- การต้องพบเจอกับ ‘ตัวกระตุ้นที่เลวร้าย’ ซ้ำๆ อย่างยาวนานทำให้เราหยุดที่จะเรียนรู้ (ว่าควบคุมสถานการณ์ได้) พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ เจ็บปวดบ่อยๆ เข้า เราก็จะชาชินและทนยอมรับสภาพโดยไม่สู้อะไร ทั้งๆ ที่ร่างกายเราสร้างจิตใจที่พร้อมต่อสู้มาให้ เราเลิกเรียนรู้ที่จะต่อสู้ ยอมแพ้และยอมรับความแตกสลายกายใจ
- คนจำนวนไม่น้อยอาจมี ‘ภาวะความสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้ (Learned helplessness)’ และอันที่จริงแล้วความรู้เรื่องนี้อาจช่วยปรับปรุงวิธีการเรียนการสอนในห้องเรียนของคนไทยก็เป็นได้
- ในการเรียนการสอน ครูอาจต้องระวังการลงโทษเด็ก เพราะหากเจ็บจากการลงโทษเสมอจนถอดใจ ก็จะไม่สามารถเรียนรู้ ‘การควบคุม’ ตัวเองภายใต้ความกดดันของสถานการณ์ต่างๆ ที่ต้องเผชิญในอนาคต และไม่สามารถหล่อเลี้ยง ‘ความหวัง’ ในปัจจุบันไว้ได้
คุณเคยพบคนที่แม้ไม่พอใจกับเงินเดือนหรือสวัสดิการ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เปลี่ยนงานเสียทีบ้างไหมครับ? แล้วเคยเจอไหมครับ คนที่ไม่พอใจในคู่ของตัวเอง แต่ก็ยังทนอยู่เป็น ‘คู่กรรม’ อยู่อย่างนั้น ไม่ยอมเลิกราให้จบไป? หรือคนที่ยอมให้คนอื่นเอารัดเอาเปรียบหรือฉ้อโกง แต่กลับไม่กล้าทำอะไรเลย ไม่ร้องหาความยุติธรรมเลย?
แต่ละคน เรื่องราวแต่ละเรื่อง อาจมีรายละเอียดแตกต่างกันไปบ้าง แต่ไม่แน่ว่าคนเหล่านั้นจำนวนไม่น้อยอาจมี ‘ภาวะความสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้ (Learned helplessness)’ และอันที่จริงแล้วความรู้เรื่องนี้อาจช่วยปรับปรุงวิธีการเรียนการสอนในห้องเรียนของคนไทยก็เป็นได้
ภาวะที่ว่านี้มีลักษณะอย่างไรกันแน่?
หากอยากเข้าใจเรื่องนี้ เราอาจต้องย้อนกลับไปไกลหน่อยที่ยุคทศวรรษ 1890 ในยุคนั้นมีการทดลองที่มีชื่อเสียงมากของนักประสาทวิทยาและสรีรวิทยาชาวรัสเซียชื่อ อีวาน ปัฟลอฟ (ค.ศ. 1849–1936) เป็นการทดลองที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์หรือสรีรวิทยาใน ค.ศ. 1904 [1]
หลายคนอาจจะยังจำการทดลองในสุนัขที่โด่งดังของเขาได้ เขาพบว่าหากสั่นกระดิ่งทุกครั้งที่ให้อาหารสุนัข มันจะเกิดความทรงจำเชื่อมโยงอาหารกับเสียงกระดิ่งเข้าด้วยกัน และในภายหลังแม้จะไม่มีอาหาร แต่หากสั่นกระดิ่งเมื่อใด สุนัขก็จะน้ำลายไหลเพราะคิดว่ากำลังจะได้กินอาหาร
เมื่อถึงทศวรรษ 1960 ก็มีนักศึกษาปริญญาเอกสองคนในมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียคือ มาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) และสตีเวน ไมเออร์ (Steven Maier) ค้นพบพฤติกรรมแปลกประหลาดของสุนัขอีกเช่นกัน ขณะที่พวกเขาทดลองเกี่ยวกับเรื่องความกลัวและอาการซึมเศร้าในสัตว์ [2]
ในการทดลองเขาแบ่งสุนัขออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกจะไม่โดนไฟฟ้าช็อต (เป็นกลุ่มควบคุมในการทดลองนี้) กลุ่มที่สองจะโดนไฟฟ้าช็อต แต่หากมันกดคานบังคับที่จัดไว้ให้ การช็อตก็จะหยุดลง และกลุ่มที่สามจะโดนช็อต แต่ไม่มีคานบังคับไว้ให้ จากนั้นก็ย้ายสุนัขทั้ง 3 กลุ่มไปยังกรงที่มีที่กั้นไว้ตรงกลาง แต่ก็เตี้ยพอจะกระโดดข้ามได้
ในการทดลองที่สองนี้ไฟฟ้าจะช็อตแค่เพียงข้างเดียวของกรงที่ใส่สุนัขไว้
พูดอีกอย่างคือ สุนัขแต่ละตัวสามารถกระโดดจากฟากหนึ่งของกรงที่มีกระแสไฟฟ้าช็อต ไปยังอีกฟากหนึ่งที่ไม่มีกระแสไฟฟ้าช็อตได้
พวกเขาพบว่าจากที่คาดว่าสุนัขทั้งสามกลุ่มจะพยายามกระโดดหนีไฟช็อตไปอีกฝั่งของกรง แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น สุนัขกลุ่มแรกที่ไม่เคยโดนช็อตมาก่อนเลยและกลุ่มที่สองที่เคยกดคานบังคับให้หยุดการช็อตลง พยายามกระโดดข้ามไปอยู่อีกฟากของกรงในทันทีที่เริ่มปล่อยกระแสไฟฟ้าเบาๆ เพื่อช็อต
แต่สุนัขกลุ่มที่สามที่เคยโดนช็อตและทำอะไรไม่ได้เลยในการทดลองก่อนหน้ากลับนอนนิ่ง อดทนให้ไฟช็อตไปจนเสร็จสิ้น โดยไม่แสดงความกระตือรือร้นใดๆ ที่จะหนีจากไฟช็อตอีกต่อไป แม้ว่าจะทำได้ง่ายๆ เหมือนกับสุนัขอีกสองกลุ่มก็ตาม
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
นักวิจัยทั้งคู่อธิบายว่าสุนัขกลุ่มที่สามนี้ เมื่อเสร็จสิ้นการทดลองแรกก็แสดงอาการของความกระวนกระวายใจและซึมเศร้า เพราะไม่อาจควบคุมสถานการณ์ได้ และเมื่อเริ่มการทดลองที่สองก็แสดงความสิ้นหวังให้เห็น จึงตั้งชื่อเรียกอาการดังกล่าวว่าเป็น ‘ภาวะความสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้’ ดังกล่าวไปข้างต้น เนื่องจากเป็นภาวะที่เกิดขึ้นภายหลัง ไม่ได้ฝังอยู่ในพันธุกรรมของพวกมัน (ดังเห็นได้จากสุนัขกลุ่มที่หนึ่งและสองที่แสดงพฤติกรรมแตกต่างออกไป)
อย่างไรก็ตาม การทดลองทางประสาทวิทยาในอีกหลายปีให้หลัง ทำให้ศาสตราจารย์ไมเออร์สรุปอีกแบบหนี่งว่า แทนที่จะสุนัขกลุ่มสามจะเรียนรู้เรื่อง ‘การสิ้นหวัง’ อันที่จริงแล้วกลับตรงกันข้ามเลยคือ พวกมันสูญเสียความสามารถในการควบคุม ‘การเรียนรู้จะไม่สิ้นหวัง’ ต่างหาก
ในขณะที่ศาสตราจารย์เซลิกแมนที่ทดลองเพิ่มเติมในเรื่องนี้เช่นกัน ได้บัญญัติศัพท์ขึ้นอีกคำหนึ่งคือ ‘การมองโลกในแง่ดีเพื่อเรียนรู้ (learned optimism)’ และประยุกต์หาวิธีการเพื่อท้าทายและเอาชนะภาวะความสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้นี้ในมนุษย์ [3]
ค.ศ. 2026 ศาสตราจารย์ไมเออร์และเซลิกแมน มาร่วมมือกันเขียนบทปริทัศน์หรือรีวิว (review) เพื่อดูว่าหลังผ่านเวลาไปครึ่งศตวรรษ เรามีความรู้อะไรมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะดังกล่าวบ้าง ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจหลายอย่างทีเดียว [4]
เรื่องแรกคือวงการวิจัยเรียนรู้กลไกทางชีววิทยาของภาวะดังกล่าวละเอียดขึ้นมาก เรารู้ว่าการไม่ตอบสนองต่อปัจจัยภายนอก (สุนัขกลุ่มสามนอนให้ช็อตไฟไม่กระโดดหนี) นั้น “ไม่ได้มาจากการเรียนรู้”
แต่อันที่จริงแล้วเกิดจากการกระตุ้นวงจรสำเร็จรูปที่ติดมากับพันธุกรรมจนทำให้ปิดกั้นความสามารถในการเรียนรู้ที่จะบังคับควบคุมตัวเองต่างหาก!
มนุษย์เองก็เช่นเดียวกับสัตว์อื่นที่เมื่อเจอกับเหตุการณ์แย่ๆ ที่ไม่พึงปรารถนาเป็นเวลานาน และไม่อาจควบคุมอะไรได้เลย ก็จะเฉยชาไม่ตอบสนองต่อเหตุการณ์เดียวกันนั้นอีกต่อไป แม้ว่าจะเกิดผลเสียกับตัวเองก็ตาม จึงมองดูราวกับว่าเกิดความ ‘สิ้นหวัง’ หลังจากต้องพบกับสภาวะดังกล่าวเป็นเวลานาน จนเกิดการเรียนรู้จดจำ เกิดความเครียด ความกระวนกระวายใจ และความซึมเศร้าอย่างไม่หยุดหย่อน
เรื่องต่อไปที่พบคือ อาการทั้งหมดที่เห็นนี้อธิบายได้ผ่านสรีรวิทยา โดยกลไกการควบคุมการหลั่งหรือไม่หลั่งฮอร์โมนบางอย่าง เช่น เซโรโทนิน ควบคู่กับการทำงานของสมองบางบริเวณอย่างจำเพาะเจาะจง (เช่น ส่วนที่ชื่อว่า dorsal raphe nucleus และ medial prefrontal cortex)
ดังนั้นตามธรรมชาติแล้ว สัตว์ต่างๆ รวมทั้งมนุษย์สามารถเรียนรู้จะควบคุมเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาได้ เป็นระบบที่ติดตั้งมาตั้งแต่เกิดตามพันธุกรรม แต่การต้องพบเจอกับ ‘ตัวกระตุ้นที่เลวร้าย’ ซ้ำๆ อย่างยาวนานทำให้เราหยุดที่จะเรียนรู้ (ว่าควบคุมสถานการณ์ได้)
พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ เจ็บปวดบ่อยๆ เข้า เราก็จะชาชินและทนยอมรับสภาพโดยไม่สู้อะไร ทั้งๆ ที่ร่างกายเราสร้างจิตใจที่พร้อมต่อสู้มาให้ เราเลิกเรียนรู้ที่จะต่อสู้ ยอมแพ้และยอมรับความแตกสลายกายใจ
การแก้ไขปัญหาจึงอาจทำได้ผ่านทางร่างกาย (การควบคุมระดับฮอร์โมนและการกระตุ้นสมองอย่างจำเพาะ) หรือทางจิตใจ (การฝึกฝนความคิดให้ไม่สิ้นหวัง)
เรื่องนี้นำมาใช้ประโยชน์อะไรได้บ้างในระบบการศึกษาของไทยและจะทำอย่างไรให้ไม่เกิดความสิ้นหวังกับเยาวชนของเรา?
ในระบบการเรียนการสอน นักเรียนนักศึกษาที่ตอบคำถามไม่ได้ แล้วโดนลงโทษอยู่เสมอๆ จะเป็นเช่นไร? ครูอาจารย์อาจต้องระวังในเรื่องนี้ เพราะเด็กก็เหมือนอยู่ในกรงที่หนีไปไหนไม่ได้ หากเจ็บจากการลงโทษเสมอจนถอดใจ ก็จะไม่สามารถเรียนรู้ ‘การควบคุม’ ตัวเองภายใต้ความกดดันของสถานการณ์ต่างๆ ที่ต้องเผชิญในอนาคต และไม่สามารถหล่อเลี้ยง ‘ความหวัง’ ในปัจจุบันไว้ได้
การใช้วิธีให้รางวัล เช่น การชมเชยกับเด็กทุกคน โดยไม่นำเด็กแต่ละคนมาเปรียบเทียบกัน แต่ให้ดูพัฒนาการของเด็กคนนั้นเองว่าดีขึ้นเพียงใดจากก่อนหน้า จึงเป็นเรื่องดีและเหมาะสมกว่า
แต่ที่น่ากลัวและน่าเป็นห่วงมากกว่าในระบบการศึกษาคือ ระบบการเมืองที่ทำให้ประชาชนคนไทยทั่วไปคิดว่า เราไม่อาจทำอะไรได้ เราไม่อาจแก้ปัญหาสำคัญๆ ได้เลยต่างหาก!
เอกสารอ้างอิง
[1] https://en.wikipedia.org/wiki/Ivan_Pavlov เข้าถึงข้อมูลวันที่ 4 ก.พ. 2025
[2] Seligman, M. E., & Maier, S. F. (1967). Failure to escape traumatic shock. Journal of Experimental Psychology, 74(1), 1–9. https://doi.org/10.1037/h0024514
[3] https://www.medicalnewstoday.com/articles/325355#in-children เข้าถึงข้อมูลวันที่ 4 ก.พ. 2025
[4] Steven F Maier, & Martin E P Seligman (2016) Learned Helplessness at Fifty: Insights from Neuroscience. Psychol Rev. 2016 Jul;123(4):349–367. doi: 10.1037/rev0000033