- Didi เป็นภาพยนตร์ที่พาเราเข้าไปสัมผัสกับ ‘ความว้าวุ่นของชีวิตวัยรุ่น’ ที่ใครหลายคนอาจเคยรู้สึกมาก่อน ผ่านเรื่องราวของ ‘คริส หวัง’ เด็กหนุ่มอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ที่พยายามตามหาตัวตนของตัวเอง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมรอบตัว
- ความไม่เป็นตัวของตัวเอง และความไม่มั่นใจของคริส ทำให้เขาต้องพบปัญหามากมาย ซึ่งกลายเป็นว่าความพยายามที่จะเป็นที่ยอมรับของคนอื่น กลับยิ่งทำให้เขาหลงทางและไม่รู้จักตัวเองมากขึ้นไปอีก
- บางครั้งเด็กวัยรุ่นที่มีปัญหา ต้นตอมันอาจไม่ใช่เพราะเป็นเด็กนิสัยไม่ดี แต่เขาอาจแค่ไม่รู้วิธีที่จะจัดการอารมณ์ตัวเอง ไม่รู้ว่ามีวิธีระบายออกมา หรือเขาอาจจะไม่มีคนที่คอยพร้อมจะรับฟังปัญหา
หนังเรื่อง Didi เล่าถึงชีวิตของ ‘คริส หวัง’ เด็กผู้ชายวัยรุ่นเชื้อสายไต้หวันที่เติบโตขึ้นในแคลิฟอร์เนียกับครอบครัวเล็กๆ ของเขา คริสได้พาเราไปพบกับความว้าวุ่นของชีวิตวัยรุ่นตอนต้นซึ่งเราคิดว่าใครหลายคนอาจรู้สึกร่วมได้ไม่ยาก ช่วงเวลาในหนังคือช่วงปิดเทอมสุดท้ายปี 2008 ก่อนที่คริสจะเข้าสู่ชีวิตนักเรียนมัธยมปลาย
ในหนังเราจะได้เห็นบรรยากาศการเข้ามาของโซเชียลมีเดียในยุคแรกๆ ทั้งเฟซบุ๊ก ยูทูบ หรือมายสเปซ (ส่วนตัวเราจะคุ้นเคยกับ ไฮไฟว์มากกว่า) มีเพลงของวงดนตรีร็อกที่ฮิตในยุคนั้นเปิดคลอเป็นเพลงประกอบ มีการส่งข้อความสั้นๆ ผ่านมือถือแบบพับได้ วิธีการแต่งห้องของวัยรุ่นในตอนนั้นที่ต้องแปะโปสเตอร์วงดนตรีหรือสิ่งที่ชอบไว้บนกำแพงเต็มไปหมด ซึ่งหลายสิ่งหลายอย่างในหนังเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราเองรู้สึกร่วมอย่างมากเพราะก็มีช่วงเวลาที่เป็นวัยรุ่นอยู่ในยุคเดียวกัน
คริสเป็นน้องชายคนเล็กของบ้าน (ซึ่งแม่ชอบเรียกเขาว่า Didi แปลว่า ‘น้องชาย’) คริสมีพี่สาวหนึ่งคนที่กำลังจะเตรียมตัวเข้ามหาลัย เขาและพี่สาวมักจะด่าว่ากันด้วยคำหยาบหรือเล่นกันแรงๆ เสมอ ซึ่งเราคิดว่ามันแสดงให้เห็นถึงการเติบโตมาด้วยกันและสนิทสนมกันมาก มากจนบางครั้งก็จะเผลอลืมแสดงความรักต่อกันไปบ้าง
ส่วนแม่ของคริส เธอเป็นแม่บ้านที่คอยดูแลบ้านและลูกๆ เธอเคยมีความฝันอยากเป็นศิลปินวาดภาพซึ่งตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นเพียงงานอดิเรก พ่อของคริสทำงานอยู่ที่ไต้หวันและคอยส่งเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวแต่เขาไม่เคยปรากฏตัวในหนังเลย มีเพียงแต่อาม่า (ย่าของคริส) ที่มักจะเอ่ยถึงลูกชายตัวเองอยู่บ่อยๆ ประมาณว่า “อยากให้ลูกชายของฉันอยู่ที่นี่ อะไรๆ ก็คงจะดีกว่านี้” ทั้งที่แม่ของคริสคือคนที่อยู่ที่บ้านและคอยดูแลทุกคน
หนังเรื่องนี้ทำให้เราสามารถรีเลทด้วยในหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศที่เล่ามาก่อนหน้านี้ หรือสิ่งที่ปฏิบัติกันในครอบครัว อย่างเรื่องที่แม่สามีมักจะชอบบ่นลูกสะใภ้ อาม่าที่เผลอพูดถึงหลานชายมากกว่าหลานสาวเพราะหลานชายคือคนที่จะสืบทอดตระกูล แม่ที่มักจะแสดงความรักกับลูกด้วยการแค่ถามว่า “กินอะไรหรือยัง” มากกว่าที่จะบอกรักลูกตรงๆ
แต่ประเด็นสำคัญที่เรารู้สึกประทับใจและรู้สึกถึงความละเอียดอ่อนของหนังคือการตามหาตัวตนของคริสผู้เป็นเพียงวัยรุ่นธรรมดาคนหนึ่งที่อยากเจอคนหรือสถานที่ที่เป็นของตัวเอง
เขาต้องเผชิญกับความรู้สึกของการเป็นคนนอกกลุ่มอยู่หลายครั้ง และความรู้สึกหลายอย่างที่เขาเจอก็เป็นความรู้สึกที่เราล้วนเราเคยสัมผัสมาในตอนเป็นวัยรุ่นและบางอย่างก็ยังคงอยู่ในใจเราเสมอ เลยทำให้เรารู้สึกอินและเข้าใจคริสมากๆ
คริสแสดงให้เห็นถึงการพยายามต่อสู้ดิ้นรนที่จะเป็นที่รักของใครสักคนอยู่ตลอด เริ่มจากตอนแรกที่เขาลองจีบสาวโดยการไปสำรวจหน้าเพจของสาวคนนั้นว่าเขาชอบเพลงอะไร ชอบดูหนังอะไรแล้วทำเป็นเออออชอบตาม ถึงกับขนาดไปขโมยเสื้อวงดนตรีของพี่สาวตัวเองมาใส่แล้วบอกกับสาวคนนั้นว่า “ฉันชอบนักร้องวงนี้” ทั้งที่ความจริงแล้วไม่เคยฟัง
แต่ก็เพราะความไม่เป็นตัวของตัวเองบวกกับความไม่มั่นใจของเขา รักครั้งนี้เลยไม่ได้ไปต่อ
หลังจากนั้นคริสเลยเลือกที่จะเบนความสนใจของตัวเองไปสู่กลุ่มเพื่อนแก๊งใหม่ที่สนใจการเล่นสเกตบอร์ดเหมือนกันกับเขา เรารู้สึกว่าในครั้งนี้คริสเริ่มกล้าเป็นตัวเองมากขึ้น แต่เขาก็ยังเลือกที่จะโกหกบางเรื่องอยู่ดี จนสุดท้ายเขาก็ทำพลาดอีกครั้ง
ในตอนที่เราดู เรารู้สึกลุ้นไปกับคริสตลอด อยากให้เขาได้เจอคนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจและสามารถเป็นตัวของเขาเองได้
แต่ในแทบทุกครั้งเรื่องราวจะจบลงด้วยความประดักประเดิด เพราะความกังวลและความไม่มั่นใจในตัวตนของตัวเขาเองเสมอ
และด้วยความเป็นเด็กวันรุ่นที่อารมณ์พลุ่งพล่าน ยังไม่เข้าใจตัวเอง ไม่เข้าใจวิธีการเข้าสังคมของเขานี่แหละ มันก็สะสมเป็นความผิดหวังในตัวเองเก็บกดอยู่ข้างในตลอดจนวันนึงแน่นอนว่ามันก็ระเบิดตู้ม!
ในตอนสุดท้ายคริสทำร้ายเพื่อนคนหนึ่งที่ดันพูดจาไม่ดีไปจี้จุดในใจของเขา อารมณ์ที่สะสมไว้และไม่เคยได้ระบายมันก็ระเบิดออกมา พอแม่มาช่วยเขา เขาก็ต่อว่าทำร้ายจิตใจแม่ต่อ เพราะแม่พยายามจะสอนเขาในตอนที่ความโกรธในใจเขายังคุกรุ่น คริสวิ่งหนีไปหลับในสนามเด็กเล่นทั้งคืน แต่เช้าวันต่อมาคริสก็กลับมาที่บ้านแล้วเข้าไปคุยกับแม่ด้วยใจที่เย็นลง และโชคดีมากที่แม่ของเขาพอจะรู้ว่าเขากำลังมีปัญหาในใจ เลยรับฟังและพูดคุยกับเขาด้วยความใจเย็นเช่นกัน หลังจากนั้นเราคิดว่าคริสจึงเริ่มเข้าใจว่าตัวเองยังมีครอบครัวอยู่เสมอ แม้ว่าเขาจะพยายามวิ่งหนีไปแค่ไหน
สิ่งนี้มันทำให้เราเห็นเลยว่าความจริงแล้วเด็กวัยรุ่นที่มีปัญหา ต้นตอมันอาจไม่ใช่ว่าเขาเป็นเด็กนิสัยไม่ดี แต่เขาอาจแค่ไม่รู้วิธีที่จะจัดการอารมณ์ตัวเอง หรือไม่รู้ว่ามันมีวิธีอื่นที่จะช่วยให้ระบายมันออกนอกจากการทำร้ายคนอื่น หรือแม้แต่เขาอาจจะไม่มีคนที่พร้อมรับฟังปัญหา
หรือในกรณีของคริส เขาอาจไม่กล้าปรึกษาใครเพราะความไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่แน่ใจว่ามีใครรักเขามากพอที่จะรับฟังเรื่องราวต่างๆ ของเขาได้
มีตอนนึงที่คริสพิมพ์ข้อความไปหาแชทบอท (ปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ตอบกลับแบบอัตโนมัติ) เพราะรู้สึกเศร้าและไม่รู้จะคุยกับใคร มันแสดงให้เห็นเลยว่าเขาต้องการเชื่อมต่อกับใครสักคน แต่มันไม่มีพื้นที่ปลอดภัยตรงนั้นที่จะรับฟัง และตัวเขาเองก็ไม่รู้วิธีที่จะสื่อสารความรู้สึกนั้น
เราคิดว่าหลายๆ คนอาจเคยรู้สึกเช่นเดียวกับคริส ทั้งความรู้สึกโดดเดี่ยวจนเกิดคำถามว่า “ทำไมเราทำอะไรก็พลาดไปหมดจนไม่มีเพื่อนคบสักคน” หรือแม้กระทั่งกลายเป็นตัวตลกของคนในกลุ่ม แต่เมื่อในตอนท้ายที่คริสกล้าเปิดตัวเองเพื่อคุยกับแม่ของเขา ก็ทำให้เขาได้รับรู้ถึงความรักที่เขามีอยู่กับตัวเองเสมอ
หนังเรื่องนี้มันทำให้เราเห็นการเรียนรู้ชีวิตของคนคนหนึ่งและค่อยๆ เติบโตขึ้นทีละนิดจากประสบการณ์ที่อาจจะดีบ้าง แย่มากบ้าง ได้เห็นถึงความสำคัญของการมีครอบครัว เพื่อน หรือคนที่เข้าใจเรา
เราอยากให้พ่อแม่ที่มีลูกวัยรุ่นได้ดูหนังเรื่องนี้เพราะมันอาจทำให้ได้กลับมาระลึกถึงว่าทุกคนต่างเคยเป็นวัยรุ่นและมีปัญหาในใจกันทั้งนั้น เรื่องที่ในตอนนี้เราอาจคิดว่ามันเล็กมาก มันอาจเคยเป็นเรื่องใหญ่สุดๆ ในตอนที่เราเป็นเด็กวัยรุ่นซึ่งเราอาจเผลอลืมมันไป อยากให้พ่อแม่ลองฟังอย่างไม่ตัดสินเพราะทุกปัญหามีสาเหตุที่ควรค่าแก่การรับฟังเสมอ
นอกจากนั้นหนังเรื่องนี้ยังเป็นเหมือนบันทึกชีวิตวัยรุ่นในยุคที่เริ่มมีการเข้ามาของอินเทอร์เน็ตซึ่งในแง่นึงก็ช่วยให้เชื่ิอมต่อกับผู้คนได้ง่ายขึ้น แต่ในอีกแง่มุมก็สร้างความเหงาและโดดเดี่ยวได้เช่นกัน ซึ่งหลายๆ อย่างนี้ทำให้เราคิดว่า Didi เป็นหนึ่งในหนัง coming of age ที่ทั้งเจ็บปวดและสวยงามอีกเรื่องที่ได้ดูในปีนี้เลย