- คนที่มีลักษณะ อ่อนไหวไวต่อสิ่งเร้าสูง (Highly Sensitive Person) หมายถึงคนที่มีระบบประสาทไวต่อสิ่งเร้าต่างๆ เช่น เสียง แสง อารมณ์ของคนอื่น ฯลฯ อีกทั้งมักจะดูดซับความละเอียดอ่อนในสิ่งแวดล้อมเข้ามามาก ทำให้ตื่นตัวง่ายและรู้สึกท่วมท้นได้ง่ายเช่นกัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15 – 20% ของประชากร ทว่าคนที่อ่อนไหวสูงไม่จำเป็นต้องอ่อนไหวสูงต่อสิ่งเร้าเดียวกัน และต่อให้ไวต่อสิ่งเดียวกันก็อาจเป็นคนละระดับกัน ในกรณีส่วนใหญ่ความอ่อนไหวไวต่อสิ่งเร้าสูงเป็นมรดกทางกรรมพันธุ์
- ความอ่อนไหวสูงมีทั้งข้อดีและเป็นเหตุแห่งทุกข์ได้ด้วย คนอ่อนไหวสูงที่เติบโตมาในครอบครัวหรือวัฒนธรรมย่อยที่ให้คุณค่ากับความอ่อนไหวมักเคารพความอ่อนไหวของตัวเอง แต่หากโตมาในวัฒนธรรมที่มองความอ่อนไหวของเขาในเชิงลบ ก็มีแนวโน้มจะรู้สึกว่าตัวเองบกพร่องหรือด้อยกว่าคนที่ไม่อ่อนไหว
- บทความวาดรายละเอียดของคนอ่อนไหวไวต่อสิ่งเร้าสูง พร้อมทั้งนำเสนอวิธีการดูแลผู้ใหญ่และเด็กลักษณะนี้ โดยเขียนต่อยอดจากนิทานเกี่ยวกับการทดสอบความเป็นเจ้าหญิงแท้ๆ ผ่านการพิสูจน์ความอ่อนไหว และตบท้ายด้วยการนำเสนอวิธีการ 3 อย่างที่สามารถช่วยให้คนอ่อนไหวปรับสมดุลให้ตัวเองในวันที่รู้สึกท่วมท้นได้
1.
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเจ้าชายเรื่องมากอยู่องค์หนึ่งซึ่งต้องแต่งงานแต่หาคนถูกใจไม่ได้ หรือบางทีพระองค์ก็ไม่แน่ใจว่าผู้หญิงคนนั้นเป็นเจ้าหญิงจริงหรือเปล่า กระทั่งอยู่มาวันหนึ่งในคืนฝนกระหน่ำ มีหญิงสาวตัวเปียกโชกมาขอหลบฝนในปราสาทของเจ้าชายโดยอ้างว่าตนเองเป็นเจ้าหญิง แม่ของเจ้าชายจึงทดสอบเธอด้วยการแอบเอาเม็ดถั่วเล็กๆ มาวางไว้บนที่นอนของเธอ จากนั้นก็ทับด้วยฟูกทบซ้อนกันหลายชั้นจนสูงชะลูด ผู้หญิงคนนั้นเข้านอนโดยไม่รู้ว่าถูกทดสอบ แต่วันรุ่งขึ้นเธอก็บ่นว่านอนไม่หลับเพราะรู้สึกเหมือนมีอะไรแข็งๆ มาทิ่มร่างกาย อีกทั้งยังมีรอยฟกช้ำที่แผ่นหลังของเธอด้วย!
เจ้าชายดีใจมากที่ได้เจอเจ้าหญิงตัวจริง เพราะ “มีแค่เจ้าหญิงตัวจริงเท่านั้นแหละที่อ่อนไหวไวต่อสิ่งเร้า (sensitive) ได้ขนาดนั้น” แล้วพวกเขาก็แต่งงานกัน
2.
ความอ่อนไหวไวต่อสิ่งเร้าสูง (ต่อไปขอเขียนย่อว่า ‘อ่อนไหว’) ในนิทานดูจะเป็นความรู้สึกตื่นตัวง่ายจากสิ่งที่มากระตุ้นเร้า แม้สิ่งนั้นจะเป็นเพียงเม็ดถั่วซึ่งดูเล็กน้อยในสายตาคนทั่วไป แต่ก็ทำให้เจ้าหญิงถึงขั้นนอนไม่หลับหนำซ้ำแผ่นหลังยังฟกช้ำ! กับวงสนทนาทั่วไปในสังคมนอกนิทาน เวลาที่ใครสักคนพูดว่าคนนั้นคนนี้เป็นคนอ่อนไหว ก็มักจะหมายความถึงคนที่อ่อนไหวไวต่ออารมณ์คนอื่น หรือบ้างก็หมายถึงคนอารมณ์ศิลปินที่ชอบใคร่ครวญและหวั่นไหวต่อสิ่งละเอียดอ่อน บ้างก็ถึงขนาดพูดในเชิงตัดสินว่าคนอ่อนไหวคือคน ‘เปราะบาง’ ‘อ่อนแอ’ ‘เยอะ’ ซึ่งเหล่านี้เป็นนิยามความอ่อนไหวที่แคบและเป็นเชิงลบมากเกินไป
อย่างไรก็ดี ดร.เอเลน อารอน นักจิตวิทยาวิจัยและนักจิตบำบัดซึ่งบอกว่าตัวเองก็อ่อนไหวเหมือนกัน ได้ศึกษาความอ่อนไหวไวต่อสิ่งเร้าสูง (highly sensitive) อย่างจริงจังและได้นิยามมันอย่างเป็นกลางและกว้างกว่านั้น นั่นคือการมีระบบประสาทที่ไวต่อสิ่งเร้าต่างๆ ซึ่งทำให้เข้าสู่ภาวะตื่นตัว ได้ง่าย โดยประชากรมนุษย์ประมาณ 15 – 20% จะมีลักษณะอ่อนไหวอย่างนี้เฉกเช่นกันกับสัตว์วิวัฒนาการสูงอย่างเช่น แมว หมา ม้า ลิง
กระนั้น คนที่อ่อนไหวสูงไม่จำเป็นต้องไวต่อสิ่งกระตุ้นเดียวกัน เพราะบางคนอาจอ่อนไหวต่อเสียงเป็นพิเศษ บางคนอาจอ่อนไหวกับอารมณ์ความรู้สึกคนอื่นอย่างยิ่งแต่ไม่อ่อนไหวต่อเสียง อีกทั้งไม่อ่อนไหวต่อคาเฟอีน ในขณะที่บางคนก็อาจอ่อนไหวต่อคาเฟอีนอย่างเดียว ฯลฯ นอกจากนี้ ต่อให้คนเราอ่อนไหวต่อสิ่งเดียวกันแต่ก็อาจเป็นคนละระดับกัน อย่างไรก็ตาม คนที่อ่อนไหวก็มักจะมีลักษณะเหล่านี้ร่วมกันเช่น มีแนวโน้มในทางศิลปะและดนตรี มีโลกภายในที่ซับซ้อน มักจะถนัดใช้จินตนาการสร้างสรรค์ มักมีความเป็นนักจิตบำบัดในตนเอง มักต้องหาจังหวะปลีกตัวไปในพื้นที่อันมีสิ่งกระตุ้นน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นได้เมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์โกลาหลวุ่นวาย มักห่วงใยใส่ใจคนอื่น (แต่ก็มีเงามืดเหมือนกันซึ่งยังไม่ขอเขียนถึงในที่นี้) ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม การที่คนอ่อนไหวสูงถูกกระตุ้นให้เข้าสู่ภาวะตื่นตัวได้ง่ายก็อาจทำให้ทุกข์ง่ายเช่นกัน ต้องอธิบายก่อนว่าโดยทั่วไปคนเราจะทำสิ่งต่างๆ ได้ดีที่สุดเมื่อตื่นตัวในระดับที่พอดี อันหมายถึงระดับที่ ไม่เบื่อเกินไปและไม่ใช่ตื่นตัวล้นเกินจนเครียด แต่ พอดีของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ดังนั้น เมื่อประชากรส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ไวต่อสิ่งกระตุ้นนักอยากจะรู้ตื่นตัวพอดีๆ พวกเขาก็ย่อมต้องใช้สิ่งกระตุ้นในระดับที่มากกว่าคนอ่อนไหวสูง เช่น เปิดเสียงเพลงดังๆ หรืออยู่กับคลื่นมหาชนในงานคอนเสิร์ตแล้วรู้สึกคึกคัก หรืออัดกาแฟหนักๆ คุยกับคนเยอะๆ เพื่อให้รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า อย่างไรก็ตาม เสียงดังครึกโครมหรือฝูงชนหรือแสงจ้า ฯลฯ ที่ทำให้คนทั่วไปรู้สึกตื่นตัวพอดีๆ กลับมีแนวโน้มจะทำให้คนอ่อนไหวรู้สึกตื่นตัว ‘มาก’ ส่วนสิ่งกระตุ้นที่มากสำหรับคนส่วนใหญ่ก็อาจทำให้คนอ่อนไหวรู้สึกท่วมท้นจนต้องปิดระบบประสาทรับรู้ไปเลย เช่น ต้องรีบกลับบ้านไปอาบน้ำกินยาแล้วนอนพักยาวเป็นสิบชั่วโมง
นอกจากนี้ ความอ่อนไหวก็มักส่งผลต่อคุณภาพของการนอนด้วย ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่เป็นเด็กทารก ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน เด็กไม่อ่อนไหวมักจะหลับง่ายมากและไม่ค่อยตื่นอีก ส่วนเด็กที่อ่อนไหวมักจะตื่นกลางคันง่ายกว่าและกลับไปนอนต่อยากกว่า (ดร.อารอนแนะนำให้ลองใช้การเคลื่อนไหว เช่น ไกวแปล และใช้บรรยากาศที่มืดและเงียบอันเป็นการลดสิ่งกระตุ้นให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อช่วยเด็กอ่อนไหวให้กลับไปนอนหลับต่อได้ง่ายขึ้น) อีกทั้งอารมณ์ขุ่นมัวง่ายกว่าหรือระแวดระวังมากกว่าเมื่อสิ่งต่างๆ รอบตัวเปลี่ยนไป เช่น เมื่อเพื่อนพ่อแม่มานอนที่บ้าน
ถ้าหากคุณมีลูก การสังเกตการนอนหลับของลูกนับแต่วัยทารกและลักษณะอื่นๆ ที่ปรากฏเมื่อเขาค่อยๆ เติบโตขึ้นมา ก็อาจทำให้คุณเห็นลักษณะอ่อนไหวไวต่อสิ่งเร้าของลูก (ถ้ามี) ที่น่าสนใจคือ เนื่องจากงานศึกษาของดร. อารอน บอกว่าในกรณีส่วนใหญ่ความอ่อนไหวนี้เป็นลักษณะเฉพาะตามกรรมพันธุ์ นั่นหมายความว่าหากลูกของคุณอ่อนไหว คุณเองหรือญาติของคุณก็อาจจะอ่อนไหวเช่นนั้นด้วย การเห็นความอ่อนไหวในตัวใครคนหนึ่งในครอบครัวได้จึงสามารถช่วยให้คุณออกแบบวิถีชีวิตและปฏิสัมพันธ์ที่เหมาะกับสมาชิกครอบครัวได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งอันเป็นภูมิคุ้มกันให้สมาชิกครอบครัวผู้อ่อนไหว ในการอยู่ในโลกที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้อ่อนไหวนัก
คนอ่อนไหวจำนวนมากเติบโตมากับความเห็นของคนส่วนใหญ่ที่มองเขาได้ทางลบ เช่น เพื่อนบางคนอาจบอกว่าเขาป่วยง่าย ร้องไห้ง่าย อันเป็นความ ‘เปราะบาง’ หรือเด็กอ่อนไหวบางคนอาจแสดงออกแบบขี้อายและต้องใช้เวลานานกว่าจะเข้ากับเพื่อนได้ (ไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องเป็นแบบนั้น เพราะก็มีเด็กอ่อนไหวที่หาเพื่อนง่ายและกล้าแสดงออกมากอยู่เหมือนกัน) ทำให้ครูมองว่าต้อง ‘แก้ไข’ อะไรบางอย่างเกี่ยวกับเด็กคนนั้น
ถ้าพวกเขาโตมาในบริบทที่ความอ่อนไหวไม่ได้รับการชื่นชม เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็อาจเฆี่ยนตีตัวเองเกินจำเป็นเพื่อให้ทำงานหามรุ่งห้ามค่ำได้อย่างสมบุกสมบันและแข็งกร้าวไปตามมาตรฐานของคนอื่นในสังคมกระทั่งสุดท้ายก็ป่วยเรื้อรัง เพราะถึงแม้คนเราจะ ปรับตัวได้พอสมควรราวกับหนังยางที่สามารถยืดออกไป แต่หากยืดออกไปถึงจุดหนึ่งหนังยางก็จะขาด
ในที่สุดแล้วร่างกายของคนอ่อนไหวไม่ได้สร้างมาให้มีสุขภาวะกับการกระตุ้นในระดับที่คนส่วนใหญ่ชอบ ดังนั้นเมื่อฝืนตัวเองเกินสมควร (ไม่ได้บอกว่าไม่ต้องปรับตัวเลย) ก็ทำให้มีแนวโน้มจะเครียดได้ง่าย คุณภาพของการนอนไม่ค่อยดี อีกทั้งอาจมีอาการเจ็บป่วยทางร่างกายถี่อย่างอาการปวดหัว อาหารไม่ย่อย เป็นภูมิแพ้ เป็นหวัดบ่อย ฯลฯ
แต่โชคดีที่เราก็มีตัวอย่างของคนอ่อนไหวผู้เติบโตมาในวัฒนธรรมย่อยซึ่งให้คุณค่ากับลักษณะเฉพาะนี้ (เหมือนในเรื่องเจ้าหญิงกับเม็ดถั่วที่เจ้าชายเจาะจงจับคู่กับหญิงสาวที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าอ่อนไหวไวต่อสิ่งเร้าอย่างสูง) อย่างเช่นชายคนหนึ่งที่มีพ่อแม่เป็นปัญญาชนแนวศิลปินซึ่งชื่นชมความอ่อนไหวของลูก รวมถึงขลุกอยู่ในแวดวงของคนที่ให้คุณค่าความอ่อนไหวอยู่แล้ว เด็กคนนี้จึงเติบโตมาเป็นคนที่เคารพตัวเองและมองความอ่อนไหวในเชิงบวกได้ง่าย เขาเลือกทำงานวิชาการและยามว่างก็เป็นนักเปียโน เขาออกแบบชีวิตการทำงานให้สอดคล้องกับระดับความอ่อนไหวของตนโดยไม่รู้สึกว่าทำอะไรผิด เช่น เขาจงใจหลีกเลี่ยงงานสายธุรกิจที่ต้องห้ำหั่นสูง และรีบเปลี่ยนตำแหน่งทางวิชาการหากว่าการเลื่อนตำแหน่งทำให้เขาเครียดจนเกินไป อีกทั้งเขาเลือกอาศัยอยู่ในละแวกที่เงียบและมีเสียงธรรมชาติอันรื่นรมย์อย่างสอดคล้องกับความไวต่อเสียงของเขาเอง
3.
ไม่ว่าภูมิหลังจะเป็นอย่างไร คนอ่อนไหวไวต่อสิ่งเร้าสามารถมองเหตุการณ์เก่าๆ ที่อาจเคยทำให้เจ็บปวดในมุมใหม่จากความตระหนักรู้ในลักษณะอ่อนไหวของตนเอง และกลับมาเห็นด้านบวกของตนเอง เช่น คนอ่อนไหวมักจะแสวงหาการเติบโตภายในและมีความสามารถสูงในการสร้างพื้นที่เยียวยาเปลี่ยนผ่านให้ผู้คนได้เติบโตภายในไปด้วยกัน นอกจากนี้ ขอนำเสนออีก 3 วิธีที่คนอ่อนไหวสามารถลองใช้เพื่อเพิ่มสมดุลให้ตัวเองหรือคนใกล้ชิดที่อ่อนไหว ดังนี้
- คุยกับหลายๆ คนที่อ่อนไหวในด้านเดียวกัน ซึ่งจะทำให้รู้สึกมีพวกและลดความรู้สึกว่าเรามีตำหนิผิดปรกติ คนอ่อนไหวมักจะมีช่วงเวลาเก็บตัวเพราะมันคือการชาร์ตพลังงานด้วยการเลี่ยงสิ่งกระตุ้น แต่การเก็บตัวนานไปก็จะทำให้เราขาดการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับมนุษย์คนอื่น ซึ่งถ้ามาโดดเดี่ยวตัวเองตอนเผชิญปัญหาอยู่ก็อาจรู้สึกว่าปัญหาบางอย่างเกิดกับเราคนเดียว แต่ถ้าเรากลับไปอัพเดตข้อมูลกับคนอ่อนไหวในด้านเดียวกัน เราก็อาจจะพบว่าเขากำลังเผชิญบางอย่างคล้ายๆ เราอยู่ ซึ่งทำให้มีโอกาสเกื้อกูลกันได้
- ฝึกสร้างอาณาเขต ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยกู้ความเคารพตัวเองของคนอ่อนไหวและช่วยลดแนวโน้มสู่ความเครียดและภาวะซึมเศร้าด้วย ลองสื่อสารอย่างตรงไปตรงมากับคนอื่นบ้างก็ได้ว่าไม่โอเคกับอะไร แล้วจะพบว่าจริงๆ ก็มีใครอีกหลายคนที่อยากให้เกียรติและอยากเกื้อกูลเรา แต่เขาแค่ไม่รู้ว่าเราชอบหรือไม่ชอบอะไรเท่านั้นเอง ถ้าคนอื่นรู้ว่าเราช่วยเขาแล้วเหนื่อยมากเกินไปเขาก็คงไม่อยากรบกวนหรอก หรือพอเขารู้ว่าการแหย่เล่นบางประเด็นทำให้เรารู้สึกไม่ดี เขาก็รู้สึกผิดเหมือนกัน
- เคารพร่างกายของตัวเอง เหนื่อยล้าก็พักบ้าง เราไม่ต้องพยายามเป็นซูเปอร์ฮิวแมนเพื่อพิสูจน์อะไรบางอย่างตลอดก็ได้ เพราะบางสถานการณ์เราอาจกำลังอยู่ในระบบ/ โครงสร้างที่ป่วย แต่เราเองไม่ได้ป่วยอะไรขนาดนั้นก็ได้นะ นอกจากนี้เรายังสามารถใช้กิจกรรมฐานกายเพิ่มความหยั่งรากทางจิตใจด้วย เช่น ออกไปว่ายน้ำ ออกไปถีบจักรยานท่ามกลางธรรมชาติ แล้วเอาจิตไปอยู่กับการเคลื่อนไหวร่างกายและธรรมชาติแทนที่จะดำดิ่งในความนึกคิดที่คิดว่าตัวเองมีข้อบกพร่องร้ายแรง การเลิกอินกับความคิดลบหลายทีก็ไม่ง่าย แต่ก็ฝึกให้วงจรความคิดลบค่อยๆ สั้นลงได้ ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องสั้นเท่าที่คนอื่นคาดหวังต่อเราด้วย แค่มันสั้นกว่าสมัยก่อนของคุณเองก็ถือว่ามีพัฒนาการแล้ว
หากคุณเป็นคนอ่อนไหว คุณก็เห็นแล้วว่ามีหนทางมากมายที่สามารถใช้จัดการกับความรู้สึกท่วมท้นที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้น อีกทั้งการมีลักษณะเฉพาะนี้ก็ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย เพราะโลกนี้ไม่ได้ต้องการแค่ลักษณะนักรบที่เหี้ยมหาญและถึกทน
เหมือนอย่างที่ แอลเลน ชอว์น นักเขียนและนักแต่งเพลงชาวอเมริกัน บอกเป็นนัยว่าโลกจำต้องมีคนทุกรูปแบบ “คนซึ่งสามารถจับรอยประทับแห่งดอกซากุระผลิบานอันผันผ่านเข้ามา ไว้ในบทกวี 14 พยางค์ หรืออุทิศ 25 หน้ากระดาษ วิเคราะห์ความรู้สึกของเด็กชายตัวน้อยขณะนอนบนเตียงในความมืดมิด รอคอยแม่มาจูบราตรีสวัสดิ์…” ก็เป็นคนที่โลกใบนี้ต้องมีด้วยเช่นกัน