- ก้าวเข้าสู่ปีใหม่ 2025 เติมพลังบวกให้ชีวิต ด้วยหนังสือแนะนำ 7 เล่มที่จะพาคุณไปสำรวจ 7 แนวทางความคิด เกี่ยวกับเวลา การกระทำ คำพูด ความคิด จิตใจและความรู้สึก เพื่อการเริ่มต้นใหม่ที่สดใสกว่าเดิม
- ทั้ง 7 เล่มนี้ ชวนให้ผู้อ่านโอบกอดตัวเอง ยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบ และมองหาโอกาสในการเรียนรู้จากความผิดพลาด โดยเน้นย้ำถึงการมีทัศนคติเชิงบวก การปล่อยวางอดีต และการใช้ชีวิตอย่างมีสติ รวมถึงการใช้คำพูดเชิงบวก และการรู้จักจังหวะเวลา เพื่อการเริ่มต้นใหม่ และเติบโตอย่างแท้จริงในแบบฉบับของตัวเอง
ประโยคที่ว่า ‘รักตัวเองไม่เจ็บเลยสักวัน’ อาจไม่ได้เป็นเพียงชื่อเพลง หรือแค่ประโยคไวรัลไว้พิมพ์คุยกันขำๆ สำหรับคนที่รู้ว่าโลกใบนี้ ไม่ได้ใจดีกับทุกคน และความจริงโลกไม่ได้มีหน้าที่ใจดีกับใคร แต่คนต่างหากที่ควรใจดีต่อกัน และคนที่ควรจะใจดีด้วยที่สุดก็คือตัวเราเอง ยิ่งในวันที่เจอเรื่องเจ็บปวด ความผิดหวัง ไม่เป็นอย่างใจ ความพลาดพลั้ง ใจพัง ก็ยิ่งต้องโอบกอดตัวเองให้เป็น แม้ว่าในช่วงเวลานั้น อาจนำไปสู่ความรู้สึกไร้ค่า เฝ้าโทษตัวเองว่า เราคงไม่ดีพอ เรายังเก่งไม่พอ เราล้มเหลว ไปไม่ถึงเป้าหมาย แต่ในความเป็นจริงเราต้องไม่ลืมว่า การโบยตีตัวเองด้วยถ้อยคำ ด้วยความคิดลบๆ แทบไม่เกิดประโยชน์
ในทางตรงข้าม หากได้มองมุมบวกว่า ความล้มเหลวอาจเป็นโอกาสของการเรียนรู้และเริ่มใหม่ หากวันนี้เรายังไม่พร้อม ก็ยังมีวันต่อไป ลองให้ Life Lessons พาเราไปเจอเรื่องราวบทใหม่ การกลับมาเป็นตัวเองที่แข็งแกร่ง โดยไม่จำเป็นต้องนับก้าวแข่งกับใคร ไม่จำเป็นต้องอยู่ในจุดสตาร์ทเดียวกัน และหากอยากสตาร์ทใหม่ด้วยการอ่านฮีลใจ ขอแนะนำ 7 เล่มนี้ กับ 7 แนวทางความคิดเกี่ยวกับเวลา การกระทำ คำพูด ความคิด จิตใจ และความรู้สึกถึงการเริ่มต้นใหม่ สู่ปี 2025 ระหว่างบรรทัดใดบรรทัดหนึ่ง เราอาจได้บทสนทนาใหม่ๆ ที่มีกับตัวเองเพื่อก้าวไปข้างหน้าอย่างสุขใจ
ไม่ต้องได้ทุกอย่างเพื่อมีความสุข : JOMO
“ยอมรับในสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แล้วพยายามใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเสมอ ไม่พยายามลบอดีตและยอมรับสิ่งที่เป็น ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ผิดพลาดหรือล้มเหลว”
คำโปรยที่แทนความเป็นหนังสือ ‘JOMO : ไม่ต้องได้ทุกอย่างเพื่อมีความสุข’ ที่คำว่า JOMO แทนถึง joy of missing out อ่านแล้วดูสวนทางกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ที่มักมองว่าได้ทุกสิ่งที่ต้องการแล้วจะมีความสุข โดยนำประสบการณ์จริงจากผู้คนหลากหลายมาย่อยให้เข้าใจง่ายๆ อ่านง่ายๆ และแทนหมวดหมู่ในเล่มด้วยความรู้สึก เช่น รู้สึกดีที่ลอง รู้สึกดีที่ยอม รู้สึกดีที่แพ้ ทั้งๆ การแค่ลอง ต้องยอม หรือพ่ายแพ้ ตามค่านิยมคนส่วนใหญ่ มันคือผลทางลบมากกว่าจะเป็นบวก แต่เมื่ออ่านไป เราจะค่อยๆ เข้าใจว่าการบอกเล่าด้วยประสบการณ์การจัดการ วิธีการใหม่ที่มาจากวิธีคิดใหม่ มันก็คือการไม่ด้อยค่าผลของการกระทำอย่างตั้งใจเมื่อไม่สำเร็จ แต่กลับมองว่านี่คือคุณค่าอีกด้านที่ทำให้ชีวิตเติบโตอย่างมีบทเรียน แม้ว่ามันจะเป็นบาดแผลเจ็บปวดแค่เพียงเปลี่ยนวิธีคิดก็จะมองเป็น ‘ความเจ็บปวดที่งดงาม’
หนังสือพาไปสำรวจวิธีการและวิธีคิดที่ผู้นำใช้ โดย ธนา เธียรอัจฉริยะ เขียนด้วยมุมมองของตนเอง บวกประสบการณ์บริหารธุรกิจมาด้วยตัวเอง จึงเชื่อมต่อบทสัมภาษณ์หรือสิ่งที่ได้แลกเปลี่ยนและได้ฟังจากผู้นำอื่นๆ มาเขียน เพื่อจะบอกว่า การปรับทัศนคติมีผลมากๆ ต่อการลงมือ ทั้งเล่มจึงเป็นการรวบรวม 50 ทัศนคติในรูปแบบบทความสั้นๆ เล่าถึงชีวิตหลากหลายที่กล้าโอบรับความพ่ายแพ้ พลาดพลั้ง ล้มเหลว และไม่หวั่นไหวไปกับสิ่งเร่งเร้าว่าต้องได้ ต้องมี ต้องเป็นทุกอย่าง ด้วยการยอมรับว่าชีวิตคนเราจะสลับไปสลับมาระหว่างความล้มเหลวกับความสำเร็จ ไม่มีใครเก่งตลอดเวลา
บางคนอาจเคยได้ยินประโยคที่ว่า “อยากไปนั่งโง่ๆ อยู่ริมทะเล” โดยความหมายแล้วก็คือการไปพักใจ ไม่ต้องใช้ความคิดกับอะไรมากมาย ซึ่งอาจนึกไม่ถึงว่า ความจริงแล้วในการนั่งโง่ๆ นั้น มันมีศิลปะแห่งการนั่งโง่ๆ อยู่ และเป็นทัศนคติหนึ่งที่ผู้เขียนรวบรวมไว้ ผ่านการยกตัวอย่าง ที่อยู่คนละด้านกับแนวคิดโปรดักทีฟ ว่าไม่จำเป็นต้องออกมาแข่งกันคนเก่งๆ หรือพัฒนาตัวเองตลอดเวลา แถมล่าสุดก็ยังต้องแข่งกับ AI อีก
ในบทความนี้อ้างอิงจากงานเขียนของนิ้วกลม How to Live a Good Life เล่าถึงปรัชญาชาวดัตช์ ซึ่งเป็นชนชาติที่มีความสุขชาติหนึ่งของโลก กับแนวคิดที่เรียกว่า ‘นิกเซน’ หมายถึงการไม่ทำอะไรเลย หรือพลังแห่งการพัก แล้วทำไมการไม่ทำอะไรเลย หรือการไม่มีเป้าหมายชัดเจนจึงเป็นเรื่องที่ดี คำตอบก็คือเพราะต่อให้เราไม่ทำอะไรเลย แต่สมองเราไม่ได้หยุดทำงาน ความคิดสร้างสรรค์ก็จะมาในช่วงเวลานี้ อย่างที่เราเห็นตัวอย่างจากไอน์สไตล์ที่คิดอะไรเจ๋งๆ ออกตอนเล่นไวโอลิน หรือเซอร์ไอแซก นิวตัน ก็คิดออกตอนนั่งโง่ๆ อยู่ใต้ต้นแอปเปิ้ล
สิ่งสำคัญก็คือการลดความเครียดลง จะทำให้ได้ความคิดดีๆ ศิลปะแห่งการนั่งโง่ๆ ก็คือ ปล่อยให้ตัวเองนั่งโง่ๆ บ้างโดยไม่รู้สึกผิด เพราะเราอาจค้นพบความคิดสำคัญตอนที่ไม่ต้องทำอะไรเลยนั่นเอง
ในเล่มนี้ก็ยังเล่าถึงการสื่อสารอย่างไร้พลังไว้ด้วย 3 ข้อ คืออย่าพยายามสร้างแค่ภาพความแข็งแกร่ง แต่ต้องเปิดเผยจุดอ่อนไปพร้อมกัน ,อย่าพูดอย่างฟันธงตลอด ต้องมีความไม่แน่ใจปนบ้าง และสุดท้ายไม่จำเป็นต้องมีคำตอบทุกเรื่อง แค่ถามเยอะๆ แทน แนวคิดสำคัญก็คือการที่เราไม่ต้องคอยเปรียบเทียบตัวเองกับใคร การที่เราไม่ต้องล็อคสเปคหรือยึดอยู่กับคุณค่าบางประการ แม้แต่ชัยชนะความสำเร็จของเราในชีวิตที่ผ่านมาก็ยึดติดกอดรั้งไว้ไม่ได้ ทุกสิ่งย่อมเดินไปข้างหน้า
วิชาใจเบา : LIGHTER
“การเยียวยาไม่ใช่การเติมเต็มชีวิตด้วยความพึงพอใจ และไม่ใช่การไม่พบช่วงเวลายากลำบากอีกเลย แต่มันคือการอยู่กับความจริง และเผชิญหน้ากับความรู้สึก” เป็นประโยคเริ่มต้นสำหรับการเดินทางสู่ ‘วิชาใจเบา’ หนังสือที่นิยามว่าเป็นการปลดปล่อยพันธนาการในอดีต โอบกอดปัจจุบันที่เบาสบาย สู่อนาคตแห่งความเป็นไปได้
ในปีที่ผ่านมา อาจเป็นปีที่ใครหลายคนรู้สึกว่าเจอเรื่องทางใจที่ยากจะรับมือและไปต่อ บางคนตกอยู่ในความเศร้าความกังวล และส่งผลกับสุขภาพจิตโดยตรง แม้ได้รับคำปลอบโยนว่าให้ปล่อยวางอดีตและนึกถึงปัจจุบัน แต่คนล้วนมีความขุ่นมัวของจิตใจเป็นต้นตอและภูมิหลังของอารมณ์แต่ละคนต่างกันไป หนังสือนี้จะช่วยให้มองถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพจิตใจที่สามารถทำได้เอง ด้วยวิธีคิด วิธีปฏิบัติ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ ด้วยพลังสะท้อนการเติบโตและความเป็นผู้ใหญ่ โดยไม่เน้นความสมบูรณ์แบบ
ความคิดหนึ่งที่กล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้ คือ อย่าไปคาดหวังว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามแผน เพราะความจริงการเปลี่ยนแปลงมีอยู่ตลอด และการปล่อยวางนั่นแหละที่จะช่วยปลดตัวเองจากสิ่งถ่วงรั้งอย่างคำพิพากษาที่ไม่รู้ตัว สิ่งที่ถูกเล่าถึงเป็นสิ่งแรกๆ คือ การรักตัวเอง ซึ่งนักเขียนอย่าง Yung Pueblo เลือกที่จะแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวจากการใช้ยาเสพติดแล้วเลือกจะสิ้นสุดกับมัน ในตอนที่รู้สึกว่าโลกทั้งใบของตัวเองถูกดูดกลืนลงในหลุมดำ การเปลี่ยนแปลงก็เริ่มขึ้นหลังจากนั้น
ผู้เขียนเปรียบการรักตัวเองว่าเป็นข้อต่อชิ้นสำคัญ เพราะแม้จะแสวงหาความซาบซึ้งใจจากผู้อื่นพบ ก็ให้พลังไม่เท่ากับความซาบซึ้งใจ ความสนใจ และความอ่อนโยนที่มีให้กับตัวเอง ผู้เขียนเห็นว่าเทรนด์การรักตัวเอง เริ่มต้นราวปี 2014-2015 จึงค่อยๆ ประเมินว่าการรักตัวเองมีจริงไหมและจำเป็นไหม
การรักตัวเองไม่ใช่การวางตัวเองไว้เป็นอันดับแรกในทุกสถานการณ์ เพราะมันสุ่มเสี่ยงที่วิธีคิดนี้จะกลับกลายเป็นการตกลงในกับดักของอัตตา หมายถึงการคิดถึงแต่ตัวเองจนกลายเป็นสุดโต่ง และไม่สนใจสวัสดิภาพของคนอื่น
สิ่งที่ดูสมเหตุสมผลที่สุดในความคิดของผู้เขียนคือ การเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับความเห็นอกเห็นใจ ความซื่อสัตย์และเปิดกว้าง พูดให้เข้าใจง่ายๆ อีกอย่างคือ การรักษาตัวเอง คือการโอบกอดทุกสิ่งที่เราเป็น และรู้ว่าเรายังมีพื้นที่ให้เติบโต
การเยียวยาจะเกิดขึ้นจากตัวเอง เมื่อเราตรวจสอบชีวิต ความคิด จิตใจอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะเรื่องราวในอดีต หากเต็มไปด้วยสิ่งยึดติด ก็จะรบกวนขัดขวางการตัดสินใจได้ แต่โดยธรรมชาตินั้น มนุษย์มีสิ่งปิดกั้นภายใน เช่น หากจิตใจเต็มไปด้วยความโกรธ ความเครียด ก็ย่อมไม่พบความสงบ ผู้เขียนใช้เวลา 3 ปี ในกระบวนการนั้นมีการทำสมาธิอยู่ และวันหนึ่งก็พบว่าตัวเองมีพลังมากพอจะทำสมาธิทุกวัน แม้อาจเป็นเรื่องยากในการวัดผลว่าสมาธิช่วยในการเยียวยาได้อย่างไร แต่สิ่งที่เห็นชัดก็คือ การทำสมาธิสอนให้สร้างสมดุลในใจ ช่วยชะล้างสิ่งที่สะสมอยู่ในจิตใต้สำนึก เมื่อเกิดปัญหาก็ไม่วิ่งหนีหรือกดข่มอารมณ์ เพราะมองเห็นสิ่งที่เป็นจริงในร่างกายและจิตใจ
ส่วนที่กล่าวถึง ‘การปล่อยวาง’ คือการยอมรับช่วงเวลาปัจจุบันอย่างสนิทใจ แทนที่จะยึดติดกับความเครียดหรือสะสมอารมณ์ลบๆ ก็กลายเป็นการให้ความสำคัญกับการดึงตัวเองกลับสู่ความเป็นจริง และใช้พลังงานจิตคืนสมดุลชีวิตกลับมา
การแบ่งเรื่องราวทั้งเล่มออกเป็น 11 บท มีเรื่องของการค้นหาวิธีฝึกฝน นิสัยของมนุษย์และธรรมชาติของมนุษย์ วุฒิภาวะ ความสัมพันธ์ การเปลี่ยนแปลงภายในที่กระเพื่อมสู่ภายนอก เป็นการไล่เรียงไปตามขั้นตอนฝึกใจ ด้วยตัวอย่างเหตุการณ์ ความคิดต่อสิ่งนั้นๆ และการแสดงออกหรือปฏิบัติ ซึ่งการยอมรับช่วงเวลาที่ยากลำบาก จัดอยู่ในบทรวบรวมเรื่องเกี่ยวกับวุฒิภาวะ ว่าในช่วงเวลาความยากลำบากจะมีความท้าทายอยู่กับโอกาส การเยียวยาจะเป็นการเคลียร์พื้นที่ในจิตใจที่เคยแบกรับมา เคลียร์ปัญหาภายในเก่าๆ และภายหลังเยียวยาก็จะนำไปสู่การเข้าใจความเปลี่ยนแปลง เมื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ เราก็อาจได้มองโลกด้วยดวงตาคู่ใหม่
พลังแห่งการเยียวยาที่ล้ำค่าที่สุดในชีวิต : Healing is the New High
มีคำเปรียบว่า “การเยียวยาจากภายในด้วยตัวเอง เป็นหนึ่งในการรักตัวเองที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” สอดคล้องกับการอธิบายถึงความเจ็บปวดในใจของคนๆ หนึ่ง ที่แม้จะมีตัวช่วยจากภายนอก ทั้งเพื่อน พี่น้อง จิตแพทย์ แต่ในความเป็นจริง คนที่จะรับรู้ถึงความเจ็บปวดของเราได้มากที่สุดก็คือตัวเราเอง ทำให้ Vex King ยืนยันว่า ตัวเราเองคือผู้เยียวยาตัวเองได้ดีที่สุด และเขียนออกมาในรูปแบบของคู่มือและแบบฝึกหัดที่สามารถฝึกได้ด้วยตัวเอง ต่างจากหนังสือเพื่อการเยียวยาเล่มอื่นที่ส่วนมากจะให้แนวคิด วิธีคิด แต่ Healing is the New High บวกวิธีทำเข้าไว้ด้วย จนเป็นเทคนิคการเยียวยาผ่านระดับชั้นต่างๆ ผสมผสานหลักการของโยคะ รวมถึงการค้นลึกว่าอะไรเป็นสิ่งกระตุ้นให้รู้สึกเจ็บปวดที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อน การกำจัดความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ การปลดปล่อยความเชื่อจากกรอบเดิม และการค้นพบศักยภาพที่แท้จริง นี่จึงเป็นหนังสือที่มุ่งเน้นความเข้าใจว่า ‘การเยียวยาจิตใจเป็นการปล่อยวางเงื่อนไขในอดีตและสร้างระบบความเชื่อใหม่อันทรงพลังให้กับตัวเราเอง’
แบบฝึกหัดหนึ่งกล่าวถึงการเคลื่อนย้ายพลังงานและสร้างพื้นที่เสริมสร้างศักยภาพ เริ่มต้นจากรู้สึกสบายใจกับสิ่งแวดล้อม แล้วให้เป็นเรื่องของพื้นที่ในหัว จากนั้นทำตาม 8 ขั้นตอนแบบหลับตา หลังพิงกำแพง จากแบบฝึกหัดนี้จะให้ความรู้สึกต่างกันในแต่ละคน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือการเคลื่อนไหวและปลดปล่อยพลังงาน จากการทำให้ร่างกายหลุดจากสิ่งกีดขวาง ขยับตัวโดยไม่มีสิ่งดึงรั้ง ได้ปลดปล่อยความเครียดจากการจินตนาการถึงร่างกายใหม่ และตามมาด้วยความคิดใหม่
ในหน้าถัดๆ ไป จะเจอการให้ความหมายเกี่ยวกับแรงสั่นสะเทือนหรือกระแสความถี่ที่เป็นพลังงานในตัว การถามตัวเองว่ารู้สึกอย่างไร ต้องการอะไร คิดอะไร ก็คือการเช็คระดับความรู้สึก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเยียวยาจิตใจ หลักคิดหนึ่งที่มากับเรื่องแรงสั่นสะเทือนก็คือ หากเรากำลังเจ็บปวดก็เป็นไปได้สูงที่จะดึงดูดคนที่เจ็บปวดเข้ามาหา หากเราไม่เชื่อในคุณค่าของตัวเอง คนอื่นก็จะไม่ปฏิบัติกับเราแบบไม่ยอมรับนับถือ นั่นหมายถึงหากเรามีแรงสั่นสะเทือนต่ำ หนักอึ้งและมืดมน ก็ยากที่จะดึงดูดคนที่สั่นสะเทือนสูงกว่า เบากว่า และสดใสกว่าเข้ามา
แบบฝึกหัดในบทที่ลึกไปกว่านั้น คือการเขียนความเชื่อที่จำกัดของเราใหม่ หลังจากได้ทำรายการเกี่ยวกับความเชื่อที่มีข้อจำกัดอยู่ในจิตสำนึกไปแล้ว เช่น บาดแผลทางใจหรือประสบการณ์ที่เจ็บปวด การเลือกความเชื่อใหม่ ควรเลือกความเชื่อที่เด่นชัด เช่น ความเชื่อที่ทำให้ไม่มั่นใจที่สุดหรือฉุดรั้ง แล้วทำสมาธิกับรายการความทรงจำ มีคำแนะนำในการทำว่า ให้ทำหลังจากตื่นนอนจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะในทางประสาทวิทยาจิตใจจะตั้งโปรแกรมได้ง่ายกว่า ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจะตื่นไปยังหลับหรือหลับไปยังตื่น ชาวพุทธทิเบตเรียกช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านนี้ว่า ‘บาร์โดแห่งความฝัน’ เปรียบว่าเป็นโอกาสทองของการฝึกสมาธิหรือเตรียมเข้าสู่การฝันแบบรู้ตัว
ทุกแบบฝึกหัดในหนังสือคือการนำพาไปสู่อิสรภาพ ปลดเปลื้องน้ำหนักของอดีต แต่ก็ต้องยอมรับไว้ด้วยว่า อิสรภาพในทางใจไม่ได้หมายถึง การมีความสุขตลอดเวลา
เมื่อฝึกไปถึงขั้นที่ร่างกายและจิตใจพร้อม ให้ก้าวเท้าออกไปข้างนอกหรืออยู่กับธรรมชาติ อาจเป็นป่า แม่น้ำ หรือทะเล สังเกตสิ่งรอบตัวในขณะเดิน สังเกตสิ่งภายในตัว เป็นแบบฝึกหัดเรื่องการเดินในโลกด้วยความรู้สึกอิสระอย่างลึกซึ้ง สิ่งนี้ก็เพื่อจะบอกว่าถึงเวลาเปิดเผยตัวเองกับโลก ไม่ต้องซ่อนตัวเองกับใคร มองเห็นว่าในโลกนี้ ไม่มีใครเป็นเหมือนกัน
พูดเรื่องบวกเรียกโชคดี พูดเรื่องดีเรียกความสุข
เวลาที่คนเรานึกถึง ‘คำพูด’ เรามักนึกไปถึงคำที่เราใช้พูดกับผู้อื่น โดยลืมนึกถึงคำที่เราใช้พูดกับตัวเอง ทั้งที่จริงๆ คนที่เราพูดด้วยมากที่สุด ก็คือตัวเราเองทั้งในยามสุขและทุกข์ ซึ่งเป็นเรื่องภายใน คล้ายๆ กับที่หนังสือ ‘พูดเรื่องบวกเรียกโชคดี พูดเรื่องดีเรียกความสุข’ กล่าวถึง จิตวิญญาณของถ้อยคำว่า มีพลังเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของคนเราได้ หรือเรียกว่า ‘โคะโตะดะมะ’ อันเป็นความเชื่อโบราณของญี่ปุ่น ที่หมายถึงในถ้อยคำมีจิตวิญญาณสถิตอยู่ จนกลายเป็นคำสอนถึงการพูดจากับคนภายนอกหรือสื่อสารภายในตน คำที่ใช้กับคนภายนอกก็อย่างเช่น “มีอะไรให้ช่วยไหม” อาจฟังดูเป็นคำพูดธรรมดาๆ แต่แสดงถึงน้ำใจความเอื้ออาทรที่มากับคำพูด ให้ผลตรงข้ามกับคำพูดเชิงลบที่ทำให้จิตใจหมองหม่น แล้วทำไมต้องเปลี่ยนคำพูดลบๆ ให้เป็นคำพูดบวกๆ หนังสือให้ความหมายว่า เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของความสุขและความโชคดีจากคำที่ใช้พูดทุกวัน
เคล็ดไม่ลับของความสุขความสำเร็จในชีวิต ที่เกิดจากการใช้คำพูดดีๆ สรุปมาไว้เป็น 75 วิธี ใช้คำพูดเพื่อดึงดูดความสุขมาไว้ตรงหน้า ว่าหากพูดดีก็จะมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้น รวมถึงคำพูดที่ช่วยคลายกังวล คำพูดดึงดูดพลังงาน คำพูดที่ทำให้ความสัมพันธ์กับคนรอบตัวราบรื่น คำพูดสื่อความคิด คำพูดที่ทำให้ความรักสมหวังและคำพูดพลิกชีวิต ในบางครั้งที่เราพร่ำบ่นถึงสิ่งที่เราไม่พอใจ โดยไม่รู้ว่าคำบ่นซ้ำแบบนี้คือศัตรูของความสุข หรือแม้แต่คนที่ชอบนินทาว่าร้ายผู้อื่น มารู้ตัวอีกที ความรักก็ถอยห่างจากเขาไปเรื่อยๆ
และเมื่อไหร่ที่เราเฝ้าตำหนิกล่าวโทษตัวเอง นั่นคือช่วงเวลาที่เราส่งความเกลียดชังมาเป็นเชื้อไฟเผาผลาญตัวเราไปด้วย ทำให้หนังสือมุ่งเน้นถึงการทำความเข้าใจว่าคำพูดเชิงบวกกับเชิงลบ มีคุณมีโทษกว่าที่เคยเข้าใจ
ข้อสรุปเกี่ยวกับพลังงานลบของคนที่เอาแต่พูดเรื่องไม่ดี หรือความคิดถึงสิ่งที่ไม่พอใจตนเองและสภาพแวดล้อมรอบตัว อ้างอิงมาจาก ดร.โจเซฟ เมอร์ฟี (Joseph Murphy) นักปรัชญาแห่งความสำเร็จ ที่บรรยายถึง ‘จิตสำนึก’ ภายในใจของคนเรา ว่าจิตสำนึกมีพลังมหาศาลที่สามารถสัมผัสรู้ถึงความรู้สึกแรงกล้าของบุคคล และชักนำไปยังทิศทางที่บุคคลนั้นปรารถนา ดังนั้นการพูดถึงสิ่งที่ไม่พอใจ คร่ำครวญว่าตัวเองโชคร้าย ดูถูกตัวเองว่าทำอะไรก็ไม่สำเร็จ ก็คือการฝังชิพลงไปในจิตใต้สำนึก แล้วทำไมการพูดคำร้ายๆ แง่ลบถึงคนอื่น เมื่อนานไปจึงทำให้ไม่เป็นที่รัก นั่นเป็นเพราะว่า คนอื่นก็สามารถรับรู้ถึงพลังงานลบของคนที่พูดเรื่องไม่ดี และพากันถอยห่างหรือมีระยะห่าง เพราะไม่อยากตกเป็นตัวละครจริงในวงสนทนาแง่ลบ
นอกจากคำพูดที่มีกับคนรอบข้าง การเลิกใช้ถ้อยคำดูหมิ่นตัวเองจะเป็นตัวช่วยนำพาเราไปในทิศทางบวก ในเรื่องนี้จัดอยู่ในกลุ่มคำพูดสำหรับตัวเอง อย่างการไม่ด่วนตัดสิน การรู้จักให้อภัยตัวเอง การปลอบโยนตัวเอง การยอมรับตนเอง และการเลิกหลอกตัวเอง ที่หมายถึงการไม่ยอมรับตัวเองอย่างที่เป็นอยู่
ข้อดีก็คือการมีชีวิตที่ซื่อตรง จะทำให้ไม่ต้องเหนื่อยสร้างภาพถมช่องว่างระหว่างคำพูดที่ใช้หลอกลวงกับตัวตนที่แท้จริง และในที่สุดก็จะเห็นข้อดีของตัวเองแน่นอน
ประโยคที่ว่า ‘คำพูดเปลี่ยนจิตสำนึกเปลี่ยน’ เกิดจากการทำความเข้าใจกฎแห่งการทำงานของจิตสำนึกและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ นำไปสู่การทำสิ่งที่ปรารถนาให้เป็นจริง อธิบายอยู่ในส่วนของการสร้างนิสัย เราชอบวิธีการหนึ่งที่หนังสือแนะนำ นั่นคือการจดสิ่งที่ปรารถนาหยอดกระปุกออมสิน เขียนแล้วพับเป็นชิ้นเล็กๆ หยอดสะสมไว้ทุกวัน เพราะมองว่าการเขียนความฝันเป็นการล็อกเป้าหมาย ส่งแรงปรารถนาจะทำให้มันเป็นจริง ซึ่งหมายถึงการส่งพลังงานบวกในทุกๆ วัน ในเชิงจิตวิทยายังอธิบายเรื่องการเปลี่ยนแปลงภายใน เพราะจิตใต้สำนึกจะสั่งการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางดี หากเป็นเรื่องรักให้ใส่ความจริงใจลงไปในคำพูด ไม่ว่าจะเป็นคำขอโทษ คำขอบคุณ การไม่พูดจาที่เป็นการตำหนิอีกฝ่าย คู่รักส่วนใหญ่จะมีปฏิกิริยาต่อต้านอีกฝ่าย หากถูกรุกรานด้วยคำพูด แล้วคำพูดแบบไหนจะดึงดูดคนดีๆ เข้ามาหา หนังสือแนะนำถึงคำพูดเติมใจให้มีความสุข เพราะพลังงานความสุขคือสิ่งดึงดูดความรักดีๆ
การเปลี่ยนโหมดคำพูดอย่างการใช้คำว่า มีตั้งขนาดนี้ แทนที่คำว่า มีแค่นี้เอง คือถ้อยคำเชิงบวกที่ปรับพลังงานในใจ จากที่หดหู่ เศร้าหมองก็กลับกลายเป็นมีกำลังใจปัดเป่าความกังวลใจได้ รวมถึงการใช้คำว่า “ทำได้แน่ๆ” แทนที่คำว่า “ทำไม่ได้หรอก” เป็นคำเติมพลังความเชื่อมั่นที่จะก้าวไปข้างหน้า
วิทยาศาสตร์บนเข็มนาฬิกา : When, The Scientific Secrets of Perfect Timing
ความคิดเกี่ยวกับ ‘เวลา’ ที่คนส่วนใหญ่เจอในช่วง 4-5 หลังมานี้ ผ่านแนวทางมากมายจากอินฟลูบ้าง หนังสือฮาวทูบ้าง เป็นเรื่องของการจัดการเวลาที่มี 24 ชั่วโมงให้คุ้มค่า ในแง่หนึ่งคนที่บริหารเวลาได้ดี ก็เพิ่มโอกาสทำงานแต่ละวันได้สำเร็จตามเวลา มีเดดไลน์กับงานสำคัญ และแบ่งเวลาพักผ่อนได้ แต่เรื่องราวของเวลาจากหนังสือ ‘วิทยาศาสตร์บนเข็มนาฬิกา’ จะเป็นอีกมุมมองเล่าเกี่ยวกับ ‘จังหวะเวลา’ ที่คนไม่ค่อยนึกถึงมากนัก โดยมีคำว่า ‘เมื่อไหร่’ เข้ามาร่วมอย่างการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ เช่น เมื่อไหร่ควรเปลี่ยนงาน เมื่อไหร่ควรแจ้งข่าวร้าย เมื่อไหร่ต้องหย่า หรือเมื่อไหร่ที่จะเริ่มจริงจังกับใครสักคน ซึ่งโดยทั่วไปมักถูกกำหนดจากสัญชาตญาณ แต่หนังสือเล่มนี้จะคลี่คลายว่า จังหวะเวลาเหล่านี้เป็นมากกว่าศิลปะ เพราะยังเป็นวิทยาศาสตร์ด้วย และแทนที่จะจัดอยู่ในหมวดฮาวทู ก็ควรจะจัดเป็นหมวดเว็นทู (When to)
การเล่าเรื่องเป็นการตกผลึกจากงานวิจัย 700 ฉบับ จากต่างสาขากัน เช่น เศรษฐศาสตร์ มานุษยวิทยา จนถึงจิตวิทยาสังคม แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่คือวิทยาศาสตร์ อย่างที่เห็นว่าในประวัติศาสตร์การศึกษาเกี่ยวกับเวลาเป็นเรื่องของนาฬิกาแดดเรือนแรกๆ ในสมัยอียิปต์โบราณ จนถึงการคิดค้นเขตเวลาของโลก ในศตวรรษที่ 19 สร้างขึ้นเพื่อตีกรอบหน่วยเวลาเป็นวินาที ชั่วโมง และสัปดาห์ แต่คงมีเวลาหน่วยหนึ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ด้วย ซึ่งหนังสือจะพาไปสำรวจว่านักวิทยาศาสตร์ได้เรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับจังหวะเวลา เช่น ทำไมจึงไม่ควรตัดสินใจเรื่องสำคัญในช่วงบ่าย โดยแบ่งหนังสือออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นเรื่องวัน ต่อมาคือเรื่องจุดเริ่มต้นจุดกึ่งกลางและจุดสิ้นสุด และปิดท้ายที่ความพร้อมเพรียงและความคิด
การตอบคำถามง่ายๆ เช่น นอนหลับกี่โมง ตื่นนอนกี่โมง เพื่อหาจุดกึ่งกลางของเวลา พาคนอ่านไปสู่กราฟแสดงช่วงเวลากึ่งกลางการนอนของคนส่วนใหญ่ เพื่อให้มองเห็นช่วงเวลาการนอนช่วงใด สอดคล้องกับเพศและช่วงวัยของตัวเอง ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นบุคลิกภาพได้ มีงานวิจัยอธิบายว่าคนนอนเร็วตื่นเช้าเป็นคนน่าคบหาและทำงานได้มีประสิทธิภาพ มีความมั่นคงทางอารมณ์ เทียบได้กับนกจาบฝน ต่างจากคนนอนดึกหรือนกฮูกที่มีนิสัยด้านมืดมากกว่า แม้จะเป็นผู้เปิดรับสิ่งใหม่ๆ มีไอเดียสร้างสรรค์ แต่มีความแปรปรวนทางอารมณ์มาก ชุดข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับกลุ่มนกฮูก คือ พวกเขามีแนวโน้มใช้ยาเสพติด เป็นโรคซึมเศร้าและนอกใจคนรัก แต่ความจริงก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะไม่พบเหตุผลมารองรับว่าคนตื่นเช้ามีศีลธรรมเหนือกว่าคนตื่นสาย
วิทยาศาสตร์บนเข็มนาฬิกา ยังตอบคำถามจริงจังและชวนสงสัย อย่างเช่น ทำไมคนเรามีโอกาสฆ่าตัวตายสูงเมื่ออายุลงท้ายด้วยเลข 9, ทำไมการหย่าร้างมักเกิดหลังช่วงเวลาแห่งความสุข, ทำไมความคิดสร้างสรรค์จึงต้องการเดดไลน์ และเวลาอันตรายที่ไม่ควรไปหาหมอคือกี่โมง? ผู้เขียนคือ Daniel H.Pink ไขปริศนาในโลกวิทยาศาสตร์แห่งเวลานี้ เพื่อให้เข้าใจว่า ‘จังหวะเวลา’ ส่งผลต่อชีวิตอย่างมาก แล้วเราจะนำความเข้าใจมาปรับอย่างไรให้ตัดสินใจได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ตัวอย่างการปิดฉากชีวิตสมรสว่าเมื่อไหร่ดี และมีทางป้องกันไหม มีคำอธิบายถึงว่าสถานการณ์ในชีวิตของแต่ละคู่ต่างกันและยากที่จะให้คำตอบชัดเจน แต่ก็มีงานวิจัยบ่งชี้ถึงการฟ้องหย่าว่า จังหวะเวลาการฟ้องหย่าของคู่สมรสในรัฐวอชิงตัน เกิดขึ้นมากในเดือนมีนาคมและสิงหาคม และคดีหย่าร้างเกิดขึ้นมากในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ มีข้อมูลระบุถึงว่าช่วงวันหยุดฤดูหนาวคู่สมรสจะใช้มันเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อการฉลองสิ้นสุด ก็ยื่นคดีหย่าให้ทนายความทำงาน
การพูดถึงจุดเริ่มต้น มักจะมากับช่วงเวลาชีวิต เช่น ปณิธานปีใหม่ 1 มกราคม ที่บางคนอาจตั้งใจลดแอลกอฮอล์ กลับมารักษาสุขภาพ จัดตารางเวลาออกกำลังกาย แต่พอพ้นเดือน ก็กลับมานอนดูหนัง ดื่มดังเดิม เลิกออกไปวิ่ง แต่นี่คือสิ่งที่กำลังบอกว่า วันแรกของปี คือจุดสังเกตของเวลา ที่สร้างแรงจูงใจและแสดงพลังของการเริ่มต้น
ความสนุกของการอ่านเรื่อง ‘จังหวะเวลา’ เป็นเรื่องของการใช้เหตุผล สถิติ ขยายความเรื่องที่ดูใกล้ตัวและอยู่กับชีวิตแต่ละวัน ช่วงเวลาที่ต้องตัดทอนเรื่องไม่จำเป็น พลังของการหยุดพัก การนอนกลางวันในโลกยุคใหม่ เมื่อไหร่ที่คุณควรเป็นคนแรก ที่น่าจะเป็นคู่มือสนุกๆ ให้กับนักเจาะเวลา หรือหากอยากหาเวลาเพื่อเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ ให้มากกว่าจะสตาร์ทได้แค่ในวันแรกของปี มีคำแนะนำว่าจริงๆ แล้วคุณมีจุดเริ่มต้นรอบปีละ 86 วัน
เป็นตัวเองในแบบที่ดีที่สุด : How to Become the Best Version of Yourself
จุดที่เรียกว่า ‘ตัวเองในแบบที่ดีที่สุด’ ถูกพูดถึงมากขึ้นหลังจากที่มีคอนเทนต์การพัฒนาตัวเองผลิตออกมาผ่านสื่อหลายรูปแบบ ในแง่หนึ่งก็คือความปรารถนาที่จะดีขึ้นในด้านต่างๆ หรือจะเป็นผู้ประสบความสำเร็จ โดยไม่ใช้เกณฑ์ของใครอื่นมาเป็นเส้นชัยหรือต้องอยู่ในมาตรฐานความสำเร็จแบบเดียวกัน
แต่สิ่งสำคัญก็คือการไปในจุดที่เรียกว่าดีที่สุดของตัวเองได้ ต้องผ่านการทำสิ่งที่ไม่คุ้นเคยหรือยากในความคิด และบางครั้งต้องเอาชนะใจตัวเอง หลายคนจึงไปไม่ถึงจุดที่ดีที่สุด เพราะมองไม่เห็นศักยภาพ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้คนมีศักยภาพมากกว่าที่คิด
เราอาจเคยตั้งคำถามกับตัวเอง เช่น เกิดมาเพื่ออะไร มีชีวิตอยู่ทำไม ทำอะไรเก่งบ้าง แม้ดูเป็นคำถามที่คนคุ้นชิน แต่เมื่อเกิดขึ้นในจิตใจ อาจหมายถึงเรากำลังตั้งข้อสงสัยถึงคุณค่าในชีวิตที่ผ่านมา วันนี้ และวันข้างหน้า หลักการพื้นฐานที่มากับหนังสือเล่มนี้คือ การพึงระลึกถึงและตั้งเป้าหมายให้ชัด การมุ่งสร้างผลงานให้เป็นที่ยอมรับ และการกะเทาะเปลือกตนเองที่มากับหลักการ 65 อย่าง เพื่อเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด และการตั้งเป้าหมายคือบันไดขั้นแรกในการขยับก้าวใหม่
การคิดเป็นเรื่องสำคัญ หากเริ่มต้นด้วยการตั้งเป้าหมาย เป้าหมายก็จะเป็นพลังงานและเงื่อนไข ตามหลักการในที่นี้ก็ต้องไม่ให้คำว่าเป็นตัวเองในแบบที่ดีที่สุด กลายเป็นสิ่งสกัดกั้นความคิด และต้องมีเป้าหมายชัดเจน เริ่มต้นด้วยเป้าระยะสั้นๆ เพียง 1 ปี และทำไปเรื่อยๆ ก็จะไปนำสู่เป้าหมายตลอดชีวิตได้ อันที่จริงการตั้งเป้าหมายสัมพันธ์กันความพยายาม แต่ต้องอาศัยผลงานหรือผลสำเร็จเพื่อให้เกิดการยอมรับ เพราะผลงานที่เป็นรูปธรรมคือตัวบ่งชี้ การตั้งเป้าหมายแบบ 1 ปี ทำให้เห็นภาพได้ง่าย และการกำหนดด้วยตัวเลขจะทำให้เห็นเป้าหมายชัดเจน เช่น บรรณาธิการที่ตั้งเป้าว่าจะผลิตงานปีละ 10 เล่มก็จะเกิดการติดต่อพูดคุยกับนักเขียน 10 คน จนกว่าจะครบสำเร็จเป็นชิ้นงาน
ตลอดเล่มจะมีหลักคิด เช่น การตั้งเป้าหมายเพื่อยกระดับชีวิต การใช้จุดแข็งฝึกฝนเทคนิค การรู้วิธีสร้างแรงฮึดของตัวเอง เมื่อได้งานที่ไม่ชอบยิ่งต้องทำสุดความสามารถ ไม่เป็นทุกข์กับเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ หลังจากทำจนสุดความสามารถแล้ว ให้รู้จักการตัดใจว่าอะไรที่ทำไม่ได้ย่อมทำไม่ได้ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ฟ้าลิขิต แนวคิดนี้สำคัญมากสำหรับการเป็นตัวเองในแบบที่ดีที่สุด ระหว่างทางยังต้องรู้จักรักษาสุขภาพกายและใจ โดยต้องไม่ลืมตามใจตัวเองบ้าง ในเรื่องนี้สัมพันธ์กับการนอน การกิน การออกกำลังกาย และการรู้จักประมาณตน เมื่อเปรียบกับระยะการวิ่ง คนเราคงมีทั้งแบบวิ่งระยะสั้น วิ่งระยะไกล การฝืนกำลังจนไม่ไหว อาจทำให้ล้มเลิกกลางคัน
แนวทางส่งท้ายเป็นเรื่องของ ‘ทัศนคติ’ ซึ่งในสมการความสำเร็จของคาซูโอะ อินาโมริ ผู้ก่อตั้งบริษัทมูลค่าหลายพันล้านบาท ให้ ‘สมการความสำเร็จ’ ไว้ว่า ทัศนคติ ความสามารถ ความกระตือรือร้น จะอยู่ในสถานะคูณกันอยู่ มีทัศนคติเป็นตัวกำหนดทุกสิ่งอย่าง พร้อมกับนิยามว่าสิ่งต่างๆ จะสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อเรามีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าจะทำได้ แต่หากปราศจากความเชื่อแล้ว จะข้ามผ่านอุปสรรคต่างๆ ที่เข้ามาหาไม่ได้
ฉันจะผลิบานในฤดูกาลของตัวเอง
“โลกที่ต่างไปในทุกๆ วัน นั่นอาจเป็นเหตุให้เราใช้ชีวิตไม่เหมือนเมื่อวาน” เป็นข้อความสรุปจากท้ายเล่มของหนังสือปกสวย ‘ฉันจะผลิบานในฤดูกาลของตัวเอง’ อาจจะคล้ายกับหลายคนที่มีชีวิตไม่ซ้ำรอยเดิมในแต่ละวัน ขณะที่บางคนก็ชอบทำซ้ำ ไม่ว่าจะกินอาหารซ้ำๆ คุยกับคนเดิมๆ และอยู่ในมุมเงียบๆ ของตัวเอง นอนแผ่บ้าง นอนขดบ้าง ชอบอยู่ในที่ๆ ไม่มีใคร ซึ่งหนังสือเล่มนี้อาจทำให้ใครหลายคนได้เห็นร่องรอยบางอย่างในตัวเอง เช่น ความชอบพื้นที่สงบเพื่ออยู่เงียบๆ หรือชอบใส่หูฟังเพื่อจะฟัง ผ่านถ้อยคำบันทึกแบบไดอารี่เล่าเรื่องราวประจำวันและความคิดที่เกิดขึ้นระหว่างวัน บางครั้งได้เจอช่วงเวลาความโชคร้าย เจอความเศร้า เพราะสิ่งที่คาดหวังสลายไป บางครั้งก็เห็นว่าดอกไม้แต่ละดอก มีช่วงเวลาผลิบานของมันเอง เป็นหนังสือที่มากับนิยาม “ไม่จำเป็นต้องผลิบานพร้อมใคร ทุกคนต่างมีฤดูกาลที่เหมาะสมของตัวเอง”
รูปลักษณ์ของหนังสือภาพเล่มนี้ สวยตั้งแต่ปกไปถึงเนื้อใน น่าจะถูกใจสำหรับคนที่ชอบภาพวาดสีสวยหวาน มีความเรียงสั้นๆ อ่านง่ายๆ ไปตลอดเล่ม แต่ความโดดเด่นต้องยกให้ภาพวาดลายเส้นละเอียด สีสันสดใส เล่าอยู่ใน 5 บท เช่น การเล่าถึงช่วงเวลาที่ได้ฝัน จดจำ และคิดถึงความธรรมดาที่เงียบสงบ จนถึงความสุขที่มากับฤดูหนาว เขียนเรื่องและภาพ โดย Rapport Mi
ในเล่มเราสังเกตว่ามีแมวอยู่ในรูปวาด จนคิดว่าแมวไม่ได้เป็นแค่องค์ประกอบของภาพ แต่เราว่าแมวเป็นชีวิตในบ้านและสำคัญพอๆ กับเจ้าของบ้าน พื้นที่ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ล้วนมีแมว นอกบ้านก็มีแมว มีสีสันของฤดูกาล มีดอกไม้สวยๆ ท้องฟ้า เมฆฝน ต้นไม้ อาคาร จัดวางอยู่ แน่นหนาบ้าง โปร่งเบาบ้าง ในสีสันค่อนข้างคมชัด อันนั้นยิ่งเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ภาพวาดดูสวยสดใส โดยครึ่งหนึ่งของหนังสือคือภาพวาดและอีกครึ่งหนึ่งคือความเรียง ซึ่งตัวความเรียงนี้ พูดถึงความรู้สึกนึกคิด เขียนไม่ยาวมากนัก และเป็นลักษณะของบันทึกความรู้สึกที่มีหลากหลาย มีน้ำเสียงของการปลอบประโลม เยียวยาใจและมองโลกอย่างใจเย็น มีประโยคฮุก มีถ้อยคำคมคายอยู่บนเส้นกระดาษ หรือบนหลังภาพโปสการ์ด เป็นไอเดียที่ดูน่ารัก คล้ายๆ กับคนเขียนโปสการ์ดส่งมาถึงตัวเองเพื่อเก็บและจำว่าเคยรู้สึกอย่างไรมา
ส่วนที่เราชอบที่สุดจากหนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นภาพวาด เหมาะกับการซื้อสะสมและฝากให้คนที่คุณรู้สึกดีๆ ด้วยได้อ่าน ได้มองภาพสวยสีหวาน อบอุ่น และเป็นโทนเดียวกันแทบไปทั้งเล่ม มีดีเทลในภาพค่อนข้างมาก ยิ่งมองก็ยิ่งเห็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ประกอบเข้าเป็นภาพใหญ่ ว่าในความเล็กน้อยนั้นก็มีความงามกับความหมายในตัวเอง หรือแม้แต่คำที่เรียงร้อยประกอบสร้างขึ้นมาตามหัวข้อก็มีความหมายในแต่ละคำ และหัวใจของคำในเล่ม คือที่บรรจุความรู้สึก เช่น เราพบว่าในบางบท คนเขียนเห็นความงามจากดอกไม้ที่บานต่ำกว่าระดับสายตา สิ่งนั้นอาจบอกกับเราว่า ความงามเกิดจากการสังเกต ส่วนความคิดเกิดจากมุมมอง