- การอ่านเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับชีวิตและสติปัญญา และจำเป็นต่อการเข้าถึงความรู้ใหม่ๆ รวมไปถึงการกระตุ้นให้เกิดความคิดอ่านที่แตกต่างหลากหลายกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้น
- การอ่านสำหรับอัจฉริยะอย่างบิล เกตส์, อีลอน มัสก์, วอร์เรน บัฟเฟตต์ หรือเหล่าซีอีโอบริษัทใหญ่ๆ เป็นการอ่านแบบมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนมาก แต่ไม่จำเป็นต้องอ่านทุกตัวอักษร เลือกอ่านเฉพาะส่วนที่เราสนใจเท่านั้น เพราะเรามีทรัพยากรที่จำกัดคือเวลา
- มีผลการวิจัยที่แสดงว่า การอ่านหนังสือยังทำให้กระบวนการเสื่อมของสมองช้าลงอีกด้วย
เคยสงสัยไหมครับว่า คนอย่างสตีฟ จ็อบส์ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ อีลอน มัสก์ และบิล เกตส์ หรือพวกซีอีโอบริษัทใหญ่ๆ เลือกอ่านหนังสือต่างๆ แบบเดียวกับคนทั่วไปไหม? อัจฉริยะพวกนี้มี ‘วิธีอ่าน’ หนังสือแตกต่างจากคนทั่วไปหรือเปล่า? คนพวกนี้อ่านหนังสือกันมากน้อยเท่าไรต่อปี?
แม้ว่าพวกเขาอาจจะไม่ได้ทำแบบเดียวกันทั้งหมด และเราจะทำแบบเดียวกับพวกเขาไม่ได้ทั้งหมด แต่เราก็อาจเลียนแบบวิธีการบางอย่างของพวกเขาได้ สิ่งที่เรารู้แน่ชัดอย่างหนึ่งก็คือ พวกนักบริหารและคนเก่งอ่านหนังสือกันเยอะมาก คือราวเดือนละ 3–5 เล่ม เฉลี่ยคือสัปดาห์ละเล่ม [1] ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยที่คนทั่วไปอ่านราว 4 เท่า เพราะงานวิจัยของศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) พบกว่าในปี 2016 คนอเมริกันอ่านหนังสือจบประมาณ 12 เล่มต่อปี หรือเดือนละ 1 เล่ม [2] ซึ่งก็ถือว่าไม่น้อยทีเดียว
อ่านหนังสือกันจบเล่มบ้างไหมครับ? อ่านจบกันเดือนละเล่มครับ?
งานวิจัยของ Lectupedia ที่ใช้ข้อมูลจากประเทศต่างๆ รวม 14 ประเทศคือ อาร์เจนตินา บราซิล แคนาดา ชิลี โคลอมเบีย เอสโทเนีย ฝรั่งเศส เม็กซิโก เปรู โปรตุเกส เกาหลีใต้ สเปน สหรัฐอเมริกา และเวเนซูเอลา [3] ทำให้รู้ว่าในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วหรือมีความก้าวหน้าสูง ผู้คนจะอ่านหนังสือกันเป็นจำนวนมากต่อปี เช่น คนเกาหลีใต้อ่าน 11 เล่ม คนอเมริกันอ่านจบ 12 เล่ม และมากที่สุดจากการสำรวจนี้คือ แคนาดากับฝรั่งเศสอ่านกันมากถึง 17 เล่ม
ส่วนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอ่านกันค่อนข้างน้อย เช่น คนอาร์เจนตินาอ่านเฉลี่ย 3 เล่มเท่ากับคนเปรูและคนบราซิล โดยน้อยที่สุดในการสำรวจคือ คนเวเนซูเอลาที่อ่านจบเพียงปีละ 2 เล่มเท่านั้น
จากตัวเลขดังกล่าว ดูราวกับว่าจะมีความเชื่อมโยงระหว่างความก้าวหน้าของประเทศกับนิสัยการอ่านของคนในประเทศต่างๆ อยู่เหมือนกัน
บิล เกตส์ มหาเศรษฐีนักอ่าน รักการอ่านและชอบแบ่งปันรายชื่อหนังสือดีๆ ที่เขาอ่านให้กับผู้คนทั่วโลก เคยให้สัมภาษณ์กับนักข่าวของหนังสือพิมพ์ The New York Times ระบุว่า ภายในหนึ่งปีเขาอ่านหนังสือไม่น้อยกว่า 50 เล่ม
นอกจากนี้ เขายังสรุปความรู้ที่ได้เขียนออกมาเป็นหนังสือต่างๆ อีกหลายเล่ม
เกตส์ไม่ใช่อภิมหาเศรษฐีที่เกษียณแล้วไม่ต้องทำอะไรนะครับ เขาเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิบิลและเมลินด้าเกตส์ ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่ให้ทุนวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและความไม่เท่าเทียมของประชากรโลก ซึ่งต้องพิจารณาทุนและพบปะผู้คนเพื่อระดมทุนและทำกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมากมาย เรียกว่าแทบจะไม่ต่างจากซีอีโอทั่วไปทีเดียว
เขาเชื่อว่าการอ่านเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับชีวิตและสติปัญญา และจำเป็นต่อการเข้าถึงความรู้ใหม่ๆ รวมไปถึงการกระตุ้นให้เกิดความคิดอ่านที่แตกต่างหลากหลายกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้น
อีลอน มัสก์ ก็เป็นนักอ่านตัวยงอีกคน เขาถึงกับเคยเล่าว่าเขาได้แรงบันดาลใจและอันที่จริงแล้ว เรียนรู้การสร้างจรวดผ่านการอ่านหนังสือต่างๆ นี่เอง!
วอร์เรน บัฟเฟตต์ อภิมหาเศรษฐีนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดคนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาและของโลก ก็เป็นอีกคนที่มีนิสัยรักการอ่านอย่างหาตัวจับได้ยาก แม้อายุ 92 ปีแล้ว แต่เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าในแต่ละวันเขาอ่านหนังสือเฉลี่ยแล้วมากถึงราว 500 หน้า!
การอ่านจึงไม่ได้เป็นแค่งานอดิเรก สำหรับคนเหล่านี้ แต่เป็น ‘ส่วนหนึ่งของชีวิต’ แบบเดียวกับการกิน การออกกำลังกาย และการนอน
การอ่านอย่างสม่ำเสมอทำให้อ่านได้เร็วขึ้นหรือทนขึ้น จับความได้แม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้ มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าเด็กที่อ่านหนังสือมากกว่าทำคะแนนวิชาอื่นๆ ได้สูงกว่าเด็กที่อ่านหนังสือน้อยกว่า [4] แต่ที่เยี่ยมไปกว่านั้นก็คือ นิสัยการรักการอ่านที่เกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก จะทำให้เมื่อโตขึ้นสามารถทำคะแนนแบบทดสอบระดับสติปัญญาได้สูงกว่าเมื่อโตขึ้นอีกด้วย
การอ่านจริงจังสม่ำเสมอจึงเพิ่มสติปัญญาได้
มีผลการวิจัยที่แสดงว่าเด็กๆ ที่บ้านมีหนังสืออยู่มากกว่า ทำให้มีศักยภาพในการเรียนภาษา การคำนวณ และพื้นฐานความรู้ด้านเทคโนโลยีดีกว่า [5] และการอ่านหนังสือยังทำให้กระบวนการเสื่อมของสมองช้าลงอีกด้วย [6]
สรุปแบบง่ายๆ ตรงไปตรงมาว่า นิสัยรักการอ่านให้ผลดีต่างๆ นานามากมาย
ปัญหาใหญ่ของคนไทยยุคนี้ไม่ใช่การหาหนังสืออ่านยาก สำหรับหลายคนนั้นหนังสือที่บ้านมีมากเกินกว่าความสามารถที่จะอ่านได้หมดในชั่วชีวิต แต่ก็ยังจะซื้อเพิ่มเติมเข้ามาอีกอย่างไม่หยุดหย่อน
ไม่ต้องตกใจไป นั่นอาจจะไม่ใช่ปัญหาเสียทีเดียว
ไมเคิล ซิมมอนส์ (Michael Simmons) ที่เป็นคอลัมนิสต์ในนิตยสารระดับโลกอย่าง Time, Fortune และ Harvard Business Review ระบุว่า [7] เมื่อสำรวจผู้ประกอบการชั้นยอดและคนที่ประสบความสำเร็จมากมายหลายคนก็พบว่า คนพวกนี้ก็ซื้อหนังสือไว้มากมายและมีโอกาสอ่านได้มากที่สุดก็แค่เพียง 20–40% ของหนังสือทั้งหมดที่ซื้อมา
เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ คนกลุ่มนี้มักจะอ่านหนังสือพร้อมๆ กันเป็นจำนวนมาก บางคนอาจอ่านมากกว่า 10 เล่มพร้อมๆ กัน นี่อาจเป็นเคล็ดลับการอ่านแบบหนึ่งก็เป็นได้ พวกเขาไม่กังวลใจกับการที่ ‘ต้อง’ อ่านหนังสือเหล่านี้ให้จบ บางเล่มอาจอ่านแค่หนึ่งในสามเล่มหรือแค่ครึ่งเล่ม พวกเขาก็เห็นว่าคุ้มเงินแล้ว หากคิดว่าได้สิ่งที่ต้องการจากหนังสือนั้นแล้ว ก็สามารถหยุดอ่านได้ทันที
การอ่านสำหรับคนเหล่านี้จึงเป็นการอ่านแบบมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนมาก และมองว่าเราอาจอ่านหนังสือแบบเดียวกับอ่านนิตยสารก็ได้คือ ไม่จำเป็นต้องอ่านทุกตัวอักษรหรือทุกคอลัมน์ (ทุกบท)
แต่เลือกอ่านเฉพาะส่วนที่เราสนใจเท่านั้น เพราะเรามีทรัพยากรที่จำกัดคือเวลา
การอ่านของคนยุคปัจจุบันจึงอาจเป็นการผสมผสานระหว่างการมองหา คัดกรอง และบริโภคสิ่งที่ต้องการ รวมทั้งการประยุกต์ใช้สิ่งที่สรุปได้มาเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตและเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิต การอ่านจึงไม่จำเป็นต้องเริ่มจากหน้าแรกไปจนหน้าสุดท้าย อีกทั้งไม่จำเป็นต้องเนิบนาบและซาบซึ้งไปเสียทั้งหมด ขึ้นกับประเภทของหนังสือด้วย
หนังสือสักเล่มจากทั้งหมด 10 เล่มที่เราอ่าน หากสามารถเป็นประโยชน์ นำมาใช้งานได้จริง ก็ดูจะคุ้มค่ากับการลงทุน (ออกเงินซื้อและใช้เวลาอ่าน) แล้ว รูปแบบของสื่อที่เราเสพอยู่ที่ผ่านโซเชียลมีเดีย ก็อาจส่งผลต่อวิธีการอ่านและวิธีการคิดของเราในลักษณะนี้ด้วยเช่นกัน
แต่แน่นอนว่าการอ่านนิยายเพื่อซึมซับสุนทรียภาพและความสะเทือนอารมณ์ก็อาจจะต้องยังละเลียดกันแบบเดิมต่อไป และเราก็ควรจะอ่านหนังสือทั้ง 2 ประเภทนี้ไปในเวลาเดียวกัน เพื่อสร้างสมดุลความคิด รวมไปถึงสมดุลของสารเคมีในสมองด้วย
อีกวิธีการหนึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดเวลาแล้วยังช่วยประหยัดเงินเราด้วยก็คือ การเลือกซื้อหนังสือจากการรีวิวของใครต่อใคร โดยค้นว่ามีคนแนะนำหนังสือดังกล่าวว่าอย่างไร ให้คะแนนดีร้ายประการใดเพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อ ซึ่งในยุคนี้ก็ทำได้ง่ายดาย เพราะมีเว็บไซต์ พอสแคสต์ และเพจที่ทำเรื่องพวกนี้มากมายเต็มไปหมด รีวิวพวกนี้มักจะแนะนำหนังสือเล่มอื่นที่คล้ายกันด้วย หากเราไม่สนใจเล่มนี้ แค่เปิดอ่านรีวิวเล่มอื่นต่อไปอีก ก็อาจเจอเล่มที่เราสนใจมากกว่าได้
อีกคำแนะนำหนึ่งได้แก่การเข้าร้านหนังสือ แล้วลองสุ่มเปิดหนังสือที่มีชื่อน่าสนใจหรือมีปกดึงดูดใจ แล้วอ่านเฉพาะบทนำหรือบทที่ 1 กับบทสุดท้าย ก็อาจได้ร่องรอยมากพอประกอบการตัดสินใจซื้อได้
แต่เหนืออื่นใด สุดท้ายแล้วการอ่านก็เหมือนกับการออกกำลังกายและการเก็บเงินสำหรับอนาคต นั่นก็คืออยู่บรรจุอยู่ในตารางชีวิตและเป็นสิ่งแรกๆ ที่ต้องทำและต้องทำอย่างสม่ำเสมอด้วย ไม่ใช่คิดว่าทำอะไรอย่างอื่นหมดแล้ว ถ้ามี ‘เวลาว่าง’ จะมาอ่านหนังสือ
คนที่คิดแบบนี้มักจะล้มเหลว จากการหาเวลาว่างมาอ่านหนังสือไม่ได้
ในทางกลับกันหากมีเวลาที่แน่นอน เช่น ก่อนนอนหรือตื่นมาต้องอ่านหนังสือ 30 นาทีก่อนทำอย่างอื่น การอ่านก็จะกลายเป็นกิจวัตรและให้ผลดีกับเราอย่างเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เอง
แม้ในโลกปัจจุบันจะมีอะไรมากมายที่อ่านได้ฟรีบนโซเชียลมีเดีย แต่การพัฒนาตัวเองก็อาจจะยังจำเป็นต้องพึ่งพาการอ่านหนังสือที่เขียนอย่างเป็นเรื่องเป็นราวจริงจัง ผ่านระบบตรวจสอบคุณภาพเข้มข้น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างคุณสมบัติที่ดี กระตุ้นความคิดจิตใจ และเป็นต้นทุนชีวิตของเราไปได้อย่างนานแสนนาน
เอกสารอ้างอิง
[1] https://enhancingbrain.com/how-many-books-do-geniuses-read-per-year/
[2] https://bookriot.com/how-many-books-does-the-average-person-read/
[3] https://lectupedia.com/en/number-of-books-read-in-each-country/
[4] https://www.realsimple.com/health/preventative-health/benefits-of-reading-real-books
[6] Robert S. Wilson, Patricia A. Boyle, Lei Yu, Lisa L. Barnes, Julie A. Schneider, David A. Bennett.
First published July 3, 2013, DOI: https://doi.org/10.1212/WNL.0b013e31829c5e8a