- เจาะลึกเรื่องเศรษฐศาสตร์ความสุขในครอบครัวกับ ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เศรษฐศาสตร์ความสุข (คนเดียวในประเทศไทย)
- จิตวิทยา เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม และเศรษฐศาสตร์ความสุข สัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ เรียงตามลำดับคือ ทฤษฎี-ปฏิบัติ-วัดผลได้
- ปัจจุบันคนหันกลับมาสำรวจความสุขของตัวเองมากขึ้น แต่บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ชวนไปสำรวจความสุขของครอบครัวทางเศรษฐศาสตร์ เพราะเรื่องนี้ “เราไม่ได้ดูที่กำไรสูงสุด เราให้ความสำคัญกับทุกคนเท่าๆ กัน”
ภาพ: เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล
“ผมเป็นเด็กที่เรียนไม่เก่ง” ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ตอบแทบจะทันที เมื่อถามว่าสมัยก่อนเป็นเด็กแบบไหน โดยวัดจากเกรดเฉลี่ยราวสองกว่าๆ ตอนชั้นมัธยมต้นในเมืองไทย
แต่ ด.ช.ณัฐวุฒิตอนนั้นปราศจากแรงกดดัน เพราะครอบครัวไม่คาดหวัง รู้จักและเข้าใจว่าลูกชายเป็นอย่างไร
“มันได้แค่นี้ คือสิ่งที่เขา (พ่อแม่) คิด เลยไม่พยายามอะไร (ยิ้ม)”
วันนี้ ในตำแหน่งศาสตราจารย์วิจัย Behavioral Science ที่ Warwick Business School ประเทศอังกฤษ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เศรษฐศาสตร์ความสุข (คนเดียวในประเทศไทย) ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี เขียนคำอธิบายตัวเองสั้นๆ ไว้ในเฟซบุ๊คว่า Addicted to Happiness and Economics
ทำไมถึงเป็นความสุขและเศรษฐศาสตร์?
“เป็นเด็กเรียนไม่เก่ง ชอบเล่นเกม ถึงขั้นคิดอยากเรียนต่อด้านเกมเลยด้วยซ้ำ”
พออายุได้ 13 ปี ด.ช.ณัฐวุฒิถูกส่งไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา เรียนได้ 1 ปี ก็ย้ายไปอยู่โรงเรียนประจำที่อังกฤษ
“พอจะเข้ามหาวิทยาลัย ตอนนั้นอยากเรียน Computer Science เพราะชอบเล่นเกม (ยิ้ม) แต่พ่อกับแม่บอกอย่าดีกว่า เพราะผมไม่ชอบอ่านหนังสือ ตอนนั้นคุณแม่ชอบคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาก ซึ่งจบเศรษฐศาสตร์ นั่นคือสาเหตุที่ emotional มาก ก็เลยตกกระไดพลอยโจน (ยิ้ม)”
อาจารย์ยังคงคิดว่าตัวเอง ‘ไม่เก่ง’ จนจบปริญญาตรีที่คณะเศรษฐศาสตร์และการจัดการที่ มหาวิทยาลัยบรูเนล (Brunel University)
“เป็นมหาวิทยาลัยอันดับที่ 50-60 กว่า แล้วนักเรียนที่มาเรียนก็เป็นนักเรียนที่สอบไม่ได้ดีเหมือนกัน แต่ละวันก็ปาร์ตี้ แล้วผมรู้สึกว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ไม่อยากจะอยู่อย่างนี้แล้ว อยากจะเรียนต่อโท อยากจะไปเรียนมหาวิทยาลัยที่มันดีกว่านี้ ก็ผลักตัวเองจนได้มาเรียนมหาวิทยาลัยวอร์ริค (University of Warwick) ด้านเศรษฐศาสตร์ความสุขกับเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ชีวิตก็เริ่มเปลี่ยน”
เพราะอะไรอาจารย์จึงไปด้านเศรษฐศาสตร์ความสุขคะ
เรียนจบปริญญาตรีไม่อยากต่อเศรษฐศาสตร์จ๋าๆ แล้ว อยากไปเรื่องความสุข ตอนนั้นไม่มีใครทำเรื่องความสุขเลย เศรษฐศาสตร์ความสุขมันเป็นไปได้ยังไง จากที่ไม่เคยมี passion อะไรเลยเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ ก็กลับมีคำถามเยอะแยะเลย
และโดย traditional เศรษฐศาสตร์พูดถึงอรรถประโยชน์ ว่าคนเราพยายามจะ maximize utility หรือทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น เรามีเงินเท่านี้ เราจะกินยังไงเพื่อให้ประโยชน์สูงที่สุด แต่ไม่มีใครสอนเราว่า แล้วอรรถประโยชน์มันคืออะไร มันมีความสุขหรือเปล่า นักเศรษฐศาสตร์ไม่เคยตั้งคำถามอีกเลย
ถ้าคุณเลือกจะกินส้มมากกว่ากินแอปเปิล แสดงว่าส้มมันทำประโยน์ให้คุณสูงที่สุด แต่เราไม่รู้ว่าบางทีมันอาจจะไม่ใช่ก็ได้ แต่ถ้าเราสามารถวัดความสุขของคนได้จริงๆ ตรงๆ เลย ทำไมเราไม่ทำอย่างนั้น ทำไมเราไม่เอาข้อมูลความสุขมาทดสอบในสิ่งที่เราตั้งข้อข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์เยอะๆ เช่น
เงินซื้อความสุขได้ไม่อั้น
การว่างงานเป็นการที่คนเลือกเอง ไม่งั้นคนไม่เลือกจะว่างงานหรอก
คนที่สูบบุหรี่ ทางเศรษฐศาสตร์คิดว่าทุกคนมีเหตุมีผล ถ้าคนเลือกที่จะสูบบุหรี่ แสดงว่าเป็นสิ่งที่เขาตรึกตรองแล้วว่าเป็นความสุขที่ดีที่สุด และ trade off ระหว่างความสุขในวันนี้กับสุขภาพในวันหน้าไปเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นอย่าไปห้าม ไม่ควรจะมีนโยบายเลิกบุหรี่
แต่พอเรามาเทสต์ทั้งสามอย่าง พบว่า…
เงินซื้อความสุขได้ไหม เงินซื้อความสุขได้ แต่ต้องเป็นกรณีที่เงินของคนอื่นไม่ได้ขึ้นตามเรามาด้วย เพราะคนเราแคร์การเปรียบเทียบมาก
มันมีงานวิจัยเปรียบเทียบว่า ถ้าเงินเดือนคุณขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์ คุณมีความสุขในการทำงานเพิ่มขึ้น แต่ความสุขในการทำงานที่เพิ่มขึ้นจะหายไปหมดเลย ถ้าคุณพบว่าคนอื่นๆ เงินเดือนขึ้นเท่ากับคุณ จึงเป็นข้อสรุปว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้ถ้ามันไม่ได้ทำให้คุณรู้สึกรวยกว่าคนอื่น
หรือการว่างงาน ถ้าคุณว่างงานจริง เขากับคนที่ทำงาน จะมีความสุขพอๆ กัน ถ้าการว่างงานเป็นสิ่งที่เขาเลือก แต่เราพบว่าคนที่ว่างงาน มีความทุกข์มาก เยอะมาก แล้วความทุกข์ไม่ได้มาจากการไม่มีเงิน เพราะสมมุติเราเปรียบเทียบระหว่างคนที่ว่างงานกับคนที่ไม่ตกงาน แล้วเงินในบ้านเขาเท่ากันเลย คนว่างงานก็ยังมีความทุกข์มากกว่าคนที่มีงานทำ เพราะการว่างงานมันมีมากกว่าการไม่ได้รับรายได้ คือมี social stigma ตราบาปในสังคม ถูกทำลาย self esteem เขาไม่ได้เลือกที่จะว่างงาน ไม่มีใครที่อยากตกงาน
แล้วอันสุดท้ายเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ มันมีสองทฤษฎี ทฤษฎีแรกคือ คนเราเลือกแล้วที่จะสูบเขาต้องมีความสุข ทฤษฎีที่สองบอกว่า คนที่สูบบุหรี่ อยากเลิกบุหรี่ แต่มันเลิกไม่ได้ เขาเรียก self control problem ควบคุมตัวเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้ามันมีนโยบายที่ทำให้คนเลิกบุหรี่ได้ ความสุขคุณจะเพิ่มขึ้น อีกทฤษฎีหนึ่งคือ ในทางเศรษฐศาสตร์บอกว่าความสุขคุณจะตกลงนะ ถ้าคุณเลิกบุหรี่ เพราะมันคือทางเลือก ตอนที่อเมริกามีภาษีบุหรี่ คนที่สูบบุหรี่กลับมีความสุขมากขึ้น เพราะมันช่วยให้เขาเลิกบุหรี่ได้ ซึ่งมันตรงกันข้ามกับเศรษฐศาสตร์ที่เรารู้มา
ปรัชญาของเศรษฐศาสตร์ความสุข คืออะไร
สมัยก่อนตั้งแต่เริ่มเศรษฐศาสตร์ เราจะพูดว่าเพราะทรัพยากรเราน้อย เราจะใช้ทรัพยากรยังไง ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่ในปัจจุบัน หลายๆ ประเทศ ประเทศไทยด้วย ทรัพยากรของเรามันไม่ได้น้อยเหมือนแต่ก่อน คุณหิว คุณมีเซเว่นอีเลฟเว่น คุณอยากจะดูทีวี มีทันที เยอะมาก
ส่วนคำจำกัดความของเศรษฐศาสตร์ความสุขคือ ถ้าคุณมีทรัพยากรมากมายอย่างนี้ คุณจะใช้ทรัพยากรยังไงให้มีความสุขมากกว่าเดิม ถ้าเงินไม่ได้ซื้อความสุข แสดงว่าคุณใช้เงินไม่เป็น เราจึงมาดูว่า มันมีจุดอะไรบ้างที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเงินกับความสุขมันไม่ได้เยอะอย่างที่เราคิด เพราะว่าเราวัดความสุขได้ตรงๆ เราถึงเทสต์พวกนี้ได้
เศรษฐศาสตร์ความสุข เราไม่ได้ตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับมนุษย์ว่ามนุษย์จะต้องมีเหตุมีผล เราแค่ assume ว่า มนุษย์ก็คือมนุษย์ อาจจะมีเหตุผลในบางเรื่อง ไม่มีเหตุผลในบางเรื่อง
ปรัชญาจริงๆ คือ ถ้าความสุขวัดได้จริงๆ เราจะเอาข้อมูลตรงนั้นมาทำอะไร แล้วมันโชว์ให้เห็นได้ไหม ว่าไอ้ที่เราเคยคิดต่างๆ นานา มันเป็นจริงหรือเปล่า นั่นคือปรัชญา เราไม่ได้ข้อสันนิษฐานอะไรเลย
แล้วเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เศรษฐศาสตร์ความสุข เกี่ยวกับจิตวิทยาอย่างไร
จิตวิทยาเป็นแขนงของการเข้าใจกลไกของสมองว่า คนเราตัดสินใจอย่างไร อาจจะมี personal (เรื่องส่วนตัว) เข้ามาเกี่ยวข้องในการตัดสินใจเล็กๆ น้อยๆ
ส่วนเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เอาหลักการต่างๆ นานา ของจิตวิทยามาประยุกต์ใช้ว่ามีอะไรบ้างที่เราสามารถใช้โดยเป็นประโยชน์กับมหภาค จุลภาค ว่า คุณตัดสินใจเลือกระหว่างการทำงานสองอย่างนี้ มันมีทฤษฎีจิตวิทยาไหนมาอธิบายการเลือกของตัวเราได้ และมีอะไรที่เราสามารถเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้เขาเลือกสิ่งที่ดีที่สุดต่อตัวเองได้ ซึ่งจิตวิทยาเป็นกลไก เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเป็นปฏิบัติ การประยุกต์ใช้ประจำวัน
ส่วนเศรษฐศาสตร์ความสุข วัด measurement outcome เป็นความสุข ว่าคุณสามารถใช้เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเปลี่ยนพฤติกรรมของคุณให้เป็นอีกอย่างหนึ่งได้ แต่พฤติกรรมที่เปลี่ยน มันส่งผลต่อความสุขมากน้อยแค่ไหน เราก็ต้องประเมิน
สรุปคือ
จิตวิทยาเป็นองค์ความรู้ คือ ภาคทฤษฎี
เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เกี่ยวกับการเปลี่ยนพฤติกรรมของคน คือ ภาคปฏิบัติ
เศรษฐศาสตร์ความสุข เป็น outcome ความสุข คือการวัดผล
ยกตัวอย่าง ความเชื่อมโยง
จิตวิทยาบอกว่าคนเราเกลียดการเสียมากกว่าชอบการได้ และคนเราตัดสินใจไปแล้ว ไม่ชอบเปลี่ยนใจเพราะพอเปลี่ยนใจปุ๊บ อาจจะเสียดายมากกว่า
เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (ปฎิบัติ) ถ้าคนเกลียดการเสียมากกว่าชอบการได้ ถ้าเลือกไปแล้วแล้วเปลี่ยนใจ มันมีอะไรบ้างที่จะช่วยมาทำให้คน save มากขึ้น opp in-opp out (เสียไป-ได้มา) เลือกผิดกลัวเสียใจ คนเลยไม่ชอบ opp out (เสียไป)
เศรษฐศาสตร์ความสุข (วัดผล) ถึงแม้เราจะรู้ว่าเงินจะไม่ค่อยทำให้มีความสุขเท่าไหร่ แต่คนที่ไม่มีเงินเลย เขาทุกข์มาก ถ้าเราทำให้คนออมได้มากขึ้นในอนาคต ก็จะไปช่วยความสุขของเขาในอนาคตได้
อย่างเศรษฐศาสตร์มันมีดีมานด์ ซัพพลาย กำไร ขาดทุนสูงสุด ต่ำสุด เวลาเราจะคำนวณเศรษฐศาสตร์ของความสุข เราใช้ปัจจัยอะไรมาคิดคำนวณบ้างคะ
เรามีทั้งปัจจัยที่เป็นเศรษฐศาสตร์ และปัจจัยที่ไม่ใช่เป็นเศรษฐศาสตร์ ผมเคยเขียนหนังสือ ‘The Happiness Equation: The Surprising Economics of Our Most Valuable Asset’ คือมันเป็นสมการความสุข ว่ามันมีอะไรบ้างในสมการ แล้วก็จะมีปัจจัยหลายอย่างมากเลย ทั้ง อายุ คน เพศ เงิน เงินของคนส่วนใหญ่ในเขต การศึกษา มีสุขภาพ ต่างๆ นานา แล้วเราก็ดูว่าปัจจัยอะไรบ้างที่มันสำคัญกับความสุขของคน
สิ่งที่เราพบเห็นเป็นประจำคือ social relationship คือการได้พูดคุย ได้อยู่กับคนที่เราชอบ อาจจะเป็นเพื่อนสนิท พ่อแม่
ถ้าเรามี social interaction จะมีผลกับความสุขของคนเยอะมาก แต่คนไม่ได้ให้ความสำคัญกับตรงนั้นเท่ากับการทำงานหนักๆ การได้เงิน ซึ่งปัจจัยพวกนี้เป็นตัวแปรของความสุขที่น้อยเมื่อเทียบกับปัจจัยที่มันไม่ใช่เศรษฐศาสตร์
ประโยชน์ของเศรษฐศาสตร์ความสุขคืออะไรคะ
มันให้ insight หรือข้อคิดใหม่ๆ ที่เราไม่เคยคิดมาก่อน ว่าถ้าเราอยู่ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง มันมีผลยังไงกับเราบ้าง แล้วมันควรกระจายรายได้ยังไงเพื่อความสุขของทุกคน เช่น เมืองไทยเรามีปัญหาเรื่องมลพิษ PM2.5 แล้วรัฐบาลบอกว่าเราอยากจะตั้งงบมาเพื่อกำจัด งบมันควรจะเท่าไหร่ดี เศรษฐศาสตร์ความสุขบอกว่า เราสามารถประเมินได้
สมมุติเราเทียบกันระหว่างคนที่อยู่ในสองเขต เขตหนึ่งอากาศดีมาก อีกเขตหนึ่งอากาศไม่ดีเลย คนที่อยู่ในเขตที่อากาศไม่ดี ความสุขเขาต่ำมากเมื่อเทียบกับคนที่อยู่ในอากาศที่ดี เราก็รู้สึกว่า gap ของความสุขอยู่ขนาดไหน แล้ว gap นี้ เราให้เป็นตัวเงิน เพราะเงินซื้อความสุขได้ เราต้องคูณเท่าไหร่ เพื่อจะให้คนที่อยู่ในเขตที่มีมลพิษที่แย่ มีความสุขพอๆ กับคนที่อยู่ในเขตมลพิษที่ดี ประโยชน์ของเศรษฐศาสตร์ความสุขอยู่ที่ว่า เราสามารถใช้มันมาประเมินงบประมาณโดยตรงว่าในการพัฒนาความสุขของคนควรจะราคาเท่าไหร่
แล้วความสุขมันจะบอกอะไรเรา หรือบอกอะไรกับใคร แล้วมันจะทำให้สังคมเกิดอะไร
ไม่ว่าใครก็อยากมีความสุข ความสุขส่วนใหญ่ ความพึงพอใจในชีวิต การใช้ชีวิตในแต่ละวันโดยที่ไม่เศร้า หรือความหมายของชีวิตเป็นสิ่งที่ทุกคนแสวงหา นั่นเป็นตัว motivation ของตัวเลือกแต่ละตัวเลือกในชีวิตของเรา เช่นการเลือกทำงานโดยใช้ความสุขเป็นตัวขับเคลื่อน
เพราะฉะนั้นถ้าเราแคร์เรื่องความสุขปุ๊บ เรารู้เลยว่า เราสามารถให้ insight กับคนได้ว่า อะไรบ้างที่เป็นปัจจัยสำคัญของความสุข แล้วคุณกำลังเลือกปัจจัยที่ให้ประสิทธิภาพกับความสุขที่สุดอยู่หรือเปล่า
อีกอย่างหนึ่ง คนที่มีความสุข อายุยืนกว่า productive มากกว่า คนที่มีความสุขจะแต่งงานยืนยาวมากกว่า เพราะฉะนั้นเราไม่ได้แคร์แค่ความสุขอย่างเดียว แต่เราแคร์ว่า มันมีผลตอบแทนอะไรที่มันดี เกี่ยวกับพฤติกรรมหรือในอนาคตด้วย คนมีความสุขจ่ายภาษีตรงเวลา มันมีการสานต่อเยอะแยะเลย ที่ให้ผลประโยชน์ต่อความสุข
แนวโน้มหรือว่าสถานการณ์ทั่วโลก อาจจะประเทศไทยหรือเมืองนอก เทรนด์มันกำลังให้ความสำคัญกับความสุขมากขึ้นด้วย?
อันนี้อยู่แล้ว ผมพูดในของต่างประเทศก่อนแล้วกัน หลังจากที่ผม take up ความสุขได้ไม่นาน เศรษฐศาสตร์ความสุขเป็น sub field หรือแขนงของเศรษฐศาสตร์ที่โตเร็วที่สุด จากที่ตีพิมพ์ประมาณ 20-30 เปเปอร์ในสิบกว่าปีมาจนถึงตอนนี้เกือบ 2,000 ในเวลาเพียงไม่กี่ปี คนเริ่มให้ความสนใจ เพราะคนเริ่มคิดว่า สิ่งที่เราเป็นอยู่มันดีจริงๆ หรือ ทำไมสุขภาพจิตคนแย่จังเลย รวยขนาดนี้ทำไมคนถึงฆ่าตัวตาย คนที่รวยสุดๆ เขาฆ่าตัวตายทำไม นี่เรากำลังเลือกชีวิตที่มันดีที่สุดสำหรับเราอยู่หรือเปล่า คนเริ่มเข้าใจว่า สิ่งที่เราคิดอยู่เป็นประจำ ว่าจะต้องรวย การศึกษาสูง มันส่งผลให้มีความสุขจริงๆ ไหม หรือมันมีปัจจัยที่เรายังไม่ได้คิด
ถ้าเราเจาะไปที่เรื่องความสุขของเด็ก เอาเฉพาะเด็กมีความสุขไหมกับเรื่องการเรียน สมมุติถ้าเราวัดได้ มันจะทำอะไรได้อีกบ้าง ในระดับนโยบายของโรงเรียน ของกระทรวง หรือประเทศ
ในเชิงการศึกษา ที่ผ่านมาและปัจจุบันผมว่าเราดู indicator หรือตัวชี้วัดแค่ตัวเดียว คือความสำเร็จในการสอบ ว่าคุณสอบได้เกรดอะไร เราดูความสำเร็จแค่ตรงนี้ แต่เราไม่เคยดูความสำเร็จในเชิงอื่นที่มันไม่ใช่ educational attachment ก็คือสุขภาพจิตของเด็ก และพฤติกรรมของเด็ก
ที่อังกฤษ ผมช่วยคนเขียนหนังสือ ‘The Origin of Happiness’ ซึ่งเขียนและรวบรวมจากการข้อมูลของเด็กทุกคนที่เกิดในอังกฤษปี 1970 ภายในเวลาสองสัปดาห์ที่กำหนดไว้ ในข้อมูลชุดนั้นใช้วิธีสัมภาษณ์คุณแม่ทุกคน ตั้งแต่ยังไม่คลอดเลยว่าคุณแม่สุขภาพจิตเป็นยังไงบ้าง การศึกษา การกิน โภชนาการทุกอย่าง เด็กคลอดปุ๊บก็ตามไปสัมภาษณ์อีก ว่าเด็กคนนี้เป็นยังไงบ้าง แม่ให้ความสุขยังไงบ้าง กินเป็นยังไง เรียนเป็นยังไง ปี 1970 ตอนนี้ประมาณ 51 ปีแล้ว เรามีข้อมูลเลยว่า ตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน มันมีปัจจัยอะไรบ้างที่สำคัญต่อความสำเร็จในอนาคต
สิ่งที่เราพบคือ ตัวแปรที่สำคัญของการสอบได้ดี คือ family income ตอนเด็ก นั่นอาจสรุปได้ว่าถ้าคุณรวยกว่าคนอื่น เด็กมักจะสอบได้ดีกว่าคนอื่น แล้วมันก็ส่งผลต่อรายได้ในอนาคต นี่คือดูเรื่องรายได้อย่างเดียว
แต่พอมาดูเรื่องสุขภาพจิตกับพฤติกรรม family income ตอนเด็กๆ แทบไม่มีผลอะไรเลยกับสุขภาพจิตของเด็ก แต่สุขภาพจิตของเด็ก มีผลสำคัญมากกับความพึงพอใจในชีวิตของเขาในอนาคต จึงสรุปได้อีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสุขภาพจิตแล้ว เงิน การศึกษา อธิบาย variation (ความหลากหลาย) ของความสุขคนได้น้อยมาก
แล้วรู้ไหมครับว่าสุขภาพจิตของเด็ก อะไรเป็นตัวแปรสำคัญที่สุด
สุขภาพจิตแม่?
ถูกต้องครับ
ถ้าคุณแม่สุขภาพจิตดี ไม่ว่าคุณจะรวย จน ขนาดไหน เด็กจะออกมามีสุขภาพจิตที่ดี ประมาณช่วงอายุ 5 ขวบ 10 ขวบ 16 ขวบ ถ้าเขาสุขภาพจิตดีจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขในชีวิต
แต่ถ้าถามว่า ให้เราเลือกระหว่าง มีชีวิตที่มีความสุข กับมีชีวิตที่รวย เราจะเอาอะไร ผมว่าคนก็เลือกความสุขสิ เพราะความรวยเป็นแค่พาหนะไปสู่ความสุข
แล้วการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ ของครอบครัว บนหลักเศรษฐศาสตร์ความสุข มันสามารถอธิบายออกมาเป็นวิธีหรือคำแนะนำได้บ้างไหมคะ
อาจจะไม่ถึงกับเป็นหลักของเศรษฐศาสตร์ความสุขนะครับ คือเราทำการวิจัยเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงลูกว่าวิธีการเลี้ยงลูกแบบไหนดีที่สุด มันจะมีอยู่สี่อัน คือ
Authoritarian สั่งอย่างเดียว ต้องทำอย่างนี้
Permissive ประคบประหงม ไม่เป็นไร เจ็บนิดเดียว พ่อแม่ดูให้
Dismissive ไม่สนใจเลย
Authoritative มี discipline (หลักการ) พอสมควร แต่ให้ความสนใจ คือเป็นความสมดุลระหว่าง permissive กับ authoritarian
เขาบอกว่าการเลี้ยงลูกที่ดีที่สุดคือ Authoritative ลูกส่วนใหญ่จะออกมามีบุคลิกที่ดี มีความคิดที่ดี เพราะมี role model ที่ดี คืออาจจะไม่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ความสุขโดยตรง แต่เรารู้ว่าถ้าคุณมีสุขภาพจิตที่ดี โอกาสที่คุณจะมีความสุขในอนาคตก็สูง
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือเรามองความสุขไม่เหมือนกัน เช่น ความสุขของพ่อแม่คืออย่างหนึ่ง แต่ความสุขของเด็กเป็นอีกอย่างหนึ่ง ทำอย่างไรให้มันมาเจอกัน
เราก็ต้องพูดในเชิงว่าเรามีข้อมูลอยู่เยอะ คำถามคือว่าถ้าเรามีข้อมูลอยู่เยอะ เราสามารถบอกได้ไหมว่าโดยค่าเฉลี่ยแล้ว อะไรบ้างที่ทำให้คนอายุ 30 มีความสุข โดยเฉลี่ยแล้วอะไรทำให้คนอายุ 16-17 มีความสุข ถ้าเราดูตรงนั้นได้ เราสามารถเปรียบเทียบได้
สมมุติเรื่องเงิน คุณพ่อคุณแม่ควรจะทำงานอย่างหนักๆ ไหม เพื่อความสุขของลูก เพราะว่าอย่างน้อยคือประโยชน์ลูก อันนี้เราพูดโดยไม่ได้วัดเรื่องความสุขจริงๆ ถ้าเราวัดความสุขจริง เราอาจจะพบว่า พ่อแม่ทำงานหนัก พ่อแม่เครียด ไม่มีความสุข แต่เขาคิดว่า เดี๋ยวลูกก็มีความสุข แต่ปรากฏว่าลูกก็ไม่มีความสุข เพราะว่าการใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวเป็นตัวแปรที่สำคัญกับความสุขมากกว่ารายได้ เราก็พบว่ามันมีวิธีการนี้ ดีกว่าอีกวิธีการหนึ่ง แล้วก็มาบวกลบคูณหารกันว่าอะไรที่เป็นปัจจัยที่จะหาความสุขได้ของพ่อแม่ลูกและคนรอบข้าง
แต่ในเมื่อเรายังไม่มีข้อมูล มันก็กลายเป็นความสุขที่ยังไม่มีหลักฐานให้เห็นว่า ความสุขร่วมกันจริงๆ แล้วมันอยู่ตรงนี้
คนรุ่นใหม่เคยถามตัวเองว่าเรียนไปทำไม ก็เรียนไปเพื่อทำงาน พอคำตอบมันคือเรียนเพราะทำงาน มันขัดกับเศรษฐศาสตร์ความสุขไหม ในเมื่อตอนนี้ทุกๆ คนกำลังบอกว่าอาชีพที่ดีคืออาชีพที่มาจาก passion อาชีพที่ทำให้ตัวเองมีคุณค่า อาชีพที่ชอบ แต่บางคนทำแบบนั้นไม่ได้เพราะสิ่งที่เขาชอบมันไม่ตอบโจทย์ตลาด อยากจะรู้ว่าต่อไปในอนาคต เด็กรุ่นต่อไปน่าจะยังคิดแบบนี้ไหม
หวังว่าในอนาคตถ้าเขาสามารถเข้าใจนิยามของความสุขได้อย่างถ่องแท้ เขาจะเริ่มคิดแล้วว่าอะไรบ้างที่เราทำได้ และงานนั้นตอบทั้งสามโจทย์ของความสุขได้หรือเปล่า คือ
1. ความพึงพอใจในชีวิต 2. สุขภาพจิตที่ดี กับ 3. มีความหมายต่อชีวิต
ผมจะยกตัวอย่างนะครับ เราอยู่ในยุค startup หนึ่ง ถ้าเราได้งานที่ค่าตอบแทนโอเค สอง ในแต่ละวันได้ทำในสิ่งที่ชอบ ใช้เวลาส่วนใหญ่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ สาม ตอบโจทย์ความหมาย เราทำให้สังคมด้วย ยกตัวอย่างเช่น startup ใหม่ๆ เขาจะคิดว่า มันมีธุรกิจอะไรบ้าง ที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของคน ให้คนอื่นมีความสุข ออมมากขึ้น อย่าง Grab เขาใช้ทฤษฎี easy คือ ให้มันง่าย ถามว่าเขาตอบโจทย์อะไรบ้าง หนึ่งมันดี มันเป็นตลาดรายได้โต ตอบโจทย์ไหม ได้ เพราะว่ามันทำให้คนที่ถูกแท็กซี่ปฏิเสธตลอด สามารถไปได้ด้วยดี มันทำให้ชีวิตเขามีความหมาย เป็น business ไหม เป็น business ที่ยิ่งใหญ่มาก อันนี้เป็นตัวอย่างที่ค่อนข้างสุดโต่งนะครับ
ตอนนี้ผมมีเด็กนักเรียนทำธีสิสอยู่ กำลังจะเสร็จแล้ว เขาทำวิจัยเรื่องความหมายของชีวิต แล้วเขาพบว่า งานที่คนรู้สึกมีความหมายมันจ่ายโดยเฉลี่ยแล้วน้อยกว่างานที่คนทำไม่มีความสุขอีก เพราะฉะนั้นผมว่าถ้าเด็กรุ่นใหม่เกิดรู้สึกว่าเราอยากตั้งหลักว่าเงินเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ก็ตั้งเป็นคำถามดีกว่าว่า มีคำถามหรือโจทย์อะไรบ้างที่ในสังคมหาคำตอบกับมันไม่ได้ แล้วมันมีคำตอบอะไรบ้างที่ทำให้คนอื่นมีความสุขในชีวิต มีสุขภาพจิตที่ดี แล้วทำให้เขารู้สึกมีความหมาย ถ้าเราหาตรงนี้ได้ มันมีธุรกิจหลายอย่างที่คนแต่ละคนต้องการอยู่แล้ว เพราะทุกคนต้องการมีความสุข
มันมีการอธิบายเศรษฐศาสตร์ความสุขกับ Growth Mind Set หรือคำอื่นๆ ไหมคะ
เรื่อง Grit (ความมุมานะ อดทน พยายาม) เด็กที่ Grit เยอะ ก็ประสบความสำเร็จในชีวิตเยอะ พอเจอเรื่องร้ายๆ เขาก็ไม่เศร้าเท่าไหร่ คนที่มีความคิดว่าเขาสามารถเปลี่ยนอนาคตของตัวเองได้ ถ้าพยายาม ต่างจากเด็กอีกกลุ่มหนึ่ง เขารู้สึกว่า ไม่ว่าเขาจะทำอะไร เขาเปลี่ยนอะไรไม่ได้
คนที่ internal หรือคิดว่าตัวเองเปลี่ยนได้ มักจะ put in the effort พยายามอ่านหนังสือ พวกนี้จะมีความสุขมากกว่า เกี่ยวกับ positive psychology personal ด้วยนะ มันมี แต่ผมไม่ได้ทำวิจัยโดยตรง แต่ positive psychology มีแน่ๆ คือ เราจะทำยังไงให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้นที่สุดโดย cost น้อยที่สุด เขียน gratitude diary หรือพยายามคิดว่า ชีวิตเราดีนะ เราไม่ได้แย่อย่างที่เราคิด แล้วไม่ไปเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ควรจะเปรียบเทียบ
อาจารย์อยากจะกลับมาผลักเรื่องนี้ที่เมืองไทยไหมคะ
ไม่ครับ ผมมีความสุข ความพึงพอใจในชีวิตทั้งสามข้อแล้วกับภรรยาและหมาของเราที่อังกฤษ (ยิ้ม)
ทราบว่าอาจารย์กับภรรยาตัดสินใจไม่มีลูก เพราะอะไรคะ
จริงๆ ผมอยากมีลูกนะครับ แต่ภรรยาบอกตั้งแต่ปีแรกที่คบกันว่าไม่อยากมีลูก ผมคิดว่าคบกันนานๆ เดี๋ยวเขาก็เปลี่ยนใจ แต่เขาไม่เคยเปลี่ยนใจเลยตลอด 17 ปีที่ผ่านมา มีช่วงหนึ่งที่ทะเลาะกัน เราอยากมีแต่เขาไม่อยากมี อาจจะเป็นเพราะเขาไม่อยากให้ลูกเกิดมาในโลกแบบนี้ แค่นี้เขาก็ทนทุกข์อยู่ในสังคมพอแล้ว ส่วนผม คนเป็นพ่อก็อยากจะมี
จนมีวันหนึ่งก็คิดได้ว่า ถ้าผมอยากมีลูกจริงๆ ก็ต้องไม่ใช่กับคนนี้ หรืออยู่กับคนนี้แล้วไม่มีลูก
สุดท้ายคำตอบก็ switch มาว่าอยู่กับคนนี้ดีกว่า ก็โอเค
ผมก็ต้องถามตัวเองว่าเราต้องการอะไรในชีวิต เผอิญทำวิจัยเรื่องนี้ด้วย พบว่าคนที่มีลูกก็ไม่ได้มีความสุขมากกว่าคนที่ไม่มี เพราะเขาก็หาอย่างอื่นมาเติมชีวิตของเขาได้ แล้วการมีลูกเรารู้เลยว่ามันจะมีอะไรที่ขึ้นลงสูงมาก ยิ่งมีลูกเล็กๆ ยิ่งบีบอัด
พูดในเชิงครอบครัว ถ้าเราไปถามพ่อแม่ 100 คนว่าลูกของคุณมีความสุขไหม เกือบร้อยทั้งร้อยบอกว่าใช่ แต่ถ้าเราไปวัดความสุขของเขาโดยไม่ได้ถามนำเรื่องลูก ถามว่าชีวิตคุณมีความสุขไหม มันแทบไม่ได้แตกต่างกับคนไม่มีลูกเลย แต่คนเราคิดว่า เวลาเราคิดถึงลูก ไม่ว่าใครก็ตาม อาจจะคิดว่า…
1. ให้น้ำหนักกับ positive มากกว่า negative
2. ลูกเป็นการลงทุนที่ไม่สามารถเอากลับคืนมาได้ เพราะฉะนั้นถ้าลูกเป็นอะไรที่ยากลำบากมากกว่าจะได้มา เราก็คิดเองว่าลูกต้องความสุข ซึ่งมันก็เป็นกลไกทางจิตวิทยาอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เราโอเค จริงๆ การมีลูกก็ทำให้ชีวิตเรามีความหวังด้วย แต่ก็อย่างว่า มันเป็น choice ซึ่งเปรียบเทียบกันแล้ว ไม่ได้ต่างอะไรมาก นั่นคือสิ่งที่ผมเห็น
แต่ผมรู้ว่าเราอยู่กับคนนี้ เรารัก เราเข้ากันได้ แล้วก็รู้ว่าถ้าเรามีลูกจริงๆ เขาจะยอมมีเพื่อเรา และเราก็คงไม่มีความสุขกับการบังคับ และเราก็รู้ว่าคนที่เลี้ยงดูเด็กมากกว่าคือแม่ ขนาดมีหมา เขายังเลี้ยงดูหมามากกว่าผมเลย นั่นคือสิ่งที่ทำให้เรา switch แล้วโอเค
ทางเศรษฐศาสตร์มีกำไร ขาดทุน แต่ในแง่เศรษฐศาสตร์ความสุข ในหน่วยเล็กๆ อย่างครอบครัว มันต้องมีใครกำไร ใครขาดทุน ไหมคะ
พูดในเชิงส่วนตัว เราเลือกอะไรที่ทำให้มีกำไรความสุข คือ net positive มากกว่า net negative ที่สุด ส่วนในเชิงมหภาค social welfare คือ นโยบายอะไรที่ทำให้คนส่วนใหญ่มีความสุขมากขึ้น และคนอีกส่วนหนึ่งความสุขก็ไม่ได้ลดลงมาก
เช่น นโยบายลดความเหลื่อมล้ำ มันอาจกระทบกับคนที่รวยมากแต่คนส่วนใหญ่มีความสุขมากขึ้น เราก็ควรให้น้ำหนักกับคนส่วนใหญ่มากกว่า หรือนโยบายที่ทำยังไงให้คนที่ทุกข์มากๆ ทุกข์น้อยลง หรือทำให้คนที่สุขอยู่แล้ว สุขมากขึ้น เราควรให้น้ำหนักกับคนที่ทุกข์มากๆ มากกว่า
มันสามารถเอามาประยุกต์ใช้กับโลกใบเล็กๆ อย่างครอบครัวได้ไหมคะ
จะว่าได้ ก็ได้นะครับ เราสามารถเอาผลที่เราพบมา ดูว่าสิ่งที่เราตัดสินใจขณะนี้ ในเชิงเศรษฐศาสตร์มันทำให้เกิดความสุขสูงสุดหรือยัง
สมมุติว่า พ่อแม่คิดว่าจะทำงานกี่ชั่วโมงต่ออาทิตย์ แล้วเจอลูกกี่ชั่วโมง เราก็ดูผล พบว่าที่เราทำงานเยอะ มันมีผลต่อความสุขของเราด้วย และของลูกด้วย เมื่อแลกกับเงินที่ได้มามันคุ้มไหม เราสามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้ไหมที่เพิ่มความสุขจากตรงอื่น และลดงานลง
มันจะ trade off กันอย่างนี้ เราก็จะหาว่าอะไรมีประสิทธิภาพสูงที่สุด กับการซื้อหรือเพิ่มความสุข
ในบ้าน ถ้าคนหนึ่งพีคที่สุด กำไรสูงสุด มีความสุขที่สุด มันจะกระทบต่ออีกคนหนึ่งเสมอ เช่น อีกคนหนึ่งทุกข์ หรือ มันต้องมีอะไรผิดปกติแน่ๆ คิดอย่างนี้ผิดหรือถูกคะ
มันแล้วแต่ว่าเรากำลังทำอะไร สมมุติมีลูกสองคน เราให้ของขวัญกับลูกคนเดียว คนหนึ่งอาจจะมีความสุขมากอีกคนอาจทุกข์ก็ได้ ไม่บาลานซ์
แต่มันก็มีอย่างอื่นที่ทำให้ทั้งสองคนมีความสุขได้ การแข่งขันเปรียบเทียบ มันส่งผลให้ไม่มีความสุขระยะยาว อาจจะหาทางที่มันเพิ่มความสุข โดยที่ไม่ได้ทำให้อีกคนหนึ่งทุกข์ได้ ซึ่งผมว่ามันมี แต่ตอนนี้ผมยังคิดไม่ออกนะ
แต่คนที่มีความสุขจะค่อนข้างเห็นใจคนอื่น และบอกว่าถึงแม้จะทำให้คนหนึ่งมีความสุข แต่อีกคนไม่ได้ทำให้มีความทุกข์มาก คนที่มีความสุข อาจจะปฏิบัติดีกว่าเดิมก็ได้ ก็จะไปเพิ่มความสุขให้อีกคนก็ได้
ในครอบครัว กำไรสูงสุดไม่ได้แปลว่าต้องมีความสุขที่สุดเสมอไปใช่ไหม
เราดูว่าในบ้านของเรา โลกเล็กๆ ของเรา มีอะไรบ้างที่ทำให้ทั้งพ่อและแม่ ลูก มีความสุข มันอาจจะไม่ได้มีความสุขแบบพีคทุกคน แต่ถ้าเกิดรวมๆ กันแล้วบาลานซ์ มันโอเค
ปัญหาครอบครัวทุกวันนี้ มันเกิดจากความสุขในครอบครัวไม่บาลานซ์กัน นำไปสู่ความขัดแย้งไม่ลงรอย นั่นแสดงว่าถ้าเศรษฐศาสตร์ความสุขในครอบครัวมันล้มเหลว ครอบครัวก็มีสิทธิ์ล้มเหลวด้วย?
ถูกต้อง choice ที่เราเลือกส่วนใหญ่ ต้องดูว่า 1. เราอยากให้ครอบครัวมีความสุข 2. อยากให้ตัวเราเองมีความสุขด้วย และบางทีมันไม่ได้สอดคล้องกันตลอด หรือบางทีมันอาจจะผิดก็ได้ ตรงที่ว่า เราคิดว่า เรายอมทุกข์เพื่อความสุขของคนในครอบครัว แต่จริงๆ คนในครอบครัวอาจไม่ได้มีความสุขอย่างที่เราคิดก็ได้ เช่น พ่อทำงานหนักเพื่อลูกเลยนะ แต่จริงๆ ลูกไม่ได้ต้องการตรงนั้น ไม่ได้ตอบโจทย์ความรู้สึกของลูก ลูกต้องการเห็นหน้าพ่อ อยากอยู่ด้วยกัน พูดคุยกัน มีกิจกรรมด้วยกัน
เราอาจจะเลือกในสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดแต่อาจจะไม่ใช่ก็ได้
เพราะเศรษฐศาสตร์ความสุข เราดูโดยเฉลี่ย ไม่ได้ดูที่กำไรสูงสุด เราให้ความสำคัญกับทุกคนเท่าๆ กัน
อาจารย์เคยพูดว่า Empathy สำคัญที่สุด เพราะ Maintain ความสัมพันธ์ ลดความขัดแย้ง เพิ่มการสื่อสาร?
empathy เป็น choice เราต้องเอาความรู้สึกของอีกคนหนึ่งมาเป็นความรู้สึกของเรา และเมื่อใดก็ตามที่เราทำได้ เราจะรู้เลยว่าเราควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรให้เขารู้สึกดีขึ้น เพราะเราเข้าใจความรู้สึกเขาแล้ว
empathy จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีการสื่อสาร ทั้ง verbal หรือ non verbal ก็ตาม มันคือการมองผ่านใจของอีกคนหนึ่ง สมมุติว่า แม่กับลูก ถ้าลูกร้องไห้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แล้วแม่บอก ไม่เห็นน่าจะร้องเลย แค่นี้เอง ไม่เห็นน่าร้องเลย
เราควรคิดว่า
1. เขานอนร้องไห้อยู่ เสียใจ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม เขากำลังเสียใจอยู่ แล้วเวลาเราเสียใจ เรารู้สึกอย่างไร เราต้องเข้าไปหาความรู้สึกตัวเอง นั่นล่ะคือสิ่งที่เขากำลังรู้สึกอยู่
2. take perspective (มองจากมุมของเขา) ว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม take another perspective as a truth ถึงแม้เป็นเรื่องเล็กน้อยในสายตาของเรา แต่ในสายตาของเขาเป็นเรื่องสำคัญมาก เราเอา logic ของเราไปประเมินหรือตัดสินไม่ได้ เพราะนั่นคือความจริง
3. เราจะปฏิบัติอย่างไรให้ เอาใจเขามาใส่ใจเรา take perspective ของเขาแล้ว เราก็ต้องหาวิธีเยียวยาที่ว่า สื่อสารอย่างไรให้เขารู้สึกดีขึ้น เรารู้สึกดีขึ้น
empathy ที่ดี คือพ่อแค่เข้าไปโอบไหล่ลูก แล้วบอกว่า พ่อก็ไม่รู้นะว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม พ่อจะอยู่ข้างๆ ลูกเอง
แค่รับฟังก็พอ คนส่วนใหญ่ต้องการแค่นี้แหละ ช่วยเยียวยาสุขภาพจิตคนได้เยอะมากนะ
ส่วน sympathy มัน drive connection เวลาคนเอาเรื่องทุกข์ๆ มาปรึกษาเรา เราก็ silver lining คือ พยายามหาจุดที่ไม่ดีกับสิ่งที่มันเกิดขึ้นเพื่อให้รู้สึกดีขึ้น เช่น เพื่อนบอกว่าเสียใจมากเพราะแฟนทิ้ง แล้วเราบอก อย่างน้อยเธอก็เคยมีแฟน ซึ่งมันไม่ช่วยและเราจะทำอย่างนั้นบ่อยโดยไม่รู้ตัว เรากำลังผลักเขาออก นั่นเป็น system one (พูดก่อนคิด) ตลอด ผมต้องคอยเตือนตลอด empathy จริงๆ มันเป็นระบบสอง ที่ควรคิดก่อนพูดว่า เราควรพูดว่าอะไร เราพูดเพื่อ drive เขาหรือพูดให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นหรือเปล่า