- ‘ความสร้างสรรค์’ เป็นที่ต้องการอย่างสูงในทุกวงการ ไม่ว่านักเรียนนักศึกษาเรื่อยไปจนถึงระดับนักธุรกิจต่างก็อยากได้เวทมนต์ของความสร้างสรรค์มาไว้กับตัวทั้งนั้น
- ที่สำคัญ ความคิดสร้างสรรค์สอนกันได้ แต่ไม่ใช่แค่นั่งอยู่ในห้องเรียนหรือทำแบบทดสอบตามมาตรฐานทั่วไป
- นี่คือ 3 วิธีที่สามารถจุดประกายความสร้างสรรค์ให้ผู้คนตลอดหลายปีที่ผ่านมา
แวดวงอาชีพไหนต้องใช้ความสร้างสรรค์บ้าง? ศิลปิน นักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ … ผิดถนัด เพราะตอนนี้ ‘ความสร้างสรรค์’ เป็นที่ต้องการอย่างสูงในทุกวงการ ไม่ว่านักเรียนนักศึกษาเรื่อยไปจนถึงระดับนักธุรกิจต่างก็อยากได้เวทมนต์ของความสร้างสรรค์มาไว้กับตัวทั้งนั้น
หลายคนมักคิดว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นบ็อกซ์เซ็ทของพรสวรรค์ที่ติดตัวมาแต่แรกและไม่อาจสอนให้กันได้ แต่แม้การสอนวิธีคิดหาทางออกใหม่ๆ อย่างสร้างสรรค์จะเป็นเรื่องยาก ข่าวดีคือเรายังสามารถปลูกฝังปัจจัยพื้นฐาน บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ความสร้างสรรค์ให้เติบโตตามแบบฉบับของแต่ละคน
ถามว่าความคิดสร้างสรรค์สอนกันได้ไหม – สอนได้ แต่ไม่ใช่แค่นั่งอยู่ในห้องเรียนหรือทำแบบทดสอบตามมาตรฐานทั่วไปหรอก
วิชาจุดประกายความสร้างสรรค์
การคิดนอกกรอบกลายเป็นคำจำกัดความที่ได้ยินกันบ่อยที่สุดหากถามหาความคิดสร้างสรรค์ แต่พื้นที่และวิธีของความสร้างสรรค์นั้นหลากหลายกว่านั้นมาก อย่างเช่น 3 วิธีนี้ที่สามารถจุดประกายความสร้างสรรค์ให้ผู้คนตลอดหลายปีที่ผ่านมา
1. โมเดลของ ออสบอร์น-พาร์นส (The Osborne-Parnes model) ได้รับความนิยมในการศึกษาและธุรกิจ แบ่งออกเป็น 6 ขั้นตอนคือ 1.ระบุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ 2.รวบรวมข้อมูล 3.แจกแจงปัญหา 4.สร้างไอเดียต่างๆ ขึ้น 5.ประเมินไอเดียเหล่านั้นอย่างละเอียด และ 6.สร้างแผนงานที่ทำให้ไอเดียเหล่านั้นเป็นรูปธรรม
2. ความคิดแบบอเนกนัยและเอกนัย (Diverge and converge) เป็นส่วนผสมอย่างลงตัวของจินตนาการและความรู้ที่เริ่มต้นด้วยการแตกแยกย่อยไอเดียก่อนจะขมวดไปสู่การแก้ปัญหาในตอนท้าย
3. สร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ส่งเสริม ข้อนี้เหมาะกับโรงเรียนอย่างมาก เพราะความคิดสร้างสรรค์เป็นหนึ่งในแนวทางของการทำงานร่วมกันกับคนอื่น การหนุนความสร้างสรรค์ด้วยสถานที่จะทำให้ไอเดียของนักเรียนผุดขึ้นมาเป็นว่าเล่น
Diverge and Converge คิดแบบสมองสองซีก
“ผมไม่ได้ล้มเหลว ผมแค่พบวิธีที่ไม่ได้ผล 10,000 วิธีเท่านั้น”
คำพูดสุดฮิตของ โธมัส อัลวา เอดิสัน ที่ถูกพูดถึงจนทุกวันนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานกันระหว่างความคิดแบบอเนกนัย (Divergent Thinking) และความคิดแบบเอกนัย (Convergent Thinking) ที่ถูกหยิบมาพูดถึงบ่อยๆ ในตอนนี้ โดยผลการวิจัยล่าสุดได้เปิดเผยว่า นักแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์มักมีทักษะการคิดทั้งสองแบบควบคู่ไปพร้อมกัน
Divergent Thinking : คิดถึงสิ่งใหม่ๆ และมองหาความน่าจะเป็น
‘ความคิดแบบอเนกนัย’ ชื่อไทยของ Divergent Thinking เป็นทักษะในการแตกแยกย่อยไอเดียโดยการสำรวจทางออกที่เป็นไปได้หลายๆ ทางเพื่อหาหนึ่งทางที่แก้ปัญหาได้ การคิดแบบนี้มีอยู่ 4 มิติ คือ
1.ความคิดริเริ่ม (Originality) มองเห็นความคิดใหม่ๆ และทางแก้ที่โดดเด่นเฉพาะตัว
2.ความคิดยืดหยุ่น (Flexibility) มองปัญหาจากหลากหลายมุมมองได้ในเวลาเดียวกัน
3.ความคิดคล่องแคล่ว (Fluency) มีไอเดียมหาศาลและไม่ซ้ำกันเลย
4.ความคิดประณีต (Elaboration) ขยายความคิดอย่างละเอียดเป็นขั้นตอน อธิบายให้เห็นภาพชัดเจน
Convergent Thinking : ขมวดทุกความคิดพุ่งตรงไปแก้ปัญหา
‘ความคิดแบบเอกนัย’ หรือ Convergent Thinking เป็นทักษะในการคิดหาวิธีทำให้ไอเดียมากมายรวบยอดตรงไปสู่ทิศทางเดียวกัน กลายเป็นทางออกที่เป็นรูปธรรมและนำไปใช้แก้ปัญหาได้จริง – ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะต้องอาศัยส่วนผสมอีก 4 อย่าง
1.ความรู้และเชี่ยวชาญ (Subject-knowledge and Expertise) ยิ่งข้อมูลแน่นก็ยิ่งสร้างสรรค์ได้มาก
2.ตรรกะและการใช้เหตุผล (Logic and Reasoning) เหตุผลชัดเจนมั่นคง ช่วยให้การแก้ปัญหาเดินหน้าได้ดีขึ้น
3.มีสมาธิ (Focus and Concentration) ไม่ไขว้เขวไปจากความคิดสร้างสรรค์ที่กำลังจะเกิดขึ้น
4.สติปัญญา (Intelligence) หนุนหลังทุกอย่างทั้งความมีเหตุผล การวางแผน การแก้ปัญหา การเรียนรู้ได้เร็ว เข้าใจแนวคิดซับซ้อน และเรียนรู้จากประสบการณ์
วิธีแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ 101
โมเดลของ ออสบอร์น-พาร์นส ได้สรุปว่า การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ (Creative Problem Solving) เริ่มต้นได้จากสองอย่างคือ ทุกคนมีความสร้างสรรค์ในทางใดทางหนึ่ง และทักษะความสร้างสรรค์สามารถเรียนรู้และพัฒนาขึ้นได้ ซึ่งหลักการของเขามีอยู่ว่า
- สร้างสมดุลให้กับจินตนาการ (ความคิดแบบอเนกนัย) และความรู้ (ความคิดแบบเอกนัย)
- มองปัญหาเป็นคำถาม เพราะเมื่อมองเป็นคำถามเราจะพยายามหาคำตอบ แต่ถ้ามองว่าปัญหายังไงก็คือปัญหา มันก็จะกลายเป็นความลำบากที่ทำให้เราเหนื่อยจะเผชิญหน้า
- ไม่ตัดสิน เพราะการจ้องจะตัดสินกันทำให้ไอเดียต่างๆ หดหายไปหมด การตัดสินควรเกิดขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อไอเดียต่างๆ มาบรรจบเป็นทิศทางเดียวกันในตอนท้ายเท่านั้น
- สนใจแค่ ‘ใช่’ กับ ‘แล้วไงต่อ’ มากกว่า ‘ไม่’ กับ ‘แต่’ เพราะยิ่ง ‘ไม่’ ก็ยิ่งตัดโอกาสจินตนาการมากขึ้นเท่านั้น