- “เรากำลังเลี้ยงดูเด็กแบบไหน” ชวนคิดผ่าน ‘The Twelve Senses’ ปรัชญาการเติบโตของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนเป็นผู้ใหญ่ เป็น sense ในระดับ ‘เซลล์’ และ ‘โซล’ (จิตวิญญาณ) เพื่อประกอบขึ้นเป็น ‘มนุษย์’ คนหนึ่ง
- ช่วง 0-7 ปีแรก ตั้งแต่การรับสัมผัส, การรู้จักกับความรัก, การพัฒนาเรื่องการเคลื่อนไหว และการสร้างสมดุล ที่ไม่ได้หมายถึงแค่พัฒนาการ แต่ยังส่งผลต่อความรู้สึกและตัวตน ‘ข้างใน’
- The Twelve Senses ไม่ใช่แค่การสร้างลูก ยังคือการใช้ชีวิตของ ‘แม่’ และเมื่ออ่านจนจบ คุณอาจพบการเป็นแม่ไม่ใช่อะไรอื่น แต่คือการอยู่กับลูกอย่าง ‘มนุษย์’ กับ ‘มนุษย์
“ถูกเลี้ยงดูมาแบบไหน (เนี่ย)?”
ฟังเผินๆ เหมือนเป็นคำต่อว่า แต่พิจารณาให้ลึกซึ้ง ทุกความอ่อนไหว, แข็งกร้าว, เปราะบาง, ประสบการณ์ในอดีต หรือปัญหาบางอย่างที่ฝังลึกในตัว ล้วนกลับไปสืบค้นจากคำถามเดียวนี้ได้
แต่ไม่… บทความนี้ไม่ได้ชวนถกรื้อปมปัญหาในอดีตเพื่อแก้ไขความทุกข์ยากที่เผชิญในปัจจุบัน แต่เรากำลัง ‘ตั้งหลักใหม่’ และยิงตรงเฉพาะคุณพ่อ คุณแม่ และคนทุกเพศที่กำลังสร้าง ‘คน’ ขึ้นมาหนึ่งคน แต่ใช้แกนคำถามเดียวกันนี้ -เรากำลังเลี้ยงดูเด็กแบบไหน- ชวนคิดผ่านแก่นแกนปรัชญาที่ชื่อ ‘The Twelve Senses’ ปรัชญาการเติบโตของมนุษย์ตั้งแต่ระดับ ‘เซลล์’ และ ‘โซล’
The Twelve Senses คือปรัชญาการเติบโตทางจิตวิญญาณของมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิด เสนอครั้งแรกโดย รูดอล์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) นักปรัชญาชาวเยอรมัน-ออสเตรีย ทั้งยังเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม สถาปนิก และสนใจปรัชญาแบบ คุยหลัทธิ (Esotericism) แต่ผู้อธิบายให้เราฟังอย่างเข้าใจ (และละเอียดยิบ) คือ ครูณา-อังคณา มาศรังสรรค์ นักการศึกษา กระบวนกร และผู้ก่อตั้งมูลนิธิพื้นที่ปัญญ์รัก (โรงเรียนพ่อแม่ลูก)
‘วันที่เด็กลืมตาดูโลก อย่าลืมว่า ‘เซลล์’ ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตไม่มีประสบการณ์ใดมาเลย ไม่เคยรู้ว่าน้ำเสียงแบบไหนคือการปลอบโยน สัมผัสแบบไหนแปลว่ามั่นคง หรือพูดอย่างเห็นภาพ ไม่เคยรู้ว่าหากเอานิ้วจิ้มปลั๊กไฟแล้วไฟจะดูด (ฉะนั้นคุณแม่อย่าเพิ่งโมโหว่าทำไมลูกเล็กถึงไม่รู้จักกลัวอันตราย ‘เซลล์’ ไม่เคยรู้จักประสบการณ์แบบนี้ แต่หลังจากนาฬิกาชีวิตของเด็กน้อยเริ่มเดิน เวลาต่อมาของชีวิตเริ่มต้นที่การรับสัมผัส เก็บความทรงจำ ตีความ พัฒนาบุคลิก มีวิจารณญาณ มีความสัมพันธ์ ท้ายที่สุดคือการฉายโชนเป็นตัวตน’
ทั้งหมดนี้คือสรุปความสิ่งที่ครูณาพยายามอธิบายถึงความหมายของ The Twelve Senses อย่างกระชับ (เท่าที่จะทำได้)
มากกว่านั้น sense เป็นปัญญาภายในที่เกิดขึ้นของชีวิตตั้งแต่ระดับ ‘เซลล์’ (cell) เชื่อมต่อกับระดับ ‘โซล’ (soul) จิตวิญญาณ ซึ่งหากทั้งสอง (ซึ่งอยู่ภายใน) ถูกสร้างให้เต็มพร้อม มนุษย์ผู้นั้นก็พร้อมจะออกไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์กับโลกภายนอก sense เป็นตัวกำหนดมุมมองการมีชีวิตอยู่ และเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง ตัวเอง, สิ่งแวดล้อม และผู้คนรอบข้าง
เพื่อไล่ลำดับความสำคัญและสัมพันธ์ สไตเนอร์แบ่งกลุ่ม sense เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 4 เซนส์ อย่างที่ครูณาเชื่อมโยงแต่ละกลุ่มว่าเป็น ฐานกาย, ฐานใจ และ ฐานความคิด ดังนี้
- ฐานกาย (body) ช่วงวัย 0-7 ปี: senses of touch, of life, of movement, of balance
- ฐานใจ (the external world) ช่วงวัย 8-15 ปี: smell, taste, sight, temperature
- ฐานความคิด (the spiritual world) ช่วงวัย: 16-21 ปี: hearing, speech, thought, ego
เริ่มกันที่ 4 เซนส์แรก หรือ ‘ฐานกาย’ ซึ่งประกอบไปด้วย senses of touch, of life, of movement, of balance ซึ่งครูณาย้ำว่า รากฐานที่สำคัญเพื่อสร้างและเตรียมพร้อมความเป็นมนุษย์อยู่ที่ฐานนี้ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงวัย 0-7 ปี
เริ่มกันตั้งแต่มนุษย์ที่มีชีวิตตั้งแต่ในครรภ์มารดา และเริ่มอธิบายตั้งแต่ เซลล์ในสิ่งมีชีวิต และโซลในระดับจิตวิญญาณ
Sense 1: Sense of Touch
รู้จัก ‘โลก’ ผ่าน ‘สัมผัส’: สัมผัสจากแม่ ต้องมั่นคงและไม่หวาดกลัว
อย่างที่บอกว่าในช่วงแรกเริ่มของชีวิต เด็กยังไม่มีความทรงจำ เขาไม่รู้กระทั่งว่าเขาเป็นใคร ไม่รู้ว่าเขาคือหนึ่งชีวิต ฉะนั้นความหมายในคำว่า ‘ชีวิต’ ของเด็กในช่วงแรกจึงถูกตีความผ่านสัมผัสที่ผู้ใหญ่หรือคนที่ดูแลมอบให้ เขาจะ ‘รับสัมผัส’ และ ‘รับพลังงาน’ ต่างๆ ที่อยู่รอบตัวนั้นมาแล้วเอาเข้าไปในชีวิต เพื่อไปตีความหมายว่าชีวิตคืออะไร จากนั้นจึงเก็บลงเป็นความทรงจำ
อะไรที่เข้าไปในชีวิตของเขามาก เขาก็จะตีความหมายว่า ชีวิตมีความหมายแบบไหน ถ้าเขาถูกเลี้ยงดูโดยพ่อแม่ที่เข้าใจ สงบ มั่นคง สัมผัสที่พ่อแม่มอบให้เขานั้นมั่นคงมากๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเขาจะ trust หรือวางใจโลกใบนี้
เขารู้สึกถึงความมั่นคงของผู้คน เขาตีความหมายว่าโลกใบนี้ไม่ได้น่ากลัว มันสบายและผ่อนคลายที่จะใช้ชีวิต ซึ่งความหมายที่เด็กตีความผ่านประสบการณ์เหล่านั้น มันก็คือความหมายของตัวเขาเองในการจะใช้ชีวิตข้างหน้า
แต่ถ้าเขาเติบโตผ่านพ่อแม่ที่ส่งสัมผัสหรือ touch ที่เต็มไปด้วยความกลัว เช่น อะไรก็ตื่นตระหนกไปหมด ทุกอย่างในความคิดของแม่ไม่มั่นคงเลย เด็กจะตีความหมายว่าโลกใบนี้มันน่ากลัว โลกใบนี้มันไม่แน่นอนเอาซะเลย ทำให้เขาไม่วางใจต่อโลก ซึ่งมันจะมีผลต่อตัวเขาในอนาคตว่า ลองคิดว่าระหว่างเด็กที่ ‘วางใจ’ กับ ‘หวาดกลัวโลก’ สำหรับคุณคิดว่าเด็กแบบไหนจะเรียนรู้ได้ดีกว่า?
เด็กที่วางใจต่อโลก?
ใช่ และไม่ใช่แค่การเรียนรู้หนังสืออย่างเดียว แต่เป็นการเรียนรู้โลก เช่น การที่เด็กอยู่กับปู่ย่าตายายได้ ไปอยู่บ้านของญาติได้ อยู่กับใครก็ได้ที่มาจาก ‘ความวางใจของเขาต่อโลก’ ทำให้เขาได้รับสัมผัสและได้ตีความหมายผ่าน touch ที่ส่งมาจากผู้คนมากมาย วิธีนี้ยังทำให้เด็กได้ตีความหมายจากมนุษย์ที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งมันจะทำให้เขาเกิดปัญญาบางอย่างที่ลึกซึ้งมาก
กลับกัน ถ้าพ่อแม่คิดว่าสังคมน่ากลัว แล้วสร้างบ้านอยู่กันเป็นครอบครัวเดี่ยว แม้กระทั่งพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ก็ยังไม่กล้าให้เข้ามาแตะต้องลูกเพราะคิดว่านั่นคือการสร้างความปลอดภัยที่ดีที่สุด แต่มันไม่ใช่ เพราะนั่นเท่ากับเราได้บอกลูกไปแล้วว่า “โลกใบนี้มันน่ากลัวนะเธอ ไม่มีใครที่แม่ไว้ใจสักคน เพราะฉะนั้นเธอก็ไว้ใจใครไม่ได้” สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เด็กที่เติบโตมาด้วยความรู้สึกแบบนี้ เขาไม่สามารถวางใจใครได้ เพราะมันเต็มไปด้วยความกลัว
ในกรณีที่เด็กเติบโตจากสัมผัสที่รุนแรง เป็นอย่างไร
เด็กที่เติบโตมากับสัมผัสของความรุนแรง เด็กที่ถูกล่วงละเมิด ไม่ว่าทางกาย ทางเพศ หรือทางใจ สิ่งที่เขาจดจำก็คือ โลกนี้คือความรุนแรง ชีวิตมนุษย์คือแบบนั้น สิ่งที่เขาจะปฏิบัติกับผู้คนในวันข้างหน้าก็คือการส่งต่อความรุนแรง แม้ว่าเขาจะเกลียดความรุนแรงนั้นมาก (เน้นเสียง) แต่ความหมายของชีวิต (ว่าคือความรุนแรง) ถูกบันทึกในระดับเซลล์ไปแล้ว เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่มันถูกบันทึกในระดับเซลล์ ถ้ามีเหตุการณ์หรือภาวะอะไรที่มาคลิกหรือมากดปุ่มสวิตช์เขา มันจะถูกตีความทันทีและแสดงออกอย่างที่ถูกบันทึกไว้ทั้งที่ไม่ชอบ
เราจะเห็นว่าเด็กที่เติบโตกับพ่อแม่ที่ชอบใช้ความรุนแรง เขาไม่ชอบการใช้ความรุนแรงเลย เขากลัวมันมาก แต่พอวันหนึ่งที่เขาโตขึ้น เขากลายเป็นคนที่ใช้ความรุนแรงและหยุดตัวเองไม่ได้ เพราะว่ามันถูกสะกิดจากความทรงจำในระดับเซลล์ซึ่งลึกมาก เพราะอย่าลืมเซลล์ไม่มีอะไรมาก่อนเลย เซลล์จดจำว่าชีวิตเป็นแบบนี้ เขาก็ปฏิบัติแบบนี้
touch ที่ว่านี้เฉพาะการโอบกอดจากพ่อแม่ หรือในความหมายใดและรับจากใครได้บ้าง
คำว่า touch เหมือนเป็นแค่การสัมผัสทางกาย แต่จริงๆ แล้วทุกอย่างในโลกใบนี้คือ ‘พลังงาน’ สัมผัสในที่นี้ก็ผ่านพลังงาน สายตาที่แม่มองลูกก็คือพลังงาน เราเคยรู้สึกมั้ยว่าสายตามัน touch คนได้ ฉะนั้น สายตาที่แม่มองเด็กคือ touch อย่างหนึ่งที่พ่อแม่ส่งมาถึงตัวเขา เวลาคนที่มองเด็กทารกด้วยความอบอุ่น ด้วยความรัก เด็กเองก็ได้รับพลังงานเหล่านี้ผ่านสายตาของพ่อแม่
แม้กระทั่งเสียงที่ส่งให้กับเด็กก็คือ touch เราชอบยกตัวอย่างง่ายๆ ที่ทำให้พ่อแม่บางครอบครัวซึ่งอาจไม่เข้าใจความหมายของความกลัวจากตัวเองเห็นภาพขึ้น เช่น สมมุติว่าคุณทำกับข้าวขณะที่ลูกนอนอยู่ พอเขาตื่น เขาร้องไห้ ถ้าเราเป็นแม่ที่มั่นคงเราจะปฏิบัติอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเราเป็นแม่ที่ panic แม่ที่วิตกกังวล ขี้กลัว เราก็จะปฏิบัติอีกแบบหนึ่ง
สมมุติแม่ขี้กลัว พอลูกตื่นแล้วร้องไห้ เขาก็จะรีบปิดเตา รีบกุลีกุจอเข้าไปและคิดว่านี่คือความห่วงใยและความรักที่ให้ลูก แต่มันไม่ใช่ เขากลับกำลังส่งทอดว่า “ลูกรู้มั้ยว่าโลกใบนี้มันคือความน่ากลัว กระทั่งการที่เธอตื่น มันทำให้แม่ไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น”
หมายถึง ‘พลังงานความกลัว’ ของแม่ที่ส่งออกไป?
ใช่ มันมีผลต่อคาแรคเตอร์ของเด็ก เอาแค่ว่าตอนเล็กๆ เขาร้องไห้แล้วแม่ panic เข้ามาหา คาแรคเตอร์ของเขาถูกสร้างขึ้นทันทีว่า “ถ้าฉันตื่น ฉันต้องร้อง และเขาต้องอุ้ม เพราะโลกใบนี้มันน่ากลัวพอสมควร” คาแรคเตอร์ของเขาก็จะกลายเป็นคนที่ขึ้นอยู่กับแม่มาก เกาะติดแม่ คิดว่าการที่ฉันได้เห็นหน้าแม่โชว์อยู่ตอนนี้ ได้ยินเสียงแบบนี้ที่มาอยู่ใกล้ๆ ฉันจะปลอดภัย
แต่ถ้าเราเป็นคนที่วางใจต่อโลก เราสงบ ลูกร้อง เราบอกได้ว่า “ตื่นแล้วเหรอจ๊ะ รอแม่เดี๋ยวนะ แม่ทำกับข้าวอยู่นะ นอนเล่นก่อนได้ป่าว” (น้ำเสียงใจดี) คลื่นและพลังงานเหล่านี้มันเข้าไปอยู่ในระดับเซลล์ และลูกรู้สึกว่า “เสียงนี้มาแล้ว” ได้ยินเสียงที่มั่นคงแล้วรู้ว่า อ๋อ… มีใครสักคนอยู่รอบๆ ตัวเขา พอเด็กรู้สึกถึงความวางใจต่อโลก พัฒนาการของเขาจะไปเร็วมาก จะเริ่มมองนู่นมองนี่ อยากรู้อยากเห็น พลิกตัวเร็ว มั่นคงจากข้างใน เพราะเขารู้ว่ามีคนบางคนที่มั่นคงอยู่ใกล้ๆ และเพียงพอที่เขาจะรู้สึกวางใจ ไม่ต้องขึ้นกับใคร
เคยเห็นพ่อแม่ที่รักลูกมาก ให้สัมผัสกับลูกเต็มที่ แต่กลายเป็นความอึดอัด
พ่อแม่บางคนต้องการเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด สัมผัสหรือ touch มากที่สุด ซึ่งนั่นหมายความว่าคุณอาจเลี้ยงลูกด้วยความกลัว เพราะคุณตีความว่าคุณต้องถือ แต่การถือแบบนั้น คุณกำมันแน่นมาก และคุณส่งคลื่นความเข้มข้นบางอย่าง
มีความเชื่อบางอย่างที่บอกว่า ‘อย่าเอาใจเด็กมาก’ ถ้าร้องไห้ไม่ควรโอ๋
พ่อแม่บางคนที่รู้สึกว่าต้องให้เด็กรู้จักความทุกข์ ได้เรียนรู้ทุกข์บ้าง ปล่อยให้ร้องไห้บ้าง อย่าเอาใจเยอะ มันก็ไม่ใช่อีก เพราะถ้าคุณทิ้งให้เขาอยู่ในอวกาศนานเกินไป เขาจะรู้สึกได้ว่าโลกใบนี้มันอ้างว้าง เหมือนว่าเด็กไม่ค่อยได้สัมผัส touch มันก็จะเคว้งๆ
เพราะอย่าลืมว่าในวันที่เด็กไม่รู้จักตัวเอง ไม่มีองค์ความรู้และไม่มีประสบการณ์เรื่องเหล่านี้เลย สัมผัสที่ได้มันเข้าไปในแกนกลางตัวเขาเพื่อให้เขาได้เรียนรู้ตัวเขาเอง ฉะนั้นถ้าเขาอยู่กับอวกาศนานเกินไป เขาจะตามหาขอบเขตชีวิตของเขายาก เขาจะเริ่มรู้สึกไม่เข้าใจว่าเขาคือใคร คืออะไร เหมือนเขาไม่แน่ใจว่าเขามีความหมายกับโลกใบนี้มั้ย แต่ทั้งหมดเด็กก็เรียนรู้ทุกข์สุขนะคะ ไม่ได้หมายความว่าต้องให้เด็กเจอความสุขตลอดเวลา สำคัญคือ เราไม่ได้ให้เขาทุกข์มากเกินไป
หลายคนอาจบอกว่า เด็กก็คือเด็ก ยังไม่รู้จักทุกข์หรือสุข ไม่ใช่วัยที่จะคิดหรือจดจำอะไรมาก
เซลล์ของเด็กอาจเป็นผ้าขาว แต่จิตวิญญาณของเด็กไม่ใช่ สิ่งที่คุณจะเอาใส่เข้าไปในเซลล์ มันคือสิ่งใหม่ที่เข้าไปอยู่ในเซลล์นั้นๆ มันคือการหล่อหลอม ถ้าในแง่ของจิตวิญญาณ เด็กมีบางสิ่งบางอย่างที่เกิดมาเพื่อเป็นสิ่งนี้ เพียงแต่เขาจะจดจำไม่ได้เพราะเซลล์ของเขาไม่มีความทรงจำนั้น
แต่ในระดับจิตวิญญาณ เด็กไม่ได้เป็นผ้าขาว เด็กมีอะไรมาเยอะมาก ผ่านประสบการณ์ ผ่านโปรแกรม ผ่านสิ่งที่อยู่ในบันทึกระดับจิตวิญญาณ
ในประเด็น sense of touch มีประเด็นอื่นที่ต้องพูดถึงเพิ่มเติมอีกไหม
เรื่องกระบวนการคลอด ถ้าเป็นไปได้และจะเป็นสิ่งที่มีความหมายต่อตัวเขามากๆ คือการผ่านกระบวนการคลอดและได้น้ำนมธรรมชาติ เพราะมันมีสิ่งที่สำคัญมากต่อการใช้ชีวิตและการที่เขาจะนำประสบการณ์นั้นไปตีความการใช้ชีวิต เช่น อย่างที่บอกว่าเด็กไม่จำเป็นต้องได้รับประสบการณ์ที่เป็นบวกอย่างเดียว บางครั้งเด็กต้องได้รับประสบการณ์ลบที่เป็นธรรมชาติ (เน้นเสียง) การที่เขาต้องออกมาสู่โลกภายนอกด้วยการคลอดแบบธรรมชาติ ตอนที่แม่เบ่ง ตอนเขาพยายามออกจากถุงน้ำคร่ำ ผ่านมดลูก ผ่านช่องคลอด มันเป็นความกระเสือกกระสน เป็นความทุกข์ที่เป็นธรรมชาติที่ให้บทเรียนที่ดีมากกับชีวิตของเขาในการต่อสู้กับโลกใบนี้
แม้ว่าเขาจะจำไม่ได้?
เซลล์ทุกเซลล์จำได้ เขาจำไม่ได้ในมิติความทรงจำ แต่เซลล์จำความรู้สึก เซลล์ได้รับบทเรียนเพื่อสร้างสภาวะบางอย่างเพื่อออกมาใช้ชีวิต ยกตัวอย่างตอนปีกผีเสื้อเริ่มออกจากดักแด้ ถ้าเราฉีกเปลือกดักแด้ ผีเสื้อที่ออกมาก็จะค่อนข้างพิการเพราะมันไม่ใช่จังหวะที่พอดิบพอดี แต่ตามธรรมชาติแล้ว หลังผีเสื้อดิ้นจนเปลือกฉีกได้สักระยะหนึ่ง ลมที่เข้าไปในดักแด้ก็จะทำให้ปีกของเขาแห้ง ร่างกายปรับตัวกับอากาศที่ซึมเข้าไป พอมันแข็งแรงพอ มันก็จะมีกำลังมากพอจะฉีกเปลือกดักแด้ต่อ ผีเสื้อที่ออกมาจากดักแด้อย่างเป็นธรรมชาติก็จะแข็งแรง เพราะเป็นจังหวะที่เซลล์ปรับร่างกายได้พอดีต่อการเผชิญต่อโลก
เวลาที่เราเห็นทารก เราคิดว่ามันไม่เป็นไร แต่มันเป็น เพราะภาวะที่เขาพยายามจะออกมาดูโลกด้วยตัวเองให้ได้ เซลล์ของร่างกายเขาต้องทำบางสิ่งบางอย่างผ่านประสบการณ์ และสิ่งนี้ก็คือ touch ที่มดลูกบีบ touch ที่แม่ร้อง ธรรมชาติไม่ได้ส่ง energy ของความเกลียดชังหรืออะไรเข้าไป มันขับเคลื่อนบางสิ่งบางอย่างให้เด็กทำงานเพื่อเรียนรู้กับอุปสรรคเริ่มต้นของชีวิต และมันเป็นปัญญาญาณที่ยิ่งใหญ่มากในตัวเด็กและในตัวของมนุษย์คนนี้จนถึงโต
และก็จะเป็น touch ที่เกิดกับแม่ด้วย
ใช่ ฉะนั้นคนที่คลอดเอง touch ที่แม่พยายามจะบีบตัวเองเพื่อให้ลูกออกมาให้ได้ มันก็ไปกระตุ้นน้ำนม หรือกระบวนการอะไรต่างๆ อีกเยอะ และมันเป็นความสัมพันธ์ที่ยิ่งใหญ่มากที่แม่และลูกกระเสือกกระสนต่อโลกใบนี้ด้วยกันในโมเมนต์แรกของชีวิต
หรืออย่างตอนให้นม การที่เราอุ้มเขา ให้สัมผัสกับเขา แม่ที่อุ้มลูกให้นม ลูกก็จะได้เปรียบตรงสัมผัสที่ส่งให้ แต่การให้นมก็ไม่ควรยาวนานเกินไปขนาดที่ลูกยึดโยงกับแม่ หรือ depend กับแม่มากเกินไป
ในเงื่อนไขชีวิตบางอย่าง มีแม่ที่ให้นมลูกหรือคลอดลูกด้วยตัวเองไม่ได้
แน่นอนว่าไม่มีใครทำทุกอย่างได้อย่างถูกต้องสอดคล้อง นั่นเป็นอีกเงื่อนไขที่ต้องคุยกันยาว แต่เรากำลังคุยเรื่องการเติบโตของเด็กในแง่จิตวิญญาณ ประเด็นหลักคือ ถ้าสังคมเริ่มเข้าใจเรื่องการเติบโตที่แท้จริงมันจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ถ้าเราเป็นเจ้าขององค์กร เราเข้าใจถึงการผ่านและเติบโตของชีวิต หรือเห็นความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ เราก็อาจมีกติกาใหม่ให้กับพนักงาน เช่น ให้คุณลางานได้เลย 6 เดือน ซึ่งมันจะหมายถึงระดับโครงสร้างเลย
แต่ท้ายที่สุด เรา ในฐานะแม่หรือกำลังจะเป็นแม่ เราจะมีข้อมูลบางอย่างเพื่อเปรียบเทียบและเลือกได้ว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร แต่ถ้าแม่ไม่รู้เลยว่าสัมผัสจากแม่ หรือ touch มีความหมายกับลูกอย่างไร ก็อาจไม่ให้ความสำคัญกับการลาคลอดนานๆ หรือให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้เลยก็ได้
เป็นองค์ความรู้ที่นายจ้างก็ควรรู้ด้วย?
เพราะชีวิตของคนคนหนึ่งที่ทำงานกับคุณ ถ้าเขาไม่มีเวลาให้ลูกมากพอ ท้ายสุดชีวิตของลูกเขาก็มีผลต่อคนเป็นแม่ และมันต้องมีผลกระทบต่องานในที่สุด
แค่ touch อย่างเดียวที่ไปส่งผลถึง trust หรือความไว้วางใจโลกของเด็ก?
เพราะมันเป็นจุดเริ่มต้นของเด็กที่จะตีความหมายโลกใบนี้ว่ามันคืออะไร
เราเรียกร้องอะไรจากพ่อแม่เยอะไปหรือเปล่า
เด็กบางคนมั่นคงได้ผ่านการสื่อสารนะ เช่น “ลูกจ๋า แม่จะไปทำงาน แม่จะกลับเวลานี้นะ” ถ้าการสื่อสารของแม่มั่นคง ลูกก็จะเข้าใจว่าชีวิตคือแบบนี้ แต่พอแม่รู้สึกว่าตัวเองต้องทำงาน ไม่ค่อยได้ดูลูกเลย รู้สึกผิด วิธีการรู้สึกผิดของแม่กลับกลายเป็น “แม่ไปแป๊บเดียว เดี๋ยวมา” แต่แม่หายไปยาวนานมาก เพราะแม่กลัว นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น
ถ้าคุณอยู่กับความเป็นจริงของชีวิตด้วยความมั่นคงและซื่อตรง คุณจะค้นพบวิธีที่จะทำให้เขาเรียนรู้กับมัน แต่ประเด็นคือ คุณไม่ได้อยู่กับความเป็นจริง พอคุณกลัวคุณก็บอกลูกว่าไปแป๊บเดียว ลูกไม่เข้าใจคำว่า ‘แป๊บเดียว’ ของแม่คืออะไร แม่บอกว่าเดี๋ยวกลับมา แต่แม่ไม่เดี๋ยว เพราะฉะนั้น ถ้าต้องไปยาว ก็คุยไปเลยว่า “แม่จะไปทำงาน เดี๋ยวตอนเย็นจะกลับมานะ แม่ขอโทษ อยู่กับย่าก่อนนะ” เรามักคิดว่าเด็กไม่เข้าใจ แต่จริงๆ คลื่นพลังงานของเราขณะที่คุยกับเขา เด็กเข้าใจนะ
ถ้าลองมานั่งอยู่กับชีวิตจริงๆ ตื่นกับชีวิตจริงๆ และลองคิดว่าการที่เราโกหกกับลูกแบบนี้ มันเรื่องเล็กจริงเหรอ เช่น เราไม่ชอบพ่อแม่ที่ตีเรา โกหกเรา แล้วทำไมเราทำ ตรงนี้แหละที่คนไม่ได้กลับมาทำงานกับตัวเอง ผู้คนใช้ชีวิตที่เป็นอัตโนมัติ ส่งทอด สัมผัสลูกอย่างที่เขาใช้ชีวิตมา ซึ่งพอเราคุยไปถึงเซนส์ที่ 12 (ego) เราจะเริ่มเห็นว่ามันก็เป็นกงกรรมกงเกวียนจริงๆ
แก่นกลางที่พ่อแม่จะยึดถือเป็นหลักสำคัญ ไม่ตึงหรือหย่อนเกินไปคืออะไร
แค่ให้รู้สึกว่าตอนนี้คุณ (พ่อแม่) ขับเคลื่อนชีวิตด้วยอะไร ด้วยความกลัวหรือด้วยความปกติชีวิต เช่น ถ้าเราทำกับข้าว ก็สื่อสารกับลูกตรงๆ ว่า “แม่ยังอุ้มไม่ได้นะลูก แม่ถือของหนักอยู่ แม่ทำกับข้าวอยู่” คืออยู่กับความเป็นจริงของชีวิต ณ เวลานั้นๆ แต่ไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยความกลัวหรือโปรแกรมเก่าๆ ของเราเอง
Sense 2 : Sense of Life
รู้จัก ‘ชีวิต’ ผ่าน ‘ความสัมพันธ์’: ไม่ใช่การ ‘สอน’ แต่จากความสัมพันธ์ของพ่อแม่และคนรอบข้าง
พอเด็กเริ่มรู้จักตัวเองผ่านสัมผัส เขาเริ่มเข้าใจบางสิ่งบางอย่าง การทำงานของเขาในขั้นถัดไปคือ การเอาตัวเขาที่ไปใช้ชีวิตกับผู้อื่น โดยเห็นหลายๆ ชีวิตที่อยู่รอบตัวเขา และ sense of life ก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้น เขาเรียนรู้ชีวิตผ่านสิ่งที่เห็นในพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และจากผู้คน
ในอีกแง่ sense of life คือการเรียนรู้ที่จะรู้จักกับความรัก พ่อแม่รักกันยังไงเขาตีความความรักแบบนั้น ทะเลาะแล้วดีกันยังไง คุยกันยังไง ใช้ชีวิตร่วมกันยังไง มีปฏิสัมพันธ์กันยังไง เคารพกันยังไง เขาเรียนรู้ชีวิตผ่านสิ่งเหล่านี้ ซึ่งบางทีปัญหาอาจไม่ได้มาจากพฤติกรรมพ่อแม่ แต่มาจากการที่พ่อแม่ไม่เคารพกัน หรือพ่อแม่ไม่เคารพคนในครอบครัว
พ่อแม่มักคิดว่าเขาต้องสอนลูกอย่างนั้นอย่างนี้ จริงๆ เด็กไม่ได้เรียนรู้ผ่านการสอน แต่เห็นผ่านสิ่งที่ผู้ใหญ่เป็น ปัญหาคือ ส่วนใหญ่พ่อแม่มักจะสอนในสิ่งที่ไม่ได้เป็น เด็กก็ไม่เข้าใจเพราะพ่อแม่ไม่ได้ทำให้เห็น เช่น เราจะเห็นพ่อที่คุยกับลูกรุนแรง พอวันหนึ่งลูกกลายเป็นเด็กที่แกล้งคนอื่น พ่อก็ตีแล้วบอกว่าไม่ให้ใช้ความรุนแรง แต่ขณะที่พ่อปฏิบัติกับเขา เขาไม่ได้จดจำที่คำสอน แต่จดจำจากสิ่งที่พ่อทำกับเขาว่าเป็นความรุนแรง
อยากให้อธิบายเรื่องการเรียนรู้คาแรคเตอร์ที่หลากหลายจากคนรอบตัว เช่น ปู่ย่าตายาย
ตอนนี้เป็นปัญหาเยอะมากเลย คือแม่ไม่อยากให้ลูกอยู่กับอากงอาม่า หรือให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง เพราะบอกว่าชอบตามใจ แต่เราลืมตั้งคำถามว่า เวลาที่ลูกเราโตขึ้น เราอยากให้ลูกอยู่กับตัวเองได้คนเดียว หรืออยู่ได้กับคนทั้งโลก ถ้าอยากให้ลูกอยู่ได้กับคนทั้งโลก ลูกก็ต้องอยู่กับปู่ย่าตายายได้
ยอมรับว่าบางอย่างเป็นความตามใจ แต่อย่างเวลาที่คุณมาสัมภาษณ์พี่ คุณก็ต้องมีบางอย่างที่ตามใจพี่ เพราะเราดีลกันอยู่ เซลส์จะไปขายงานให้ลูกค้า ก็ต้องมีบางอย่างที่ตามใจลูกค้า และก็เพื่อให้ลูกค้านี่แหละกลับมาตามใจเรา นี่คือวิถีชีวิตทั่วไปเลย
การที่เด็กคนหนึ่งจะไปอยู่กับอากง และมีวิธีบางอย่างเพื่อทำให้อากงยอมให้กินไอติม คุณย่าให้ขนม พาไปซื้อของเล่น มันก็คือทักษะชีวิตนะ เราอาจคิดว่ามันคือการสปอยล์เด็ก แต่เด็กก็เรียนรู้ที่จะอยู่กับผู้คนแบบนี้ ถ้าพ่อแม่กลัวสปอยล์ เราก็ไม่ต้องสปอยล์ เด็กก็จะเรียนรู้ชีวิตอีกแบบจากคุณเอง แต่การที่เขาอยู่กับบุพการีของเราด้วยความรัก เราไม่ต้องกลัวเรื่องสปอยล์หรอก เพราะความจริงคนที่มีอิทธิพลต่อการสปอยล์ที่สุด คือพ่อแม่ ปู่ย่าตายายก็เจอแค่เสาร์อาทิตย์ ตอนที่เราพาไปเยี่ยม หรือเขาก็ดูลูกเราเล็กๆ น้อยๆ
การที่ลูกเราอยู่ได้กับทุกๆ คนและเราก็มีความสุขที่ลูกเราอยู่กับทุกๆ คน นี่ต่างหากคือการสร้าง sense of life ให้ลูกรู้ว่าความรักมีหลายรูปแบบ ความรักของปู่คือการทำยังไงให้ปู่รู้สึกดี เราจะส่งมอบความรักให้ย่าแบบไหนดีนะย่าถึงจะให้อะไรเรา ทั้งหมดนี้ก็เรียกว่าความรักนะ
เคยได้ยินบ่อยๆ พ่อแม่มักไม่อยากให้ลูกตัวเองเข้าใกล้คนบางคน เพราะคิดว่าคนนี้นิสัยไม่ดี หรือไม่ให้ลูกเล่นกับลูกของคนที่ไม่ชอบหน้า
แล้วคิดว่าแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยวิธีแบบนี้กำลังส่งทอดอะไรให้กับลูก เด็กคนหนึ่งที่โตมากับแม่หรือพ่อที่เป็นแบบนี้ เขาก็เป็นแบบนี้ คือวิพากษ์วิจารณ์ทุกคนเลย ไม่มีใครน่ารักสำหรับเขาสักคน
ถ้าเราตัดสินคนเยอะ นั่นก็ทำให้ลูกเรารู้สึกว่าโลกนี้มันไม่มีความรักเอาซะเลย มีแต่ผู้คนไม่ดี มีฉันคนเดียวที่ดี แล้วสุดท้ายลูกก็กลัวเรา เพราะเราก็ตัดสินเขาด้วยเหมือนกัน
จากนั้นเขาก็จะตัดสินตัวเอง ท้ายที่สุดสองคนผัวเมียก็ตัดสินกันเอง และเป็นฉาก บทละครให้ลูกเรียนรู้วิธีตัดสินคนอื่นเต็มไปหมดเลย
เวลาที่พูดถึงความรักใน sense of life ไม่ได้หมายถึงความรักในแง่หนุ่มสาว แต่เป็นเรื่องความรักตัวเอง ความเคารพตัวเอง ความภูมิใจในตัวเอง หรือคำในตระกูล self ทั้งหลาย จนโยงออกไปสู่ความรักที่มีต่อผู้อื่น
ในความหมายของความรัก ความรักที่แท้จริงเป็นรักเดียวกัน ผัวเมียรักกัน รักหมา รักลูก รักผู้คน รักภูเขา จริงๆ ในคำว่ารัก มันคือพลังงานความบริสุทธิ์ที่ทำให้เด็กรู้สึกถึงความเชื่อมโยงระหว่างตัวเขากับผู้คนและกับสรรพสิ่ง ถ้าเราอยากให้ลูกรู้จักความรักจริงๆ ต้องยอมให้ลูกรู้สึกถึงความแตกต่างของผู้คนและสรรพสิ่ง เพราะมันเป็นพลังงาน และมันเป็นความบริสุทธิ์ที่อยู่ในตัวมนุษย์ด้วย
เรากำลังพูดถึงทักษะช่วงวัย 0-7 ปี แต่ฟังเป็นเหมือน life skills หรือทักษะชีวิตของผู้ใหญ่มาก
ใช่เลย ซึ่งนั่นก็หมายความว่าพ่อแม่นั่นแหละที่ต้องพัฒนาทักษะชีวิตให้ดีที่สุด เพราะพ่อแม่จะส่งคลื่นและบทเรียนที่ดีที่สุดให้ลูก
ถ้าพ่อแม่ใช้ชีวิตเป็น พ่อแม่ไม่ต้องเลี้ยงลูกเลย ไม่ต้องมานั่งสอนลูกเลยว่าลูกต้องมีชีวิตยังไง เพราะลูกก็ใช้ชีวิตไปกับเราภายใต้ความสัมพันธ์ของพ่อแม่ ถ้าเรารักกันเป็น เราก็เพียงใช้ชีวิตกัน ใช้ชีวิตให้ลูกดู
‘รักเป็น’ ในที่นี้หมายความว่า จำเป็นที่พ่อแม่ต้องรักและอยู่ด้วยกัน ความหมายเดียวกันหรือเปล่า
อันนี้สำคัญมาก ความจริงมันก็ไม่ได้หมายความเฉพาะกับพ่อแม่ที่อยู่ด้วยกัน เพราะในสังคมปัจจุบัน พ่อแม่อยู่ด้วยกันไม่ได้ ต้องแยกกันอยู่ การหย่าร้างเริ่มมีมากขึ้น หากเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่คุณไม่ควรทำให้เกิดขึ้นคือสร้างความเกลียดชังของอีกฝ่ายเข้าไปในใจเด็ก เพราะเด็กมีสิทธิ์รับรู้และรักในแบบที่เขาเป็น เธอสองคนอาจจะไม่ได้รักกันเพราะมันยากที่ “ฉันจะเข้าใจด้านนี้ของเธอ” แต่ไม่ได้แปลว่าลูกจะเข้าใจไม่ได้ ฉะนั้นก็อย่าไปใส่ความเกลียดชังในตัวเด็ก จะเป็นเพื่อนกันก็เป็นไป แต่อย่าเป็นศัตรู อย่าใส่ไฟอีกฝั่ง
เวลาที่เด็กมองคนคนหนึ่ง เขาตีความตามประสบการณ์ที่ผ่านมา ถ้าเราใส่ประสบการณ์ว่าพ่อเธอมันไม่โอเค หรือแม่เธอมันเป็นอย่างนี้ๆ เด็กก็จดจำภาพแบบนั้นและสุดท้ายเขาไม่รู้ว่าจะมองพ่อหรือแม่ในอีกมุมที่เราไม่ได้พูดถึงเขายังไง พอวันหนึ่งเขาโตขึ้นมา เขาก็รู้ว่าสิ่งที่อีกฝ่ายพูดมันก็ไม่จริงทั้งหมด แต่เวลามันผ่านไปแล้ว มันถูกโปรแกรม มันถูกจดจำไปแล้ว ซึ่งแท้จริง มันอาจไม่จริงทั้งหมดก็ได้ แต่เราได้ทำให้ลูกสรุปรวมไปแล้ว และนั่นมีผลต่อชีวิตเขาในตอนโตมากเช่นกัน
Sense 3: Sense of Movement
รู้จัก ‘เจตจำนง’ ผ่านการเคลื่อนไหว: อย่าขัดจังหวะภาพในหัวของลูก
พอเด็กเริ่มรู้จักว่าฉันคือหนึ่งชีวิต เริ่มรู้จักดูชีวิตในความสัมพันธ์และในความรักของผู้อื่น ความรักรอบตัว เหล่านี้ก็จะพาให้เขาอยากขับเคลื่อนชีวิต นั่นก็คือ sense of movement เขาอยากที่จะสัมผัส อยากเรียนรู้บางสิ่งบางอย่าง ที่เคยบอกว่าเด็กเกิดมาพร้อมกับเซลล์ ซึ่งก็คือผ้าขาวที่ไม่มีประสบการณ์ แต่ไม่ใช่กับจิตวิญญาณ เพราะจิตวิญญาณผ่านประสบการณ์มาเยอะมาก ขณะที่เด็กเริ่มทำความเข้าใจตัวเอง เขาจะรู้สึกเหมือนมีเสียงเรียกจากข้างในที่พาให้เขาอยากเคลื่อนไปทำอะไรสักอย่างตามภาพในหัว
คล้ายกับว่าสมองของเด็กที่ยังเล็กอยู่ จะมีสมองส่วนหนึ่งที่สร้างภาพ ทำให้เขาเห็นภาพนั้น และพยายามขับเคลื่อนตัวเองเพื่อไปเห็นภาพนั้นให้ได้ และการที่เขาเห็นภาพนั้นและขับเคลื่อนตัวเองได้ มันเป็นความมหัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่มากในตอนที่เขาโตขึ้น
เช่นภาพแบบไหนบ้าง
ยกตัวอย่างให้ยากหน่อยสำหรับเด็ก เด็กบางคนมีภาพตัวเองอยู่บนต้นไม้และอยากรู้ว่าบนนั้นมีอะไร เขาก็จะพาตัวเองเพื่อไปปีนต้นไม้ ถ้าเขาตกและไม่ถึงขั้นบาดเจ็บมากนักเขาก็จะปีนขึ้นไปใหม่ เพื่อทำให้สำเร็จตามภาพที่ปรากฏอยู่ และเขารับประสบการณ์ว่า “อ๋อ อยู่ตรงนี้มันเป็นแบบนี้เอง” ศิลปินหลายคนบอกว่าเขาเห็นภาพในหัวและแค่ทำมันตามภาพนั้น
มนุษย์ทุกคนก็ใช้ชีวิตแบบนี้นะ ในแง่ของการกระทำ เราหิวน้ำ อยากดื่มน้ำ เราเห็นภาพในหัวก่อนว่าเราได้ดื่มน้ำแก้วนี้แก้กระหาย หลังจากนั้น ภาพจึงเป็นตัวกำหนดให้เราหยิบแก้วน้ำ กระดกแก้วดื่ม ถ้าไม่มีภาพในหัวเป็นตัวกำหนด เราก็จะไม่สร้างการกระทำนั้น แต่เราไม่ได้ใช้ชีวิตแค่ภาพของการกระทำ แต่เป็นภาพความฝันอย่างเช่นที่เด็กได้ไปอยู่บนต้นไม้ นี่คือ sense of movement ภาพที่ปรากฏอยู่ในใจแล้วพาให้เขาไปสร้างการกระทำให้มันเกิดขึ้นจริง
พูดอีกแบบ sense of movement จึงกลายเป็นการได้รับเสรีภาพที่กว้างมากเพื่อให้เขาได้เติบโตและทำอะไรตามภาพในหัว และท้ายที่สุด เชื่อภาพในหัวว่ามีอยู่จริง นั่นคือเจตจำนงของชีวิต
แต่ส่วนใหญ่เด็กๆ จะถูกขัดจังหวะว่า ‘เอ๊ะ อย่าทำนะ อย่าปีนลูก อันตราย’
‘ไอ้นั่นก็ไม่ได้ ไอ้นี่ก็ไม่ได้’ เราคิดว่าเรากำลังทำให้เขาปลอดภัย แต่การที่เขาขาดประสบการณ์ตรงนี้มันเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง เพราะพอถึงวันหนึ่ง เขาไม่เชื่อภาพในหัวของตัวเองแล้ว ชีวิตเขาสุ่มเสี่ยงมาก เขาไม่รู้จะเดินไปไหน จะทำอะไร ไม่รู้จะเคลื่อนย้ายตัวเองยังไง
เราคงเคยเห็นเด็กที่โตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่รู้จะทำอะไรดี นั่นเพราะเขาไม่เชื่อภาพในหัวเหล่านั้นแล้ว เพราะวันที่เขาเคยเชื่อกลับถูกขัดจังหวะจนกระทั่งเซลล์ประสาทที่จับภาพเพื่อเคลื่อนชีวิตมันอ่อนแอมากจนกระทั่งเขาไม่เชื่อว่ามันมีอยู่จริง เขาจึงรอคำสั่ง รอคนบอกว่าฉันควรจะไปไหน ทำอะไร เพราะฉันไม่เชื่อว่าภาพนี้มีอยู่
จากการขัดจังหวะกิจกรรมเด็กด้วยความเป็นห่วง อาจกลายเป็นขัดจังหวะภาพในหัว ซึ่งสุดท้ายแล้วมีผลต่อความเชื่อมั่นในตัวเอง?
และนำไปสู่การขาดความมุ่งมั่นในชีวิต อย่างที่เรียกว่าขาดเจตจำนงในชีวิต เช่น วันหนึ่งพี่บอกตัวเองว่า พี่อยากเป็นกระบวนกร เจตจำนงหรือภาพของพี่ คือพี่จะเป็นกระบวนกร ฉะนั้นพี่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองเป็นกระบวนกร เชื่อมั่นว่าตัวเองเป็นกระบวนกรได้ แต่คนที่ไม่มีภาพนี้ในหัว ก็จะไม่กล้าลุกขึ้นมาแล้วบอกว่าฉันจะเป็นกระบวนกร จะมีคำถามว่า “จะเป็นไปได้เหรอ ฉันไม่ฉลาดเท่าคนนั้น ไม่เก่งเท่าคนนี้ ฉันพูดไม่ดีหรอก” และทั้งหมดนี้มันกำหนดเป็นบุคลิกภาพเลยนะ ทำให้เด็กไม่มีความกล้าจะทำอะไร เพราะด้วยเหตุผลว่าตอนเด็กๆ เขาไม่ได้เคลื่อนหรือ move ไปยังภาพที่เขากำหนดขึ้นในใจ
การอนุญาตให้ทำตามภาพในหัวกินใจความแค่ไหน ถ้าเด็กมีภาพอยากทำอะไรที่ผู้ใหญ่รู้แน่ว่าอันตราย ต้องอนุญาตด้วยรึเปล่า
แน่นอนว่ามันไม่ใช่ว่าถ้าเด็กมีภาพอยากจะกระโดดน้ำขณะที่เขาว่ายน้ำไม่เป็นหรือภาพเอานิ้วไปจิ้มปลั๊กไฟแล้วเราจะอนุญาตตลอด
ยกตัวอย่าง พี่พบว่าลูกพี่ชอบปั้น อยู่กับการปั้นได้ทั้งวัน (เน้นเสียง) จนเรารู้สึกว่าเขาเกิดมาเพื่อการปั้น พี่ไม่รบกวนเขาเลย เธออยากปั้นก็ปั้นเลย มีภาพอะไรในหัวที่อยากจะทำ เอามันออกมา เขาก็จะอยู่ตรงนั้น เชื่อว่าภาพในหัวของเขามีจริงและเขาจะทำมันสำเร็จ
ขณะเดียวกันมีเด็กจำนวนเยอะมากที่อาจเป็นเหมือนลูกพี่แต่ไม่ได้เป็น เพราะพอเขาปั้น แม่บอกว่าเธอต้องไปท่อง ABC ไปบวกลบเลขซะ จนกระทั่งเด็กทิ้งสิ่งที่อยากทำมาตั้งแต่วัยเด็ก เขาเลิกได้ยินเสียงข้างในหัว เลิกมองเห็นภาพที่บอกว่า “ทำอันนี้สิ” เขาเลิกเชื่อและทำตามกิจวัตรของโรงเรียน เรียนหนังสือให้เหมือนชาวบ้าน ไปทำในสิ่งที่สังคมบอกว่าถูกต้อง จนเด็กลืมสิ่งที่เขากำเนิด สิ่งที่เป็นรหัสชีวิตเขา
สิ่งที่มีความหมายต่อเจตจำนงก็คือการที่เราให้เสรีภาพกับเด็ก ถ้าเขาขับเคลื่อนตัวเองไปได้ไกลแค่ไหน กว้างแค่ไหน คำว่าไกลกับกว้างก็ไม่ใช่ทางกายภาพแต่คือจินตนาการและชีวิต
ยิ่งเขารู้จักเสรีภาพมากเท่าไร เขาก็จะเคารพชีวิตตนเองและผู้อื่นมากเท่านั้น เพราะเสรีภาพทำให้เขาเคารพในตัวเอง เชื่อในตัวเอง เด็กที่เชื่อมั่นในตัวเองก็เกิดจากการที่เชื่อว่าฉันจะทำได้
การมีเจตจำนง เชื่อมั่นในตัวเองจนทำมันสำเร็จ ถ้าไม่มีตั้งแต่เด็ก ก็ไม่ได้หมายความว่าโตขึ้นแก้ไม่ได้ใช่ไหม?
แก้ได้ แต่ตอนสร้างง่ายกว่าแน่นอน (ยิ้ม) ไม่งั้นเราจะมาเรียนเรื่องทางจิตวิญญาณหรือ spiritual learning กันทำไม ถึงตอนนั้นมันจะเป็นบทเรียนกับมนุษย์ทุกคนว่า “ทุกคนแก้ไขได้นะ แต่คุณจะแก้มันรึเปล่า” ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวมากของคนที่ขาด sense of movement ก็คือ เขาไม่เชื่อว่ามันแก้ได้ไง เขายอมแพ้ไปแล้ว เด็กที่ไม่มีความเชื่อในตัวเอง ตอนที่เขาลุกขึ้นมาแก้ปัญหาชีวิตตัวเอง คือตอนที่ยากที่สุดเลยนะเพราะเขาไม่เชื่อว่ามันแก้ได้
สุดท้ายคือ เริ่มสร้างความมั่นใจ อย่าขัดจังหวะภาพในหัว และมอบคืนเสรีภาพให้ลูกตั้งแต่เริ่มดีกว่า
(พยักหน้า) พ่อแม่ที่ขีดหรือกำจัดเสรีภาพลูก เขาไม่รู้เลยว่าเขาทำลายอนาคตของลูกอย่างรุนแรง แม้กระทั่งในนามของความรักนะ คือแม้พ่อแม่จะมี sense of touch และ sense of life ที่ดีมาก แต่มองไม่เห็นว่าตัวเองมีความกลัวบางอย่าง เวลาที่ลูกเริ่มจะเคลื่อนไหวหรือจะทำอะไรก็ “อย่าเลยลูก แม่รักนะกลับบ้านเร็วๆ น้า ตั้งใจเรียนนะ แม่รักนะ” อันนี้ก็ในนามของความรักที่เราได้ทำลายชีวิตเขา ไม่ให้เล่นกับเพื่อน ให้รีบกลับบ้าน ไม่ให้ออกไปไหน เราทำลายเสรีภาพเด็ก ฆ่า sense of movement ในนามของความรัก
ประสบการณ์เก่าของผู้ปกครองอาจสอนว่า ทำแบบนี้แล้วลูกจะต้องทุกข์แน่ๆ เพราะฉะนั้นเลยสร้างเกราะกำบัง ไม่ให้ลูกเจอความทุกข์เลยดีกว่า
คีย์เวิร์ดก็คือ มนุษย์มีการขับเคลื่อนหรือ movement เพื่อเข้าหาความสุขและหลีกเลี่ยงความทุกข์อยู่ตลอด ฉะนั้นในความทุกข์ที่เข้ามาสู่เด็กแบบธรรมชาติ คุณไม่ต้องจัดความทุกข์ให้กับเขา เพราะความทุกข์ที่เป็นธรรมชาติ เขามีอยู่แล้ว
เช่น เขาจะขี่จักรยานให้ได้ เขาจะปีนต้นไม้แล้วตกต้นไม้ เขาจะวิ่งแล้วล้มป้าบ เหล่านี้คือความทุกข์ที่เข้ามาในตัวเด็ก เซลล์จะจัดการเรียนรู้และสร้าง movement เพื่อหลีกหนีจากความทุกข์
การขี่จักรยานให้เก่งขึ้น ว่ายน้ำให้ได้ ปีนต้นไม้ให้เก่ง การที่มนุษย์พาตัวเองหลีกหนีจากความทุกข์เพราะเกิดจากความบาดเจ็บครั้งหนึ่ง เขาจะเรียนรู้เพื่อไม่ให้เจ็บอีกครั้ง นี่คือปัญญาที่ยิ่งใหญ่มากทางกาย และท้ายที่สุดเขาจะมีฐานกายที่เก่งมาก
sense of movement ให้ปัญญาทางฐานกายเพื่อขับเคลื่อนตัวเองสูง สูงไปถึงเรื่องความสัมพันธ์ แม้กระทั่งการที่เราจะเข้าหาคนคนหนึ่ง ฉันจะเข้าไปหาคนนี้ยังไงเพื่อให้เขามีความสุขและไม่สร้างทุกข์แก่กัน นี่ก็เป็นสิ่งที่มีความหมายมากเลยนะ
ซึ่งก็จะย้อนกลับไปหา sense of life หรือการสร้างความสัมพันธ์ความรักในชีวิตอีก
และส่งผลไปถึงการเรียนรู้ในตอนโตและการขับเคลื่อนตัวเองไปหาเพื่อนใหม่ ทำความรู้จักกับคนใหม่ ซึ่งการที่เด็กได้พบเพื่อนแล้วผิดใจกันบ้าง ทะเลาะกันบ้างก็เป็นสิ่งที่เขาต้องเรียนรู้ พ่อแม่อย่าไปยุ่ง
โดยเฉพาะในกรุ๊ปไลน์พ่อแม่ เวลาลูกทะเลาะกัน เหมือนพ่อแม่จะทะเลาะกันหนักกว่าคู่ลูกๆ ซะอีก
บางทีแค่ห้องอนุบาล เรื่องใหญ่อย่างใครจะรบกับใคร มันเป็นเรื่องของเขา ถ้าสมมุติมีเด็กสักคนเล่นแรง สักวันลูกเราก็ต้องเจออะไรแบบนั้น และไม่ได้บอกว่าไม่ต้องสนใจความเป็นไปของลูกเลย แต่ลองเฝ้าดูว่าเขาเรียนรู้ที่จะอยู่กับเด็กคนนี้ยังไง เราต้องมีความเชื่อว่าลูกของเราจะพบปัญญาบางอย่างที่จะอยู่กับเด็กคนนี้ได้ ซึ่งแบบนี้ก็เรียกว่าความรัก
Sense 4: Sense of Balance
รู้จัก ‘สมดุล’ สมดุลทางกายและสมดุลชีวิต
ถึงช่วงวัยที่เด็กอยากขี่จักรยาน การขี่จักรยานไม่ใช่แค่การขี่จักรยาน แต่คือการทำให้เขาเกิดความแข็งแรงของ sense of balance บางทีเราอาจรู้สึกว่าการขี่จักรยานไม่น่ามีผลต่อชีวิตมาก แต่เชื่อมั้ยว่าพ่อแม่ที่ไม่ให้ลูกเคลื่อนตัวเองไปไหนไกลมากนัก เขาก็มักไม่ให้ลูกขี่จักรยาน เพราะกลัวอันตราย กลัวจะล้ม แต่เด็กก็ไม่ได้ฝึกความสมดุลในตัวเองเลย
sense of balance มีผลค่อนข้างเยอะ อย่างแรกคือขณะที่ขี่จักรยาน ออกไปทำกิจกรรมโลดโผนเพื่อตามหาสมดุล สิ่งที่พัฒนาเยอะมากในระดับร่างกายคือ ‘หู’ ในอวัยวะนี้จะมีผลอย่างยิ่งตอนเรียนหนังสือ
ครูณาพูดบ่อยๆ ว่าความหมายอีกอย่างของบาลานซ์ในเซนส์นี้ หมายถึงเรื่อง ‘สมดุลชีวิต’ ด้วย
จริงๆ ทุกอย่างมันค่อยๆ เชื่อมกันหมด พอเด็กเคลื่อนตัวเองได้มากขึ้น (sense of movement) เขาก็ต้องการสร้างความสัมพันธ์ (sense of life) ไปทะเลาะกับคนนั้นบ้างคนนี้บ้างแล้วสุดท้ายก็เริ่มจะกลับมาที่ตัวเอง คือในฐานกาย มันจะเป็นการเรียกร้องของตัวเขาเองที่อยากจะผ่านประสบการณ์ที่มากขึ้นๆ ไปอีกเพื่อออกไปสำรวจ เช่น อยากจะวิ่งให้เร็วขึ้นอีก ทำอะไรที่โลดโผนขึ้น อยากจะขี่จักรยาน อยากจะว่ายน้ำ พาตัวเองไปไกลเกินกว่าการขับเคลื่อนธรรมดาแต่ต้องการค้นหาจุดสมดุลในชีวิต
ตอนที่เขาเริ่มเอาตัวเองไปปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นก็เพื่อสืบค้นว่า ฉันจะสร้างสมดุลเพื่ออยู่กับอันนั้นอันนี้ได้อย่างไร สมดุลตัวเองคือทำออะไรไม่ให้ทะเลาะกับคนอื่น มันคือการเคลื่อนทางกาย ‘ทั้งฐานกาย’ ไม่ว่าจะใช้ชีวิตโลดโผนไปจนถึงการเป็นตัวเอง หรือ being เพื่อไปผูกพันกับผู้คนมากมายอย่างสมดุล ซึ่งบาลานซ์ในระดับ being ที่เขาไปสัมพันธ์กับคนนั้นคนนี้ มันเป็นปัญญาญาณที่อยู่ลึกลงไปในร่างกายเขาที่ใช้ในการดูแลความสมดุลชีวิตตอนโต
สมดุลตอนโตที่ว่าคืออะไร
ฉันทำงานเยอะไปมั้ย? ฉันกินไอ้นี่เยอะไปมั้ย หรือ ฉันมีชีวิตที่เอียงกะเท่เร่ในด้านในด้านหนึ่งเกินไปมั้ย ฉันขังตัวเองเกินไปมั้ย หรือฉันอยู่กับสังคมมากเกินไปรึเปล่า วันหนึ่งเด็กก็ต้องเรียนรู้ว่าฉันใช้โซเชียลมากเกินไปมั้ย หรือกระทั่งการตั้งคำถามของพวกเราเองด้วยซ้ำ
ที่กล่าวว่า เด็กที่มีสมดุลในชีวิตดี จะมีพัฒนาการทางหูที่ดีมาก หมายความว่าอย่างไร
จริงๆ มันคือเป็นเซนส์ที่ 9 คือ sense of hearing ซึ่ง sense of balance จะส่งผลต่อ sense of hearing เพราะบาลานซ์คืออวัยวะเกี่ยวกับหู ถ้าคุณมีสมดุลที่ดี อวัยวะส่วนหูก็จะค่อนข้างดี แข็งแรง และเป็นความสมดุลที่เกิดขึ้นจากข้างใน เด็กที่สมดุลจะทำให้มีความสงบ ฟังเก่ง ซึ่งส่งผลตอนที่เขาเรียนหนังสือ
เรียนหนังสือเก่งมาทีหลัง แต่สิ่งที่เราควรสร้างในเด็กคือ ให้เขาวิ่งเล่น ให้เขาขี่จักรยาน ให้เขาได้ฝึกฝนทางกายจนแข็งแรงมาก ถึงเวลาเขาก็จะเอาประสบการณ์ที่อยู่ในร่างกายเขาไปใช้ประโยชน์ ซึ่งต่างจากการพยายามยัดข้อมูลว่า ท่องไปสิว่ากรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อ พ.ศ. เท่าไร สองบวกสองเป็นเท่าไร คิดซะ ความพยายามยัดเยียดข้อมูลและความคิดเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ในช่วง 0-7 ปีมากเท่ากับการใช้ชีวิต แต่คือการเตรียมความพร้อมเพื่อจะใช้ชีวิตของตัวเองต่างหาก
ความถนัดในฐานกาย ใช่ความฉลาดทางอารมณ์หรือไม่?
ความฉลาดทางกาย คือ gut หรือกึ๋นที่มีในการใช้ชีวิตกับตนเองและผู้อื่น แต่ความฉลาดทางอารมณ์คือ 4 เซนส์ถัดไป เพราะกายเป็นเหมือนรากของความฉลาดทางอารมณ์ เป็นความเชื่อมั่นในตัวเอง เป็นความรัก
ซึ่งเวลาที่เราเล่าเรื่องเซนส์ ไม่ได้หมายความว่ามันต้องเกิดจากจุดนี้แล้วค่อยไปจุดนี้นะ มันค่อยๆ เกิดแล้วถักทอกันไปมา บางอันมาเพื่อเป็นข้อมูลแล้ววันหนึ่งจึงถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างพอเวลาที่เด็กเริ่มเข้าสู่วัย 8-14 (เซนส์ที่ 5-8) เป็นช่วงที่เขาสัมพันธ์กับผู้คนมาเยอะพอสมควร ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางมันมีความรู้สึกเต็มไปหมด แม่เป็นแบบนี้ พ่อเป็นแบบนี้ และตอนนั้นเองที่เขาเริ่มกลับเข้ามาข้างในและเริ่มอยากรู้ว่า สิ่งเหล่านี้มันคืออะไรเหรอ? ความรู้สึกทั้งทางกายและอารมณ์แบบนี้ มันคืออะไร ซึ่งแต่ละสิ่งก็เรียนรู้ผ่านเซนส์เหล่านี้แหละ
ติดตามเซนส์ที่ 5-8 ได้ที่: EP.2: THE TWELVE SENSES ปรัชญาการเติบโตของมนุษย์ตั้งแต่ระดับ ‘เซลล์’ และ ‘โซล’
และเซนส์ที่ 9-12 ได้ที่: EP.3: THE TWELVE SENSES ปรัชญาการเติบโตของมนุษย์ตั้งแต่ระดับ ‘เซลล์’ และ ‘โซล’