- หลานม่าเป็นภาพยนตร์เรื่องล่าสุดจากค่าย GDH บอกเล่าเรื่องราวของ ‘เอ็ม’ หลานชายที่หวังรวยทางลัดด้วยการไปดูแลอาม่าที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย
- นอกจากเรื่องราวอันซาบซึ้งระหว่างเอ็มกับอาม่า ที่น่าสนใจคือวิถีชีวิตและการเลือกปฏิบัติที่ลูกหลานคนจีนหลายบ้านต้องเผชิญ ซึ่งอาจไม่ได้มีตอนจบที่สวยงามแบบในภาพยนตร์
ถ้าให้จัดอันดับผู้หญิงที่ผมรักมากที่สุดในโลก ผมมั่นใจว่าอาม่าเป็นที่หนึ่งในใจเสมอ
ความรักที่ไม่มีเงื่อนไข การเปิดใจรับฟังปัญหาของผมโดยไม่เคยมองว่าเป็นเรื่องดรามาน่ารำคาญ และการเป็นพื้นที่ปลอดภัย คือกุญแจสามดอกที่ทำให้อาม่าครองใจผมมาตลอด แม้ว่าแปดปีก่อนอาม่าจะหนีผมไปอยู่บนสววรค์แล้วก็ตาม
[*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์]
ผมคิดถึงอาม่าอีกครั้ง หลังจากชมภาพยนตร์เรื่อง ‘หลานม่า’ ของค่าย GDH ที่บอกเล่าเรื่องราวของ ‘เอ็ม’ หนุ่มหน้าตี๋ที่หวังรวยทางลัดด้วยการย้ายไปดูแลอาม่าที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย โดยหวังใจว่าอาม่าจะยกมรดกให้เป็นการตอบแทน
แม้การอยู่ร่วมกันของคนต่างเจเนอเรชันจะทำให้เกิดการต่อปากต่อคำเกิดขึ้นในหลายๆ โมเมนต์ แต่นั่นกลับเป็นช่วงเวลาที่ทำให้อาม่าลืมเหงาจากการเฝ้ารอลูกหลานที่มักมาพร้อมหน้ากันตามเทศกาลต่างๆ จนสุดท้ายการดูแลอาม่าที่เริ่มต้นเพราะหวังรวย ค่อยๆ เปลี่ยนให้หลานอย่างเอ็มได้รู้ว่าความรักอันบริสุทธิ์ของอาม่านั้นมีค่ามากกว่าสมบัติชิ้นไหนๆ
เดิมที ผมอยากเขียนถึงเรื่องราวอันซาบซึ้งระหว่างเอ็มกับอาม่าว่ามีความคล้ายหรือต่างกับผมยังไง แต่พอมานั่งทบทวนอีกครั้งหลังผ่านไปร่วมสัปดาห์ ผมกลับพบว่าสิ่งที่ผมอยากแลกเปลี่ยนกับผู้อ่านจริงๆ คือเรื่องสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตที่ลูกหลานคนจีนหลายบ้านเผชิญซึ่งอาจไม่ได้มีตอนจบที่สวยงามแบบในภาพยนตร์
ประเด็นแรกคือเรื่องเทศกาลรวมญาติต่างๆ เช่น ‘วันเชงเม้ง’ ที่ลูกหลานรุ่นใหม่หลายคนเข้าร่วมน้อยลงกว่าแต่ก่อน หรือไม่ก็จำใจไปให้มันจบๆ แบบที่เอ็มทำในช่วงต้นของภาพยนตร์ แน่นอนว่าพฤติกรรมเหล่านี้มักเป็นสิ่งที่พ่อแม่ลุงป้าน้าอามักหยิบยกมากล่าวหาโจมตีว่าคนรุ่นใหม่ไม่กตัญญูต่อบรรพบุรุษบ้าง คิดถึงแต่ตัวเองบ้าง ไม่เคารพธรรมเนียมประเพณีบ้าง หรืออะไรก็ตามที่เป็นการสร้างความรู้สึกผิดบาปในใจของคนที่ไม่เข้าร่วม
แม้ผมจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่ยังคงเข้าร่วมเทศกาลเหล่านี้ทุกปี แต่ผมกลับไม่เคยคิดว่าญาติของผมที่ไม่ได้เข้าร่วมจะเป็นคนอกตัญญูหรือลืมรากเหง้าแต่อย่างใด เพราะบางคนติดงาน บางคนศรัทธาในหลักศาสนาของตัวเองและไม่เชื่อว่าวิญญาณอาม่าจะยังคงนอนเล่นอยู่ใต้ฮวงซุ้ย บางคนพ่อแม่แทบไม่พามาเจออาม่าตอนยังมีชีวิต แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือญาติบางคนไม่อยากมาเจอกับสภาพแวดล้อมอัน Toxic
สภาพแวดล้อมอัน Toxic ในความหมายของผมคือเมื่อญาติๆ มารวมตัวกัน พวกผู้ใหญ่มักจะอวดลูกอวดหลานพร้อมกับเปรียบเทียบลูกตัวเองกับลูกของพี่น้องกันอย่างสนุกปาก ทั้งเรื่องผลการเรียน การงาน(เงินเดือน) รวมไปถึงรูปร่างหน้าตา ฯลฯ ทำให้ลูกหลานที่ตกเป็นเหยื่อของการบูลลี่จดจำฝังใจ
เข้าคอนเซ็ปต์ “คนพูดไม่จำ คนฟังไม่ลืม” ซึ่งหากมองในมุมที่ผมพบเจอ ผู้ใหญ่ที่ไม่น่ารักเหล่านี้มักเป็นคนขี้อิจฉาและอาจมีปมในอดีตมาก่อนทำให้ต้องหาปมเด่นของลูกมากลบปมด้อยของตัวเอง เช่น ตอนเด็กๆ ตัวเองเรียนไม่เก่งแต่พอลูกเรียนเก่งเลยต้องเอามาข่มลูกของคนที่เรียนไม่เก่ง หรือ ตอนเด็กๆ ตัวเองเป็นคนที่ไม่ได้รับการยอมรับ แต่พอมีลูกแล้วลูกกลับทำงานได้ดิบได้ดีก็จะชอบเปิดเผยอาชีพและรายได้ของลูกตัวเองพร้อมกับถามลูกคนอื่นอย่างเสียมารยาท ส่งผลให้พื้นที่ที่ควรจะเป็น Safe Zone อย่างครอบครัว กลายสภาพเป็น War Zone ในหลายๆ ครั้ง
ในทางกลับกัน ผมเชื่อว่าหากงานรวมญาติเต็มไปด้วยบรรยากาศของความรักความอบอุ่น ไม่มีการเปรียบเทียบ พร้อมกับชื่นชมลูกหลานแต่ละคนในแบบที่เขาเป็นอย่างสร้างสรรค์ รวมถึงตอนที่อากงอาม่ามีชีวิต หากพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ต่างผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเยี่ยมเยียนดูแลอากงอาม่าไม่ขาด (ไม่ใช่แค่มาเป็นพิธี) ผมเชื่อว่าคนรุ่นก่อนไม่จำเป็นต้องไปสอนคนรุ่นใหม่ด้วยซ้ำว่า ‘ความกตัญญู’ คืออะไร เพราะวิธีการสอนที่ดีที่สุดคือการประพฤติตนให้เป็นแบบอย่าง (Show, don’t tell.)
ประเด็นถัดมาคือการที่ภาพยนตร์ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของลูกสาวที่เทียบไม่ได้เลยกับลูกชาย ซึ่งประเด็นของอาม่าในภาพยนตร์ถือเป็นตัวอย่างของความย้อนแย้งได้เป็นอย่างดี
เริ่มจากตอนอาม่าเป็นสาว อาม่ายอมลาออกมาช่วยพ่อแม่ทำงาน เพื่อหวังให้พี่ชายได้เรียนหนังสือจนจบ จากนั้นก็ช่วยดูแลพ่อแม่มาโดยตลอด ทว่าพอพ่อแม่เสียชีวิตกลับยกมรดกทั้งหมดให้กับพี่ชาย ซึ่งอาม่าก็เจ็บช้ำน้ำใจถึงความอยุติธรรมนี้มาก แต่ตัดมาปัจจุบันที่อาม่าใกล้เสียชีวิต กลับไม่ยอมยกมรดกให้แม่ของเอ็มที่คอยดูแลปรนนิบัติและยกมันให้กับลูกชายเช่นกัน เรียกได้ว่าแม้ตัวเองจะไม่ชอบที่พ่อแม่ทำกับตัวเองแบบนั้น แต่พอมีลูกตัวเองกลับทำในแบบเดียวกัน
คนจีนสมัยก่อนมักเปรียบเปรยว่า ลูกสาวคือฮวงซุ้ยของคนอื่น (别人的风水) แม่ของผมเล่าว่าสมัยที่จีนยังปิดประเทศและให้ประชาชนมีลูกได้คนเดียว หากบ้านไหนที่ยากจนแล้วได้ลูกสาว พ่อแม่มีแนวโน้มอย่างสูงที่จะเอา ‘ขี้เถ้ายัดปาก’ (ฆ่าให้ตาย) หรือหากบ้านไหนมีเงินหน่อยก็อาจไปตรวจว่าได้ลูกเพศไหน เพื่อจัดการทำแท้งลูกสาวตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะคนจีนมองว่าพอลูกสาวแต่งงานออกไปก็กลายเป็นคนของตระกูลอื่น ตายไปก็ไปเป็นผีประจำฮวงซุ้ยที่บันดาลโชคลาภให้ลูกหลานตระกูลอื่น ดังนั้นก็ไม่จำเป็นต้องแบ่งสมบัติใดๆ หรือหากลูกสาวมาจากตระกูลร่ำรวย พ่อแม่ก็อาจแบ่งสมบัติให้บ้าง (แต่ก็เทียบกับลูกชายไม่ได้อยู่ดี)
สอดคล้องประเด็นเรื่องรักลูกรักหลานเท่ากันของอาม่าในเรื่อง ซึ่งในฐานะลูกหลานคนจีน ผมรู้สึกไม่เชื่อสักนิด อาจเพราะครอบครัวผมมักพูดกรอกหูผมมาแต่เด็กว่า “นิ้วยังไม่เท่ากันจะให้กูรักพวกมึงเท่ากันได้ยังไง” ทำให้ผมรู้สึกรับความจริงข้อนี้ได้บ้างเวลาที่พ่อแม่ของผมปฏิบัติต่อผมกับพี่น้องอย่างไม่เท่าเทียม ต่างกับหลายๆ บ้านที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายมักบอกว่ารักลูกรักหลานเท่ากัน แต่การกระทำกลับย้อนแย้ง โดยเฉพาะการแสดงความรักกับลูกคนโตแบบออกนอกหน้าและการพูดดีทำดีกับลูกหลานที่นานๆ มาเยี่ยม แต่กลับร้ายกาจเหลือเกินกับลูกหลานที่อยู่ดูแลใกล้ชิด
นอกจากนี้ ผมได้อ่านความเห็นของผู้ชมภาพยนตร์เรื่องหลานม่าและพบว่าแม้เกินครึ่งจะซาบซึ้งถึงความรักระหว่างอาม่ากับเอ็ม ทั้งยังสนับสนุนให้ลูกหลานรีบดูแลอาม่าตอนที่ยังมีชีวิต แต่ความเห็นอีกด้านก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะหลายคนโชคร้ายไม่ได้มีอาม่าหรือพ่อแม่ที่น่ารักอย่างคนอื่น โดยเฉพาะอาม่าสมัยเป็นแม่ที่เอาแต่เที่ยวเล่น กินเหล้า ติดพนัน ชอบใช้กำลังทำร้ายลูกหลาน แต่พอตัวเองแก่ชรากลับโทษว่าลูกหลานอกตัญญูไม่ยอมมาดูแล หรือเอาแต่ขอเงินลูกหลานไปผลาญในสิ่งอบายมุขทั้งหลายอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น ทำให้อดตั้งคำถามไม่ได้ว่าที่สุดแล้วหากตัดเรื่องบาปบุญคุณโทษออกไป…ใครหว่านพืชเช่นใดก็ควรได้ผลเช่นนั้นหรือไม่?