Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Life classroom
18 September 2018

ทรอย ซีวาน: เพราะผมรักในเสียงเพลง ดนตรี และการเป็นเกย์

เรื่อง ชลิตา สุนันทาภรณ์

  • ทรอย ซีวาน นักร้อง นักแต่งเพลง นักกิจกรรมผู้เป็นกระบอกเสียงสำคัญ ประเด็น LGBTQ
  • ปี 2013 ทรอยโพสต์คลิปที่ชื่อว่า ‘Coming Out’ ผ่านยูทูบแชนเนลตัวเองประกาศกับโลกว่าเขาคือใคร เพียงวันเดียวยอดวิวคลิปดังกล่าวพุ่งเกือบถึงแปดล้านวิว
  • ซีวานเป็นชาวยิว ครอบครัวนับถือคริสต์นิกายโมเดิร์นออโธด็อกซ์และเคร่งศาสนา ตลอดช่วงวัยรุ่นเขาจึงต้องปกปิดตัวเองจากการเป็นเกย์ เขาบอกครอบครัวตอนอายุ 14 แต่ผลลัพธ์กลับไม่โหดร้ายเท่าที่จินตนาการเอาไว้ เมื่อครอบครัวยอมรับและพร้อมสนับสนุนในตัวเขา
  • การเป็นนักร้องไม่ง่าย การเป็นนักร้องเกย์ที่ได้รับการยอมรับจากผลงานและไม่ถูกเลือกปฏิบัตินั้นยากยิ่งกว่า อาวุธในการต่อสู้เรื่องเพศนอกไปจาก ‘ความซื่อสัตย์’ ซีวานยกความดีให้กับ ‘ยุคสมัย’ และ Queer Icon ที่เคยต่อสู้และกำลังต่อสู้กันทั่วโลก

ผมแพลตินั่มบลอนด์ถูกจัดทรงปาดเรียบอย่างที่เรียกกันว่า wet look ริมฝีปากบางถูกเคลือบด้วยสีแดงเชอร์รีให้ดูฉ่ำและเจ่อกว่าที่ควรเป็น ดวงตาสีฟ้าจดจ้องมองมาข้างหน้าเต็มไปด้วยอารมณ์ ทั้งยังเห็นชัดว่าเปลือกตาคู่นั้นถูกปาดด้วยกลิตเตอร์

คือภาพของ ทรอย ซีวาน (Troye Sivan) ในมิวสิควิดีโอเพลง ‘Bloom’ เพลงไตเติลเปิดอัลบั้มใหม่ของเขา

‘Pop Queer Icon’ ดาวรุ่งพุ่งแรงที่สื่อทั่วโลกต่างพากันจับตามองอยู่ในขณะนี้ ในฐานะผู้ที่กำลังจะพลิกบทบาทวงการเพลงป๊อปไปสู่ยุคถัดไป

31 สิงหาคมที่ผ่านมา ทรอยกลับมาอีกครั้งหลังจากทิ้งช่วงถึง 3 ปี ‘Bloom’ คือชื่ออัลบั้มใหม่ของเขา บรรจุและอัดแน่นไปด้วยเพลงที่เล่าถึงความสัมพันธ์และความรักทั้งหมด 10 เพลง ชวนให้ฮือฮาและตกเป็นประเด็นมากถึงมากที่สุดเพราะทรอยตั้งใจ ทั้งยังชัดเจนกับทุกคนว่าอัลบั้มนี้เกี่ยวข้องกับ ‘เซ็กส์’ (FYI: Bloom เป็นคำอุปมาอุปไมยของ anal sex) – แน่นอนว่าทั้งหมดในเนื้อหาบทเพลงคือตัวละครเกย์

“(เซ็กส์) คือ ประสบการณ์ของการเป็นมนุษย์ (human experience) ซึ่งผมคิดว่ามันงดงามมาก แน่นอนว่ามันอาจฟังดูจั๊กกะจี้ (หรือสกปรก) แต่เนื้อหาของมันจริงๆ ก็คือเพลงรัก และอย่างแรกเลย ผมต้องการบอกทุกคนว่า ‘การเป็นเกย์ไม่ใช่เรื่องน่าอาย’ เป็นเหตุผลว่าทำไมทั้งอัลบั้มถึงพูดเรื่องความรักและเซ็กส์ (ของเกย์) ซึ่งเอาจริงๆ แล้วมันก็เป็นสิ่งที่นักแต่งเพลงและนักร้องทำกันอยู่แล้ว มันไม่มีอะไรแตกต่าง นอกจากนั้นการเขียนเพลง (ในอัลบั้มนี้) ยังทำให้ผมโตขึ้นและมองเห็นตัวเองในมุมมองใหม่อีกด้วย”

ใช่ นอกจากเป็นนักร้อง นักแต่งเพลง (และนักแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง ‘Boy Erased’ ที่กำลังจะเข้าฉายในเดือนพฤศจิกายนนี้) ทรอยยังเป็นนักกิจกรรม ผู้เป็นกระบอกเสียงสำคัญให้กับ LGBTQ ทั่วโลกผ่านบทเพลงของเขาอีกด้วย

Lucky Gay Boy Who was Born in Internet World

ทรอย ซีวานเป็นชาวยิว ครอบครัวนับถือคริสต์นิกายโมเดิร์นออโธด็อกซ์ เกิดที่โจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่เพิร์ธ ประเทศออสเตรเลียตอนอายุสองขวบ

ถึงอย่างนั้น ด้วยความที่ครอบครัวเคร่งศาสนามาก ความกังวลใจช่วงวัยรุ่นตอนต้นในตอนนั้นคือการปกปิด ซ่อนเร้นความจริงที่ว่าเขาเป็นเกย์ จนกระทั่งเขาอายุ 14 ทรอยตัดสินใจบอกพ่อว่าเขารู้สึกเช่นไรกับตัวเอง แต่ผลลัพธ์กลับไม่โหดร้ายเท่าที่จินตนาการเอาไว้ เมื่อครอบครัวยอมรับและพร้อมสนับสนุนในตัวเขา

“ตอนนั้นทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบเรียบ อาจเป็นเพราะผมเองก็รู้ว่าครอบครัวต้องโอเคกับเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ถึงอย่างนั้น มันก็จะมีมุมที่เราคิดว่า ‘ถ้าพ่อแม่ไม่ยอมรับล่ะ? เราจะทำอย่างไร? เราจะไปไหน?’ มันคือความลำบากใจของเด็กอายุ 14 ในตอนนั้น คือความตึงเครียดของทุกคน ตอนนั้นผมรู้สึกเหมือนกำลังจะเป็นบ้า มันไปถึงจุดที่ว่าผมโกหกและปิดเป็นความลับ ถึงอย่างนั้น ความรู้สึกกลัวผลที่จะตามมากับความกลัวที่เป็นอยู่มันก็เท่ากัน ใช่ มันเป็นประสบการณ์ที่ค่อนข้างตึงเครียดและผมเองยอมรับว่าค่อนข้างโชคดี”

ด่านต่อไปคือ การเปิดเผยกับสังคม ตอนนั้นเขาคือยูทูบเบอร์คนดัง จะกล่าวว่าทรอยเป็นเด็กยุคมิลเลนเนียล (เกิดปี 1995) ที่แท้จริงก็ว่าได้ เมื่อเขาเติบโตมากับโลกอินเทอร์เน็ตและโด่งดังจากการเป็นยูทูบเบอร์ หัดโพสต์คลิป โคฟเวอร์เพลงตั้งแต่ปี 2012 และมีผู้ติดตามมากถึงสี่ล้านคน

หลังจากตัดสินใจแน่วแน่ ปี 2013 ทรอยโพสต์คลิปที่ชื่อว่า ‘Coming Out’ ผ่านยูทูบแชนเนลตัวเอง บอกทุกความในใจของตัวเอง ประกาศกับโลกว่าเขาคือใคร เพียงวันเดียวยอดวิวคลิปดังกล่าวพุ่งถึงเกือบแปดล้านวิว

ใช่ว่าเขาไม่เคยโดนคำครหาด่าทอจากการบอกทุกคนว่าเป็นเกย์ ถึงอย่างนั้น ทรอยกลับบอกว่า อาจเพราะเขาเติบโตมากับโลกอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่เด็ก ทำให้รับมือกับเรื่องดังกล่าวค่อนข้างง่าย

สำคัญเกินกว่าจะเก็บเสียงทั้งหมดมาใส่ใจ เพราะความฝันของทรอยคือการเป็นนักร้อง ดังนั้น เขาจึงไม่ยอมให้ใครทำให้เขาหลุดจากเส้นทางนี้เด็ดขาด

“ก่อนรู้ว่าตัวเองเป็นเกย์ ผมอยากเป็นนักร้องมาโดยตลอด ดังนั้นไม่ว่าอย่างไรผมจะไม่ยอมให้ (ความเห็นเรื่องเพศของสังคม) มาเปลี่ยนเส้นทางนี้” ทรอยยืนยันหนักแน่น

สองเดือนหลังจากเขาปล่อยคลิปดังกล่าว ทรอยก็เซ็นสัญญากับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ทันที

ปี 2015 ทรอย ซีวาน เปิดตัวให้ทั่วโลกรับรู้ด้วยผลงานอัลบั้มเต็มอัลบั้มแรก ‘Blue Neighbourhood’ เพลงป๊อปติดกลิ่นอิเล็กทรอนิกส์ สร้างปรากฏการณ์ฮือฮาจัดเต็มด้วยการปล่อยเอ็มวี 3 เพลง (Wild, Fools, Talk Me Down) ราวกับหนังสั้น พูดถึงเรื่องราวความรักคู่รักชาย-ชายที่เป็นไปไม่ได้และถูกครอบครัวกีดกัน แม้จะไม่ได้โด่งดังเปรี้ยงปร้างระดับกระโดดพุ่งทะยานขึ้นอันดับหนึ่งบิลบอร์ดชาร์ตอเมริกาในทันที แต่อยู่ในอันดับท็อปเท็นและได้อันดับที่ 53 ของ US Billboard 200 ประจำปี 2016 – วินาทีดังกล่าวคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่มี LGBTQ คนไหนไม่รู้จักนาง

I’m a GAY but I don’t want to be GAY Icon

“ผมก็แค่อยากทำทุกอย่างแบบที่นักร้องป๊อปสตาร์ทำกัน เขียนเพลงรัก ร้องเพลงรัก ทุ่มเทความรักให้กับมิวสิควิดีโอของตัวเอง ผมคิดว่ามันคือพลังของการมีชีวิตที่เปิดกว้างและสมจริงขณะที่เรายังสามารถเป็นตัวของตัวเอง (เกย์)”

คือปรารถนาอันแรงกล้า ทำให้ผู้ติดตามผลงานของเขามาอย่างต่อเนื่องแทบจะเห็นพ้องว่าทุกผลงานเขาตั้งใจปลุกปั้นอย่างประณีต กลั่นออกมาจากแรงปรารถนาล้วนๆ แต่มันกลับไม่ได้ให้ผลเพียงแค่นั้น

จากบทเพลงรักแปรเปลี่ยนเป็นสารส่งต่อกำลังใจให้กับชาว LGBTQ ที่ต่างเคยพบผ่านประสบการณ์รักทั้งร้ายและหวานละมุน ตราตรึงสู่หัวใจแฟนเพลงทั่วโลก ทุกวันนี้ นอกจากการสร้างสรรค์ผลงานเพลงแล้ว ทรอยยังเป็นกระบอกเสียงสำคัญของ LGBTQ พูดตั้งแต่เรื่องเพศไปจนถึง HIV

จริงอยู่ การเป็นเกย์สำหรับบางคนยังถูกมองว่าเป็นเรื่องแปลกแต่เขายอมรับว่า ปัจจุบันสังคมโลกค่อนข้างเปิดกว้างให้กับชาว LGBTQ มากขึ้น ถึงอย่างนั้น ทุกคนยังคงทำงานหนักเหมือนเคยเพื่อผลักดันประเด็นของตนให้ได้รับความเท่าเทียมกัน

แต่ประเด็นหลักที่ทรอยต้องการสื่อสารออกไปให้โลกกว้างรู้ รวมถึงต้องการเป็นกำลังใจให้เหล่าเพศเดียวกันกับเขาคือ ความภาคภูมิใจในตัวเอง ส่งผลให้ในปี 2017 เขาได้รับรางวัลเกียรติยศ Stephen F. Kolzak บนเวที GLAAD Awards (และอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์อีกด้วย!)

ทรอย ซีวาน ถูกจับตามองทั้งยังได้รับการยกย่องจากสื่อเจ้าใหญ่หลายหัวทั้งในบ้านเกิดตัวเองและทั่วโลกว่าเป็นนักร้องรุ่นใหม่ที่กำลังจะพลิกประวัติศาสตร์วงการเพลงป๊อปอีกครั้ง (นับจากยุคมาดอนนาหรือเลดี้กาก้าผู้เปิดศักราชความเป็น LGBTQ ให้กลายเป็นประเด็นในสังคม) เปิดพื้นที่ที่ถูกยึดครองด้วยบทเพลงรักซึ่งมักกล่าวถึงแต่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงให้มีเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างชาว LGBTQ เพิ่มขึ้น

หากย้อนไปดูสักนิดอาจกล่าวได้ว่า ทรอยทำเช่นนั้นจริงๆ เมื่อวงการเพลงป๊อปคลื่นลูกใหม่ ยุคชาวมิลเลนเนียลเข้าครอบครองพื้นที่ นับจากทรอยแล้วก็เริ่มมีอีกมากหน้าหลายตาเพิ่มขึ้น และกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น MNEK, Hayley Kiyoko และ Kehlani

ถึงอย่างนั้น เมื่อถูกไมค์จ่อถามมากๆ ถึงเรื่องการถูกยกให้เป็น GAY ICON ทรอยซีวานกลับปฏิเสธอย่างสุภาพว่า “เขาไม่อยากเป็น”

เมื่อเขาเป็นเพียงเสียงเดียวจากความหลากหลายในสังคม LGBTQ ที่แวดล้อมอาศัยอยู่

“ผมเป็นตัวแทนเพียงเสี้ยวเดียวจากทั้งหมดในสังคมนั้น ทั้งยังโชคดีมากๆ ที่เป็นชาวเกย์ชนชั้นกลางผิวขาวที่ครอบครัวให้การยอมรับและสนับสนุน ผมไม่เคยอยากเป็น และ

ผมไม่คิดว่าในสังคม LGBTQ ควรมีตัวแทนเพียงคนเดียว ในเมื่อเรามีความแตกต่างและหลากหลายทางมิติอย่างมาก ผมไม่ควรเป็นตัวแทนในเมื่อยังมีคนอีกมากมายที่สมควรจะได้รับมันมากกว่าผม

“เพราะสำหรับผมแล้ว ผมแค่อยากเป็นตัวผม มีความสุขกับตัวเอง ชีวิตของตัวเอง และการได้แสดงมันออกมาคือสิ่งที่สำคัญสำหรับผม”

So, stay strong and keep being proud, LGBTQ

อ้างอิง:
theguardian
pride
starobserver
rollingstone
gq
nme

Tags:

การเติบโตเพศLGBTQ+พ่อแม่คาแรกเตอร์(character building)ศิลปิน

Author:

illustrator

ชลิตา สุนันทาภรณ์

นักเขียนที่ปรากฎตัวพร้อมกระเป๋าเล็กสะพายข้างเป็นหลักหนึ่งใบคู่กระเป๋าผ้าใบใหญ่ไว้ใส่ของจริงๆ อาจเพราะจบรัฐศาสตร์สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงเป็นเหตุให้ไปเกาหลีกับญี่ปุ่นบ่อยราวเป็นบ้านหลังที่สอง ตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะอธิบายทุกแฮชแทกในทวิตเตอร์ในประเด็นการเมืองระหว่างประเทศและวัฒนธรรมประชาชนสมัยนิยมได้

Related Posts

  • Movie
    Queer as Folk: คำถามที่ลูกอยากรู้ ถ้าเราเปลี่ยนไปไม่ใช่เพศเดิม พ่อแม่จะยังรักหรือปล่อยมือ

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • Dear Parents
    “จะยังรักเหมือนเดิมไหมหากฉันไม่ใช่ลูกสาวอย่างที่ท่านคิด” ขอพื้นที่ส่วนตัวค้นหา(เพศ)ตัวเอง

    เรื่อง ปรียานุช ปรีชามาตย์

  • Education trend
    ล่วงละเมิดทางเพศแบบนี้ หนูไม่โอเค

    เรื่อง The Potential ภาพ BONALISA SMILE

  • Family Psychology
    ‘วิชาแพ้’ พ่อกับแม่แค่ปล่อยและคอยนั่งอยู่ข้างๆ

    เรื่อง ลีน่าร์ กาซอ

  • Family Psychology
    พี่หนูเท่สุดๆ : ตัวตนเติบโตผ่านการเป็นพี่ใหญ่

    เรื่อง ลีน่าร์ กาซอ

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel