- การทำร้ายร่างกายตัวเอง ปัญหานี้อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด เกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องมีอาการทางจิตเวชเสมอไป
- การทำร้ายร่างกายตัวเองคือสัญญาณว่าคนๆ นั้นกำลังต้องการความช่วยเหลือ เขาอาจไม่รู้วิธีจัดการกับอารมณ์ที่ท่วมท้น ไม่รู้ว่าจะระบายกับใครดีก็เลยเลือกเอาความอัดอั้นนั้นมาระบายกับตัวเอง
- ถ้าคนรอบข้างทำร้ายตัวเอง เราควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขาด้วยการรับฟัง ไม่สอนหรือบอกข้อคิดคุณธรรม พยายามทำความเข้าใจ และไม่ตัดสิน ทำให้เขารู้สึกว่าเขามีความหมายสำหรับเรา ดีไม่ดีเราอาจจะเข้าใจสาเหตุที่เขาทำแบบนั้นเองผ่านบทสนทนาก็ได้
[*บทความนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายและการทำร้ายตัวเอง ทั้งนี้ไม่ได้มีเจตนาส่งเสริมหรือยกย่องการฆ่าตัวตายและการทำร้ายตนเอง โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน]
การทำร้ายร่างกายตัวเอง (self-injury) เป็นปัญหาคลาสสิกที่เกิดขึ้นกับทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องมีอาการทางจิตเวชเสมอไป หมายความว่าคนทั่วไปก็อาจคิดอยากจะทำร้ายตัวเองได้เหมือนกัน ปัญหานี้อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด บางทีเราอาจนึกภาพว่าคนที่ทำร้ายร่างกายตัวเองจะต้องเป็นคนที่ดูเจ็บปวดรวดร้าว สภาพดูไม่ได้ มีบาดแผลเหวอะหวะ เอาเข้าจริงก็มีส่วนหนึ่งที่เป็นแบบนั้น แต่อีกกลุ่มหนึ่งก็คือคนทั่วไปที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ออกไปสังสรรค์ คุยเล่นกับเพื่อนเหมือนพวกเราทุกคนนี่แหละ อย่านึกว่าคนที่ยิ้มเก่งจะเศร้าดำดิ่งไม่เป็น
การทำร้ายตัวเองในที่นี้ไม่ใช่การดุว่า ใจร้าย หรือกดดันตัวเอง แต่คือการทำร้าย ‘ร่างกาย’ ตัวเองจริงๆ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ตั้งใจทำให้ตัวเองบาดเจ็บเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง โดยไม่ได้ตั้งใจให้ถึงขั้นเสียชีวิต พฤติกรรมยอดฮิตที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคยก็เช่น การกรีดข้อมือ กรีดแขน ที่อาจเห็นบ้างก็อย่างเช่น การทุบตี การหยิก การดึงผม การแกะเกาจนเป็นแผล หรือการเผาผิวหนัง
บางคนอาจมองว่าการทำร้ายตัวเองเป็นการกระทำที่ไม่ดี ไม่รักตัวเองเลย แต่อย่าลืมว่า ปัญหาเดียวกัน ต่างคนก็มีมุมมองและความรู้สึกต่อปัญหาต่างกัน บ้างอาจมองว่ามันเล็กน้อย บ้างก็อาจรู้สึกว่าใหญ่เกินจะรับไหว เรื่องแบบนี้ไม่มีคำว่าดีไม่ดี เพราะว่าการทำร้ายตัวเองคือหนึ่งในวิธีรับมือกับปัญหา ถ้าเริ่มด้วยมุมมองแบบนี้เราจะไม่ตีตราคนที่ทำร้ายตัวเอง
หลายคนที่ผมเคยคุยด้วยมีมุมมองว่า การทำร้ายตัวเองคือการเรียกร้องความสนใจ ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าบางกรณีก็เป็นแบบนั้นจริง แต่หลายกรณีก็ไม่ใช่แบบนั้น เอาเข้าจริงไม่ว่าเขาจะเรียกร้องความสนใจหรือไม่ก็ไม่ได้สำคัญเท่าการมองว่า การทำร้ายร่างกายตัวเองคือสัญญาณว่าเขากำลังต้องการความช่วยเหลือ เขาอาจไม่รู้วิธีที่จะจัดการกับอารมณ์ที่ท่วมท้น ไม่รู้ว่าเขาจะระบายกับใครดีก็เลยเลือกที่จะเอาความอัดอั้นนั้นมาระบายกับตัวเอง
บางทีผมก็รู้สึกว่า มันอาจเป็นวิธีการรักตัวเองแบบหนึ่งก็ได้ คือ ปัญหาที่เขาเจอมันหนักสำหรับเขามากเลยนะ เขารับมันไม่ไหว แต่เขาอยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไปนะ แล้วนั่นก็เป็นเพียงวิธีเดียวที่เขาอาจจะคิดออกในเวลานั้น
การทำร้ายตัวเองไม่ได้หมายความว่าจะฆ่าตัวตายเสมอไป แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะเมินเฉยคิดว่ามันไม่ใช่การฆ่าตัวตายเลยซะทีเดียว เพราะหลายการทำร้ายตัวเองก็อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้เช่นเดียวกันหากถูกเพิกเฉย
ทำไมถึงทำร้ายตัวเอง
การทำร้ายตัวเองเกิดได้จากหลายสาเหตุ ความเป็นไปได้แรกคือ คนที่ทำร้ายตัวเองเกิดจากความรู้สึกแย่ในตัวเองที่มากจนไม่สามารถจัดการได้ ไม่รู้จะคิดบวกอย่างไร ไม่รู้จะปรึกษาใคร จึงใช้การทำร้ายตัวเองเป็นวิธีระบายความรู้สึกที่ท้วมท้น
ความเป็นไปได้ที่สองคือ ทำร้ายตัวเองเพราะรู้สึกอยากลงโทษตัวเอง อาจเป็นความรู้สึกโกรธ หรือเกลียดตัวเองมากๆ จนรู้สึกว่า ‘มันก็สมควรแล้วที่ฉันจะทำร้ายตัวเอง เพราะตัวฉันมันแย่’ เขาจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ
ความเป็นไปได้ต่อมาคือ ความรู้สึกว่างเปล่าหรือรู้สึกเหมือนหลุดออกจากโลกความเป็นจริง มันเป็นความรู้สึกที่ไม่ได้รู้สึกอะไร คล้ายชินชาแต่ไม่ใช่ชินชาซะทีเดียว หลายคนที่ผมคุยด้วย จะพูดทำนองว่า ‘ถ้าให้รู้สึกเจ็บปวดยังดีกว่าต้องรู้สึกว่างเปล่าแบบนี้ มันเป็นความรู้สึกที่เคว้งคว้างมาก’
อีกหนึ่งความเป็นไปได้ที่ผมคิดไม่ถึงหลังอ่านบทความคือ การทำร้ายร่างกายเพื่อพยายามหยุดความรู้สึกหรือการพยายามฆ่าตัวตาย อาจพูดได้ว่าเขารู้สึกเจ็บปวดมากจนไม่อยากมีชีวิตอยู่ อย่างน้อยการได้ทำร้ายตัวเองก็ช่วยทำให้อารมณ์เย็นลง
บางกรณีก็ใช้การทำร้ายร่างกายเพื่อให้ตัวเองได้รับความสนใจ หรือต่อรองสิ่งที่ต้องการจากคนอื่น หรือใช้เพื่อควบคุมบงการคนอื่นให้เป็นไปในแบบที่ตัวเองต้องการ อาจเกิดขึ้นได้ทั้งด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้
การทำร้ายร่างกายตัวเองเป็นวิธีการใช้รับมือกับปัญหาที่น่าเป็นห่วง เพราะยิ่งทำร้ายร่างกายบ่อยก็ยิ่งมีโอกาสที่จะใช้วิธีการแบบเดิมเวลาเครียด เหมือนคนที่คุ้นชินกับการตื่นนอนเวลา 08.00 ทุกครั้งที่ถึงเวลาก็จะตื่นนอน
วิธีรับมือกับการทำร้ายร่างกาย
อย่างแรก คุณอาจรู้สึกผิดที่ทำร้ายร่างกายตัวเอง แต่อยากให้กำลังใจว่า มนุษย์ทุกคนพยายามทำสิ่งต่างๆ ให้ได้ดีที่สุดเท่าที่ตอนนั้นจะทำได้แล้ว ตอนนั้นอาจเป็นทางเลือกเดียวที่คุณมีเพื่อจัดการกับความรู้สึกแย่ ให้เวลากับความรู้สึกนี้ได้ แต่ไม่ต้องจมกับความรู้สึกผิดนานเกินไป ให้อภัยแล้วค่อยๆ เริ่มใหม่กับตัวเอง
สอง หาพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง
หาคนรอบข้างที่คอยช่วยเหลือ ให้กำลังใจ จากการศึกษาพบว่า คนที่มีคนรอบข้างสนับสนุนจิตใจมีแนวโน้มที่จะหยุดใช้วิธีการรับมือปัญหาด้วยการทำร้ายตัวเอง คนนั้นอาจเป็นเพื่อน แฟน ครอบครัว หรือถ้าไม่มีจริงๆ อาจขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา
อาจฟังดูแปลก แต่สำหรับบางคน แหล่งพักพิงจิตใจของเขาไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นสัตว์เลี้ยง การ์ตูน ดาราก็อาจเป็นแหล่งพลังงานชั้นดีที่ช่วยเยียวยาจิตใจได้เหมือนกัน
สาม มองหาข้อดีหรือคุณค่าของตัวเอง เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากเกินไป ผมมองว่าการเห็นข้อดีหรือคุณค่าของตัวเองมี 2 ระดับ อย่างแรก ‘มอง’ หาข้อดีหรือคุณค่าตัวเองให้เจอ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องยิ่งใหญ่อย่างสอบได้ที่ 1 แต่อาจเป็นเรื่องทั่วไปอย่างเป็นคนที่นึกถึงความรู้สึกของคนรอบข้างก็ได้
ถ้าได้ระดับแรกแล้วให้ก้าวข้ามจาก ‘มองเห็น’ เป็นพยายาม ‘รู้สึก’ ขอบคุณข้อดีตัวเอง หรือสิ่งยากในชีวิตที่ผ่านมาได้ บางทีเราก็ใช้ชีวิตจนลืมทบทวนไปว่ากว่าจะเป็นเราในทุกวันนี้มันไม่ได้ง่าย กว่าจะผ่านสิ่งต่างๆ ในชีวิตมามันก็เก่งใช่เล่นเลย สักพักความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาขึ้น ผมว่าไม่ง่ายสักเท่าไหร่ ผมเองก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ก็เป็นแบบฝึกหัดที่สนุกดีเหมือนกันนะ
เวลาผมพูดให้คนรอบข้างฟังว่าช่วงนี้เจอคนที่ทำร้ายร่างกายตัวเองเยอะขึ้น คนรอบข้างก็จะตอบคล้ายกันทำนองว่า โห แล้วทำยังไงเนี่ย ถ้าเป็นเขาคงไม่รู้จะทำยังไงเลย ผมว่านี่เป็นปัญหาคลาสสิก เมื่อเราไม่มีความรู้เราก็จะวิตกกังวล แนวทางด้านล่างน่าจะช่วยให้รับมือได้ดีขึ้น
ทำอย่างไรถ้าเห็นคนรอบข้างทำร้ายตัวเอง
อย่างแรก คนที่ทำร้ายตัวเองจำนวนมากไม่ค่อยบอกใคร เราอาจต้องสังเกตรอยที่ข้อมือ หรือแขน ซึ่งเป็นจุดที่คนทำร้ายตัวเองมากที่สุด บางกรณีอาจสังเกตการใส่เสื้อกันหนาวที่ผิดจากสภาพอากาศ ทั้งที่อากาศร้อน แต่กลับใส่เสื้อกันหนาว ผมชอบแซวทำนองว่า ‘เอ้ย วันนี้อากาศไม่ร้อน ทำไมถึงใส่เสื้อกันหนาวล่ะ’
สอง การจัดการความรู้สึกตัวเอง สูดลมหายใจเข้าลึกๆ พยายามทำตัวเองให้นิ่ง ไม่แสดงความรู้สึกตกใจ หรือทำให้คนที่ทำร้ายตัวเองรู้สึกว่าตัวเองผิดปกติหรือโดนเป็นห่วงมากเกินไป เขาก็จะไม่กล้าพูด แล้วอย่าลืมประเมินตัวเองว่าเรารับมือไหวแค่ไหนถ้าจะต้องฟังเรื่องการทำร้ายตัวเอง ถ้าไม่ไหวก็ให้ไปบอกคนรอบข้างที่น่าจะรับฟังเขาได้แทน
สาม เข้าไปคุยกับเขาด้วยท่าทีที่สงบ อาจเริ่มถามเขาจากคำถามกว้างๆ อย่าง ‘เห็นแขนมีรอย เกิดอะไรขึ้นหรือป่าว’ อย่าเพิ่งรีบถามถึงสาเหตุที่ทำร้ายตัวเองเพราะจะทำให้เขารู้สึกกดดัน ให้พยายามสร้างตัวเองเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขาด้วยการรับฟัง ไม่สอนหรือบอกข้อคิดคุณธรรม พยายามทำความเข้าใจเขาให้ได้มากที่สุด และไม่ตัดสิน ทำให้เขารู้สึกว่าเขามีความหมายสำหรับเรา รู้สึกว่ามีใครบางคนเห็นที่คุณค่าในตัวเขา ให้เขาได้ระบายทุกอย่างออกมาก่อน ดีไม่ดีเราอาจจะเข้าใจสาเหตุที่เขาทำแบบนั้นเองผ่านบทสนทนาก็ได้
ห้า พยายามอย่าให้เขาอยู่คนเดียว หาคนรอบข้างที่จะอยู่ข้างเขา เวลาที่เขาทำร้ายตัวเองมักจะเป็นช่วงที่เขาจะยั้งตัวเองได้ยาก การมีคนรอบข้างที่ปลอดภัยจะช่วยทำให้เขามีสติมากขึ้น
อย่างที่เกริ่นไป การทำร้ายร่างกายตัวเองเป็นปัญหาที่อยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด การมีความเข้าใจเรื่องนี้จะช่วยให้เราเข้าใจคนที่ทำร้ายร่างกายตัวเองมากขึ้น เราจะไม่ตัดสิน ไม่ต่อว่า ไม่มองว่าคนเขาอ่อนแอ คนที่ทำร้ายตัวเองก็จะกล้าเปิดเผยเรื่องราวของตัวเองมากขึ้น เราได้เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กันและกัน ไม่รู้สิ ผมว่าของขวัญที่ดีที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะมอบให้กันได้ก็คือ ความเข้าอกเข้าใจกันและกัน
คุณคิดว่ายังไงบ้าง ?
อ้างอิง
Cipriano, A., Cella, S., & Cotrufo, P. (2017). Nonsuicidal self-injury: A systematic review. Frontiers in psychology, 8, 1946.
Klonsky, E. D., & Muehlenkamp, J. J. (2007). Self‐injury: A research review for the practitioner. Journal of clinical psychology, 63(11), 1045-1056.
Mummé, T. A., Mildred, H., & Knight, T. (2017). How do people stop non-suicidal self-injury? A systematic review. Archives of suicide research, 21(3), 470-489.
Park, Y., Mahdy, J. C., & Ammerman, B. A. (2021). How others respond to non‐suicidal self‐injury disclosure: A systematic review. Journal of Community & Applied Social Psychology, 31(1), 107-119.