- ‘ความพ่ายแพ้’ ในการแข่งขันตั้งแต่อดีต ทำให้มนุษย์พัฒนากลไกทางอารมณ์ที่ทำให้รู้สึกเศร้าเมื่อแพ้ เพื่อป้องกันไม่ให้สู้ต่อในสถานการณ์ที่ไม่มีหวัง แต่ในปัจจุบันกลไกนี้กลับกลายเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้าเรื้อรัง
- ยิ่งในปัจจุบันที่มีค่านิยมที่เน้นความเป็นเลิศและการแข่งขันสูง ทำให้ผู้คนมักจะเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นตลอดเวลา ทำให้ยิ่งรู้สึกกดดันและพ่ายแพ้ง่ายขึ้น เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอหรือไม่ประสบความสำเร็จตามที่สังคมและตนเองคาดหวัง
- การยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบ การปรับเปลี่ยนความคิด และการให้กำลังใจตนเองเป็นสิ่งสำคัญ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพจิต เช่น ครอบครัวที่ให้การสนับสนุน และการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเมื่อจำเป็น ก็เป็นวิธีการรับมือกับความพ่ายแพ้อย่างมีประสิทธิภาพ
ถ้าจะพูดว่า “โลกนี้เต็มไปด้วยการแข่งขัน” ก็น่าจะไม่ใช่คำพูดที่เกินจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนก็มีจัดอันดับในห้องเรียนตั้งแต่เด็กๆ จนถึงโตมาก็ต้องเข้ามหาวิทยาลัยที่อยู่อันดับต้นๆ ให้ได้ การงานก็มีการจัดอันดับผลงาน อันดับยอดขาย และคนเราก็มักเปรียบเทียบเงินเดือนกับคนรอบตัวว่าได้มากกว่าน้อยกว่า ใครอยู่วงการกีฬายิ่งต้องเคร่งเครียดกับการจัดอันดับกว่าใครเพราะต้องแข่งขันให้อยู่ในอันดับสูงๆ เพื่อที่จะได้สิทธิ์ไปแข่งขันในการแข่งระดับใหญ่กว่า การแข่งขันยังลามไปถึงกิจกรรมอย่างงานอดิเรกเพื่อคลายเครียดอย่างการเล่นเกมมือถือหรือเกมคอมพิวเตอร์ออนไลน์ ที่มีการจัด ‘rank’ ว่ามีฝีมือมากน้อยแค่ไหน และพอมีการจัดอันดับเข้ามาในชีวิต ไม่ว่าใครก็อยากได้อันดับสูงๆ กันทั้งนั้น แต่ในทุกการแข่งขันมีผู้ชนะก็ย่อมมีผู้แพ้ ผมเชื่อว่าทุกๆ คนเคยผ่านประสบการณ์การแพ้มาไม่มากก็น้อย และน่าจะเข้าใจถึงความเศร้า ขมขื่น เจ็บใจจากการรู้สึกแพ้ดี
ผมสังเกตว่าในสังคมนั้นเรามักจะสนใจแต่ผู้ชนะ ถึงจะมีคนพยายามพูดใน ‘เชิงบวก’ ว่าความพยายามสำคัญที่สุด แต่หากสังเกตแล้วเราอาจจะพบว่าสังคมก็ยังให้ความสำคัญกับผู้ชนะมากกว่าอยู่ดี แต่ทำไมเราถึงต้องสนใจคนแพ้กัน… เพราะคนแพ้ก็ใช่ว่าจะไม่พยายาม บางคนแพ้ไม่ใช่เพราะไม่เก่งแต่เพราะอีกฝ่ายเหนือกว่า บางคนแพ้เพราะเหตุสุดวิสัย แต่ที่สำคัญคือความพ่ายแพ้มันอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงจนทำให้คนซึมเศร้าได้ ผมไปพบกับงานวิจัยที่ศึกษาประเด็นนี้โดย ปีเตอร์ เทย์เลอร์และคณะจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ใน ค.ศ. 2011 ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ผลจากงานวิจัยอื่นๆ จำนวนมากและได้เสนอทฤษฎีที่น่าสนใจว่าความพ่ายแพ้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญมากที่ทำให้เกิดความซึมเศร้า แถมยังรวมไปถึงการฆ่าตัวตายอีกด้วย ผมเลยรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ แถมงานวิจัยนี้ยังอธิบายธรรมชาติของความพ่ายแพ้และความซึมเศร้า ด้วยหลักวิวัฒนาการ ซึ่งทำให้รู้ว่า ‘ทำไมแพ้แล้วต้องเศร้า’ ทำไมธรรมชาติถึงออกแบบมนุษย์ให้รู้สึกแย่กับการแข่งขันที่กลับไปแก้ผลไม่ได้ เศร้าหลังแพ้ไปมันจะมีประโยชน์หรือผลดีอะไร ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ เลยอยากชวนท่านผู้อ่านมาพูดคุยเรื่องนี้กันครับ
หากพูดถึงธรรมชาติของอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ แล้วเราก็ต้องพูดถึงศาสตร์ที่ชื่อ ‘จิตวิทยาวิวัฒนาการ’ ที่ศึกษาว่ากลไกของพฤติกรรมภายนอกที่แสดงออก และพฤติกรรมภายในอย่างอารมณ์หรือความรู้สึกของมนุษย์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เพราะกลไกต่างๆ ย่อมมีส่วนช่วยในการเอาตัวรอดจากอันตราย หรือช่วยให้สืบทอดเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ ยีนของกลไกเหล่านั้นจึงยังคงอยู่และแพร่หลายถึงทุกวันนี้ เหมือนที่เราหิวเพื่อกระตุ้นให้หาอาหารมาเลี้ยงร่างกาย เจ็บเพื่อให้หลีกเลี่ยงอันตราย แต่ความรู้สึกพ่ายแพ้ที่นำไปสู่ความรู้สึกเศร้านั้นมันให้อะไรกับเรากัน จริงอยู่ที่มันดูไม่มีประโยชน์ในปัจจุบัน แต่เนื่องจากกลไกทางความรู้สึกของมนุษย์เรานั้นไม่ได้ต่างจากมนุษย์ยุคเริ่มต้นในสมัยหลายหมื่นปีที่แล้วนัก เราจึงต้องย้อนไปดูบริบทของสังคมมนุษย์ยุคโบราณกันครับ
จริงอยู่ที่ในยุคโบราณไม่มีการแข่งกีฬาหรือการสอบแข่งขันอะไรทั้งนั้น แต่เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และธรรมชาติของกลุ่มก็ต้องมีการจัดอันดับสมาชิก คือมีจ่าฝูงที่แข็งแกร่งอันดับหนึ่ง และคนที่อ่อนแอกว่าที่มีอันดับลดหลั่นกันไป การแข่งขันและการแพ้ชนะจึงอยู่ในสัญชาตญาณของมนุษย์อยู่แล้ว ถึงการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มก็เพื่อช่วยเหลือกันหาทรัพยากรอย่างเช่นอาหาร แต่นั่นก็แปลว่าก็ต้องแบ่งและแก่งแย่งกันเองในกลุ่มด้วย และคนที่มีอันดับสูงกว่าจะมีสิทธิ์ในการได้รับทรัพยากรมากกว่าไปโดยปริยาย นอกจากนี้สิทธิ์อีกอย่างคือการได้เลือกคู่สืบพันธุ์ด้วย หากมองในแง่นี้แล้วการชิงตำแหน่งสูงๆ ในกลุ่มเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะในมุมมองของวิวัฒนาการแล้วจะอาหารหรือคู่ก็เป็นสิ่งที่สิ่งมีชีวิตต้องการที่สุด เพราะทำให้ตนเองสืบเชื้อสายส่งต่อยีนของตัวเองต่อไปได้ ดังนั้นกลไกทางอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้จึงมักเป็นอารมณ์ที่มีความรุนแรง ตัวอย่างอื่นๆ ที่เราเคยคุยกันไปไม่นานมานี้เกี่ยวกับอารมณ์หึงหวงซึ่งก็รุนแรงเพราะเกี่ยวกับเรื่องคู่ (อ่านได้ในบทความ ‘หึง’ ก็เพราะรัก? ‘หวง’ ก็เพราะห่วง? เข้าใจธรรมชาติของอารมณ์หึงหวงก่อนทำลายความสัมพันธ์ (https://thepotential.org/life/jealousy-because-of-love/)) การแพ้ ‘เกมชิงอันดับในกลุ่ม’ ทำให้ผู้แพ้ต้องอยู่อันดับต่ำๆ และสิ่งนั้นสะเทือนถึงการมีชีวิตรอดและการสืบทอดเผ่าพันธุ์ ความรู้สึกพ่ายแพ้เลยเป็นความรู้สึกลบอย่างรุนแรง เพื่อให้มนุษย์ไม่อยากแพ้ และตะเกียกตะกายให้อยู่อันดับต้นๆ ให้ได้
คำถามคือแล้วอะไรเป็นตัวตัดสินอันดับในสมัยนั้น คำตอบก็คือการแข่งขันกันด้วยพละกำลังนั่นเองครับ การแก่งแย่งตำแหน่งในเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ดึกดำบรรพ์ในบางครั้งมีความรุนแรงไม่น้อยเลย และอาจทำให้ถึงตายได้จากการต่อสู้ด้วยซ้ำ แต่ผู้แพ้ไม่จำเป็นต้องตายจากการแข่ง หากรับรู้ว่าตัวเองแพ้แล้วก็ควรยอมแพ้ การสู้ต่อจะมีแต่ผลเสียตามมา เช่น ต้องบาดเจ็บเพิ่มขึ้นจนอาจถึงตาย
การที่ผู้แพ้หยุดนิ่ง แสดงถึงความหมดอาลัยตายอยาก ดูแล้วไม่มีใจที่จะสู้ต่อ จะเป็นสัญญาณยอมแพ้ที่บอกฝ่ายที่ชนะให้หยุดใช้กำลังกับตัวเองต่อเช่นกัน พฤติกรรมเหล่านั้นคือความซึมเศร้าครับ
และนั่นเองที่ภาวะซึมเศร้าเข้ามามีบทบาทในความอยู่รอดของผู้แพ้ มีการวิจัยที่สังเกตสัตว์อื่นๆ หลายชนิดที่การแย่งตำแหน่งจ่าฝูงมีความรุนแรง จะพบว่าฝ่ายแพ้แสดงภาวะซึมเศร้าเช่นเดียวกัน และในบรรดาลิงต่างๆ ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดที่สุดของมนุษย์ต่างก็แย่งตำแหน่งกันด้วยความรุนแรงที่ถึงตายได้ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่มนุษย์เองได้รับสืบทอดยีนของการซึมเศร้าหลังจากแพ้มาด้วย
ประเด็นสำคัญคือการซึมเศร้าในยุคโบราณนั้นแตกต่างจากสมัยนี้ การแข่งขันจัดอันดับในสมัยโบราณมีแค่การแก่งแย่งอันดับในฝูง ซึ่งหลังจากรู้ผลแล้ว ฝ่ายแพ้อาจแสดงความซึมเศร้าตอบสนองต่อความพ่ายแพ้ แต่เมื่อการแข่งขันจบลง อารมณ์นั้นจะหยุดครับ ไม่มีผลเรื้อรังต่อไปนานๆ จนรบกวนการดำเนินชีวิตต่อ แต่สังคมของมนุษย์ปัจจุบันต่างจากอดีตมากๆ มนุษย์ยังคงมีการจัดอันดับทางสังคม แถมยังมีการจัดอันดับที่ซับซ้อนหลากหลายอย่าง เรามีการจัดอันดับชนชั้นทางสังคม อันดับตำแหน่งในหน้าที่การงาน อันดับของผลการเรียน ยศถาบรรดาศักดิ์ ไปจนถึงการเล่นเกมกีฬา สังคมสมัยใหม่มีการแข่งขันมากมายมหาศาลให้ชนะและได้แพ้ในการชิงอันดับ ถึงแม้ว่าการจัดอันดับดังกล่าวไม่ได้มีผลคอขาดบาดตายเหมือนสมัยโบราณ แต่กลไกในสมองของเรายังเหมือนเดิม การตอบสนองต่อความพ่ายแพ้อย่างความซึมเศร้าที่สร้างความทรมานยังคงอยู่เหมือนเดิม
นอกจากการจัดอันดับจากการแข่งขันกับใครต่อใครแล้ว มนุษย์ยังมีการจัดอันดับภายในใจกับตัวเองอีกด้วย มนุษย์เรามีธรรมชาติที่จะมองว่าตัวเองเก่งหรือไม่ อยากเป็นคนมีความสามารถและมีทักษะที่ดี มนุษย์เลยมักมีเป้าหมายในใจ เช่น เราต้องทำได้คะแนนเท่านี้ เราต้องสอบให้ได้มหาวิทยาลัยนี้เท่านั้น เราต้องได้เงินเดือนกี่หลัก หรือแม้แต่เราต้องได้ ‘rank a’ ขึ้นไปตอนเล่นเกมมือถือ และหากเราทำไม่ได้ตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้ สมองของเราจะรู้สึก ‘พ่ายแพ้’ เช่นกันแม้จะไม่มีคู่แข่งก็ตาม ท่านผู้อ่านน่าจะได้ยินค่านิยมของสังคมที่เชิดชูคนเก่งบ่อยๆ ว่าไม่ใช่แค่ทำได้ ทำแค่พอผ่าน แค่เอาตัวรอด แต่ต้องทำให้ ‘ดีกว่าใคร’ ให้อยู่ ‘อันดับต้นๆ’ เราจะพบว่าบางคนทำเรื่องหนึ่งได้ดีแล้วแต่ก็รู้สึกไม่พอใจ เพราะได้ผลไม่ตรงตามมาตรฐานในใจของตัวเอง เขาอาจจะได้ที่หนึ่งของห้อง แต่เขาไม่ได้คะแนนสูงเท่าที่ต้องการ และนั่นก็อาจจะทำให้เขารู้สึกแพ้
มีงานวิจัยที่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนเกี่ยวกับอันดับที่หลายๆ คนนำมาใช้ชี้วัดความสำเร็จในชีวิตซึ่งก็คือเงินเดือน ที่พบว่าหากเปรียบเทียบว่าเงินเดือนตนเองอยู่ใน ‘ลำดับต่ำ’ ของกลุ่ม คนจะรู้สึกพ่ายแพ้ ซึมเศร้า ถึงแม้ว่าเงินจะไม่ใช่จำนวนที่น้อย หรือไม่พอใช้จ่ายก็ตาม ดังนั้นสิ่งสำคัญในการประเมินคือลำดับเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ
พอมีเรื่องให้แข่งขันจัดอันดับกันไม่รู้จบ มันเลยกลายเป็นเรื่องผิดธรรมชาติของสมองเรา และทำให้กลไกที่ทำงานเกี่ยวกับความพ่ายแพ้และการตอบสนองด้วยความซึมเศร้าที่เกิดขึ้นจากสัญชาตญาณของบางคนรวน
และนั่นส่งผลให้ภาวะซึมเศร้าที่ควรอยู่ชั่วคราวกลายเป็นเรื้อรัง และกลายเป็น ‘โรคซึมเศร้า’ ซึ่งอารมณ์ลบของโรคซึมเศร้าเป็นสิ่งที่ทรมานและคนต้องการจะออกจากภาวะนี้ให้ได้ แต่หากแก้ไขไม่ได้ และหากมีความเชื่ออยู่ก่อนแล้วว่า ‘ความตายคือทางออก’ คนนั้นก็มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายเพื่อให้พ้นไปจากความซึมเศร้าที่ไม่หายไปเสียที
อย่างไรก็ตามเราทุกคนเคยแพ้ และเราก็เคยผ่านความพ่ายแพ้มาไม่มากก็น้อย และหลายๆ ครั้งเราก็อยู่กับมันได้ แน่นอนครับว่าคนเรารู้สึกแย่ที่แพ้ มนุษย์เราเองก็มีการเรียนรู้ที่จะไม่รู้สึกแย่มากจนซึมเศร้าทุกครั้งที่แพ้ จะมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับการรับรู้ความสำคัญของการจัดอันดับนั้นๆ เด็กบางคนอาจจะเศร้าที่สอบได้คะแนนน้อย แต่ไม่เศร้าตอนเล่นเกมแพ้ แต่เด็กอีกคนอาจจะเครียดหนักตอนเล่นเกมแพ้ แต่ไม่เคยแคร์ผลสอบ คนเราให้ค่ากับสิ่งต่างๆ แตกต่างกัน ดังนั้นความคิดที่ว่า ทำไมถึงต้องซึมเศร้า ทำไมถึงขั้นฆ่าตัวตายกับ ‘เรื่องแค่นี้’ จึงอาจเป็นคำปลอบใจที่ฟังไม่ขึ้น นอกจากนี้คนเราไวต่อความพ่ายแพ้ไม่เท่ากัน บางคนทนกับความแพ้ได้มากกว่า แต่บางคนแพ้แค่ครั้งเดียวชีวิตเขาก็เหมือนกับพังทลาย
ความพ่ายแพ้เลยไม่ใช่เรื่องเล็ก และผู้แพ้จึงไม่ควรถูกละเลย การผิดหวังที่ไม่ชนะเป็นอารมณ์ลบในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่ความซึมเศร้าที่อาจเกิดขึ้นจากกลไกตามธรรมชาติยิ่งทำให้อารมณ์ลบอย่างร้ายแรงในบางคนและบางกรณี หลายๆ ครั้งที่กว่าจะรู้ตัวว่ามันส่งผลเสียร้ายแรงเพียงใดก็สายไปเสียแล้ว อย่างข่าวการฆ่าตัวตายของเด็กเพราะผลสอบก็ยังคงมีอยู่อย่างน่าเศร้าในสังคม คำถามต่อมาคือแล้วเราจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ได้บ้าง
สิ่งหนึ่งที่งานวิจัยหลายงานเห็นตรงกันคือสังคมมีส่วนช่วยกับปัญหานี้ได้มาก แรกสุดคือค่านิยมของสังคมที่มาตรฐานสูงเกินที่คนทั่วไปจะทำได้ สังคมมักเชิดชูและสร้างตัวเปรียบเทียบของผู้ที่เก่งหรือประสบความสำเร็จมากๆ อย่างนักกีฬาโอลิมปิก นักธุรกิจพันล้าน นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะ ศิลปินชื่อดัง แต่คนเหล่านี้มีเพียงหยิบมือเดียวในสังคม หากใครคิดจะอยากอยู่ในอันดับเดียวหรือใกล้ๆ คนเหล่านั้นก็จะตกที่นั่งลำบาก ยิ่งกับการแข่งกับตัวเองแล้ว เหมือนชนะเท่าไรก็ยังมีคนที่ ‘ชนะมากกว่า’ และรู้สึกแพ้อยู่เรื่อยไปเพราะมีตัวเปรียบเทียบที่มาตรฐานสูงลิ่ว
นอกจากนี้ยังมีค่านิยมในคนเอเชียที่ไม่ให้คน ‘เหลิงกับความสำเร็จ’ อาจจะมีผลรุนแรงเกินไป คือทำให้คนรู้สึกไม่มั่นใจว่าชัยชนะที่ได้นั้นมาด้วยความสามารถของตนเองแต่เพราะโชคช่วย สิ่งนี้เกิดขึ้นแพร่หลายจนมีชื่อว่า ‘imposter syndrome’ (อาการของตัวปลอม) คือความรู้สึกว่าเราเป็นแค่ตัวปลอมที่บังเอิญชนะ ไม่ใช่คนชนะตัวจริง และนั่นทำให้ต่อให้ชนะก็ยังรู้สึกแพ้ นอกจากนี้ระวังค่านิยมที่มองว่าคนแพ้บ่อยๆ คือ ‘ขี้แพ้’ รวมถึงการทับถมคนแพ้อย่างตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ นั่นจะยิ่งทำให้คนแพ้รู้สึกไร้ค่าและรู้สึกว่าตัวเองอยู่อันดับท้ายของสังคมและไปกระตุ้นความซึมเศร้ามากขึ้นไปอีก
เราอาจจะไปกะเกณฑ์สื่อหรือเปลี่ยนค่านิยมสังคมได้ยาก ดังนั้นเอาแค่หน่วยย่อยที่สุดของสังคมอย่างครอบครัวก่อนก็ได้ครับ การยอมรับถึงความสามารถในปัจจุบันของเด็กๆ มากกว่าการเอาแต่ตั้งเป้าหมายสูงๆ ถ้าพ่อแม่เอาแต่ให้ลูกดูคนที่เก่งกว่าตัวเขามากๆ เป็นแบบอย่าง อาจทำให้เด็กรู้สึกแพ้ทุกครั้งที่แข่งขันไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกับคนอื่นหรือการประเมินทักษะของตัวเอง เรามีแบบอย่างให้เด็กได้ แต่ต้องชัดเจนด้วยว่าเด็กทำได้แค่ไหนก็ถือว่าดีเพียงพอ และไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องเป็นที่หนึ่งถึงจะเก่ง จะลำดับใดๆ ก็เก่งได้
นอกจากนี้การให้กำลังใจหลังจากที่เขาไม่ได้รับผลที่คาดหวังนั้นสำคัญ มีครั้งนี้ก็มีครั้งหน้า หรือต่อให้แพ้ครั้งหน้าก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย สิ่งสำคัญคือต้องหมั่นสังเกตว่าคนในครอบครัวอ่อนไหวต่อการแข่งขันในสิ่งใด หลายๆ ครั้งที่เรามองว่าความพ่ายแพ้บางอย่างเป็นเรื่องไร้สาระ ลูกอาจจะแพ้เกม สามีอาจจะแพ้ฟุตบอลหลังเลิกงาน ภรรยาอาจจะรู้สึกว่าตัวเองแต่งตัวแย่กว่าเพื่อนๆ แต่ก็ไม่ควรไปดูถูกความรู้สึกของเขา หากเราไม่ได้ส่งเสริม แต่กิจกรรมนั้นไม่ได้เสียหาย ก็ให้กำลังใจกันไว้ดีกว่า และในทางกลับกัน หากเขาทำสิ่งเหล่านั้นได้ดี การชื่นชมในความสามารถย่อมเป็นเรื่องดี การชนะในเรื่องสองเรื่องในชีวิตก็สร้างความแตกต่างแล้ว เพราะบางคนลืมที่จะให้คุณค่ากับชัยชนะบางอย่างไป และเอาแต่คิดว่าตัวเองแพ้ไปเสียทุกเรื่อง
เช่นเดียวกับอารมณ์และความรู้สึกอื่นๆ ตัวเราเองก็มีบทบาทสำคัญในการทุเลาความรู้สึกเศร้าจากการพ่ายแพ้ เราอาจจะถูกปลูกฝังให้ไม่เห็นคุณค่าของลำดับที่ไม่สูงมาก ทั้งๆ ที่มันก็เป็นผลงานที่ไม่เลว และยิ่งเราพยายามแล้วต่อให้ไม่ได้ตามต้องการ คุณค่าของการได้ลงมือทำนั้นมีค่าเสมอในแง่การฝึกฝนตัวตน แม้ว่าครั้งหน้าจะพยายามและยังแพ้อีก หรือแม้จะไม่อาจบรรลุเป้าหมายได้ในตลอดชีวิตก็ตาม เราก็ยังได้การเรียนรู้และประสบการณ์ติดตัวมาอยู่เสมอและนั่นคือสิ่งที่มีค่า และอย่ายึดติดกับลำดับเพียงแค่เรื่องใดเรื่องเดียว และให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นๆ ที่เราเก่งและถนัดด้วยไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม แต่หากเรารู้สึกว่าความซึมเศร้าที่มาจากความพ่ายแพ้อาจจะรุนแรงจนกระทบต่อสุขภาพกาย ชีวิตประจำวัน หรือความสัมพันธ์ หนักข้อจนตนเองรับมือแก้ไขไม่ไหว การปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาเพื่อหาหนทางบำบัดก็เป็นหนทางที่ดี เพราะผู้เชี่ยวชาญอาจมีเทคนิคในการปรับความคิดที่ดีกว่าการพยายามด้วยตัวเอง
หลายๆ คนคิดว่าตัวเองไม่โดดเด่นอะไรสักด้าน แต่จริงๆ แล้วเชื่อเถอะครับ ว่าคุณก็ยังทำได้ดีกว่าคนอื่นในบางด้าน แต่คุณไม่รู้ตัวเท่านั้น บางครั้งเรารู้สึกไม่ดีไม่ใช่เพราะเราไม่ดีพอ แต่เพราะทั้งสังคมหล่อหลอมให้เราเอาแต่มองอันดับสูงๆ และสัญชาตญาณจากยีนที่ปรับตัวไม่ทันโลกสมัยใหม่ ผมมีมุมมองทางสถิติที่น่าจะฟังขึ้นและสมจริงอยู่บ้าง คือไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด คนส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่ค่าเฉลี่ยหรือระดับกลางๆ การที่เราไปอยู่ในอันดับสูงๆ ของสักสิ่งนั้นถือว่าเป็นเรื่องดีที่เกิดขึ้นได้ยากในทางสถิติ ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม (หากมันไม่ได้สร้างความเดือดร้อนแก่ใคร) หากเราเก่งเรื่องใดเป็นพิเศษก็เป็นสิ่งน่ายินดี แต่หากเราไม่ได้อยู่ในอันดับสูงๆ ของเรื่องไหน นั่นก็คือเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องผิดหรือแปลกแน่นอน ยิ่งกับคนในโลกหลักพันล้านคนแล้ว โอกาสที่คุณจะอยู่อันดับสูงสุดๆ หรือต่ำสุดๆ ของเรื่องใดนั้นน้อยมากๆ ครับ
เอกสารอ้างอิง
Hounkpatin, H. O., Wood, A. M., & Dunn, G. (2016). Does income relate to health due to psychosocial or material factors? Consistent support for the psychosocial hypothesis requires operationalization with income rank not the Yitzhaki Index. Social Science & Medicine, 150, 76-84.
Taylor, P. J., Gooding, P., Wood, A. M., & Tarrier, N. (2011). The role of defeat and entrapment in depression, anxiety, and suicide. Psychological bulletin, 137(3), 391.
Wei, Z., Li, Y., Liu, L., Wu, X., Qiao, Z., & Wang, W. (2024). You are worth it: Social support buffered the relation between impostor syndrome and suicidal ideation. Journal of Pacific Rim Psychology, 18, 18344909241228471.
ดิแลน อีวานส์. (2559). จิตวิทยาวิวัฒนาการ (พงศ์มนัส บุศยประทีป, แปล). กรุงเทพฯ , มูลนิธิเด็ก.