- The Potential ชวนแลกเปลี่ยนประเด็นเฟมินิสต์และความเท่าเทียมทางเพศกับ วิน นิมมานวรวุฒิ ศิลปิน นักเขียนและกวี นามปากกา ‘โรแมนติกร้าย’ ผู้เรียกตัวเองว่าเป็น ‘ผู้ชายสีชมพู’ และ ‘Male Feminist’
- ความตั้งใจของวินคือต้องการจะส่งต่อพลังบวกและสร้าง Self-Love ให้กับผู้อ่าน รวมถึงพยายามสอดแทรกประเด็นความเท่าเทียมทางเพศลงไปในผลงานของตัวเอง
- เขาเชื่อในพลังของ Soft Power และการเมืองในเชิงวัฒนธรรมว่าสามารถเปลี่ยนสังคมและโลก ซึ่งสิ่งที่จะทำให้สารเหล่านี้ไปถึงตัวผู้คนได้ ก็คืองานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นเพลง บทกวี หรือหนังสือ
“เฟมินิสต์เป็นสิ่งที่ง่ายมาก แค่คุณเคารพความเป็นมนุษย์ของทุกคนว่ามันเท่ากัน และอย่าเอากรอบไปครอบใคร”
ชวนแลกเปลี่ยนประเด็นเฟมินิสต์และความเท่าเทียมทางเพศกับ วิน นิมมานวรวุฒิ ศิลปิน นักเขียนหนังสือและกวี นามปากกา ‘โรแมนติกร้าย’ ผู้เรียกตัวเองว่าเป็น ‘ผู้ชายสีชมพู’ และ ‘Male Feminist’
ภายใต้รอยยิ้มหวานและอบอุ่นของวินนั้นเต็มไปด้วยความตั้งใจที่อยากจะส่งต่อพลังบวกและสร้าง Self-Love ให้กับผู้อ่านของเขา รวมถึงพยายามสอดแทรกประเด็นความเท่าเทียมทางเพศลงไปในผลงานของตัวเอง
จุดเริ่มต้นเส้นทางการเขียนเพื่อสร้างพลังของ ‘วิน’ เริ่มจากการที่เขาเติบโตมากับแม่เลี้ยงเดี่ยว และใช้ชีวิตตั้งแต่เด็กในโรงเรียนชายล้วน ทำให้เห็นปัญหาปิตาธิปไตย (ชายเป็นใหญ่ในสังคม) ด้วยความอึดอัดคับข้องใจจึงทำให้เขาปลีกตัวออกมาใช้เวลากับการเขียนเยียวยาตัวเอง และส่งต่อพลังให้กับผู้อื่น
จาก ‘เด็กอ้วนหลังห้องคนหนึ่งที่คลั่งรักของหวาน’ คนนั้น กลายมาเป็น เจ้าของผลงานเขียนและผลงานเพลงที่สร้างพลังใจแก่ผู้รับ ไม่ว่าจะเป็น เพลง ‘Little Wendy’ และ ‘Miss Lonely Heart ’ หรือ หนังสือ ‘Romantic!! (ร้าย)’ ‘รองเท้าสีชมพูกับโลกสีเอิร์ลเกรย์’ ‘โปรดอย่าใจร้ายกับหัวใจของเธอ’ รวมถึง ผลงานล่าสุด หนังสือ ‘เธอจะไม่หลงทางบนถนนที่สร้างเอง’ และเพลง ‘Sweet Girl on Fire’
วินเชื่อว่า Soft Power นั้นมีพลังในการสื่อสารมากๆ เขาจึงอยากจะเป็นศิลปินที่ส่งต่อสารเหล่านี้ไปสู่สังคม เป็นคนๆ หนึ่งที่ช่วยหว่านเมล็ดพันธุ์ให้เบ่งบานในสังคม และคาดหวังว่าวันหนึ่งโลกของเราจะมี ‘ความเท่าเทียม’ จริงๆ เสียที
“เราอยากเป็นจุดเล็กๆ เพื่อประคองสิ่งนี้ และส่งต่อให้กับคนอื่นๆ ต่อไป”
ทำไมวินถึงสนใจงานเขียน?
ย้อนกลับไปสมัยเรียน เราเรียนชายล้วนมาตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยมปลาย ซึ่งการเรียนชายล้วนก็ทำให้เราเห็นโครงสร้างที่น่าหดหู่ ทั้งอำนาจนิยม ชายเป็นใหญ่ เราเห็นเพื่อนที่เป็น LGBTQ+ ถูกบูลลี่ทุกวัน พอเห็นความ Sexism (เหยียดเพศ) ในคลาส เลยรู้สึกว่าเราไม่เข้ากับตรงนี้ครับ
พอรู้สึกไม่เข้ากับคลาส ก็เลยกลายเป็นเด็กที่ใช้เวลากับตัวเอง เข้าห้องสมุด หรือไปเล่นดนตรี เพราะการอ่านหนังสือเหมือนทำให้เรามีเพื่อน แถมเราก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็ก outcast (ปลีกตัวจากสังคม) ในห้อง เลยไม่อยากอยู่ในห้องเรียน อยากหนีไปห้องสมุดหรือร้านหนังสือ
เราชอบอ่านหนังสือและเขียนไดอารี่มาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะการเขียนไดอารี่ก็เหมือนเป็นการ therapy (บำบัด) ตัวเองจากโรคซึมเศร้า ซึ่งพอมองย้อนกลับไป ก็คิดว่าเราซึมเศร้าเพราะสังคมด้วย ตอนนั้นเรายังไม่เข้าใจว่าเพราะอะไร แต่มาเข้าใจหลังจากนั้นว่าเป็นเพราะเราอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยอำนาจนิยม ปิตาธิปไตย เห็นคนมองคนไม่เท่ากัน และเห็น LGBTQ+ ที่ถูกบูลลี่ ทำให้เรารู้สึกแย่มาก
ช่วงแรกๆ ที่เริ่มเผยแพร่งานเขียน เราก็จะชอบเข้าตามบอร์ดต่างๆ แล้วเอางานที่เขียนไว้ไปเผยแพร่ในเว็บบอร์ด ก็ไม่ได้คิดถึงกระแสตอบรับอะไรขนาดนั้น แค่อยากแชร์เฉยๆ เพราะเราเขียนแล้วเราแฮปปี้ อยากให้คนได้อ่านบ้าง
แต่สมัยนั้นก็ไม่ได้เขียนเกี่ยวกับ Social Issue (ปัญหาสังคม) สักเท่าไหร่ จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการคุยกับตัวเอง และเกี่ยวกับ Mental Health (สุขภาพจิต) มากกว่า
รู้สึกว่าตัวเองเป็น Feminist ตั้งแต่ตอนไหน?
จริงๆ เราก็โตมากับ Single Mom เราก็จะเห็นการถูกกดขี่ของผู้หญิง เลยได้เรียนรู้คำว่า ‘Girl Power’ จากคุณแม่ที่เป็นผู้หญิงสายสตรองและเป็นไอดอลของเรา
ก็เห็นว่าในสังคมการทำงานหรือการใช้ชีวิตเนี่ย ทำไมเขาถึงทรีตผู้หญิงแบบนี้ ทำไมผู้หญิงถึงเป็น second sex ที่ต้องเป็นรองตลอด หรือดีเทลยิบย่อย อย่างเช่น เวลาเราเขียนชื่อผู้หญิงกับผู้ชาย ทำไมชื่อผู้ชายต้องมาก่อนเสมอ
หรือแม้แต่การ Stereotype (เหมารวม) ที่อาชีพนี้ผู้หญิงเป็นไม่ได้ หรือต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้นถึงจะทำได้ เช่น พยาบาลต้องเป็นผู้หญิง ผู้บริหารต้องเป็นผู้ชาย
แต่เรามีจุดเปลี่ยนตอนที่พอเรียนจบ ม.ปลาย และได้ไปใช้ชีวิตช่วงหนึ่งที่นิวยอร์ก พอได้เห็นสังคมที่นั่น เห็นความกว้างขวาง ความสวยงามของวัฒนธรรม และผู้คน ก็รู้สึกว่าตัวเองเหมาะกับนิวยอร์กมากๆ
เราตั้งคำถามย้อนกลับไปว่า ทำไมอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่ในโรงเรียนชายล้วนทำให้เรารู้สึกแย่ขนาดนี้? แต่ในทางตรงกันข้าม พอไปอยู่ในนิวยอร์กกลับรู้สึกเป็นตัวเอง
พอเห็นความหลากหลายทางเพศ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทุกคนสามารถเป็นตัวเองได้ ก็เลยทำให้เรารู้สึกว่าจริงๆ โลกของเรามีอะไรอีกมากเลย ยิ่งทำให้จุดประกายว่า คนทุกคนมีความหลากหลายและมีสิทธิ์แสดงออกมาในแบบที่ตัวเองเป็น
เราไปเจอพวกร้านหนังสือที่ชั้นหนังสือเต็มไปด้วยหนังสือเกี่ยวกับเฟมินิสต์ ที่อลังการมากและมีทุกสิ่งที่เราต้องการ ไปค้นพบกวีและ Poet ของ Audre Lorde ที่เป็นนักเขียนตัวแม่ในเรื่องเฟมินิสต์ เรียกได้ว่าผลงานเขาเป็นหนึ่งในหนังสือเล่มโปรดของเราเลย เพราะเป็นเรื่องที่ทำให้เราเข้าใจว่า ทำไมเราถึงเรียกตัวเองว่าเป็นเฟมินิสต์
‘โรแมนติกร้าย’ เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ถ้าชีวิตเราเป็นซีรีส์ ชื่อ ‘โรแมนติกร้าย’ จะมาในซีซั่นสอง เพราะซีซั่นแรกคือเรื่องราวของเด็กอ้วนที่เขียนเพื่อฮีลตัวเอง และพยายามจะส่งต่อพลังให้กับคนอื่น
แต่พอซีซั่นสอง หลังจากที่เราค้นพบไอดอลของเรา ไม่ว่าจะเป็น Audre Lorde หรือ Adichie (Chimamanda Ngozi Adichie) ที่เป็นคนเขียนหนังสือ ‘We Should All Be Feminists’ สองคนนี้มีส่วนทำให้เราเข้าใจคำว่าเฟมินิสต์มากขึ้น และกล้าที่จะนิยามตัวเองว่าเป็น Male Feminist นี่เลยเป็นจุดกำเนิดของ ‘โรแมนติกร้าย’ ครับ ซึ่งนี่ก็จะไม่ใช่แค่กวีที่มอบพลังอย่างเดียวแล้ว เพราะเราจะสอดแทรกเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเข้าไปในกวีด้วย
และที่เราเลือกใช้สีชมพูใน ‘โรแมนติกร้าย’ เพราะว่าเป็นเหตุผลในเชิง Activism เราคิดว่าเรื่องสีมัน Genderless (ไร้เพศ) ผู้ชายก็ชอบสีชมพูได้ และผู้หญิงไม่จำเป็นต้องอ่อนหวานเสมอไป ผู้ชายก็สามารถดูหนังโรแมนติกแล้วร้องไห้ได้เหมือนกัน มันไม่มีกรอบ
เลยเลือกที่จะนำเสนอ Visual (ภาพลักษณ์) ของบทกวีหรืองานศิลปะเราเป็นสีชมพู เพราะเราต้องการบอกกับสังคมว่า ผู้ชายก็ชอบสีชมพูได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ในทาง emotion เราคิดว่าสีชมพูคือสีที่เห็นแล้วมีความสุขครับ
ทำไมถึงเลือกที่จะสื่อสารประเด็นเฟมินิสต์ผ่านบทกวีและศิลปะ?
หลายคนอาจจะบอกว่า ‘กวีตายแล้ว’ ‘เดี๋ยวนี้ไม่มีใครอ่านบทกวีหรอก’ เราก็อยากจะท้าทายสังคมด้วยว่า จริงๆ แล้วกวีไม่ตายหรอก แต่มันสามารถอยู่ในทุกที่ได้ สามารถอยู่ในมีเดียได้ อยู่บนเสื้อ บนฟิล์มภาพถ่ายก็ได้ แล้วตัวเราเองก็เป็นคนที่เชื่อในพลังของ Soft Power มากๆ เพราะการเมืองอยู่ในทุกที่
จริงๆ แล้วการเมืองในเชิงวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญมากไม่แพ้การเมืองในระบบด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่ทำให้สารเหล่านี้ไปถึงตัวผู้คนได้ ก็คืองานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นเพลง บทกวี หรือหนังสือ
เราคิดว่าอะไรที่มันทัชใจคน จะมีพลังและสามารถเปลี่ยนสังคมและโลกได้ เลยคิดว่า Soft Power มีผลรุนแรงมาก เพราะเราเป็นคนที่ได้รับอิทธิพลจาก Soft Power เยอะมากๆ คือหนังสือบางเล่มสามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้เลย มันเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อโลกและมนุษย์ได้ นี่จึงเป็นสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้ โดยพยายามจะสอดแทรก Social Issue (ปัญหาสังคม) และ Gender Equality (ความเท่าเทียมทางเพศ) เข้าไปในงานของเรา
อยากจะสร้างความเข้าใจว่า ‘ผู้ชายก็เป็นเฟมินิสต์ได้’ อย่างไรบ้าง?
จริงๆ แล้วต้องย้อนกลับมาทำความเข้าใจก่อนว่า ความหมายของคำว่า Feminism (แนวคิดสตรีนิยม) คืออะไร มันคือการสู้เพื่อทุกคน ทุกเพศ เราสู้เพื่อผู้หญิง เพื่อ LGBTQ+ และเพื่อผู้ชายด้วย มันไม่ใช่เพื่อการสู้เพื่อผู้หญิงอย่างเดียว ไม่ใช่การที่สร้างให้ผู้หญิงเหนือกว่าผู้ชาย ซึ่งอันนี้เป็นปัญหามากที่หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจ
เรามองว่าตอนนี้ Feminism มีปัญหาในการสร้างความเข้าใจในวงกว้าง แก่นหลักของมันเลยถูกบิดเบือนไป และบางคนก็อาจจะยังงงว่า ผู้ชายที่เป็นเฟมินิสต์แสดงว่าต้องเป็นเกย์หรือเปล่า ซึ่งมันคนละเรื่องกันเลย
อย่างเคสการแอนตี้เฟมินิสต์ที่เกาหลีก็เห็นได้ชัดเลยว่าเฟมินิสต์นั้นมีปัญหาเรื่องการสร้างความเข้าใจในวงกว้าง เลยมีคนต่อต้านกันเยอะ เพราะเขาเข้าใจผิดว่าเฟมินิสต์ต้องยกผู้หญิงให้สูงกว่าผู้ชาย อีกอย่างคือตัวคำว่าเฟมินิสต์ ที่ทำให้คนเข้าใจแบบนั้น คำนี้เลยกลายเป็นดาบสองคม ในมุมหนึ่งก็ช่วยสะท้อนปัญหาให้เห็น แต่ในมุมหนึ่งก็อาจทำให้เข้าใจผิดได้
ในมุมมองของวิน มองว่าปัญหา ‘ปิตาธิปไตย’ ในสังคมไทยเป็นอย่างไร?
มองว่าเราต้องเดินและแก้กันอีกไกลเลยครับ พอพูดเรื่องปิตาธิปไตยในสังคมไทยก็ต้องย้อนกลับไปถึงเรื่องโครงสร้างสังคม ห้องเรียน หรือแม้แต่ระบบการศึกษา เพราะเราจะเห็นชัดเลยว่าผู้ชายมักจะเป็นใหญ่เสมอ แม้แต่เรื่องง่ายๆ อย่างการใช้ชีวิตในกรุงเทพ เพราะเพื่อนผู้หญิงของเราบอกเสมอว่าการใช้ชีวิตในกรุงเทพนั้นเป็นเรื่องไม่เซฟ ผู้หญิงหลายคนแทบจะไม่กล้าเดินไปตามถนนคนเดียว ยิ่งตอนค่ำๆ ดึกๆ ยิ่งแล้วใหญ่ นี่เลยเป็นเหตุผลที่เรามองว่าทำไมประเทศไทยถึงยังต้องเดินอีกไกล โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย
แล้วโดยส่วนตัวเคยถูกกดทับจากปิตาธิปไตยบ้างไหม?
สำหรับเราคือเรื่องการแสดงออกถึงความเป็นตัวเอง เพราะเราโตมากับคำว่า ‘ผู้ชายห้ามอ่อนไหว’ ‘ผู้ชายห้ามร้องไห้’ หรือ โดนตั้งคำถามว่าชอบสีชมพูแปลว่าเป็นตุ๊ดหรือเปล่า จะเป็นคำ Hate Speech ต่างๆ ที่โถมเข้ามาใส่ เลยรู้สึกว่าเราควรเริ่มที่ตัวเองด้วย
อย่างคำว่าผู้ชายห้ามร้องไห้ ก็เป็นค่านิยมของสังคมที่ผู้ใหญ่พูดมาตลอด เป็นค่านิยมที่ใครก็ไม่รู้ตั้งขึ้นมา หรือ Pop Culture ที่บอกว่าผู้ชายต้องเป็นผู้นำ ผู้หญิงต้องตามผู้ชาย และหลายคนก็ยังอาจติดหล่มของ Male Previllege (อภิสิทธิ์ชาย) ทางแก้คือเราต้องช่วยกัน Educate คนเหล่านี้
แต่ถ้าให้พูดกับผู้ชายที่ยังติดอยู่ในกรอบ Toxic Masculinity (วัฒนธรรมความเป็นลูกผู้ชายที่เป็นพิษ) ก็อยากบอกว่า เป็นตัวเองเถอะครับ อย่าให้ใครมากำหนดว่าการเป็นผู้ชายที่ดีต้องเป็นแบบไหน ซึ่งจริงๆ แล้วเราก็หมายถึงทุกเพศนะ คำว่าเฟมินิสต์ของเราคือการสู้เพื่อความเท่าเทียมของคนทุกเพศ เพราะไม่ควรจะต้องมีใครถูกเลือกปฏิบัติ เพราะเหตุผลทางเพศ
สุดท้ายแล้วเราไม่สามารถจะเปลี่ยนในชั่วข้ามคืนได้ เราแค่พยายามเพาะเมล็ดพันธุ์ในสังคม เมื่อถึงเวลามันก็คงจะบานพร้อมกัน แล้วเราจะสามารถเปลี่ยนได้ เรื่องแบบนี้ต้องใช้เวลา
คิดเห็นอย่างไรกับภาพลักษณ์ของบ้านเราที่เหมือนเปิดกว้างในเรื่องความแตกต่างหลากหลายทางเพศ?
เรามองว่าภาพลักษณ์มันเปิดกว้าง ดูเหมือนทุกคนยอมรับได้ เราเห็นการแต่งตัวที่หลากหลาย แต่ LGBTQ+ ไม่ใช่เรื่องของการไปเฉลิมฉลองตามงาน Pride แล้วจบกันไป เป็นเรื่องของข้อเรียกร้องทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นสมรสเท่าเทียม และรัฐสวัสดิการที่ควรจะคุ้มครองทุกคนเท่าเทียมกัน อยากให้ตระหนักว่ามันมีเรื่องของข้อกฎหมายและความเป็นธรรมในสังคมด้วยที่เราต้องสู้กันต่อไป
อย่าไปตัดสินใครจากภายนอกของเขา แต่ขอให้คุณเคารพความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน
อย่าไปตัดสินว่าเพศนี้ หรือ LGBTQ+ ต้องเป็นแบบนี้ อย่าเอากรอบไปครอบใคร เพราะความเป็น LGBTQ+ มันหลากหลายมากนะ ไม่ได้แปลว่าคุณต้องแต่งตัวแซ่บทุกวัน หรือเป็นตัวแม่สายแฟ มันไม่ได้มีแค่นั้น
ส่วนเรื่อง ‘สมรสเท่าเทียม’ ก็ต้องไปกันต่อครับ ไม่ใช่แค่ในไทยด้วย แต่ทั่วโลกเลย เราต้องสู้กันไปเรื่อยๆ ซึ่งเราก็เขียนหนังสือ ‘โปรดอย่าใจร้ายกับหัวใจของเธอ’ นี้ขึ้นมา เราเชื่อในคำว่า Pleasure Activism คือการขับเคลื่อนเกี่ยวกับ Social Issue ทำให้คนเข้าถึงได้ง่าย และตระหนักว่ามันสำคัญ
หนังสือ ‘โปรดอย่าใจร้ายกับหัวใจของเธอ’ จึงเป็นสิ่งที่อยากบอกกับคนอ่านว่า “อย่าใจร้ายกับตัวเองในทุกมิติเลยครับ” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรักหรือเรื่องอะไร เพราะไม่ว่าเราจะสมหวังในความรักหรือไม่ แต่ก็อย่าลืมความน่ารักและคุณค่าในตัวเอง อย่าให้ใครมาเปลี่ยนในสิ่งที่เราเป็น อย่างตัวเราเอง ก็จะเป็นสีชมพูในโลกที่เป็นสีดำต่อไป แล้วก็อย่าปล่อยให้สังคมใจร้ายกับเราด้วย
เพราะเราคิดว่า Pleasure Activism มันสำคัญนะ ถ้าเราพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศตรงๆ ก็อาจจะไม่ดึงดูดสำหรับบางคน แต่ถ้าเรานำเสนอออกมาในรูปแบบถึงเข้าถึงได้ง่ายจะทำให้ไปได้ไกลมาก เราเลยอยากเป็นคนคนนั้นที่ทำให้คนตระหนักว่า ทำไมเราต้องเป็นเฟมินิสต์
เพราะคนที่เขียนเรื่อง Feminism ที่ดีมีเยอะแล้ว แต่คนที่พูดว่า ‘ทำไมเราถึงต้องแคร์เรื่องนี้’ มันมีน้อยมาก เราเลยอยากเป็นคนๆ นั้น
สุดท้ายอยากจะฝากอะไรถึงคนในสังคมเกี่ยวกับเรื่องเฟมินิสต์และความเท่าเทียม?
อยากบอกว่า เฟมินิสต์เป็นสิ่งที่ง่ายมาก แค่คุณเคารพความเป็นมนุษย์ของทุกคนว่ามันเท่ากัน และอย่าเอากรอบไปครอบใคร
จริงๆ อยากให้ไปอยู่ในจุดที่ใช้คำว่า Humanism (มนุษยนิยม) ได้ด้วยซ้ำ เพราะถ้าวันหนึ่ง สังคมอยู่ถูกที่ถูกทางจริงๆ เราจะไม่ต้องการคำว่า Feminism แล้ว แต่ที่ตอนนี้เราต้องให้ความสำคัญกับเฟมินิสต์ เพราะเหมือนเป็นการขีดเส้นใต้ว่าปัญหาที่เราต้องไปต่อนั้นมีอะไรบ้าง
ปัญหาตอนนี้คือปิตาธิปไตยไปกดทับในทุกมิติ ไม่ใช่แค่ในกฎหมาย แต่อยู่ในทุกที่เลย กดทับแม้แต่ผู้ชายด้วยกันเอง เราเองก็ได้รับผลกระทบกับปิตาธิปไตย เผชิญกับ Toxic Masculinity มาตลอดชีวิต
และอยากให้ทุกคน Take action บางอย่าง อย่าไปคิดว่าเสียงเล็กๆ จะไม่สามารถเปลี่ยนสังคมได้ เพราะทุกคนมีเสียงกันหมด และทุกคนเปลี่ยนสังคมได้ จะเล็กน้อยก็เปลี่ยนได้ ถ้าเพื่อนคุณไม่เข้าใจ เราก็แค่บอกเพื่อนให้เข้าใจ ในที่สุดวันหนึ่งเพื่อนคุณอาจจะกลายเป็นเฟมินิสต์และไปบอกคนอื่นต่อก็ได้ สุดท้ายแล้วเราก็ต้องทำสิ่งพวกนี้ และทำยังไงก็ได้ให้คนรักษาหัวใจของมันไว้แล้วส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไป
สำหรับตัวเราเอง ก็ไม่ได้คิดถึงขนาดว่าเราจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้สังคมเปลี่ยนได้ขนาดนั้น แต่เราอยากเป็นจุดเล็กๆ เพื่อประคองและส่งต่อให้กับคนอื่นๆ ต่อไป เหมือนกับ Audre Lorde และ Adichie ที่คอยปลูกเมล็ดพันธุ์สำหรับคนเจนต่อไป
เฟมินิสต์เป็นสิ่งที่ผู้ชายทุกคนต้องสนใจ เพราะถ้าคุณมี Self-Love ให้ตัวเอง มีผู้หญิงที่คุณรักในชีวิต แล้วทำไมคุณถึงไม่เป็นเฟมินิสต์ล่ะ ในเมื่อมันเป็นเรื่องของทุกคน