ข้อสรุปแล้วว่าเด็กคนนั้นเหมาะกับกิจกรรมอะไร เราจะกำหนดว่าให้ผู้ปกครองอยู่ตรงไหน เพราะบางคนเด็กอยู่กับผู้ปกครองแล้วดี มีสมาธิ แต่บางคนพออยู่กับผู้ปกครองแล้วจะทำให้เด็กหลุดสมาธิตลอด เราก็ต้องรู้ก่อนว่าเขาไปทำอะไรมาบ้าง ที่บ้านเป็นอย่างไร ตรงนี้มันเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่พอเขากลับไป ก็ต้องคิดว่าจะไปทำอะไรต่อ”
อาชาบำบัด บำบัดอย่างไร
ระยะเวลาของคอร์สอาชาบำบัด จะอยู่ที่ครั้งละไม่เกิน 30 นาที ซึ่ง น.สพ.ณัฐวุฒิ อธิบายว่าเนื่องจากพื้นที่อันจำกัด หากเกิน 30 นาที สมาธิของเด็กๆ จะหมด โดยที่ระยะเวลามากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่เด็กเผชิญในวันนั้นๆ เช่น หากวันนั้นอารมณ์ดีก็อยู่ครบ 30 นาที แต่วันถัดไปอาจน้อยกว่า
“อาชาบำบัดจะไม่เหมือนการเรียนขี่ม้าทั่วไป ถ้าเด็กที่มีปัญหาไม่เยอะ เช่น สมาธิสั้นเล็กน้อย เราอาจใช้การขี่ม้าแบบทั่วไปมาช่วยดึงสมาธิของเขา เพราะต้องทรงตัวไม่ให้ตกม้า หรือโฟกัสกับสิ่งที่ครูจะบอกให้ทำ เช่น การบังคับม้าให้เลี้ยวหรือให้หยุด
ส่วนเด็กที่มีปัญหาเยอะหน่อย เราอาจจะเริ่มจากการจูงม้าเดิน ไปพร้อมๆ กับมีกิจกรรมให้เล่นด้วย ก็จะไม่ได้ปล่อยให้เด็กขี่ม้าเลยทันที เราจะออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับปัจจัยแวดล้อมของเด็ก ในเรื่องการขี่ม้าก็มีตั้งแต่ขี่เดิน ขี่วิ่ง”
ในการทำกิจกรรมของอาชาบำบัด เด็กจำเป็นต้องมีครูฝึกคอยดูแลอย่างใกล้ชิด และที่ Charan 92 Horse Riding ก็มีครูฝึกอยู่สองคนโดยยกระดับทักษะจากนักขี่ม้ามาเป็นครูที่เข้าใจเด็กๆ โดยไม่จำเป็นต้องดุ แต่อาศัยความเข้าอกเข้าใจ
“คำว่า หยุด ห้าม ไม่ เราจะพยายามหลีกเลี่ยง เพราะบางทีเราพูดไปจะเป็นการกระตุ้นให้เด็กต่อต้าน เราจึงพยายามเบี่ยงเบนความสนใจให้เขามาทำสิ่งที่เราอยากให้เขาทำมากกว่า จะดีกับเด็กด้วยที่เขารู้สึกว่าไม่โดนบังคับมากเกินไป”
จากกระบวนการต่างๆ ของอาชาบำบัด ทำให้เด็กหลายคนมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ผู้จัดการสนามขี่ม้าอย่างปฏิการยกตัวอย่างกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงชัดเจนว่าเด็กส่วนมากเมื่อผ่านกิจกรรมไปแล้วประมาณ 3-4 ชั่วโมง จะมีสมาธิที่ดีขึ้น ต่อมาคือเรื่องร่างกายที่แข็งแรงขึ้น
“อาชาบำบัดเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่นอกจากจะได้ความแข็งแรง เด็กๆ จะได้เรื่องสมาธิ เรื่องบุคลิกภาพ เรื่องการวางแผน เรื่องความมีเมตตาต่อสัตว์ เรื่องความใจเย็น อาชาบำบัดเป็นการบำบัดทางเลือก คือไม่ได้เหมือนทางตรงเหมือนกุมารแพทย์ หรือกายภาพบำบัด แต่มันเป็นส่วนหนึ่งที่เสริมเข้ามาได้”
(ข้อมูลเพิ่มเติม Facebook: https://www.facebook.com/Riverside92hobby คอร์สอาชาบำบัดเปิดวันอังคาร-ศุกร์ เวลา 8.00-11.00 และ 15.00-19.00 น.) |