ตั้งแต่ต้นปี 2020 เราผ่านเรื่องหนักหนามาด้วยกันมากมาย ตั้งแต่ฝุ่นควันที่หนักหน่วง กราดยิงโคราช ไฟป่าออสเตรเลีย โควิด-19 (ซึ่งในซับเซตของโควิด-19 คือระบบเศรษฐกิจฝืดเคืองและการเปลี่ยนงานและตกงานของใครหลายคน) รวมทั้งบรรยากาศแห่งขับเคลื่อนทางการเมืองและประชาธิปไตย
ปีนี้ดุเดือดมากจริงๆ แต่เมื่อผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ หันไปมองรอบๆ เพื่อนข้างตัวที่ยังอยู่ การงานที่ยังอยู่ (หรือได้เปลี่ยนใหม่) สำคัญที่สุด…ตัวคุณเองที่ยังอยู่ ต่อสู้อย่างกล้าหาญเข้มแข็งผ่านมันมาได้(อย่างเต็มที่ที่เราจะทำได้ ณ ขณะนั้นที่สุดแล้ว)
เพื่อเป็นการขอบคุณและอยากยืนยันถึงการพักผ่อน (ปีใหม่ ทุกคนต้องอนุญาตให้ตัวเองพักนะคะ!) เราชวนคอลัมนิสต์ ผู้คนที่ปรากฎตัวบนหน้าเพจตลอดปีนี้ แชร์กันว่า ในวาระแห่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ปีใหม่ โดยเฉพาะการเปลี่ยนจากปีสุดปัง 2020 สู่ปี 2021
พวกเขาอยากปันหนังสือเล่มไหนที่เหมาะแกการนอนอ่านสบายๆ จุ่มแช่กับช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านเปลี่ยนปีนี้…กันดี
ขออนุญาตส่งมอบความรู้สึกดีๆ และคำยืนยันว่า สำหรับทุกคนที่ยังอยู่ พวกคุณเก่งที่สุดเลยค่ะ
สวัสดีปีใหม่ล่วงหน้า ขอให้ทุกท่านได้พักผ่อนสบายๆ พร้อมรับปีใหม่อย่างมีพลัง และขอบคุณที่อยู่กับเราตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เดินหน้าสู่ปีใหม่ และปีที่ 4 ของเรา ไปพร้อมๆ กันนะคะ 🙂
1
good days
เขียนและวาดภาพ โดย AURA CHERRYBAG
แนะนำโดย: พิมพ์พาพ์
“ด้วยความที่ปีนี้เป็นปีที่เครียดๆ เลยอยากเสนอหนังสือที่จะช่วยเพิ่มเติมความสดใสและเหมือนพาเราไปเที่ยว หนังสือเล่มนี้คือหนังสือภาพประกอบผสมงานเขียนเล็กน้อยที่เหมือนเป็นบันทึกความทรงจำของคุณ AURA ตอนไปเรียนศิลปะที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ความโดดเด่นของภาพประกอบเล่มนี้โดยคุณ AURA คือ เค้าได้ใช้เทคนิคสีอะคริลิค ผสมกับการตัดแปะกระดาษ(Collage)ที่มีพื้นผิวกระดาษที่แตกต่างกันไป ภาพส่วนใหญ่ก็จะเป็นภาพของกระจุกกระจิก อาหาร ดอกไม้ ผู้คน ที่ดูแล้วทำให้รู้สึกอบอุ่น มีความสุข แค่ดูภาพและรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ก็เพลินใจแล้ว และในเมื่อปีนี้เรายังไปเที่ยวไหนไกลไม่ได้ เลยอยากชวนทุกคนให้ลองพักจากความจริงตรงหน้าแล้วออกไปเที่ยวออสเตรเลียผ่านมุมมองของคุณ Aura กัน”
อ่านงานของพิมพ์พาพ์ คลิก
2
milk and honey น้ำผึ้งซ่อนขม น้ำนมซ่อนคาว
เขียน: รูปี กอร์ / แปล: พลากร เจียมธีระนาถ
แนะนำโดย: มะขวัญ วิภาดา แหวนเพชร
ปีนี้มันหนักมาก เหนื่อยมาก อกหัก เจ็บ อ่านเล่มนี้เหมือนมีเพื่อนที่ไพเราะ
ฟังพอดแคสของมะขวัญ Life Classroom
3
วะบิ ซะบิ แด่ความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต
เขียน: เบท เคมป์ตัน
แนะนำโดย: เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์
“เคยเป็นไหมคะ ที่ทุกวันนี้ เรารีบเร่ง กดดัน บังคับตนเอง เพื่ออะไรบางอย่าง บางอย่างในที่นี้อาจจะเป็นความสำเร็จในชีวิต หรือชื่อเสียงเงินทอง หรืออะไรก็แล้วแต่ จนชีวิตมันรู้สึกหนัก นีทเองเคยเป็นเช่นนี้มาก่อน จนกระทั่งได้มาอ่าน หนังสือเล่มนี้ “วะบิ ซะบิ” ที่ทำให้นีทกลับมาค่อยๆ ประนีประนอมกับชีวิต ใช้ชีวิตให้ช้าลงอย่างมีคุณภาพ หยุดกดดันตนเอง ค่อยๆ กลับมาสร้างตนเองให้มีความสุขในแทบจะทุกๆ จังหวะของชีวิต พาตนเองมาเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งความไม่เที่ยง ทั้งความไม่สมบูรณ์แบบ พาตนเองค่อยๆ ยอมรับทั้งสิ่งที่ชอบและไม่ชอบ พาตนเองค่อยๆ ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง พาตนเองมาชื่นชมทั้งความสำเร็จและล้มเหลว จนรู้สึกว่า ตนเองคือคนใหม่ที่ค้นพบความงามของความไม่สมบูรณ์แบบ
“ใครที่รู้สึกว่าใจมันหนัก ลองมาปล่อยตัว ปล่อยใจกับหนังสือเล่มนี้กันนะคะ”
อ่านบทความของคุณเบญจรัตน์ คลิก
4
ดิสโทเปียไม่สิ้นหวัง: ภาพยนตร์ฮอลลีวูดและการเมืองโลก
ผู้เขียน: สรวิศ ชัยนาม
แนะนำโดย: อรรถพล ประภาสโนบล
“หนังสือเล่มนี้ได้บอกเล่าความหดหู่ ความเจ็บปวด การต่อสู้ หรือแม้กระทั่งความคุ้นชินที่แสร้งว่ามันปกติในโลกอันบิดเบี้ยวที่เรียกว่าดิสโทเปีย แม้จะเป็นเรื่องราวสมมติจากภาพยนตร์ชั้นเยี่ยม แต่ผู้เขียนกลับตีความรายละเอียดต่างๆ จนทำให้ผู้อ่านอย่างเรารู้สึกว่ามันคือโลกปี 2020 อย่างไม่ต้องสงสัย
“ยิ่งไปกว่านั้น เมื่ออ่านจบลงแล้ว หนังสือไม่ได้มอบความสิ้นหวังให้ แค่มันบอกกับเราว่าใน ปี 2021 คือจุดเริ่มต้นความหวัง”
อ่านงานครูพล-อรรถพล ต่อ คลิก
5
Letter to Sam จดหมายถึงแซม
Daniel Gottlieb
แนะนำโดย: ณิชากร ศรีเพชรดี
“งานเขียนจากคุณตา ดร.นักจิตบำบัด ซึ่งพิการเป็นอัมพาตที่แขนและขา ถึงหลานชาย -แซม ที่เป็นออทิซึมอ่านในวันที่เค้าโตขึ้นแล้วอาจ ‘รู้สึก’ ว่าตัวเองแตกต่างไม่เหมือนคนอื่น เราอ่านเล่มนี้ยังไม่จบเลย คืออ่านไปครึ่งนึงและก็ยั้งใจไว้ว่าเราจะเก็บไปอ่านรวดเดียวในวันสิ้นปี เพราะเนื้อหาในจดหมายของคุณปู่เหมาะกว่าที่จะต้องนั่งนิ่งๆ ปล่อยตัวให้สบายและไม่กังวลถึงภาระเงื่อนไขในชีวิตอันเป็นผลพวงของปีที่ผ่านมา และจะดำเนินต่อในปีต่อไป
“จดหมายของปู่ไม่ได้บอกให้แซมลุกขึ้นมาคิดบวกหรือเชื่อว่าตัวเองไม่แตกต่าง และแม้ปู่จะเป็นนักจิตบำบัดที่น่าจะมีทฤษฎีอะไรมากมากมายมาสอนคนอ่าน เปล่า ปู่ไม่ได้ใช้ทฤษฎีเลย แต่ปู่เล่าเรื่องตัวเอง ความรักของตัวเอง ความล้มเหลวในชีวิต ความพิการ ความกลัวในฐานะมนุษย์ที่ต้องการความสมบูรณ์และดูดีอยู่เสมอ พาไปตรวจสอบความกลัวในฐานะคนที่มีบาดแผลจากครอบครัวและการกดดันของสังคม อ่านไปแล้วก็ลืมว่าคุณปู่เขียนให้แซมอ่าน แต่เหมือนว่าเรานี่แหละคือ ‘แซม’ ที่คุณปู่กำลังเขียนถึง
“ถ้าจะมีเล่มไหนที่ช่วยกู้พลังชีวิตเหมือนนั่งคุยกับคุณปู่ใจดี (ที่เราไม่มีในชีวิตจริง) ที่ผ่านชีวิตมามากจนรู้แล้วว่าความไม่สมบูรณ์และบ้าบอของชีวิตคือของขวัญ เล่มนี้เราแนะนำมากเลยค่ะ คิดว่ามันกำลังช่วยสร้างความเข้มแข็งและกล้าหาญให้เราตุนไว้ใช้ในปีต่อไปด้วยนะ”
อ่านเรื่องของณิชากรต่อ คลิก
6
เจ้าสาวแห่งทางสายไหม: วัฒนธรรมแห่งความรักของเอเชียกลาง
ผู้เขียน: คาโอรุ โมริ
แนะนำโดย: พงศ์มนัส บุศยประทีป
“ปีใหม่นี้เราอาจจะไปเที่ยวเมืองนอกไม่ได้เพราะโรคระบาด แต่เราค้นพบประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่งดงามรอบโลกได้เสมอผ่านทางหนังสือ
“เจ้าสาวแห่งทางสายไหม เป็นการ์ตูนที่มีฉาก คือ เมืองพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างเอเชียและยุโรป เช่นในประเทศคาซัคสถาน อุซเบกิสถาน คีร์กีซสถาน เป็นการ์ตูนที่มีลายเส้นงดงาม พาเราไปพบวัฒนธรรมแปลกตา อย่างเรื่องของการสร้างบ้าน การปักผ้า อาหาร การเลี้ยงและล่าสัตว์ จนถึงเรื่องสงคราม แต่สิ่งที่โดดเด่นที่สุดคือวัฒนธรรมและมุมมองด้านความรักและการแต่งงานที่แตกต่างกันอย่างน่าสนใจในแต่ละท้องที่
“เป็นการ์ตูนที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย เนื้อเรื่องที่เข้มข้นทั้งสุขและทุกข์ท่ามกลางชีวิตที่เรียบง่าย อาจทำให้เรามองเห็นแง่มุมของความสุขในแบบใหม่ต้อนรับปีใหม่นี้ก็ได้”
อ่านงานของคุณพงศ์มนัส คลิก
7
ศิลปะ แห่ง อำนาจ
ผู้เขียน: ติช นัท ฮันห์
แปล: พระจิตร์ ตัณฑเสถียร และสังฆะหมู่บ้านพลัมประเทศไทย
แนะนำโดย: สัญญา มครินทร์
“ในปีที่ผมอึดอัดกับการบริหารของเหล่าผู้มีอำนาจทั้งระดับเล็กในรั้วโรงเรียน ชุมชน จนระดับใหญ่ไปถึงผู้มีอำนาจบริหารประเทศ ผมหยิบหนังสือเล่นนี้มาอ่านอีกครั้ง ในช่วงที่เราตั้งคำถามกับนิยามของคำว่า “อำนาจ” ในหลากหลายมิติ หนังสือเล่มนี้ชวนให้เราได้กลับมาตั้งคำถาม และสำรวจ ตรวจครวญ กับ อำนาจภายใน ด้านจิตวิญญาณผ่านประสบการณ์ เรื่องราวชีวิตจริง ของบุคคลหลากหลาย วัย เชื้อชาติ อาชีพ
“อ่านไป ก็ได้ใคร่ครวญ สังเกต สำรวจอำนาจในใจของตนเองไปด้วย จนเบาใจ และมีกำลังใจ แบบสัมผัสถึงพลัง และอำนาจในใจของเรา ได้จริงๆ
” ‘อำนาจภายใน’ ที่อยู่เนื้อ ในตัว อยู่ตรงหน้า อยู่ปัจจุบันขณะ อำนาจทางจิตวิญญาณ ที่เราไม่ค่อยได้ ใส่ใจ เพราะมัวแต่หลงใหล กับ ‘อำนาจภายนอก’ ชื่อเสียง เงินทอง บริวารฯลฯ
“อำนาจที่เรามีมันอยู่แล้ว เพียงแค่เราช้าลง และกลับมาปลุกพลังอำนาจนี้ ให้ตื่นอีกครั้ง และคอยเฝ้าดูแล บำรุง ด้วยการสร้างการตื่นรู้ ด้วยการรู้สึกตัวถี่ๆ ในวิถีชีวิต กับปัจจุบัน เริ่มต้นด้วยความเชื่อ ความศรัทธา ไต่ระดับ ไปจนเป็นความเพียร มีสติ มีสมาธิ และเกิดปัญญา ที่ทางพุทศศาสนาเรียกว่า “พละ 5” นั้นเองที่เป็น อำนาจแท้ ที่ผู้เขียนให้ความหมาย ของคำว่าอำนาจคือสิ่งใด
“ชวนผู้อ่านกลับมา สำรวจ และปลุกพลังแห่งอำนาจ และกลับมาสำรวจ การใช้อำนาจ อย่างมีศิลปะ สู่การค้นพบความสุข และอิสรภาพทางใจ ในทุกปัจจุบันขณะ กับหนังสือ”
ฟังพอดแคสต์ของครูสัญญา: ข้างๆ ครูคูล
8
ความไม่เรียบของความรัก
ผู้เขียน: ฮิโรมิ คาวากามิ
แนะนำโดย: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
ความรักเป็นสิ่งที่ไม่มีทางเรียบอยู่แล้ว แต่จะง่ายไหมคืออีกเรื่อง
90% ของมนุษย์ที่พบเจอกันอาจจะบอกว่ามันไม่เคยง่ายแต่ซับซ้อน และในความซับซ้อนนั้นมีความงดงามซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดเสมอ ความไม่เรียบของความรักคือรวมเรื่องสั้นของฮิโรมิ คาวากามิ นักเขียนชาวญี่ปุ่นที่สอดกลิ่นอุ่นซ่อนขม สอดไส้เปรี้ยวแบบองุ่นหวานเข้าไปในตัวละครที่ถ้าอ่านละเอียดจะพบความเป็นชายขอบและความอุ่นใจเหมือนพายอบใหม่ของความรักเสมอ
ทุกคนล้วนมาพบเจอกันด้วยเรื่องราวในชีวิตประจำวัน จากการเดินทางไกลในหน้าที่การงาน บทสนทนากิจกรรมปลดเปลื้องผ้ากันเปื้อนในห้องครัว หรือในบ้านฉันท์สามีภรรยา ฤดูกาลของความปวดร้าวไม่ได้แปรตามความร้อนหนาว แต่พัดพามาในอารมณ์ที่ทำให้ผู้อ่านกลายเป็นหมอและผู้ป่วยปางตายในหลายครั้ง ที่สำคัญคือมันแตกร้าวและสวยงามอย่างเงียบๆ ในขณะที่เรากำลังตื่นนอน รูดม่าน ปั่นจักรยาน หรือตักแกงค้างคืนใส่จาน
ความไม่เรียบของความรักผลักให้ผู้อ่านไปอยู่มุมห้องและปลอบว่าไม่เป็นไร เราอยู่มุมห้องนี้มานานแล้ว หรือภูมิต้านทานต่ำมากเกินไปเราจึงมาอยู่ตรงนี้ ตัวหนังสือในทุกเรื่องจะไม่โกหกว่าความเจ็บปวดไม่มีอยู่จริง แต่คลี่ให้เห็นว่าความรักอิงแอบอยู่ตรงไหนบ้าง การมองเห็นมันและทำความเข้าใจไม่จำเป็นต้องคร่ำครวญหรือโบยตีอย่างหนักเสมอไป
บางครั้งมันคือการจ้องมองมันอย่างเงียบเชียบ รักและเจ็บให้เรียบที่สุดโดยที่ผู้รักและผู้ไม่รักไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำ
อ่านงานของ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ คลิก