- แน่นอนว่าการเชี่ยวชาญหรือรอบรู้ย่อมมีผลดีกับงาน สังคมมักจะบอกให้ ‘เรียนไปเถอะ’ ยิ่งรู้มากยิ่งดี แต่งานวิจัยกลับพบว่าการศึกษาให้รอบรู้เรื่องใดๆ จนเชี่ยวชาญมากเกินไปนั้นกลับมีผลเสียอยู่ด้วย
- เช่นกันกับการมองโลกในแง่ดีจนเกินเหตุ มีแนวโน้มที่จะส่งผลเสียกับงานได้ เพราะมักจะเตรียมตัวน้อยเกินไป คิดว่าทุกอย่างน่าจะลงเอยด้วยดีได้ และละเลยความเสี่ยงหรือผลร้ายที่อาจเกิดขึ้นจนไม่ได้เตรียมแผนสำรองไว้
- ทั้งนี้ การรู้ข้อเสียของการมีมากไปไม่ได้เป็นข้อแก้ตัวหรือข้ออ้างที่จะไม่ปรับตัวเลย สิ่งที่ดีที่สุด ก็คือความพอดี ไม่มากไป ไม่น้อยไป ซึ่งอาจจะหาจุดพอดีได้ยาก แต่ขอให้ตระหนักไว้ถึงเรื่องนี้ ก็น่าจะช่วยให้ตนเองอยู่ขอบเขตที่เหมาะสมได้พอสมควร
ตั้งแต่เด็กๆ เราได้รับการสั่งสอนอยู่เสมอให้เป็น ‘คนดีพร้อม’ ของสังคม เราถูกสอนว่านิสัยหรือบุคลิกบางอย่างนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เช่น ขี้เกียจ มองโลกในแง่ร้าย เห็นแก่ตัว และอีกสารพัดอย่าง และให้หมั่นเป็นคนขยัน มองโลกในแง่ดี เห็นอกเห็นใจคนอื่น ซึ่งหากทำได้แบบนี้ก็จะถือว่าเป็นคนในอุดมคติของสังคม นอกจากจะมีคนชื่นชมนับหน้าถือตาแล้ว ยังเชื่อได้เลยว่าจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตและการงาน ซึ่งจริงๆ แล้วสิ่งที่สังคมสอนเรามาก็ไม่ผิดเสียทีเดียวครับ มีคุณลักษณะของ ‘คนดีพร้อม’ เพียงน้อยอย่างที่หากเราทำแล้วจะเกิดผลเสีย หลายคนก็เลยพยายามสุดๆ ในการปรับตัวให้เป็นคนดีพร้อมในทุกๆ ด้าน
คำถามที่ตามมาคือ แล้วเราต้องขยันแค่ไหน เก่งแค่ไหน มีเมตตามากน้อยเพียงใด หากมองเผินๆ แล้วคำตอบก็คงไม่ยากนักก็คือ ของดีๆ แบบนี้ยิ่งมีเยอะสิยิ่งดี มีหรือที่มีบุคลิกหรือนิสัยดีๆ มากเกินไปแล้วจะมีข้อเสีย แต่สิ่งที่ดีนั้น มีเยอะไปก็ใช่ว่าจะดี ผมไปพบงานวิจัยของ Grant และ Schwartz นักจิตวิทยาชาวสหรัฐอเมริกาที่เขารวบรวมงานวิจัยจำนวนมากแล้วพบว่า ถึงจะเป็นนิสัย บุคลิก หรือลักษณะที่ดีก็ตาม แต่หากมีมากเกินไป มันกลับเกิดผลเสียต่อเจ้าตัวแทน
เป็นที่รู้กันดีในแวดวงจิตวิทยาว่า หลายๆ สิ่งหากมีแต่พอดีมันจะมีผลดีกับเรา แม้แต่สิ่งที่แย่ๆ อย่างความเครียด งานวิจัยพบว่าหากไม่มีความเครียดเลย คนเราจะทำงานได้ไม่ดี เพราะเหมือนกับไม่เอาจริงเอาจริงเท่าที่ควร พอไม่เครียดก็ไม่มีการบีบให้ตนเองขับศักยภาพที่แท้จริงมาใช้ แต่ในทางกลับกันถ้าหากเครียดมากจนเกินไป คนเราจะทำงานได้แย่ลง สมองจะตีบตันคิดอะไรไม่ออก กดดันจนทำอะไรไม่ถูก ลักษณะนี้เราเรียกกันว่า ‘ความสัมพันธ์แบบตัว U คว่ำ’ คือมีแต่พอดีจะที่สุด มีน้อยไปก็ไม่ดี มีมากไปก็ไม่ดีตามรูปด้านล่าง เรื่องนี้น่าจะคล้ายๆ กับที่ชาวพุทธรู้จักกันดีในชื่อ ‘หลักทางสายกลาง’ ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป
แต่สิ่งดีๆ มีมากไปจะไม่ดีจริงหรือ เรามาดูตัวอย่างกันดีกว่าครับว่า นิสัย บุคลิกภาพ หรือคุณลักษณะที่ดีๆ เหล่านี้หากมีมากไปจะเกิดผลเสียได้ทั้งกับการงานและสุขภาพจิตอย่างไร
เก่งเกินไป เชี่ยวชาญเกินไป: แน่นอนว่าการเชี่ยวชาญหรือรอบรู้ย่อมมีผลดีกับงาน เหมือนที่เขาบอกว่า ‘มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน’ สังคมมักจะบอกให้ ‘เรียนไปเถอะ’ ยิ่งรู้มากยิ่งดี แต่งานวิจัยกลับพบว่าการศึกษาให้รอบรู้เรื่องใดๆ จนเชี่ยวชาญมากเกินไปนั้นกลับมีผลเสียอยู่ด้วย เพราะพอคนที่ศึกษาสิ่งใดจนเชี่ยวชาญมากๆ แล้ว มักจะมั่นใจมากเกินไปว่าตนสามารถนำความรู้ นำหลักการที่ที่มีไปใช้วิเคราะห์หรือทำนายผลได้ทุกอย่าง ให้ความสำคัญกับความรู้ตามตำราเกินควร ซึ่งผลเสียเพราะทำให้มองข้ามปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ระบุในตำรา มองข้ามสิ่งที่ไม่ตรงกับที่ตนรู้จนตัดสินใจผิดพลาด เทียบกับคนที่รู้สึกว่าตนไม่ได้เชี่ยวชาญขนาดนั้น ที่อาจจะสนใจเหตุผลที่เป็นไปได้อื่นๆ มากกว่า มีการมองหาจุดผิดพลาดมากกว่า
นอกจากนี้ การที่ตนเชี่ยวชาญสิ่งใดมากแล้ว ก็มักจะคิดว่าไม่จำเป็นต้องพัฒนาทักษะหรือความรู้ของตนเองให้ดีขึ้นไปกว่านี้ แค่นี้ก็มากพอแล้ว ทำให้ไม่คอยติดตามความรู้วิทยาการใหม่ๆ ซึ่งทำให้กลายเป็นยึดแต่ความรู้ที่ล้าสมัยไปแล้ว
การเชี่ยวชาญเกินไปไม่เพียงแค่ส่งผลกับงานเท่านั้นนะครับ คนที่เก่งหรือเชี่ยวชาญมากๆ ก็มักจะมองหางานให้เหมาะกับความเชี่ยวชาญระดับสูงของตน จะให้ทำงานง่ายๆ แล้วเหมือนเสียดายสิ่งที่ตนเองรู้ แต่งานยิ่งระดับสูง ก็จะยิ่งยากเป็นปกติ และงานที่ยากมากๆ ถึงแม้จะทำได้หากเชี่ยวชาญ แต่มักจะสร้างความเครียดและความเหนื่อยล้าให้กับผู้ทำมากตามไปด้วย และอาจส่งผลให้คนกลุ่มนี้มีสุขภาพจิตที่แย่กว่าคนที่ไม่ได้ทำงานยากสุดๆ แบบนั้น
เป็นระเบียบเกินไป: ความเป็นระเบียบนั้นช่วยให้งานออกมาเรียบร้อยและไม่มีจุดผิดพลาด ต่อให้เก่งแต่งานไม่เรียบร้อยงานก็จะลดคุณค่าลงไป แต่หากเป็นระเบียบมากเกินไปนั้นจะส่งผลเสียกับการทำงานได้เหมือนกัน เพราะคนที่เป็นระเบียบมากเกินก็จะยึดติดกับ ‘ความสมบูรณ์แบบ’ คือทุกกระเบียดนิ้วของงานนั้นต้องถูกต้อง แต่ในโลกความจริงแล้วมีงานเพียงน้อยอย่างที่เราทำให้มันถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีจุดบกพร่องแม้แต่นิดเดียว หรืองานส่วนใหญ่นั้นต่อให้ผิดก็ค่อยแก้ไขทีหลัง หรือมีผลเสียไม่มาก พอจะยอมผิดได้บ้างเล็กน้อย การพยายามทำให้งานไม่มีจุดผิดเลยจะเสียเวลาเสียแรงกายแรงใจจนเกินไปไม่คุ้มค่ากับผลที่ได้รับ และงานก็ไม่เสร็จเสียที กลายเป็นทำงานหนักเกินไป เครียดเกินไป
งานหลายๆ อย่างนั้นนอกจากรายละเอียดที่ถูกต้องแล้ว ภาพรวมของงานก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เช่น ในด้านของธุรกิจสิ่งสำคัญคือภาพรวมของธุรกิจนั้นประสบความสำเร็จ แน่นอนว่าย่อมมีจุดที่ขาดทุนจากบางส่วน เช่น จากการลองผิดลองถูก หรือส่วนที่ประเมินออกมาเป็นตัวเงินได้ยาก แต่หากคนที่ยึดกับระเบียบมากไป ก็จะพยายามอุดส่วนขาดทุนทุกๆ ที่จนลืมมองในภาพรวมว่าสุดท้ายได้ผลกำไรหรือไม่ ซึ่งทำให้เหมือนจับทิศจับทางหลักๆ ที่สำคัญไม่ได้ เพราะมัวแต่มองรายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ไม่ดีของการทำธุรกิจ
มองโลกในแง่ดีเกินไป: เป็นที่รู้กันดีว่าการมองโลกในแง่ดีนั้นมีผลดีต่อสุขภาพจิตอย่างมาก เพราะโลกเรานั้นมีด้านขาว ด้านดำ จะมีความสุขหรือไม่ขึ้นอยู่กับการเลือกมอง มองโลกในแง่ดีนั้นจะทำให้มีความหวังกว่า เครียดน้อยกว่า (อ่านเพิ่มเติมใน มองโลกแบบไหนถึงเรียกว่าในแง่ร้าย: https://thepotential.org/life/personality-of-pessimism) แต่การมองโลกในแง่ดีจนเกินเหตุแม้จะมีแนวโน้มที่จะส่งผลเสียกับงานได้ เพราะมักจะเตรียมตัวน้อยเกินไป เพราะคิดว่าทุกอย่างน่าจะลงเอยด้วยดีได้ และละเลยความเสี่ยงหรือผลร้ายที่อาจเกิดขึ้นจนไม่ได้เตรียมแผนสำรองไว้ นอกจากนี้ยังอาจทำอะไรที่เสี่ยงต่อความเสียหายจนเกินไปด้วย เพราะเน้นแต่ด้านที่ประสบความสำเร็จ การลงทุนก็อาจจะเสี่ยงเกินตัวเพราะคิดว่าน่าจะกำไรแน่ๆ
นอกจากนี้คนที่มองโลกในแง่ดีเกินไป ก็มักจะไม่มองผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสุขภาพตัวเอง เช่น คิดว่าการดื่มเหล้า สูบบุหรี่คงไม่มีผลเสียที่จะเกิดกับตน โรคร้ายแรงก็ช่างมันปะไร ไม่ต้องคิดมาก ไม่ดูแลรักษาสุขภาพ และนั่นทำให้ปล่อยตัวเองจนมีสุขภาพกายแย่ลงจริงๆ ได้ และถ้าเจ็บป่วยร้ายแรงเมื่อไร ต่อให้มองโลกในแง่ดีขนาดไหนมันก็สุขใจยากจริงไหมครับ
ใจดีเกินไป: มีใครบ้างที่ไม่ชอบคนใจดี ผมคิดว่าไม่น่าจะมีนะ สังคมเองก็คอยสรรเสริญคนใจดีเสมอ แต่การใจดีมากไปนั้นก็ส่งผลเสียต่อตนเองได้ ในโลกการทำงานนั้นพบว่าคนที่ใจดีเกินไปมักจะต้องเสียแรงและเสียเวลาให้กับการไปช่วยงานของคนอื่นจนต้องเหนื่อยกับงานเกินเหตุ บางครั้งใครขออะไรก็ทำให้จนงานล้นมือ ทำงานตนเองไม่ทัน เกิดผลเสียกับงานตัวเองไปอีก ถึงคนที่เราช่วยจะชื่นชม แต่เจ้านายคงไม่ชอบแน่ๆ หากงานตัวเองกลับไม่เสร็จ
นอกจากนี้การใจดีไป เป็นอุปสรรคในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในชีวิตได้ หากเป็นเจ้านายก็ไม่กล้าลงโทษลูกน้อง กลัวเขาจะทุกข์จะลำบากหากไปลงโทษ ใครมาร้องไห้ขอขมาอะไรก็ใจอ่อนให้อภัยหมด แบบนี้ที่ทำงานก็จะขาดระเบียบวินัย
คนที่จิตใจอ่อนโยนเกินไป มักจะมีความทุกข์ใจมากกว่าคนอื่นๆ เพราะในโลกเรานั้นมีสิ่งที่ยากจะเรียกว่าดีอยู่เยอะ มีด้านมืดด้านชั่วร้ายของสังคมที่เราไม่อยากรู้
แต่มันก็ต้องรู้จนได้สักวันจากข่าวสารมากมาย เช่น การฆาตกรรม เหยื่อทารุณกรรม แก๊งมิจฉาชีพ จนถึงสงครามที่มีอยู่สม่ำเสมอ พอจิตใจอ่อนโยน เห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากเกิน ไปรู้สึกเศร้าแทนคนที่เดือดร้อนเหล่านั้นทุกครั้งที่ได้ยินเรื่องไม่ดีเหล่านี้ จนมีเรื่องมาให้เป็นทุกข์อยู่ทุกวัน
จงรักภักดีเกินไป: ในแวดวงการทำงานนั้น คนที่จงรักภักดีต่อเจ้านายและบริษัทคงเป็นคนลำดับต้นๆ ที่ใครอยากได้เป็นลูกน้อง เพราะคนแบบนี้ไม่ใช่หาได้ง่ายๆ คนที่ภักดีกับบริษัทนอกจากจะตั้งใจทำงานเต็มที่แล้ว ยังไม่ต้องห่วงเรื่องการฉ้อโกง หรือการโกหก แต่ความจงรักภักดีนั้นก็เหมือนความรักคือมันทำให้ ‘คนตาบอด’ ได้หากมีมากไป พอรู้สึกจงรักภักดีมาก ไม่ว่าบริษัทหรือหัวหน้าเป็นอย่างไร ก็ตีความว่าเป็นสิ่งที่ดีเสียหมด ไม่ก็ไม่รู้ไม่เห็นด้านแย่ๆ อยากจะมองแต่ด้านดีๆ ไว้ แต่ถ้าทำแบบนี้นานๆ บริษัทอาจจะไม่รอด เพราะกลายเป็นลูกน้องไปปิดบังจุดบกพร่องต่างๆ ของคนหรือของบริษัทไว้ และไม่ได้รับการแก้ไขเสียที
คนที่จงรักภักดีมาก นายว่าอย่างไร ตนก็ว่าตามนั้น ไม่กล้าหือ ไม่กล้าเถียง ไม่อยากทะเลาะกันให้มีบรรยากาศระหองระแหง หากมีความคิดใหม่ๆ แต่มันไม่ตรงกับที่เจ้านายเสนอก็ไม่กล้าบอก เพราะไม่อยากขัดใจ กลัวจะผิดใจกัน แบบนี้มันทำให้บริษัทไม่มีไอเดียหรือนวัตกรรมใหม่ๆ จากพนักงานเลย รอแต่จะเห็นดีเห็นงามกับเบื้องบนอย่างเดียว แบบนี้การพัฒนาก็เกิดขึ้นยาก
หากลองพิจารณาดีๆ แล้ว เหตุผลหนึ่งที่มีสิ่งดีๆ เยอะไปแล้วเกิดข้อเสีย เพราะทุกๆ อย่างล้วนแต่มีขั้วตรงข้ามของมัน การมีด้านหนึ่งมากไป จะทำให้มีอีกด้านน้อยไป การมองโลกในแง่ดี อยู่ตรงกันข้ามกับการระแวดระวัง ไม่กล้าทำอะไรบุ่มบ่าม พอมองโลกในแง่ดีเยอะเกินไป ความระแวดระวังเลยน้อยเกินไป หรือความใจดี อยู่ตรงกันข้ามกับ ‘อุเบกขา’ คือปล่อยวาง ใจดีมากก็ปล่อยวางไม่เป็น ไม่ยอมรับเรื่องความทุกข์ใจของคนอื่นที่ล้วนแต่เกิดขึ้นได้ จนเป็นทุกข์ ความจงรักภักดีที่มากไป ก็ตรงกันข้ามกับความสงสัยที่น้อยไป ไม่จับผิด ไม่ต่อต้าน ไม่กล้าค้านแม้เจ้านายจะทำผิด
ที่ผมยกงานวิจัยนี้มาเล่า ไม่ได้ต้องการจะบอกว่า “ไม่ต้องพัฒนาตนเองหรอก ไม่ว่าจะความเชี่ยวชาญ ความมีระเบียบ หรือมองโลกในแง่ดี ฯลฯ ที่ยกมา เพราะมันต่างมีข้อเสีย” ไม่ใช่ครับ สิ่งที่ยกมานั้นล้วนแต่มีข้อดี แถมถ้าเราขาดสิ่งเหล่านั้นมากๆ ย่อมส่งผลกระทบกับชีวิตเราแน่ๆ เผลอๆ จะแย่ยิ่งกว่ามีมากไปด้วยซ้ำ การรู้ข้อเสียของการมีมากไปไม่ได้เป็นข้อแก้ตัวหรือข้ออ้างที่จะไม่ปรับตัวเลยนะครับ แต่งานวิจัยนี้ทำให้เล็งเห็นว่า ทุกอย่างมีความพอดีของมัน แม้แต่สิ่งดีๆ หากมีเยอะไปก็มีข้อเสีย
การพัฒนาตนเองให้เป็น ‘คนดีพร้อม’ ของสังคมก็มีขอบเขตของมัน อย่าตะบี้ตะบันจนสุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง โดยเฉพาะกับพ่อแม่ที่มักจะคิดว่าทำยังไงก็ได้ให้ลูกตนเองดีกว่านี้ เก่งกว่านี้ เรียบร้อยกว่านี้ ซึ่งถ้าหากไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน ก็อาจจะส่งเสริมลูกในด้านที่ดีอยู่แล้วจนดีเกินไปและกลายเป็นผลเสียแทน
สิ่งที่ดีที่สุด ก็คือความพอดี ไม่มากไป ไม่น้อยไป ซึ่งอาจจะหาจุดพอดีได้ยาก แต่ขอให้ตระหนักไว้ถึงเรื่องนี้ ก็น่าจะช่วยให้ตนเองอยู่ขอบเขตที่เหมาะสมได้พอสมควรแล้วครับ
เอกสารอ้างอิง
Grant, A. M., & Schwartz, B. (2011). Too much of a good thing: The challenge and opportunity of the inverted U. Perspectives on psychological science, 6(1), 61-76.