- เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและมีความเฉพาะตัวสูงบทความนี้เขียนขึ้นจากมุมมองทั่วไปเพื่อชวนคิด ทบทวนความรู้สึก และค่อยๆ เดินไปในแบบที่ปลอดภัยกับใจของแต่ละคน
- การพิจารณาความเป็นจริงของครอบครัว คือการยอมรับว่าบางคนอาจอยากแก้ไขแต่ไม่มีทักษะทางอารมณ์ บางคนอาจยังไม่รู้ว่าทำให้เราบาดเจ็บอย่างไร และบางคนก็อาจไม่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ยอมรับเลยว่าเคยทำร้ายเรา
- การเติบโตขึ้นของคน คือการเข้าใจได้ว่า คนทุกคน ความสัมพันธ์ทุกความสัมพันธ์ ไม่สมบูรณ์แบบ โดยไม่รู้สึกหมดหวังหรือสิ้นหวังในชีวิต แต่มองอย่างยอมรับและเข้าใจได้ว่า ครอบครัวฉันมีข้อดี และครอบครัวฉันก็มีข้อเสีย
เคยได้ยินไหมที่เขาบอกว่า หากคุณไม่ชอบใครสักคน หรือคนนั้นทำให้คุณรักตัวเองน้อยลง คุณก็แค่เดินออกมา
ผมเห็นด้วยว่าเราไม่ควรอยู่ในความสัมพันธ์ที่ทำให้เรารักตัวเองน้อยลง ความสัมพันธ์ที่ดีควรเป็นความสัมพันธ์ที่ทำให้คุณชอบตัวเองเวลาที่อยู่กับเขา แต่แนวคิดนี้อาจจะประยุกต์ใช้ได้ยากกับความสัมพันธ์ในครอบครัว เพราะคุณเลือกคนรอบข้างได้แต่คุณเลือกครอบครัวไม่ได้ แล้วหลายครั้งคุณก็อาจจะต้องพึ่งพาครอบครัว นั่นจึงทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นสิ่งที่ซับซ้อนและตัดได้ยาก โดยเฉพาะในวัฒนธรรมเอเชียที่เน้นความเป็นกลุ่มก้อน บ้านเรามีแนวคิดที่บอกว่า ‘ลูกต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ เพราะพ่อแม่คือคนที่มีพระคุณ’ นั่นยิ่งทำให้การเดินออกจากครอบครัวที่เป็นพิษนั้นยิ่งยากเข้าไปอีกขั้น
โดยทั่วไปแล้วทุกคนเกิดมาพร้อมกับความรู้สึกที่จะต้องพึ่งพาพ่อแม่หรือผู้ปกครอง ไม่มีมนุษย์คนไหนเติบโตมาได้ด้วยตัวคนเดียว ต้องมีใครสักคนที่เขาพึ่งพาเสมอ คนเราจะพัฒนามุมมองที่มีต่อโลกใบนี้ผ่านวิธีที่พ่อแม่ปฏิบัติต่อเรา แล้วมุมมองนั้นก็ส่งผลต่อการรับรู้ตัวเองและโลกใบนี้ ยกตัวอย่าง ถ้าเด็กเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่พ่อแม่ให้ความรักอย่างสม่ำเสมอ เข้าใจความต้องการทางอารมณ์ และตอบสนองอย่างเหมาะสม เด็กคนนั้นก็จะพัฒนามุมมองว่าโลกเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย ผู้คนเชื่อถือได้ และตัวเขาเองก็มีคุณค่า เป็นที่รักได้ แต่ถ้าในทางกลับกัน เด็กคนหนึ่งเติบโตมาในบ้านที่ความรักถูกแสดงออกแบบไม่แน่นอน บางวันอบอุ่น บางวันเย็นชา หรือถูกคาดหวังให้เป็นในแบบที่พ่อแม่ต้องการโดยไม่มีพื้นที่ให้ตัวตนของเขา ความรู้สึกของเด็กคนนั้นก็อาจจะปะปนระหว่างความรักกับความไม่พอใจครอบครัว
ความเป็นจริงแล้ว การที่พ่อแม่จะตอบสนองความต้องการของเด็กได้ทั้งหมดเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะการกระทำของพ่อแม่ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงจากการที่เขาทำ แต่มันเกิดจากการที่เด็กตีความหรือรับรู้สิ่งนั้นอย่างไรด้วย
ยกตัวอย่าง พ่อแม่อาจไม่ได้ตั้งใจจะเพิกเฉยลูก เพียงแต่วันนั้นเขาเหนื่อยล้าจากการทำงาน แต่เมื่อเด็กไม่สามารถเข้าใจความซับซ้อนทางอารมณ์หรือสถานการณ์ได้ เขาก็อาจจะตีความว่า พ่อแม่ไม่รัก หรือเราไม่สำคัญมากพอ เมื่อเผชิญเหตุการณ์เดิมซ้ำๆ แล้วเขาไม่ได้เข้าใจความรู้สึกตัวเองมากพอ หรือระบายความรู้สึกตัวเองให้คนอื่นฟัง เขาก็อาจเผลอเข้าใจไปแบบนั้นจนกลายเป็นความเชื่อที่ฝังแน่นในใจว่าเขาไม่เป็นที่รัก หรือพ่อแม่ไม่รักเขา โดยที่เขาไม่รู้ทันการตีความเหตุการณ์ของตัวเอง ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
อีกตัวอย่างคือ เด็กที่มีความต้องการอยากถูกพ่อแม่ปลอบประโลมเมื่อเศร้า แต่พ่อแม่ไม่รู้วิธีที่เหมาะสมในการปลอบจึงใช้คำสอนที่มาจากเจตนาที่ดี – ความรักลูก แต่ตอนนั้นเด็กอาจแปลความหมายการกระทำนั้นว่า พ่อแม่ไม่ใส่ใจ เราไม่ควรพูดความรู้สึกให้พ่อแม่ฟัง เพราะจะเจ็บมากกว่าเดิมที่เขาไม่ฟัง แล้วก็พัฒนาความรู้สึกน้อยใจและโกรธครอบครัวในใจลึกๆ
อย่างที่บอกไปว่าวิธีการที่เราได้ถูกปฏิบัติจากพ่อแม่จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเอาไว้ใช้รับรู้ตัวเอง เช่น เราเป็นคนแบบไหน คนน่ารัก คนเก่ง คนไม่เอาไหน คนไม่มีคุณค่า คนที่ดีไม่พอ และกลายเป็นวิธีที่เรารับรู้คนอื่น เช่น ผู้คนปลอดภัย ไว้ใจได้ ผู้คนจะทำร้ายเสมอหากไม่ระวังตัว
แต่ความเป็นจริง ไม่มีอะไรที่เป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครที่ดีไปหมดหรือแย่ไปหมด บางทีเราก็อาจมีความรู้สึกว่ารักพ่อแม่นะ แต่ลึกๆ ก็อาจจะไม่ชอบเขา มันเป็นอารมณ์ที่ขัดแย้งกันระหว่าง ‘ความรัก’ และ ‘ความไม่พอใจ’ ซึ่งหากความไม่พอใจนี้แรงมากพอก็อาจจะเปลี่ยนแปลงรูปไปเป็นความโกรธ หรือความเกลียด เพราะธรรมชาติของความรู้สึกเหล่านี้มักจะมีความรู้สึกเศร้า เจ็บปวด ผิดหวังอยู่ในนั้น
ความรักและความเกลียดครอบครัว แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้
1) ความรักและความเกลียดที่รู้ตัว
คุณรับรู้ว่าไม่พอใจและรักเขา คุณรับรู้ว่าสิ่งที่ดีๆ ที่เขาทำมีอะไรบ้าง แต่คุณก็ยังมีส่วนที่โกรธเขาอยู่ด้วย นั่นอาจทำให้เวลาที่คุณอยู่กับเขา มันมีทั้งช่วงที่คุณมีความสุข และบางช่วงที่คุณก็รู้สึกไม่ชอบบางอย่างในตัวเขา
2) ความรักและความเกลียดที่ไม่รู้ตัว
คุณอาจจะรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้รัก ไม่ได้เกลียด หรืออาจจะรับรู้แค่ว่าตัวเองรัก แต่ไม่ได้รับรู้ความรู้สึกไม่พอใจที่มีเกี่ยวกับเขา แต่มันอาจออกมาในรูปแบบพฤติกรรมที่คุณไม่อยากอยู่ใกล้เขา บางครั้งคุณหงุดหงิดง่ายทั้งที่มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องหงุดหงิด
3) ความรักและความเกลียดที่เอามาลงโทษตัวเอง
โดยเฉพาะในวัฒนธรรมไทยที่เรามักจะถูกสอนด้วยการที่เราต้องมองพ่อแม่เป็นคนที่ดี เราต้องอดทน กตัญญู จนไม่เคยอนุญาตให้ตัวเองโกรธหรือไม่พอใจคนในครอบครัว เพราะรู้สึกผิด ทำให้กลายเป็นคนที่ยอมทุกอย่าง เทิดทูนเขา ทั้งที่ข้างในใจอาจจะเจ็บปวดรวดร้าว มันอาจออกมาในรูปแบบของการที่ไม่ได้รักและเกลียดครอบครัวอย่างชัดเจน แต่ออกมาผ่านการที่เขาเกลียดตัวเองก็ได้ ซึ่งมีรากฐานมาจากการไม่พอใจครอบครัว
ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ
เมลานี ไคลน์ (Melanie Klein) นักจิตวิเคราะห์ชาวอังกฤษ อธิบายกระบวนการพัฒนาทางจิตใจของคนที่สามารถนำมาอธิบายความรัก–ความเกลียดครอบครัว โดยมองว่า การเติบโตขึ้นของคนคือการเข้าใจได้ว่า คนทุกคน ความสัมพันธ์ทุกความสัมพันธ์ ไม่สมบูรณ์แบบ โดยไม่รู้สึกหมดหวังหรือสิ้นหวังในชีวิต แต่มองอย่างยอมรับและเข้าใจได้ว่า ครอบครัวฉันมีข้อดี และครอบครัวฉันก็มีข้อเสีย มองเข้าไปให้เข้าใจลึกขึ้นว่า คนที่รักเราอาจเคยทำร้ายเรา และคนนั้นก็คือคนที่รักเรามากที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ตามเงื่อนไขชีวิตที่เขามี
มันเป็นความจริงที่เจ็บปวด เพราะเราต่างอยากถูกรักอย่างไร้เงื่อนไข แต่เมื่อต้องยอมรับว่า เขาอาจจะให้ได้เท่าที่ให้ และนั่นก็คือความรักของเขาแล้ว มันคือการเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต
ผมต้องบอกเลยว่ากระบวนการที่จะเข้าใจเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ซับซ้อน และไม่สามารถบังคับหรือบอกแล้วทำได้ทันที แต่มันต้องมาจากความพร้อมทางจิตใจและตัวตนของคนนั้น หมายถึง ถ้าตอนนี้เขารู้สึกว่าเขาไร้คุณค่า เขาไม่ดีพอ การบอกให้เขาเห็นความจริงเช่นนี้อาจเป็นการทำร้ายเขามากกว่า เพราะเขาอาจรู้สึกว่าตัวฉันเองยังมีรูโหว่ที่ใหญ่ขนาดนี้ ฉันจะไปเข้าใจคนที่ทำร้ายฉันได้อย่างไร
การก้าวข้ามผ่านความเข้าใจนี้จะพัฒนาบุคลิกภาพของคนนั้นให้มีความเข้มแข็ง เข้าใจโลกตามความเป็นจริง ความขัดแย้งทางอารมณ์ที่ทั้งรักและเกลียดจนนำไปสู่การจัดการอารมณ์ตัวเองไม่ได้หรือมีปัญหาในความสัมพันธ์ก็จะลดน้อยลง สิ่งสำคัญของกระบวนการนี้คือ การอนุญาตให้ตัวเองรักและไม่พอใจ(หรือโกรธ)ครอบครัว อนุญาตให้ตัวเองรู้สึกในแบบที่เป็น
เมื่อครอบครัวเป็นเช่นนั้น แล้วควรทำอย่างไร ?
คำถามนี้อาจไม่มีคำตอบที่ตายตัว เพราะความสัมพันธ์แต่ละครอบครัวมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน บางคนก็อาจมีความรู้สึกห่วงใยอาวรณ์อยากได้รับความรัก แต่บางคนก็อาจเกลียดไม่ชอบไปเลย สามารถสรุปได้ว่า การจะเลือกได้ว่าจะทำอย่างไรสามารถพิจารณาได้จากองค์ประกอบดังนี้
1) เป้าหมาย
คุณอยากจะมีความสัมพันธ์แบบไหนกับที่บ้าน อยากให้บ้านกลับไปเป็นบ้านเลยไหม หรืออยากจะรักษาระยะห่างไว้ ไม่พร้อมที่จะมีความสัมพันธ์ใดๆ ที่ใกล้ชิด แล้วก็พิจารณาผลกระทบของทางเลือกต่างๆ ทั้งข้อดีและข้อเสีย แล้วถามตัวเองว่ายอมรับได้หรือไม่
บางครอบครัวความรักและความเกลียดไม่ได้เกิดจากการที่บ้านทำร้ายจิตใจโดยตรงแต่เป็นการเพิกเฉยทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ แล้วที่บ้านก็พยายามแก้ไข แต่ปัญหาตอนนี้คือความฝังใจของคนที่ได้รับผลกระทบ ถ้าเขาอยากกลับไปมีความสัมพันธ์ที่ดีก็น่าจะง่ายกว่าครอบครัวที่ทำร้ายจิตใจอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าเป้าหมายจะเป็นอย่างไร คุณต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า คุณยอมรับข้อดีและข้อเสียของหนทางที่จะเลือกได้หรือไม่
2) ความเข้มแข็งของตัวตน
คุณจัดการความรู้สึกตัวเองได้มากแค่ไหน คุณมีคนรอบข้างที่คอยสนับสนุนให้คุณมีกำลังใจที่เข้มแข็งไหม คุณสามารถแยกแยะความรู้สึกลบออกจากตัวเองได้มากแค่ไหน โดยไม่โทษตัวเองหรือเก็บทุกอย่างไว้เป็นความผิดของตัวเอง เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ เพราะหากเป็นครอบครัวที่ไม่ได้ตั้งใจทำร้าย แต่คนนั้นมีบาดแผลที่ค้างในใจ การกลับไปพยายามซ่อมโดยที่ตัวตนไม่พร้อมหรือจัดการความรู้สึกได้ไม่ดีก็อาจทำให้ยิ่งรู้สึกแย่กับตัวเองมากกว่าเดิม แต่ถ้าตัวตนเข้มแข็งมากพอ การกลับไปก็อาจจะง่ายขึ้น
3) พิจารณาความเป็นจริงของครอบครัว
การมองครอบครัวของเราให้ชัดในแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ ไม่ใช่แบบที่เรา ‘อยากให้เป็น’ หรือ ‘เคยหวังไว้’ เราต้องลองถามตัวเองว่า ครอบครัวของเรามีศักยภาพแค่ไหนในการเปลี่ยนแปลง? เขาเปิดใจฟังไหม? เขายอมรับความรู้สึกของเราหรือเปล่า?
การพิจารณาความเป็นจริงของครอบครัว คือการยอมรับว่าบางคนอาจอยากแก้ไขแต่ไม่มีทักษะทางอารมณ์ บางคนอาจยังไม่รู้ว่าทำให้เราบาดเจ็บอย่างไร และบางคนก็อาจไม่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ยอมรับเลยว่าเคยทำร้ายเรา
การมองความจริงตรงนี้ให้ชัด ไม่ได้แปลว่าเราต้องตัดความหวังหรือความรัก เพราะความเป็นจริงเราไม่สามารถใช้ชีวิตได้โดยไร้ซึ่งความคาดหวัง แต่สามารถคาดหวังให้ตรงตามความเป็นจริงได้ เพื่อให้เราวางแผนได้ว่า จะก้าวต่อไปในความสัมพันธ์แบบไหน ที่เราไม่ต้องเจ็บซ้ำอีก เช่น หากครอบครัวยังไม่ปลอดภัยพอในเชิงอารมณ์ เราอาจเลือกวางระยะห่าง หรือลดความคาดหวังลง เพื่อรักษาใจตัวเองไว้ เพราะความหวังที่ตั้งอยู่บนความเป็นจริง จะนำไปสู่การตัดสินใจที่ชัดเจน และปลอดภัยกับตัวเรามากที่สุด
ทุกครอบครัวล้วนแตกต่าง
เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและมีความเฉพาะตัวสูง บทความนี้เขียนขึ้นจากมุมมองทั่วไปเพื่อชวนคิด และเปิดพื้นที่ให้คุณได้ทบทวนความรู้สึกของตัวเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เขียนนี้จะสามารถใช้ได้กับทุกคนหรือทุกสถานการณ์ เพราะในความเป็นจริง แต่ละคนมี ‘บริบทชีวิต’ ที่แตกต่างกัน บางคนอาจยังอยู่ในบ้าน บางคนอาจต้องพึ่งพาครอบครัวในเรื่องสำคัญ บางคนอาจเผชิญกับความรุนแรงหรือบาดแผลที่ลึกมากจนยังไม่สามารถเผชิญหน้าได้ และแต่ละคนก็มีระดับ ‘ความพร้อม’ และ ‘ความเข้มแข็งของตัวตน’ ที่ไม่เหมือนกัน
สิ่งที่เขียนในบทความนี้จึงไม่ได้มีเจตนาจะชี้นำหรือบอกว่าอะไรคือสิ่งที่ ‘ควรทำ’ แต่เป็นเพียงแนวทางให้คุณได้หยุดฟังตัวเอง ทบทวนความรู้สึก และค่อยๆ เดินไปในแบบที่ปลอดภัยกับใจของคุณที่สุด หากคุณรู้สึกว่าหัวข้อเหล่านี้กระทบจิตใจ หรือทำให้รู้สึกสับสนมากขึ้น การพูดคุยกับนักจิตบำบัด จิตแพทย์ หรือคนที่ไว้ใจได้ อาจช่วยให้คุณเห็นภาพได้ชัดขึ้น และเยียวยาตัวเองได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป