- ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ป.4 หรือผู้ใหญ่ ก็สามารถทอล์คให้เหมือน TED ได้ ถ้ามีไอเดีย!
- ทีม curator ไม่ใช่คนเขียนสคริปต์ให้ speaker แต่เป็นผู้ลับเหลี่ยมให้ไอเดียคมขึ้น
- เวที TED Talk คือลำโพงขยายเสียงให้ไอเดียดังขึ้นมา เพราะเชื่อว่าเมื่อไอเดียถูกส่งต่อ จะเกิดแอ็คชั่นบางอย่าง จนกลายเป็นมวลพลังงานขับเคลื่อนสังคม
แม้จะจบไปแล้วสำหรับเวที TEDxBangkok 2018 ที่แปลงโฉมเวทีทอล์คให้กลายเป็นสนามเด็กเล่า พาเหล่าบรรดาเด็กที่อายุไม่ถึง 20 ปี ขึ้นมาแสดงพลังไอเดียของพวกเขา (ไปฟังเรื่องที่เด็กๆ อยากเล่าได้ ที่นี่)
แต่กว่าจะเป็นหนึ่งทอล์คบนเวที…ไม่ง่าย ทำอย่างไรให้คำพูดเพียงสิบกว่านาที เข้าไปนั่งนิ่งและตกตะกอนอยู่ในใจของผู้ชมและผู้ฟังได้
และความน่าสนใจของเวทีนี้คือ ทุกอย่างไม่ได้ตั้งต้นที่ ‘คน’ แต่อยู่ที่ ‘ประเด็น’ พลังและประสิทธิภาพของการสื่อสาร (communication) จึงจะได้ทำหน้าที่ของมันอย่างถึงที่สุด
ยืนยันโดย ‘อิม’ พชร สูงเด่น หนึ่งในทีม Story Curator หรือผู้ดูแลประเด็นประจำเวที TEDxBangkok ที่อาสาเข้ามาทำงานนี้โดยเริ่มต้นจากความชอบ จากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านไป 2 ปี วันนี้-เธอบอกว่า
“หัวใจยังเต้นแรงทุกครั้งที่ได้ทำ”
ทำความรู้จักกับ TED
TED (เทด) คือชื่อของเวทีพูดสาธารณะ เราจะเห็นกันได้บ่อยๆ คือ TEDx (เทดเอ็กซ์) ซึ่งหมายถึง การไปเปิดเวทีตามพื้นที่ต่างๆ ถ้าในประเทศไทยก็มี TEDxChiangMai – TEDxBangkok – TEDx KhonKaen ฯลฯ หรือลึกลงไปในระดับสถาบันศึกษา ตามมหาวิทยาลัย TEDxCU (จุฬาลงกรณ์) – TEDxSU (ศิลปากร) รวมถึงเวทีตามหัวเมืองต่างๆ เช่น TEDxCharoenkrung (เจริญกรุง) ซึ่งการมีเวทีพูด TED ในพื้นที่ต่างๆ เช่นนี้ เป็นเครื่องมือในการรวมประเด็นที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นๆ ให้ใหญ่และแข็งแรงขึ้น ส่งเสริมให้คนในพื้นที่หรือชุมชนมีเวทีสื่อสาร และช่วยกันออกแบบแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับชุมชนของตัวเองมากที่สุด
เวทีแห่งหัวใจอาสา
TED เป็นองค์กรที่ใช้อาสาสมัครมาทำงานทั้งหมด เป็น non-profit ที่แท้จริง คนที่เข้ามาทำไม่ได้รับค่าตอบแทน แต่การเป็นอาสาสมัครเช่นนี้มีพลังบางอย่างซ่อนอยู่ เรานึกถึงทอล์คหนึ่งในปี 2016 ของ โอ๊ต ชยะพงส์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Bangkok Swing ที่เคยบอกไว้ว่า “คุณอยากทำอะไรในช่วงเวลา 2 ทุ่ม ทำแบบไม่ต้องการผลตอบแทนจากมัน” ซึ่งการเป็นอาสาสมัครเข้ามาทำ TED ของเรามันตอบตรงนี้ได้ บางคนมาทำเพราะชอบคอนเทนต์ บางคนมาเพราะชอบดีไซน์ ชอบออกแบบ หรือบางคนคิดว่าพื้นที่ตรงนี้มันสนุก เป็น playground ของเขา ก็เข้ามาได้
ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ฉากหน้าเวทีหรืองาน event อย่างเดียว แต่พื้นที่เบื้องหลังคือพื้นที่สำหรับปล่อยของ เป็นคุณค่าระหว่างทางของ TED ที่หลายคนอาจจะไม่รู้
“สำหรับเราเบื้องหลังการเตรียมงานถึง 3- 6 เดือน มันให้คุณค่ากับอาสาสมัครที่มาทำงานด้วยกันเยอะมาก ไม่เช่นนั้นคงไม่มีใครยอมมาทำงาน (ฟรี) อะไรแบบนี้หรอก”
อะไรทำให้เข้ามาเป็นอาสาสมัคร
ต้องบอกก่อนว่าแค่ inspiration อย่างเดียวมันไม่พอ บางคนกรอกใบสมัครเพราะอยากทำงานสะท้อนสังคมแบบขึงขัง แต่ความเซอร์ไพรส์ที่เขาจะได้รับกลับไปคือความสนุกในการทำงาน เราได้ลองทำหลายๆ อย่าง ที่ไม่เคยทำในงานประจำวัน
“เราเคยทำงานสาย NGO มาก่อน เวที TED ทำให้เราได้กระโจนตัวเองเข้าหาคอนเทนต์ เจอคนที่พูดเรื่องอื่นๆ ที่ต่างออกไป ไม่ว่าจะเรื่องนวัตกรรม เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ ซึ่งเราไม่มีวันได้ยินได้จากโลกของ NGO มันก็เป็นความสนุก ตื่นเต้นที่เราโหยหา”
หรืออย่างบางคนชอบงานดีไซน์ ชอบการออกแบบ อยากทำนิทรรศการ แต่งานประจำวันไม่เอื้อให้ทำได้ เวที TED จึงกลายเป็นสนามเด็กเล่นให้เขาได้มาทดลองเล่น หรือบางคนอายุ 40 ปีแล้ว แต่ใช้พื้นที่ตรงนี้กลับมาเล่น กลับมาลุยกับคนอายุ 20 อีกรอบ
พอได้เข้ามาร่วมทำทอล์คกับ TED มัน ‘ว้าว’ ไหม
เราเข้ามาเพราะความชอบคอนเทนต์ล้วนๆ ปกติชอบฟัง TED อยู่แล้ว ตอนแรกที่เข้ามามันไม่ได้ว้าวอะไร พอลงทำงานกับทีมจริงๆ มันว้าวมาก! ทีม curator ที่มีหน้าที่ดูแลเนื้อหาของทอล์ค มีตั้งแต่คนที่เป็น ดอกเตอร์ปริญญาเอก เรียนสายวิทยาศาสตร์ เป็นบรรณาธิการนิตยสาร เป็นนักศึกษาปริญญาเอกงานวิจัย คนทำงานโปรดักชั่นทีวี หรือเด็กที่จบสถาปัตย์ มันหลากหลายมาก ซึ่งทุกคนมองโลกคนละเลนส์ พูดคนละภาษา คนละความสนใจ ซึ่งแต่ก่อนเราไม่เคยคิดเลยว่ามันมีการมองโลกคนละเลนส์อยู่ด้วยซ้ำ
“พอมาทำงานร่วมกันแล้ว มันว้าวมาก มันทำให้เราเฉือนเลนส์สายตาตัวเองไปทีละนิด แล้วเห็นทางอื่นๆ มากขึ้นเรื่อยๆ”
การที่ทีมมีความหลากหลายเช่นนี้ มันส่งผลอย่างชัดเจนต่อทอล์คที่จะออกมา เพราะถ้าให้คนเดียวคิด ผลออกมาก็จะเป็นแบบเดียวเหมือนกันหมด “ทอล์คนั้นก็จะกลายเป็นทอล์คเลนส์เดียว ความหลากหลายนี่แหละ จะทำให้ทอล์คแต่ละอันค่อยๆ คมขึ้นเรื่อยๆ จากการดีเบตของคนเบื้องหลังจากคนหลายกลุ่ม”
การทำงานบนความต่าง วุ่นวายแค่ไหน จัดการอย่างไร
มันก็มีความยากบ้างในกรณีการซิงค์ (เชื่อม) ความสนใจ เพราะทุกคนมีสิ่งที่คิดว่าสำคัญต่างกัน ดังนั้นการดึงจุดร่วมของทีมจึงเป็นเรื่องยาก เราไม่ได้ทำทอล์คเพื่อตอบสนองความสนใจของใครในทีม แต่เราทำเพื่อกลุ่มผู้ฟังที่ต้องการรับสารจริงๆ มันเป็นงานปฏิบัติที่ต้องเอาตัวเองออกมาให้น้อยที่สุด มองผ่านสายตาคนอื่นให้มากขึ้น จุดที่เราเคยมองว่ามันยาก สุดท้ายเราจะตื่นเต้นไปกับมันมากกว่าว่า ‘เฮ้ย ทำไมคนนี้คิดแบบนั้น ทำไมคนนั้นคิดแบบนี้’
กว่าจะมาเป็นงาน TED Talk ต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง
TED เป็นเวทีที่สะท้อนสังคมมาก จึงมีความเป็นประชาธิปไตยสูงมาก เลยทำงานช้ามาก (หัวเราะ) ประชาธิปไตยมันเดินไปได้ช้าอยู่แล้ว เพราะเราต้องฟังทีมทั้งหมด แต่ข้อดีของการที่มันค่อยๆ กระเตื้องแบบอืดอาดนี้ คือ มันจะไม่มีใครบาดหมางกัน เพราะไม่มีใครหลุดไประหว่างทาง ไม่มีใครมาทำงานด้วยความรู้สึกฝืนหรือโดนบังคับ ทุกคนไหลลื่นไปกับความช้านี้ เราจะไม่รู้สึกโดนถีบออกจากกลุ่ม
ฉะนั้นวิธีการทำงานก็คือ เมื่อมี theme เสนอมา ต้องมาเคาะกันต่อว่ามันหมายถึงอะไร ทีมแรกที่ลงมือทำงานก็คือ curator ที่เข้ามาดูแลเนื้อหาว่ามีอะไรสอดคล้องไปกับ theme
“เราไม่ได้เอาตัว speaker นำ ไม่ได้มองว่าใครดัง ใครพูดเก่ง แล้วไปเชิญเขาขึ้นมาพูด แต่เอาไอเดียหรือความคิดเป็นแก่นหลัก ดูก่อนว่าใครสอดคล้องกับ theme นั้น จากนั้นค่อยคัดเลือกคนที่คิดว่าเหมาะสมจะขึ้นมาทอล์ค”
แต่ก็ยังไม่จบ เพราะต้องดีเบตกันอีกหลายรอบ สมมุติมีการโยนเรื่องมาว่าจะนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับ ‘ขนส่งมวลชน’ ก็ต้องคัดเลือก speaker มาก่อน จากนั้นก็ลงไปรีเสิร์ชทั้งหมด ว่าแต่ละคนมีมุมไหนที่น่าสนใจบ้าง แล้วมันครบ ตรงกับความหลากหลายบนเวทีหรือไม่ ฉะนั้นงานมันก็จะช้ามาก แต่จะไม่มีใครที่ไม่เห็นด้วยกับคำตอบปลายทาง เพราะทุกคนได้ช่วยกันขบคิดมาแล้ว
ที่ว่าช้า ช้าแค่ไหน
ทีมงานเบื้องหลังรวมแต่ละฝ่ายมีประมาณ 50 คน โดยปกติเวที TED จัดขึ้นปีละครั้ง แต่ละปีก็มี theme ที่ไม่ซ้ำกัน 50 คนก็ 50 ความคิด การเตรียมงานเบื้องหลังจึงใช้เวลาประมาณเป็นปี
เราจะรู้ได้ไงว่า Speaker คนไหนขึ้นทอล์คได้หรือไม่ได้
คนชอบมองว่านี่คืองานทอล์ค ดังนั้น speaker บนเวทีต้องพูดเก่ง แต่ความจริงทักษะการพูด หรือ presentation skill จะเป็นเรื่องแรกๆ ที่ตัดทิ้งเลย เรื่องหลักที่จะโฟกัสคือไอเดีย ไอเดีย และไอเดียอย่างเดียว!
ก่อนที่ speaker แต่ละคนจะขึ้นเวที ทีม curator จะเข้าไปพูดคุยในเบื้องต้นทั้งหมดก่อน ชื่อของ speaker หลายคน อาจจะเด่นดังในโลกอินเทอร์เน็ต พอไปคุยแล้วรู้สึกประเด็นช้ำ ไม่ได้มีมุมอื่นเลย เราก็ไม่เลือก แต่บางคนเป็นคนธรรมดาไม่ใช่คนเด่นคนดัง แต่พอไปคุยแล้วรู้สึกว้าว น่าคุยต่อ และเรื่องของเขาสอดคล้องกับหัวข้อที่เราตามหา เราก็จะเลือกเขา
สมมุติทุกคนรู้ดีเรื่องเดียวกันหมด แล้วเราจะเลือกใครขึ้นไปทอล์คบนเวที
ฐานะของเวที TED ไม่ใช่ผู้ตัดสินว่าอันนี้ใครถูกหรือผิด เวทีนี้เน้นการโยนประเด็นให้คนฟังคิดต่อและตัดสินใจด้วยตัวเอง ในการเลือก speaker คนหนึ่ง ไม่ได้แปลว่าเขาเก่งหรือดีที่สุด แต่เขาเหมาะที่จะพูดเรื่องนี้ในช่วงเวลานั้น speaker บางคนเราอาจจะคุ้นหน้า แต่ไม่เคยรู้เลยว่าเขาสามารถพูดเรื่องนี้ได้ด้วย สิ่งที่จะช่วยกรองว่าใครจะได้ขึ้นไปพูด คือจังหวะและช่วงเวลา การที่เราไม่ได้เลือกเขาขึ้นเวทีไม่ได้แปลว่าเขาพูดไม่เก่งหรือประเด็นไม่ดี
ถ้ามีไอเดีย แต่พูดไม่เก่ง จะทำอย่างไร
เราขอยกตัวอย่าง แวน – จากเพจ Mayday ที่นำเสนอเกี่ยวกับเรื่องรถเมล์ไทย แวนเป็นคนขี้อายมาก เป็นคนทำงานที่พูดไม่เก่ง แต่เราเชื่อว่าไอเดียที่อยู่ในหัวเขา และความทุ่มเทที่แวนมีให้กับเรื่องนั้นจะช่วยส่งให้ทอล์คออกมาดีในที่สุด เพราะเรื่องที่ออกมาจากคนที่มีประสบการณ์ ผ่านการเล่าด้วยอารมณ์อะไรบางอย่าง มันจะไปรีเลทกับผู้ฟังได้เสมอ
แล้วสำหรับคนฟัง เราเชื่อว่า คุณไม่ต้องการนักพูดที่จำสคริปต์ได้เป๊ะๆ คุณแค่ต้องการวิธีการเล่าเพื่อดึงให้ตัวเองมีส่วนร่วมด้วยเท่านั้น สุดท้ายแล้ว การเล่าที่ดีอาจไม่ใช่การพูดเก่ง แต่เป็นการทำให้ไอเดียไปเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมกับผู้ฟังมากที่สุด
อย่างที่บอกว่าไอเดียต้องนำมาก่อน แล้วความธรรมชาติจะออกมามากที่สุด การวางโครงเรื่องให้ speaker ไม่ใช่การทำบทสคริปต์ แต่คือการวางหัวข้อไว้ว่าจะต้องพูดอะไรบ้าง เท่าที่เราทำงานมาไม่มี speaker คนไหนที่พูดตามบทเป๊ะๆ เลย แต่สิ่งที่ได้คือความสด-ความจริง อีกอย่างถ้าขึ้นไปทอล์คแบบนักวิชาการจ๋า จะกลายเป็นว่าไอเดียนั้นผู้ฟังจับต้องไม่ได้ทันที
ช่วยยกตัวอย่างได้ไหม
เรื่องของพาย – พายขึ้นมาทอล์คเรื่องแม่ที่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ ซึ่งเราคิดว่า การขึ้นมาเล่าประเด็นเรื่องแม่ตัวเองไม่สบาย มันจะใหญ่พอที่จะขึ้นเวที TED หรือไม่ ผ่านการดีเบตกันล้านแปดรอบ (หัวเราะ) จนสุดท้ายพบแก่นที่พายอยากสื่อสาร พาเราเข้าไปแตะหัวใจหลักของความสัมพันธ์ในครอบครัว การรักษาสมดุลระหว่างชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์กับแม่ เราเชื่อว่าเรื่องนี้น่าจะสร้างประสบการณ์ร่วมกับคนในสังคมปัจจุบันได้
ประเด็นบนเวที TED ในประเทศไทย มันไปไกลได้แค่ไหน?
เราพยายามทำให้มันไกลได้มากที่สุด ถ้ายกตัวอย่างเรื่องวัฒนธรรม โจทย์คือจะพูดในแง่ไหน เราจะเอาอาจารย์โบราณคดีเก่าๆ ขึ้นมาพูดก็ได้ แล้วมันจะจำเจไหม หรือเราเลือกคนที่ทำงานเกี่ยวกับแก่นของวัฒนธรรม เพียงแต่เขาไม่เชื่อขนบธรรมเนียมในรูปแบบเดิม และนำเสนองานในฟอร์มในรูปแบบใหม่ๆ ฉีกจากของเดิม นี่คือสิ่งที่ TED พยายามตามหา ความร่วมสมัยไม่ใช่สิ่งที่เราใช้พิจารณาเขาให้ขึ้นมาอยู่บนเวที แต่เรามองที่แก่นไอเดียมากกว่า
ข่าวในสังคมปัจจุบัน มีความสำคัญมากน้อยแค่ไหนที่จะนำไปประเด็นบนเวที
มันจะมีเส้นแบ่งบางๆ ในการแบ่งคอนเทนต์ ระหว่าง timely-timeless ถ้าสมมุติเป็นข่าวสังคมอย่างเดียว ทอล์คชิ้นนั้นก็จะอยู่ได้แค่ในปีนั้น
“แต่เราจะทำอย่างไร ให้ทอล์คนั้นไม่ว่าจะกลับมาย้อนดูตอนไหน ก็ยังคงอินอยู่ ซึ่งตรงนี้มันเป็นข้อพิสูจน์ของการทำทอล์คอย่างหนึ่งว่าเราจะเจาะไปได้ลึกถึงแก่นมันแค่ไหน แล้วจะส่งไปถึงคนฟังได้อย่างไร”
ยกตัวอย่างเรื่องรถเมล์เหมือนเดิม เรื่องรถเมล์อาจจะมีกระแสบางช่วงที่ทุกคนก่นด่า ต้องคำนึงถึง ‘what+when’ จุดกำเนิดของรถเมล์คือบริการสาธารณะที่ทุกคนควรเข้าถึงได้และเอื้อต่อการใช้ชีวิต แต่ว่าตอนนี้มันมีบางสิ่งที่กีดกันให้ความสาธารณะเข้าถึงได้เฉพาะกลุ่ม โจทย์คือแล้วจะทำอย่างไรให้เป็นของทุกคน พอเป็นเรื่องพื้นที่สาธารณะ เมื่อย้อนดูตอนไหนเรื่องนี้ก็ยังจะพูดซ้ำได้ ทอล์คนั้นก็จะกลายเป็นเรื่อง timeless
มีวิธีการย่อยประเด็นยากๆ อย่างไร ให้คนฟังเข้าใจง่าย
ย้อนไปในทอล์คปี 2016 ตอนนั้นกระแสฝุ่นควันในจังหวัดน่านกำลังมา แต่ถามว่าคนในเมืองจะรู้สึกใกล้ชิดกับเรื่องนี้ได้ไหม –ก็ไม่ โจทย์ก็คือจะทอล์คอย่างไรให้คนในเมืองหรือคนในจังหวัดอื่นๆ รู้สึกร่วมไปด้วย
มันก็เลยออกมาเป็นการย่อยข้อมูล หาความสัมพันธ์ระหว่างน่านและกรุงเทพฯ โดยใช้วิธีนำตัวเลขสถิติที่บอกว่า 45 เปอร์เซ็นต์ของแม่น้ำเจ้าพระยามาจากแม่น้ำน่าน น่านเป็นต้นน้ำ และเป็นพื้นที่ดูดซับน้ำที่สำคัญ ทำให้คนกรุงเทพฯ ที่อยู่แต่ในห้องแอร์ เห็นภาพสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ และทำให้เขาเห็นว่าโลกที่คุณกำลังนั่งอยู่มันกำลังถูกทำลายนะ
จะรู้ได้อย่างไรว่า Speaker คนไหนเป็นตัวจริง
การลงไปคุยก่อนจะทำให้รู้ว่าใครเป็นตัวจริงในหัวข้อนั้น ต้องท่องไว้เสมอว่า ‘ไอเดียต้องมาก่อน’ ถ้าเราไปยึดว่าอยากได้ speaker คนนี้ขึ้นมาพูด เพราะเขาสามารถดึงดูดได้ แต่เวลาทอล์คจริงเขากลับพูดเชิงโฆษณาตัวเอง ไม่รู้ลึก ไม่มีคอนเทนต์ที่จะสื่อสาร ผู้ฟังก็ไม่ชอบ กลับกันกับคนธรรมดาที่มีไอเดียเต็มหัว เขาจะลื่นไหลไปกับมัน ทีม curator มีหน้าที่แค่ช่วยเกลา ตัดแต่งให้ทอล์คของเขาคมขึ้นและน่าฟังเท่านั้นเอง
แล้วจะปั้นทอล์คอย่างไรให้น่าฟัง
หน้าที่ของทีม curator เริ่มตั้งแต่การหว่านข้อมูลและเริ่มลงไปคุย ซึ่งช่วงแรกเราจะได้ข้อมูลเยอะเป็นกระบุง จากนั้นค่อยๆ ตัดทอน และคิดต่อว่าจะทำอย่างไรกับข้อมูลให้มันออกมาเป็นทอล์คที่น่าฟังที่สุด
“เราเรียกกระบวนการนี้ว่า KFC”
- K – Key Massage ทุกคนในทีมต้องมาเถียงกันหนักมาก ว่าเส้นเรื่องของทุกคนคืออะไร สุดท้ายแล้วถ้ามันไม่ลงตัว ก็ต้องย้อนกลับไปถาม speaker ว่า เขาอยากสื่อสารเรื่องนี้กับคนกลุ่มไหน แล้วใช้ตรงนั้นตัดสิน
- F – Find Your Story ในเมื่อได้เส้นเรื่องแล้ว ใช้มันเป็นตะแกรงร่อนสิ่งที่ไม่ใช่ออกไป จากนั้นหาเรื่องประกอบเสริมเข้าไป ให้เรื่องมันจริง ให้เรื่องมันสำคัญ
- C – Call to Action สุดท้ายแล้วเราตามหา speaker ที่มีทางออกให้ปัญหาที่เขาพูด ไม่ใช่แค่เวทีแห่งการบ่น ที่ผู้ฟังไม่มีปฏิกิริยาตอบกลับ บางทอล์คคาดหวังปฏิกิริยากับทุกคน ให้ตื่นตัวกับปัญหา บางทอล์คอาจจะคาดหวังกับกระทรวงหรือรัฐมนตรี ตัว C จึงสำคัญมากที่จะช่วยทำเรื่องเล่าบนเวที กลายเป็นของขวัญที่น่าส่งต่อ ทำให้หน้าที่เรียกร้องเกิดแอ็คชั่นอะไรบางอย่างหลังจากทอล์คจบ
มีวิธีดึงคนให้เข้ามาดู TED Talk อย่างไรบ้าง
เราจะไม่เปิดชื่อ speaker ก่อน เพราะว่าอยากให้ผู้ฟังกลับมาที่ไอเดีย ถ้าประกาศชื่อ speaker ไป บางคนมีฐานแฟนก็จะพากันเข้ามาเยอะ สุดท้ายแล้วคุณก็อาจจะไม่ได้สัมผัสตัวไอเดียเลย มันน่าเสียดาย ซึ่งนี่ก็เป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่งของทีมงานด้วย ที่ต้องสร้างงานที่มีคุณภาพ ให้คุ้มค่ากับบัตรที่ผู้ฟังเสียเงินเข้ามา โดยที่พวกเขาไม่รู้มาก่อนด้วยซ้ำว่า จะมาเจอใครบ้าง
ใครคือคนส่วนใหญ่ที่มาฟัง TED
ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนที่เข้ามาฟังมักเป็นกลุ่มคนชนชั้นกลาง อายุ 25-40 ปี และนี่เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ทีมอยากจะแก้ไข อาจเป็นเพราะช่องทางที่ใช้โปรโมตเป็นสื่อออนไลน์ ซึ่งคนกลุ่มอายุเท่านี้เสพอยู่แล้ว แต่เราก็พยายามจะกระจายไอเดียออกไป โดยผ่านไลฟ์ หรือ วิดีโอยูทูบ และเป้าหมายต่อไปคือการทำให้ TEDx เข้าไปอยู่ในมือของพี่วินมอเตอร์ไซค์ แม่ค้าขายของ หันเข้ามาฟังเรา ดังนั้นความหลากหลายจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
ทุกคนสามารถทอล์คได้เหมือน TED?
ใช่ นี่คือความเชื่อหลักของทีมเลย เราเชื่อว่าทุกคน ไม่ว่าใคร เป็นเด็ก ป.4 หรือผู้ใหญ่ ทุนคนล้วนมีเรื่องเล่าที่ควรค่าแก่การส่งต่อทั้งนั้น แน่นอนว่าอาจมีคำถามในช่วงแรกว่าคนนี้จะพูดได้จริงๆ ไหม เราว่ามันขึ้นอยู่กับสายตาของผู้ฟังมากกว่า
“บางทีที่เรามองว่าคนนี้พูดไม่น่าสนใจ เป็นเพราะเราฟังไม่ลึกพอหรือเปล่า?”
‘สังคมที่มีแต่คนพูด-ไร้คนฟัง’ TED Talk จะช่วยส่งเสริมอย่างไร
การส่งเสริมการฟังเป็นขั้นต่อไปที่อยากทำ อย่างที่บอกเราต้องหยอดประเด็นที่หลากหลาย เพื่อให้ไปแตะกลุ่มคนที่หลากหลาย ทำให้เขาอยากจะเข้ามาฟัง การใช้ speaker ที่เป็นคนดังเพื่อมาดึงดูดคนก็ทำได้บ้าง เพราะไม่ได้แปลว่าคนดังจะไม่มีเรื่องที่น่าสนใจ อย่างปีก่อนที่ป๋อมแป๋มขึ้นมาพูดในเรื่องขึงขัง ไม่ตลกเหมือนคาแรคเตอร์ในทีวี ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว้าวมาก นอกจากนั้นการที่บุคคลที่มีชื่อเสียงมาพูดบนเวทีร่วมกับคนธรรมดา ยังได้ช่วยฉายแสงหนุนกันและกัน ทำให้เสียงของคนธรรมดาได้เป็นที่รับรู้เพิ่มมากขึ้น
โดยสรุป หัวใจการสื่อสารในแบบ TED คืออะไร
ถ้าเบื้องหน้า มันคือลำโพงขยายเสียง ที่ช่วยขยายไอเดียที่มีอยู่ในทุกคนให้ดังขึ้นมาและทำให้คนได้ยินมากที่สุด เพราะเราเชื่อว่าเมื่อไอเดียถูกส่งต่อไปแล้วมันจะเกิดแอ็คชั่นอะไรบางอย่างขึ้นมาเอง จนกลายเป็นมวลพลังงานก้อนใหญ่ที่จะขับเคลื่อนไป
แต่ถ้าถามในเชิงหลังบ้าน TED ก็คือสนามเด็กเล่น ให้ทีมงาน ที่มีความสนใจหลากหลาย มีทักษะที่หลากหลาย ได้มีพื้นที่นอกงานได้ลองทำในสิ่งที่อยากทำ