- Billy Elliot (บิลลี่ เอเลียต) เป็นภาพยนตร์แนว Coming of Age ในปี 2000 นำเสนอเรื่องราวของเด็กชายวัย 11 ปีที่ถูกพ่อส่งไปเรียนชกมวย แต่เจ้าตัวกลับแอบนำเงินไปเรียนบัลเล่ต์
- ท่ามกลางค่านิยมของสังคมยุคนั้น พ่อคัดค้านอย่างหนักกับความรักในบัลเล่ต์ของเด็กผู้ชาย แต่ในที่สุดบิลลี่ก็พิสูจน์ให้พ่อเห็นว่าเขามีความมุ่งมั่นที่จะเดินไปตามเส้นทางที่ฝันไว้
- สำหรับพ่อผู้เคยไม่เห็นด้วยกับความหลงใหลในบัลเล่ต์ แต่เมื่อได้เห็นศักยภาพและด้วยพื้นฐานความรักที่มีต่อกัน เขาก็ยอมหันหลังให้กับอุดมการณ์ของตัวเองเพื่อสานฝันนอกกรอบของลูกชาย
ตอนเด็กๆ ผมชอบเล่นตุ๊กตา จำได้ว่าพ่อแม่ค่อนข้างตกใจ และกีดกันความรักระหว่างผมกับตุ๊กตาตัวนั้น จนกลายเป็นหนึ่งในความทรงจำที่ไม่ค่อยดีนัก
พ่อบอกว่าตุ๊กตาคือของเล่นสำหรับเด็กผู้หญิง ส่วนแม่ก็กลัวผมเบี่ยงเบนทางเพศ (ซึ่งเป็นเรื่องคอขาดบาดตายและรับไม่ได้ในสังคมยุคก่อน)
ไม่นานนี้ ผมมีโอกาสชม ‘Billy Elliot’ ภาพยนตร์แนว Coming of Age สัญชาติอังกฤษที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวที British Academy of Film and Television Arts ในปี 2000 จากผลงานการกำกับของ Stephen Daldry ที่บางคนอาจคุ้นชื่อจากการเป็นผู้อำนวยการผลิตซีรีส์ชุด The Crown ทาง Netflix
และแม้บิลลี่จะไม่ได้ชอบตุ๊กตาเหมือนผม แต่เขาก็ชอบเต้นบัลเล่ต์ ซึ่งบังเอิญว่าพ่อของบิลลี่ก็รู้สึกเหมือนผู้ชายสมัยนั้นว่าบัลเล่ต์มันเป็นกีฬาของผู้หญิงและหนุ่มตุ้งติ้ง
พ่อไม่เข้าใจ
บิลลี่ เอเลียต เป็นเด็กชายวัย 11 ปีที่อาศัยอยู่ในบ้านพักโทรมๆ กับย่า พ่อ และพี่ชาย ณ เมืองเล็กๆ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษ
แม้ครอบครัวจะมีฐานะไม่ค่อยดี ประกอบกับสถานการณ์ ‘การประท้วงหยุดงาน’ ของคนงานเหมืองที่พ่อและพี่ชายเป็นแกนนำคนสำคัญ ทำให้รายได้ขาดหาย แต่พ่อก็ยังอุตส่าห์เจียดเงินจำนวนหนึ่งไว้ให้บิลลี่นำไปเรียนชกมวยที่โรงยิม โดยมีความฝันว่าบิลลี่จะเติบโตเป็นนักมวยที่เก่งเหมือนกับปู่ของเขา
บิลลี่เข้าเรียนมวยที่ยิมใกล้บ้านตามคำสั่งของพ่อ เขามีรูปร่างดีและช่วงชกที่ยาวกว่าคู่แข่ง แต่พอขึ้นสังเวียน เขากลับถูกน็อกคาเวทีทุกครั้ง เพราะเอาแต่โชว์ฟุตเวิร์กโยกหลอกคู่ต่อสู้ไปมาราวกับกำลังเต้นระบำ
เมื่อฝีมือไม่ก้าวหน้า โค้ชเลยสั่งให้บิลลี่ฝึกต่อยกระสอบหลังเลิกเรียน ซึ่งบังเอิญว่าตอนนั้นบริเวณที่สอนบัลเล่ต์ถูกกลุ่มผู้ประท้วงยืดมาทำเป็นห้องครัว ‘มิสซิสวิลกินสัน’ จึงมาขอยืมพื้นที่เพื่อทำการเรียนการสอนให้กับเด็กผู้หญิง
ด้วยท่วงท่าลีลาอันสง่างามของการเต้นบัลเล่ต์ ทำให้บิลลี่ถึงกับทึ่งและขอเข้ามาเต้นท่ามกลางนักเรียนบัลเล่ต์ผู้หญิง ซึ่ง ‘มิสซิสวิลกินสัน’ ก็ต้อนรับลูกศิษย์ต่างเพศเป็นอย่างดี
หลังจากวันนั้น บิลลี่มักแอบมาเรียนบัลเล่ต์หลังชกมวยเสร็จ และคลั่งไคล้ถึงขั้นไม่เรียนมวย เพื่อเอาเงินมาเรียนบัลเล่ต์
แม้จะมีความสุขกับการเต้นบัลเล่ต์โดยผู้เป็นพ่อไม่รู้ แต่ค่านิยมของครอบครัวและคนรอบข้างก็ทำให้บิลลี่รู้สึกผิดอยู่ลึกๆ ที่ตัวเองแอบมาเรียน ‘กีฬาของผู้หญิง’ เย็นวันหนึ่งเขาตัดสินใจบอกมิสซิสวิลกินสันว่าจะไม่เต้นบัลเล่ต์อีกต่อไป
“เด็กผู้ชายเต้นบัลเล่ต์น่ะเหรอ พวกตุ้งติ้งทั้งนั้น ผมรู้สึกเหมือนผมเป็นผู้หญิง ผมต้องเรียนต่อยมวย”
ครูสอนบัลเล่ต์ยิ้มให้กับคำพูดไร้เดียงสาของบิลลี่ ก่อนแสดงความเห็นว่าถ้ารู้สึกเหมือนผู้หญิงก็อย่าเต้นให้เหมือน จากนั้นจึงลองใจบิลลี่ด้วยการขอรองเท้าบัลเล่ต์คืน แต่บิลลี่กลับไม่ยอม เธอเลยมั่นใจว่าบัลเล่ต์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตบิลลี่ไปแล้ว
ฟากบิลลี่เองก็เหมือนจะเริ่มรู้ตัวเช่นกัน ใจหนึ่งเขาพยายามอย่างเต็มที่ที่จะปกปิดพ่อในเรื่องนี้ แต่อีกใจเขากลับกล้าทำอะไรบ้าๆ มากขึ้น เช่นการขโมยหนังสือสอนบัลเล่ต์จากห้องสมุด และนำมาฝึกฝนด้วยตัวเองที่บ้าน จนฝีมือบัลเล่ต์ก้าวหน้าแซงเพื่อนผู้หญิงทุกคนอย่างรวดเร็ว
ไม่นานนัก พ่อของเขาก็เริ่มรู้สึกว่าลูกชายคนเล็กดูมีพิรุธอย่างบอกไม่ถูกก่อนจะทราบจากโค้ชมวยว่าบิลลี่ไม่มาเรียนชกมวยและอาจหลงลืมความเป็นชายจากการไปเรียนบัลเล่ต์
ผมรู้สึกสงสารบิลลี่ตอนที่ถูกพ่อบุกมาอาละวาดขณะเรียนบัลเล่ต์ ซึ่งไม่เพียงแค่ความช็อก แต่ผมยังเห็นบิลลี่ถูกเพื่อนๆ ผู้หญิงหัวเราะเยาะ หนักกว่านั้นคือตอนกลับถึงบ้าน พ่อกลับตัดสินบิลลี่ว่าเป็นพวกตุ้งติ้ง พร้อมกำชับห้ามไม่ให้บิลลี่ข้องแวะกับบัลเล่ต์อีก
“บัลเล่ต์มันสำหรับเด็กผู้หญิง ไม่ใช่สำหรับเด็กผู้ชายนะบิลลี่ เด็กผู้ชายต้องเตะฟุตบอล ต่อยมวย หรือไม่ก็มวยปล้ำสิ เอาเป็นว่าไม่ใช่บัลเล่ต์ แกกำลังเปิดเผยตัวว่าแกเป็นพวกตุ้งติ้ง ฟังนะ นับตั้งแต่นี้ไป แกลืมเรื่องบัลเล่ต์ได้เลย ลืมเรื่องต่อยมวยไปด้วยเหมือนกัน ฉันทำงานแทบตายเพื่อหาเงินมาให้แกเรียนบัลเล่ต์น่ะเหรอ ให้ตายเถอะ นับแต่นี้แกต้องอยู่บ้านดูแลย่า เข้าใจไหม”
ถึงบรรทัดนี้ เสียงในหัวของผมเริ่มแตกเป็นสองเสียง เสียงแรกคือเสียงที่สนับสนุนบิลลี่ เพราะบิลลี่ไม่ได้มีอาการตุ้งติ้งอย่างที่พ่อตีตรา ทั้งยังเต้นบัลเล่ต์ด้วยความแข็งแกร่ง ดังนั้นการที่พ่อมาปิดกั้นห้ามไม่ให้บิลลี่เต้นบัลเล่ต์ก็ไม่ต่างอะไรกับพ่อที่เอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ ไม่รับฟังลูก และสร้างบาดแผลในใจให้กับลูกโดยไม่รู้ตัว
หนักกว่านั้น วัยเด็กเป็นวัยแห่งจินตนาการ การที่พ่อทำลายความรู้สึกบิลลี่ ก็ทำให้บิลลี่จินตนาการว่าพ่อของเขาใจร้ายกว่าความเป็นจริง สังเกตได้จากตอนที่เขาตะโกนใส่พ่อว่า “ผมเกลียดพ่อ พ่อเป็นคนไม่ดี”
ทว่าอีกเสียงหนึ่ง ผมกลับรู้สึกเข้าใจพ่อ เพราะตอนที่แม่บิลลี่ยังมีชีวิต แม่เปรียบเสมือนกับสะพานที่เชื่อมทุกคนในบ้านเข้าหากัน แต่พอแม่เสียชีวิต พ่อผู้มีนิสัยแข็งกระด้าง ดิบๆ แบบผู้ชายสายลุย ก็ไม่สามารถสานต่อความเป็นแม่ที่อ่อนโยนให้กับบิลลี่ หนำซ้ำพ่อยังต้องแบกรับหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัวด้วยการทำงานในเหมืองจนแทบไม่มีเวลาให้กับบิลลี่ ทำให้พ่อแสดงความรักออกมาในรูปแบบของตัวเอง ด้วยการแบ่งเงินให้บิลลี่ไปเรียนชกมวยและหวังว่าวันหนึ่งบิลลี่จะกลายเป็นนักมวยที่ดีและมีชื่อเสียง ไม่ต้องมาลำบากเหมือนกับตัวเขาหรือพี่ชายของบิลลี่
ดังนั้น อาจสรุปได้ว่า ต่างคนก็ต้องมีความคิดของตัวเอง ขาดก็แต่ความเข้าอกเข้าใจในเหตุผลของกันและกัน เพราะต่างคนต่างอยากชนะอีกฝั่ง จนหลงลืมไปว่าทั้งคู่นั้นรักกันมากเพียงใด
ครูคือแม่ที่เข้าใจ
เมื่อพ่อไม่เข้าใจ บิลลี่เลยแอบไปหามิสซิสวิลกินสันเพื่อขอคำแนะนำ เธอจึงอาสาแอบสอนบัลเล่ต์ให้บิลลี่ฟรีๆ แบบตัวต่อตัว โดยตั้งเป้าให้บิลลี่ไปสอบคัดตัวที่ ‘Royal Ballet’ หรือโรงเรียนสอนบัลเล่ต์อันโด่งดังแห่งกรุงลอนดอน
ฉากนี้ผมปลื้มใจไม่น้อย เมื่อได้เห็นความรักที่บิลลี่มีต่อพ่อ เพราะแม้พ่อจะไม่เข้าใจเขา แต่พอมิสซิสวิลกินสันต่อว่าพ่อ บิลลี่กลับรีบแก้ต่างว่า “เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดของพ่อ”
ในคาบเรียนส่วนตัวครั้งแรก มิสซิสวิลกินสันให้บิลลี่นำของที่รักที่สุดมาด้วย ปรากฏว่าบิลลี่นำจดหมายก่อนตายของแม่มาให้เธออ่าน
“…แม่รู้ว่าแม่คงเป็นเหมือนความทรงจำอันเลือนรางของลูกซึ่งมันน่าจะเป็นสิ่งที่ดี มันคงเป็นเวลาอันเนิ่นนานและแม่คงไม่มีโอกาสได้ดูลูกเติบโต ดูลูกร้องไห้ หัวเราะ และตะโกน แม่คงไม่มีโอกาสอบรมสั่งสอนลูก แต่โปรดรู้ว่าแม่ภูมิใจที่ลูกเป็นลูกของแม่ จงเป็นตัวของตัวเอง และแม่รักลูกตลอดไป”
ผมรู้สึกว่าจดหมายของแม่ ตอกย้ำให้เห็นว่าบิลลี่โชคร้ายที่สูญเสียบุคคลที่รักและเข้าใจเขามากที่สุด แต่อีกใจความรักของแม่ ก็คล้ายส่งผ่านมายังมิสซิสวิลกินสันที่ดูจะซาบซึ้งกับข้อความนี้เป็นพิเศษ จนผมรู้สึกว่าเธอได้รับไม้ต่อในการทำหน้าที่แม่ให้กับบิลลี่ ด้วยการอุทิศเวลาให้กับลูกศิษย์โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน
แต่บิลลี่กลับไม่คิดเหมือนผม เมื่อการฝึกเพื่อสอบคัดตัวทวีความเข้มข้นขึ้น บิลลี่ก็มักออกอาการใจฝ่อและตีโพยตีพายยามหมุนตัวไม่ได้ สุดท้ายเขาจึงเริ่มงอแงและทำตัวไม่น่ารัก นั่นคือการไม่ฟังคำสั่งของมิสซิสวิลกินสัน ลามไปถึงขั้นต่อว่าครูผู้มีพระคุณด้วยคำพูดที่ไม่น่ารัก
“ผมพยายามแล้ว ครูจะไปรู้อะไร ครูมีบ้านหรูๆ กับสามีที่เมาได้ทั้งวัน ครูก็เหมือนคนอื่นๆ คอยแต่บอกว่าผมต้องทำอะไร ผมไม่อยากไปทดสอบคัดตัวอะไรงี่เง่านั่นอีก ครูอยากให้ผมทำเพื่อผลประโยชน์ของครูเอง เพราะครูเป็นคนล้มเหลว ครูไม่มีแม้กระทั่งโรงเรียนบัลเล่ต์เป็นเรื่องเป็นราว จนต้องมาขอแบ่งพื้นที่กับโรงยิมเก่าๆ ชีวิตของครูมันบัดซบเลยต้องมาลงที่ผมงั้นเหรอ”
บิลลี่ถูกตบหน้าแทนคำตอบ มิสซิสวิลกินสันเองก็เสียใจที่ใช้กำลังกับศิษย์รัก ทว่าฝ่ามือนั้นก็เหมือนน้ำที่สาดหน้าเรียกสติบิลลี่กลับมา เขารีบโผกอดครูที่รักและกลับมาตั้งใจฝึกฝนแทนคำขอโทษ จนมีฝีไม้ลายมือโดดเด่นไม่ธรรมดา
พ่อผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ
บิลลี่นัดกับมิสซิสวิลกินสันว่าจะไปคัดตัวที่ Royal Ballet แต่พอวันคัดตัวมาถึง บิลลี่กลับไม่มาตามนัด เธอจึงบุกไปที่บ้านของบิลลี่ ก่อนปะทะคารมกับพ่อและพี่ชายของบิลลี่อย่างหนัก โดยเฉพาะพี่ชายที่ต่อว่าและขู่จะทำร้ายเธอหากยังขืนดึงน้องมาเกลือกกลั้วกับการเต้นรำพรรค์นี้อีก
“คุณกำลังทำอะไร จะทำให้เขาเสียคนไปทั้งชีวิตเหรอ ดูเขาสิ เขาเพิ่ง 11 ขวบเอง ให้ตายเถอะ ผมจะไม่ยอมให้น้องต้องเต้นกินรำกินเพื่อความพอใจของคุณหรอก เขาจะได้อะไรจากมัน คุณพาเขาไปไม่ได้ เขายังเด็ก ให้เขาใช้ชีวิตวัยเด็กเถอะ”
การพูดคุยจบลงอย่างล้มเหลว หลังจากนั้นพ่อกับพี่ชายก็ไม่คิดจะพูดกับบิลลี่ในเรื่องนี้อีก ทำให้บิลลี่เก็บกดและระบายมันผ่านการเต้น โดยเฉพาะในคืนคริสต์มาสที่เขาชวนเพื่อนชายมาเต้นบัลเล่ต์ในโรงยิม หารู้ไม่ว่าพ่อกำลังแอบดูพฤติกรรมของเขาด้วยความผิดหวัง
เมื่อเห็นพ่อ แทนที่จะแก้ตัวหรือก้มหน้าจำนน บิลลี่กลับตัดสินใจเต้นออกมาอย่างบ้าคลั่ง เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกและแสดงศักยภาพทั้งหมดที่เขามี ท่ามกลางสายตาของพ่อที่เบิกกว้างและตกใจถึงขั้นวิ่งหนีออกจากโรงยิม
พ่อวิ่งหนีบิลลี่ที่ตามมา และวิ่งออกไปเรื่อยๆ จนถึงบ้านของมิสซิสวิลกินสัน เพียงแต่คราวนี้พ่อมาเพื่อปรึกษาเธอว่าบิลลี่ต้องใช้เงินทั้งหมดเท่าไหร่ในการสอบคัดตัว (แม้มิสซิสวิลกินสันยินดีจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนก็ตาม)
“ผมไม่ได้มาขอความอุปถัมภ์ ขอบคุณสำหรับทุกอย่างที่คุณทำให้บิลลี่ แต่เขาเป็นลูกของผม ผมจะจัดการเรื่องเงินเอง”
จากนั้นผมก็หลั่งน้ำตาให้กับฉากที่ พ่อ…หนึ่งในแกนนำคนสำคัญของสหภาพแรงงานเหมืองถ่านหิน ผู้ต่อต้านรัฐบาลและก่นด่าผู้ที่ยอมจำนนกลับไปทำงานว่า ‘คนทรยศ’ แต่ตอนนี้เพื่อความฝันของบิลลี่ พ่อกลับละทิ้งศักดิ์ศรีและกลายเป็น ‘คนทรยศ’ ต่ออุดมการณ์ ด้วยการกลับไปทำงาน ท่ามกลางคำพูดดูถูกเหยียดหยามทั้งจากฝ่ายประท้วงและฝั่งตรงข้าม เพียงเพื่อหาเงินมาสนับสนุนความฝันที่ไม่การันตีความสำเร็จของบิลลี่ลูกรัก
ผมมองว่านี่คือความรักที่ยิ่งใหญ่ของพ่อคนหนึ่งที่พึงจะมอบให้ลูก พ่อที่แม้จะจนทรัพย์สินแต่ก็ไม่ยอมจนใจต่อโชคชะตา และพร้อมหักหลังตัวเองเพื่อสานฝันให้ลูก
มากกว่านั้นคือพ่อยอมนำเครื่องประดับของแม่มาจำนำด้วยความช้ำใจจนได้เงินครบจำนวน และสามารถพาบิลลี่ไปสอบคัดตัวจนได้รับคัดเลือก โดยที่พ่อไม่เคยปริปากทวงบุญคุณและสาธยายความยากลำบากในการหาเงินสักครั้ง จนในที่สุด ‘บิลลี่ เอเลียต’ เติบโตขึ้นและกลายเป็นนักเต้นบัลเล่ต์ระดับแนวหน้าของอังกฤษ